บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๙) แม้จิตสงบก็สงบอยู่ในความตื่นรู้ เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

แม้จิตสงบก็สงบอยู่ในความตื่นรู้

จิตที่นิ่งราบเรียบในสมาธิ มีความสมดุลเป็นเอกภาพ ดำรงสภาวะความเป็นกลาง นิ่งอยู่ในความตื่นรู้ จะรับรู้ทุกความคิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไป แม้จิตจะคิดหรือปรุงแต่งเรื่องใดก็จะอยู่ในการรับรู้ของสติมีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม แม้ความคิดแล้วความคิดเล่าจะเกิดขึ้น  แต่ความคิดนั้นก็จะไม่รบกวนความสงบให้กระเพื่อม  หลุดลอยออกไปจากความเป็นกลาง จะมีอุเบกขารักษาความสมดุลเป็นเอกภาพในความเป็นกลางไว้เช่นนั้น คือ แม้จะเกิดความคิดด้านสุข (สุขเวทนา) ก็ไม่รบกวนให้ความสงบกระเพื่อมหลุดออกจากความเป็นกลาง แม้จะเกิดความคิดด้านทุกข์ (ทุกขเวทนา) ก็ไม่รบกวนให้ใจกระเพื่อมไหวออกจากความสงบหลุดออกจากความเป็นกลาง หรือแม้จะไม่มีความคิดไปทางสุขหรือทุกข์ชอบหรือชัง ก็เฝ้ากำหนดดูรู้อยู่เฉยๆ  ว่า ขณะนี้ใจไม่สุขไม่ทุกข์ แต่เป็นใจเฉยๆ (อทุกขมสุขเวทนา)

ความคิดที่เกิดขึ้น  ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ชอบหรือชัง  ก็จะเป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปในจิต ตามธรรมชาติของความคิดเท่านั้น ผู้รู้ก็เป็นแต่เพียงผู้รู้  จะคิดดีหรือคิดไม่ดี ชอบหรือชังก็จะอยู่ในการรับรู้ของสติสัมปชัญญะ   เหมือนแม่แม้จะปล่อยให้ลูกออกไปวิ่งเล่น แต่ก็จะให้อยู่ในสายตา คอยระแวดระวังเกรงจะเกิดอันตราย

จิตที่รักษาความสมดุลเป็นกลางไว้ได้

จะรับรู้เพียงความคิดที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น

โดยความคิดที่เกิดขึ้น (สังขาร–การปรุงแต่ง)

ไม่สามารถดึงจิตให้หลุดออกไป

จากความเป็นกลางได้

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เช่นเดียวกับขณะที่อยู่กับความสงบ มีความสมดุลเป็นกลาง เสียงจากภายนอกที่เรียกกันว่าอารมณ์ภายนอก ที่เกิดขึ้นรอบตัวก็ไม่สามารถดึงจิตให้ออกไปจากความสงบได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรต่อเสียงอะไรที่เกิดขึ้นรอบตัว ก็จะเป็นเพียงรับรู้ว่าเป็นเสียง แล้วเสียงนั้นก็จะเลือนหายไป ไม่มีอิทธิพลพอที่จะกระทบจิตให้กระเพื่อมไหวหลุดออกไปจากความสงบได้ และแม้กายจะรับรู้สัมผัสทางกายที่เกิดขึ้นจากลมที่โชยพัดกระทบกาย จะเย็น จะหนาว จะร้อน ก็รับรู้ เพียงว่าเป็นความเย็น ความหนาว ความร้อนที่เกิดจากดิน ฟ้า อากาศ แต่ก็ไม่มีอิทธิพลพอที่จะดึงจิตที่อยู่ในความสงบให้ออกจากความสมดุลเป็นกลางได้ ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดำรงอยู่ตามธรรมชาติ แล้วก็หายไปตามธรรมชาติ ไม่มาหายไปที่จิต

เมื่อจิตอยู่ในความสงบ มีความสมดุล 

ดำรงความเป็นเอกภาพในอุเบกขา

รักษาความเป็นกลางในความชอบใจ

ไม่ชอบใจอยู่อย่างนั้น

จิตจะไม่วิ่งออกไปรับอารมณ์ภายนอก

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

หรืออารมณ์จากภายนอกจะไม่สามารถชักจูงให้จิตออกไปจากความเป็นเอกภาพภายใน ก็คือไม่มีการเติมเชื้อกระแสชีวิตจากภายนอก กระแสวิญญาณที่ทำให้ชีวิตดำเนินไปเพราะอาศัยเชื้อ พลังงานจากภายนอกก็เป็นอันไม่มี สิ่งภายนอกที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้น และดับไปตามธรรมชาติของสิ่งนั้น

เสียงใครพูด

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ

เสียงพูดนั้นก็จะดับไปที่คนนั้น

ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรดังก็จะดับไปที่สิ่งนั้น

เมื่อไม่หน่วงเข้ามาปรุงแต่งต่อไป

ก็จะเป็นเพียงเสียงที่เกิดขึ้นและดับไป

ตามเหตุและปัจจัยของสิ่งนั้น

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ระฆัง ภาพวาดสีฝุุ่น โดย หมอนไม้
ระฆัง ภาพวาดสีฝุุ่น โดย หมอนไม้

เช่น  เสียงระฆังดังก็เพราะว่ามีระฆังและมีคนตี เสียงระฆังจึงเกิดขึ้นจากการตี เมื่อหยุดตีเสียงก็ดับลง เสียงที่ดังจากวิทยุก็ดับไปที่วิทยุ เสียงที่ดังจากโทรทัศน์ก็ดับไปที่โทรทัศน์ เสียงที่เกิดจากคนคุยกันก็ดับไปที่คนคุยกัน เสียงที่เกิดจากนกร้องก็ดับไปที่นกร้อง เสียงที่เกิดจากลมพัด หรือสิ่งอื่นใดก็ดับไปที่สิ่งนั้น เมื่อจิตไม่หน่วงอารมณ์จากภายนอกเข้ามาปรุงแต่ง (สังขาร) ก็ไม่มีการเติมเชื้อจากภายนอก  

ถ้าให้ตรงกับความเข้าใจตามภาษาก็คือ

ไม่รับอารมณ์ภายนอก

เอามาสังขารคิดปรุงแต่งจินตนาการ

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เมื่อไม่มีการเติมเชื้อจากข้างนอก  จิตก็จะดำเนินไปโดยการดึงเชื้อจากภายในจิตเองขึ้นมาใช้  ให้วิญญาณยึดเป็นอารมณ์สืบเนื่องไปเป็นกระแสชีวิต

ดังนั้น เราจึงเห็นสภาวะอย่างหนึ่งเกิดขึ้นและดับไปติดต่อสืบเนื่อง คือ  เราจะเฝ้าสังเกตเห็นความคิดทยอยกันเกิดขึ้นและดับไปไม่ขาดสาย เมื่อความคิดหนึ่งเกิดขึ้นและดับไป อีกความคิดหนึ่งก็จะเกิดขึ้นตามมาเหมือนระลอกคลื่น เพราะจิตได้ดึงเอาเชื้อเก่าที่สะสมเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิตขึ้นมาใช้ คือ จิตไม่กินเชื้อใหม่จากทางตา หู จมูก ลิ้น และการสัมผัสทางกาย แต่ใช้เชื้อเก่าทางใจ คือ อารมณ์ทางใจ มาหล่อเลี้ยงวิญญาณให้เกิดกระแสชีวิตดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

สรุปแล้วก็คือ แม้จิตสงัดจากกามคุณทั้ง ๕ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ก็ตาม แต่ก็ยังมีอารมณ์ทางใจให้เสพเสวย จึงต้องพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปจนสงัดจากอารมณ์ทางใจเป็นใจว่างๆ เปล่าๆ แต่ก็เป็นไปในลักษณะธรรมชาติของจิต มีการเกิดขึ้นและดับไป

ไม่มีธรรม จึงไม่เป็นธรรม ไม่ปฏิบัติธรรม จึงไม่เข้าใจธรรม ผู้มีธรรม จึงเป็นธรรม ได้ปฏิบัติธรรม จึงเข้าใจในธรรมฯ พระราชกิจจาภรณ์

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๙)  ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดสีฝุ่นโดย หมอนไม้
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดสีฝุ่นโดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๙) แม้จิตสงบก็สงบอยู่ในความตื่นรู้ เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here