ภาพถ่ายหลังบ้านแม่ โดย มนสิกุล
ภาพถ่ายหลังบ้านแม่ โดย มนสิกุล

บันทึกคิดถึงแม่ (ฉบับที่ ๓)

“เปลี่ยนพลังร้ายให้เป็นพลังแห่งความเมตตา”

เมื่อวันก่อนได้กราบเรียนถามพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ถึงคนยุคปัจจุบัน ที่ไม่ค่อยสบายทางจิตใจกันมาก ชื่อที่เรียกอาการโรคต่างๆ ทางจิตก็มากมาย จนบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ ว่า เรากำลังหมดที่พึ่งกันแล้วจริงๆ หรือ

ทำไมเราไม่ช่วยกันสร้างพี้นที่เล็กๆ ให้กันและกันได้เติบโต ดูแลคนใกล้ๆ ตัวให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ รอบๆ ตัว รวมทั้งดูแลตนเองด้วย

“การดูแลตนเอง ไม่เพียงการดูแลให้ร่างกายแข็งแรงเพียงเท่านั้น หากเรื่องจิตใจเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน”

ภาพถ่ายหลังบ้านแม่ โดย มนสิกุล
ภาพถ่ายหลังบ้านแม่ โดย มนสิกุล


พระอาจารย์กล่าวว่า การดูแลจิตใจตนเอง ไม่ใช่ว่าเป็นการไปทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วย บางคร้ังการสนทนากัน ก็เผลอทำร้ายกันและกันโดยไม่รู้ตัว การใส่ข้อมูลลบๆ ให้กับเพื่อน การบ่นเรื่องไม่ดีต่างๆ กับพ่อแม่ การทิ้งของเสียต่างๆ ให้ครูบาอาจารย์ที่เราศรัทธารับฟัง โดยไม่ได้ไตร่ตรองก่อน โดยคิดว่า เป็นความจริงใจที่จะบอกเล่าทุกเรื่องออกไป


แต่ความจริงยิ่งกว่าความจริงก็คือ เราอาจจะกำลังทำร้ายผู้ที่อยู่ข้างหน้าเราไม่รู้ตัว รวมทั้งทำร้ายตัวเราเองไปด้วยเช่นกัน

การรักษาวาจา และการกล่าววาจาอย่างมีสติ คือ คิดก่อนที่จะพูดทุกครั้ง ไม่ใช่พูดทุกอย่างที่คิด จึงเป็นหนึ่งในศีลห้าที่พระพุทธเจ้าทรงให้เราตระหนักกัน ยิ่งกว่านั้น วาจาก็ยังอยู่ในอริมรรคมีองค์ ๘ ข้อหนึ่ง ที่เราควรใส่ใจ สัมมาวาจา ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จริงๆ นั้นเรื่องใหญ่มาก

เหตุที่ระลึกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะจำได้ว่า ตลอดสามสิบปีของการทำสื่อในกระแส ต้องรับฟังเรื่องราวต่างๆ มากมาย ต่างคนก็ต่างมีมุมของตัวเองที่ถูกต้อง และถูกตรง หากนำสองมุมมาวางไว้ในที่เดียวกัน แล้วหาจุดที่เหมือนกัน ก็คงจะมีอยู่ตรงที่ว่า เราต่างต้องการเสียงสนับสนุนข้างเรา เมื่อเสียงข้างหนึ่งมาก แม้อาจจะไม่ถูกต้องนักในความคิดของเรา (ต้องย้ำว่า ในความคิดของเรา) ความคิดเห็นที่ไม่ตรงใจเราถูกเทออกไปจากเสียงส่วนใหญ่ ก็อาจนำความทุกข์ระทมให้กับความเห็นที่เป็นจริงอีกข้างแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน แต่ก็อย่าลืมว่า บางเรื่องนั้น ความจริงนั้นมีอยู่ แต่จะรอคอยเวลาให้ความจริงปรากฎอย่างไร ให้ฝึกที่จะรอคอย

“การรอคอยให้ความจริงปรากฏ แท้จริงแล้วก็เป็นการฝีกตบะอย่างยิ่ง กาลเทศะเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในการบอกความจริง หรือให้ความจริงเปิดเผยออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมและไม่มีใครต้องบาดเจ็บอีกเพราะความจริงนั้น”

ภาพถ่ายหลังบ้านแม่ โดย มนสิกุล
ภาพถ่ายหลังบ้านแม่ โดย มนสิกุล


พื้นที่แห่งการรับฟังอย่างไม่ตัดสิน และปลอดภัยสำหรับความคิดที่ถูกส่งออกมาจึงสำคัญ แต่ถามว่า ใครเล่าจะใจกว้างรับฟังทุกอย่างได้ แล้วไม่นำไปบ่นต่อ

ขนาดตัวเราเองยังเก็บไว้ไม่อยู่เลย หรือทิ้งไม่เป็นเลย


แบ่งเวลาวันละนิด สนทนากับจิตใจของเราเอง ที่ต้องการการปลอบประโลมก่อนใครอื่น หากเราฟังตัวเราเองได้ เสียงร้ายๆ ที่อยากจะโพล่งออกไป หรืออยากจะบ่นให้ใครฟังแรงๆ เหมือนเราจะเอาขยะไปเทให้เขา มันจะจบลงที่การทิ้งสิ่งนั้นออกไปจากใจเรา โดยไม่ต้องมีใครมารับ

มลพิษทางจิตใจก็จะผ่อนคลายลง เมื่อเรามองเห็นเจ้าวายร้ายในใจเราก่อนแล้ว และเราก็บอกเค้าว่า ถ้าจะไปเพ่นพ่านว่ากล่าวใครล่ะก็ มาทบทวนดูว่า มีขยะมากมายในใจเพียงใดก่อนดีกว่าไหม
คิดถึงคำสอนของแม่ คิดถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ ก็มาสอนใจตนเอง

ภาพถ่ายหลังบ้านแม่ โดย มนสิกุล
ภาพถ่ายหลังบ้านแม่ โดย มนสิกุล


ภาพ : ต้นโพธิ์หลังบ้าน กับความเพียรพยายามที่จะเติบโต เราเล่า? ไม่ว่าอยู่ในสภาวะไหน ขออย่าท้อแท้ แม้มีเพียงลมหายใจ ก็มากมายเพียงพอที่จะต่อชีวิตดีๆ ได้ ในแต่ละวัน ขอเพียงอย่าให้ความคิดร้ายๆ มาทำลายเรา อย่าปล่อยให้ความคิดร้ายมีอำนาจเหนือเรา และอย่าปล่อยความคิดร้ายๆ ของเราเองออกไปทำร้ายใคร เมตตาตัวเองสักนิด แล้วจะรู้ว่า ไม่มีใครอยากคิดไม่ดีกับเราหรอก นอกจากตัวเราถูกความคิดของเราหลอกเอง

คุณแม่สุคนธ์กับลูกสาว มนสิกุลค่ะ
คุณแม่สุคนธ์กับลูกสาว มนสิกุลค่ะ

บันทึกคิดถึงแม่ (ฉบับที่ ๓) “เปลี่ยนพลังร้ายให้เป็นพลังแห่งความเมตตา” เรื่องและภาพ โดย มนสิกุล

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here