“การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญของสังคม

ที่ช่วยพัฒนาคนให้มีคุณสมบัติ

และศักยภาพตามความคาดหวังของสังคม 

ซึ่งแต่ละยุคสมัยก็จะแตกต่างกัน

และการศึกษายังเป็นเครื่องมือ

สำหรับคนที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะของตนเอง

เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จในสาขาอาชีพ”

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน

ได้ดีเพราะมีครู

เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม / สถาบันพัฒนาพระวิทยากร /
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

            การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญของสังคมที่ช่วยพัฒนาคนให้มีคุณสมบัติและศักยภาพตามความคาดหวังของสังคม  ซึ่งแต่ละยุคสมัยก็จะแตกต่างกัน และการศึกษายังเป็นเครื่องมือสำหรับคนที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะของตนเอง เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จในสาขาอาชีพ

          โรงเรียนเป็นสถาบันหรือกลไกทางสังคมในการบ่มเพาะให้ความรู้และปลูกฝังค่านิยมของสังคม ให้กับสมาชิกใหม่คือเยาวชน  กระทรวงศึกษาธิการจะกำหนดคุณสมบัติให้กับนักเรียนเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพโรงเรียน และนักเรียน  โดยมีบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบาย สำคัญที่สุดก็คือ “ครู” 

ได้ดีเพราะมีครู เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากบนดอยอาศรมบ้านดอกแดง จังหวัดเชียงใหม่  โดยสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ได้ดีเพราะมีครู เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก บนดอยอาศรมบ้านดอกแดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

          ในสิงคาลกสูตร กล่าวถึงหน้าที่หรือบทบาทของครูอาจารย์ที่มีต่อศิษย์หรือเด็กนักเรียนไว้โดยสรุปดังนี้

๑. ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี

๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง

๔. ยกย่องให้ปรากฏในหมู่เพื่อน

๕. สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในทิศต่างๆ

          เห็นได้ว่าในข้อแรกนั้นก็คือ แนะนำลูกศิษย์ให้เป็นคนดี ถ้าพูดถึงการให้คะแนน ประเด็นนี้น่าจะเป็นคะแนนจิตพิสัย  ซึ่งคุณครูให้เด็กไว้แล้วอย่างน้อยคนละ ๑๐ คะแนน แต่นักเรียนบางคนก็ค่อยๆ ทำหายไปทีละนิดๆ นักเรียนอาจจะไม่ใส่ใจเพราะดูเป็นคะแนนเล็กน้อย แต่จริงๆ แล้ว คะแนนจิตพิสัยนี้สำคัญที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิตในวันข้างหน้า

เพราะฉะนั้น ครู ไม่อาจเพียงตั้งคะแนนไว้แล้วละเลยในการแนะนำ  หากมัวแต่คอยหักแต่คะแนนจิตพิสัยเพียงอย่างเดียวอาจจะพลาดวัตถุประสงค์ไป

          “คะแนนจิตพิสัย 

คือ หัวใจของการศึกษา” 

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

ผู้เขียนมองอย่างนั้น  เพราะนักเรียนต่อให้มีคะแนนและเกรดดีแค่ไหนหากจิตใจไม่ได้ถูกบ่มเพาะให้ดีแล้ว ก็มักจะมีปัญหาตามมาเสมอ 

เช่น เรียนเก่งแต่ไม่รับผิดชอบ  การบ้านก็เลยไม่เคยส่งเลย  หัวดีแต่ขี้เกียจงานที่ครูสั่งก็ไม่เคยเสร็จ  ตอนเข้าเรียนใหม่ๆ เกรดก็สูงนิสัยก็น่ารักแต่พอขึ้นมัธยม ๒-๓ ติดเพื่อนเท่านั้นแหละ การบ้านกลายเป็นยาพิษ ครูคือศัตรู รู้อย่างเดียวว่าวันนี้จะหลบไปไหน  เด็กผู้หญิงบางคนตอนอยู่มัธยมต้นยังใสซื่อผ่านไปปีเดียวกินเหล้าเก่งกว่าเด็กผู้ชายเสียอีก ฯลฯ

สภาพปัญหาเหล่านี้เป็นความจริงของโรงเรียนหลายแห่งที่กำลังเผชิญอยู่  เมื่อเด็กมีปัญหาขึ้นมาครูก็โทษครอบครัว ครอบครัวก็โทษโรงเรียน  โทษสภาพสังคม และบางคนก็โทษพระ(อันนี้เคยโดนจริงๆ) 

            กระบวนการในการช่วยเหลือเด็กแบบองค์รวมจึงไม่ค่อยเกิด  ในฝ่ายปกครองก็ตัดคะแนนความประพฤติ ขณะที่ฝ่ายวิชาการก็ตัดเกรดและให้ติด “๐” ติด “ร” ไว้  ผ่านไปจนถึง มัธยมปลาย เด็กบางคนจึงสะสมไว้เป็น ๒๐ – ๓๐ ตัว  พอถึงมัธยม ๖  ไม่สามารถจบได้ครูค่อยติดตามให้มาแก้มันก็ยากขึ้นไปอีกเพราะบางวิชาใช่ว่าจะหาครูเจอได้ง่ายๆ เมื่อเห็นเด็กมาง้อแก้ครูบางท่านก็หมั่นไส้ทำเป็นไม่สนใจเสียอีก 

ได้ดีเพราะมีครู เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
ได้ดีเพราะมีครู เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้ไปที่  โรงเรียนปากคาดพิทยาคม จังหวัดบึงกาฬ  เห็นสภาพปัญหาต่างๆ เหล่านั้น  จึงได้จัดกระบวนการช่วยเหลือเด็กอย่างเป็นระบบ มีการจัดตลาดนัดวิชาการ  เพื่อให้นักเรียนได้มีวันพบกับครูที่ตนเองยังไม่แก้  และมีการติดตามต่อเนื่อง  แต่กระนั้นก็ค้นพบว่า “จิตใจของเด็กบางคนต้องได้รับการช่วยเหลือ” จึงได้นิมนต์พระไปจัดกระบวนการอบรมในเชิงจิตวิทยาให้คำปรึกษา ซึ่งพระจะต้องผ่านการฝึกและมีทักษะด้านนี้  เพราะจะไม่ใช่การเทศนาให้ฟัง  แต่เป็นการรับฟังเด็กด้วยหัวใจ

กระบวนการที่ทำทุกกิจกรรมเน้นการกระตุ้นให้คิด และสร้างเสริมกำลังใจ  ให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง  ซึ่งบางคนนั้นมีความเก่งเฉพาะด้านแต่พอติด “๐” ติด “ร” เยอะก็ทำให้ท้อและรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า เพราะสิ่งที่ตนเองเก่งนั้นครูมองไม่เห็น

  การปรับทัศนคติของครู

จึงดำเนินการไปควบคู่กันไปด้วย 

ทั้งครูและนักเรียนเริ่มเห็นความสำคัญ

ของ “คะแนนจิตพิสัย” 

เมื่อครูและเด็กเข้าใจกัน

กลไกการแก้ไขปัญหา

ก็ขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

โรงเรียนและครู  ยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญของสังคม  ที่รับภาระอันหนักอึ้ง  และเป็นที่พึ่งพาของเด็กๆ ทั้งประเทศ  สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  แต่เงื่อนไขของการทำหน้าที่ครูกลับมากขึ้น  ก็คงได้แต่ให้กำลังใจคุณครูทุกท่าน  ที่ดูแลเอาใจใส่นักเรียนอยู่ในขณะนี้

ครูผู้เป็นกัลยาณมิตรของเด็กๆ

ไม่ใช่แค่สอนให้รู้ 

แต่ครูคือผู้สร้างแรงบันดาลใจ 

ให้นักเรียนจนมีไฟฝัน 

มุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่จุดหมาย

  และไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว

รอยยิ้มของครูพร้อมมีให้ลูกศิษย์เสมอ 

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

เด็กคนหนึ่งบอกกับครูว่า “ผมจะสู้ต่อครับ”  แล้วทั้งคู่ก็กอดกันแนบแน่น

ผู้เขียนเห็นแค่นี้ไม่รู้หรอกว่า พวกเขาผ่านเรื่องอะไรกันมา แต่มันคงหนักสาหัสพอสมควร แววตามุ่งมั่นเกิดขึ้นทั้งครูและนักเรียน  ผู้เขียนก็เชื่อมั่นว่าพวกเขาจะช่วยกันให้ผ่านเรื่องราวเหล่านั้นไปให้ได้ 

ทำให้นึกถึงคำกล่าวที่ว่า “ได้ดีเพราะมีครู”

ครูคือผู้ให้ความดี  ให้เด็กมีความรู้ 

ไม่ว่าศิษย์จะเป็นอย่างไร ในหัวใจของครูก็มีเมตตาต่อลูกศิษย์เสมอ…

"ได้ดีเพราะมีครู" เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป จากคอลัมน์ โชคดีเพราะมีพระ (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)
“ได้ดีเพราะมีครู” เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป จากคอลัมน์ โชคดีเพราะมีพระ (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)

“ได้ดีเพราะมีครู” เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม / สถาบันพัฒนาพระวิทยากร / สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

(หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๖๐)
(หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here