ขณะนั่งตรวจคำผิดหนังสือ “บาตรเดียวท่องโลก ๒” อยู่ในห้องสมาธิชั่วคราวชั้นสอง ณ วัดป่าเมเปิ้ล ที่เซาห์วู้ดสต็อก มลรัฐเวอร์มอนท์ สหรัฐอเมริกา หลวงน้องชาวอเมริกันบอกว่าขอใช้ห้อง ๔๕ นาทีเพื่อคุยโทรศัพท์ ถามกลับไปว่าสามารถนั่งทำงานเงียบๆ ได้ไหมท่านตอบกลับมาว่าไม่ได้ จึงลงไปนั่งทำงานต่อด้านล่างทันที

ในใจตอนแรกรู้สึกไม่พอใจเล็กน้อย เพราะคิดว่าตนเองถูก เพราะเป็นภันเตพรรษามากกว่า และนั่งใช้ห้องอยู่ก่อน แต่ก็ไม่ได้กล่าวว่าอะไร ทำตามแต่โดยดี กระทั่งเมื่อได้สติ  ทำให้รู้สึกขอบคุณหลวงน้องท่านนั้นที่ช่วยให้เห็นความยึดติด ความเห็นแก่ตัว แม้เพียงสละห้องให้คนอื่นใช้ยังมีอาการหวงแบบมีเหตุผลประกอบเพื่อเข้าข้างตนเองนี้เอง ที่เป็นเหตุให้ทุกข์มากยิ่งขึ้น โดยอาจรู้หรือไม่รู้รายละเอียดแท้จริงทั้งหมด

“ทุกสิ่งกระทบ” คือ “โอกาสทอง” ในการมองตน

โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

หลังจากฉันอาหารเสร็จร่วมกันในวันถัดไปก็ได้กล่าวขอบคุณหลวงน้องท่านนั้นที่สอนให้เห็นความยึดติดยึดมั่น ความเห็นแก่ตัวของตัวเองและขอโทษที่สร้างและส่งแห่งความไม่พอใจซึ่งรู้ว่าท่านก็รับรู้ได้ ท่านยิ้มกลับมาอย่างเบาใจและบอกว่าเมื่อวานตอนเช้าหลังจากนั่งสมาธิร่วมกันได้ขออนุญาตสงฆ์ขอใช้ห้องสมาธิในช่วงบ่ายหลังฉันอาหารเสร็จซึ่งหลวงพี่ไม่ได้ทราบเพราะหลวงพี่ไปนั่งสมาธิอีกห้องหนึ่งต้องขอโทษหลวงพี่ด้วยเช่นกันที่ไม่ได้บอกเรื่องขออนุญาตใช้ห้องให้ทราบก่อน

           ปัญหาเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประวันของการอาศัยอยู่ร่วมกันในครอบครัว สถานที่ทำงาน วัด สถานปฏิบัติธรรมหรือสถานที่สมมติใดๆก็ตาม ล้วนเกิดจากความเห็นผิด ยึดติด เห็นแก่ตัว เข้าข้างความเห็นตนเองในแบบของตน สามารถกลายเป็นปัญหา เรื่องใหญ่โตได้เสมอ ถ้าเรามัวโทษแต่บุคคลอื่น โทษสิ่งภายนอกโดยไม่หันกลับมามองตนเอง เห็นความยึดติดยึดมั่นจากสิ่งที่เคยรับรู้ผ่านมาในอดีตของเราและคิดว่ารู้จริงไม่ยอมวางสิ่งที่เคยรับรู้นั้น เพราะคิดว่าตนเองถูกต้อง ตนเองดี โดยที่ยึดมั่นสิ่งนั้นอย่างเหนียวแน่น  ทำให้ไม่มีเหตุผลใดๆที่ควรขอโทษและปรุงแต่งต่อไปว่าเขาต้องสำนึกและขอโทษเราจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรกระทำและยากที่จะให้อภัยแม้ได้รับการขอโทษ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นตนเองต้องการคำขอโทษนั้น นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ที่มักจะโทษบุคคลอื่น สิ่งภายนอกก่อนเสมอว่าเป็นต้นเหตุสาเหตุของเรื่องราว เหตุการณ์ไม่ดีเหล่านั้น เป็นเหตุให้ตนเองเป็นทุกข์ใจไม่สบายใจซึ่งเป็นสิ่งง่ายกว่าที่จะยอมรับความผิดพลาด ความบกพร่องความไม่น่ารักความเห็นผิดของตน ที่สำคัญเพราะไม่รู้ว่าตนเห็นผิด

               เมื่อพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน ถ้าความเห็นสิ่งที่คิด สิ่งที่กระทำของเราดีและถูกต้องแท้จริงเราต้องไม่เป็นทุกข์กับเรื่องราวกับบุคคลเหล่านั้นแม้แต่น้อยเพราะถ้าสิ่งที่กระทำของเราดีและถูกต้องผลที่เกิดขึ้นย่อมเบาใจสบายใจเบิกบานใจ แต่ถ้าผลที่ปรากฏยังไม่เป็นเช่นนั้นเป็นสิ่งบ่งบอกชัดเจนว่าเรากำลังยึดดี ยึดความถูกต้อง จากการเคยศึกษารับรู้และเราปล่อยวางสิ่งที่เคยรับรู้ เคยศึกษานั้นไม่ได้เท่านั้นเอง  เป็นเหตุให้เราจะเป็นทุกข์เมื่อพบเห็น ประสบในสิ่งที่ตรงกันข้าม เรามิได้เป็นคนดีและถูกต้องที่แท้จริงและมีหลายครั้งมากที่เราเห็นผิดแต่คิดว่าตนเองเห็นถูก

  บางครั้งเราอาจรู้เรื่องที่ถูกต้องเป็นจริงเพียงนิดเดียวของเรื่องราวทั้งหมด แต่เราด่วนตัดสินสิ่งนั้น บุคคลนั้นว่าไม่ดี กระทำผิดเรียบร้อยแล้วและหลงภูมิใจ มั่นใจว่าเราเห็นถูกต้องและยึดมั่นในความเห็นนั้นแบบไม่เคยมีความสงบสุขเบิกบานมั่นคงในจิตใจเลย

         เมื่อมีบุคคลอื่นกล่าวตักเตือนด้วยความเมตตากรุณาปรารถนาดีเป็นการยากมากที่คนที่ยึดติด ยึดมั่นในความคิดว่าดี ว่าถูกต้องจะรับฟังและทำตาม เขาเหล่านั้นยอมทุกข์ที่จะกอดเก็บความเห็นเช่นนั้นไว้ เขาจะรู้สึกเสียเกียรติ เสียศักดิ์ศรีและถ้าทำตามคำตักเตือนนั้นยิ่งทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองยึดอยู่เป็นสิ่งผิด เรากลัวมากที่จะถูกมองว่าผิด ว่าไม่ดี ถ้าเรายึดถูก ยึดดีมาก

         สร้างเหตุเช่นไรย่อมรับผลเช่นนั้นเสมอ ไม่มีใคร สิ่งมีชีวิตใดๆหนีการกระทำและผลการกระทำของตนเองได้พ้น เป็นสัจธรรมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงต่อให้เวลาผ่านไป วิถีชีวิตความคิดของคนจะเปลี่ยนไปเช่นไร การกระทำ ความคิด คำพูดที่เกิดจากเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์อย่างแท้จริงนั่นหมายถึงมีตัวตนของตนอยู่ในความเห็น ความคิด การกระทำ คำพูดนั้นย่อมส่งผลเป็นทุกข์เสมอ  แม้ว่ากำลังสมมติว่ากระทำดีอยู่ก็ตาม เพราะบุญไม่เคยปรากฏในการกระทำที่หวังผล ในการกระทำที่ยึดมั่นถือมั่นและไม่เคยสร้างความสงบเบาใจสบายใจอย่างแท้จริงแก่ผู้กระทำ เพราะความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นไม่มากก็น้อยเดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ จิตใจจะหวั่นไหวไปตามการกระทบ ผลออกมาในทางดีย่อมหลงภูมิใจ อวดตน เพิ่มอัตตาตัวตน ผลกระทบในทางไม่ดีย่อมทุกข์ ไม่สบายใจ ได้ง่ายและอยู่นานมาก

        ผู้ที่ฝึกฝนที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งปวง ย่อมใช้ทุกโอกาสทุกสถานการณ์แห่งชีวิตโดยเฉพาะในชีวิตประจำวันให้เป็นโอกาสทอง โอกาสที่ยิ่งใหญ่ให้กลับมามองตนสำรวจตนจากความเห็นความคิดความไม่ดีแห่งการยึดมั่นถือมั่นของตน โดยเฉพาะสิ่งที่สมมติว่าดีเพราะเป็นสิ่งง่ายมากที่จะติดดียึดดี ในขณะที่สมมติว่ากระทำดี ด้วยการคิด พูดกระแทกแดกดัน ติเตียนถากถาง ยกตนข่มท่าน ขาดความอ่อนโยนต่อสรรพชีวิตสรรพสิ่งแบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกับบุคคลหรือกลุ่มที่ไม่กระทำเหมือนตน หลงยินดีภูมิใจในการทำดีนั้น สามารถทำดีอย่างสุดหัวใจกับคนที่ตนเห็นว่าดีซึ่งจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ตนเองก็ไม่รู้อย่างแท้จริงและสามารถติเตียน ดูถูกดูแคลน รังเกียจในบุคคลที่ตนเห็นว่าไม่ดี ส่งผลให้จิตใจผู้ที่ปฏิบัติเช่นนั้นไม่เคยพบความสงบที่แท้จริงเลยในทางกลับกันได้สร้างความทุกข์ไม่สบายใจขณะอยู่บนหนทางแห่งความดีที่สมมติขึ้นมา

          ความดีที่ถูกต้องไม่เคยทำร้ายบุคคลที่กำลังกระทำความดีเพราะยิ่งกระทำดียิ่งเข้าใจ ยิ่งเบาใจ โปร่งใจ เพราะยิ่งไม่ยึดติด ยึดมั่นสิ่งใดๆทั้งปวงว่าเป็นของตน แม้แต่คำสอนที่กำลังกระทำตาม ปฏิบัติตามอยู่ โดยไม่ยึดในพระเจ้า พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ รูปเคารพฯลฯแต่จะกระทำตามอย่างไร้ข้อแม้ อย่างไร้ข้อสงสัย สุดจิตสุดใจ และยอมรับเงื่อนไข เหตุปัจจัยร่วมของเวลา สถานที่ วัฒนธรรมความเชื่อที่ต่างกันอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนโดยปราศจากการตัดสิน ติเตียน ด่าทอ เสียดสี ดูแคลน อิจฉาฯลฯเพราะทุกสรรพชีวิต ทุกสรรพสิ่งล้วนมีผลและรับผลของการกระทำด้วยตัวเองทั้งสิ้นอย่างยุติธรรม ไร้ข้อยกเว้นเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ

      ความดีที่ถูกต้องกระทำแล้วย่อมเบาใจสงบใจ

      ไม่มีความดีไหนทำร้ายคนทำดี

      ความดีไม่เคยมีตัวตน

“ทุกสิ่งกระทบ” คือ “โอกาสทอง” ในการมองตน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

คอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒

“ทุกสิ่งกระทบ” คือ “โอกาสทอง” ในการมองตน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
“ทุกสิ่งกระทบ” คือ “โอกาสทอง” ในการมองตน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here