ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดโดย หมอนไม้
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดโดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๕)

“ความเป็นผู้ฉลาดในความควรแก่กาลของสมาธิ”

เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความเป็นผู้ฉลาดในความควรแก่กาลของสมาธิ

ฉลาดในความควรแก่กาลของสมาธิ คือ รู้ความพอดีของสมาธิ ไม่คร่ำเคร่งปฏิบัติจนดูเคร่งเครียด ต้องรู้ที่จะผ่อนหนักผ่อนเบา ผ่อนสั้นผ่อนยาว เมื่อเร่งความเพียรจนดูเคร่งเครียดไม่ผ่อนคลาย ก็ปรับอารมณ์ผ่อนคลายลงให้พอดีพอเหมาะพอสมแก่ปัญญาและสภาพร่างกาย หย่อนยานเกินไปจนดูไม่เบิกบานในการปฏิบัติ ถูกนิวรณ์ครอบงำจนเบื่อหน่ายฝืดฝืน  ก็เร่งความเพียรขึ้นมาแผดเผาความหย่อนยานไม่สดชื่น

นั่งเกินพอดีก็คือเมื่อนั่งสมาธิแล้วเกิดสงบ เกิดปีติบ้าง เกิดสุขบ้าง ก็อยากนั่งแช่หรืออยากเดินจงกรมอยู่อย่างนั้น มีอารมณ์แช่นิ่งไม่อยากเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ซึ่งก็จะกลายเป็นเกร็งเคร่งเครียด ไม่ใช่เคร่งในการปฏิบัติ แต่เป็นเคร่งเครียด คือ เคร่งจนเครียด ใครอยู่ใกล้ก็พลอยเครียดไปด้วย ไม่มีความผ่อนคลาย เบิกบาน มีแต่ความตึงเครียด เพราะจิตเกร็งเคร่งเครียด  ก็ไม่สามารถยกจิตขึ้น  ให้เกิดความเบิกบานจากภายใน

กาลไหนควรเดินจงกรม กาลไหนควรปรับไปนั่งสมาธิก็ปรับให้พอเหมาะพอดีกัน กาลไหนควรปล่อยให้จิตกระทบอารมณ์อย่างคนธรรมดาทั่วไป  ก็ปล่อยให้จิตได้มีโอกาสรับอารมณ์อย่างธรรมดา เพื่อให้จิตได้รับรู้ความโกรธบ้าง ความขัดเคืองใจบ้าง ความดีใจความเสียใจบ้าง ความรู้จึงจะค่อยๆ เติบโตขึ้นมา เรียกตามการปฏิบัติก็ว่า อินทรีย์จึงจะแก่กล้าขึ้นมา

กาลไหนเกิดปีติลิงโลดใจ ดีใจเกินไป ใจฟูขึ้น ก็ประครองใจไว้ ข่มใจไว้ให้พอดีๆ ค่อยชะลอความลิงโลดใจให้เคลื่อนผ่านไป กาลไหนเกิดความห่อเหี่ยว หดหู่ จิตใจไม่เบิกบาน เป็นจิตตก ก็ยกจิตขึ้นประคองจิตไว้ให้พอดีๆ

(โปรดติดตาามตอนต่อไป)

สมาธิ ภาพวาดสีฝุ่น โดย หมอนไม้
สมาธิ ภาพวาดสีฝุ่น โดย หมอนไม้
บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๕) “ความเป็นผู้ฉลาดในความควรแก่กาลของสมาธิ” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here