“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

ญาณวชิระ

“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ

: ชาติที่ ๓ พระสุวรรณสาม ตำนานคนกตัญญู

“ความทุกข์เพราะถูกยิงด้วยธนู ไม่ทุกข์นัก

แต่ความทุกข์ที่จะไม่ได้เห็นบิดามารดาตลอดไป

เป็นทุกข์ยิ่งกว่าถูกยิงด้วยธนู” 

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ ขณะบำเพ็ญ “เมตตาบารมี” เมื่อครั้งเกิดเป็นสุวรรณสาม ชายหนุ่มผู้มีจิตใจอ่อนโยนเปี่ยมไปด้วยเมตตา สุวรรณสามได้ทิ้งความสุข สนุกสนานตามประสาเด็กหนุ่มทั้งหลาย เลี้ยงดูพ่อแม่ตาบอด ไม่เสียดายแม้กระทั่งชีวิต เพราะความรัก ความเมตตา ที่มีต่อพ่อแม่ผู้ตาบอด ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางป่า มีสัตว์ป่าเป็นเพื่อน

สุวรรณสามชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต และอรรถกถา  ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต

          ขณะตรัสเล่าเรื่องสุวรรณสามนั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้ออุทยานพระกุมารพระนามว่า“เชต” สร้างถวาย ระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระภิกษุรูปหนึ่ง ผู้บิณฑบาตเลี้ยงบิดามารดา เพื่อจะยกย่องพระภิกษุผู้เลี้ยงดูบิดามารดา ด้วยสิ่งของที่ชาวบ้านถวายว่า เป็นพระภิกษุยอดกตัญญู ให้เป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุทั้งปวง  พระพุทธองค์จึงตรัสเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์

พระภิกษุผู้เลี้ยงบิดามารดา   

ในกรุงสาวัตถี มีตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง มีทรัพย์สมบัติ ๑๘ โกฏิ มีลูกชายสืบสกุลเพียงคนเดียว บิดามารดาจึงรักและทะนุถนอมมาก  

วันหนึ่ง ลูกชายเศรษฐีเปิดหน้าต่างบนปราสาทออก มองเห็นผู้คนจำนวนมากที่ถนนใหญ่   ทุกคนต่างถือดอกไม้ธูปเทียน เดินตามกันไปฟังพระธรรมเทศนา ที่พระเชตวันมหาวิหาร ก็นึกอยากไปกับเขาบ้าง จึงให้คนใช้ถือดอกไม้ธูปเทียนตามผู้คนไปพระวิหาร ครั้นจัดแจงถวายผ้า เภสัช และ น้ำปานะแด่พระสงฆ์แล้ว จึงนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาพระพุทธเจ้า แล้วนั่งฟังพระธรรมเทศนา อยู่ในที่ที่สมควร ขณะที่ฟังเทศน์อยู่นั้น บุตรเศรษฐีเห็นโทษในการใช้ชีวิตแบบฆราวาส จึงเกิดศรัทธาในการบวช เมื่อผู้คนลุกออกไปแล้ว จึงตรงเข้าไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบวช  

พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่บวชให้กุลบุตรที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดา ชายหนุ่มจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้ากลับบ้าน กราบบิดามารดา ขอบวชกับพระพุทธเจ้า  

บิดามารดาได้ยินเช่นนั้น ราวกับหัวใจจะแตกสลาย เพราะมีลูกชายคนเดียว เกิดหวั่นไหว  เพราะความรักลูก จึงพูดกับลูกชายว่า “ลูกเป็นที่รัก เป็นผู้สืบสกุล เป็นดวงตา เป็นชีวิต ของพ่อกับแม่ ทั้งสอง พ่อกับแม่ ขาดลูก จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร พ่อกับแม่ อยู่ได้เพราะลูก เราทั้งสองก็แก่แล้ว จะตายวันตายพรุ่งก็ยังไม่รู้ ลูกยังจะทิ้งพ่อกับแม่ไปเสียอีก การบวชไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งทำได้ยากยิ่ง อยากกินของเย็น ก็ได้ของร้อน อยากกินของร้อน ก็ได้ของเย็น ลูกอย่าบวชเลย”

เมื่อชายหนุ่มไม่ได้รับอนุญาตให้บวช จึงเกิดความทุกข์ใจ นั่งก้มหน้า ซึมเศร้า ครุ่นคิดถึงชีวิต ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ไม่ยอมกินอาหาร ถึง ๗ วัน  

บิดามารดาปรึกษากันว่า “ถ้าไม่อนุญาตให้ลูกบวช ก็คงจะตาย เราจะไม่ได้เห็นเขาอีกเลย   ถึงลูกบวชเป็นพระภิกษุ ก็ยังได้เห็นหน้าต่อไป ยังดีกว่าตาย” ครั้นเห็นตรงกันอย่างนี้ จึงอนุญาตให้ลูกบวช ชายหนุ่มดีใจมาก จึงน้อมลงกราบแทบเท้าบิดามารดา ออกจากกรุงสาวัตถี มุ่งตรงไปยังพระเชตวันมหาวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบรรพชา

พระศาสดารับสั่งพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชให้กุลบุตรนั้นเป็นสามเณร ตั้งแต่สามเณรบวชแล้ว ลาภสักการะเกิดขึ้นมากมาย เพราะพ่อแม่ข้าทาสบริวารจัดข้าวของมาถวายเป็นประจำ

ครั้นอยู่ต่อมา สามเณรก็ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เล่าเรียนธรรมะอยู่กับพระอุปัชฌาย์  และอาจารย์ ๕ พรรษา จึงคิดว่า อยู่ที่นี้ ก็เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่ญาติ ไม่สมควร ต้องการบำเพ็ญ วิปัสสนาธุระ จึงเรียนพระกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ แล้วจาริกออกจากวิหารเชตวัน ไปอาศัยอยู่ในป่าใกล้หมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง

พระภิกษุรูปนั้น เจริญวิปัสสนาในป่าแห่งนั้น ด้วยความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า แม้เพียร พยายามอยู่ ถึง ๑๒ ปี ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งได้

ชีวิตที่เปลี่ยนไป

ฝ่ายโยมบิดามารดาของพระภิกษุรูปนั้น อายุมากแล้ว เมื่อวันเวลาล่วงเลยไป สังขารร่างกายก็แก่ชรา ร่วงโรยลง เพราะขาดลูกชาย จิตใจก็ห่อเหี่ยว ไม่มีจิตใจจะบริหารกิจการงาน เหล่าชนที่ประกอบการพาณิชย์ ก็คดโกง เพราะคิดว่า สกุลนี้ไม่มีบุตรหรือพี่น้องคอยควบคุม ดูแล ฟ้องร้องเอาโทษ เมื่อมีโอกาสคดโกง พวกเขาก็ใส่หนี้สินยักยอกทรัพย์ตามชอบใจ แม้กระทั่งทาสและกรรมกร ในเรือน ก็แอบยักยอกเงินทองทรัพย์สมบัติหลบหนีไป จึงกลายเป็นคนขัดสนลงทุกขณะ

ครั้นอยู่ต่อมา คนชราทั้งสอง จึงกลายเป็นคนตกทุกข์ได้ยาก สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีแม้กระทั่ง น้ำที่จะล้างมือ จำต้องขายเรือน แม้เช่นนั้น ก็ยังถูกคดโกง จึงไม่มีเรือนอยู่อาศัย กลายเป็นผู้ที่น่าสงสาร อย่างยิ่ง นุ่งห่มผ้าเก่าคร่ำคร่า ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานไปในที่ต่าง ๆ

ในกาลนั้น ได้มีพระเถระรูปหนึ่ง จาริกออกจากพระเชตวันมหาวิหาร ไปถึงที่อยู่ของพระภิกษุผู้เป็นบุตรเศรษฐีอนาถานั้น พระภิกษุผู้เป็นบุตรเศรษฐีนั้น ทำอาคันตุกวัตร ปฏิสันถารต้อนรับ ให้พักครู่หนึ่งแล้ว จึงถามถึงที่มาของพระเถระ ครั้นทราบว่า มาจากพระเชตวัน จึงถามถึงความผาสุก แห่งพระศาสดาและพระมหาสาวกทั้งหลาย แล้วเลียบเคียงถามถึงข่าวคราวความเป็นอยู่ของสกุลเศรษฐีผู้เป็นบิดามารดาในกรุงสาวัตถี

พระภิกษุอาคันตุกะตอบว่า “ท่านอย่าถามถึงข่าวคราวสกุลนั้นเลย ทราบมาว่า สกุลนั้นมีลูกชายคนเดียว บวชเป็นพระภิกษุ ตั้งแต่เขาบวชสกุลนั้น ก็เริ่มเสื่อมไป บัดนี้ เศรษฐีผู้เฒ่าทั้งสองน่าสงสารยิ่ง เป็นคนอนาถา ไร้เรือนนอน ต้องระเหเร่ร่อน ถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน   นอนตามชายคาบ้านคนอื่น”

พระภิกษุผู้เป็นบุตรเศรษฐี ได้ยินเช่นนั้น ไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ พลันน้ำตาก็เอ่อท้นออกมาร้องไห้ น้ำตานองหน้า ด้วยความรู้สึกผิด และเสียใจ กับสิ่งที่เกิดขึ้น

พระเถระจึงถามว่า “เธอร้องไห้ทำไม” พระภิกษุผู้เป็นบุตรเศรษฐีตอบว่า “ท่านทั้งสองคนนั้นเป็นบิดามารดาของกระผมเอง กระผมเป็นบุตรชายของท่าน” พระเถระตำหนิพระภิกษุหนุ่มรูปนั้นอย่างรุนแรงว่า “บิดามารดาถึงความพินาศล่มจมเพราะท่านคนเดียว กลับไปปรนนิบัติท่าน  อย่าให้ได้รับความลำบากอีกต่อไป”

พระภิกษุหนุ่มผู้เป็นบุตรเศรษฐีคิดว่า แม้ตัวท่านเอง จะเพียรพยายามปฏิบัติธรรมอยู่ถึง ๑๒ ปี ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลอย่างไรเลย เห็นจะเป็นคนอาภัพในพระศาสนา แล้วจะมีประโยชน์อะไร ที่จะบวชอยู่อีกต่อไป แม้สึกไปเป็นคฤหัสถ์ เลี้ยงดูบิดามารดา ทำบุญให้ทาน ตายไปก็ได้ไปเกิดในสวรรค์เช่นกัน จึงตัดสินใจที่จะลาสิกขา ได้มอบสถานที่อยู่ในป่าให้พระเถระนั้น   ช่วยดูแลต่อไป กราบลาพระเถระ ครั้นรุ่งขึ้นจึงออกจากป่า เดินทางไปโดยลำดับ จนลุถึงวิหารหลังพระเชตวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถีมากนัก ณ ที่ตรงนั้น มีทางสองแพร่ง ทางหนึ่ง   ไปพระเชตวัน อีกทางหนึ่ง ไปกรุงสาวัตถี

พระภิกษุหนุ่มหยุดยืนครุ่นคิดอยู่บนทาง ๒ แพร่งว่า จะไปหาบิดามารดาก่อน หรือจะไป เฝ้าพระบรมศาสดาก่อน แล้วคิดต่อไปว่า เราไม่ได้เห็นหน้าบิดามารดานานมากแล้วก็จริง แต่ ต่อจากนี้ไป เราจะได้เฝ้าพระพุทธเจ้ายากมาก เอาเถอะ ถึงอย่างไร เราก็จะได้พบบิดามารดาอยู่แล้ว วันนี้ เราจะไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน รุ่งขึ้น ค่อยไปหาบิดามารดาแต่เช้า จึงเปลี่ยนเส้นทางที่จะไปกรุงสาวัตถี มุ่งหน้าไปพระเชตวันมหาวิหาร ถึงพระเชตวันเมื่อเวลาเย็นแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรม

ใกล้รุ่งวันที่พระภิกษุหนุ่มรูปนั้นเดินทางถึงกรุงสาวัตถีนั่นเอง พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงเห็นอุปนิสัยพระภิกษุหนุ่มรูปนี้ว่า มีบุญเคยทำไว้ในชาติก่อน พอที่พระองค์จะอนุเคราะห์ให้บรรลุธรรมได้ เย็นวันนั้น พระองค์จึงแสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาคุณของบิดามารดา เรื่อง  “มาตุโปสกสูตร” เป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตุโปสกพราหมณ์ ผู้เลี้ยงดูบิดามารดา ได้แสวงหาภิกษาโดยชอบ นำมาเลี้ยงบิดามารดา เกิดความสงสัยว่า การที่ตนทำเช่นนี้ ชื่อว่า ได้ทำกิจที่ควรทำหรือไม่  จึงได้ทูลถามพระพุทธองค์

พระบรมศาสดาได้ตรัสว่า พราหมณ์ทำสิ่งที่ชอบยิ่ง การทำเช่นนี้ ชื่อว่า ได้ทำกิจที่ควรทำแล้ว  ด้วยว่า ผู้ใดแสวงหาภิกษาโดยชอบ แล้วนำมาเลี้ยงบิดามารดา ผู้นั้น ย่อมได้บุญเป็นอันมาก  พระพุทธองค์ได้ตรัสคาถาประพันธ์ เพิ่มเติมว่า   

“บุคคลใด เลี้ยงดูบิดามารดาโดยชอบ เพราะการบำรุงบิดามารดานั่นเอง บัณฑิต จึงสรรเสริญเขาผู้นั้น เขาละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงอยู่ในสวรรค์”

ในเวลาที่พระภิกษุหนุ่มเดินทางมาถึง ท่านได้ยืนอยู่ท้ายบริษัท สดับธรรมกถาอันไพเราะ  จึงรำพึงในใจว่า “เราคิดไว้ว่า จะสึกไปเป็นคฤหัสถ์ เพื่อเลี้ยงดูบิดามารดา แต่พระบรมศาสดาตรัสว่า  แม้บวชเป็นพระภิกษุ ก็สามารถเลี้ยงดูบิดามารดาได้ ถ้าเราไม่ตัดสินใจมาเฝ้าพระศาสดาก่อน  ก็จะเสื่อมจากการบวชที่มีคุณมากมายเช่นนี้ เราไม่จำเป็นต้องสึกออกไปเป็นคฤหัสถ์   บวชเป็นพระภิกษุอยู่นี่แหละ จะเลี้ยงดูบิดามารดา”

พระภิกษุรูปนั้น ถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้ว ออกจากพระเชตวัน ไปสู่โรงสลาก รับอาหารและข้าวต้มตามสลาก บวชเป็นภิกษุอยู่ป่ามา ๑๒ ปี  ไม่เคยรับอาหารจากโรงสลาก นอกจากเดินบิณฑบาตด้วยลำแข้งเลี้ยงชีพมา ตั้งแต่วันที่ออกบวช วันนี้ ต้องมาเดินเข้าโรงสลากรับอาหาร จึงรู้สึกเก้อเขิน ทำตัวไม่ถูก เหมือนคนที่พ่ายแพ้  

พระภิกษุรูปนั้น เข้าไปยังกรุงสาวัตถีแต่เช้าตรู่ กลับคิดว่า เราจะรับข้าวต้มก่อน หรือจะไปหาบิดามารดาก่อน แล้วคิดว่า การมีมือเปล่าไปหาคนอนาถา ไม่สมควร จึงรับข้าวต้มในโรงทาน  แล้วไปสถานที่ ซึ่งเคยเป็นเรือนของบิดามารดา ได้เห็นบิดามารดาเที่ยวขออาหารจากชาวบ้าน  เมื่อได้อาหารแล้ว ก็เข้าไปแอบอาศัยริมชายคาเรือนคนอื่นนั่งอยู่ กลายเป็นคนกำพร้าเข็ญใจถึงขนาดนี้  ท่านจึงเกิดความเศร้าโศกอย่างมาก ไม่อาจจะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ จึงเข้าไปยืนอยู่ใกล้ ๆ บิดามารดา

บิดามารดาเห็นท่านแล้ว แต่ก็จำไม่ได้ คิดว่า เป็นพระภิกษุมายืนรอรับบิณฑบาต จึงกล่าวว่า  “ของเคี้ยวของฉันที่ควรถวายพระคุณเจ้าไม่มี นิมนต์ไปโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด”

พระภิกษุหนุ่มได้ยินบิดามารดาพูดเช่นนั้น พลันก้อนสะอื้นก็วิ่งขึ้นมาจุกอยู่คอหอย  เกิดความเศร้าโศกเกินที่จะอดกลั้นไว้ได้ โลกทั้งโลกหมุนขว้าง ทำอะไรไม่ถูก จึงยืนร้องไห้  น้ำตานองหน้า อยู่ตรงนั้น เพราะได้รับความสะเทือนใจ จากภาพที่เห็น แม้มารดาจะกล่าวซ้ำอีกสองครั้งสามครั้ง ก็ยังยืนนิ่งอยู่นั่นเอง

               ๑ ปฏิปทาของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา คือ การบิณฑบาตเลี้ยงชีพ หากร่างกายยังแข็งแรง ไม่อาพาธ จะไม่รับภัตตาหารจากโรงทาน การที่พระภิกษุหนุ่มรูปนี้ รับภัตตาหารจากโรงทาน ท่านจึงเกิดความรู้สึกเหมือนพ่ายแพ้ต่ออุดมการณ์ของตน  

บิดาของพระภิกษุรูปนั้น รู้สึกคล้ายลูกชายตน จึงบอกให้มารดาเดินไปดูใกล้ๆ นางจึงลุกขึ้น เดินเข้าไปหา มองดูถนัด ก็จำได้ จึงหมอบลง ร้องไห้สะอึกสะอื้น แทบเท้าพระภิกษุผู้เป็นลูกชาย

ฝ่ายบิดาเดินไปบ้าง ก็ร้องไห้อยู่ตรงนั้นเหมือนกัน พระภิกษุหนุ่มเห็นบิดามารดา ก็ไม่อาจจะทรงกายอยู่ได้ จึงร้องไห้ด้วยความรู้สึกผิด กล่าวว่า “โยมทั้งสอง อย่าคิดอะไรเลย อาตมา จะเลี้ยงดู โยมทั้งสองไม่ให้ลำบากอีกต่อไป” ปลอบโยนบิดามารดาให้อุ่นใจแล้ว ให้กินข้าวต้ม ให้นั่งพักในที่อันควรแห่งหนึ่ง แล้วไปบิณฑบาตมาให้บิดามารดาบริโภคก่อน แล้วจึงไปบิณฑบาตสำหรับตนอีกรอบหนึ่ง

จากนั้นมา พระภิกษุหนุ่มจึงได้ปฏิบัติบิดามารดาทั้งสอง โดยทำนองนี้ ได้อาหารสิ่งใดมาก็นำมาให้บิดามารดา ส่วนตน ออกบิณฑบาตฉันเองทีหลัง เมื่อบิณฑบาตไม่ได้ ก็อด เมื่อมีผู้ถวายผ้าจำนำพรรษา หรือผ้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็นำมาให้บิดามารดา ส่วนตนซักย้อมผ้าเก่า ๆ ที่บิดามารดา นุ่งห่ม นำมาเย็บ ย้อม ทำเป็นจีวร นุ่งห่มเอง

วันที่ออกบิณฑบาตได้อาหาร มีน้อย แต่วันที่บิณฑบาตไม่ได้ มีมาก ผ้านุ่งผ้าห่มของพระภิกษุนั้น  ก็เศร้าหมองเต็มที เมื่อท่านปฏิบัติเลี้ยงดูบิดามารดาอยู่อย่างนั้น ร่างกายก็ผ่ายผอม ผิวพรรณก็เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ทั้งร่างกาย ก็ปูดโปนไปด้วยเส้นเอ็น

หมู่พระภิกษุที่เป็นเพื่อนผู้คุ้นเคยกับภิกษุนั้น รู้สึกแปลกตา ที่เห็นท่านผิวพรรณเศร้าหมอง ผิดปกติ จึงถามว่า “เมื่อก่อน ร่างกายผิววรรณะของเธอ งามสดใส แต่ทำไมเดี๋ยวนี้ จึงผ่ายผอม เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ร่างกายก็ปูดโปนไปด้วยเส้นเอ็น เธอมีโรคอะไรบ้างหรือเปล่า” พระภิกษุนั้น  ตอบว่า “ผมไม่มีโรคอะไร แต่มีความกังวลบางอย่าง” จึงบอกข้อที่ตนบิณฑบาตเลี้ยงดูบิดามารดา ให้เพื่อนภิกษุทราบ

พระภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวว่า “พระศาสดาไม่อนุญาตให้ภิกษุทำชาวบ้านให้เสื่อมศรัทธา  การที่เธอนำของที่เขาให้ด้วยศรัทธา ไปให้คฤหัสถ์เช่นนี้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านเสื่อมศรัทธา   เป็นสิ่งที่ไม่สมควร”

พระภิกษุหนุ่มรูปนั้น รู้สึกละอายใจ ที่ถูกเพื่อนพระด้วยกันตำหนิ จึงละทิ้งการเลี้ยงดูบิดามารดาผู้แก่ชรา แม้เช่นนั้น พวกภิกษุก็ยังไม่พอใจ จึงพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปโน้น นำของที่เขาถวายด้วยศรัทธา ไปเลี้ยงดูคฤหัสถ์”

พระศาสดาตรัสเรียกพระภิกษุหนุ่มมาตรัสถาม ท่านกราบทูลรับตามความเป็นจริง เมื่อจะทรง สรรเสริญการกระทำของเธอ และต้องการจะประกาศข้อปฏิบัติในอดีตชาติของพระองค์ จึงตรัสถามว่า  “คฤหัสถ์ที่เธอเลี้ยงดูนั้น เป็นใคร” พระภิกษุหนุ่มกราบทูลว่า “ท่านทั้งสอง เป็นบิดามารดาของข้าพระองค์” เพื่อจะให้กำลังใจพระภิกษุหนุ่มรูปนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงประทานสาธุการ   แล้วตรัสว่า “เธอปฏิบัติตามปฏิปทา ที่ตถาคตปฏิบัติมาแล้ว แม้เมื่อครั้งที่ตถาคต ยังประพฤติบุรพจริยา ก็ได้บำรุงเลี้ยงบิดามารดา มาก่อนเช่นกัน” พระภิกษุหนุ่ม กลับได้ความชุ่มชื่น  เบิกบานใจ

หมู่ภิกษุกราบทูลวิงวอนให้ทรงตรัสเล่าเรื่องข้อประพฤติในกาลก่อน พระบรมศาสดา จึงทรงนำอดีตชาติมาแสดง เพื่อจะทำให้การเลี้ยงดูบิดามารดาที่เป็นบุรพจริยาของพระองค์ แจ่มชัดยิ่งขึ้น

คำมั่นสัญญา

ในอดีตชาติ มีหมู่บ้านนายพราน ๒ หมู่บ้าน อยู่ไม่ไกลจากกรุงพาราณสี หมู่บ้านหนึ่ง ๆ  มีนายพรานอยู่รวมกัน ๕๐๐ ครอบครัว อยู่คนละริมฝั่งแม่น้ำ น ายพรานผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ทั้ง ๒ คน เป็นเพื่อนรักกัน ตอนที่ยังหนุ่ม เคยให้สัญญากันไว้ว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ลูกสาว อีกฝ่ายหนึ่งได้ลูกชาย จะให้ทั้งสองคน แต่งงานกัน

อยู่ต่อมาไม่นาน หัวหน้านายพรานทั้งสองหมู่บ้าน แต่งงาน มีครอบครัว นายพรานในบ้านริมฝั่งนี้ ได้ลูกชาย ญาติทั้งหลายเอาผ้าทุกูลพัสตร์รองรับกุมารนั้นในขณะเกิด บิดามารดา จึงตั้งชื่อลูกชายว่า “ทุกูล” แปลว่า “เด็กชายผู้นอนบนผ้าทุกูล” ส่วนหัวหน้านายพรานอีกคนหนึ่ง ได้ลูกสาว  เพราะเกิดที่หมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำ บิดามารดาจึงตั้งชื่อลูกสาวว่า “ปาริกา” แปลว่า “เด็กหญิงผู้เกิด ที่ริมฝั่งแม่น้ำ”

เด็กทั้งสองคน มีรูปร่างหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู ผิวพรรณสะอาดหมดจดเกลี้ยงเกลา แม้เกิดในสกุลนายพราน ก็มีจิตใจงดงาม ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ต่างจากเด็กในหมู่บ้านนายพรานทั่วไป

เมื่อทุกูลกุมาร อายุได้ ๑๖ ปี บิดามารดาต้องการให้แต่งงาน แต่ทุกูลกุมาร จุติมาจากพรหมโลก  เป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะความที่พรหมโลก ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม จึงเอามือปิดหูทั้งสองข้าง บอกว่า  “ผมไม่ต้องการมีครอบครัว โปรดอย่าพูดอย่างนี้” แม้บิดามารดารบเร้าถึงสองครั้งสามครั้ง ทุกูลกุมาร ก็ไม่ต้องการที่จะมีครอบครัว

          ฝ่ายปาริกากุมารี แม้บิดามารดา พูดว่า เพื่อนพ่อกับแม่ มีลูกชายหน้าตาดี จะให้แต่งงานกับลูก  เธอก็เอามือปิดหูทั้งสองข้าง กล่าวห้าม เพราะความที่เธอ จุติมาจากพรหมโลกเช่นเดียวกัน

          ในคราวนั้น ทุกูลกุมารส่งข่าวลับไปบอกนางปาริกาว่า “ถ้าเธอต้องการมีครอบครัว ก็แต่งงานกับคนอื่นเถิด ฉันไม่ต้องการมีครอบครัว” ส่วนนางปาริกาก็ส่งข่าวลับไปถึงทุกูลกุมารเหมือนกัน

          แต่บิดามารดา ก็ได้ให้ทั้งสองแต่งงานกัน ทั้ง ๆ ที่ชายหนุ่มและหญิงสาว ไม่ปรารถนา แม้เช่นนั้น เธอทั้งสอง ก็มิได้ร่วมประเวณี อยู่ด้วยกันเหมือนมหาพรหม ๒ องค์ ทุกูลนั้น ไม่ฆ่าปลาหรือเนื้อ แม้เนื้อ ที่คนนำมาให้ขาย ก็ไม่ยอมขาย

          บิดามารดา พูดกับลูกชายว่า “ลูกเกิดในสกุลนายพราน ไม่อยากมีครอบครัว ไม่ฆ่าสัตว์ แล้วลูกจะประกอบอาชีพอะไร” ทุกูลกล่าวว่า “ถ้าท่านอนุญาต เราทั้งสองจะบวช”

บิดามารดาเห็นว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะเหนี่ยวรั้งไว้ จึงอนุญาตให้บวช ชายหนุ่มและหญิงสาวทั้งสอง ยินดีเป็นอย่างมาก กราบเท้าบิดามารดาแล้ว เดินทางออกจากหมู่บ้าน มุ่งหน้าสู่หิมวันตประเทศ ลัดเลาะไปตามฝั่งแม่น้ำคงคา พ้นแม่น้ำคงคา จึงเข้าเขตแม่น้ำมิคสัมมตา ที่ชาวบ้านสมมติเรียกกันว่า “ปากโค” ซึ่งไหลลงมาจากภูเขาหิมวันต์ แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำคงคา

          ขณะนั้น ภพท้าวสักกเทวราช เกิดรุ่มร้อน พระองค์พิจารณา ก็ทราบว่า มหาบุรุษทั้งสองจะบวชเป็นฤๅษี จึงมีบัญชาให้วิสสุกรรมเทพบุตร ไปเนรมิตอาศรม และบริขารนักบวช ให้ท่านทั้งสอง บรรณศาลานั้น ห่างจากแม่น้ำมิคสัมมตา ประมาณกึ่งเสียงคนกู่ถึงกัน วิสสุกรรมเทพบุตร  ไปจัดการตามพระอินทร์บัญชา ไล่เนื้อและนกที่มีสำเนียงน่ากลัว ให้หนีไป แล้วเนรมิตทางเส้นเดียวไปยังอาศรมนั้น

          ชายหนุ่มและหญิงสาวทั้งสอง เห็นทางที่คนเดินทอดอยู่เบื้องหน้า จึงเดินไปตามทางนั้น               จนถึงอาศรม ทุกูลบัณฑิตเข้าสู่บรรณศาลา เห็นบริขารนักบวช ก็ทราบว่า พระอินทร์ประทานให้จึงเปลื้องเครื่องนุ่งห่มคฤหัสถ์ออก นุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง พาดหนังเสือบนบ่า   ผูกมณฑลชฎา ครองเพศฤๅษี แล้วให้นางปาริกา บวชเป็นฤๅษิณี

กำเนิดพระสุวรรณสาม

เมื่อดาบสและดาบสินีทั้งสอง (๒) บวชแล้ว ได้เจริญเมตตา อาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้น แม้ฝูงเนื้อ และนกทั้งปวง ก็กลับได้เมตตาจิตต่อกันและกัน ด้วยอานุภาพเมตตาแห่งนักบวชทั้งสองท่าน   สัตว์ป่าเหล่านั้น จึงไม่เบียดเบียนทำอันตรายกันและกัน

          ปาริกาดาบสินี ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ จัดเตรียมน้ำดื่มและของฉันแล้ว กวาดอาศรม ทำหน้าที่ทุกอย่าง  จากนั้น ดาบสและดาบสินีทั้งสอง ก็ออกหาผลไม้นานาชนิดมาฉัน แล้วเข้าสู่บรรณศาลาของตน  เจริญสมณธรรม พักอิริยาบถสำราญอยู่ในป่าแห่งนั้น แม้ท้าวสักกเทวราชได้เสด็จมาดูแลพระมุนีทั้งสอง เช่นกัน

          วันหนึ่ง พระองค์เห็นว่า จะเกิดอันตรายแก่นักบวชทั้งสองถึงตาบอด เพราะความเป็นห่วง               จึงลงมาจากเทวโลก เข้าไปหาทุกูลบัณฑิต นมัสการ แล้วนั่ง ณ ที่อันสมควร ตรัสว่า “จะเกิดอันตราย แก่ท่านทั้งสอง ควรที่ท่านทั้งสอง จะต้องมีบุตรไว้สำหรับคอยปฏิบัติบำรุง ขอท่านทั้งสอง จงเสพโลกธรรม”  ทุกูลบัณฑิตได้สดับคำของท้าวสักกะจึงกล่าวว่า “พระองค์ตรัสอะไร แม้เราทั้งสองอยู่เรือน ก็ยังไม่เสพโลกธรรม เกลียดดุจกองคูถซึ่งเต็มไปด้วยหมู่หนอน บัดนี้ เราเข้าป่า ออกบวช    เป็นฤาษี จะทำเช่นนี้ ได้อย่างไร” ท้าวสักกะตรัสว่า “พระคุณเจ้า ไม่ต้องทำอย่างนั้น แต่ขอให้เอามือลูบท้องปาริกาดาบสินี เวลานางมีระดู” ทุกูลบัณฑิตรับว่า “อย่างนี้ทำได้” ท้าวสักกะนมัสการทุกูลดาบสแล้ว กลับไปที่อยู่ของตน

          ฝ่ายทุกูลบัณฑิต บอกนางปาริกาให้ทราบ แล้วเอามือลูบท้องนาง ในเวลาที่นางมีระดู

             (๒) ฤๅษี เป็นนักบวช ที่ไม่ได้จัดเข้าในลัทธิใด เป็นแต่ออกบวช เพื่อมุ่งการปฏิบัติธรรมเท่านั้น นักบวชชาย เรียกว่า “ฤๅษี”  นักบวชหญิง เรียกว่า “ฤๅษิณี” บางครั้ง นักบวชชาย เรียกว่า “ดาบส” นักบวชหญิง เรียกว่า “ดาบสินี” ในทางพุทธศาสนา   นิยมเรียกพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า “ฤๅษี” เพราะความที่ท่านบวช และบรรลุธรรมเฉพาะตน ไม่ได้สอนคนอื่นให้รู้ตาม ( ดาบสินี อ่านว่า ดา-บด-สิ-นี )

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ จุติจากเทวโลก มาถือปฏิสนธิในครรภ์นางปาริกา ครั้นล่วงไปได้สิบเดือน นางคลอดบุตร มีผิวพรรณสะอาด งดงาม ผุดผ่อง ดั่งทองคำ บิดามารดา จึงตั้งชื่อบุตรว่า  “สุวรรณสาม” เวลาที่นางปาริกาไปป่า เก็บผลไม้ นางกินรีทั้งหลาย ที่อยู่บนขุนเขา ได้ทำหน้าที่นางนมแทน เมื่อดาบสและดาบสินีทั้งสองอาบน้ำให้พระโพธิสัตว์แล้ว ให้บรรทมในบรรณศาลา พากันไปหาผลไม้  นางกินรีทั้งหลาย ก็อุ้มสุวรรณสามไปอาบน้ำที่แอ่งน้ำในซอกเขา แล้วพาขึ้นสู่ยอดบรรพต ประดับด้วยดอกไม้หลากสี ฝนหรดาล และมโนศิลา แต้มที่หน้าผาก แล้วนำกลับมาให้นอนในบรรณศาลาตามเดิม ครั้นนางปาริกาดาบสินีกลับมา ก็ให้บุตรดื่มนม

          เมื่อบิดามารดา เลี้ยงดูบุตรมาเช่นนี้ จนมีอายุได้ ๑๖ ปี ให้บุตรนั่งคอยอยู่ในบรรณศาลา ตนเองพากันออกป่าหาผลไม้ ส่วนสุวรรณสาม ได้เฝ้าสังเกตทางที่บิดามารดาไปและกลับ เพราะเกรงว่าอาจจะเกิดอันตรายแก่บิดามารดาได้

เผชิญกรรมกลางป่าใหญ่

          อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อบิดามารดาของสุวรรณสาม ไปเก็บผลไม้ในป่า เดินทางกลับในเวลาตะวัน บ่ายคล้อยเย็นลงแล้ว ครั้นใกล้ถึงอาศรม เกิดฝนตกหนักในระหว่างทาง จึงพากันเข้าไปยืนหลบฝน  ที่โคนต้นไม้บนจอมปลวกแห่งหนึ่ง งูพิษซึ่งอาศัยอยู่ที่จอมปลวก ได้กลิ่นเหงื่อเจือน้ำฝนจากกายของสองดาบส จึงพ่นพิษออกมา ถูกตาทั้งสองข้างของดาบสและดาบสินีนั้นบอดสนิท ไม่สามารถมองเห็นกันและกัน

          ทุกูลบัณฑิตเรียกนางปาริกาว่า “ปาริกา ตาฉันมองไม่เห็น เธออยู่ไหน ฉันมองไม่เห็นเธอ”  แม้นางปาริกา ก็กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน ทั้งสองมองไม่เห็นทาง ก็ยืนคร่ำครวญว่า “ชีวิตของเราทั้งสอง คงจะหาไม่แล้ว”

          บิดามารดาของสุวรรณสาม ได้ทำกรรมไว้ในอดีตชาติ แม้จะออกบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญสมณธรรม ก็ยังประสบเคราะห์กรรม มีเหตุทำให้ต้องตาบอด

          ในอดีตชาติ ทั้งสองคน เคยเกิดในตระกูลแพทย์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุ เป็นจักษุแพทย์ ผู้มีชื่อเสียง นายแพทย์นั้น ได้ทำการรักษาโรคในจักษุของชายผู้มีทรัพย์มากคนหนึ่ง เมื่อดวงตาของชายผู้นั้น หายดีเป็นปกติแล้ว กลับไม่ยอมจ่ายค่ารักษาให้นายแพทย์คนนั้น นายแพทย์โกรธจึงกลับบ้านไปปรึกษาภรรยาว่า ควรจะทำอย่างไรกับชายผู้นั้นดี

          ฝ่ายภรรยา ได้ฟังสามีกล่าว ก็โกรธเช่นกัน จึงบอกสามีว่า “อย่าไปต้องการทรัพย์มันเลย ประกอบยาหยอดตาขนานหนึ่งให้ ทำให้มันกลับไปตาบอดเหมือนเดิม” สามีเห็นด้วย จึงออก       จากเรือนไปหาชายผู้นั้น ได้ทำตามนั้น ไม่นานนัก ดวงตาทั้งสองข้างของชายผู้มีทรัพย์มาก ก็บอดสนิท  “บิดามารดาของสุวรรณสามตาบอด เพราะกรรมนี้”

          ส่วนสุวรรณสาม นั่งคอยบิดามารดา จนอาทิตย์อ่อนแสงเย็นลงทุกขณะ เห็นผิดปกติ จึงร้อนใจ เป็นห่วงบิดามารดาว่า ในวันก่อน ๆ บิดามารดาเคยกลับมาในเวลานี้ แต่วันนี้ กลับผิดเวลา สุวรรณสาม ตัดสินใจเดินสวนทางไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ในเวลาที่บิดามารดาไปและกลับ เดินไปพลางตะโกน กู่ร้องเรียกหาเรื่อยไป ท่านทั้งสองนั้น จำเสียงลูกชายได้ ก็ขานรับ แต่เพราะความเป็นห่วง กลัวจะเกิดอันตราย จึงร้องห้ามไม่ให้สุวรรณสามเข้าไปที่นั้น ว่า “ลูกสาม ในที่นี้ มีอันตราย ลูกอย่าเข้ามา”  สุวรรณสามกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พ่อกับแม่จับไม้เท้าแล้วเดินออกมา”

          สุวรรณสาม จึงยื่นไม้เท้ายาวให้จับออกมา แล้วถามถึงสาเหตุว่า ทำไมถึงตาบอด บิดามารดาทั้งสอง จึงเล่าให้ลูกชายฟังว่า ขณะเดินทางกลับมาถึงบริเวณนี้ เกิดฝนตกหนัก จึงเข้ามายืนหลบฝนอยู่บนจอมปลวกที่โคนต้นไม้นี้ ตาทั้งสองก็บอด สุวรรณสามได้ยินเช่นนั้น ก็รู้ว่ามีงูพิษอยู่ในจอมปลวกนั้น

          สุวรรณสามเห็นบิดามารดาตาบอดเช่นนี้จึงร้องไห้ ครั้นแล้ว ก็กลับหัวเราะ บิดามารดา  เกิดความสงสัยว่า ทำไมลูกร้องไห้ แล้วกลับหัวเราะ จึงถามถึงสาเหตุ สุวรรณสามตอบว่า ที่ร้องไห้ เพราะเสียใจว่า ดวงตาของบิดามารดาบอดสนิท ในเวลาที่ตนยังเด็กอยู่ จึงร้องไห้ แต่ก็ดีใจว่า  จะได้ปฏิบัติบำรุงท่านทั้งสอง ตั้งแต่อายุยังน้อย จึงหัวเราะ สุวรรณสาม ปลอบโยนบิดามารดาให้เบาใจ  แล้วนำกลับมาอาศรม

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา สุวรรณสามได้ผูกเชือกเป็นราวในบริเวณอาศรม สำหรับบิดามารดา  เดินไปในที่ต่าง ๆ ทั้งในที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน ที่จงกรม ที่บรรณศาลา และที่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ แล้วเข้าป่า เก็บผลไม้มาเตรียมไว้ในบรรณศาลา เก็บกวาดที่อยู่ของบิดามารดาแต่เช้าตรู่ ไหว้บิดามารดาก่อนแล้ว จึงถือหม้อน้ำ ไปแม่น้ำมิคสัมมตานที ตักน้ำดื่มมา จากนั้น ก็จัดเตรียมผลไม้ นานาชนิด ไม้สีฟัน และน้ำบ้วนปากไว้พร้อม ครั้นบิดามารดาฉันเสร็จ บ้วนปากแล้ว ตนเองจึงรับประทานผลไม้ที่เหลือ เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ก็กราบลาบิดามารดา มีฝูงสัตว์ป่านานาชนิดแวดล้อม เข้าป่าเพื่อหาผลไม้อีก เหล่ากินนรที่เชิงเขา ต่างแวดล้อมพระโพธิสัตว์ ช่วยเก็บผลไม้มาให้

          ตกเย็น สุวรรณสามกลับมาถึงอาศรม เอาหม้อตักน้ำมาตั้งไว้ ต้มน้ำให้ร้อน แล้วอาบ และ              ล้างเท้าบิดามารดา นำกระเบื้องถ่านเพลิง มาให้บิดามารดาผิง เช็ดมือเช็ดเท้าบิดามารดา  เมื่อบิดามารดานั่งแล้ว ให้บริโภคผลไม้ ส่วนตนเอง บริโภคภายหลังจากที่บิดามารดาบริโภคเสร็จแล้ว  เก็บผลไม้ที่เหลือไว้ในอาศรมบท สุวรรณสามปฏิบัติบำรุงบิดามารดาเช่นนี้ ด้วยความสุขใจ ตลอดมา

ถูกยิงด้วยธนูอาบยาพิษ

          สมัยนั้น พระราชาพระนามว่า “พระเจ้าปิลยักษ์” ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี  แคว้นกาสี พระองค์ติดใจในรสเนื้อกวาง จึงมอบราชสมบัติให้พระชนนีว่าราชการแผ่นดิน จัดเตรียมอาวุธสำหรับล่าเนื้อ มุ่งหน้าสู่ป่าหิมวันต์เพียงพระองค์เดียว ทรงฆ่ากวาง เสวยเนื้อ แล้วเสด็จไปจนถึงแม่น้ำมิคสัมมตานที เสด็จย้อนขึ้นไปตามสายน้ำที่ไหลลงมา จนถึงท่าที่สุวรรณสามลงตักน้ำ ทอดพระเนตรเห็นรอยเท้ากวางมากมายในบริเวณท่าน้ำนั้น จึงทำซุ้มด้วยกิ่งไม้สด ประทับนั่งดักยิงกวางอยู่ในซุ้มนั้น

          วันนั้น สุวรรณสามเก็บผลไม้มา ในเวลาเย็น จัดเก็บไว้ในอาศรมแล้ว จึงกราบลาบิดามารดา  ไปตักน้ำ เดินถือหม้อน้ำ ไปตามทางที่เคยเดิน มีฝูงกวางแวดล้อมไปเป็นจำนวนมาก สุวรรณสามให้กวางสองตัวเดินเคียงคู่กัน วางหม้อน้ำดื่มบนหลังกวางทั้งสอง ใช้มือประคอง เดินไปท่าน้ำ  ด้วยความร่าเริง สนุกสนาน เล่นหัวกับฝูงสัตว์ป่า เหมือนเพื่อนเล่น

          ฝ่ายพระราชา ประทับแอบอยู่ในซุ้ม ทอดพระเนตรเห็นสุวรรณสาม แวดล้อมด้วยฝูงกวางเดินมา ทรงคิดว่า พระองค์ท่องเที่ยวไปในป่าหิมวันต์ จนมาถึงที่นี่ ยังไม่เคยเห็นมนุษย์สักคนเดียว  ชายหนุ่มผู้นี้ จะเป็นเทวดาหรือนาคก็ไม่อาจทราบได้ ถ้าพระองค์เข้าไปไต่ถาม หากเป็นเทวดาก็จะเหาะหนีไปในอากาศ หากเป็นนาคก็จะดำดินหนีไป แล้วพระองค์ก็ไม่สามารถจับได้ พระองค์ไม่ได้เที่ยวอยู่ในป่าตลอดไป เมื่อกลับพระนคร หากพระองค์ถูกหมู่อำมาตย์ถามว่า ขณะท่องเที่ยวอยู่ในป่าหิมวันต์ ได้เคยทอดพระเนตรเห็นอะไรแปลก ๆ บ้าง ครั้นบอกว่า เคยเห็นสัตว์ประเภทนี้  เขาก็จะย้อนถามว่า สัตว์ชนิดนั้นชื่ออะไร เมื่อพระองค์ตอบว่า ไม่รู้จัก เขาก็จะพากันหัวเราะเยาะ  จึงตกลงใจที่จะยิงชายหนุ่มผู้นี้ให้บาดเจ็บก่อน ค่อยถามเรื่องราวทีหลัง

          เมื่อฝูงกวางลงดื่มน้ำแล้วขึ้นก่อน สุวรรณสามจึงค่อย ๆ ลงน้ำ กิริยาอาการท่วงที ราวกับพระเถระผู้ได้รับการฝึกหัดจริยาวัตรแล้ว สุวรรณสามอาบน้ำระงับความกระวนกระวายแล้ว  จึงขึ้นจากน้ำ นุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง เอาหนังเสือพาดเฉวียงบ่า ยกหม้อน้ำขึ้นวางบนบ่าซ้าย เตรียมก้าวเท้าเดินกลับ

          พระราชาทรงคิดว่า ยิงเวลานี้แหละ ดีที่สุด จึงยกธนูอาบยาพิษ ขึ้นเล็ง อย่างแผ่วเบา เมื่อได้เป้าหมายที่เหมาะ พลันลูกธนูก็พุ่งออกจากคัน แหวกอากาศไปด้วยความแรงและเร็ว ตรงเข้าเสียบทะลุสีข้างสุวรรณสาม สุวรรณสามร้องเสียงดังด้วยความเจ็บปวด ฝูงกวางรู้ว่า สุวรรณสามถูกยิง  ต่างก็ตกใจกลัว วิ่งหนีกระเจิดกระเจิงไปคนละทาง

          แม้สุวรรณสามถูกยิง แต่ก็ยังมีสติประคองหม้อน้ำไว้ ตั้งสติมั่นแล้ว ค่อย ๆ วางหม้อน้ำลง  คุ้ยเกลี่ยทรายให้เป็นร่อง ตั้งหม้อน้ำ กำหนดทิศ แล้วนอนบนพื้นทรายเนื้อละเอียดขาวดังแผ่นเงิน  หันศีรษะไปทางด้านที่บิดามารดาอยู่ แม้จะเจ็บปวดเจียนขาดใจ แต่ก็ตั้งสติ กล่าวออกไปด้วยถ้อยคำอ่อนโยนว่า

“ในป่าแห่งนี้

เราไม่เคยสร้างเวรไว้กับใคร

แม้บุคคลผู้มีเวรกับบิดามารดาเรา

ก็ไม่มี เช่นกัน”

กล่าวได้แค่นี้ ก็ฝืนความเจ็บปวด บ้วนเลือด ถ่มออกจากปาก แม้มองไม่เห็นพระราชาก็ถามออกไปว่า “ใครยิงเรา ซึ่งยังไม่ทันระวังตัว เพราะกำลังแบกหม้อน้ำ จึงไม่ทันได้แผ่เมตตาให้  ท่านเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ หรือแพศย์ ยิงเราแล้ว แต่กลับหลบอยู่ในพุ่มไม้ เนื้อของเรา ก็กินไม่ได้  หนังก็ไร้ประโยชน์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไม ท่านจึงเข้าใจว่าควรยิงเรา ท่านเป็นใคร เพื่อนเอ๋ย  จงบอกเราเถิด ยิงเราแล้ว ทำไมจึงซ่อนตัวเสียเล่า” พูดได้แค่นี้แล้ว ก็นิ่งกล้ำกลืนฝืนความเจ็บปวด  

แม้สุวรรณสาม กล่าวเช่นนั้น พระราชาก็ทรงดำริว่า “ไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรือนาคก็ตาม  ก็สามารถพูดภาษามนุษย์ได้ทั้งนั้น เราไม่รู้ว่า ชายหนุ่มผู้นี้ เป็นเทวดา เป็นนาค หรือมนุษย์   ถ้าเขาโกรธ ก็อาจทำอันตรายได้ เมื่อบอกให้รู้ว่า เราเป็นพระราชา ไม่มีใคร ที่ไม่กลัว ชายผู้นี้  แม้ถูกเรายิง ล้มลง ก็ไม่ด่าทอ ไม่ตัดพ้อ กลับเรียกเราด้วยถ้อยคำที่ไพเราะจนจับจิต เราควรไปหาเขา”

ว่าแล้ว พระเจ้าปิลยักษ์ จึงออกจากที่กำบัง เสด็จไปประทับยืนใกล้สุวรรณสาม แล้วตรัสว่า  “เราเป็นพระราชาของชาวกาสี คนเรียกเราว่า “พระเจ้าปิลยักษ์” เราออกจากราชมณเฑียร  เที่ยวล่ากวาง เรามีความชำนาญในการยิงธนู เป็นที่เล่าลือปรากฏไปทั่วพื้นชมพูทวีปว่า มีฝีมือแม่นยำนัก แม้ช้างอยู่ในระยะลูกศร ก็ไม่สามารถวิ่งหนีไปได้ถึง ๗ ก้าว”

          ครั้นพระราชาสรรเสริญความสามารถของพระองค์ดังนี้แล้ว จึงถามสุวรรณสามว่า   “เธอเป็นใคร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร จงบอกชื่อพ่อชื่อแม่ และโคตรของเธอ ให้เราทราบด้วย”  

สุวรรณสามคิดว่า ในป่าใหญ่ไร้มนุษย์เช่นนี้ ถ้าบอกว่า เป็นเทวดา นาค ยักษ์ กินนร หรือ เป็นกษัตริย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง พระราชา ก็ต้องเชื่อ แต่ควรบอกความจริงเท่านั้น จึงทูลว่า “ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์เป็นบุตรฤๅษี ผู้เป็นบุตรของนายพราน ญาติทั้งหลาย เรียกข้าพระองค์ว่า “สาม” วันนี้ ข้าพระองค์ใกล้ตาย นอนอยู่อย่างนี้ เพราะถูกพระองค์ยิง  เหมือนกวางถูกศรพรานป่า ขอพระองค์ทอดพระเนตรข้าพระองค์ นอนจมกองเลือดของตนเถิด  เชิญทอดพระเนตรลูกธนูที่เข้าข้างขวา ทะลุออกข้างซ้าย ข้าพระองค์บ้วนโลหิตอยู่ รู้สึกทุรนทุราย กระสับกระส่าย ทำไม จึงซุ่มยิงข้าพระองค์ เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา  ก็แล้วพระองค์ เข้าใจว่า ข้าพระองค์ควรถูกฆ่า ด้วยเหตุอะไร”

          แม้พระราชา ได้ฟังเช่นนั้น ก็ยังไม่ตรัสบอกตามจริง ตรัสเลี่ยงไปว่า “สาม กวางปรากฏตัว  เดินเข้ามาในระยะลูกศร ครั้นเห็นเธอเข้า ก็ตกใจ แตกตื่น วิ่งหนีไป เราโกรธ จึงยิงเธอ”

พระโพธิสัตว์ทูลว่า “พระองค์ตรัสอะไร ในป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ ไม่มีกวางตัวใด  เห็นข้าพระองค์แล้วหนีไป ตั้งแต่จำความได้ ข้าพระองค์ก็นุ่งผ้าเปลือกไม้มาตั้งแต่เยาว์วัย ลูกกวาง และฝูงกวางในป่า แม้ดุร้าย ก็ยังไม่กลัวข้าพระองค์ แม้ฝูงกินนร ได้ชื่อว่า มีความขลาดอย่างยิ่ง  อาศัยอยู่บนภูเขาคันธมาทน์ เห็นข้าพระองค์ ยังไม่สะดุ้งกลัว พวกเราต่างสนุกสนานชื่นชมต่อกัน ท่องเที่ยวไปตามป่าเขาลำเนาไพร เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝูงกวางจะสะดุ้งกลัวข้าพระองค์ ด้วยเหตุอันใด”

          พระราชารู้สึกละอายใจว่า พระองค์ยิงคนผู้ไร้ความผิด แล้วยังกล่าวเท็จอีก จึงบอกความจริงว่า “สาม กวางเห็นเธอแล้ว หาตกใจ หนีไปไม่ แต่เรา โกหกเธอ เพราะความโกรธ และความโลภ เราจึงยิงเธอ”

          ครั้นพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ทรงดำริว่า ไม่น่าที่สุวรรณสามจะอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้เพียงลำพัง เขาจะต้องมีญาติแน่ จะต้องถามให้รู้ความ จึงตรัสถามว่า “เธอมาจากไหน ใครใช้ให้เธอ มาตักน้ำ”

          สุวรรณสามสู้อดกลั้นความเจ็บปวดทุกขเวทนาเจียนขาดใจ บ้วนเลือดแล้ว กล่าวว่า “บิดามารดาของข้าพระองค์ เป็นคนตาบอด ข้าพระองค์เลี้ยงดูท่านทั้งสอง อยู่ในป่าใหญ่แห่งนี้  จึงมาตักน้ำไปให้ท่าน”

          ครั้นกล่าวถึงบิดามารดาอย่างนี้แล้ว ความทุกข์โศก ก็กลับท่วมทับหัวใจของสุวรรณสามอย่างมาก จึงบ่นรำพันว่า “อาหารของบิดามารดาที่เก็บไว้ ยังพอมีกินได้อีก ๖ วัน แต่ท่านทั้งสองตาบอด เกรงจะตายเสียเพราะขาดน้ำ ความทุกข์เพราะถูกยิงด้วยธนู ไม่ทุกข์นัก แต่ความทุกข์ที่จะไม่ได้เห็นบิดามารดาตลอดไป เป็นทุกข์ยิ่งกว่าถูกยิงด้วยธนู เมื่อบิดามารดาไร้คนดูแล จะร้องไห้ บ่นรำพันหาข้าพระองค์ อีกนานแสนนาน ข้าพระองค์เคยนวดมือนวดเท้าของท่าน ทุกเช้า สาย บ่าย เย็น เมื่อข้าพระองค์มาหายไปเช่นนี้ ท่านคงออกติดตามเที่ยวร้องเรียกไปในป่าใหญ่ว่า  “ลูกสาม ลูกสาม” ความโศกนี้แหละ ทำให้หัวใจข้าพระองค์หวั่นไหว จากนี้ไป ข้าพระองค์  ไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าบิดามารดา ชีวิตคงจะหาไม่แล้ว”

พระราชาทรงคิดว่า เด็กหนุ่มคนนี้ นอกจากประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนมีคุณธรรมแล้ว ยังมีความกตัญญูเหลือเกิน ปฏิบัติบิดามารดาอย่างดียิ่ง แม้ประสบทุกข์ถึงเพียงนี้ ก็ยังคร่ำครวญถึงบิดามารดา เราได้ทำความผิด ต่อคนผู้มีคุณธรรมอย่างนี้แล้ว เราจะปลอบใจเด็กหนุ่มคนนี้อย่างไรดี  เมื่อเราตกนรก ราชสมบัติจะช่วยอะไรได้ เราจะเลี้ยงดูบิดามารดาของเด็กหนุ่มคนนี้ ตามที่เขาปฏิบัติมา เขาจะได้เหมือนไม่ตาย จึงตรัสว่า “เธออย่าเป็นห่วงเลย เรามีความชำนาญในการยิงธนู จนเป็นที่รู้จักไปทั่วชมพูทวีป เราจะยิงกวางและหาอาหารในป่า มาเลี้ยงบิดามารดาของเธอ   ให้เหมือนกับที่เธอเลี้ยง บิดามารดาของเธอ อยู่ไหน”

          สุวรรณสามทูลว่า “ข้าพระองค์ขอฝากบิดามารดาด้วย ขอพระองค์โปรดเลี้ยงดูท่าน  ทางด้านหัวนอนของข้าพระองค์ มีทางที่เดินเส้นเดียว พระองค์เสด็จไปตามทางนั้น ประมาณกึ่งเสียงกู่ จะถึงที่อยู่บิดามารดาของข้าพระองค์”

          สุวรรณสามทูลบอกทางพระราชาอย่างนี้แล้ว สู้อดกลั้นความเจ็บปวดทุกขเวทนาไว้ ด้วยความรักบิดามารดา ยกมือขึ้นประคองอัญชลี ทูลวิงวอนพระราชา เพื่อขอให้เลี้ยงดูบิดามารดาว่า “พระองค์ผู้ปกครองชาวกาสีให้ร่มเย็นเป็นสุข ข้าพระองค์ขอน้อมกราบฝ่าพระบาท ขอพระองค์ทรงเลี้ยง บิดามารดาผู้ตาบอดของข้าพระองค์ในป่าใหญ่ ข้าพระองค์ขอฝากกราบเท้าท่านทั้งสองด้วย”

          สุวรรณสามยกมือขึ้นไหว้บิดามารดาไปทางทิศอันเป็นที่ตั้งอาศรม ครั้นแล้วพิษลูกธนูก็กำเริบ สลบแน่นิ่งไป ลมหายใจก็หยุดนิ่ง เสียงพูดก็ขาดไป ริมฝีปากปิดสนิท นัยน์ตาหลับสนิท มือเท้าแข็งกระด้าง ร่างกายเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด

          พระราชาทรงรำพึงว่า “สุวรรณสาม พูดกับเราอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นอะไรหนอ จึงเงียบไปเช่นนี้”  ทรงตรวจดูลมหายใจ ก็หยุดนิ่ง ร่างกายก็แข็งทื่อ ก็ทรงเข้าใจว่า สุวรรณสามตายแล้ว ไม่อาจกลั้นความโศกไว้ได้ จึงนั่งเอามือกุมพระเศียร ร้องไห้คร่ำครวญกลางป่าใหญ่ว่า “เมื่อก่อน เราเข้าใจว่า  จะไม่แก่ ไม่ตาย เรารู้วันนี้เอง เพราะเห็นสุวรรณสามตาย จึงรู้ว่า ทั้งตัวเราและเหล่าสัตว์อื่น ๆ  ต้องแก่ ต้องตาย ทั้งนั้น สามถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ พูดอยู่กับเราหลัด ๆ กลับไม่พูดอะไรอีกเลย  เราต้องตกนรกแน่แล้ว เพราะกรรมที่เราทำ เราทำกรรมหยาบช้าในบ้านเมือง ยังมีคนติเตียนเราได้  คนทั้งหลายจักชุมนุมกันวิพากษ์วิจารณ์เรา ก็แล้วใครเล่า จะติเตียนเราให้ระลึกถึงกรรม ในราวป่า ที่ไร้มนุษย์เช่นนี้”

อานุภาพแห่งความกตัญญู

กาลนั้น เทพธิดา นามว่า “พหุสุนทรี” อยู่ภูเขาคันธมาทน์ เคยเป็นมารดาของสุวรรณสามในอดีตชาติ นับย้อนหลังกลับไปอีก ๗ ชาติ เพราะความรัก ความผูกพันบุตร ไม่ว่าบุตรจะเกิดที่ไหน จึงคอยเฝ้าดูความเป็นไปของพระโพธิสัตว์อยู่ตลอดเวลา

          วันนั้น นางกำลังเสวยทิพยสมบัติ จึงมิได้ป้องกันสุวรรณสาม ครั้นกลับมาพิจารณาดูก็เห็นพระเจ้าปิลยักษ์ ยิงสุวรรณสาม นอนจมกองเลือด อยู่ที่หาดทรายฝั่งแม่น้ำมิคสัมมตา จึงคิดว่า  “ถ้าเราไม่ไป สุวรรณสามจะตาย แม้พระราชา ก็จะอกแตกตาย บิดามารดาของสุวรรณสาม จะอดอาหาร  เมื่อไม่ได้ดื่มน้ำ ก็จะเหือดแห้งตายไปเช่นกัน แต่เมื่อเราไป พระราชาจะถือหม้อน้ำดื่มไปหาบิดามารดาของสุวรรณสาม ครั้นเสด็จไปแล้ว จะรับสั่งให้ทราบว่า พระองค์ฆ่าสุวรรณสาม  แล้วนำท่านทั้งสองไปดูลูกชาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ดาบส ดาบสินีทั้งสอง และเรา จะทำสัจกิริยา   ตั้งสัตยาธิษฐาน พิษในร่างกายสุวรรณสามก็จะหาย สุวรรณสามจะฟื้นคืนชีวิต ดวงตาทั้งสองข้างของบิดามารดาสุวรรณสาม ก็จะมองเห็นเป็นปกติ พระราชาจะได้ฟังธรรมจากสุวรรณสาม  ภายหลังเมื่อเสด็จกลับพระนคร จะทรงบริจาคมหาทาน ปกครองบ้านเมือง ด้วยทศพิธราชธรรม  ครั้นตายไป ก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์”

          เทพธิดาอันตรธานไปจากภูเขาคันธมาทน์ พร้อมกับความคิด ไปสถิตอยู่กลางอากาศ ที่ริมฝั่งแม่น้ำมิคสัมมตานที กล่าวกับพระเจ้าปิลยักษ์ โดยไม่ปรากฏกายว่า “พระองค์ทำผิดมหันต์ ได้ทำกรรมอันชั่วช้า คนทั้งสาม ไร้ความผิด ถูกพระองค์ฆ่า ด้วยศรเพียงลูกเดียว เชิญเสด็จมาเถิด ข้าพเจ้าจะสั่งสอนพระองค์ ซึ่งจะทำให้พระองค์ ได้ไปเกิดบนสวรรค์ พระองค์จงเลี้ยงดูบิดามารดาทั้งสอง  ผู้ตาบอดโดยธรรมในป่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ด้วยวิธีนี้ พระองค์จึงจะพ้นจากนรก ได้ไปเกิดในสวรรค์”

พระราชาสดับคำเทพธิดา ทรงเชื่อว่า หากพระองค์เลี้ยงบิดามารดาของสุวรรณสามแล้วจะได้ไปเกิดในสวรรค์ ทรงดำริว่า “เราจะต้องการราชสมบัติไปทำไม เราจะเลี้ยงดูท่านทั้งสองนั้น”  ทรงตั้งพระทัยมั่น ร่ำไห้รำพันคร่ำครวญอยู่กลางป่าเพียงลำพังอย่างน่าเวทนา ครั้นระงับความโศกให้เบาบางลงได้แล้ว จึงเก็บดอกไม้มาบูชาร่างพระโพธิสัตว์ ประพรมด้วยน้ำ ทำประทักษิณสามรอบ  แล้วทรงกราบ เพราะเข้าใจว่า สุวรรณสามตายแล้ว

          จากนั้น จึงถือหม้อน้ำที่พระโพธิสัตว์ใส่น้ำไว้เต็มแล้ว มุ่งหน้าไปทิศใต้ ตามทางที่สุวรรณสาม บอกไว้

          พระราชาทรงถือหม้อน้ำ ไปถึงอาศรม เดินเข้าประตูบรรณศาลาของทุกูลบัณฑิต  เพราะพระองค์เดินลงเท้าหนัก จึงทำให้อาศรมกระเทือน ทุกูลบัณฑิตนั่งอยู่ภายใน ได้ฟังเสียงฝีพระบาทพระราชา ก็ทราบว่า ไม่ใช่เสียงเท้าสุวรรณสาม จึงถามว่า “นั่น เสียงเท้าใคร ลูกสาม  เดินเบา วางเท้าเบา เสียงเท้าจึงไม่ดัง ท่านเป็นใครกัน”

พระราชาทรงดำริว่า “ถ้าเราไม่บอกก่อนว่า เราเป็นพระราชา แต่บอกว่า เราฆ่าลูกของท่านตายแล้ว ท่านทั้งสองจะโกรธ และด่าเรา อย่างหยาบคาย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะโกรธ จนถึงทำร้ายท่านทั้งสอง จะเป็นอกุศลกรรมแก่เรามากยิ่งขึ้น แต่เมื่อบอกว่า เราเป็นพระราชา ไม่มีใคร  ไม่กลัวพระราชา เราจะบอกให้รู้ก่อนว่า เราเป็นพระราชา” จึงวางหม้อน้ำไว้ ที่โรงน้ำดื่ม แล้วประทับยืนที่ประตู ตรัสว่า “เราเป็นพระราชาของชาวกาสี คนเรียกเราว่า “พระเจ้าปิลยักษ์”  เราออกจากแว่นแคว้น เที่ยวแสวงหากวาง เพราะติดใจในรสเนื้อกวาง เราเป็นผู้ชำนาญในการยิงธนู จนเป็นที่ร่ำลือของคนทั่วไปว่า ยิงธนูได้แม่นยำนัก แม้ช้างอยู่ในระยะลูกธนูก็ไม่สามารถหนีรอดไปได้”

          ทุกูลบัณฑิตทราบว่า เป็นพระราชา ก็เกิดความยินดี จึงกล่าวปฏิสันถารว่า “ข้าแต่มหาบพิตร  พระองค์เสด็จมาดีแล้ว พระองค์มีเดชานุภาพมาก เสด็จมาไกล ก็เหมือนใกล้ ในอาศรม   มีผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง และผลหมากเม่า ขอเชิญพระองค์เลือกเสวยแต่ผลที่ดี ๆ เถิด  ขอจงทรงดื่มน้ำเย็น ที่ตักมาจากแม่น้ำมิคสัมมตา ซึ่งไหลมาจากซอกเขา ตามพระประสงค์เถิด”

          พระราชาทรงคิดว่า ยังไม่ควรบอกว่า พระองค์ได้ฆ่าลูกของท่านทั้งสอง ตอนนี้ ทำเป็นเหมือน ไม่รู้ ควรชวนพูดเรื่องอะไร ๆ ไปก่อน แล้วตรัสว่า “ท่านทั้งสองตาบอด มองไม่เห็นอะไร ๆ ในป่า ใครเป็นคนเก็บผลไม้มาจัดเตรียมไว้อย่างเรียบร้อย เหมือนคนตาดี จัดแจงไว้”

          ทุกูลบัณฑิตกราบทูลว่า “ลูกสาม เด็กหนุ่มน่ารักรูปร่างงดงามสมส่วน ผมยาวดำเฟื้อย  ปลายงอนช้อนขึ้นข้างบน เก็บผลไม้มา ขณะนี้ เธอถือหม้อน้ำ ไปตักน้ำที่แม่น้ำ ประเดี๋ยว ก็คงใกล้ จะกลับมาแล้ว”

พระราชาได้สดับดังนั้นแล้ว ทรงสะเทือนใจอย่างมาก ไม่อาจปกปิดไว้ได้ จึงตรัสด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “ข้าพเจ้า ได้ฆ่าสามผู้ปฏิบัติบำรุงท่านเสียแล้ว บัดนี้ เธอนอนอยู่ที่หาดทราย ร่างกาย เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด”

          อาศรมของนางปาริกา อยู่ใกล้กับทุกูลบัณฑิต นางได้ยินการสนทนาระหว่างทุกูลบัณฑิตกับพระราชา ก็รู้สึกหวาดหวั่น ต้องการจะทราบเหตุนั้น จึงออกจากอาศรมของตน เกาะเชือกสาวเดินไปหาทุกูลบัณฑิต กล่าวว่า “ท่านทุกูลบัณฑิต ท่านพูดอยู่กับใครว่า สามถูกฆ่าเสียแล้ว  แค่ได้ยินว่า สามตาย หัวใจดิฉัน ก็สั่น ไม่ต่างอะไรจากใบไม้อ่อนถูกลมพัด”

          ทุกูลบัณฑิตได้โอวาทนางปาริกาว่า “ปาริกา ท่านผู้นี้ คือ พระเจ้ากาสี พระองค์ยิงลูกสามเราตาย ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำมิคสัมมตา เราทั้งสอง อย่าโกรธพระองค์เลย”

          นางปาริกากล่าวว่า “บุตรที่รัก กว่าจะได้มา ก็แสนยาก ทั้งเป็นผู้เลี้ยงเราผู้ตาบอดในป่า  จะไม่ให้โกรธคนฆ่าลูกคนเดียวของเรา ได้อย่างไร”

          ทุกูลบัณฑิตกล่าวว่า “บัณฑิตทั้งหลาย สรรเสริญบุคคลผู้ไม่โกรธ บุคคลผู้ฆ่าบุตรคนเดียว”  ครั้นแล้ว ฤๅษีทั้งสองก็ใช้มือตีอกชกตัวเอง คร่ำครวญพรรณนาคุณของสุวรรณสาม เป็นอันมาก

          พระราชาปลอบใจท่านทั้งสองว่า “พระคุณเจ้าทั้งสอง อย่าเศร้าโศกเสียใจไปมากเลย  ข้าพเจ้าจะรับเลี้ยงดูพระคุณเจ้าในป่าใหญ่ แทนสุวรรณสาม ข้าพเจ้ายิงธนูแม่น จะยิงกวาง    และเก็บผลไม้ในป่า มาเลี้ยงดูท่านทั้งสอง ข้าพเจ้า ไม่ต้องการราชสมบัติ จะเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ไปตลอดชีวิต”  

          ฤๅษีทั้งสองทูลว่า “พระองค์ เป็นพระราชาของอาตมาทั้ง ๒ การทำเช่นนั้น ไม่สมควร”  พระราชาทรงดำริว่า น่าอัศจรรย์ แม้เพียงคำหยาบของฤๅษีทั้งสองนี้ ที่ด่าทอพระองค์ผู้ทำร้ายถึงเพียงนี้ ก็ไม่มี กลับยกย่องพระองค์เสียอีก จึงตรัสว่า “ท่านผู้เป็นเชื้อชาตินายพราน ท่านกล่าวเป็นธรรม  ท่านเต็มไปด้วยความถ่อมตน ขอท่านจงเป็นบิดาของข้าพเจ้า ข้าแต่นางปาริกา ขอท่านจงเป็น มารดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขออยู่ในฐานะสาม บุตรของท่าน จะทำกิจทุกอย่าง ตั้งแต่การล้างเท้า  เป็นต้น ขอท่านทั้งสอง อย่าถือว่า ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จงถือว่า ข้าพเจ้าเป็นเหมือนสาม  ลูกของท่านเถิด”

          ฤๅษีทั้งสอง ประคองอัญชลี ทูลวิงวอนว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์ไม่มีหน้าที่ที่จะทำการงานให้อาตมา แต่ขอพระองค์จงทรงถือปลายไม้เท้า นำทางไปหาสุวรรณสามเถิด  อาตมาทั้งสอง จะสัมผัสเท้าทั้งสอง และดวงหน้าอันงดงามน่าดูของเธอ แล้วทรมานตน ให้ตาย   ตามกันไป” เมื่อท่านเหล่านั้น สนทนากันอยู่อย่างนี้ พระอาทิตย์ ได้อัสดงลง ตามลำดับ

          พระราชา ทรงดำริว่า ถ้าพระองค์นำฤๅษีทั้งสองผู้ตาบอด ไปหาสุวรรณสาม ดวงใจของท่านก็จะแตกสลาย เพราะเห็นสุวรรณสาม เมื่อท่านทั้งสองตาย พระองค์ก็เหมือนนอนอยู่ในนรก พระองค์จะไม่ยอมนำฤๅษีทั้งสองไป จึงตรัสว่า “สามตายไปแล้ว นอนอยู่ในป่า เหมือนดวงจันทร์ และ ดวงอาทิตย์ ตกลงเหนือแผ่นดิน เปื้อนด้วยฝุ่นทราย ป่านั้นกว้างใหญ่นัก มีสัตว์ร้ายมากมาย  ทั้งศพสุวรรณสาม ก็อยู่ไกลแสนไกล ท่านทั้งสอง อย่าไปเลย จงอยู่ในอาศรมนี้เถิด”

          ฤๅษีทั้งสองกล่าวว่า “ในป่า มีสัตว์ร้ายตั้งร้อยตั้งพันและตั้งหมื่น อาตมาทั้งสอง ก็ไม่ได้กลัว”  เมื่อไม่อาจทัดทานได้ พระราชาจึงจูงฤๅษีทั้งสอง นำทางไปหาสุวรรณสาม

          ครั้นถึงแล้ว ประทับยืนใกล้สุวรรณสาม ตรัสว่า “นี้ บุตรของท่านทั้งสอง” บิดามารดาสัมผัสกายสุวรรณสาม ซึ่งนอนเกลือกฝุ่นทราย ถูกทิ้งไว้กลางป่าใหญ่ หัวใจแทบแตกสลาย   บิดาช้อนศีรษะสุวรรณสามขึ้นวางไว้บนตัก มารดายกเท้าขึ้นวางไว้บนตักของตน นั่งร้องไห้บ่นรำพัน อย่างน่าเวทนาว่า “โลกนี้ ช่างไม่ยุติธรรม ขอให้ชาวโลก จงรู้ว่า ความไม่เป็นธรรม กำลังเป็นไป    ในโลกนี้ ลูกสามผู้งดงาม น่ารัก ลูกหลับเอาจริง ๆ ลูกเคลิบเคลิ้มเอามากมายเหลือเกิน เหมือนคนดื่มสุราเข้ม ขัดเคืองใครมากมายขนาดนั้น วันนี้ ลูกไม่พูดอะไร ๆ กับพ่อกับแม่บ้างเลย ลูกปฏิบัติบำรุงพ่อแม่ทั้งสองผู้ตาบอด ลูกมาตายเสียแล้ว ต่อไป ใครเล่า จะทำความสะอาดชฎาอันหมักหมม เปื้อนฝุ่นละออง เมื่อลูกมาตายเสียแล้ว ใครจะจับไม้กวาด กวาดอาศรมให้พ่อกับแม่ ใครจะเตรียมน้ำเย็น น้ำร้อน ให้อาบ ใครจะจัดหาผลไม้ในป่า มาให้พ่อกับแม่”

          เมื่อมารดาพระโพธิสัตว์ บ่นเพ้อมากแล้ว ก็เอามืออังที่อกพระโพธิสัตว์ รู้สึกยังอุ่นอยู่ จึงคิดว่า  “ลูกสาม ยังมีไออุ่นอยู่ ลูกเรา เห็นจะสลบไป เพราะยาพิษ เราจะกระทำสัจกิริยา เพื่อถอนพิษ”  คิดดังนี้แล้ว ได้กระทำสัจกิริยา ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ลูกสาม มิได้แค่ประพฤติธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็น ผู้ประพฤติดังพรหมด้วย ได้กล่าวคำจริงมาแต่ก่อน ได้เลี้ยงบิดามารดา มีความเคารพต่อญาติผู้ใหญ่ ในตระกูล เป็นผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสาม จงหายไป บุญกุศล อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ลูกสามเลี้ยงเราและบิดาของเธอ ด้วยอานุภาพกุศลบุญนั้นทั้งหมด ขอพิษในกายลูกสาม จงหายไป”

          เมื่อมารดา ทำสัจกิริยาอย่างนี้ สุวรรณสาม ก็พลิกตัวกลับ นอนต่อไป บิดาคิดว่า ลูกยังไม่ตาย  จึงทำสัจกิริยาอย่างนั้นบ้างว่า “ลูกสาม ไม่ได้แค่ประพฤติธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ประพฤติดังพรหม ด้วย ได้กล่าวคำจริงมาแต่ก่อน ได้เลี้ยงดูบิดามารดา มีความเคารพต่อญาติผู้ใหญ่ในตระกูล เป็นผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษในกายลูกสาม จงหายไป บุญกุศลอย่างใด อย่างหนึ่ง ที่ลูกสามเลี้ยงดูเราและมารดาของเธอ ด้วยอานุภาพกุศลบุญนั้นทั้งหมด ขอพิษในกาย ของลูกสาม จงหายไป”

เมื่อบิดาทำสัจกิริยา อยู่อย่างนี้ สุวรรณสาม ก็พลิกตัวอีกข้างหนึ่ง แล้วนอนต่อไป พหุสุนทรีเทพธิดา มองดูสุวรรณสามด้วยความเอ็นดู ก็ได้ทำสัจกิริยาเช่นกันว่า “เราอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์มายาวนาน คนอื่นซึ่งเป็นที่รักของเรากว่าสามไม่มี ต้นไม้ทั้งหมดมีอยู่ที่เขาคันธมาทน์ ล้วนแต่เป็นไม้หอม ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษในกายของสามกุมาร จงหายไป”

          ในกาลที่เทพธิดาทำสัจกิริยาจบลง เมื่อฤๅษีทั้งสองบ่นเพ้อรำพันอยู่ สุวรรณสามได้ลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ได้หายไป เหมือนน้ำกลิ้งตกจากใบบัว แม้แผลที่ถูกยิงก็ไม่ปรากฏ

          ความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะนั้น คือ พระบรมโพธิสัตว์สุวรรณสาม หายจากโรค  ดวงตาบิดามารดา กลับเห็นเป็นปกติ แสงเงินแสงทองยามรุ่งอรุณ จับขอบฟ้า และท่านทั้งสี่มาปรากฏที่อาศรม สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน ด้วยอานุภาพของเทวดา

          บิดามารดาทั้งสอง กลับได้ดวงตาดี เป็นปกติ แล้วยินดีอย่างเหลือเกินว่า ลูกสามหายแล้ว  สุวรรณสามกล่าวกับท่านทั้งสองว่า “ลูก คือสุวรรณสาม ลูกหายเป็นปกติ ปลอดภัยดีแล้ว ขอท่าน อย่าคร่ำครวญนักเลย ยิ้มและพูดกับลูก ด้วยวาจาอันไพเราะเถิด”  

          พระโพธิสัตว์ มองเห็นพระราชา เมื่อจะทูลปฏิสันถาร จึงกล่าวว่า “ข้าแต่มหาบพิตร พระองค์ เสด็จมาดีแล้ว เพราะพระองค์ มีเดชานุภาพมาก เสด็จมาไกล ก็เหมือนใกล้ ในอาศรม มีผลมะพลับ  ผลมะหาด ผลมะซาง และผลหมากเม่า ขอเชิญพระองค์เลือกเสวยแต่ผลที่ดี ๆ เถิด ขอจงทรงดื่มน้ำเย็น ที่ตักมาจากแม่น้ำมิคสัมมตา ซึ่งไหลจากซอกเขา ตามพระประสงค์เถิด”

          พระราชาเห็นความอัศจรรย์เช่นนั้น จึงตรัสว่า “เรามึนงงไปหมด แปลกประหลาดใจมาก เหลือเกิน เราเห็นสามตายแล้ว แต่ทำไม กลับฟื้นคืนมาได้อีก”

          พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้คนเข้าใจว่า คนมีชีวิตอยู่ ประสบความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรง นิ่งเงียบไปว่า “ตายแล้ว” เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ย่อมคุ้มครองบุคคลผู้เลี้ยงดูบิดามารดาโดยธรรม แม้นักปราชญ์ทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมสรรเสริญเขา ผู้นั้น บุคคลนั้น ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมมีความสุข บันเทิงอยู่ในสวรรค์”

          พระราชา เกิดความอัศจรรย์ใจว่า แม้เทวดาทั้งหลาย ก็ช่วยเยียวยารักษาโรคให้บุคคลผู้เลี้ยงดูบิดามารดา จึงประคองอัญชลี ตรัสว่า “ข้าพเจ้าแปลกประหลาดใจมากจริง ๆ ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้า ขอถึงท่าน เป็นสรณะ ขอท่าน จงเป็นที่พึ่ง ของข้าพเจ้า”

          สุวรรณสามกราบทูลพระราชาว่า ถ้าประสงค์จะไปสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติ พระองค์จงปกครองแผ่นดิน ด้วยทศพิธราชธรรม จึงถวายโอวาทพระเจ้าปิลยักษ์ ด้วยทศพิธราชธรรมว่า

“ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระชนก และพระชนนนี ในพระโอรส และพระมเหสี ในมิตร และอำมาตย์ ในพาหนะ และกองทัพ ในชาวบ้าน และชาวนิคม ในชาวเมือง และชาวชนบท ในสมณะ และพราหมณ์ ในฝูงกวาง และหมู่นกทั้งหลาย ครั้นพระองค์ประพฤติธรรมนั้น ๆ ในโลกนี้แล้ว จะได้ไปเกิดในสวรรค์ ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด  ธรรมที่พระองค์ประพฤติแล้ว จะประสบแต่ความสุขความเจริญ พระองค์ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จะได้ไปเกิดในสวรรค์ พระอินทร์ เทวดา พร้อมทั้งหมู่พรหม เข้าถึงทิพยสถานได้ด้วยการประพฤติธรรม ขอพระองค์ อย่าประมาทในธรรม”

          พระโพธิสัตว์แสดงธรรมกถาถวายพระราชาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะถวายโอวาทยิ่งขึ้น ได้ถวาย  เบญจศีล พระราชาทรงรับโอวาทพระโพธิสัตว์ ทรงไหว้ และขอขมาโทษพระโพธิสัตว์ แล้วเสด็จกลับกรุงพาราณสี ทรงบำเพ็ญกุศล มีทาน เป็นต้น ทรงรักษาศีล ๕ ครองราชสมบัติโดยธรรม  ครั้นสิ้นพระชนม์ ได้ไปเกิดในสวรรค์

          ฝ่ายพระโพธิสัตว์ ปฏิบัติบำรุงบิดามารดา ได้บรรลุอภิญญาและสมาบัติ พร้อมทั้งบิดามารดา  ไม่ได้เสื่อมจากฌาน เมื่อหมดอายุ ได้ไปเกิดในพรหมโลก พร้อมทั้งบิดามารดานั้น  

กลับชาติมาเกิดสมัยพุทธกาล

          พระบรมศาสดา ทรงเล่าเรื่องสุวรรณสามแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การเลี้ยงดูบิดามารดา เป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย” ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ๔ เพื่อประชุมชาดก เมื่อทรงแสดง อริยสัจ ๔ จบลง พระภิกษุหนุ่มผู้เลี้ยงดูบิดามารดารูปนั้น ได้บรรลุโสดาปัตติผล

          พระราชาปิลยักขราช ในกาลนั้น กลับชาติมาเกิด เป็นพระอานนท์ ในชาตินี้ พหุสุนทรี เทพธิดา เกิดเป็นภิกษุณี ชื่อว่า อุบลวรรณา ท้าวสักกเทวราช เกิดเป็นพระอนุรุทธะ ทุกูลบัณฑิต  ผู้บิดา เกิดเป็นพระมหากัสสปะ นางปาริกาผู้มารดา เกิดเป็นภิกษุณี ชื่อ ภัททกาปิลานี  ส่วนสุวรรณสามบัณฑิต คือ เราผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า

“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ : ชาติที่ ๓ พระสุวรรณสาม ตำนานคนกตัญญู

https://podcasts.apple.com/dk/podcast/%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B8%87%E0%B8%AA-%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA-%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95-%E0%B8%9B%E0%B8%93-%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9A-%E0%B8%A3-%E0%B8%A9%E0%B9%84%E0%B8%A1-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5-%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87-%E0%B8%89%E0%B8%9A-%E0%B8%9A-%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%A7%E0%B8%8A-%E0%B8%A3%E0%B8%B0-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97-3/id1480673036?i=1000581755588

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here