วันนี้วันพระ วันอังคารที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๕)

“ความเพียรต้องทำต่อเนื่อง ”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ความเพียรต้องทำต่อเนื่อง

            ในการปฏิบัติสมาธิ ความเพียรเป็นสิ่งที่สำคัญ ความเพียรต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน ไม่ทำๆ หยุดๆ

ลักษณะของความเพียรมีหลายลักษณะ ความเพียรที่ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย เมื่อมีความชัดเจนในเป้าหมายเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องเป็นสัมมาทิฐิแล้ว ก็ลงมือทำไปไม่ท้อถอย เรียกว่า วิริยะ หรือ วายามะ

เมื่อทำความเพียรไปแล้วคราวใดที่เกิดความง่วง เบื่อหน่ายไม่เบิกบาน ถูกความง่วงครอบงำก็ต้องใช้ความเพียรแบบชาคริยานุโยค  เพื่อขับไล่ความง่วง เป็นความเพียรแบบตั้งใจคิดหาวิธีแก้ไขความง่วง ความไม่เบิกบานให้ใจตื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันกลางคืน คิดหาวิธีที่จะทำให้เบิกบานใจในการปฏิบัติ ประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่เรียกว่า “ชาคริยานุโยค

บางคราวก็ต้องเร่งความเพียรเพิ่มความร้อนให้ใจกล้าขึ้น ก็ใช้ความเพียรแบบอาตาปี เพื่อเป็นตบะแผดเผาขจัดเอามลทินออกจากใจ เพื่อแผดเผาเอาสิ่งที่ไม่ใช่เนื้อแท้ของใจออกไป เหมือนเร่งไฟเพิ่มความร้อนเผาเหล็ก เพื่อเผาผลาญเอาสนิมซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เนื้อแท้ของเหล็กออกไป ให้อ่อนควรแก่การตีปรับรูปให้เป็นดาบ เหมาะแก่การใช้งานตามต้องการ

คุณสมบัติของเหล็กแท้ คือ ความแข็งแกร่ง ความทน ความกล้า ความคม และใช้ประโยชน์สูงสุดได้ตามคุณสมบัติที่แท้จริงของเหล็ก

            จิตที่มีความเพียรแบบอาตาปี จะค่อยๆ แผดเผา ค่อยๆ กัดเซาะ ค่อยๆ ละลาย ค่อยๆขจัดมลทิน คือกิเลสของใจออกไปเรื่อยๆ หากความเพียรมากก็แผดเผาขจัดมลทินของใจออกไปได้มาก เร่งความเพียรมากขึ้นก็ทำลายกิเลสได้มากขึ้น จิตก็ถึงความสะอาด บริสุทธิ์ กล้า แกร่ง ทน ถึงความเป็นคุณสมบัติที่แท้จริงของจิต ใช้ประโยชน์ได้สูงสุดตามคุณสมบัติที่แท้จริงของจิต อารมณ์ใดๆ กิเลสใดๆ ก็ทำอันตรายจิตเช่นนี้ไม่ได้

จิตที่ทำความเพียรถึงที่สุดแล้ว อารมณ์ภายนอกก็ไม่สามารถทำอันตรายได้  (อายตนะภายนอก) อารมณ์ภายในก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ (อายตนะภายใน) ทั้งอารมณ์ภายในทั้งอารมณ์ภายนอก ก็ทำอันตรายไม่ได้ เพราะจิตถึงความเป็นจิตเดิมแท้ ถึงความเป็นจิตปภัสสร สระอาด บริสุทธิ์ กล้า แกร่ง ทน ควรแก่การใช้งาน

เหมือนสแตนเลสแท้ที่ถูกเผาขจัดสนิมออกไปแล้ว ก็ไม่เกิดสนิมอีก ไม่ถูกสนิมภายในเนื้อสแตนเลสทำลาย ไม่ถูกสนิมจากข้างนอกทำลาย สนิมข้างในก็ไม่เกิดสนิมข้างนอกก็กัดกินไม่ได้

ความเพียรที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จะเป็นไปอย่างมีความสมดุล ให้ปฏิบัติไปเหมือนเด็กหัดพูด หัดเดิน ล้มแล้วก็แค่ลุกขึ้นใหม่ เด็กไม่ได้คิดว่าจะเดินได้หรือเดินไม่ได้ ก็แค่เดินไปเรื่อยๆ ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมา แล้วก็เดินต่อไปเดินต่อไป โดยไม่ได้หันกลับมาถามพ่อแม่ว่าเมื่อไหร่จะเดินได้ เด็กแค่ก้าวไปข้างหน้าไม่เคยคิดว่า การเดินมันยากหรือง่าย จากพูดอ้อแอ้ก็เริ่มชัดถ้อยชัดคำ จากเดินเปะปะก็เริ่มเดินได้ตรง  จากเดินช้าก็เริ่มเดินได้เร็ว แล้วก็วิ่งได้ในที่สุด

            เราฝึกหัดสมาธิก็ไม่ต้องหันกลับมาถามครูบาอาจารย์อยู่เรื่อยว่าเมื่อไหร่จะปฏิบัติสมาธิได้เสียที ก็ฝึกหัดไป ล้มลุกคลุกคลานไปบ้างก็ไม่เป็นไร

การทำความเพียรให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จะนั่งสมาธิก็ได้ จะเดินจงกรมก็ได้ จะสลับกันไปมาระหว่างนั่งสมาธิกับเดินจงกรมก็ได้ หรือจะดูความเคลื่อนไหวของร่างกายที่เป็นไปอย่างสืบเนื่องก็ได้  ให้ปฏิบัติสลับกันไปตามความเหมาะสม แต่ให้ต่อเนื่อง

การเดินจงกรมทำให้สติไว เพราะมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ขณะที่เท้าเคลื่อนไหว ความคิดก็ตกไปในช่วงสั้นๆ แล้วสติก็จะกลับมาระลึกรู้ ความคิดนั้นก็ตกไป ขณะเดินอยู่บนเส้นทางจงกรมเกิดความคิดขึ้นมา และความคิดกำลังจะปรุงแต่งต่อไป พร้อมกับที่เท้าต้องก้าวไป จิตก็จะตัดมาที่การก้าวเท้าเดิน ทำให้ความคิดนั้นตกไปเสียก่อนแต่ที่จะมีการคิดปรุงแต่งไปไกล

ก้าวย่างจะคอยทำหน้าที่ตัดความคิดให้ตกไป

ยิ่งเดินไวความคิดก็ยิ่งตกไปไว

เรียกว่า “เดินจงกรมตัดภพตัดชาติให้สั้นเข้า

ญาณวชิระ

เพราะขณะจิตเกิดดับไปเร็ว ยังไม่ทันได้ปรุงแต่งเติบโต ก็ดับเสียตั้งแต่เริ่มก่อตัวเป็นความคิด เกิดความคิดมาใหม่อีกก็ถูกก้าวย่างตัดให้ตกไปเสียอีก ไม่ทันได้คิดปรุงแต่งยาวนาน ความคิดกำลังก่อตัวขึ้นมา พอมีการเคลื่อนไหวเท้าความคิดก็ตกไป

ขณะเดินเกิดความคิดขึ้นมาก็หมายความว่า ภพเกิด ขณะที่ก้าวเท้าเคลื่อนไปจะทำให้จิตไหว ความคิดนั้นก็ตกไปเพราะมีสติในการที่จะก้าว  ก็เรียกว่า “สิ้นภพ” ถ้าความคิดนั้นยังไม่ขาดเพียงแต่ตกไปในช่วงสั้นๆ ก็จะถูกดึงกลับมาคิดใหม่ ระหว่างที่เดินก็จะมีสติรู้ตัวขึ้นมาอีก เพราะมีสติในการที่จะก้าวความคิดนั้นก็ตกไปอีก หมายความว่า ภพนั้นก็ดับไป ภพชาติของความคิดในขณะนั้นๆ จึงสั้นไม่ทันได้โต

ระหว่างการเดินจงกรมกับการนั่งสมาธินั้น

สติระลึกรู้ในการเดินจงกรมจะมีมากกว่าการนั่งสมาธิ

การเดินจะทำให้รู้ตัวอยู่ตลอด

แม้จะมีความคิดผุดขึ้นมาก็จะคิดแค่สั้นๆ

พอขยับเท้าก้าวเดิน

ความคิดนั้นก็จะตกไปเพราะจิตไหวตามเท้าทุกก้าวย่าง

ญาณวชิระ

ส่วนการนั่งสมาธิสติระลึกรู้จะน้อย เพราะจิตจะแช่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ถ้าคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็จะคิดเรื่องนั้นนาน ไม่มีสิ่งใดมาเปลี่ยนอารมณ์ ถ้าสติไม่เข้มแข็งเพียงพอ ก็จะคิดเรื่องนั้นยาวนาน ความคิดไม่ตกไปเร็วจนกว่าจะมีสติระลึกรู้ขึ้นมา ความคิดนั้นจึงจะตกไป ในขณะที่การเดินทำให้ความคิดตกไปไว เพราะการเคลื่อนไหวทำให้สติกลับมาไว

บางทีเดินช้าสติไม่ทันความคิด ก็ต้องเดินเร็ว เมื่อเดินเร็วก็จะเห็นอาการของเท้าที่ไปที่มา จิตก็จะเห็นแต่อาการไปอาการมา ความคิดไม่มีโอกาสได้แทรกเข้ามา

การเดินจงกรม จะเดินช้าหรือเดินเร็วก็ได้ทั้งนั้น เอาที่ถนัดของแต่ละบุคคล จะช้าหรือเร็ว สำคัญที่เห็นอาการของความเคลื่อนไหว เดินช้าก็ให้เห็นอาการช้า เดินเร็วก็ให้เห็นอาการเร็ว

เมื่อมีความเพียรเสมอต้นเสมอปลาย

ปรารภความเพียรไม่เห็นแก่นอน

เดินจงกรมจนจิตเป็นสมาธิ

จะไม่มีผู้ไปไม่มีผู้มา

มีแต่การไปการมา

ก็จะเห็นแต่อาการของการไปการมาอยู่เช่นนั้น

จึงชื่อว่า “ไม่มีผู้มาผู้ไป มีแต่การมาการไป

ญาณวชิระ

ดังนั้น การเดินจงกรมจึงทำให้ความคิดตกไปไว เพราะการเคลื่อนไหวทำให้เกิดความรู้สึกตัวไว หากนั่งนิ่งนานๆ หรือยืนนิ่งนานๆ จิตที่คิดก็จะคิดไปไกล เพราะไม่มีอะไรไปเปลี่ยนความคิด เวลาเดินขณะคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พอมีการเคลื่อนไหวของเท้าก็จะทำให้จิตที่กำลังแช่อยู่ในความคิดเกิดการเคลื่อนไหว พอจิตไหวเพราะการเดิน สติก็จะกลับมาระลึกรู้เกิดความรู้สึกตัวกลับมาอยู่กับการเดิน

           เดินไปคิดไป

กับ

เดินไปเห็นความคิดไป

เป็นละอย่างกัน

ญาณวชิระ

เดินไปคิดไปเป็นลักษณะของอวิชชา แต่เดินไปเห็นความคิดไป เป็นลักษณะของปัญญาเป็นปัจจุบันขณะ เป็นธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ คือ การใช้ความคิดวิจัยใคร่ควรญพิจารณาธรรม

การเดินจงกรม จะไม่ทำให้จิตจมอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่ง หรือไม่ทำให้จิตจมอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานจนเกินไป เว้นแต่ตั้งใจเดินเพื่อใช้ความคิด หรือเพื่อพิจารณาธรรม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้เช่นกัน ซึ่งบางครั้งอาจเดินไปคิดพิจารณาธรรมไป เป็นความจงใจที่จะเดินเพื่อขบคิดประเด็นธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนคนเจตนาเดินขบคิด ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับใช้การเดินเพื่อตัดความคิด

จิตคิดอะไรก็คิดทีละเรื่อง ไม่ได้คิดพร้อมกันหลายเรื่อง ความคิดหนึ่งเกิด ความคิดหนึ่งดับ เปรียบเหมือนมีเก้าอี้อยู่ตัวหนึ่งขึ้นนั่งได้ทีละคน คนหนึ่งขึ้นนั่ง คนหนึ่งก็ต้องลง แม้จะมีคนอยู่กี่คนก็ตาม ก็ขึ้นนั่งได้ทีละคน แล้วแต่ว่าใครจะมีกำลังก็ขึ้นนั่งได้บ่อยกว่า

เวลาจิตคิดก็คิดทีละขณะ

เมื่อเกิดความคิดหนึ่ง 

อีกความคิดหนึ่งก็ต้องตกไป

ญาณวชิระ

ขณะเดินจงกรมก็เช่นกัน เมื่อเกิดความคิดกำลังจะสืบต่อปรุงแต่งไปไกล ขณะเดียวกันเท้าก็ก้าว  จิตก็ตัดจากความคิดกลับมาที่เท้า จึงไม่ปล่อยโอกาสให้ความคิดที่เริ่มก่อตัวขึ้นได้ปรุงแต่งไปไกล

เวลาเดินจงกรม เท้าจะมีบทบาทสำคัญในการตัดความคิดให้ขาดเป็นตอนๆ  เพราะขณะนั้นเท้าจะเป็นศูนย์การระลึกรู้ ส่วนเวลานั่งสมาธิ สติจะมีบทบาทที่สำคัญคอยตัดความคิดให้ขาดเป็นท่อน ถ้าสติได้รับการฝึกมาดีก็จะมีความไว คอยตัดความคิดให้ตกไปในช่วงสั้นๆ ไม่ทันที่ความคิดจะเติบโตขึ้นมาได้ แต่ถ้าสติไม่คมไม่ไว เพราะไม่ได้รับการฝึกหัด ความคิดก็เติบโตไปไกล กว่าจะมีสติรู้สึกตัวขึ้นมาตัดความคิดให้ขาดความคิดก็โตเต็มที่แล้ว

เวลาเดินจงกรม ก้าวย่างจะคอยตัดความคิดให้ขาดเป็นท่อนไม่ทันได้เติบโตคิดไปไกล พอมีการก้าวย่าง สติก็จะกลับมาระลึกรู้ และตัดความคิดให้ขาดออก

ความคิดก็เหมือนชีวิต

พอเกิดความคิดไม่ทันได้โต

ก็ถูกสติตัดขาด

ญาณวชิระ

ชีวิตของบางคนก็ถูกมรณะตัดขาดเสียตั้งแต่แรกเกิดไม่ทันได้เติบโต บางชีวิตก็ถูกมรณะตัดเสียเมื่อวัยหนุ่ม บางชีวิตก็เติบโตมาจนแก่จึงถึงกาลมรณะ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๕) “ความเพียรต้องทำต่อเนื่อง ” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here