วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑

เรียนรู้ปฏิปทาพระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

สำหรับตอนนี้ ผู้เขียนเล่าสรุปถึงช่วงเวลาอันยากลำบาก ที่กว่าจะก่อเกิดพระธรรมทูตสายต่างประเทศ หากทว่า ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสานต่อปฏิทาท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)  พระอาจารย์ผู้จุดประกายความคิดที่จะให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปในโลกตะวันตก จึงทำให้หลวงพ่อสมเด็จฯ ไม่เคยท้อ…

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๗๔. ต้องนำพระพุทธศาสนากระจายออกไปทั่วโลกให้ได้

 : เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๗๔. ต้องนำพระพุทธศาสนากระจายออกไปทั่วโลกให้ได้

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ ออกเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก  เพื่อหาแนวทางที่จะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ อันมีแรงบันดาลใจมาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)  ผู้เป็นพระอาจารย์

              ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ออกเดินทางไปร่วมประชุมสังคายนาฉัฏฐสังคีติ ณ ประเทศพม่า  และในปี พ.ศ.๒๕๐๐  ก็ได้เดินทางไปประชุมอรรถกถาสังคายนา  เพื่อฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ  ณ ประเทศพม่า อีกครั้ง

              ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปดูการศาสนา  และเชื่อมศาสนสัมพันธ์  ที่ประเทศเกาหลี  ญี่ปุ่น  ไต้หวัน  ฮ่องกง ฯลฯ   ซึ่งได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนอย่างสำคัญแห่งหน้าประวัติศาสตร์ศาสนา ในการเชื่อมพระพุทธศาสนาเถรวาทกับมหายานเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่นจนถึงปัจจุบัน  โดยเฉพาะพระพุทธศาสนามหายานในหลายประเทศ  เช่น ญี่ปุ่น และจีน  เป็นต้น  ได้สร้างภูเขาทองจำลองไว้เป็นอนุสรณ์แห่งสายสัมพันธ์ทางศาสนาในเวลาต่อมา

              ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗  ภายหลังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  เจ้าประคุณสมเด็จฯ  ได้ออกเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจไกลถึงภาคพื้นยุโรป  และก่อเกิดวัดไทยแห่งแรกขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์  ชื่อว่า “วัดพุทธาราม”  ต่อมา เมื่อคณะสงฆ์เกิดกองงานพระธรรมทูตสายต่างประเทศ  ทำให้วัดไทยเริ่มขยายออกไปตามประเทศต่างๆ ในยุโรปและออสเตรเลียทั้งเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี เป็นต้น

              ในการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจนอกอาณาเขตไกลออกไปถึงยุโรป  เจ้าประคุณสมเด็จฯ  มีโอกาสได้พบกับ ท่านปรีดี พนมยงค์  และชาวไทยผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่พำนักอยู่ในยุโรปเป็นจำนวนมาก  จึงได้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่และความต้องการของชาวไทยในต่างประเทศ  ซึ่งนอกจากจะต้องต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศที่หนาวเหน็บตลอดทั้งปี  แล้วยังจะต้องปรับตัวให้เข้าวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ด้วย  สิ่งที่ชาวไทยต้องการในขณะนั้น  คือ ต้องการให้มีวัดและพระสงฆ์ไปอยู่ประจำ

              สำหรับทางยุโรป  โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย  เป็นดินแดนที่ไม่น่าจะมีพระสงฆ์สามารถไปสร้างวัดไทยได้  เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเหน็บหนาว  ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ยึดเอาประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบสแกนดิเนเวีย  โดยมีความเชื่อมั่นว่า  แม้สภาพภูมิอากาศประเทศในแถบสแกนดิเนเวียจะหนาวเกือบตลอดทั้งปี  แต่สภาพจิตใจของคนในแถบนี้  กลับอ่อนโยน  จึงเกิดความเชื่อมั่นว่าพระพุทธศาสนาน่าจะเจริญได้ในสแกนดิเนเวีย  จึงชักธงธรรมจักรขึ้นเหนือหน้าต่างที่พัก  เป็นสัญลักษณ์ว่าพระพุทธศาสนาเริ่มหยั่งรากฝังลึกลงบนดินแดนแห่งนี้แล้ว  ทำให้วัดไทยเกิดขึ้นอีกมากมายในเวลาต่อมา เช่น วัดพุทธาราม  เนเธอร์แลนด์, วัดพุทธาราม กรุงสต็อกโฮล์ม, วัดพุทธาราม เฟรดิก้า ประเทศสวีเดน, วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์, วัดไทยเดนมาร์ก กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก, วัดไทยฟินแลนด์ กรุงเฮลซิงกิ, วัดไทยในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี, วัดไทยไอซแลนด์ และวัดไทยเบลเยียม  ซึ่งขยายวัดออกไปอีกถึง ๓ วัดในลักเซมเบิร์ก ในเวลาต่อมา

              วัดพุทธาราม เนเธอร์แลนด์  นับได้ว่าเป็นวัดไทยแห่งแรกในยุโรป  และเป็นศูนย์ฝึกพระธรรมทูตให้รู้จักวิธีการดำรงชีวิตในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย  จากนั้นพระธรรมทูตก็ถูกส่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ ในแถบนี้ในเวลาต่อมา

              พระพุทธศาสนาในประเทศสวีเดน  เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดียิ่ง และเป็นประเทศแรกในโลกตะวันตก  ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างวัด  โดยดำริจะให้มีวัดไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในประเทศของตน  และได้จัดสรรพื้นที่ให้กว่า ๒๗๐ ไร่  เพื่อดำเนินการสร้างวัดไทย  การที่ภาครัฐและเอกชนของประเทศสวีเดนได้เข้ามาดูแลการสร้างวัดไทยเช่นนี้  จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา  หากเอาเงินไทยไปสร้างวัดให้ฝรั่ง จะต้องนำเงินไทยออกจากประเทศจำนวนมหาศาลจึงจะสร้างวัดได้สักวัดหนึ่ง

              การสร้างวัดไทยในต่างประเทศ  โดยเฉพาะทางด้านทวีปยุโรป  พระสงฆ์ใช้เงินไทยน้อย  แต่จะใช้เงินประเทศนั้นเพื่อสร้างวัดประเทศนั้น  ซึ่งเป็นการให้ฝรั่งสร้างวัดพระพุทธศาสนาให้ฝรั่งเอง  เพราะเจ้าของผู้สร้างจะได้เกิดความรักความผูกพันในสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา  จะทำให้วัดไทยมีความมั่นคง  ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี  เจ้าประคุณสมเด็จฯ  จึงวางเป็นแนวทางการสร้างวัดสำหรับพระธรรมทูตไว้ว่า

              “พระสงฆ์ไปปฏิบัติงานประเทศใดต้องใช้เงินของประเทศนั้นสร้างวัด  เพราะถ้าจะเอาเงินไทยไปสร้างวัดในต่างประเทศเราจะต้องเอาเงินบาทออกนอกประเทศเท่าไร  จึงจะสร้างวัดได้วัดหนึ่ง  ค่าเงินบาทกับเงินต่างประเทศแตกต่างกันมาก  พระสงฆ์ที่ไปอยู่ต่างประเทศ  จึงต้องเก่งและมีความอดทนสูง”

 ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้เดินทางไปสังเกตการณ์งานพระพุทธศาสนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ตามคำนิมนต์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยมีคณะผู้ร่วมเดินทางประกอบด้วย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโน เมื่อครั้งสมณศักดิ์พระเทพคุณาภรณ์) เป็นหัวหน้าคณะ และคณะประกอบด้วย เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ เมื่อครั้งสมณศักดิ์ พระราชวรเวที) กับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต เมื่อครั้งสมณศักดิ์ พระราชวรมุนี) เป็นเหตุให้เห็นหนทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ได้เกิดการวางรากฐานพระพุทธศาสนา  และเกิดวัดไทยขึ้นทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา  โดยอาศัยสมาคมชาวไทยต่างๆ เช่น  สมาคมชาวไทยอีสาน  สมาคมชาวไทยเหนือ  และสมาคมชาวไทยทักษิณ ตลอดจนนักศึกษาไทยในอเมริกา

              การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในดินแดนฝั่งตะวันตกไกลออกไปถึงสหรัฐอเมริกา  นับเป็นการเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนารอบโลกที่ไกลที่สุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเผยแผ่พระศาสนาของคณะสงฆ์  หลังสิ้นสุดยุคพระธรรมทูตทั้ง ๙ สาย  ของพระเจ้าอโศกมหาราช  รวมระยะเวลาเดินทางถึง ๘๐ วัน  ใน ๑๑ประเทศ  ประกอบด้วยประเทศญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  เนเธอร์แลนด์  เบลเยียม เยอรมนี  เดนมาร์ก  สวิตเซอร์แลนด์  อิตาลี  กรีก  และอินเดีย

              เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ  รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ  ได้สร้างอาคารหลังหนึ่งขึ้นภายในบริเวณวัด  และให้ชื่อว่า  “อาคารอนุสรณ์สมเด็จฯ ญาโณทยมหาเถระ พ.ศ. ๒๕๑๗” เพื่อเป็นที่พักพระสงฆ์ต่างประเทศ  ที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาในประเทศไทย  ให้ได้รับความสะดวกสบายในเรื่องที่อยู่อาศัย  ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)  พระอาจารย์ผู้จุดประกายความคิดที่จะให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปในโลกตะวันตก  ซึ่งอาคารดังกล่าวได้มีพระสงฆ์จากประเทศลาว  กัมพูชา  พม่า จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เนปาล และบังคลาเทศ  เป็นต้น เข้ามาพำนักอยู่เรื่อยมา หลังจบการศึกษาบางรูปเดินทางกลับประเทศ  บางรูปได้ทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตในนามพระสงฆ์ไทยเดินทางไปเผยแผ่พระศาสนายังประเทศตะวันตก

              แม้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ  การตั้งวัดในต่างประเทศ  และการที่จะให้มีพระธรรมทูตไปประจำที่ต่างประเทศในยุคแรกเริ่ม  ต้องพบกับอุปสรรคปัญหานานาประการ  แต่ในที่สุด  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็สามารถนำพาพระธรรมทูตสายต่างประเทศ  ก้าวข้ามห้วงเวลาแห่งความยากลำบากไปได้

ทุกครั้งที่มีผู้ตำหนิพระธรรมทูตต่างประเทศ  เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะกล่าวด้วยแววตาอ่อนโยนเสมอว่า “คนไทยไปเมืองนอก  เพื่อไหว้ฝรั่ง  แต่พระไปเมืองฝรั่งเพื่อให้ฝรั่งไหว้”

              แม้กระนั้นก็ตาม  การสร้างวัดในต่างประเทศ  ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  พระธรรมทูตต้องทำงานอย่างน่าสงสาร  น่าเห็นอกเห็นใจ  ต้องทุ่มเทสรรพกำลังความสามารถ  ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล  และต้องเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง  แม้กระทั่งชีวิต  กว่าจะสร้างวัดได้แต่ละวัด

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๗๔. ต้องนำพระพุทธศาสนากระจายออกไปทั่วโลกให้ได้  : เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here