วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

       “แต่เดิม วัดสระเกศเป็นวัดป่าฝ่ายอรัญญวาสี 

เป็นแดนอสุภกรรมฐานมาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราช (สุก)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

พระธรรมกิตติ(เม่น)

หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย

และพระสำคัญๆ ต้องมานั่งเจริญอสุภกรรมฐาน

ที่วัดสระเกศฯ กันทั้งนั้น  เพราะมีป่าช้าใหญ่อยู่ที่นี่”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร )

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

๒๘.”วัดสะแก” แดนอสุภกรรมฐาน (๑)

๒๙.พระราชทานนามวัดใหม่ (๒)

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๒๘.“วัดสะแก”  แดนอสุภกรรมฐาน (๑)

              วัดสะแกเป็นวัดโบราณ  มีตำนานปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดาร เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ พุทธศักราช ๒๓๒๕  ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด ราชวรมหาวิหาร  ตั้งอยู่แขวงบ้านบาตร  เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  กรุงเทพมหานคร

เขตด้านตะวันออก  จรดคลองซึ่งแยกจากคลองมหานาคตอนเหนือสะพานโค้ง  ผ่านไปทางวัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม)  ปัจจุบันคลองนี้ถูกถมไปแล้ว

เขตวัดด้านตะวันตก  จดคลองโอ่งอ่าง

เขตวัดด้านเหนือ  จดคลองมหานาค

เขตวัดด้านใต้  มีคูวัดซึ่งขุดจากคลองโอ่งอ่าง  เลียบเสนาสนะสงฆ์ไปจดกับคลลองด้านตะวันออก สำหรับใช้เป็นที่สัญจรทางน้ำของพระสงฆ์ ปัจจุบันคูนี้ถูกถมไปแล้ว

หลวงพ่อสมเด็จฯ เล่าว่า

              “แต่เดิม วัดสระเกศเป็นวัดป่าฝ่ายอรัญญวาสี  เป็นแดนอสุภกรรมฐานมาตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พระธรรมกิตติ(เม่น) หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย และพระสำคัญๆ ต้องมานั่งเจริญอสุภกรรมฐานที่วัดสระเกศฯกันทั้งนั้น  เพราะมีป่าช้าใหญ่อยู่ที่นี่”     

“ปัจจุบันคือที่ตั้งโรงเรียนสารพัดช่าง และประปาแม้นศรี  เดิมที่ป่าช้านี้มีศาลาอยู่หลังหนึ่งเรียกว่า “ศาลากัมมัฏฐาน” ตอนหลวงพ่อมาเป็นเณร  ศาลาหลังนี้ยังอยู่  เป็นศาลาไม้หลังใหญ่   แม้แต่ไม้ปูพื้นก็เป็นไม้แผ่นใหญ่  พอเดินเข้าไปรู้เลยว่าศาลานี้เป็นศาลาสำคัญ  จะเป็นเพราะเหตุไรไม่ทราบ  มันสงบเย็นอย่างไรบอกไม่ถูก แต่รู้ทันทีศาลาหลังนี้ต้องสำคัญ”

๒๙. “พระราชทานนามวัดใหม่” (๒)

              วัดสระเกศเป็นวัดโบราณดังกล่าวข้างต้น  มีข้อความปรากฏตามตำนานว่า  เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่สมัยโบราณ สันนิษฐานว่า สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  เดิมมีชื่อว่า “วัดสระแก” เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นวัดสระเกศ  เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑ ตอนที่ได้สร้างกรุงเทพพระมหานครครั้งแรก  มีปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ เบญจศก  ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๖ นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดให้ลงมือก่อสร้างพระนครรวมทั้งพระบรมมหาราชวัง  และพระราชวังบวรสถานมงคล โดยรวมผู้คนให้ขุดคลองรอบเมือง  ตั้งแต่บางลำพูเรื่อยไปจนจดแม่น้ำด้านใต้ตอนเหนือของวัดจักรวรรดิราชาวาส  แล้วโปรดให้ขุดคลองหลอด  และขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระแกอีกคลองหนึ่ง  พระราชทานนามว่าคลองมหานาค  เพื่อเป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนคร  ได้ลงประชุมเล่นเพลงและสักวาในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา 

ในคราวนั้น วัดสะแกเมื่อขุดคลองมหานาคแล้ว  พระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ” และทรงปฏิสังขรณ์วัดสระเกศทั้งพระอาราม  ตั้งต้นแต่พระอุโบสถตลอดถึงเสนาสนะสงฆ์  แลขุดคลองรอบวัดด้วย

คำว่า “สระเกศ”  ตามรูปคำแปลว่า “ชำระ” หรือ “ทำความสะอาดพระเกศา” นั่นเอง  มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงพระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสระแกเป็นวัดสระเกศ  มีหลักฐานที่ควรอ้างถึง  คือพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ข้อ ๑๑๖ ว่า “รับสั่งพระโองการตรัสวัดสะแกให้เรียกว่าสระเกศ แล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควรที่ต้นทางเสด็จพระนคร” 

ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า ปฏิสังขรณ์วัดสะแก และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์ เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนคร มีคำเล่าๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวาร สรงพระมรุธาภิเษกตามประเพณี กลับจากทางไกลที่วัดสะแกจึงเปลี่ยนนามว่า “วัดสระเกศ”

และยังมีลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทูลสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในสาสน์สมเด็จ  ฉบับลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๕  เรื่องเกี่ยวกับวัดสระเกศที่น่ารู้อย่างหนึ่งว่า  “ชื่อ” วัดสระเกศ  ดูถือว่า  เป็นชื่อสำคัญทางมณฑลอีสาน  มีเกือบทุกเมือง  แต่เขาเรียกว่า “วัดศรีสระเกศ”

สำหรับวัดสระเกศในกรุงเทพฯ นี้ เดิมชื่อว่า “วัดสะแก”  มีเรื่องตำนานว่า  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  เสด็จกลับจากเมืองเขมรเข้ามาเสวยราชย์  ประทับทำพิธีพระกระยาสนานที่วัดสระเกศแล้ว  จึงเดินกระบวนแห่เสด็จมายังพลับพลาหน้าวัดโพธาราม (ปัจจุบันคือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์)  อันเป็นท่าเรือข้ามไปยังพระราชวังธนบุรี  เมื่อทรงสร้างเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ ๑ จึงโปรดให้เปลี่ยนนามวัดสระเกศ 

“พระธรรมทานาจารย์ (จุ่น) เคยบอกหม่อมฉันว่า  พระในวัดสระเกศบอกเล่าสืบกันมาว่า  สระที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สรงน้ำนั้นโปรดฯให้ถมเสียแล้วสร้างการเปรียญขึ้นตรงนั้น  อยู่ทางข้างตะวันออกของกุฏิหมู่ใหญ่อันเป็นที่อยู่ของพระราชาคณะบัดนี้

ในตำนานของวัดสระเกศนี้ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๕  เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเกิดจลาจนขึ้น  ในเวลานั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  เสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช  เสด็จยกกองทัพไปทำสงครามที่กรุงกัมพูชา 

“ทั้งสองพระองค์เมื่อได้ทรงทราบว่าเกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี  จึงเสด็จยกกองทัพกลับมา  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  เสด็จเข้าโขลนทวารประทับสรงมุรธาภิเษกที่วัดสะแก เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔  ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๕  ประทับอยู่เป็นเวลา ๓ วัน  แล้วเสด็จจากพลับพลาวัดสะแก  โดยกระบวนทางสถลมารคไปประทับ ณ หน้าวัดโพธาราม (ปัจจุบันคือวัดพระเชตุพน) เสด็จลงเรือพระที่นั่งข้ามไปยังพระราชวังธนบุรี  ทรงระงับดับยุคเข็ญในพระนครเรียบร้อยแล้ว  เหล่าเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ทั้งปวงเชิญเสด็จขึ้นผ่านพิภพปราบดาภิเษกประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ดำรงรัฐสีมา  เป็นใหญ่ในสยามประเทศสืบมา

“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงย้ายพระนครมาสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ข้างฝั่งตะวันออก  เมื่อสร้างพระราชวังในพระนครใหม่  จึงโปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว ) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต  อันเป็นสิริมิ่งขวัญสำหรับพระนคร  และเมื่อสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น  ทรงพระราชดำริว่า  ระฆังที่วัดสะแกเสียงไพเราะไม่มีระฆังอื่นจะเสมอ  สมควรเอามาไว้ในวัดสำคัญสำหรับพระนคร  จึงโปรดให้เอาระฆังที่วัดสะแกมาแขวนไว้ที่หอระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  สำหรับตีย่ำเช้าเย็นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ๒๘.”วัดสะแก” แดนอสุภกรรมฐาน (๑) ๒๙.พระราชทานนามวัดใหม่ (๒) เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here