สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด และบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕

ขุนเขาย่อมมีวันทลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

ฉบับ ญาณวชิระ

.พระมโหสถบัณฑิต

อัจฉริยภาพแห่งปัญญามหาบุรุษ

“เราพอใจที่จะบริโภคข้าวเปล่า

เพราะรู้ว่า กาลไหนควรทำความเพียรอย่างองอาจ เพื่อให้ยศเจริญ

ดุจความองอาจแห่งพญาราชสีห์

ท่านจะเห็นเราประสบความสำเร็จอีกครั้ง

ด้วยอานุภาพแห่งปัญญาของตน”

มโหสถชาดก เป็นชาดกที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงเรื่องในอดีตชาติของพระองค์ เมื่อครั้งเกิดเป็นพระมโหสถ มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานคร ทรงสมบูรณ์ด้วยปัญญานุภาพที่เลิศล้ำ ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน สามารถแก้ปัญหาน้อยใหญ่ด้วยไหวพริบปฏิภาณ สามารถคาดการณ์อนาคต และปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ ทรงถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เมตตาธรรม และความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ทรงมีปณิธานที่จะบําเพ็ญ “ปัญญาบารมี” ตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาสังคม ช่วยให้เพื่อนมนุษย์  พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ด้วยอัจฉริยภาพแห่งปัญญาของพระองค์

มโหสถชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต และอรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต

ขณะตรัสเล่าเรื่องพระมโหสถนั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

วันหนึ่ง หมู่พระภิกษุออกจากสถานที่สําหรับทําสมาธิ มานั่งประชุมกันในอาคารสําหรับแสดงธรรม ต่างพูดคุยสนทนาสรรเสริญพระปัญญาบารมีของพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้ามีพระปัญญามาก  มีพระปัญญากว้างขวาง หมดจด ลุ่มลึก ประดุจแผ่นดิน มีพระปัญญาแหลมคม ฉับไว สามารถแก้คําที่ผู้อื่นกล่าวคัดค้านคําสอนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทรงทรมานเหล่าพราหมณ์  มีกูฏทันตพราหมณ์ เป็นต้น เหล่านักบวชปริพาชก มีสภิยปริพาชก เป็นต้น เหล่ายักษ์  มีอาฬวกยักษ์ เป็นต้น เหล่าเทวดา มีท้าวสักกเทวราช เป็นต้น เหล่าพรหม มีพกาพรหม เป็นต้น และเหล่าโจร มีองคุลิมาลโจร เป็นต้น ด้วยพระปัญญานุภาพของพระองค์ ทรงทําให้เขาเหล่านั้น สิ้นพยศ ให้ได้รับการบรรพชา ให้บรรลุมรรคผล พระบรมศาสดามีพระปัญญายิ่งใหญ่เช่นนี้”

ขณะนั้น พระบรมศาสดา เสด็จออกจากพระคันธกุฎี ตรัสถามเรื่องที่ภิกษุสนทนาค้างไว้  เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสต่อไปว่า “ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในกาลนี้เท่านั้น ที่ตถาคตมีปัญญา แม้ในอดีตชาติ เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ยังบําเพ็ญบารมี เพื่อบรรลุพระโพธิญาณอยู่ ก็เป็นผู้มีปัญญาเช่นกัน” จึงตรัสเล่าเรื่องในอดีตชาติของพระองค์ ให้หมู่พระภิกษุสงฆ์ฟัง

บุพนิมิต

ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า “วิเทหราช” ทรงครองราชสมบัติในกรุงมิถิลานคร  แคว้นวิเทหะ พระองค์มีบัณฑิตคู่พระทัยเป็นคณะมนตรีประจําราชสํานักอยู่ ๔ คน คอยถวายคําปรึกษา  ว่าราชการแผ่นดิน คือ เสนกบัณฑิต ปุกกุสบัณฑิต กามินทบัณฑิต และเทวินทบัณฑิต

วันที่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินนิมิตในเวลาใกล้รุ่งว่า  เกิดเปลวเพลิงสูงใหญ่ ประมาณเท่ากําแพงพระนคร โหมลุกไหม้ขึ้น ที่มุมสนามหลวงทั้ง ๔ มุม  ท่ามกลางกองเพลิงใหญ่ทั้ง ๔ กองนั้น ได้เกิดเพลิงน้อยขึ้นกองหนึ่ง แสงเท่าหิ่งห้อย แล้วค่อย ๆ โหมลุกไหม้ โชติช่วง กลบแสงเพลิงทั้ง ๔ กองนั้น สว่างเจิดจ้าทั่วจักรวาล แต่ไม่มีสะเก็ดไฟ แม้เท่า เมล็ดพันธุ์ผักกาด ตกลงมาที่พื้นดิน เกิดอันตรายแก่ใคร ๆ ทั้งโลกมนุษย์ เทวดา มาร และพรหม  ต่างก็นําเครื่องบูชาต่าง ๆ มาบูชากองไฟนั้น ฝูงชนเดินไปมาระหว่างเปลวเพลิงนั้น ก็ไม่รู้สึกร้อน  ไม่ระคายแม้ขุมขน

พระราชา สะดุ้งตื่น ทรงเกิดความหวาดกลัว จึงเสด็จลุกขึ้น ประทับนั่ง ไม่สามารถบรรทม ต่อไปได้ ทรงครุ่นคิดถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นมากมาย จนรุ่งเช้า   

บัณฑิตทั้ง ๔ คน มาเฝ้าแต่เช้าตรู่ ทูลถามถึงการบรรทมของพระองค์ว่า หลับสบายดีหรือไม่  พระราชาจึงตรัสบอกให้ทราบถึงพระสุบินนิมิต อันเป็นเหตุให้พระองค์ไม่สามารถหลับลงได้  

เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า “พระสุบินนั้น เป็นมงคลนิมิต ที่จะให้พระเกียรติยศของพระองค์แผ่ไพศาลไปทั่วทุกสารทิศ เนื่องจากบัณฑิตคนที่ ๕ จะเกิดขึ้นในแผ่นดินของพระองค์ บดบังรัศมี บัณฑิตทั้งหมด ส่วนบัณฑิตคนที่ ๕ เหมือนกองเพลิงที่เกิดขึ้นใหม่ โลกนี้ตลอดจนเทวโลก ไม่มีใคร มีปัญญาเสมอบัณฑิตนั้น”

พระเจ้าวิเทหราช ตรัสถามถึงที่อยู่ของบัณฑิตนั้น เสนกบัณฑิตกราบทูลพยากรณ์เหมือนตาเห็นว่า “เขาเพิ่งจะคลอดจากครรภ์มารดาในวันนี้”

ตั้งแต่นั้น พระราชาก็ทรงระลึกถึงคําพูดของเสนกบัณฑิต ตลอดมา

กำเนิดพระมโหสถบัณฑิต

ที่กรุงมิถิลานคร แคว้นวิเทหะนั้น มีหมู่บ้านอยู่ ๔ แห่ง ตั้งอยู่ประตูพระนครทั้ง ๔ ทิศ  ได้แก่

หมู่บ้านทักขิณยวมัชฌคาม อยู่ประตูด้านทิศใต้

หมู่บ้านปัจฉิมยวมัชฌคาม อยู่ประตูด้านทิศตะวันตก  

หมู่บ้านอุตตรยวมัชฌคาม อยู่ประตูด้านทิศเหนือ  

และ หมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม อยู่ประตูด้านทิศตะวันออก

ณ หมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระนคร มีบ้านเศรษฐีท่านหนึ่ง ชื่อ “สิริวัฒกเศรษฐี” ภรรยาของเศรษฐีนั้น ชื่อ “สุมนาเทวี” วันที่พระราชาทรงพระสุบินนิมิตนั้น เป็นเวลาเดียวกันกับพระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาถือกำเนิดในครรภ์นางสุมนาเทวี และมีเทพบุตรอีก ๑,๐๐๐ องค์ มาเกิดในบ้านเศรษฐีคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านนั้นด้วย

ครั้นเวลาผ่านไป ๑๐ เดือน นางสุมนาเทวี ได้คลอดบุตรชายผิวพรรณงามบริสุทธิ์ดุจทองคํา  

พระอินทร์ ทราบว่า พระโพธิสัตว์คลอดจากครรภ์มารดาในวันนี้ ประสงค์จะทําเชื้อสาย  พระพุทธเจ้า ให้เป็นที่รับรู้ของมนุษย์กับทั้งเทวโลกโดยทั่วไป จึงเสด็จมาด้วยอทิสสมานกาย ที่ไม่มีใครเห็นพระองค์ ทรงวางแท่งโอสถทิพย์ ไว้ที่มือ ในขณะที่พระโพธิสัตว์คลอดจากครรภ์มารดา พระโพธิสัตว์ กําแท่งโอสถนั้นไว้

ขณะพระโพธิสัตว์คลอดนั้น มารดามิได้มีความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเลยแม้แต่น้อย คลอดง่าย คล้ายน้ำไหลออกจากกระบอกกรองน้ำ

—-

อทิสสมานกาย หมายถึง กายทิพย์ที่ไม่มีใครสามารถมองเห็นได้

นางสุมนาเทวี เห็นแท่งโอสถในมือบุตร จึงเอ่ยปากถามอย่างอ่อนโยนว่า “ลูกได้อะไรมาจ๊ะ”  พลันนั้น นางก็แว่วได้ยินเสียงบุตรตอบว่า “โอสถจ๊ะ แม่” แล้วโอสถทิพย์ ก็ถูกวางไว้ในมือของเธอ พร้อมกับได้ยินว่า “แม่เอาโอสถนี้ ไปรักษาคนเจ็บป่วยเถิด” นางสุมนาเทวี รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงบอกเศรษฐีผู้เป็นสามี ซึ่งป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมานานร่วม ๗ ปี

เศรษฐีคิดว่า เมื่อลูกคลอดจากครรภ์มารดา ได้ถือโอสถมาด้วย ทั้งพูดกับมารดาได้ในขณะเกิด  โอสถนี้น่าจะออกฤทธิ์ชะงัดนัก จึงเอาโอสถฝนที่หินบดยา แล้วทาที่หน้าผากนิดหนึ่ง อาการปวดศีรษะ  ที่เป็นมา ๗ ปี ก็หายเป็นปลิดทิ้งทันที ทําให้เศรษฐีดีใจมาก

เสียงเล่าขานถึงเรื่องที่พระโพธิสัตว์ถือโอสถมาเกิดด้วย ก็แพร่กระจายออกไปสู่สาธารณชน  อย่างกว้างขวาง คนเจ็บป่วย ต่างก็พากันหลั่งไหลมาบ้านเศรษฐีเพื่อขอยา อย่างไม่ขาดสาย  

ส่วนท่านเศรษฐี ก็เอาโอสถนิดหนึ่ง ฝนที่หินบดยา แล้วละลายน้ำ ให้คนเจ็บทา อาการเจ็บป่วย ก็หายเป็นปลิดทิ้งทันที คนที่หายจากโรค ต่างก็พากันสรรเสริญว่า ยาในเรือนท่านสิริวัฒกเศรษฐีออกฤทธิ์ได้ชะงัดมาก

ตามธรรมเนียมการตั้งชื่อบุตรธิดาสมัยนั้น นิยมนําชื่อปู่ย่ามาเป็นชื่อบุตร เพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลกับเด็ก แต่เนื่องจากวันที่บุตรเกิด ได้ถือโอสถมาด้วย และโอสถนั้น ก็ออกฤทธิ์รักษาโรคได้อย่างชะงัดมาก สิริวัฒกเศรษฐี จึงไม่ได้ตั้งชื่อบุตรตามชื่อปู่ย่า แต่ตั้งชื่อว่า “มโหสถ” แปลว่า“ผู้เกิดมาพร้อมกับยาขนานใหญ่” ตามคําที่ชาวบ้านเรียกว่า “โอสถนี้ มีคุณมาก” โดยนําคําว่า มหา  ที่แปลว่า ใหญ่ กับคําว่า โอสถ ที่แปลว่า ยา มาผสมกัน

ท่านเศรษฐีคิดว่า บุตรมีบุญมาก นอกจากจะมีโอสถมาด้วย ยังพูดกับมารดาได้ ตั้งแต่แรกเกิด ไม่น่าจะเกิดมาคนเดียว จะต้องมีเด็กคู่บุญมาเกิดด้วย จึงให้สอบถามดู ก็ได้ข่าวว่า มีทารกเกิดวันเดียวกันถึง ๑,๐๐๐ คน เศรษฐีจึงให้เครื่องประดับและนางนมแก่เด็กทั้ง ๑,๐๐๐ คน ให้จัดงานมงคล แก่ทารกทั้งหมด พร้อมกับพระโพธิสัตว์ เมื่อพระโพธิสัตว์เจริญวัย ก็มีพวกเด็กทั้ง ๑,๐๐๐ คนนั้น  เป็นเพื่อนสนิท

ฉายแววมหาบัณฑิต

เมื่อมโหสถ อายุได้ ๗ ขวบ มีรูปร่างหน้าตางดงาม ขณะมโหสถเล่นอยู่กลางลานบ้านกับพวกเด็ก ๆ ได้มีช้าง และม้า เป็นต้น พลัดหลงเข้ามาเหยียบสนามเด็กเล่นกระจุยกระจาย บางครั้ง ถูกแดดแผดเผาก็ร้อน บางครั้งลมพัดแรง ข้าวของสําหรับเล่น ก็ปลิวกระจัดกระจาย ทําให้พวกเด็ก ๆ  หมดสนุก

วันหนึ่ง พวกเด็ก ๆ กําลังเล่นกันอยู่ ด้วยความสนุกสนาน เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก มโหสถมีเรี่ยวแรงมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ ดุจพญาช้างสาร พอเห็นเมฆตั้งเค้าขึ้นเท่านั้น ก็วิ่งเข้าไปในศาลา หลังหนึ่งได้ทัน ส่วนเด็กคนอื่น ๆ วิ่งตามไปทีหลัง ต่างเปียกปอน ลื่นล้ม เหยียบเท้ากัน พลาดล้มหัวเข่าแตก ได้รับบาดเจ็บไปตาม ๆ กัน  

มโหสถ เห็นความลําบากของเพื่อนเล่น จึงคิดว่า ควรมีศาลาสําหรับเล่น เมื่อฝนตก แดดออก  จะได้ไม่ลําบาก จึงบอกให้พวกเด็ก ๆ สหาย นําเงินมาบริจาคสร้างศาลาคนละ ๑ กหาปณะ พวกเด็กก็ทําตามนั้น

มโหสถ ให้เรียกนายช่างมาออกแบบสร้างศาลาโดยให้เงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะเป็นค่าจ้างนายช่างใหญ่ ขุดตอไม้ ปรับพื้นที่ให้เสมอ แล้วขึงเชือก วัดระยะ กะที่สร้างศาลา  

มโหสถ เห็นวิธีขึงเชือกของนายช่าง ไม่ถูกใจ จึงบอกว่า “นายช่าง ท่านอย่าขึงเชือกอย่างนี้  ควรขึงอย่างนี้” นายช่างบอกว่า “นายน้อย ข้าพเจ้า ขึงเชือกตามที่เรียนมา ถ้าขึงวิธีอื่นต่างจากนี้  ข้าพจ้า ไม่มีความรู้” เมื่อนายช่างไม่สามารถทําตามได้ มโหสถจึงกล่าวว่า “ถ้าไม่รู้แม้กระทั่งวิธีขึงเชือกแล้ว จะรับเงินเป็นค่าสร้างศาลาได้อย่างไร” จึงลงมือขึงเชือกเอง เชือกที่มโหสถขึงแน่นหนามาก เหมือนพระวิสสุกรรมเทพบุตร ขึง มโหสถ ถามนายช่างว่า “ท่านสามารถขึงเชือกอย่างนี้ ได้ไหม” นายช่างตอบว่า “ทําไม่ได้ นายน้อย” มโหสถถามว่า “แล้วท่านทำตามที่เราบอกได้หรือไม่” นายช่างตอบว่า “ถ้าให้ทำตามที่บอก ก็สามารถทำได้” มโหสถจึงบอกว่า “ถ้าเช่นนั้น  ท่านจงทําตามสิ่งที่เราบอก” มโหสถ จึงออกแบบศาลาให้เป็นส่วน ๆ โดยให้มีห้อง ดังนี้

            ๒ พระวิสสุกรรมเทพบุตร เป็นเทพนักออกแบบ อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 

๑. ห้องสําหรับสตรีไร้ญาติ ใช้เป็นที่คลอดบุตร

๒. ห้องสําหรับสมณะและพราหมณ์ ผู้อาคันตุกะ มาพัก  

๓. ห้องสําหรับคฤหัสถ์ ผู้อาคันตุกะ มาพัก

๔. ห้องสําหรับเก็บสินค้าของพวกพ่อค้า ซึ่งเป็นผู้อาคันตุกะ ได้มาพัก

มโหสถ ออกแบบห้องแต่ละห้อง ให้มีประตูทางเข้าออกด้านหน้ามุข มีห้องสําหรับวินิจฉัยคดีความ และโรงธรรม มีสนามเล่นอยู่ตรงกลาง ครั้นศาลาเสร็จ ก็ให้จิตรกรเอก มาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง อย่างวิจิตร อ่อนช้อย งดงาม ตามจินตนาการของตน  

มโหสถ เป็นแม่งานควบคุมการก่อสร้างศาลาเอง ทุกประการ คิดว่า ศาลายังไม่งดงามพอ  จึงให้ขุดสระโบกขรณี ก่ออิฐล้อมรอบ มีเหลี่ยมมุมคดเคี้ยวไปมานับ ๑,๐๐๐ แห่ง มีท่าสําหรับลงอาบ นับ ๑๐๐ ท่า เต็มไปด้วยดอกบัว ๕ ชนิด ให้จัดสวนหย่อมไว้ริมสระ ปลูกต้นไม้นานาพันธุ์ ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ ผลิดอกออกผลงดงาม

มโหสถ เริ่มใช้ศาลานั้น ตั้งโรงทาน ให้ทานสมณะและพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม และคนผู้เดินทางจรมาจากต่างแดน ผู้คนเป็นอันมาก ได้มาพักอาศัยศาลานั้น มโหสถนั่งในศาลา แนะนํา ผู้คน ให้รู้จักสิ่งที่ควรทํา และไม่ควรทํา เริ่มให้การวินิจฉัยคดีความต่าง ๆ  

กาลนั้น ได้เป็นเหมือนกาลเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า

มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานคร

ภายในกรุงมิถิลานคร ตลอดระยะเวลา ๗ ปี ที่ผ่านมา พระเจ้าวิเทหราช  ทรงเฝ้าระลึกถึงคําพูดของเสนกบัณฑิตอยู่เสมอว่า จะมีบัณฑิตคนที่ ๕ เกิดขึ้นบดบังรัศมีพวกเขา ก็แล้วบัดนี้ บัณฑิต คนที่ ๕ นั้น อยู่ที่ไหน พระองค์ไม่สามารถทนต่อความสงสัยได้  จึงให้อํามาตย์ ๔ คน ไปสืบเสาะหาที่อยู่ของบัณฑิตนั้น ทางประตูพระนครทั้ง ๔ ด้าน

อํามาตย์ผู้ออกไปทางประตูอื่น ๆ ไม่มีใครพบพระโพธิสัตว์ ส่วนอํามาตย์ผู้ออกไปทางประตูด้านทิศปราจีน  ได้เห็นศาลาหลังหนึ่ง  โดดเด่นตระหง่านงามอยู่กลางหมู่บ้าน  จึงนั่งครุ่นคิดด้วยความสงสัยว่า ศาลาหลังนี้ ถูกออกแบบไว้อย่างวิจิตร งดงาม ผู้สร้าง ต้องเป็นช่างเอง หรือใช้ให้คนอื่นสร้างตามความคิดของตน  จึงถามคนที่พักอาศัยอยู่ในศาลาว่า นายช่างคนไหน สร้างศาลาหลังนี้  ได้รับคําตอบว่า  นายช่างไม่ได้สร้างตามความคิดของตนเอง  แต่สร้างตามคําบอกของมโหสถ  บุตรของสิริวัฒกเศรษฐี

อํามาตย์ถามอายุมโหสถ  ก็ได้รับคําตอบว่า อายุ ๗ ขวบ  จึงคํานวณนับปี  ตั้งแต่วันที่พระราชา  ทรงพระสุบินนิมิตเห็น ก็มั่นใจว่า บัณฑิตที่พระราชาทรงสุบินนิมิตเห็นนั้น คือ ช่างผู้สร้างศาลาหลังนี้แน่  จึงส่งทหารนําสาส์นไปกราบทูลพระราชาว่า บุตรสิริวัฒกเศรษฐี ในหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม  ชื่อ “มโหสถ” อายุได้ ๗ ปี ให้สร้างศาลา สระโบกขรณี ตลอดจนอุทยาน ไว้อย่างงดงาม จะให้นำ บัณฑิตนี้ เข้าเฝ้าหรือไม่

พระราชาสดับข่าวเช่นนั้น ทรงยินดียิ่ง มีพระราชประสงค์จะนํามโหสถเข้ามาพระราชวัง  จึงรับสั่งให้เสนกบัณฑิตเข้าเฝ้า  เพื่อขอความคิดเห็น  เสนกะ เป็นคนจิตใจคับแคบ ไม่อยากเห็นใครดีกว่าตน จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ บุคคลไม่ได้เป็นบัณฑิต เพียงเพราะสร้างศาลาได้เท่านั้น  การสร้างศาลา เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้แสดงออกถึงความเป็นอัจฉริยบุคคล แต่อย่างไร”

พระราชาทรงดําริว่า เสนกบัณฑิต น่าจะมีเหตุผล จึงทรงนิ่ง ไม่ตรัสอะไร ทรงส่งทหารของอํามาตย์คนนั้นกลับไป  พร้อมรับสั่งให้คอยเฝ้าดูความเป็นไปของมโหสถบัณฑิตอยู่ที่หมู่บ้านปราจีนยวมัชฌคาม  เพื่อส่งข่าวให้ทราบเป็นระยะ  อำมาตย์จึงพักอยู่ที่นั้นตามรับสั่งต่อไป

ขณะอยู่ที่หมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม อํามาตย์ได้เห็นมโหสถบัณฑิต วินิจฉัยคดีความอย่างถูกต้องเที่ยงธรรม หลายเหตุการณ์

แก้ปัญหาเหยี่ยวโฉบชิ้นเนื้อ

วันหนึ่ง ขณะมโหสถ เล่นอยู่กับเพื่อน ๆ มีเหยี่ยวตัวหนึ่ง โฉบชิ้นเนื้อมาจากโรงฆ่าสัตว์ พวกเด็ก เห็นเหยี่ยวโฉบเนื้อบินมา ต่างก็วิ่งไล่ตาม ไปดักข้างหน้าข้างหลัง ตั้งใจทำให้เหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อ ตาก็มองดูเหยี่ยวบนท้องฟ้า ไม่ได้ระวัง จึงสะดุดตอไม้ เนินดิน ล้มลุกคลุกคลาน เป็นแผลถลอก บาดเจ็บ แม้เช่นนั้น เหยี่ยวก็ไม่ทิ้งชิ้นเนื้อ

มโหสถ ร้องบอกเพื่อน ๆ ว่า “เราทําให้เหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อได้” พวกเพื่อน ๆ ร้องขึ้นเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถ้าทําได้ ก็ลองดู” มโหสถ จึงวิ่งไปอย่างเร็ว โดยไม่มองท้องฟ้า แต่มองเงาเหยี่ยวที่พื้นดิน  ซึ่งกำลังเคลื่อนไป พอเหยียบตรงเงาเหยี่ยวได้เท่านั้น ก็ตบมือ ร้องเสียงดังตวาดลั่น ทําให้เหยี่ยวตกใจกลัว ทิ้งชิ้นเนื้อ บินหนีไป

มโหสถ รู้ว่า เหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อ จึงมองดูเงาเนื้อ ที่กําลังตกลงมาจากอากาศ เอามือรับ ไม่ให้ตกถึงพื้นดิน ผู้คนเห็นมโหสถทําเช่นนั้น  ก็เกิดอัศจรรย์ในอัจฉริยภาพของเด็กวัยแค่นี้  ต่างชื่นชม  โห่ร้อง เกรียวกราว ตบมือ ส่งเสียงอยู่เซ็งแซ่ ชอบอกชอบใจ  

อํามาตย์เห็นเหตุการณ์นั้น จึงส่งข่าวไปกราบทูลให้พระราชาทรงทราบอีกว่า มโหสถออกอุบายทําให้เหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อ ในขณะที่เด็กคนอื่น ๆ ทําไม่ได้ พระราชา ตรัสถามความเห็นของเสนกบัณฑิตว่า ควรจะนํามโหสถเข้าวังได้หรือยัง

เสนกบัณฑิต คิดว่า นับจากวันที่มโหสถเข้ามาในราชสํานัก พวกตนทั้ง ๔ ก็จะหมดความสําคัญลง จะถูกบดบังรัศมี ทั้งลาภก็จะลดน้อยลง แม้พระราชา ก็จะลืมพวกตน ไม่ต้องการให้มโหสถเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง  จึงกราบทูลว่า “บุคคลไม่ได้เป็นบัณฑิต เพียงเพราะทําให้เหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อ  เท่านั้น การทําให้เหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อ เป็นเรื่องธรรมดาเกินไป”  

พระราชาทรงมีความเป็นกลาง จึงส่งพลนําสาส์นนั้นกลับไป ให้อํามาตย์คอยสังเกตพฤติกรรม ของมโหสถ ต่อไป

คดีความโจรขโมยโค

มีชายชาวปาจีนยวมัชฌคามคนหนึ่ง คิดว่า เมื่อถึงหน้าฝน จะต้องไถนา ปลูกข้าว จึงซื้อโคมาเลี้ยงไว้ไถนา แล้วนําไปเลี้ยงกลางทุ่ง บางครั้ง ก็นั่งอยู่บนหลังโค ครั้นเหน็ดเหนื่อย ก็ลงมานั่งในร่ม โคนต้นไม้

อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้นําโคไปเลี้ยงตามปกติ เมื่อรู้สึกเหนื่อย ก็ลงมานั่งใต้ร่มไม้ เนื่องจากใต้ร่มไม้  ลมพัดเย็นสบาย จึงเผลอหลับไป เพราะความเพลีย ขณะที่ชายเจ้าของโคหลับอยู่ มีโจรคนหนึ่งมาขโมยโคไป ครั้นชายเจ้าของตื่นขึ้นมา ไม่เห็นโค จึงออกวิ่งตามหา เห็นโจรกําลังจูงโคไป จึงตะโกน ถามว่า “แกจะเอาโคข้า ไปไหน” โจรตะโกนตอบว่า “แกพูดอะไร นี่โคข้า ข้าจะเอาไปที่ไหน มันก็เรื่องของข้า” แล้วชายทั้ง ๒ คน ก็โต้เถียงกันขึ้น อย่างรุนแรง ทําให้ฝูงชนมามุงดูกัน จนเนืองแน่น

มโหสถ ได้ยินเสียงผู้คนเป็นจํานวนมาก เอะอะโวยวายอยู่ที่ประตูทางเข้าศาลา จึงเดินไปดู  แล้วให้เรียกคู่กรณีทั้งสองมา ดูท่าทางก็รู้ว่า ใครเป็นโจร ใครเป็นเจ้าของโค แต่แม้จะรู้อยู่ มโหสถก็ทําเป็นไม่รู้  ได้สอบถามถึงสาเหตุที่ชายทั้งสองทะเลาะกัน  เจ้าของโคบอกว่า “ข้าพเจ้า ซื้อโคมาจากคนชื่อนี้ จากบ้านโน้น นำมาผูกไว้ที่ลานบ้าน วันนี้ ได้นําไปเลี้ยงกลางทุ่งหญ้า ตั้งแต่เช้า ข้าพเจ้า เผลอหลับ จึงถูกขโมยหนีไป เพราะโจร เห็นข้าพเจ้ากำลังหลับ พอตื่นขึ้นมา ไม่เห็นโค จึงออกตามหา จนมาพบโจรคนนี้ กำลังจูงโคข้าพเจ้าไป จึงจับไว้ ชาวบ้านรู้ดีว่า ข้าพเจ้าซื้อโคนี้มา” ส่วนโจร ก็แย้งว่า “โคตัวนี้ เกิดในบ้านของข้า มันโกหก อย่าไปเชื่อมัน”  

          มโหสถถามคู่กรณีทั้งสองว่า “เราจะตัดสินคดีความของพวกท่าน อย่างยุติธรรม ท่านทั้ง ๒ จะยอมรับในคําตัดสินของเราหรือไม่ ” เมื่อคนทั้งสอง ยืนยันว่า จะยอมรับในคำตัดสิน มโหสถ คิดว่า  ควรให้ประชาชนเป็นพยานในคำตัดสินนั้นด้วย จึงเริ่มไต่สวนโจรก่อนว่า “ท่านเอาอะไรเลี้ยงโคนี้”  โจรตอบว่า “ข้าพเจ้า ให้โคดื่มยาคู ให้กินงา แป้ง และขนมกุมมาส” ต่อจากนั้น จึงไต่สวนเจ้าของโค ทีหลัง เจ้าของโค ตอบว่า “ข้าพเจ้า เป็นคนจน จึงไม่มีข้าวยาคูเลี้ยงโค ข้าพเจ้าเลี้ยงโคด้วยหญ้า อย่างเดียวเท่านั้น”

เมื่อไต่สวนคู่กรณีทั้ง ๒ เสร็จ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มโหสถ ให้คนนําถาดใส่ใบประยงค์มาตําในครก  ขยําด้วยน้ำ ให้โคดื่ม โคก็สํารอกหญ้าออกมา มโหสถ นําหลักฐานออกไปแสดงให้ประชาชนดู แล้วถามโจรว่า “เจ้าเป็นโจร ใช่หรือไม่” เมื่อโจรจำนนต่อหลักฐาน จึงยอมรับสารภาพ ฝูงชนเห็นเช่นนั้น  รุมประชาทัณฑ์ทุบตีโจรนั้น จนบอบช้ำ

มโหสถ ขอร้องให้ประชาชน หยุดทุบตีโจร และสอนโจรขโมยโคว่า “ในชาตินี้ เจ้าต้องประสบทุกข์ถึงขนาดนี้ เพราะเป็นโจร แต่ชาติหน้า จะประสบทุกข์ในนรก มากกว่านี้ ตั้งแต่นี้ไป จงเลิก เป็นโจรเสีย” แล้วให้โจรรับศีล ๕

อํามาตย์ส่งข่าวไปกราบทูลเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ให้พระราชาทรงทราบ พระราชาตรัสถาม    เสนกบัณฑิตว่า ควรนําบัณฑิตนั้น มาได้หรือยัง เสนกะกราบทูลว่า “การตัดสินคดีความเรื่องโค เป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ ก็วินิจฉัยได้ คนไม่ได้เป็นบัณฑิต เพียงเพราะเรื่องเล็กน้อยแค่นี้  ขอให้ทรงรอไปก่อน” พระราชา ทรงวางพระองค์เป็นกลาง ทรงส่งข่าวให้อำมาตย์คอยดูอยู่ต่อไปอีก

คดีความโจรขโมยเครื่องประดับ

ยังมีหญิงยากจนคนหนึ่ง แก้เครื่องประดับลูกปัด ที่ถักด้วยด้ายหลากสี ออกจากคอ วางไว้บนผ้านุ่งห่ม แล้วลงอาบน้ำในสระโบกขรณีที่มโหสถให้ขุดไว้ ขณะนั้น มีหญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งเดินผ่านมา เห็นเครื่องประดับ  เกิดอยากได้เป็นของตน จึงทําทีเป็นแกล้งหยิบขึ้นมาดู พร้อมทั้งเอ่ยปากชมว่า งาม เหลือเกิน ตนเอง ก็คิดอยากจะทำเครื่องประดับแบบนี้ใส่ บ้างเหมือนกัน ทําเป็นสอบถามราคา เหมือน จะซื้อ ทดลองสวมที่คอของตน เหมือนกะขนาด เพราะความที่หญิงเจ้าของเป็นคนซื่อ  จึงกล่าวว่า  “ทดลองใส่ดูก่อนก็ได้” พอเจ้าของเผลอ หญิงสาววัยรุ่นจึงสวมเครื่องประดับแล้วเดินหนีไป

หญิงเจ้าของเห็นเช่นนั้น จึงรีบขึ้นจากสระน้ำ ผลัดเสื้อผ้าแล้ว วิ่งตามไป ตะโกนถามว่า “เธอ จะเอาเครื่องประดับของฉันไปไหน” หญิงขโมย โต้ตอบว่า “ฉันไม่ได้เอาเครื่องประดับของเธอมา เครื่องประดับที่คอ เป็นของฉัน” หญิงทั้งสอง ต่างโต้เถียง ยื้อแย่งเครื่องประดับว่าเป็นของตน  ฝูงชน ชุมนุมมุงดูหญิงทั้งสองทะเลาะกัน

ขณะนั้น มโหสถ เล่นอยู่กับเพื่อน ๆ ได้ยินเสียงหญิงสองคนทะเลาะกัน ดังมาถึงหน้าประตูศาลา  ถามดู ก็รู้ว่า คนทะเลาะแย่งเครื่องประดับกัน จึงให้เรียกเข้ามา เห็นท่าทาง ก็รู้ว่า ใครเป็นเจ้าของ  ใครเป็นขโมย จึงถามทั้งสองคนว่า จะยอมรับให้ตนเป็นคนตัดสินหรือไม่ เมื่อหญิงทั้งสองยอมรับ จึงเริ่มทำการไต่สวนว่า “เธอย้อมเครื่องประดับนี้ ด้วยของหอมชนิดไหน” หญิงขโมย ตอบว่า  ย้อมด้วยของหอมทุกอย่าง ส่วนหญิงเจ้าของ ตอบว่า “ดิฉันเป็นคนจน จึงไม่สามารถหาของหอมทุกอย่างมาย้อมได้ ดิฉันย้อมเครื่องประดับ ด้วยน้ำหอมที่ทำจากดอกประยงค์ เป็นประจำ”

มโหสถ ให้บริวารจดคําให้การของหญิงคู่กรณีทั้งสองเอาไว้ แล้วให้นําภาชนะใส่น้ำ มาแช่เครื่องประดับ จากนั้น ให้เรียกคนรู้จักกลิ่น มาดมพิสูจน์หลักฐาน เพื่อจะได้เป็นพยานยืนยันความบริสุทธิ์ คนรู้จักกลิ่น ดม ก็รู้ว่า เครื่องประดับมีกลิ่นน้ำหอมทำจากดอกประยงค์อย่างเดียว  

มโหสถ จึงบอกให้ประชาชนทราบ ถึงผลการพิสูจน์ แล้วให้หญิงวัยรุ่นที่เป็นขโมยจำนนต่อหลักฐาน ยอมรับสารภาพ และให้นําเครื่องประดับ คืนเจ้าของ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ความที่มโหสถ เป็นบัณฑิต ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชน

คดีความโจรขโมยม้วนด้าย

ยังมีหญิงเจ้าของไร่ฝ้ายคนหนึ่ง เมื่อดอกฝ้ายแก่แล้ว ได้เก็บฝ้ายที่ไร่ มาปั่นเป็นด้าย  แล้วเอาเมล็ดมะพลับมาเป็นแกน พันให้เป็นม้วน เก็บไว้ในพก ขณะเดินกลับบ้าน ได้แวะอาบน้ำที่สระโบกขรณีของมโหสถ ได้วางม้วนด้ายไว้ บนผ้านุ่ง แล้วลงอาบน้ำ

ขณะนั้น มีหญิงคนหนึ่ง เดินผ่านมา เห็นม้วนด้าย วางอยู่ เกิดโลภอยากได้ ตบมือฉาดหนึ่ง  พูดชมว่า “โอ้โฮ! ม้วนด้ายนี้ สวยจริง เส้นเล็ก ละเอียดดี เธอทําเองหรือ” ทําทีเหมือนเหล่ตามองดู แต่มือฉวยหยิบด้าย ซ่อนในพกผ้า เดินหนีไป หญิงเจ้าของ เห็นเช่นนั้น จึงรีบขึ้นจากน้ำ ผลัดผ้า  วิ่งตามไป ดึงผ้าไว้ ถามว่า “แกเอาม้วนด้ายข้ามาทําไม” หญิงขโมย เถียงว่า “เอ แม่นี่ ขี้ตู่จริง  ม้วนด้ายแกเมื่อไร ของแก ก็ต้องอยู่กับแก นี่มันด้ายข้าต่างหาก”

หญิงทั้งสอง เกิดโต้เถียงกันขึ้น อย่างรุนแรง จนมาถึงประตูศาลาที่มโหสถเล่นอยู่ เมื่อมโหสถจะวินิจฉัยคดีความ ได้ถามหญิงขโมยก่อนว่า ได้ใช้อะไร เป็นแกนพันด้าย หญิงขโมยตอบว่า “เอาเมล็ดฝ้าย เป็นแกน” ส่วนหญิงเจ้าของ ตอบว่า  “เอาเมล็ดมะพลับ เป็นแกน” มโหสถบัณฑิต ให้บริวารบันทึกคำให้การของหญิงคู่กรณีทั้งสองไว้ แล้ว ให้คลี่ม้วนด้ายออก เห็นเมล็ดมะพลับ จึงให้หญิงขโมย จำนนต่อหลักฐาน ยอมรับสารภาพ แล้วให้คืนม้วนด้าย แก่เจ้าของ ฝูงชน ต่างร่าเริง กล่าวชื่นชมมโหสถว่า วินิจฉัยคดี ได้อย่างยุติธรรม

คดีความแย่งลูก

อยู่มาวันหนึ่ง หญิงคนหนึ่ง พาลูกไปอาบน้ำที่สระโบกขรณีที่มโหสถขุดไว้ เมื่ออาบน้ำให้ลูกเสร็จ แล้ว จึงนําลูก ขึ้นไปนอนไว้บนผ้านุ่งของตนริมฝั่ง ส่วนตนเอง กลับลงไปล้างหน้า ขณะนั้น นางยักษ์ตนหนึ่ง เห็นเด็กนั้น อยากจับกิน จึงจําแลงกายเป็นหญิงมา แสร้งถามว่า “เด็กคนนี้ เป็นลูกเธอหรือ ช่างน่ารักจัง” หญิงผู้เป็นแม่ ตอบว่า “จ๊ะ ลูกฉันเอง” นางยักษ์ ขออุ้ม ทําทีแสดงท่าทางให้เด็กดื่มนม  เมื่อหญิงมารดาทารก อนุญาตแล้ว จึงอุ้มเด็กนั้น ทําทีเป็นหยอกล้อเล่นหัวครู่หนึ่ง แล้วอุ้มหนีไป   

หญิงผู้เป็นมารดา เห็นเช่นนั้น จึงรีบขึ้นจากสระ วิ่งตามไป ตะโกนว่า “แกจะเอาลูกฉันไปไหน” หญิงขโมย กล่าวว่า “หน้าด้าน ลูกแกที่ไหน นี่มันลูกข้าต่างหาก” หญิงทั้งสอง โต้เถียงยื้อแย่งเด็ก  เดินไปจนถึงประตูศาลา

มโหสถ ได้ยินเสียงคนทั้งสองทะเลาะกัน จึงให้เรียกเข้ามาถาม เมื่อมโหสถเห็น ก็รู้ได้ทันทีว่า  หญิงคนนี้ เป็นนางยักษ์จําแลงกายมา อย่างแน่นอน เพราะไม่กระพริบตา นัยน์ตาแดง และไม่มีเงา  แม้จะรู้ แต่ก็ถามว่า จะยอมรับในการตัดสินหรือไม่ เมื่อได้รับคําตอบจากหญิงทั้งสองว่า  ยอมรับ  จึงขีดเส้นบนแผ่นดิน แล้วให้นําเด็กนอนตรงกลางระหว่างเส้น ให้หญิงยักษ์แปลง จับมือเด็ก ส่วนผู้เป็นแม่ จับเท้า แล้วกล่าวว่า “ขอให้แย่งกัน ใครดึงได้ เด็กเป็นลูกของคนนั้น” หญิงทั้งสอง ก็ฉุดคร่า แย่งเด็ก มาเป็นของตน เด็กถูกดึง เจ็บปวด เหมือนร่างจะฉีกออกจากกัน จึงร้องไห้ดังลั่น ผู้เป็นแม่ได้ยินเสียงลูกร้อง รู้สึกเหมือนหัวใจจะแหลกสลาย จึงปล่อยลูกทันที ยืนเอามือกุมหน้าร้องไห้ สะอึกสะอื้น ด้วยความเสียใจว่า แย่งลูกคืนมาไม่ได้

เมื่อจะทำการวินิจฉัยคดีความ มโหสถ ได้ถามฝูงชนที่ยืนมุงดูว่า “ตามปกติ สำหรับลูกแล้ว  จิตใจของผู้เป็นแม่ อ่อนโยน หรือแข็งกระด้าง” ฝูงชน ตอบว่า “ใจของผู้เป็นแม่ อ่อนโยน” มโหสถ ถามฝูงชนต่อไปอีกว่า “บัดนี้ พวกท่านเห็นเป็นอย่างไร หญิงผู้ฉุดเด็กได้ เป็นแม่ หรือว่า หญิงผู้เสียสละยอมปล่อยเด็ก เป็นแม่” ฝูงชน ตอบว่า “หญิงผู้เสียสละยอมปล่อยเด็ก เป็นแม่”  มโหสถถามต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น พวกท่านรู้หรือยังว่า หญิงคนนี้ เป็นขโมย” ฝูงชน ตอบว่า “ยังไม่รู้” มโหสถจึงกล่าวว่า “หญิงคนนี้ เป็นยักษ์ ฉุดคร่าเอาเด็กไปกิน” ฝูงชน ถามว่า “รู้ได้อย่างไรว่า  ผู้หญิงคนนี้ เป็นยักษ์” มโหสถตอบว่า “เพราะนัยน์ตายักษ์แดง ไม่กระพริบ ไม่มีเงา และ  ไร้ความกรุณา”

มโหสถ ถามหญิงนั้นว่า “เธอเป็นใคร” นางยักษ์ตอบว่า “ฉันเป็นยักษ์” มโหสถ ซักต่อไปว่า  “เธอจะเอาเด็ก ไปทําไม” นางยักษ์ตอบว่า “ฉันจะเอาไปกินเป็นอาหาร” มโหสถกล่าวว่า “หยาบช้า จริง ๆ ชาติก่อน ก็ทํากรรม จึงเกิดเป็นยักษ์ มาชาตินี้ ยังจะทํากรรมอีก” ครั้นแล้ว จึงให้นางยักษ์ รักษาศีล ๕ บอกว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป อย่าทำกรรมเช่นนี้อีก แล้วปล่อยตัวไป  

หญิงผู้เป็นมารดา ได้ลูกกลับคืน ก็ดีใจ กล่าวอวยพรให้มโหสถมีอายุยืนนาน แล้วอุ้มลูกกลับไป  

คดีความเมียนอกใจ

ยังมีชายคนหนึ่ง ชื่อ “โคฬกาฬ” เป็นคนเตี้ย ผิวดํา ขยันทํางานมานานถึง ๗ ปี จึงเก็บหอมรอมริบเงินไว้ จนเป็นก้อน ต่อมา ได้แต่งงาน กับนาง “ทีฆตาลา”

อยู่มาวันหนึ่ง นายโคฬกาฬ ต้องการไปเยี่ยมบิดามารดาของตน จึงบอกให้ภรรยาทอดขนม เพื่อนําไปฝากบิดามารดา ครั้นนางอิดออด ห้ามไม่ให้ไป นายโคฬกาฬ ก็รบเร้า สั่งถึง ๓ ครั้ง  นางจึงยอมทอดขนม จัดเสบียงและของฝาก เขาเดินทางไปพร้อมกับภรรยา จนมาถึงแม่น้ำ มีกระแสน้ำ  ไหลเชี่ยว แต่ตื้น ในระหว่างทาง สองสามีภรรยา เป็นคนขี้ขลาด กลัวจมน้ำ ไม่กล้าเดินข้าม จึงได้แต่ยืนมองอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ทำท่าทางกล้า ๆ กลัว ๆ

ขณะนั้น มีชายเข็ญใจคนหนึ่ง ชื่อ “ทีฆปิฏฐิ” เดินเลียบมาตามฝั่งแม่น้ำ ถึงตรงที่สองสามีภรรยายืนอยู่ สองสามีภรรยา ถามว่า “แม่น้ำนี้ ลึกหรือตื้น” นายทีฆปิฎฐิ ดูท่าทาง ก็รู้ว่า สามีภรรยา คู่นี้ เป็นคนขี้ขลาด กลัวจมน้ำ จึงตอบว่า “แม่น้ำนี้ ลึกมาก ปลาร้าย ก็ชุกชุม” สองสามีภรรยา  จึงซักถามว่า “แล้วเธอข้ามไปได้อย่างไรเล่า” ชายคนนั้น ตอบว่า “เราข้าม จนคุ้นเคยแล้ว รู้ว่าตรงไหนข้ามได้ ตรงไหนข้ามไม่ได้ สัตว์ร้ายเหล่านั้น จึงไม่ทําอันตรายเรา” สองสามีภรรยาคู่นั้น  กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอให้นําเราทั้งสองข้ามไปด้วย”   

ชายคนนั้น รับปากว่า จะพาข้าม สองสามีภรรยา จึงแบ่งอาหารให้กิน เมื่อกินอิ่มแล้ว  เขาได้ถามว่า “ท่านจะให้เราพาใครข้ามไปก่อน” นายโคฬกาฬตอบว่า “พาภรรยาเรา ข้ามไปก่อน  ค่อยกลับมา พาเราข้ามไปทีหลัง ชายคนนั้น จึงให้นางทีฆตาลา ขึ้นขี่คอ ถือเสบียงและของฝาก  ทั้งหมด ข้ามแม่น้ำไปก่อน พอเดินไปได้ระยะหนึ่ง ก็ย่อตัวลงไป ทําทีเหมือนน้ำลึก ค่อย ๆ เดินลุยน้ำไป

นายโคฬกาฬ ยืนอยู่ที่ฝั่ง คิดว่า แม่น้ำนี้ ลึกจริง ๆ คนสูงขนาดนั้น ยังลึกถึงคอ ลำพังตน จะข้ามไปได้อย่างไร  

ส่วนนายทีฆปิฏฐิ พานางทีฆตาลา ไปถึงกลางแม่น้ำ ก็พูดเกี้ยวพาราสีว่า “ถ้าเธอไปกับฉัน  ฉันจะเลี้ยงดูเธออย่างดี เธอจะมีเสื้อผ้าอาภรณ์และเครื่องประดับทุกอย่าง มีคนใช้ชายหญิง คอยรับใช้ ไอ้โคฬกาฬเตี้ยนั่น ได้ให้อะไรเธอบ้าง” นางทีฆตาลาฟัง ก็หลงเคลิบเคลิ้ม สิ้นรักสามีตน  มีจิตปฏิพัทธ์ต่อนายทีฆปิฎฐิกลางแม่น้ำนั่นเอง จึงตอบว่า “ถ้าไม่ทอดทิ้งฉัน ฉันก็ยินดีไปกับเธอ” นายทีฆปิฎฐิกล่าวว่า “เธอพูดอะไรอย่างนั้น ฉันจะเลี้ยงดูเธอเอง” คนทั้งสอง ข้ามถึงฝั่ง ก็พูดจาฉอเลาะชื่นชมกันอย่างดูดดื่ม ไม่ใส่ใจนายโคฬกาฬ ซึ่งยืนรออยู่ฝั่งโน้น เพียงแต่กล่าวว่า “เจ้ารออยู่ ตรงนั้นก่อน” ต่างป้อนอาหารกันและกัน ต่อหน้านายโคฬกาฬ ซึ่งยืนมองดูอยู่อีกฝั่ง แล้วจูงมือกันเดินหนีไป

นายโคฬกาฬ เห็นเช่นนั้น ก็รู้ว่า คนทั้งสองรวมหัวกันทิ้งตนหนีไป จึงวิ่งไปวิ่งมาตามฝั่งแม่น้ำ  เดินลงน้ำไปได้หน่อยหนึ่ง  ก็กลับขึ้นมา เพราะความกลัว ครั้นเดินลงน้ำไปอีกหนหนึ่ง ก็กลับขึ้นมาอีก  แต่ด้วยความโกรธอย่างมาก จึงตัดสินใจ กระโดดลงไป ด้วยหมดอาลัยตายอยากในชีวิตว่า จะเป็นหรือตาย ก็ตาม ก็ได้รู้ว่า น้ำตื้น จึงเดินลุยน้ำ ข้ามไป แล้วรีบวิ่งตามไป

          ครั้นตามไปทันคนทั้งสอง นายโคฬกาฬ จึงกล่าวว่า “เฮ้ย! อ้ายโจรร้าย มึงจะพาเมียกู ไปไหน”   นายทีฆปิฏฐิตอบว่า “อ้ายถ่อย ตัวแคระ เตี้ยแล้วยังหน้าด้านอีก เมียมึงเมื่อไร เมียมึงก็ต้องอยู่กับมึง   นี่เมียกู” กล่าวดังนี้แล้ว ก็ผลักหัวนายโคฬกาฬ เซถลาล้มไป นายโคฬกาฬ ลุกขึ้นได้ ก็รีบคว้ามือเมียไว้  กล่าวอ้อนวอนว่า “ทีฆตาลา เธอจะไปไหน ฉันทํางานมานานถึง ๗ ปี จึงได้เธอมาเป็นเมีย อย่าทิ้งฉันไปเลย” คนทั้งสอง ทะเลาะกัน จนผ่านมาถึงที่ใกล้ศาลามโหสถ

ฝูงชนต่างชุมนุมมุงดูคนแย่งเมียกัน มโหสถให้เรียกคนทั้งสองมาสอบถาม ให้คนทั้งสองยืนยันว่า จะยอมรับในคำตัดสินคดีความ เมื่อทั้งสองยืนยันจะยอมรับในคำตัดสิน มโหสถจึงเริ่มไต่สวน ให้เรียกนายทีฆปิฏฐิ มาถามก่อนว่า “ท่านชื่ออะไร” “ข้าพเจ้า ชื่อทีฆปิฏฐิ” ชายผู้แย่งภรรยาเขา ตอบอย่างฉะฉาน“ภรรยาท่าน ชื่ออะไร” นายทีฆปิฏฐิ ไม่ทันรู้จักชื่อ จึงโมเมบอกชื่ออื่นไป ถามต่อว่า “บิดามารดาท่าน ชื่ออะไร” ก็บอกชื่อบิดามารดาของตน “บิดามารดาภรรยา ชื่ออะไร” นายทีฆปิฏฐิยังไม่ทันได้รู้จักก็บอกชื่ออื่น  

มโหสถ ให้บริวารของตน บันทึกคําให้การตามที่นายทีฆปิฏฐิเบิกความไว้ จากนั้นให้นายทีฆปิฏฐิออกไป แล้วเรียกนายโคฬกาฬเข้ามาไต่สวน ถามชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เหมือนที่ถามนายทีฆปิฏฐิ

นายโคฬกาฬ ตอบคำถามตรงตามความจริงของตัวเองทั้งหมด มโหสถ ให้บันทึกคําเบิกความ เอาไว้อย่างละเอียด ให้นํานายโคฬกาฬออกไป แล้วเรียกนางทีฆตาลาเข้ามาไต่สวนว่า “เธอ ชื่ออะไร”  “ฉันชื่อทีฆตาลา” “สามีเธอ ชื่ออะไร” นางทีฆตาลา ยังไม่ทันรู้จักชื่อกัน ก็บอกชื่ออื่น “บิดามารดาเธอ ชื่ออะไร” ก็บอกชื่อบิดามารดาของตน มโหสถ ถามต่อว่า “บิดามารดาสามีของเธอ ชื่ออะไร”  นางทีฆตาลายังไม่รู้จักชื่อพ่อแม่ของนายทีฆปิฏฐิ ก็บอกชื่ออื่น

มโหสถ ให้บันทึกคําเบิกความของนางทีฆตาลาเอาไว้อย่างละเอียด จากนั้น ให้นํานายทีฆปิฏฐิ และนายโคฬกาฬเข้ามา แล้วถามมหาชนว่า “คําพูดของนางทีฆตาลา ตรงกับนายทีฆปิฏฐิ หรือ ตรงกับคําพูดของนายโคฬกาฬ” มหาชน ตอบว่า คําพูดของนางทีฆตาลา กับของนายโคฬกาฬ ตรงกัน

มโหสถ จึงวินิจฉัยคดีนี้ว่า “นายโคฬกาฬ เป็นสามีของนางทีฆตาลา ส่วนนายทีฆปิฏฐิเป็นโจร ขโมยเมียคนอื่น” ให้นายทีฆปิฏฐิ จำนนต่อหลักฐาน ยอมรับสารภาพ นายโคฬกาฬ ได้ภรรยาคืน เพราะการตัดสินคดีความอันเที่ยงธรรม ก็ออกปากชื่นชมในความเป็นบัณฑิตของมโหสถ  แล้วพาภรรยาออกเดินทางต่อไป มโหสถ สอนนายทีฆปิฏฐิว่า “อย่าทํากรรมเช่นนี้ อีกต่อไป”

คดีความรถ

ยังมีชายคนหนึ่ง ขับรถออกจากบ้าน ไปล้างหน้าที่แม่น้ำ ท้าวสักกเทวราช ทรงปรารถนาจะแสดงปัญญานุภาพมโหสถ ผู้เป็นหน่อพุทธางกูร ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง จึงจําแลงกายเป็นมนุษย์ มาจับท้ายรถ เดินตามไป ชายเจ้าของรถ ถามว่า เดินตามมาทําไม ครั้นได้รับคําตอบว่า  ที่เดินตามมา เผื่อมีอะไรให้ตนช่วยเหลือ เขาจึงให้เท้าสักกะแปลง เฝ้ารถให้ แล้วลงจากรถ ไปทําธุระส่วนตัว

ท้าวสักกเทวราช ได้โอกาส จึงขึ้นรถ รีบขับหนีไปอย่างเร็ว ชายเจ้าของรถ ทําธุระส่วนตัวเสร็จ ออกมา เห็นรถถูกขโมยหนีไป ก็รีบวิ่งตามไป ตะโกนว่า “หยุดเดี๋ยวนี้ แกจะขับรถข้าไปไหน” ท้าวสักกะขับรถไป พลางตะโกนตอบว่า “รถแกคันอื่น แต่คันนี้ รถข้า” จึงเกิดการทะเลาะกันขึ้นอย่างรุนแรง จนมาถึงประตูศาลา

มโหสถ ถามว่า เสียงเอะอะโวยวายอะไร ได้รับคำตอบว่า คนทะเลาะกันเรื่องรถ จึงให้เรียกคนทั้งสองมา ครั้นเห็นคนทั้งสอง ก็ทราบชัดว่า ชายผู้นี้ คือ พระอินทร์ เพราะไม่กระพริบตา มีความองอาจ   ปราศจากความเกรงกลัว ส่วนชายผู้นี้ เป็นเจ้าของรถ แม้มโหสถ ทราบเช่นนั้น ก็ไม่ด่วนวินิจฉัย  ได้ถามถึงเหตุแห่งการวิวาทกัน และให้ทั้งสอง ยอมรับในคําตัดสินของตน เมื่อทั้งสอง ยืนยันว่าจะยอมรับในคำตัดสิน จึงเริ่มการไต่สวน ไปตามลำดับ

มโหสถ กล่าวว่า “เราจะให้คนขับรถไป ให้ท่านทั้งสอง จับท้ายรถ แล้ววิ่งตามไป ผู้ที่ไม่ยอมปล่อย จะเป็นเจ้าของรถ” แล้วให้ชายคนหนึ่ง ขึ้นรถ ขับไปขับมา โดยให้คนทั้งสอง จับท้ายรถวิ่งตามไป เจ้าของรถ วิ่งไปได้ครู่หนึ่ง ก็เหน็ดเหนื่อยแทบขาดใจ จึงปล่อยรถ ยืนหอบ หมดอาลัยอยู่

ฝ่ายพระอินทร์ ยังคงวิ่งตามรถกลับไปกลับมา มโหสถ สั่งให้รถวกกลับมาจอด แล้วบอกฝูงชนว่า  “ชายคนนี้ วิ่งไปได้ครู่หนึ่ง ก็ปล่อยรถ แต่อีกคนหนึ่ง ยังวิ่งตาม กลับไปกลับมา ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ แม้เหงื่อเพียงหยดเดียว ก็ไม่มี ไม่มีความสะทกสะท้าน ทั้งไม่กระพริบตา ผู้นี้ คือ พระอินทร์”

มโหสถ ถามว่า “ท่านเป็นพระอินทร์ ใช่หรือไม่” ครั้นได้รับคำตอบว่า ใช่ พระองค์ คือ ท้าวสักกะ จึงถามว่า “พระองค์เสด็จมาที่นี้ ทําไม” ครั้นได้รับคำตอบจากท้าวสักกะว่า เพื่อประกาศปัญญาของเธอ มโหสถ จึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น พระองค์โปรดอย่าได้กระทําอย่างนี้อีกเลย”

พระอินทร์ เหาะขึ้นไปในอากาศ ตรัสชมมโหสถว่า วินิจฉัยคดีได้เที่ยงธรรม แล้วเสด็จกลับยังทิพยสถาน ของพระองค์

คราวนั้น อํามาตย์ที่คอยสังเกต อยู่ในเหตุการณ์ตลอด รู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องที่เกิดขึ้น  จึงไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชด้วยตัวเอง กราบทูลให้ทรงทราบถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า “มโหสถ ตัดสิน คดีความ ได้อย่างเที่ยงตรง แม้พระอินทร์ ก็ยังแพ้ ขอพระองค์ ทรงโปรดทราบว่า เขาเป็นอัจฉริยบุรุษ เหตุใด พระองค์ จึงยังไม่ทรงยอมรับ”

พระราชา ตรัสถามอาจารย์เสนกะว่า “ควรนําบัณฑิตเข้ามาราชสำนัก ได้หรือยัง” เสนกปุโรหิต เป็นคนขี้อิจฉา ตระหนี่ลาภ ได้กราบทูลทัดทานว่า “คนไม่ได้เป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขอพระองค์ โปรดรอไปก่อน เราทดลองเขาไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะรู้เอง” พระเจ้าวิเทหราชทรงประทับนิ่งโดยดุษณีภาพ ไม่ตรัสอะไร

ไขปริศนาจอมราชัน

ปริศนา เรื่อง โคนกับปลายไม้ตะเคียน

วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช ต้องการทดลองปัญญามโหสถ จึงให้นําท่อนไม้ตะเคียน มาตัดให้เหลือเพียง ๑ คืบ ให้ช่างกลึง กลึงให้เท่ากัน แล้วส่งไปยังหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม ซึ่งเป็นหมู่บ้าน  ที่มโหสถอาศัยอยู่ พร้อมรับสั่งให้ชาวบ้านแก้ปัญหาว่า ท่อนไม้ตะเคียนนี้ ส่วนไหนเป็นโคน ส่วนไหน เป็นปลาย ถ้าไม่มีใครรู้ จะถูกปรับสินไหม เป็นเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ

ชาวบ้าน ต่างมาประชุมกัน แต่ก็ไม่มีใครตอบได้ จึงบอกสิริวัฒกเศรษฐีว่า บางที มโหสถน่าจะรู้  เศรษฐีจึงให้ตามบุตรชาย มาจากสนามเด็กเล่น บอกเรื่องราวให้ทราบ แล้วถามว่า “ลูกพ่อ ชาวบ้าน ไม่มีใครรู้ปัญหานี้ ลูกพ่อ พอจะรู้บ้างไหม”

มโหสถ คิดว่า พระราชาไม่ได้ต้องการที่จะทราบโคนหรือปลายของไม้ตะเคียนท่อนนี้ แต่ทรงส่งไม้ตะเคียนท่อนนี้มา ด้วยมีพระประสงค์จะทดลองภูมิปัญญาของตน

มโหสถ รับท่อนไม้ตะเคียนมาเท่านั้น ก็รู้ได้ทันทีว่า ข้างไหนปลาย ข้างไหนโคน แม้รู้เช่นนั้น  ก็ให้นําภาชนะใส่น้ำมา เพื่อจะแสดงปัญญานุภาพของตน และสอนชาวบ้าน ให้รู้วิธีคิดคํานวณหาโคนและปลายไม้ มโหสถ วัดกึ่งกลาง ระหว่างท่อนตะเคียน แล้วเอาด้าย ผูกตรงกลางท่อน  จับปลายด้าย ยกไว้ วางท่อนตะเคียนในน้ำ พอวางเท่านั้น ส่วนโคน ก็จมลงก่อน เพราะด้านโคนหนักกว่า

มโหสถ ถามชาวบ้านว่า “ต้นไม้ทั่วไป โคนหนัก หรือปลายหนัก” ชาวบ้าน ตอบว่า “โคนหนัก” จึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ส่วนที่จมลงก่อน ก็เป็นโคน” แล้วทําเครื่องหมายเป็นสัญลักษณ์ ไว้ ส่งไปทูลพระราชาว่า ข้างนี้ปลาย ข้างนี้โคน พระเจ้าวิเทหราช ทรงยินดี ตรัสถามว่า ใครเป็นผู้คิดหาวิธีคํานวณไม้ท่อนนี้ จึงรู้ได้ ก็ได้ทราบว่า มโหสถเป็นผู้คิดวิธีคำนวณ จึงตรัสถามเสนกปุโรหิตว่า ควรนํามโหสถ มาได้หรือยัง แม้เสนกะ ก็ยังยืนยันว่า ให้รอไว้ก่อน ยังไม่ควรนําเข้าสู่พระราชวังในเวลานี้

ปริศนา เรื่อง กะโหลกหญิงหรือชาย

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช ให้นํากะโหลกหญิงและชายมา ส่งไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม คิดหาวิธีพิสูจน์ว่า กะโหลกไหนเป็นหญิง และกะโหลกไหนเป็นชาย ถ้าไม่รู้จะถูกปรับสินไหม ๑,๐๐๐ กหาปณะ ชาวบ้านไม่รู้ จึงถามมโหสถ พอมโหสถ เห็นกะโหลกเท่านั้น ก็รู้ว่า  ศีรษะไหนเป็นหญิง ศีรษะไหนเป็นชาย  เพราะผู้ชาย มีรอยหยักกะโหลกตรง ส่วนผู้หญิง มีรอยหยักกะโหลกโค้งไปโค้งมา ไม่ตรง เหมือนกับรอยหยักกะโหลกผู้ชาย ชาวบ้านได้ส่งข่าวไปกราบทูลพระราชา  พระองค์ ประสงค์ที่จะนํามโหสถเข้าสู่พระนคร แต่เสนกะ ก็ยังทูลทัดทานเหมือนเดิม

ปริศนา เรื่อง งูตัวผู้หรือตัวเมีย

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช ให้นํางูตัวผู้ และงูตัวเมียมา ส่งไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม  คิดหาวิธีพิสูจน์ว่า งูตัวไหน เป็นงูตัวผู้ งูตัวไหน เป็นงูตัวเมีย เมื่อไม่มีใครรู้ จะปรับสินไหม ๑,๐๐๐  กหาปณะ เมื่อชาวบ้านไม่รู้ จึงถามมโหสถ พอมโหสถบัณฑิต เห็นเท่านั้น ก็รู้ได้ทันที เพราะงูตัวผู้มีหางใหญ่ งูตัวเมียมีหางเรียวเล็ก หัวงูตัวผู้ใหญ่ หัวงูตัวเมียเรียวเล็ก นัยน์ตางูตัวผู้ใหญ่ นัยน์ตางูตัวเมียเล็ก ลายงูตัวผู้ติดกัน ส่วนลายงูตัวเมียไม่ติดกัน ชาวบ้านส่งข่าวไปกราบทูลพระราชา พระองค์ทรงยินดี  มีความประสงค์ จะนำมโหสถเข้าสู่พระราชวัง แม้เช่นนี้ เสนกะ ก็ยังทูลทัดทานไว้เหมือนเดิม

ปริศนา เรื่อง โคขาวมีเขาที่เท้า

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช ให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ส่งโคตัวผู้ ที่มีลักษณะมงคลมาถวาย โคนั้น ขาวทั้งตัว มีเขาที่เท้า มีโหนกที่หัว วันหนึ่ง ร้อง ๓ เวลา ถ้าส่งมาไม่ได้ จะปรับสินไหม  เป็นเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ เมื่อชาวบ้านไม่รู้ จึงถามมโหสถ

มโหสถ กล่าวว่า พระราชา ให้ส่งไก่ขาวทั้งตัว ไปถวายนั่นเอง ไก่มีเขาที่เท้า เพราะมีเดือยที่เท้า  มีโหนกที่หัว เพราะมีหงอนที่หัว ที่ว่าวันหนึ่ง ร้อง ๓ เวลา เพราะวันหนึ่ง ขัน ๓ ครั้ง ฉะนั้น ให้ส่งไก่มีลักษณะอย่างนี้ ไปถวายพระราชา ชาวบ้านเหล่านั้น ก็ส่งไปถวายพระราชา พระราชาทรงยินดี  มีความประสงค์ จะนำมโหสถเข้าสู่พระราชวัง เสนกะ ก็ทูลทัดทานเอาไว้

ปริศนา เรื่อง ด้ายร้อยแก้วมณี

 พระเจ้าวิเทหราช มีแก้วมณี ที่ท้าวสักกเทวราชประทานแก่พระเจ้ากุสราช เป็นของสําคัญมาก  แก้วมณีนั้น มี ๘ เหลี่ยม ด้ายร้อยแก้วมณีเก่า ขาด ไม่มีใครดึงเอาด้ายเก่าออก แล้วร้อยด้ายใหม่ได้

พระเจ้าวิเทหราช จึงส่งไปให้ชาวบ้านในหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคามนั้น เอาด้ายเก่าออก แล้วร้อยด้ายใหม่แทน ถ้าร้อยไม่ได้ จะปรับสินไหมเป็นเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ พวกชาวบ้านหมดปัญญา  ไม่สามารถดึงเอาด้ายเก่าออก แล้วร้อยด้ายใหม่ เข้าแทนได้ จึงแจ้งแก่มโหสถ

มโหสถ บอกชาวบ้านว่า “อย่าวิตกไปเลย” แล้วให้เอาน้ำผึ้ง มาทารูแก้วมณีทั้งสองข้าง  ให้ฟั่นขนสัตว์ เป็นด้าย แล้วเอาน้ำผึ้ง ทาปลายด้ายนั้น ร้อยปลายด้ายเข้าไปในรูแก้วมณีนิดหนึ่ง วางไว้ ในที่มดแดงจะออกหากิน มดแดง ได้กลิ่นน้ำผึ้ง จึงพากันออกมา รุมกินด้ายเก่าในแก้วมณี แล้วพยายามแทะเล็มกินน้ำผึ้ง ที่ด้ายใหม่ จึงคาบปลายด้ายขนสัตว์อันใหม่ ที่สอดไว้ ลากออกมาอีกข้างหนึ่ง

มโหสถ รู้ว่า ด้ายนั้นเข้าไปแล้ว จึงให้ชาวบ้าน นําไปถวายพระราชา พระราชา ทรงสดับอุบายวิธีที่มโหสถร้อยด้ายนั้น ก็ทรงยินดี  

ปริศนา เรื่อง โคตัวผู้ตกลูก

วันหนึ่ง พระราชา รับสั่งข้าราชบริพาร ให้เอาขนมกุมมาสให้โคตัวผู้กินเป็นจํานวนมาก  จนท้องโต ให้ล้างเขาทั้งสองข้างให้สะอาด แล้วทาด้วยน้ำมัน เอาน้ำขมิ้นทาตามตัว ส่งไปยังหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคามนั้น ด้วยพระดํารัสว่า “ทราบมาว่า หมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม เป็นหมู่บ้านบัณฑิต  โคตัวผู้มงคลของพระราชามีลูก ขอให้ชาวบ้าน ช่วยกันทําให้โคตัวผู้นี้ตกลูก แล้วส่งกลับไปคืนพระราชา พร้อมทั้งลูกโค เมื่อไม่ส่ง จะปรับสินไหมเป็นเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ”

ชาวบ้าน ต่างประชุมปรึกษากัน เพื่อหาวิธี แต่ก็ไม่สามารถทําให้โคตัวผู้ตกลูกได้ จึงถามมโหสถ  มโหสถ คิดว่า เรื่องนี้ จำเป็นต้องย้อนปัญหา จึงถามว่า “มีใคร ที่แกล้วกล้า สามารถทูลตอบโต้กับพระราชาได้หรือไม่” ชาวบ้านคนหนึ่ง เสนอตัวทำหน้าที่

มโหสถ บอกให้ชาวบ้านคนนั้น ไปสยายผม แล้วร้องไห้โอดครวญโดยประการต่าง ๆ ที่ประตูพระราชวัง ใครถาม ก็อย่าตอบ แต่ให้ร้องไห้โอดครวญเรื่อยไป รอจนกว่าพระราชาจะตรัสเรียกมาถาม   ถึงสาเหตุที่ร้องไห้ จากนั้น จึงกราบทูลอย่างนี้ว่า “ข้าแต่สมมติเทพ บิดาของข้าพระองค์คลอดบุตร  ไม่ได้ วันนี้ครบ ๗ วันแล้ว ขอจงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ด้วยเถิด โปรดทรงหาวิธีที่จะให้บิดาข้าพระองค์ คลอดลูกด้วยเถิด”

พระราชา ตรัสว่า “เจ้าพูดบ้าอะไรของเจ้า ผู้ชายที่ไหน จะคลอดลูกได้” ให้กราบทูลว่า  “ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าอย่างนี้ มีไม่ได้ แล้วชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จะทําให้โคมงคลของพระองค์ ตกลูกได้อย่างไร” ชายคนนั้นรับว่า ทําได้ จึงได้ไปทำตามที่มโหสถบอก โดยที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ  เมื่อพระราชา ตรัสถามถึงผู้ที่เป็นเจ้าของความคิดนี้ ทราบว่า มโหสถเป็นผู้คิด ก็โปรดปรานยิ่งขึ้น

ปริศนา เรื่อง หุงข้าวให้มีรสเปรี้ยว

อีกวันหนึ่ง พระราชา ทรงดําริว่า จะทดลองปัญญามโหสถ จึงให้ส่งข่าวไปว่าชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามเป็นบัณฑิต ขอให้หุงข้าวเปรี้ยวมาถวาย ข้าวเปรี้ยวนั้น ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ  ๘ อย่าง คือ ๑) ไม่ให้หุงด้วยข้าวสารทั่วไป ๒) ไม่ให้หุงด้วยน้ำทั่วไป ๓) ไม่ให้หุงด้วยหม้อข้าว  ๔) ไม่ให้หุงด้วยเตาหุงข้าว ๕) ไม่ให้หุงด้วยไฟทั่วไป ๖) ไม่ให้หุงด้วยฟืน ๗) ไม่ให้หญิงหรือชายยกมา  ๘) ไม่ให้นํามาส่งโดยหนทาง  

หากชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามส่งมาไม่ได้ จะถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ  ชาวบ้าน ได้แจ้งแก่มโหสถ  

มโหสถ บอกให้ชาวบ้านหุงด้วยข้าวแหลก ไม่ใช่ข้าวสาร ให้หุงด้วยน้ำค้าง ไม่ใช่น้ำปกติ  ให้หุงด้วยภาชนะดินใหม่ ไม่ใช่หม้อข้าว ให้ตอกตอไม้สําหรับตั้งภาชนะดินใหม่หุง ไม่ใช่หุงด้วยเตา  ให้หุงด้วยไฟที่นําไม้มาสีกันจนเกิดไฟ ไม่ใช่ไฟที่ก่อตามปกติ ให้หุงด้วยใบไม้ ไม่ใช่หุงด้วยฟืน ชื่อว่า  หุงข้าวเปรี้ยว แล้วบรรจุในภาชนะใหม่ ผูกด้วยด้ายแล้วประทับตรา อย่าให้หญิงหรือชายยกไป ให้กะเทยยกไป  อย่าเดินไปตามหนทางหลัก ให้เดินลัดเลาะไปตามทางน้อยและทางใหญ่สลับกัน อันชื่อว่า ไม่ได้ส่งมา ตามหนทาง แล้วส่งไปถวายพระราชา

พระราชา ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ทรงทราบว่า มโหสถคิด ก็โปรดปรานยิ่งขึ้น

ปริศนา เรื่อง เชือกทรายห้อยชิงช้า

อีกวันหนึ่ง พระราชา ประสงค์จะทดลองปัญญามโหสถ จึงส่งข่าวไปบอกชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามว่า พระราชา มีพระประสงค์จะทรงเล่นชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย เชือกทรายเก่าในราชสกุล ขาดเสียแล้ว ให้ชาวบ้านฟั่นเชือกทรายหนึ่งเส้น ส่งมาถวาย ถ้าส่งมาถวายไม่ได้ จะถูกปรับ สินไหมเป็นเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ ชาวบ้าน จึงแจ้งแก่มโหสถ

มโหสถ คิดว่า เรื่องนี้ ต้องย้อนปัญหา จึงเรียกคนฉลาดเจรจา มาสองสามคน แนะนําให้ไปทูล พระราชาว่า “ชาวบ้าน ไม่ทราบขนาดเชือกนั้นว่า เล็กใหญ่เท่าไร ขอได้โปรดส่งเชือกทรายเส้นเก่าประมาณสักหนึ่งคืบ ไปเป็นตัวอย่าง ชาวบ้าน เห็นเชือกทรายเก่าแล้ว จะได้ฟั่นได้ตรงตามขนาดที่ต้องการ ถ้าพระราชา รับสั่งว่า เชือกทรายเก่าในพระราชฐานไม่มี ท่านทั้งหลาย จงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช ถ้าเชือกทรายเก่าตัวอย่างไม่มี แล้วชาวบ้านจะทําเชือกทรายเส้นใหม่ได้อย่างไร” ชาวบ้าน ได้ทําตามที่มโหสถแนะนํา พระราชา ตรัสถามถึงผู้ที่คิดย้อนปัญหานี้ ทรงทราบว่า มโหสถคิด ก็ทรงยินดี   

ปริศนา เรื่อง ส่งสระน้ำไปถวายพระราชา

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช ต้องการทดลองปัญญามโหสถอีก จึงให้ส่งข่าวไปบอกชาวบ้าน ว่า พระราชา มีพระประสงค์จะทรงเล่นน้ำ ให้ชาวบ้านส่งสระโบกขรณี ที่เต็มไปด้วยบัวหลากสีไปถวาย  ถ้าชาวบ้านไม่ส่ง จะถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ ชาวบ้าน จึงแจ้งให้มโหสถทราบ  

มโหสถ คิดว่า เรื่องนี้ ต้องย้อนปัญหา จึงสั่งให้เรียกคนฉลาดเจรจา มาสองสามคน แนะนําให้พูด แล้วส่งไปทูลว่า ท่านทั้งหลาย จงเล่นน้ำจนตาแดง ทั้งผมทั้งเสื้อผ้าเปียกปอน ตัวเปื้อนโคลน  ถือเชือก ก้อนดิน และท่อนไม้ ไปประตูพระราชนิเวศน์ ให้กราบทูลว่า พวกท่านมายืนคอยเฝ้าพระราชา เมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าแล้ว จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงส่งข่าวไปให้ชาวบ้าน ส่งสระโบกขรณีมาถวาย แต่เมื่อพวกข้าพระองค์นํามา สระโบกขรณีนั้น เห็นพระนครมีกําแพง  คูค่าย ป้อมปราการ ประตู หอรบ ก็กลัว ตื่นตกใจ ดิ้นรน ตัดเชือกหนีเข้าป่าไป เพราะเคยอยู่ในป่า  แม้พวกข้าพระองค์ จะบังคับโบยตีด้วยก้อนดินและท่อนไม้อย่างไร ก็ไม่สามารถนํากลับมาได้  ขอพระองค์โปรดพระราชทานสระโบกขรณีเก่าของพระองค์ที่นำมาจากป่า พวกข้าพระองค์จะนําไป หลอกล่อ แล้วผูกติดกับสระโบกขรณีใหม่ นํามาถวาย

เมื่อพระราชา รับสั่งว่า “พวกเจ้าเอาอะไรมาพูด ไม่เป็นเรื่องเป็นราว เราไม่เคยนําสระโบกขรณี มาจากป่า” จึงทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าไม่ได้อย่างนี้แล้ว ชาวบ้านจะส่งสระโบกขรณี มาถวายได้อย่างไร” ชาวบ้านที่รับคําแนะนําของมโหสถ ได้ไปทําตามทุกประการ  พระราชา ทรงทราบว่า มโหสถแก้ปัญหานี้ ก็ทรงยินดี

ปริศนา เรื่อง ส่งอุทยานไปถวายพระราชา

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาโปรดให้ส่งข่าวไปอีกว่า พระองค์ประสงค์จะทรงประพาส  พระราชอุทยาน แต่พระราชอุทยานเก่าของพระองค์นั้น ต้นไม้หักโค่น เสียหายหมด ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ให้ส่งอุทยานใหม่ เต็มไปด้วยต้นไม้ออกดอกผลิบานสะพรั่งงดงามมาถวาย ถ้าไม่ส่งเข้ามาตามพระราชประสงค์ จะถูกปรับสินไหมเป็นเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ พวกชาวบ้าน ได้นําความ  แจ้งให้มโหสถทราบ

มโหสถคิดว่า เรื่องนี้ ต้องย้อนปัญหา จึงเรียกคนทั้งหลาย มาสั่ง เหมือนเรื่องส่งสระโบกขรณีไปถวาย คนเหล่านั้น ก็ไปทําตามสั่ง พระราชา ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสถามความเห็นเสนกะว่า ควรนํามโหสถบัณฑิต มาได้หรือยัง เพราะเสนกะหวงลาภ จิตใจคับแคบ จึงทูลทัดทานเหมือนเดิม

พระเจ้าวิเทหราช ทรงดําริว่า มโหสถ สามารถแก้ปัญหาอย่างธรรมดาได้ถึง ๗ ข้อ แก้ปัญหาที่ลึกซึ้งซึ่งผูกขึ้นมาทดลองมโหสถโดยเฉพาะ และยังย้อนปัญหาเช่นนี้ได้ เป็นเหมือนการแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้า แต่อาจารย์เสนกะ ก็ยังไม่ยอมให้นําบัณฑิตเช่นนี้มาพระราชนิเวศน์ ช่างเถอะ  อย่าสนใจคําคัดค้านของอาจารย์เสนกะนักเลย เราจะไปนํามโหสถมาด้วยตัวเอง  

พระเจ้าวิเทหราช ได้เสด็จไปยังหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยขบวนเสด็จอย่างยิ่งใหญ่ อลังการ แต่ในระหว่างทางที่พระองค์ทรงม้ามงคลเสด็จไปนั้น กีบเท้าของม้าก็แตก เพราะกระทบพื้นดินที่แตกระแหง และเส้นทางที่ทุรกันดารมาก พระราชาจึงเสด็จกลับเข้าพระนคร

อาจารย์เสนกะ เข้าเฝ้า ทูลถามถึงการเสด็จไปหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม ครั้นได้ฟังพระกระแสรับสั่งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้ที กราบทูลว่า “พระองค์ ทึกทักเอาว่า ข้าพระองค์ ขัดขวางความเจริญ ขอพระองค์ทรงพิจารณาเองเถิดว่า ทําไมข้าพระองค์ จึงทัดทานให้ทรงรอไว้ก่อน  แต่ก็ยังทรงม้ามงคล รีบด่วนเสด็จออกไป เดชะบุญที่กีบม้าแตกไปเสียก่อน ไม่เช่นนั้น ไม่ทราบว่า จะเกิดเหตุร้ายแรงอะไรขึ้น”

พระเจ้าวิเทหราช ได้สดับคําของเสนกะ ก็ทรงนิ่งเงียบ ยอมรับโดยดุษณีภาพ

วันรุ่งขึ้น พระเจ้าวิเทหราช ไม่อาจทนอยู่ได้ จึงปรึกษาเสนกะอีกว่า จะนํามโหสถเข้ามายังพระราชวัง เสนกปุโรหิต กราบทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น พระองค์อย่าเสด็จไปเอง จงส่งทูตไปบอกมโหสถว่า พระองค์ เสด็จไปหามโหสถแล้ว แต่กีบม้าพระที่นั่งแตกระหว่างทาง จึงเสด็จกลับ ขอมโหสถ จงส่งม้าอัสดร หรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญทั่วไปมา ถ้าเธอจะส่งม้าอัสดรมา  เธอจงมาด้วยตัวเอง แต่เมื่อจะส่งม้าตัวประเสริฐมา จงส่งบิดาของเธอมาด้วย” พราหมณ์เสนกะ  คิดว่า ปัญหานี้ จะทําให้มโหสถ เข้าตาจน

            ๓ ม้าอัสดร เป็นม้าที่ประเสริฐกว่าม้าสามัญทั่วไป เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อลากับแม่ม้า

พระเจ้าวิเทหราช ทรงเห็นด้วย จึงส่งราชทูตไปแจ้งตามนั้น มโหสถ ได้ฟังคําราชทูต คิดว่า  พระราชา ทรงมีพระราชประสงค์จะพบเราและบิดา เมื่อราชทูตกลับไปแล้ว จึงบอกบิดาว่า “พ่อ พระราชา ทรงมีพระราชประสงค์จะพบพ่อและลูก ขอให้พ่อพร้อมด้วยเศรษฐีคนอื่น ๆ ไปเฝ้าพระราชาก่อน แต่อย่าไปมือเปล่า ให้นําผอบไม้จันทน์บรรจุเนยใสให้เต็ม นําไปถวายด้วย พระราชาจะตรัสปฏิสันถารกับพ่อ และจะรับสั่งให้นั่งที่นั่งอันสมควร ให้พ่อพิจารณาที่นั่งที่สมควร  เมื่อพ่อนั่งแล้ว ลูกจะตามเข้าไป พระราชา จะตรัสทักทายลูก แล้วรับสั่งให้นั่งที่สมควรเช่นกัน  จากนั้น ลูกจะมองดูพ่อ ขอให้พ่อ ลุกจากที่นั่ง แล้วบอกว่า มโหสถลูกพ่อ ลูกมานั่งที่นี่  ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง ที่หมู่บ้านของพวกเรา จะจบลงวันนี้” แล้วกําชับพ่อให้จําสิ่งที่นัดแนะกันไว้  

บิดามโหสถ ทําตามนั้น ได้ออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อน ให้กราบทูลพระราชาว่า มีคนมายืนรอเข้าเฝ้า ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงเข้าเฝ้า ถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่  

พระเจ้าวิเทหราช ทรงทักทายปราศรัย แล้วตรัสถามว่า “คหบดี มโหสถบุตรของท่าน ไม่มาด้วยหรือ?” เศรษฐีกราบทูลว่า มโหสถ กําลังตามมา พระราชา ทรงทราบ ก็ดีพระทัย แล้วรับสั่งให้เศรษฐีเลือกที่นั่งตามสมควร

บัณฑิตน้อยถวายตัว

ฝ่ายมโหสถ แต่งตัวเสร็จแล้ว มีเพื่อนเด็กบริวารห้อมล้อม นั่งรถที่ประดับอย่างหรูหราไป ขณะกำลังเข้าสู่พระนคร ได้เห็นลาตัวหนึ่ง เดินแทะเล็มกินหญ้าอยู่ที่คูค่ายใกล้กําแพงพระนคร จึงสั่งให้  เพื่อนเด็กไปจับลามา ผูกปากไว้ ป้องกันไม่ให้ร้อง ห่อด้วยเสื่อลําแพน ให้นอนบนไม้กระดาน ช่วยกันหามมา แล้วเข้าสู่พระราชวัง พร้อมเด็กบริวาร

ขณะเข้าสู่พระนคร มีประชาชนมามุงดูบัณฑิตน้อย อย่างเนืองแน่น ต่างพากันพูดชมเชยไม่ขาดปากว่า “หนูน้อยคนนี้ ลูกสิริวัฒกเศรษฐี ชื่อว่า “มโหสถ” เขาว่า เมื่อเกิดมา ก็ถือแท่งโอสถมาด้วย เขาแก้ปัญหาที่พระราชาทดลองได้ทุกข้อ”

เมื่อพระราชา ทรงทราบว่า มโหสถมาถึงแล้ว ก็ทรงยินดี ตรัสว่า “มโหสถบุตรเรา เข้ามาเถิด”   มโหสถ พร้อมด้วยเด็กบริวาร ขึ้นสู่ปราสาท ถวายบังคมพระราชาแล้ว ยืนอยู่ข้างหนึ่ง  พระราชา ทอดพระเนตรเห็นมโหสถ ก็ทรงปราโมทย์ยิ่ง ตรัสปฏิสันถารอย่างเอ็นดูว่า “นั่งตามสบายเถิด บัณฑิตน้อย” ขณะนั้น พระโพธิสัตว์ ชายตามองดูบิดา สิริวัฒกเศรษฐี  ก็ลุกจากที่นั่ง ให้มโหสถมานั่งแทน ตามที่ได้นัดแนะกันไว้

ขณะนั้น บัณฑิต ๔ คน ทั้ง เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะ คอยจ้องจับผิดอยู่  แม้ชนเหล่าอื่น ผู้ไม่เข้าใจ เห็นเหตุการณ์ ต่างก็พากันตบมือ สรวลเสเฮฮา ขบขัน พูดเยาะเย้ยว่า“คนทั้งหลาย พากันเรียกคนโฉดเขลาผู้นี้ว่า “บัณฑิต” การเรียกผู้ที่ไล่ให้บิดาลุกจากที่ แล้วนั่งเสียเองนี้ ว่า “บัณฑิต” ไม่สมควรเลย”  

พระเจ้าวิเทหราช ทรงมีพระพักตร์ชา สลด เศร้าหมอง เสียพระทัย เพราะความอับอายคณะมนตรี และข้าราชบริพารว่า ยกย่องคนผิด  

มโหสถ เห็นอากัปกิริยาของพระราชาเช่นนั้น จึงทูลถามว่า “ขณะข้าพระองค์เข้าเฝ้า  ดูพระองค์ร่าเริงแจ่มใส แต่ขณะนี้ พระองค์ดูเคร่งขรึมไป พระองค์ เสียพระทัยหรือ พระเจ้าข้า”

       พระราชา ตรัสตอบว่า “ใช่ เราเสียใจ เมื่อก่อน เราได้ฟังเรื่องราวของเจ้า ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง  แต่พอมาได้เห็นเช่นนี้ ไม่เป็นดังที่เขาเล่าลือกัน ก็รู้สึกเสียใจ”  

มโหสถ กราบทูลถามว่า “เพราะเหตุไรหรือ พระเจ้าข้า

พระเจ้าวิเทหราช ตรัสตอบว่า “เพราะ เจ้าให้บิดาของตน ลุกจากที่นั่ง แล้วนั่งเสียเอง  เป็นการกระทํา ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่วิสัย ที่บัณฑิตพึงกระทํา

มโหสถ ทูลถามว่า “พระองค์ทรงเข้าพระทัยว่า บิดาสำคัญกว่าบุตรเสมอไปหรือ พระเจ้าข้า”   พระราชาตรัสตอบว่า “เราเข้าใจเช่นนั้น บัณฑิตน้อย ไม่ว่าจะอย่างไร บิดาต้องสําคัญกว่าบุตร” มโหสถจึงกราบทูลถามว่า “พระองค์ส่งข่าวไป มีรับสั่งให้ข้าพระองค์นําม้าอัสดร มาถวายไม่ใช่หรือพระเจ้าข้า” เมื่อกราบทูลดังนี้แล้ว มโหสถ จึงให้บริวารหามลานั้นเข้ามา ให้นอนแทบพระบาทพระเจ้าวิเทหราช แล้วทูลถามว่า “ขอเดชะ ลาตัวนี้ ราคาเท่าไร พระเจ้าข้า”

แม้พระราชา จะไม่ทรงเข้าพระทัย ที่มโหสถนําลามา แต่ก็ตอบว่า “ถ้าใช้งานได้ ก็มีราคาประมาณ ๘ กหาปณะ”

มโหสถ ทูลถามต่อไปว่า “แล้วม้าอัสดร เกิดจากท้องแม่ม้าสามัญ หรือเกิดจากท้องนางลา  เพราะผสมกับพ่อลานี้ ม้าอัสดร ซึ่งนับว่า เป็นม้าอาชาไนย มีราคาเท่าไร พระเจ้าข้า”

พระราชา ตรัสว่า “ม้าอัสดร ประเมินค่าไม่ได้เลย บัณฑิตน้อย”

มโหสถ จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ เหตุไร พระองค์จึงตรัสเช่นนั้น ก็เมื่อครู่นี้ พระองค์ ยังตรัสว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรเสมอไป ถ้าพระดำรัสนั้นเป็นจริง ลาตัวนี้ ก็ประเสริฐกว่าม้าอัสดรของพระองค์ ขอพระองค์จงทรงรับลาตัวนี้ไว้ แต่ถ้าทรงเห็นว่า ม้าอัสดรประเสริฐกว่าลาทั้งหลาย  ซึ่งเป็นพ่อ พระองค์ก็จงทรงรับม้าอัสดรนั้นไว้ เพราะเหตุไร พวกบัณฑิตของพระองค์ จึงไม่รู้แม้กระทั่งเรื่องเพียงเท่านี้ กลับพากันตบมือหัวเราะเยาะเย้ยข้าพระองค์ พระองค์ได้บัณฑิตเจ้าปัญญาพวกนั้น มาจากไหน”

ครั้นมโหสถกล่าวเยาะเย้ยบัณฑิตทั้ง ๔ คนนั้นแล้ว ได้กราบทูลพระราชาอีกว่า “ขอเดชะ  ถ้าพระองค์ ทรงเข้าพระทัยว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรทุกสถานะ ลาตัวนี้ ก็ประเสริฐกว่าม้าอัสดรด้วย เพราะว่า ลาเป็นพ่อของม้าอัสดร ถ้าพระองค์ ทรงเห็นว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรทุกสถานะ พระองค์ก็จงรับบิดาของข้าพระองค์ไว้ แต่ถ้าทรงเห็นว่า บุตรประเสริฐกว่าบิดา ก็จงรับข้าพระองค์ไว้ เพื่อประโยชน์ของพระองค์เถิด พระเจ้าข้า”

พระเจ้าวิเทหราช ได้ฟังคํานั้น ก็ทรงโสมนัสว่า พระองค์คิดไม่ผิด ข้าราชบริพารต่างก็แซ่ซ้อง  สาธุการว่า มโหสถ แก้ปัญหาได้ดี ต่างส่งเสียงปรบมือ และโบกสะบัดแผ่นผ้าเป็นพัน ๆ ผืน ส่วนบัณฑิต ที่เหลือ ต่างมีสีหน้าซีดเผือดไปตาม ๆ กัน

แท้จริง ไม่มีใคร รู้คุณบิดามารดาเท่ากับพระโพธิสัตว์ การที่มโหสถ ให้บิดาลุกจากที่นั่ง  แล้วนั่งเสียเอง มิใช่เพราะดูหมิ่นบิดา แต่เนื่องจากปัญหาเกิดขึ้น เพื่อจะแก้ปัญหานั้น เพื่อจะประกาศความที่ตนเป็นบัณฑิต และเพื่อจะดับรัศมีของบัณฑิตทั้ง ๔ คน ผู้ผูกปัญหานี้ขึ้น  มโหสถ จึงทําอย่างนี้  

พระเจ้าวิเทหราช ทรงยินดี จับสุวรรณภิงคาร ทรงหลั่งน้ำลงในมือสิริวัฒกเศรษฐี   พระราชทานให้ปกครองหมู่บ้านปาจีนยวมัชฌคาม ตรัสว่า “เหล่าอนุเศรษฐี จงบํารุงสิริวัฒกเศรษฐี”  แล้วให้ส่งเครื่องประดับต่าง ๆ ไปพระราชทานแก่นางสุมนาเทวี มารดาพระโพธิสัตว์ ทรงเลื่อมใสการแก้ปัญหาเรื่องลาของมโหสถ มีพระราชประสงค์จะทรงรับมโหสถไว้เป็นราชบุตรบุญธรรมของพระองค์ จึงตรัสกับเศรษฐีว่า“คหบดี ท่านจงให้มโหสถไว้เป็นราชบุตรบุญธรรมของเรา”

เศรษฐี รู้สึกใจหาย และหวาดหวั่น จึงทูลคัดค้านว่า “ขอเดชะ มโหสถบุตรของข้าพระองค์ยังเด็กนัก จนถึงวันนี้ เธอยังไม่หย่านม เมื่อเธอโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ข้าพระองค์จะนํามาถวายไว้ให้รับราชการในราชสำนัก”

พระราชา ตรัสสัพยอกว่า “จากนี้ต่อไป ท่านอย่าห่วงมโหสถเลย มโหสถเป็นราชบุตรของเรา  ท่านกังวลว่า เราจะเลี้ยงบุตรของท่านไม่ได้กระมัง เราพอจะเลี้ยงบุตรของท่านได้  วันนี้ ท่านจงกลับบ้านเถิด” ตรัสฉะนี้แล้ว มีพระราชานุญาตให้เศรษฐีกลับบ้าน

เศรษฐี เหมือนหัวใจจะขาด เป็นห่วงลูกยังเล็กนัก ทั้งคิดเห็นหน้าภรรยาว่า เธอไม่เห็นหน้าลูก  จะเสียใจขนาดไหน จึงสวมกอดมโหสถไว้แนบอก จูบที่ศีรษะ แล้วสอนลูกว่า “ลูกพ่อ ลูกเป็นเหมือน  ดวงใจและดวงตาของพ่อ อย่าทําให้พ่อกับแม่ผิดหวัง จากนี้ไป ลูกอย่าประมาท จงตั้งใจถวายการรับใช้พระราชาของเรา” มโหสถไหว้บิดา พูดให้คลายกังวล แล้วส่งกลับบ้าน

พระเจ้าวิเทหราช ตรัสถามมโหสถว่า จะเป็นข้าหลวงฝ่ายใน หรือข้าหลวงฝ่ายนอก  พระโพธิสัตว์ คิดว่า ตนมีบริวารมาก จึงขอเป็นข้าหลวงเรือนนอก  

พระราชา จึงพระราชทานเคหสถานที่เหมาะสม พร้อมทั้งเสบียงและเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ตลอดถึงบริวาร ให้มโหสถ ตั้งแต่นั้นมา มโหสถ ก็เข้าถวายการรับใช้พระราชา แม้พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงประสงค์จะทดลองมโหสถ ต่อไป

สุวรรณภิงคาร คือ พระเต้าทองคำ สำหรับหลั่งน้ำทักษิโณทก เวลาทำบุญ

แก้วมณีในรังกา

กาลนั้น เกิดการเล่าลือกันว่า มีแก้วมณี อยู่ในสระโบกขรณี เพราะประชาชนเห็นแสงแก้วมณี สะท้อนอยู่ในน้ำ ไม่ไกลจากประตูพระนคร ด้านทิศใต้ ประชาชน กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ  พระเจ้าวิเทหราช ตรัสเรียกเสนกะมา รับสั่งให้หาวิธีนําแก้วมณีนั้นขึ้นมา อาจารย์เสนกะกราบทูล  เสนอให้วิดน้ำออกจากสระ เอาแก้วมณีขึ้นมา พระองค์จึงมอบให้เป็นภาระของเสนกะ

อาจารย์เสนกะ ให้ประชาชนมาช่วยกันวิดน้ำ ขนเลนออกจากสระโบกขรณี แม้ขุดถึงพื้นก็ไม่เห็นแก้วมณี เมื่อปล่อยน้ำเข้าเต็มสระโบกขรณี แสงเงาสะท้อนแก้วมณี ก็ปรากฏอีก แม้เสนกะทําเช่นนั้นอีก ก็ไม่ได้แก้วมณี อาจารย์เสนกะ หมดปัญญา จึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ

พระราชา ตรัสเรียกมโหสถมา รับสั่งว่า “มีแก้วมณี อยู่ในสระโบกขรณี อาจารย์เสนกะให้วิดน้ำและโคลนออกจนหมด กระทั่งขุดถึงพื้น ก็ยังไม่เห็น เมื่อปล่อยน้ำเข้าเต็มสระ ก็เห็นแก้วมณีอีกเหมือนเดิม” มโหสถกราบทูลว่า “เชิญเสด็จเถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ จะนําแก้วมณีมาถวาย”   

พระเจ้าวิเทหราช ได้สดับเช่นนั้น ก็ทรงดีใจว่า วันนี้ จะได้เห็นปัญญามโหสถ จึงเสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ไปยังริมสระโบกขรณี

มโหสถ ยืนที่ฝั่งสระน้ำ คะเนดู ก็รู้ว่า แก้วมณีไม่ได้อยู่ในสระ แต่อยู่บนต้นตาล ทำให้เกิดแสงสะท้อนจากแก้วมณี ลงไปที่สระน้ำ จึงให้คนนําภาชนะใส่น้ำมาตั้งไว้ ทดสอบดู ก็เป็นจริงตามนั้น  จึงกราบทูลว่า “ขอพระองค์ทอดพระเนตร แก้วมณีไม่ได้ปรากฏแต่เฉพาะในสระโบกขรณีเท่านั้น  แม้ในภาชนะนี้ ก็มีแก้วมณีด้วย แสดงว่า แก้วมณี ไม่ได้อยู่ในสระโบกขรณี แต่อยู่ในรังกาบนต้นตาล โปรดให้ทหารขึ้นไป นําลงมาเถิด พระเจ้าข้า”

พระราชา รับสั่งให้ทหารขึ้นไป นําแก้วมณีลงมาจากรังกา มโหสถรับแก้วมณีมาถวายพระราชา  ฝูงชนที่มาชุมนุมกัน ต่างส่งเสียงสรรเสริญด้วยความยินดี ต่างด่าทออาจารย์เสนกะ พูดชมเชยมโหสถไม่ขาดปากว่า “แก้วมณี อยู่บนต้นตาล เสนกะ โง่ เกณฑ์คนตั้งมากมาย มาวิดน้ำออกจากสระ”

แม้พระเจ้าวิเทหราช ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทรงถอดสร้อยมุกดา เครื่องประดับพระศอของพระองค์ พระราชทานให้มโหสถ และพระราชทานสร้อยมุกดาวลี แก่บริวารมโหสถทุกคน

กิ้งก่าได้ทอง

อีกวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช เสด็จไปพระราชอุทยานกับมโหสถ ขณะนั้น มีกิ้งก่าตัวหนึ่งจับอยู่ที่ปลายเสาค่าย มันเห็นพระราชาเสด็จมา ก็ลงมาจากปลายเสาค่าย หมอบอยู่ที่พื้นดิน

พระราชา ทอดพระเนตรเห็นกิริยากิ้งก่านั้น จึงตรัสถามว่า “กิ้งก่าตัวนี้ ทําอะไร” มโหสถทูลตอบว่า “กิ้งก่า ถวายความเคารพ พระเจ้าข้า” พระราชาตรัสว่า “กิ้งก่า เป็นสัตว์เดรัจฉานยังรู้จักแสดงความเคารพ มันคงต้องการอะไร” มโหสถกราบทูลว่า “กิ้งก่า ไม่ต้องการทรัพย์  ควรพระราชทาน เพียงแค่ของกิน ก็พอ” ครั้นพระราชา ตรัสถามว่า “มันกินอะไร” มโหสถทูลตอบว่า “มันกินเนื้อ พระเจ้าข้า” พระราชาตรัสซักถามต่อไปว่า “มันควรได้เนื้อ ราคาเท่าไร” มโหสถทูลว่า“ราคาราวกากณิกหนึ่งพระเจ้าข้า” รับสั่งทหารว่า รางวัลของหลวงเพียงกากณิกหนึ่ง น้อยไป  จึงทรงให้นําเนื้อมีราคากึ่งมาสก มาให้กิ้งก่ากิน เป็นประจํา

ครั้นวันพระอุโบสถวันหนึ่ง ที่โรงฆ่าสัตว์ งดฆ่าสัตว์ ทหารไม่ได้เนื้อ จึงเจาะเหรียญกึ่งมาสกเอาด้ายร้อย ผูกเป็นเครื่องประดับ ที่คอกิ้งก่า

กิ้งก่า เกิดความถือตัว เพราะคิดว่า มีทรัพย์กึ่งมาสกนั้น วันนั้น พระราชา เสด็จไปพระราชอุทยาน กิ้งก่า เห็นพระราชาเสด็จมา ก็ตีตนเสมอพระราชา เหมือนจะเข้าใจว่า พระองค์มีพระราชทรัพย์มาก เราก็มีมากเหมือนกัน เพราะความถือตัว ที่เกิดจากการมีทรัพย์กึ่งมาสกนั้น  จึงไม่ลงจากปลายเสาค่าย ยกหัวร่อนอวดเหรียญไปมา อยู่บนปลายเสาค่าย

พระเจ้าวิเทหราช ทอดพระเนตรเห็นกิริยาของกิ้งก่า จึงตรัสถามมโหสถว่า “ทําไม วันนี้ กิ้งก่าจึงไม่ลงจากปลายเสาค่าย เหมือนวันก่อน”

          มโหสถ กราบทูลให้ทราบว่า “คนไม่ฆ่าสัตว์ ในวันพระอุโบสถ ทหารหาเนื้อให้กิ้งก่ากินไม่ได้  จึงเอาเหรียญกึ่งมาสก ผูกไว้ที่คอ กิ้งก่า จึงเกิดความถือตัวขึ้น”  

            ๕ กากณิก แปลว่า ทรัพย์มีค่า เท่าค่าแห่งชิ้นเนื้อพอที่กาจะพาบินไปได้ เป็นชื่อมาตราเงิน  สมัยโบราณ ซึ่งมีค่าน้อยที่สุด

พระราชา ให้เรียกราชบุรุษนั้น มาตรัสถาม ทรงทราบความจริง ก็เลื่อมใสพระโพธิสัตว์เป็นอย่างมาก จึงพระราชทานบ้านส่วย ที่ประตูพระนครทั้ง ๔ แห่ง ให้มโหสถ แต่กริ้วกิ้งก่า ทรงปรารภ จะให้ฆ่าเสีย มโหสถ ทูลทัดทานว่า “สัตว์เดรัจฉาน ไม่มีปัญญา ขอพระองค์ โปรดยกโทษให้มันเถิด”  

เจ้าหญิงสามัญชน

คราวนั้น มีชายหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อ “ปิงคุตตระ” เป็นชาวมิถิลานคร เดินทางไปศึกษาอยู่สํานักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ที่กรุงตักสิลา เพราะความที่ชายหนุ่มคนนั้น เป็นคนสมองดี จึงสําเร็จการศึกษา ได้อย่างรวดเร็ว เขาให้ทรัพย์เป็นค่าวิชาตอบแทนคุณอาจารย์ แล้วลากลับบ้าน

สมัยนั้น มีธรรมเนียมอยู่ว่า ถ้าในสกุลอาจารย์นั้น มีลูกสาว โตเป็นสาวแล้ว อาจารย์ต้องยกให้เป็นภรรยาศิษย์ผู้ใหญ่

          อาจารย์ทิศาปาโมกข์นั้น มีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง รูปร่างหน้าตางดงาม ทั้งเป็นผู้มีบุญมาก อาจารย์ได้มอบลูกสาว ให้เป็นภรรยาชายหนุ่มคนนั้น แต่เขาไม่มีบุญ เป็นคนกาลกิณี จึงไม่ได้ชอบใจ  แม้ไม่ต้องการ ก็จําใจต้องรับ เพราะไม่ต้องการทําลายความหวังดีของอาจารย์  

เวลากลางคืน หญิงสาวนั้น ขึ้นมานอนบนเตียงด้วย ชายหนุ่ม ก็แสดงอาการรังเกียจ กรุ่นโกรธ  ลงจากที่นอน ไปนอนที่พื้น เมื่อหญิงสาว ลงมานอนที่พื้นใกล้ ๆ ชายหนุ่ม ก็แสดงอาการผลุนผลันผุดลุก  ขึ้นไปนอนบนเตียง หญิงสาวก็ขึ้นไปที่นอนอีก พอหญิงสาวขึ้นไป ชายหนุ่มก็กลับลงมานอนที่พื้น  เพราะธรรมดาว่า กาลกิณีอยู่ร่วมกับสิริไม่ได้ จนวันเวลาผ่านไป ๑ สัปดาห์ ชายหนุ่ม จึงพาหญิงสาวไปกราบลาอาจารย์ ออกจากพระนครตักกศิลา เดินทางกลับมิถิลานคร

ในระหว่างทาง ทั้ง ๒ คน ไม่ได้พูดจาปราศรัยกันเลย จนเดินทางเข้าสู่เขตกรุงมิถิลานคร ปิงคุตตระ เห็นต้นมะเดื่อต้นหนึ่ง มีผลดกหนา รู้สึกหิว จึงปีนขึ้นไปเก็บผลมะเดื่อกิน

—        

๖ กรุงตักสิลา เป็นชื่อเมือง ที่มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษา สำหรับกรุงตักสิลา ในสมัยพุทธกาลนั้น มีความเจริญด้านศิลปวิทยาอย่างมาก ปัจจุบัน ได้แก่ บริเวณประเทศอัฟกานิสถาน ต่อมา ถูกเขายึดครอง โดยกองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในราว ๒๐๐ ปี หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และในราว ๑,๗๐๐ ปี หลังพระพุทธเจ้าปริพพานก็ถูกทำลายโดยกองทัพเติร์ก

          แม้หญิงสาวก็หิว จึงบอกให้ปิงคุตตระ ทิ้งผลมะเดื่อลงมาให้ตนกินบ้าง ชายหนุ่มนั้นตอบว่า  “มือตีนมี ก็ปีนขึ้นเก็บกินเอง” นางคิดว่า “อีตานี้ ใจร้ายสิ้นดี” จึงปีนขึ้นไปเก็บกินเอง ชายหนุ่มรู้ว่า  หญิงสาว ปีนขึ้นไปแล้ว ก็รีบไต่กลับลงมา พลางคิดว่า จะหนีจากหญิงกาลกิณีนี้ พ้นได้อย่างไร  จึงเอาหนาม ล้อมต้นมะเดื่อไว้ ไม่ให้ลงได้ แล้วรีบเผ่นหนีไป เมื่อหญิงสาว ลงจากต้นมะเดื่อไม่ได้  ก็นั่งหงอยอยู่บนต้นไม้นั้น

วันนั้น พระเจ้าวิเทหราช เสด็จประพาสพระราชอุทยาน พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ทรงเล่น เพลินอยู่ในพระราชอุทยาน จนตกเย็น จึงประทับนั่งบนคชาธาร เสด็จเข้าพระนคร ได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงสาว เกิดตราตรึงในความงามของนาง มีพระทัยปฏิพัทธ์ อยากทราบว่า นางมีคู่ครองหรือยัง  จึงรับสั่งให้อํามาตย์ไปถาม นางแจ้งว่า นางมีสามีที่สกุลตบแต่ง แต่เขาหลอกให้นั่งบนต้นไม้  เอาหนามล้อม ทิ้งไว้ แล้วหนีไป อํามาตย์ กราบทูลให้พระราชาทรงทราบ

พระราชา ทรงดําริว่า “สิ่งของ ไม่มีเจ้าของ ย่อมตกเป็นของหลวง” จึงรับสั่งให้รับนางลงจากต้นไม้ แล้วให้ขึ้นช้าง นําเข้าสู่พระราชนิเวศน์ ทรงอภิเษกไว้ในตําแหน่งอัครมเหสี พระนางเป็นที่โปรดปรานของพระราชามาก เนื่องจากพระนางเป็นสามัญชน พระราชา ได้มาจากต้นมะเดื่อ  อาณาประชาราษฎร์ จึงถวายพระนามพระนางว่า “เจ้าหญิงอุทุมพร แปลว่า เจ้าหญิงมะเดื่อ

อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าหน้าที่ นําชาวบ้านใกล้ประตูพระนคร ให้ช่วยกันถางทางเสด็จพระราชดําเนิน ไปยังสวนหลวง ปิงคุตตระ ได้รับจ้างถางทาง เมื่อทางยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี พระราชาประทับบนรถ พระที่นั่งกับพระนางอุทุมพรเทวี เสด็จออกจากพระนคร พระนางอุทุมพร ทอดพระเนตรเห็นปิงคุตตระ กําลังใช้จอบถางทางอยู่ ก็จำได้ ทรงดําริว่า บุรุษกาลกิณีคนนี้ ไม่สามารถจะทรงสิริไว้ได้ ก็ทรงพระสรวล

พระเจ้าวิเทหราช ทอดพระเนตรเห็นพระนางมองดูชายหนุ่ม แล้วหัวเราะ ก็กริ้ว ตรัสถามว่า  “เธอ หัวเราะอะไร” พระนางกราบทูลว่า “ชายถางทางคนนี้ เป็นสามีเก่าหม่อมฉัน หลอกให้หม่อมฉัน ปีนขึ้นต้นมะเดื่อ เอาหนามล้อมไว้ แล้วหนีไป จึงคิดว่า คนกาลกิณีนี้ ไร้วาสนา รักษาสิริ เอาไว้ไม่ได้

          ๗ เจ้าหญิงอุทุมพร ในสมัยพุทธกาล กลับชาติมาเกิด เป็นพระนางปชาบดีโคตมี

พระราชา ตรัสว่า “อย่าโกหก เธอเห็นอะไรอย่างอื่น ให้บอกมาตามตรง หากไม่บอกจะฆ่าเสีย” ทรงจับพระแสงดาบ ขู่ตะคอก พระนางกลัวพระราชอาญา จนพระวรกายสั่นเทา  จึงกราบทูลให้พระราชาตรัสถามพวกบัณฑิตก่อน พระราชา ยั้งพระทัยได้ จึงตรัสถามเสนกะว่า“ท่านอาจารย์ ท่านเชื่อคําพูดมเหสีเรา หรือไม่” อาจารย์เสนกะ ทูลว่า “ข้าพระองค์ ไม่เชื่อ ชายที่ไหน จะทอดทิ้งสตรีที่มีความงดงาม เช่นนี้ได้” เจ้าหญิงอุทุมพรเทวี สดับเช่นนั้น ก็ยิ่งกลัว  พระราชอาญามากขึ้น พระพักตร์ซีดเผือด ทรงกรรแสงสะอื้นไห้

พระราชา ทรงดําริว่า อาจารย์เสนกะ จะรู้อะไร เราจะถามมโหสถ จึงตรัสถามมโหสถว่า  “มโหสถ สตรีคนหนึ่ง รูปร่างหน้าตางดงาม เพียบพร้อมด้วยจรรยามารยาท แต่ชายไม่ปรารถนา เธอ เจ้าเชื่อหรือไม่”  

มโหสถ กราบทูลว่า “ข้าพระองค์ เชื่อ พระเจ้าข้า เพราะชายคนนั้น ไร้วาสนา ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน สิริไม่อาจอยู่ร่วมกับกาลกิณีได้”

พระราชา ทรงพิจารณาตามคํามโหสถ ก็หายกริ้วพระเทวี ทรงยินดีเป็นอย่างยิ่ง ตรัสว่า“ถ้าไม่ได้เจ้า วันนี้ ข้าคงสูญเสียสตรี ที่ประเสริฐเช่นนี้แล้ว เพราะหลงเชื่อคำของคนเขลา  ข้าได้นางไว้ เพราะเจ้าแท้ ๆ” ตรัสชมมโหสถฉะนี้แล้ว พระราชทานรางวัลให้มโหสถ

ฝ่ายพระนางอุทุมพรเทวี ดําริว่า มโหสถ มีบุญคุณแก่พระองค์มาก ช่วยให้พระองค์รอดชีวิต  จึงกราบทูลว่า “ในพระนครนี้ หม่อมฉัน ไร้ญาติ หม่อมฉัน รอดชีวิตเพราะมโหสถ เธอจึงเป็นญาติ เพียงคนเดียว ที่หม่อมฉันมีอยู่ หม่อมฉัน ขอพรจากพระองค์ ขอให้มโหสถ อยู่ในฐานะน้องชาย ของหม่อมฉัน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เมื่อมีอาหารอร่อย หม่อมฉันจะไม่บริโภค โดยที่น้องชายคนนี้ ไม่ได้บริโภคด้วย ขอให้หม่อมฉัน สามารถเปิดประตู ส่งไปให้น้องชายได้ตลอดเวลา หม่อมฉันขอพรข้อนี้” พระเจ้าวิเทหราช ทรงประทานพร และทรงอนุญาตตามที่พระเทวีขอ

ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร

เช้าวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราช เสวยพระกระยาหารแล้ว เสด็จพระราชดําเนินไปมาบนระเบียง ปราสาท เมื่อทอดพระเนตรออกไปทางช่องหน้าต่าง ได้เห็นแพะกับสุนัขคู่หนึ่ง หยอกล้อเล่นกันอย่างสนิทสนม

ตามปกติ แพะนั้น จะไปอาศัยกินหญ้าในโรงช้าง ที่เขากองไว้สำหรับเตรียมให้ช้าง ช้างยังไม่ทันได้กิน แพะตัวนั้น ก็แอบเข้าไปกินก่อน พวกคนเลี้ยงช้าง จึงไล่ตีแพะให้ออกไป คนเลี้ยงช้างคนหนึ่งเอาท่อนไม้ตีถูกหลังแพะจนหลังแอ่นไป แพะเจ็บปวด จึงหลบไปนอนอยู่ใกล้กําแพงพระราชนิเวศน์

ที่พระราชนิเวศน์นั้น ยังมีสุนัขตัวหนึ่ง อาศัยห้องเครื่องหลวง กินเศษกระดูกและหนังที่เขาทิ้ง   จนอ้วนพี ในวันเดียวกันนั้น เมื่อพ่อครัวจัดอาหารเสร็จแล้ว ได้ออกไปผึ่งเหงื่อข้างนอก สุนัขได้กลิ่นปลาและเนื้อ ทนความอยากไม่ได้ จึงเข้าไปในห้องเครื่อง คุ้ยฝาปิดภาชนะให้ตกลง แล้วคาบเนื้อไปกิน  

พ่อครัว ได้ยินเสียงภาชนะหล่น ก็เข้าไปในห้องเครื่องตามเสียง เห็นสุนัขกําลังกินเนื้อ จึงไล่ตีสุนัขนั้น ตกใจกลัว จึงทิ้งเนื้อวิ่งร้องหนีออกไป แม้พ่อครัว รู้ว่า สุนัขหนีออกไปแล้ว ก็ยังติดตามไล่ตี ต่อไป สุนัขยกเท้าข้างหนึ่ง วิ่งโขยกเขยกเข้าไปหาแพะ ซึ่งนอนอยู่  

แพะ ถามสุนัขว่า “เพื่อน แอ่นหลังยกเท้าข้างหนึ่ง เดินกะเผลกมาด้วยเหตุไร เพื่อนปวดท้อง หรือ” ส่วนสุนัข ก็ย้อนถามแพะว่า“ก็แล้วเพื่อน เป็นอะไรไป ทําไม จึงหลังแอ่น นอนซมอยู่อย่างนั้น  เพื่อนปวดท้องเหมือนกันหรือ” สัตว์ทั้งสอง ต่างเล่าเรื่องของตน ให้กันและกันฟัง แล้วสรุปว่า ต่อไป พวกเรา คงไปที่นั้น ไม่ได้อีกแล้ว  

สัตว์ทั้งสอง ช่วยกันคิดหาแผนการ ที่จะมีชีวิตอยู่ให้ได้ แพะจึงบอกสุนัขว่า “ถ้าเราทั้งสอง ร่วมมือกัน ก็มีวิธี ที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ตั้งแต่นี้ไป เจ้าไปนําหญ้ามาจากโรงเลี้ยงช้าง คนเลี้ยงช้างจะไม่สงสัย เพราะคิดว่า สุนัขไม่กินหญ้า ส่วนข้า จะไปนําเนื้อจากโรงครัวมาให้เจ้า พ่อครัวก็ไม่สงสัยข้า เพราะเห็นว่า แพะ ไม่กินเนื้อ” สัตว์ทั้งสอง จึงตกลงกันตามนี้  

ตั้งแต่นั้นมา สุนัขไปคาบฟ่อนหญ้าจากโรงช้าง มาวางไว้ใกล้กำแพง ส่วนแพะ ไปคาบเนื้อจากห้องเครื่อง มาวางไว้ สุนัขกินเนื้อ ส่วนแพะก็กินหญ้า สัตว์ทั้งสอง จึงมีความสนิทสนม เป็นเพื่อนกัน อาศัยอยู่ใกล้กําแพงพระนคร

พระเจ้าวิเทหราช ทอดพระเนตรเห็นแพะและสุนัข ชอบพอกัน จึงทรงจินตนาการว่า “ยังไม่เคยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่ก็ได้เห็นในวันนี้ เมื่อก่อน สัตว์ทั้งสอง เป็นศัตรูกันมา  บัดนี้ กลับรักใคร่กลมเกลียวกัน เราจะเอาเหตุการณ์นี้ ไปผูกเป็นปัญหา ถามบัณฑิตทั้งหลาย  ใครไม่รู้ จะถูกไล่ออกไปจากแคว้น แต่จะยกย่องเชิดชูผู้รู้” พระองค์ ไม่ได้ถามในวันนั้น เนื่องจากเป็นเวลาเย็นมากแล้ว

รุ่งขึ้นอีกวัน เมื่อบัณฑิตมานั่งสนองงานตามหน้าที่ของตนแล้ว พระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสถามปัญหาขึ้นว่า “วันนี้ เรามีปัญหามาให้พวกท่านแก้ ในโลกนี้ ไม่เคยมีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร  สําหรับสัตว์ ไม่มีสัตว์จําพวกไหนเป็นเพื่อนกัน เดินไปด้วยกันได้ไกลเกิน ๗ ก้าว เพราะเหตุอะไร  แพะและสุนัข เคยเป็นศัตรูกัน แต่กลับกลายมาเป็นเพื่อนที่คุ้นเคยกัน ใครไม่รู้ จะถูกไล่ออกจากแคว้น เพราะเราไม่ต้องการคนไร้ปัญญา”

ขณะนั้น เสนกบัณฑิต นั่งอยู่หัวแถว มโหสถ นั่งเป็นคนสุดท้าย มโหสถ ขบคิดปัญหานั้น ก็ยังไม่รู้ความหมาย จึงตริตรองว่า “พระราชา ไม่น่าจะคิดปัญหาที่ลุ่มลึกเช่นนี้ได้ ด้วยพระองค์เองพระองค์คงทอดพระเนตรเห็นอะไรสักอย่างแน่ ถ้ามีเวลาสัก ๑ วัน เราจะแก้ปัญหานี้ได้  อาจารย์เสนกะ ควรจะทูลขอพระราชากลับไปคิดสักวันหนึ่ง” ส่วนบัณฑิตอีก ๔ คน นึกอะไรไม่ออก  เหมือนนั่งอยู่ในห้องมืด

เสนกะ มองดูมโหสถว่า มโหสถ จะคิดเห็นเป็นประการไร ส่วนมโหสถ ก็มองดูเสนกะเช่นกัน  เสนกะรู้ว่า มโหสถยังคิดปัญหานี้ไม่ออก จึงต้องการขอโอกาสผลัดไปอีกวันหนึ่ง เราจะทําให้มโหสถได้โอกาส ตามที่ตั้งใจ จึงหัวเราะขึ้นด้วยวิสาสะกับพระราชา กราบทูลว่า “พระองค์ จะขับไล่บัณฑิต  ผู้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ออกจากแคว้นจริงหรือ พระเจ้าข้า” พระราชารับว่า “เราพูดจริง”

เสนกะ กราบทูลว่า “ขอเดชะ ปัญหานี้ละเอียดอ่อน มีเงื่อนงํา สลับซับซ้อน ต้องมีเวลานั่งขบคิดเงียบ ๆ คนเดียว จะคิดท่ามกลางคนมากมายอย่างนี้ไม่ได้ เพราะจิตใจฟุ้งซ่าน  จึงขอโอกาสเลื่อนออกไป เป็นวันพรุ่งนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะแก้ปัญหาถวาย”  พระเจ้าวิเทหราช ทรงอนุญาตตามนั้น พร้อมกับทรงสำทับว่า “จงไปคิดมาให้ดี ถ้าตอบไม่ได้ เราจะขับไล่ออกจากแว่นแคว้น

บัณฑิตทั้งหมด ลงจากพระราชนิเวศน์ เสนกะ กล่าวกับเพื่อน ๆ ว่า “พระราชา ตรัสถามปัญหาลุ่มลึก ถ้าตอบไม่ได้ เห็นทีภัยใหญ่ จะเกิดขึ้น กลับบ้านแล้ว ช่วยกันคิดให้ดี” จึงแยกย้าย กลับเรือนของตน

ฝ่ายมโหสถ ยังไม่กลับเรือน คิดว่า พี่สาวของเรา น่าจะรู้เรื่อง จึงตรงไปเฝ้าเจ้าหญิงอุทุมพรเทวี  ทูลถามว่า “พระพี่นาง วันนี้ หรือเมื่อวาน พระราชา ประทับอยู่ที่ไหนนาน ๆ บ้างหรือไม่”

พระนางอุทุมพร รับสั่งว่า “พระราชา เสด็จกลับไปกลับมา ประทับยืนที่ระเบียงทอดพระเนตรอยู่ที่หน้าต่าง เป็นเวลานาน” มโหสถ คิดว่า พระราชา น่าจะทอดพระเนตรเห็นอะไร สักอย่าง จึงเดินไปสํารวจดูภายนอก ได้เห็นพฤติกรรมของแพะและสุนัข ก็เข้าใจว่า พระราชา ทอดพระเนตรเห็นสัตว์ทั้งสอง จึงตั้งปัญหาขึ้นถาม จับเค้าได้เช่นนี้แล้ว จึงทูลลาพระนางอุทุมพรเทวี กลับเรือน

ฝ่ายบัณฑิตทั้ง ๓ คน คิดไม่ออก จึงชวนกันไปถามเสนกะ แม้เสนกะ ก็ยังคิดไม่ออกเช่นกัน  จึงกล่าวว่า “ขนาดอาจารย์ ยังคิดไม่ออก แล้วพวกผม จะคิดออกได้อย่างไร เราผัดผ่อนพระราชา มาแล้ว ถ้าตอบไม่ได้ พระราชาทรงกริ้ว จะขับไล่พวกเราออกจากแว่นแคว้น จะทําอย่างไรกันดี”  บัณฑิตทั้ง ๔ คน จึงพากันไปถามมโหสถว่า คิดปัญหาได้หรือยัง

มโหสถ ตอบว่า “ขอรับท่านอาจารย์ เมื่อผมคิดไม่ได้ แล้วใครจะคิดได้” บัณฑิตทั้ง ๔ คน จึงขอร้องให้มโหสถบอกตนบ้าง มโหสถคิดว่า ถ้าไม่บอกให้รู้ พระราชากริ้ว แล้วขับไล่พวกเขาออกจากแคว้น จะเกิดความลําบาก แต่จะพระราชทานเงินทองให้ตน เพียงคนเดียว อย่าให้พวกเขาเดือดร้อนเลย จึงให้พวกเขา นั่งอาสนะต่ำกว่าตน แล้วแก้ปัญหาให้บัณฑิตทั้ง ๔ คนฟัง โดยไม่ให้รู้ว่าพระราชาไปเห็นอะไรมา

ในวันรุ่งขึ้น พวกบัณฑิต ไปเฝ้าพระราชาแต่เช้า พระองค์ ตรัสถามเสนกะว่า “ท่านอาจารย์รู้ปัญหาแล้วหรือยัง” เสนกะกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า เมื่อข้าพระองค์ แก้ไม่ได้ แล้วใครจะแก้ได้” จึงกราบทูลตามที่เรียนมาจากมโหสถว่า

“ชนชั้นสูง และข้าหลวง โปรดปรานเนื้อแพะ แต่ไม่ชอบเนื้อสุนัข คุณธรรมน้ำมิตรระหว่างแพะกับสุนัข จึงเกิดขึ้น”

แม้เสนกะ จะกราบทูลเช่นนี้ ก็ไม่ทราบความหมาย แต่พระเจ้าวิเทหราช ทรงเข้าพระทัยว่า เสนกะรู้แล้ว จึงตรัสถามปุกกุสะ เป็นคนต่อไป

ปุกกุสะ ได้ที จึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ ไม่ใช่บัณฑิตหรือ พระเจ้าข้า” แล้วกราบทูลตามที่เรียนมาเช่นเดียวกันว่า

“ชนทั้งหลาย ใช้หนังแพะปูหลังม้า เพราะนั่งสบาย แต่ไม่ใช้หนังสุนัข คุณธรรมน้ำมิตร ระหว่างแพะกับสุนัข จึงเกิดขึ้น”

แม้ปุกกุสะเอง ก็ไม่ทราบความหมายที่ตนกราบทูลไป พระราชาเข้าพระทัยว่า ปุกกุสะรู้ความหมาย จึงตรัสถามกามินทะ ต่อไป กามินทะกราบทูลว่า

“แพะ มีเขาโค้ง แต่สุนัขไม่มีเขา แพะกินหญ้า ส่วนสุนัขกินเนื้อ คุณธรรมน้ำมิตร ระหว่างแพะกับสุนัข จึงเกิดขึ้น”

แม้กามินทะ ก็ไม่รู้ความหมาย พระราชา ตรัสถามเทวินทะ เป็นคนต่อไป เทวินทะกราบทูลข้อความที่ตนไม่ทราบความหมายเช่นกันว่า

“แพะกินหญ้า กินใบไม้ สุนัข ไม่กินหญ้า ไม่กินใบไม้ แต่ไล่ตะครุบกระต่ายหรือแมวกิน คุณธรรมน้ำมิตร ระหว่างแพะกับสุนัข จึงเกิดขึ้น”

พระราชา เข้าพระทัยว่า แม้เทวินทะนี้ ก็รู้ จึงตรัสถามมโหสถ เป็นคนสุดท้ายว่า “บัณฑิตน้อย  แล้วตัวเจ้า รู้ปัญหานี้ หรือไม่” มโหสถ กราบทูลว่า

“ข้าแต่มหาราชเจ้า ตั้งแต่นรกอเวจี จนถึงพรหมโลก ยกเว้นข้าพระองค์แล้ว คนอื่นใครจะแก้ปัญหานี้ได้”  

พระเจ้าวิเทหราช ตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น เจ้าก็จงบอกมา”  

มโหสถ จึงกราบทูลว่า “ขอพระองค์ทรงฟัง แพะมี ๔ เท้า ๘ กีบ แฝงกายไปนำเนื้อมาให้สุนัข  สุนัขแฝงกายไปนำหญ้ามาให้แพะ พระองค์ประทับอยู่บนปราสาททอดพระเนตรเห็นคุณธรรม  น้ำมิตรระหว่างสุนัขกับแพะ ด้วยพระองค์เอง จึงตั้งปัญหาขึ้น

พระราชา ไม่ทรงทราบว่า อาจารย์ทั้ง ๔ คน รู้ปัญหาเพราะมโหสถ ทรงเข้าใจว่า บัณฑิตทั้ง ๕ คน รู้ด้วยปัญญาของตน ก็ทรงโสมนัสว่า พระองค์โชคดี ที่มีบัณฑิตเช่นนี้อยู่ในราชสกุล บัณฑิตทุกคนของพระองค์ รู้ปัญหาอันละเอียดอ่อนลึกซึ้งนี้ได้

ทรงดำริที่จะพระราชทานรถม้าอัสดรและหมู่บ้านส่วย เป็นรางวัลแก่บัณฑิตทุกคน แต่เจ้าหญิงอุทุมพร ทรงทราบว่า บัณฑิตคนอื่น รู้ปัญหาจากมโหสถ จึงดำริว่า พระราชาพระราชทานรางวัลให้บัณฑิตทุกคน เหมือนกัน เป็นการไม่ถูกต้อง จึงเสด็จไปเฝ้าพระราชา ทูลให้ทรงทราบว่า “บัณฑิต ทั้ง ๔ คน รู้ปัญหาจากมโหสถ เนื่องจากมโหสถ เกรงว่า คนเหล่านี้ จะได้รับความเดือดร้อน  พระองค์พระราชทานรางวัลให้บัณฑิตทั้งหมดเสมอกัน ไม่ถูกต้อง ควรพระราชทานให้มโหสถเป็นพิเศษ”

พระราชา ทรงทราบว่า มโหสถ ไม่บอกว่า บัณฑิตคนอื่น รู้ปัญหาจากตน ก็ทรงโสมนัสว่า  มโหสถ จิตใจกว้างขวาง มีพระราชประสงค์จะทำสักการะให้ยิ่งกว่า จึงทรงดำริว่า “ถ้าเช่นนั้น  เอาไว้ก่อน เราจะถามปัญหาบุตรของเราข้อหนึ่ง เมื่อบุตรของเราแก้ได้ จึงค่อยทำสักการะให้มากยิ่งขึ้น ในภายหลัง”

ศึกประลองปัญญามหาบัณฑิต

พระราชา จึงทรงคิดปัญหา ชื่อ “สิริมันตปัญหา ขึ้นมา ระหว่างสิริ คือ ยศและทรัพย์ กับปัญญา อะไรจะประเสริฐกว่ากัน

วันหนึ่ง ขณะที่พระราชา ประทับที่ท้องพระโรง บัณฑิตได้เข้าเฝ้าตามปกติ พระราชาตรัสว่า“วันนี้ เรามีปัญหามาถามพวกท่านอีก” จึงถามเสนกบัณทิต ก่อนว่า “ท่านอาจารย์ มีคนอยู่ ๒ พวก  คือ คนมีปัญญา แต่ปราศจากสิริ และ คนมียศ แต่ไร้ปัญญา ระหว่างคน ๒ จำพวกนี้ ใครประเสริฐกว่ากัน”

ปัญหานี้ เกี่ยวเนื่องกับการสืบเชื้อสายมาตามวงศ์ตระกูลของเสนกะ จึงกราบทูลเฉลยปัญหา ทันทีว่า “คนทั้งหลาย ไม่ว่า จะเป็นปราชญ์ หรือคนโง่เขลา มีชาติตระกูล หรือไร้สกุลรุนชาติ  มีศิลปะ หรือไร้ศิลปะก็ตาม ต่างก็ยอมตัวเป็นข้ารับใช้ของคนมียศศักดิ์ มีทรัพย์ และเป็นใหญ่เป็นโต  ข้าพระองค์ จึงเห็นว่า คน แม้มีปัญญา แต่ไร้ยศ เป็นคนเลว ส่วนคนมียศ คือ มีทรัพย์เท่่านั้นประเสริฐ”

พระเจ้าวิเทหราช สดับคำของอาจารย์เสนกะนั้นแล้ว ไม่ตรัสถามบัณฑิต ๓ คนที่เหลือ ซึ่งนั่งอยู่ ถัดมาตามลำดับ แต่ตรัสถามมโหสถ ผู้ยังใหม่ในหมู่บัณฑิตของพระองค์

พระโพธิสัตว์ กราบทูลว่า“ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์โปรดฟังเถิดพระเจ้าข้า  คนมีทรัพย์ มียศ แต่ไร้ปัญญา ชื่อว่า “คนโง่” คนโง่นั้น อาศัยตำแหน่งหน้าที่ สร้างบาปสร้างกรรม  แล้วสำคัญว่า “ยศตำแหน่งของเรา ประเสริฐ” คนโง่ เห็นโลกนี้โลกหน้าก็เฉย ๆ ไม่แสวงหาธรรม  จึงประสบเคราะห์กรรมอยู่เสมอ ข้าพระองค์เห็นว่า คนมีปัญญานั่นแหละ ประเสริฐ ส่วนคนไร้ปัญญา แม้มีอำนาจวาสนา ก็หาประเสริฐไม่”

           ๘ สิริมันตปัญหา หมายถึง ปัญหาเกี่ยวกับคนมีสิริ คือ ทรัพย์ และยศถาบรรดาศักดิ์ กับ ปัญญา อะไร ประเสริฐกว่ากัน

           ๙  ในสมัยพุทธกาล เสนกบัณฑิต กลับชาติมาเกิด เป็นพระมหากัสสปะ

เมื่อมโหสถกราบทูลอย่างนี้ พระเจ้าวิเทหราช ทอดพระเนตรดูเสนกบัณฑิต แล้วตรัสว่า  “มโหสถ สรรเสริญคนมีปัญญาว่า ประเสริฐกว่าคนมีอิสริยยศ มิใช่หรือ ท่านอาจารย์จะว่าอย่างไร”

เสนกบัณทิต กราบทูลว่า “ขอเดชะ มโหสถยังเด็กนัก ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม จะรู้อะไร  ศิลปะก็ดี พวกพ้องก็ดี หรือรูปร่างหน้าตาก็ดี ไม่ได้จัดสรรโภคะให้โควินทเศรษฐี ถึงแม้เขาจะเป็นคนไม่สมประกอบ มีน้ำลายไหลเยิ้มตลอดเวลา ก็มีความสุข เพราะผู้คนต่างก็อยากคบหาเขา”

เสนกบัณฑิต ได้ยกเอาโควินทะ ซึ่งเป็นเศรษฐีในพระนครนั้น มาเป็นตัวอย่าง เขามีร่างกายไม่สมประกอบ ไร้บุตรธิดา ไม่มีความรู้อะไร ๆ แต่มีสมบัติมากถึง ๘๐ โกฏิ เมื่อเขาพูด จะมีน้ำลายไหลเยิ้มคาง มีหญิงสาวสองนาง แต่งตัวสวยงาม ยืนถือดอกบัวบาน คอยรับน้ำลายที่ไหลออกมาจากปาก  แล้วโยนทิ้งทางหน้าต่าง

พวกนักเลงสุรา เมื่อจะเข้าร้านสุรา ต้องการดอกบัวไปประดับ ก็พากันไปเรียกเศรษฐี  เมื่อเศรษฐีพูดว่า “เรียกข้าทำไม” ขณะพูด น้ำลายก็ไหลออกจากปาก หญิงสาวทั้งสองนาง ก็ช่วยกันเอาดอกบัวรับน้ำลายไว้ แล้วโยนทิ้งทางหน้าต่าง พวกนักเลงสุรา ก็เก็บดอกบัวรองน้ำลายเศรษฐี  ที่หญิงสาวโยนทิ้ง เอาไปล้างน้ำประดับตัวเข้าร้านเครื่องดื่ม

เสนกะ ยกโควินทเศรษฐีในมิถิลานครนั้นเอง ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ได้กราบทูลว่า “แม้เศรษฐีจะเป็นคนไม่สมประกอบ ไม่มีปัญญา แต่ก็สมบูรณ์ด้วยสิริอย่างนี้ เพราะมีทรัพย์มาก ข้าพระองค์ เห็นว่า คนมีปัญญา เป็นคนเลวทราม คนมีทรัพย์ เป็นคนประเสริฐ”

พระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสถามมโหสถด้วยความเอ็นดูว่า “บัณฑิตน้อย เธอจะแก้อย่างไร”  

มโหสถ กราบทูลว่า “เสนกะคนนี้ หลงมัวเมาในยศถาบรรดาศักดิ์ และทรัพย์สมบัติเท่านั้น  ไม่เห็นค้อนใหญ่จะทุบหัวตน โปรดรับฟังเถิดพระเจ้าข้า คนไร้ปัญญา ยามสุขก็ลืมหลงตัวตน เมื่อถึงคราวทุกข์ ก็พร่ำเพ้อรำพัน ครั้นถูกสุขบ้างทุกข์บ้างมากระทบ ก็ทุรนทุรายเหมือนปลาหน้าแล้ง  ข้าพระองค์เห็นอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญานั่นแหละ ประเสริฐ คนโง่ ถึงแม้มียศตำแหน่ง ก็หาประเสริฐไม่”

พระเจ้าวิเทหราช สดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสถามเสนกะว่า “ท่านอาจารย์ จะแก้อย่างไร”

เสนกบัณฑิต กราบทูลว่า “บัณฑิตน้อยนี้ จะรู้อะไร ไม่ต้องพูดถึงมนุษย์ แม้แต่ต้นไม้ที่มีลูก ดกหนา ฝูงนกกาก็ยังได้พึ่งพาอาศัย ฝูงนกกาย่อมบินไปหาต้นไม้ในป่าที่มีลูกดก ผู้คนเป็นอันมาก ย่อมคบค้าสมาคมกับคนรวยเท่านั้น เพราะต้องการทรัพย์ ข้าพระองค์เห็นอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า  คนมีปัญญา เป็นคนต่ำทราม คนมีสิริเท่านั้น เป็นคนประเสริฐ”

พระเจ้าวิเทหราช ตรัสกับมโหสถว่า “เธอจะแก้อย่างไร บัณฑิตน้อย”  

มโหสถ กราบทูลว่า “เสนกบัณฑิต คนลงพุงนี้ จะรู้อะไร โปรดรับฟังเถิด พระเจ้าข้า คนโง่  แม้มีอำนาจวาสนา ก็ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด เบียดบังเอาทรัพย์เขามา หารู้ไม่ว่า ยมทูต จะฉุดคร่า คนเขลาผู้ร้องไห้อยู่ ลงนรก ข้าพระองค์ขอยืนยันว่า คนมีปัญญานั่นแหละ ประเสริฐ ส่วนคนเขลา  แม้มียศ ก็หาประเสริฐไม่”  

พระเจ้าวิเทหราช ตรัสถามเสนกะว่า “ท่านอาจารย์ จะแก้อย่างไร”

เสนกบัณฑิต กราบทูลว่า “แม่น้ำทุกสาย เมื่อไหลลงสู่แม่น้ำคงคาแล้ว ย่อมทิ้งชื่อเสียงเรียงนาม ผู้คนพากันเรียกว่า “แม่น้ำคงคา” ครั้นแม่น้ำคงคา ไหลไปสู่มหาสมุทร ชื่อก็หมดไป  คงได้ชื่อใหม่ว่า “มหาสมุทร” คนแม้มีปัญญามากแค่ไหน พอเข้าบ้านคนรวย ก็หมดความสำคัญลง  เหมือนแม่น้ำคงคา ไหลลงไปสู่มหาสมุทร ข้าพระองค์ ยืนยันว่า คนมีปัญญา เป็นคนต่ำทราม ส่วนคนมีทรัพย์ เป็นผู้ประเสริฐ”

พระราชา ตรัสกับมโหสถว่า “บัณฑิตน้อย เธอจะแก้อย่างไร ก็ว่าไป”  

มโหสถ กราบทูลว่า “มหาสมุทรที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง มีแม่น้ำน้อยใหญ่นับไม่ถ้วน  ไหลลงไปรวมกัน แม้มหาสมุทรนั้น จะมีคลื่นใหญ่สาดซัดแค่ไหน แต่คลื่นก็ไม่เคยล่วงฝั่งไปได้  เหมือนคำพูดของคนโง่ ไม่เคยมีพลังเกินถ้อยคำของบัณฑิต ข้าพระองค์ ยืนยันว่า คนมีปัญญา เป็นคนประเสริฐ คนเขลา แม้มีตำแหน่งหน้าที่ ก็หาประเสริฐไม่” 

เสนกบัณฑิต ตอบโต้ว่า “คนมีตำแหน่ง เป็นถึงผู้พิพากษา แม้ไม่สำรวมระวัง เป็นคนทุศีล  ตัดสินอะไรไป แม้ไม่ถูกต้อง ผู้คนยังเชื่อถือ มากกว่าคำพูดของคนมีปัญญา แต่ไร้ตำแหน่ง  ข้าพระองค์ เห็นดังนี้ จึงกราบทูลยืนยันว่า คนมีปัญญา เป็นคนต่ำช้า ส่วนคนมีสิริ  เป็นคนประเสริฐ”

มโหสถ แก้ว่า “เสนกะคนโง่เขลา จะรู้อะไร คนเขลา ชอบโกหกทั้งตนเองและผู้อื่น  เพราะไม่รู้ผิดชอบชั่วดี มักถูกตำหนิในที่ประชุม แม้ตายไป ก็จะไปเกิดในนรก ข้าพระองค์ เห็นดังนี้  จึงยืนยันว่า คนมีปัญญาเท่านั้น เป็นคนประเสริฐ คนโง่เขลา แม้มียศ หาประเสริฐไม่

เสนกบัณฑิต ตอบโต้ว่า “คนมีปัญญาดุจแผ่นดิน แต่ไร้ที่ซุกหัวนอน ดีแต่ปาก ยากจน แม้แต่ ญาติ ก็ยังไม่คบหา หมดสง่าราศี พูดกลางหมู่ญาติ ก็ไม่มีใครอยากฟัง ข้าพระองค์ เห็นดังนี้  จึงกล่าวว่า คนมีปัญญา เป็นคนต่ำช้า คนรวยเท่านั้น เป็นคนประเสริฐ”  

มโหสถ แก้ว่า “เสนกะ เห็นแค่โลกนี้เท่านั้น ไม่ได้เห็นไปถึงโลกหน้า คนมีปัญญาดุจแผ่นดิน ไม่พูดเหลาะแหละ เหลวไหล เพ้อเจ้อ ไม่เห็นแก่พรรคพวก เขาย่อมถูกประชาชนยกย่องสรรเสริญ ท่ามกลางที่ประชุม ถึงตายแล้ว ก็ไปเกิดในสวรรค์ ข้าพระองค์ เห็นดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญา เท่านั้น เป็นคนประเสริฐ คนโง่เขลา แม้มียศ ก็หาประเสริฐไม่”

เสนกะ กล่าวว่า “ช้าง ม้า โค ต่างหู แก้วมณี และสตรีทั้งหลาย ล้วนเป็นของผู้มีอำนาจ  ผู้มีปัญญา แต่ไร้ทรัพย์ ก็เป็นได้แค่คนใช้ของผู้มีอำนาจ ข้าพระองค์ เห็นดังนี้ จึงกราบทูลว่า  คนมีปัญญา เป็นคนต่ำช้า ส่วนคนมีสิริเท่านั้น เป็นคนประเสริฐ”

มโหสถ ตอบโต้ว่า “สิริ ย่อมละทิ้งคนพาล ที่มีแต่ความโง่เขลา ไร้ความคิด แม้มีอำนาจ วาสนา ก็รักษาอำนาจวาสนาไว้ไม่ได้ ข้าพระองค์ เห็นดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้น    เป็นคนประเสริฐ คนโง่เขลา แม้มียศ หาประเสริฐไม่”

เสนกบัณฑิต คิดว่า จะต้องทำให้มโหสถจนมุมให้ได้ จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ มโหสถยังเด็กนัก  จะรู้อะไร ขอพระองค์โปรดฟังเถิด พวกข้าพระองค์ทั้งหมด แม้เป็นบัณฑิต นับว่ามีปัญญา ยังต้องเป็นข้ารับใช้ประคองอัญชลีต่อพระองค์ พระองค์มีอำนาจเหนือพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่ต่างจาก ท้าวสักกเทวราชเป็นเจ้าแห่งเทพทั้งหลาย ข้าพระองค์ เห็นดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญา  เป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้น เป็นคนประเสริฐ”

พระเจ้าวิเทหราช ทรงดำริว่า คำแก้ของอาจารย์เสนกะมีเหตุผลดี บุตรของเราจะสามารถยกเหตุผลอื่นมาแก้ได้หรือไม่  จึงตรัสว่า “บัณฑิตน้อย เธอจะแก้อย่างไร”

เมื่อเสนกบัณฑิต ยกเหตุผลนี้ มาคัดค้าน เพื่อยกเอาพระเจ้าแผ่นดินมาแอบอ้างข่มมโหสถ  คนอื่น เว้นพระบรมโพธิสัตว์เสียแล้ว ก็ไม่มีใคร สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะถ้าแก้ไม่ดี ก็จะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เมื่อพระโพธิสัตว์ จะหักล้างวาทะแห่งเสนกบัณฑิตนั้น ด้วยกำลังแห่งปัญญาของตน จึงกราบทูล ว่า “ขอเดชะ เสนกะนี้ ช่างโง่นัก สมองคิดแต่เรื่องยศ เรื่องตำแหน่งเท่านั้น ไม่คิดที่จะใช้ปัญญา สร้างยศ จึงไม่รู้ถึงพลานุภาพแห่งปัญญา ขอพระองค์จงโปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า

คนโง่เขลา ที่มียศตำแหน่ง ในยามมีปัญหาลึกซึ้งต้องแก้ไข มักตกเป็นทาสของคนฉลาด  คนฉลาดเท่านั้น จะสามารถแก้ไขเรื่องที่ละเอียดได้ ส่วนคนโง่เขลา แม้มียศถาบรรดาศักดิ์  ก็ถึงความงวยงง อับจนปัญญา คนมีปัญญา จึงประเสริฐ ส่วนคนโง่เขลา แม้มียศ ก็หาประเสริฐไม่”              

เสนกะ ใช้ความรู้ไปจนหมด จึงนั่งเก้อ ซบเซาอยู่ ไม่รู้จะตอบโต้อย่างไร

เมื่อเสนกะ หมดปฏิภาณ นิ่งอยู่ พระราชาเห็นอากัปกิริยาเช่นนั้น ก็ทราบว่า หมดภูมิ ที่จะโต้  จึงรับสั่งกับมโหสถว่า “บัณฑิตน้อย เจ้ายังมีอะไรจะพูดอีก”

มโหสถ ได้พรรณนาพลานุภาพแห่งปัญญา ต่อไปว่า “สัตบุรุษทั้งหลาย สรรเสริญปัญญาว่า  ประเสริฐ ส่วนพวกคนเขลา หลงมัวเมาอยู่กับยศตำแหน่ง จึงมัวแต่แสวงหายศถาบรรดาศักดิ์  ปัญญาญาณของบัณฑิต ล้ำลึกเกินกว่าจะหยั่งรู้ คนมียศถาบรรดาศักดิ์ จะเก่งกว่าคนมีปัญญา ไม่ได้” พระเจ้าวิเทหราช สดับคำนั้น ก็ทรงโสมนัส พระราชทานรางวัลมากมาย ให้พระโพธิสัตว์

นางในดวงใจ

ตั้งแต่นั้นมา มโหสถ ก็มีอำนาจวาสนามากยิ่งขึ้น  เมื่อมโหสถ มีอายุได้ ๑๖ ปี เจ้าหญิงอุทุมพร  ดำริว่า มโหสถ โตเป็นหนุ่มแล้ว ทั้งมีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในยศถาบรรดาศักดิ์ ควรจะมีครอบครัว  จึงได้กราบทูลพระเจ้าวิเทหราช พระราชา ทรงเห็นชอบด้วย จึงแจ้งให้มโหสถทราบ เมื่อมโหสถรับแล้ว จึงมีพระเสาวนีย์ว่า จะหาหญิงสาวมาให้

มโหสถ คิดว่า สตรีที่พระพี่นางจัดหามาให้ อาจจะไม่เป็นที่ชอบใจ ควรจะเลือกดูเอง จึงทูลว่า  จะเลือกสตรีด้วยตนเอง

พระนางอุทุมพรเทวี ทรงอนุญาต มโหสถ จึงกลับเรือน แจ้งให้สหายทราบแล้ว ปลอมตัวเป็นช่างชุนผ้า ถืออุปกรณ์สำหรับรับจ้างเย็บผ้า ออกจากพระนครทางประตูด้านทิศเหนือ เพียงลำพังคนเดียว ไปหมู่บ้านอุตตรยวมัชฌคาม

ที่หมู่บ้านนั้น มีสกุลเศรษฐีเก่าแก่อยู่สกุลหนึ่ง บัดนี้ ยากจนลง มีบุตรสาว รูปร่างหน้าตางดงาม น่ารัก เพียบพร้อมด้วยลักษณะผู้ดี ตามเชื้อสายวงศ์สกุลทุกอย่าง

วันนั้น นางต้มข้าว ตั้งแต่เช้ามืด ออกจากเรือน นำไปให้บิดาที่กำลังไถนา เดินสวนทางกับมโหสถ

มโหสถบัณฑิต เห็นนางเดินสวนทางมา คิดในใจว่า หญิงสาวคนนี้ เพียบพร้อมด้วยลักษณะผู้ดี ทุกอย่าง หากเธอ ยังไม่มีสามี ก็จะเป็นภรรยาของเราได้

ฝ่ายหญิงสาว พอเห็นมโหสถ ก็คิดในใจเช่นกันว่า ชายผู้นี้ ท่าทางสง่างาม หากเราได้เขาเป็นสามี ทรัพย์สมบัติ ก็จะพอกพูน กลับขึ้นมามั่งคั่ง ได้ไม่ยาก

มโหสถ ไม่รู้ว่า หญิงสาวคนนี้ มีสามีหรือยัง จึงคิดวิธีถามนาง ด้วยแสดงใบ้ เพื่อทดสอบภูมิปัญญา ถ้านางฉลาด ก็จะรู้ความหมายที่ถาม ถ้าเป็นคนไม่มีปัญญา ก็จะไม่รู้ความหมาย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาอยู่ที่นี่นาน จึงหยุดยืนอยู่ห่าง ๆ แล้วกำมือเข้า ยื่นมือออกไปให้เห็น สื่อหมายความว่า“เธอ มีสามีหรือยัง” หญิงสาวมองเห็น ก็รู้ได้ทันทีว่า ชายผู้นี้ ถามว่า ตนมีสามีหรือยัง จึงยืนอยู่ตรงนั้น  แล้วแบมือออก หมายความว่า “ชีวิตฉัน ว่างเปล่าอยู่ ยังไม่มีคู่ครอง”

มโหสถ ก็รู้ได้ทันทีเช่นกันว่า นางยังไม่มีสามี จึงเดินเข้าไปหา ถามว่า “เธอ ชื่ออะไร?” หญิงสาวรู้ว่า ชายผู้นี้ เป็นคนมีปัญญา จึงตอบคำถามเป็นปริศนาว่า “สิ่งใด ไม่เคยไม่มี ทั้งในอดีต  ในอนาคต และปัจจุบัน นั่น คือ ชื่อของดิฉัน”

มโหสถบัณฑิต กล่าวว่า “ชื่อว่า ความไม่ตาย ไม่มีในโลก ไม่ว่าอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน     เธอ เห็นจะชื่อว่า อมรา” หญิงสาวรับว่า “ถูกแล้วจ๊ะ ฉันชื่อ อมรา” มโหสถ ถามต่อไปว่า “เธอ จะนำข้าวต้ม ไปให้ใคร” หญิงสาวบอกว่า “นำไปให้บุรพเทวดา จ๊ะ” มโหสถกล่าวว่า “บิดามารดา ชื่อว่า บุรพเทวดา เธอคงจะนำข้าวต้ม ไปให้บิดาของเธอ” หญิงสาว รับตามนั้น  มโหสถถามว่า “บิดาเธอ ทำงานอะไร” หญิงสาวตอบว่า “บิดาของดิฉัน ทำสิ่งหนึ่ง โดยส่วนสอง”  มโหสถกล่าวว่า “การไถนา ชื่อว่า การทำสิ่งหนึ่ง โดยส่วนสอง เพราะขณะไถ เป็นทางเดียว  แต่ดินแยกออกเป็นสองทาง บิดาของเธอ เห็นจะกำลังไถนา” หญิงสาวรับว่า “ถูกแล้ว”

มโหสถ ถามว่า “บิดาของเธอ ไถนาอยู่ที่ไหน” หญิงสาวตอบว่า “บิดาของดิฉัน ไถนา ในที่คนทั้งหลายไปได้เพียงอย่างเดียว แล้วไม่กลับมาอีกเลย” มโหสถกล่าวว่า “ป่าช้า เป็นสถานที่  ที่คนตาย ไปเพียงอย่างเดียว แล้วไม่กลับ บิดาของเธอ คงจะไถนา ใกล้ป่าช้า” หญิงสาวรับว่า  ถูกแล้ว

มโหสถ ถามต่อไปว่า “วันนี้ เธอจะกลับเรือนหรือไม่” นางอมราตอบว่า “ถ้ามา ดิฉันจะยังไม่กลับ ถ้าไม่มา ดิฉันจะกลับ” มโหสถกล่าวว่า “บิดาของเธอ เห็นจะไถนา ใกล้แม่น้ำ เมื่อน้ำหลากมา เธอจะยังไม่กลับ ถ้าน้ำ ไม่หลากมา เธอจะกลับ” หญิงสาวรับว่า ถูกแล้ว

ครั้นคนทั้งสอง เจรจาโต้ตอบกันเท่านี้แล้ว หญิงสาว จึงเชิญมโหสถ ให้ทานข้าวต้ม แล้ววาง   หม้อข้าวต้มลง มโหสถ ต้องการทดลองหญิงสาว คิดว่า การปฏิเสธ ตั้งแต่พบกันครั้งแรก เป็นการ  เสียมารยาท ถ้านางอมรา ไม่ล้างภาชนะ ไม่ให้น้ำล้างมือ แล้วตักข้าวต้มให้เรา เราจะไปจากนางทันที  จึงกล่าวว่า “ก็ดีเหมือนกัน ฉันกำลังหิวอยู่พอดี”

นางอมรา วางหม้อข้าวลง ล้างถ้วย แล้วตักน้ำมาให้มโหสถล้างมือ ไม่วางถ้วยเปล่าไว้ที่มือมโหสถ แต่วางไว้ที่พื้น คนข้าวในหม้อ แล้วตักข้าวต้มใส่เต็มถ้วย ข้าวต้มในถ้วยนั้น มีเมล็ดข้าว มากกว่าน้ำ มโหสถ พูดเป็นเชิงสัพยอกเย้าเล่นว่า “เห็นท่า น้ำจะแล้ง มีแต่ข้าวเต็มถ้วย น้ำไม่มี”  หญิงสาวตอบว่า “น้ำแล้ง จ๊ะ” มโหสถ ไม่ลดละ ยังต่อปากต่อคำว่า “เธอคงไม่ได้ตักน้ำมาจากทุ่ง กระมัง” หญิงสาวตอบว่า “ไม่ได้ตักมา จ๊ะ” หญิงสาว แบ่งข้าวต้มไว้ให้บิดา เหลือจากนั้น  จึงให้มโหสถทาน มโหสถทานข้าวต้มอิ่ม บ้วนปากแล้ว ถามทางไปเรือนว่า “ฉันอยากไปเรือนเธอ จะบอกทางได้ไหม”

นางอมรา ตอบว่า “ได้จ๊ะ” แล้วบอกทางแก่มโหสถ เป็นปริศนาว่า “ร้านขายข้าวสัตตุ  ร้านขายน้ำส้มสายชู และต้นทองหลางใบซ้อนกัน กำลังออกดอกบานสะพรั่ง อยู่ทางไหน  ให้ไปทางนั้น ดิฉันถือภาชนะใส่ข้าวต้ม ด้วยมือข้างไหน ไม่บอกด้วยมือข้างนั้น นั่น คือทางไปเรือนดิฉัน ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตตรยวมัชฌคาม”

มโหสถ ไปเรือนตามทางที่นางอมราบอกเป็นปริศนา ได้ไม่ยาก มารดาหญิงสาวเห็นมโหสถ  จึงเชิญให้นั่ง แล้วถามว่า “ทานข้าวต้มมาหรือยัง” มโหสถตอบว่า “น้องหญิงอมรา ให้ทานมาบ้างแล้ว จ๊ะ” มารดาของนางอมรา รู้ในทีว่า ชายหนุ่มคนนี้ คงชอบลูกสาวของตน จึงตามมาถึงเรือน แต่นางก็ยังไม่พูดอะไร มโหสถมองดูภายในเรือน ก็รู้ว่า สกุลนี้ ค่อนข้างยากจน แต่ก็ถามว่า   “ฉันเป็นช่างชุนผ้า พอจะมีผ้าเก่า ให้ฉันชุนบ้างไหม”

มารดานางอมรา ตอบว่า “ผ้านะมีดอก พ่อหนุ่ม แต่ค่าจ้าง ไม่มีให้” มโหสถ กล่าวว่า“ฉัน ไม่ชุนเอาค่าจ้างก็ได้จ๊ะ แม่เอามาเถอะ ฉันจะเย็บให้เปล่า” มารดานางอมรา จึงนำผ้าเก่ามาให้มโหสถชุน มโหสถทำได้คล่องแคล่ว เย็บผ้าทั้งหมด ประเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ แล้วบอกให้มารดานางอมรา ไปบอกให้ชาวบ้านนำผ้ามาจ้างชุน มารดานางอมรา ก็บอกชาวบ้านทั่วไป มโหสถชุนผ้าวันเดียว ได้เงินถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ

มารดานางอมรา เตรียมหุงหาอาหารเย็น แต่ไม่ทราบว่า มโหสถ จะอยู่ทานข้าวด้วยหรือไม่  จึงถามด้วยความฉลาดว่า “เวลาเย็น แม่ควรจะหุงข้าว เท่าไร” เมื่อทราบว่า มโหสถจะอยู่ทานข้าวด้วย นางจึงหุงหาอาหารดีเป็นพิเศษ ทั้งแกงและกับ

ครั้นตกเย็น นางอมรา กลับจากส่งข้าวบิดา เอามัดฟืนทูนศีรษะ มาจากป่า เก็บฟืนเสร็จแล้ว  จึงเข้าเรือน

ส่วนบิดา กลับบ้านเย็นกว่าบุตรสาว มโหสถ ทานอาหารร่วมกับบิดามารดาของหญิงสาว  ส่วนนางอมรา ดูแลคนเหล่านั้นก่อน จึงทานภายหลัง

มโหสถ คอยสังเกตอยู่ในบ้านนั้น สองสามวัน วันหนึ่ง มโหสถต้องการทดลองใจหญิงสาว  จึงบอกให้เธอเอาข้าวสารกึ่งทะนาน แบ่งส่วน ต้มข้าวต้ม ทำขนม และหุงข้าวสวย หญิงสาวเอาข้าวเปลือกมาตำ แล้วเลือกเอาข้าวสารมีเมล็ดเต็ม หุงเป็นข้าวสวย เอาข้าวสารหัก ต้มเป็นข้าวต้ม และเอาปลายข้าวสารป่น ทำขนม ทำกับข้าวให้พอดีกับข้าวสวย ให้มโหสถ พอมโหสถทานข้าวต้ม ก็รู้ว่า มีรสดีมาก แต่ก็ทำเป็น แสดงอาการว่า อาหารไม่ได้เรื่อง ถ่มถุยข้าวต้มทิ้ง บ่นอุบอิบว่า  “เธอทำอาหารยังไง ทำให้ข้าวสาร เสียหายไปเปล่า โดยใช่เหตุ” แล้วส่งถ้วยข้าวต้มคืนให้

หญิงสาว ไม่แสดงอาการโกรธ เจ้าแง่แสนงอน แววตาสงบนิ่ง กล่าวด้วยใบหน้าราบเรียบว่า  “ถ้าข้าวต้มไม่อร่อย จะรับขนมก็ได้ นะจ๊ะ” แล้วส่งขนม ให้มโหสถ มโหสถแสดงอาการเหมือนเดิม  นางอมรากล่าวว่า “ถ้าขนมไม่อร่อย รับข้าวสวยก็ได้จ๊ะ” แล้วส่งข้าวสวยให้ มโหสถทำเป็นขัดเคือง  ขยำอาหารทั้งสามอย่าง รวมกัน เทราดหญิงสาว ตั้งแต่หัวลงมา แล้วไล่ให้ไปนั่งอยู่ที่ประตู

แม้เช่นนี้ หญิงสาวก็เฉย ๆ ไม่โกรธ เดินออกไปนั่งอยู่ที่ประตูตามคำสั่ง ด้วยกิริยาอ่อนน้อม  มโหสถเห็นแล้ว อดสงสารไม่ได้ รู้ว่า นางไม่ใช่คนเจ้าแง่แสนงอน เหมือนหญิงทั่วไป จึงเรียกกลับมา  หญิงสาวได้ยินมโหสถเรียก จึงเดินเข้ามานั่งลงใกล้ ๆ มโหสถ อย่างว่าง่าย

เมื่อมโหสถ ออกจากบ้านมานั้น ได้นำผ้าและเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ มาด้วย มโหสถ ให้ผ้านั้น แก่หญิงสาว บอกให้ไปอาบน้ำแต่งตัวใหม่ หญิงสาวทำตามอย่างว่าง่าย มโหสถจึงพูดขอหญิงสาวจากพ่อแม่ของนาง  และให้เงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ ที่ได้จากการชุนผ้า และเงินอีก ๑,๐๐๐ กหาปณะ ที่นำติดตัวมา รวมเป็น ๒,๐๐๐ กหาปณะ เป็นสินสอด แล้วลาพ่อตาแม่ยาย พานางอมรากลับมิถิลานคร

คู่ชีวิตมหาบัณฑิต

มโหสถ เอาร่มและรองเท้า ให้นางอมราใช้ ขณะเดินทาง เธอรับของทั้งสองอย่างแล้ว พากันเดินทางไป หญิงสาว หุบร่มเสีย ในขณะออกสู่ที่โล่งแจ้ง แดดจ้า และถอดรองเท้า ถือเดินไปในที่ดอน  พอถึงที่ลุ่ม มีน้ำขัง ก็สวมรองเท้าเดิน มโหสถเห็น จึงถามถึงสาเหตุว่า ทำไมจึงทำอย่างนั้น

นางตอบว่า “ในที่ดอน มองเห็นหนาม ที่จะตำเท้า แต่ในน้ำ มองไม่เห็น จึงต้องสวมรองเท้า ในที่มีน้ำ” มโหสถคิดว่า หญิงสาวคนนี้ ฉลาด หลักแหลมมาก แล้วเดินทางต่อไป จนถึงป่า หญิงสาวก็กั้นร่ม เดินไป มโหสถถามว่า “คนทั่วไป กั้นร่มกันแดด แต่ทำไมเธอ กลับกั้นร่มในป่า ที่มีร่มไม้”  นางตอบว่า “ที่ฉันทำอย่างนี้ เพราะกลัวกิ่งไม้แห้ง ตกถูกศีรษะ” มโหสถดีใจว่า นางฉลาดหลักแหลม

เมื่อมโหสถ เดินทางไปกับนาง เห็นต้นพุทรามีผลดกหนา จึงหยุดนั่ง ใต้ต้นพุทรา หญิงสาวบอกมโหสถ ขึ้นไปเก็บพุทราให้กิน แต่มโหสถ บอกว่า เหนื่อย ขึ้นไม่ได้ ให้ขึ้นกินเอง นางจึงปีนขึ้นไป เก็บผลพุทรากิน

มโหสถ บอกนางโยนลงมาให้กินบ้าง นางคิดจะทดลองว่า ชายนี้ ฉลาดหรือไม่ จึงถามว่า “เธอจะกินผลร้อน หรือผลเย็น” แม้มโหสถ จะรู้เหตุที่นางถาม เพื่อจะทดลอง ก็ทำเป็นไม่รู้ แล้วตอบ ว่า “ฉันต้องการผลร้อน” นางเก็บพุทรา โยนไปที่พื้นดิน มโหสถ ก็เก็บพุทรามาปัดฝุ่นออก แล้วเคี้ยวกิน

เมื่อมโหสถจะทดลองนางอีก จึงกล่าวว่า “ฉันอยากกินผลเย็นบ้าง” นางก็เก็บผลพุทราโยนไปบนพื้นหญ้า มโหสถ ไม่ต้องปัดฝุ่น เก็บพุทรานั้นมากินได้เลย ครั้นทดลองเช่นนี้ รู้ว่า นางฉลาดเหลือเกิน ก็ดีใจ แล้วบอกให้นางลงจากต้นพุทรา

หญิงสาวลงจากต้นพุทรา แล้วถือภาชนะ ไปตักน้ำมาให้มโหสถดื่ม จากนั้น จึงพากันเดินเข้าพระนคร มโหสถ ให้นางหยุดพักอยู่ที่เรือนคนเฝ้าประตูพระนคร แล้วบอกภรรยาคนเฝ้าประตู ให้ทราบ เพื่อทดลองนาง ส่วนตนเอง ล่วงหน้าเข้าบ้านไปก่อน เรียกสหายมาบอกให้ไปทดลองพูดเกี้ยวนางอมรา

พวกชายหนุ่ม ไปหานางอมรา ทำตามที่มโหสถสั่ง หญิงสาวไม่ใส่ใจ กลับคิดว่า ชายเหล่านี้ เทียบไม่ได้กับสามีของตน มโหสถ ให้ชายหนุ่มไปทำเช่นนั้นหลายครั้ง พอครั้งสุดท้าย จึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ก็ไปฉุดนางมา” พวกเขา ไปทำตามที่มโหสถสั่ง หญิงสาวมาเห็นมโหสถแต่งตัวอย่างเสนาบดี มีทรัพย์สมบัติมาก ก็จำไม่ได้ มองดูมโหสถแล้ว หัวเราะ และร้องไห้ มโหสถถามเหตุนั้น  เธอจึงบอกว่า “ดิฉัน เห็นสมบัติท่าน ก็นึกในใจว่า ท่านมีสมบัติมาก เพราะได้ทำกุศลไว้ในชาติก่อน  จึงคิดว่า ผลบุญ น่าอัศจรรย์จริง นึกในใจดังนี้ จึงหัวเราะ แต่ที่ร้องไห้ ก็เพราะสงสารว่า   บัดนี้ ท่านมาทำร้ายคนที่มีสามีหวงแหน ก็จะไปเกิดในนรก”

เมื่อมโหสถทดลองนางอมรา ก็รู้ว่า นางมีความบริสุทธิ์ใจ ไม่เห็นแก่ทรัพย์ จึงสั่งบริวารของตน ให้พานางไปอยู่ที่เดิม แล้วแต่งตัวเป็นช่างชุนผ้า ไปค้างคืนอยู่กับนาง ครั้นรุ่งเช้า ก็ไปราชสำนัก ทูลเรื่องทั้งหมด ให้พระนางอุทุมพรเทวีทราบ

พระนางนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าวิเทหราช แล้วประดับนางอมราด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ ให้นั่งในวอ ที่ประดับอย่างดี นำมายังบ้านมโหสถ จัดพิธีแต่งงานให้ ด้วยเกียรติอันยิ่งใหญ่

พระราชาทรงส่งทรัพย์ไปเป็นของขวัญแก่มโหสถ ชาวพระนครทั้งหมด ตั้งแต่คนรักษาประตู  ต่างจัดของขวัญมาให้

ฝ่ายนางอมราเทวี แบ่งของที่ได้รับพระราชทาน คืนเข้าพระคลังหลวง ส่วนหนึ่งรับไว้ ส่วนหนึ่ง แล้วนำไปมอบเป็นของขวัญ ให้กับประชาชน เพื่อเป็นการผูกมิตรกับชาวพระนคร ตั้งแต่นั้นมา มโหสถ ก็อยู่ร่วมกับหญิงสาว ได้ถวายอนุศาสน์อรรถธรรม แด่พระราชาสืบมา

เกมคนโกง

อยู่มาวันหนึ่ง คณะมนตรีทั้ง ๔ คน ปรึกษากันว่า“ลำพังมโหสถเพียงคนเดียว พวกเราก็ไม่สามารถเทียบได้ บัดนี้ เขาได้ภรรยาผู้ฉลาด พวกเรา จะทำอย่างไร ต้องหาทางทำให้พระราชา  เกิดความระแวงมโหสถให้ได้” เสนกบัณฑิต จึงวางแผนใส่ความมโหสถ โดยตนเอง จะขโมยปิ่นปักผม  แก้วมณีของพระราชา ปุกกุสะขโมยสุวรรณมาลา กามินทะขโมยผ้าคลุมบรรทมกัมพล ส่วนเทวินทะ ขโมยฉลองพระบาททองคำ แล้วหาทางนำไปซ่อนไว้ในเรือนของมโหสถ อย่าให้เป็นที่สงสัยได้

ครั้นตกลงกันตามนั้น เสนกะ จึงแอบเอาปิ่นปักผมแก้วมณี ใส่ไว้ในหม้อเปรียง แล้วให้สาวใช้ คนหนึ่ง นำหม้อเปรียงนั้น ออกไปเร่ขาย กำชับว่า ถ้าคนอื่นรับซื้อไว้ อย่าขายให้ แต่ถ้าคนในเรือน  มโหสถรับซื้อ ให้ขายทั้งหม้อ สาวใช้ ไม่รู้ว่า เสนกะแอบเอาปิ่นปักผมแก้วมณี ใส่ไว้ในหม้อเปรียง  ก็ร้องขายเรื่อยไป ตามนายสั่ง แม้มีคนถามซื้อ ก็ไม่ยอมขาย จนมาถึงบ้านมโหสถ ก็ร้องขาย เดินกลับไปกลับมาอยู่หน้าบ้าน

นางอมราเทวี ยืนอยู่ที่ประตู เห็นท่าทาง ก็ผิดสังเกต แปลกใจว่า หญิงขายเปรียงนี้ ไม่ยอมไปที่อื่น น่าจะมีอะไร ผิดปกติ จึงบอกให้คนใช้ของตน หลบไปก่อน แล้วกำชับว่า ถ้าตนเรียก ก็อย่าเพิ่งเข้ามา จนกว่าจะมีคนไปตาม จากนั้น จึงเรียกคนขายเปรียงมาว่า จะรับซื้อ เมื่อคนขายเปรียงเข้ามาแล้ว นางอมราเทวี ทำเป็นเรียกพวกคนใช้ของตน ไปหยิบเงินมาให้ พวกคนใช้ ก็ทำเป็นไม่ได้ยิน นายเรียก เพราะนัดแนะกันไว้ก่อน นางอมราเทวี จึงทำเป็นบ่นอุบอิบเหมือนขัดเคืองใจ  แล้วบอกให้คนขายเปรียง ไปเรียกคนใช้ของตนมาให้ ขณะที่คนขายเปรียง กำลังเดินไป นางจึงล้วงมือลงในหม้อเปรียง พบปิ่นปักผมแก้วมณี เมื่อนางคนขายเปรียงกลับมา จึงถามว่า มาจากไหน นางบอกว่า  เป็นคนใช้ในบ้านของอาจารย์เสนกะ

นางอมราเทวี ซักถามชื่อของนาง ตลอดจนชื่อบิดามารดา เมื่อได้รับคำตอบแล้ว  จึงสอบถามราคาเปรียงว่า ราคาเท่าไร เมื่อนางคนขาย บอกราคา จึงขอซื้อไว้ทั้งหมด  คนขายเปรียง กล่าวว่า ถ้าซื้อเปรียงทั้งหมด ก็เอาไว้ทั้งหม้อ โดยไม่คิดราคา นางอมรา ตกลงรับซื้อไว้ แล้วให้คนขายเปรียงกลับไป ได้บันทึกข้อมูลลงในสมุดจดงาน เป็นลายลักษณ์อักษรไว้  เป็นหลักฐานว่า วันนั้น เดือนนั้น อาจารย์เสนกะ ให้คนใช้ชื่อนี้ ธิดาของคนชื่อนี้ นำปิ่นปักผมแก้วมณีของพระราชา มาเร่ขาย

แม้ปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะ ก็ส่งราชาภรณ์อื่น ๆ ซุกซ่อนในผัก ผลไม้ และมัดข้าวโพด  ไปขาย โดยทำนองเดียวกัน นางอมราเทวี รับซื้อไว้ทั้งหมด แล้วลงบันทึกเรื่องไว้เป็นหลักฐานอย่างละเอียดเช่นเคย บอกให้มโหสถทราบเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น แล้วเก็บหลักฐานไว้

ฝ่ายเสนกะ ไปกราบทูลเตือนพระราชาว่า ไม่เห็นพระองค์ประดับแก้วจุฬามณีนานแล้ว พระเจ้าวิเทหราช นึกขึ้นได้ จึงรับสั่งให้ข้าหลวง ไปนำมาประดับ เมื่อข้าหลวงคนนั้นไปดู ไม่เห็นแก้วจุฬามณี และราชาภรณ์อื่น ๆ จึงกลับมารายงานพระราชา อาจารย์ทั้ง ๔ คน ทำทีเป็นตกใจ กราบทูลพระราชา ว่า ราชาภรณ์ของพระองค์หายไป น่าจะมีคนคิดการใหญ่ แล้วทูลยุยงพระราชาว่า พวกตนได้เห็น เครื่องราชาภรณ์ อยู่ในเรือนมโหสถ การที่มโหสถ แอบนำราชาภรณ์ไปใช้เองเช่นนี้นั้น  เป็นการไม่จงรักภักดี ส่อแสดงว่า กำลังคิดการอันเป็นกบฏต่อพระองค์

สายสืบที่มโหสถวางไว้ ได้ไปแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้มโหสถทราบล่วงหน้า มโหสถคิดว่า  หากเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลให้ทรงทราบ ก็จะรู้ความจริง จึงรีบเข้าวัง ไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช

ขณะนั้น พระราชา กริ้วมโหสถมาก ทรงทราบว่า มโหสถกำลังจะเข้าเฝ้า ทรงคิดระแวงหนักขึ้น ไปอีกว่า ทำไม มโหสถจึงมาผิดเวลาเช่นนี้ คงจะคิดมิดีมิร้ายอะไร แสดงว่า ที่อาจารย์พูด  ต้องมีมูลความจริง พระองค์ จึงไม่ยอมให้มโหสถเข้าเฝ้า

มโหสถ รู้ว่า พระราชา กริ้วมาก จนไม่ยอมให้เข้าเฝ้า จึงรีบกลับบ้าน ขณะนั้น พระราชา มีรับสั่งให้จับกุมตัวมโหสถ

มโหสถ ยังไม่ทันถึงบ้าน ก็ได้รับข่าวจากสายลับของตนว่า พระราชา มีรับสั่งให้จับกุมตัวมโหสถ จึงคิดว่า ขณะนี้ พระราชาทรงกริ้ว คงไม่รับฟังเหตุผล เราไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ควรจะหลบหนีไป สักระยะหนึ่งก่อน ค่อยคิดอ่านหาทางแก้ไข จึงส่งข่าวไปบอกให้นางอมราเทวีทราบ  แล้วปลอมตัว ออกจากเมืองทางประตูด้านทิศใต้ หลบหนีราชภัย ไปยังหมู่บ้านทักขิณยวมัชฌคาม  ทำงานรับจ้างปั้นหม้อเลี้ยงชีพ ในหมู่บ้านแห่งนั้น

หักเหลี่ยมบัณทิตจอมปลอม

ภายในพระนคร เกิดข่าวแพร่สะพัดไปทั่วว่า มโหสถบัณฑิต คิดการเป็นกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดิน  แต่ความลับแตกก่อน ขณะนี้ ได้แอบหลบหนีออกจากพระนครไปแล้ว จึงเกิดความโกลาหลอลหม่าน สอบถามเรื่องราวกันอย่างกว้างขวาง

คณะมนตรีทั้ง ๔ คน รู้ว่า มโหสถหนีไปแล้ว ก็ดีใจ พูดปลอบชาวพระนครว่า “พวกท่านอย่าทุกข์ใจไปเลย เราก็เป็นบัณฑิต พอจะเป็นที่พึ่งพวกท่านได้” ประชาชนที่รู้ความจริง  ได้ยินเช่นนั้น ต่างตะโกนด่าทออยู่อึงมี่

เมื่อบัณฑิตทั้ง ๔ คน เห็นนางอมราเทวีอยู่คนเดียว ต่างก็คิดหมายมั่น ที่จะได้นางมาเป็นของตน  ไม่บอกกันและกันให้รู้ ต่างคนต่างแอบส่งสิ่งของ ไปให้นางอมรา เพื่อเป็นการผูกสัมพันธ์

นางอมรา รับบรรณาการที่คนทั้ง ๔ ส่งไปให้ ก็ทราบความมุ่งหมาย ของคนเหล่านั้น จึงวางแผนที่จะแก้แค้นให้คนเหล่านั้นได้อาย

นางอมราเทวี ได้นัดแนะคนเหล่านั้น ให้มาบ้านของตน ในเวลาที่แตกต่างกันออกไป จากนั้น  จึงให้คนในบ้าน ช่วยกันขุดหลุมลึก ทำรั้วรอบขอบชิดล้อมไว้ แล้วนำอุจจาระผสมน้ำ เทลงในหลุมนั้น  ปิดแผ่นกระดาน ทำกลไกที่หลุมอุจจาระ ทำลิ่มสลักไว้สองข้าง เอาเสื่อปูทับปกปิดไว้อีกชั้นหนึ่ง ประดับด้วยดอกไม้ ตกแต่งให้ดูงดงาม ให้ตั้งอ่างสำหรับอาบน้ำไว้ ทำทุกอย่างให้เสร็จ ก่อนตะวันตกดิน

ค่ำวันนั้น อาจารย์เสนกะ มีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ แต่งตัวอย่างงาม หรู กินอาหารเสร็จแล้ว จึงไปหานางอมราเทวี ตามที่นัดไว้ ยืนอยู่ที่ประตู ให้คนใช้ ไปบอกนางอมราว่า ตนมาถึงแล้ว

นางอมรา ทำเป็นดีใจ กุลีกุจอต้อนรับ บอกให้เข้าบ้าน เสนกะ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ คิดว่า นางอมรา ให้ท่า จึงถือวิสาสะ เข้าไปยืนอยู่เคียงข้าง แตะเนื้อต้องตัว อย่างสนิทสนม นางอมรากล่าวว่า “ช่างมาตรงเวลาจริงนะจ๊ะ” เสนกะกล่าวเอาใจนางว่า “กว่าจะถึงเวลาตามนัด มันช่างนานเหลือเกิน  นานจนใจแทบขาด พอได้เวลา ก็รีบมาทันที” หญิงสาวแสดงอาการทอดไมตรีว่า “ถึงอย่างไร ดิฉัน ก็ตกเป็นของท่านอยู่แล้ว ท่านอาบน้ำให้สบายตัวก่อน จึงค่อยนอน ไม่ต้องรีบร้อน ไปอาบน้ำให้เนื้อตัวสะอาดก่อน เชิญทางนี้” เสนกะ รู้สึกร้อนไปทั้งตัว เดินไปยืนบนแผ่นกระดานที่นางอมราเทวี เตรียมไว้เป็นที่อาบน้ำอย่างว่าง่าย เมื่อเสนกะ เหยียบแผ่นกระดาน หญิงสาว ทำเป็นเหมือนรดน้ำให้  แล้วเหยียบที่สลักกล ทำให้เสนกะ ตกลงไปในหลุมอุจจาระสูงเท่าคอ จากนั้น ก็จัดเตรียมสถานที่ไว้ให้เหมือนเดิม หญิงสาว คิดว่า ยังเหลืออีก ๓ คน

หญิงสาว ทำให้ปุกกุสะ ผู้มาตามที่นัดไว้ ตกในหลุมอุจจาระ โดยทำนองเดียวกัน เมื่อปุกกุสะ ตกลงไป หัวก็กระแทกเข้ากับเสนกะอย่างแรง จึงถามขึ้น ด้วยความตกใจว่า “นี่ผีหรือคน” เสนกะ กล่าวว่า “เราเสนกะ ราชบัณฑิตแห่งมิถิลานคร ท่านเล่า เป็นใคร” ปุกกุสะบอกว่า “อะพิโธ่ อาจารย์ เองหรอกหรือ นึกว่าใคร ผมเองปุกกุสะ”

จากนั้น หญิงสาว ก็ทำให้กามินทะ และเทวินทะ ผู้มาตามที่นัดไว้ ให้ตกในหลุมอุจจาระ  โดยทำนองเดียวกัน อาจารย์ทั้ง ๔ คน ตกลงไป ยัดเยียดอยู่ในหลุมอุจจาระที่เหม็นขื่นคาว   หัวชนกันและกัน ต่างถามกันและกันว่า เป็นใคร

เมื่อเสนกบัณฑิต ทราบว่า ใครเป็นใคร ก็รู้ว่า หลงกลนางอมราเทวีแล้ว ต่างส่งเสียงร้องเอะอะ โวยวายว่า จะทำอย่างไรกันต่อไป อาจารย์เสนกะ ห้ามว่า “พวกท่าน อย่าอื้ออึงไป ตั้งแต่นี้ไป   พวกเรา จะถูกประจาน ให้ได้รับความอับอาย” พวกเขา ถูกขังไว้ในหลุมอุจจาระนั้น ตลอดทั้งคืน

พอรุ่งเช้า นางอมราเทวี ให้คนทั้ง ๔ จับเชือก สาวขึ้นมาจากหลุมอุจจาระ ทีละคน แล้วให้พวกคนใช้ จับอาบน้ำ ให้เอามีดโกนโกนผมและหนวดให้หัวโล้น แล้วจับหัวถูกับแผ่นอิฐ จนเลือดออกซิบ ๆ เอาข้าวสารแช่น้ำ ตำให้ละเอียดเป็นแป้ง แล้วกวนเป็นเหมือนข้าวต้ม ทาทั่วตัว  คนทั้ง ๔ โรยด้วยนุ่นตามตัว แล้วจับให้นอนในกระชุ๑๐ เข่งไม้ไผ่สาน เอาเสื่อลำแพน ม้วนพันปิดไว้  ผูกให้แน่น แล้วนำเอาราชาภรณ์ทั้ง ๔ อย่าง กับอาจารย์ทั้ง ๔ คน ไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช กราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ จงทรงรับเครื่องบรรณาการ คือ ลิงเผือกนี้” กราบทูลฉะนี้แล้ว  ให้วางเสื่อลำแพนลง ใกล้พระบาทพระเจ้าวิเทหราช

พระราชา ให้แก้เสื่อลำแพนออก ทอดพระเนตรเห็นบัณฑิตทั้ง ๔ คน ของพระองค์ เป็นเหมือนวานรเผือก ก็ทรงตกตะลึง นิ่งอึ้งไป โดยไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ ตรัสอะไรไม่ออก ข้าราชบริพาร  เห็นคณะมนตรี ต่างหัวเราะ พูดจาเยาะเย้ยสรวลเสเฮฮาสนุกสนานว่า “โอ้โฮ ลิงเผือก งามจังเลย”

บัณฑิตทั้ง ๔ คน แสนที่จะอับอายขายหน้า แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

นางอมราเทวี นำเครื่องราชาภรณ์ทั้ง ๔ อย่าง ออกมาถวายคืนพระราชา เมื่อจะประกาศ  ความที่สามีของตน ไม่มีความผิด จึงกราบทูลว่า “หม่อมฉัน ขอถวายความสัตย์จริงว่า มโหสถ ไม่มีความผิด ทั้งไม่ได้เป็นโจรขโมยราชาภรณ์ ตามที่ถูกกล่าวหา แต่คนทั้ง ๔ คนนี้ต่างหาก  เป็นโจร เสนกะขโมยแก้วจุฬามณีของพระองค์ ปุกกุสะขโมยสุวรรณมาลา กามินทะขโมยผ้าคลุมบรรทมกัมพล ส่วนเทวินทะขโมยฉลองพระบาททองคำ แล้วให้คนใช้ นำออกไปเร่ขายให้หม่อมฉัน  หม่อมฉันรับซื้อไว้ โดยมีหลักฐานทุกประการ”

หญิงสาว ระบุชื่อคนใช้ ชื่อพ่อแม่ และวันเดือน ที่ทำการซื้อขาย แล้วนำบันทึกหลักฐานสำคัญ  ออกแสดงแด่พระราชา กราบทูลว่า “ขอพระองค์โปรดพิจารณาข้อเท็จจริงจากหลักฐานหนังสือบันทึกการซื้อขายนี้ และรับราชาภรณ์ของพระองค์ คืนไปเถิด เพคะ” นางอมราเทวี ทำให้คนทั้ง ๔  พบกับความอับอาย อย่างนี้แล้ว ถวายบังคมลากลับบ้าน

            ๑๐ กระชุ หรือ กระชุก ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ หรือ หวาย สำหรับใส่ข้าวของ

พระราชา ไม่ตรัสอะไรกับบัณฑิตทั้ง ๔ คนของพระองค์ ในพระทัย ยังทรงรังเกียจมโหสถอยู่ว่าเป็นกบฏ ยิ่งทรงทราบว่า มโหสถหนีไปแล้ว ก็ยิ่งเสียพระทัย และเอือมระอา ที่พระองค์ไม่มีคณะมนตรีผู้เป็นบัณฑิต รับสั่งกับบัณฑิตของพระองค์ เพียงสั้น ๆ ว่า “พวกท่าน อาบน้ำ แล้วจงกลับไป บ้านเรือนของตน” ตั้งแต่มโหสถหนีไป ราชสำนักก็เงียบเหงา ขาดคนสำคัญ ที่จะคอยถวายคำแนะนำแด่พระราชา อย่างสุขุมลุ่มลึก จึงทำให้ราชสำนัก หมดความครึกครื้น ไม่เหมือนเมื่อครั้งที่มโหสถยังอยู่

บัณฑิตตกยาก

หลังจากที่มโหสถ หลบหนีราชภัยออกจากพระนคร ไปยังหมู่บ้านทักขิณยวมัชฌคาม  ได้ปลอมตัวเป็นคนรับจ้างปั้นหม้อเลี้ยงชีพ อยู่ที่หมู่บ้านแห่งนั้น มีชีวิตอยู่อย่างลำบากฝืดเคือง

          ภายในพระนคร คืนวันที่บัณฑิตของพระราชา ถูกจับได้ว่า ใส่ความมโหสถ เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่มหาเศวตฉัตร ไม่ได้สดับธรรมเทศนาของพระโพธิสัตว์นาน พิจารณาดู ก็ทราบเหตุ คิดจะทำให้พระโพธิสัตว์กลับพระนครตามเดิม ครั้นถึงเวลากลางคืน จึงแหวกกำพูเศวตฉัตรออกมา ถามปัญหาพระเจ้าวิเทหราช ๔ ข้อ ว่า “บุคคล เตะต่อยคนอื่น และเอามือทุบตี ชกปากคนอื่น แต่เขา กลับเป็นที่รักของคนที่ถูก เตะ ต่อย ผู้เป็นที่รักนั้น ได้แก่ใคร ?” เป็นต้น หากแก้ไม่ได้ จะลงเทวทัณฑ์

พระเจ้าวิเทหราช ตอบปัญหาของเทวดาไม่ได้ พระองค์ จึงขอผลัดไปอีกวัน จะขอปรึกษาบัณฑิตพระองค์ก่อน

ครั้นรุ่งขึ้น พระราชารับสั่งเรียกบัณฑิตเข้าเฝ้า ขณะเดินทางมาเข้าเฝ้า อาจารย์ทั้ง ๔ คน  ถูกเยาะเย้ยมาตามท้องถนนว่า คนหัวโล้น ๆ ก็อับอาย ต้องใช้ผ้าคลุมศีรษะมาเฝ้า พระราชาตรัสถามปัญหา ที่เทวดาถามพระองค์ แม้อาจารย์เสนกะเอง ก็ตอบปัญหานั้นไม่ได้ เมื่อไม่รู้จะตอบอย่างไร จึงได้แต่บ่นพึมพำ กลับไปกลับมาว่า “ตบตีใคร ตบตีอย่างไร ๆ” ส่วนอาจารย์อีก ๓ คน ก็หมดปัญญาที่จะตอบ

พระเจ้าวิเทหราช ทรงรู้สึกเป็นทุกข์ กลัดกลุ้ม เดือดร้อนใจ ทรงตำหนิตนเอง ในยามเช่นนี้  พระองค์คิดถึงมโหสถมาก หากมโหสถยังอยู่ พระองค์ก็คงไม่ประสบเคราะห์กรรมเช่นนี้  ก็แล้วมโหสถ จะระเหเร่ร่อนไปอยู่ที่ไหน คิดแล้ว ก็นึกสงสารมโหสถ จนไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้

ครั้นตกกลางคืน เทวดามาทวงถามคำตอบอีก พระราชาตอบว่า พระองค์ถามบัณฑิตทุกคนแล้ว  แม้พวกเขา ก็ไม่รู้ เทวดาแสดงอาการเกรี้ยวกราด ยกค้อนเหล็กไฟขึ้นขู่ว่า “คนทั้ง ๔ คนนั้น จะรู้อะไร เว้นมโหสถบัณฑิตแล้ว ไม่มีใครตอบปัญหานี้ได้ ขอให้เรียกมโหสถมาตอบปัญหา ถ้าไม่เช่นนั้น  จะเอาค้อนเหล็กไฟนี้ ทุบหัวให้แตก”

ครั้นแล้ว เทวดา ทูลเตือนว่า

“เมื่อต้องการไฟ ไม่ควรจะเป่าหิ่งห้อย เมื่อต้องการน้ำนม ไม่ควรจะรีดจากเขาโคใครกัน เมื่อไฟลุกโชติช่วงอยู่ ยังเที่ยวหาไฟโดยใช่เหตุ บุคคลเห็นหิ่งห้อยในราตรี ก็เข้าใจว่าไฟ  จึงเอาหญ้าแห้ง ต่อไฟจากหิ่งห้อย ไฟก็ลุกขึ้นมาไม่ได้”

พระเจ้าวิเทหราช ถูกมรณภัยคุกคาม กลัวตาย จึงคิดถึงมโหสถอย่างมาก ก็แล้วบัดนี้ เขาอยู่ที่ไหน พระองค์ทรงเฝ้ารำพึงถึงมโหสถตลอดราตรี ไม่ทรงหลับเลยแม้ชั่วขณะเดียว ครั้นรุ่งขึ้น ทรงเรียก อำมาตย์ทั้ง ๔ คน มารับสั่ง ให้นำรถออกไปค้นหามโหสถ พร้อมกันทั้ง ๔ ทิศ ว่า “หากพบมโหสถ  บุตรเรา อยู่ที่ใด จงทำสักการะเธอ แล้วรีบนำกลับมา โดยเร็ว”

อำมาตย์ทั้ง ๔ คนออกจากพระนครคนละประตู อำมาตย์ ๓ คน ไม่พบมโหสถ แต่อำมาตย์คนหนึ่ง ออกทางประตูด้านทิศใต้ ไปพบมโหสถที่หมู่บ้านทักขิณยวมัชฌคาม กำลังขนดินเหนียว  ร่างกายเปรอะเปื้อน เนื้อตัวกร้านเกรียม นั่งบนตั่งไม้ หมุนจักรปั้นหม้อ รับจ้างปั้นหม้อแลกข้าวประทังชีวิต

แม้มโหสถ จะมีปัญญามาก สามารถประกอบอาชีพอย่างอื่นได้ แต่มโหสถ กลับยึดอาชีพ รับจ้างปั้นหม้อ เนื่องจากมโหสถ คิดว่า พระราชา ทรงระแวงว่า ตนมักใหญ่ใฝ่สูง จะชิงราชสมบัติ  แต่เมื่อพระราชา ทราบว่า แม้มโหสถ จะมีปัญญา สามารถสั่งสมผู้คนขึ้นมาต่อต้านพระองค์ได้  แต่ก็ไม่ใช้ปัญญา กลับเลือกอาชีพกรรมกร รับจ้างปั้นหม้อขาย ก็จะทรงหายระแวง

มโหสถ เห็นอำมาตย์ ก็รู้ว่า จะมาหาตน จึงคิดว่า วันนี้ เราจะได้ยศกลับมาตามปกติอีกแล้ว  เราจะได้กินอาหารที่อมราเทวีจัดเตรียมไว้ให้ คิดฉะนี้ จึงทิ้งก้อนข้าวที่ถืออยู่ในมือ ลุกขึ้นบ้วนปาก

อำมาตย์คนนั้น เป็นคนของเสนกบัณฑิต เมื่อจะยกคำที่มโหสถเคยกล่าวกับเสนกะ แต่หนหลัง ว่า ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์ ขึ้นมาเยาะเย้ย จึงกล่าวว่า “ท่านบัณฑิต คำพูดอาจารย์เสนกะ  เห็นจะเป็นจริงหรอก กระมัง ในเมื่อท่าน เสื่อมอำนาจวาสนา ปัญญา ก็ช่วยอะไรท่านไม่ได้  ดูสิ ร่างกายเปรอะเปื้อนดินเหนียว ดูไม่จืด นั่งบนตั่งไม้ กินข้าวเปล่าเช่นนี้ แม้ท่านจะมีปัญญาดุจแผ่นดิน มีความเพียรเป็นเลิศ ปัญญาก็ยังช่วยป้องกันท่าน จากความล่มจมไม่ได้ น่าสงสาร คนมีปัญญา แต่ต้องมากินข้าวเปล่า”

มโหสถกล่าวว่า “คนโง่! เรากำลังใช้พละกำลังแห่งปัญญา ทำให้ตนกลับมามีอำนาจวาสนา อีกครั้ง จึงได้ทำเช่นนี้ เราคิดจะสร้างความสุขขึ้นมา จากความยากลำบาก ด้วยชะตากรรมที่เราเผชิญ เมื่อพิจารณาเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม ก็เก็บตัวซ่อนเร้นอยู่ เพื่อใช้ปัญญาขบคิด เราจึงพอใจ ที่จะบริโภคข้าวเปล่า เพราะรู้ว่า กาลไหน ควรทำความเพียรอย่างองอาจ เพื่อให้  ยศเจริญ ดุจความองอาจแห่งพญาราชสีห์ ท่านจะเห็นเราประสบความสำเร็จอีกครั้ง ด้วยปัญญา ของตน”

อำมาตย์กล่าวว่า “เทวดาสิงสถิตอยู่ที่มหาเศวตฉัตร ถามปัญหาพระราชา พระองค์ตรัสถามบัณฑิตทั้ง ๔ คน แม้บัณฑิตสักคนเดียว ก็ตอบไม่ได้ พระราชา จึงมีพระบรมราชโองการรับสั่งให้ข้าพเจ้าตามหาท่าน”

มโหสถได้โอกาส จึงสรรเสริญอานุภาพแห่งปัญญาว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจงเห็นอานุภาพ แห่งปัญญาเถิด เมื่อชีวิต ถึงคราวคับขัน อิสริยยศ เป็นที่พึ่งไม่ได้ ผู้มีปัญญาเท่านั้น จึงจะเป็นที่พึ่งได้”

อำมาตย์ให้เงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ และผ้าสำหรับนุ่งห่มชุดใหม่ ซึ่งเป็นของพระราชทาน แก่มโหสถ ช่างหม้อ รู้ความจริงว่า คนรับจ้างเป็นใคร จึงกลัวราชภัยมาถึงตัว เพราะใช้มโหสถ  ผู้เป็นราชบัณฑิต

มโหสถ เห็นอาการช่างหม้อ ก็ทราบว่า เกิดความกลัว จึงพูดปลอบใจว่า “อย่ากลัวเลย  ท่านมีบุญคุณแก่เรามาก” แล้วมอบเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ ให้ช่างหม้อ ไว้เป็นค่าใช้จ่าย นั่งรถกลับเข้าพระนคร ทั้งที่ตัวเปื้อนดินเหนียว อำมาตย์ให้กราบทูลพระราชาว่า มโหสถกลับมาแล้ว พระราชารับสั่งถามว่า “พบมโหสถที่ไหน”  

อำมาตย์กราบทูลว่า “มโหสถ รับจ้างปั้นหม้อขาย เลี้ยงชีพอยู่ที่หมู่บ้านทางทิศใต้พระนคร  เมื่อทราบว่า มีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ยังไม่ทันอาบน้ำ ก็รีบกลับมาทันที ทั้งที่เนื้อตัวยังเปื้อนดินเหนียว”

พระเจ้าวิเทหราช ทรงดำริว่า ถ้ามโหสถ เป็นศัตรูเรา จะต้องเที่ยวสั่งสมกองกำลัง แต่มโหสถ ไม่ได้เป็นศัตรูเรา จึงรับสั่งให้บอกมโหสถไปเรือน อาบน้ำแต่งตัว แล้วมาโดยเกียรติยศที่พระองค์เคยพระราชทานให้

มโหสถ ทำตามรับสั่ง แล้วจึงกลับมาเข้าเฝ้า เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้า ก็ตรงเข้าไปถวายบังคมพระราชา

พระเจ้าวิเทหราช ทรงปฏิสันถาร ด้วยความปรีดาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อจะทรงทดลองภูมิปัญญา มโหสถ จึงตรัสว่า

“คนบางพวก ไม่ทำความชั่ว ด้วยคิดว่า เราสมบูรณ์ด้วยอิสริยยศอยู่แล้ว คนบางพวกไม่ทำความชั่ว เพราะเกรงว่า จะถูกติเตียน แต่เจ้า มีความสามารถ มีความคิดอ่านลุ่มลึกกว้างขวาง  หากหวังจะครองราชสมบัติ ก็ย่อมจะทำได้ เหตุไร จึงไม่คิดหาทางทำความทุกข์ให้เรา เพื่อเป็นการแก้แค้น”

พระโพธิสัตว์ กราบทูลว่า “บัณฑิตทั้งหลาย เมื่อถึงคราวเคราะห์ ประสบทุกข์ ก็ไม่ทำความชั่ว เพราะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แม้ทรัพย์สมบัติจะล้มละลาย ก็ยังสงบนิ่ง ไม่ยอมละทิ้งธรรม  เพราะรักและชัง”

พระราชา หวังจะทดลองใจมโหสถบัณฑิตอีกครั้ง จึงตรัสว่า “คนตกต่ำ ทำความชั่วก่อน จนทรัพย์สมบัติมั่งคั่ง ภายหลัง จึงทำความดีก็ได้ มิใช่หรือ”

เมื่อมโหสถจะแสดงอุปมาให้พระราชาเกิดความเข้าใจ จึงยกต้นไม้แห่งมิตรขึ้นแสดง กราบทูลว่า “คนนั่งหรือนอน ที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งต้นไม้นั้น เพราะผู้ทำร้ายมิตร เช่นนั้น เป็นคนเลวทราม แม้คนหักรานกิ่งต้นไม้ ที่ตนพักอาศัย ยังได้ชื่อว่า เป็นคนเนรคุณมิตร ก็ไม่จำต้อง พูดถึงมนุษย์ พระองค์ให้บิดาของข้าพระองค์ ดำรงอยู่ในอิสริยยศ แม้ตัวข้าพระองค์ พระองค์ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างมากมาย หากข้าพระองค์ทำร้าย จะไม่ชื่อว่า เป็นคนเนรคุณได้อย่างไร นรชนรู้ธรรมจากท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น เป็นดังเกราะ เป็นที่พึ่ง ผู้ทรงภูมิปัญญา  ไม่ควรทำลายมิตรภาพระหว่างท่านผู้นั้น ให้เสื่อมสิ้นไป”

ครั้นแสดงอุปมาดังนี้แล้ว มโหสถ ได้ถวายโอวาทพระเจ้าวิเทหราช ยิ่งขึ้นไปว่า

“ผู้ครองเรือน เกียจคร้าน ไม่ดี นักบวช ไม่สำรวม ไม่ดี พระราชา ไม่ทรงพิจารณาให้รอบคอบก่อน จึงทรงราชกิจ ไม่ดี บัณฑิต ผู้มักโกรธ ไม่ดี กษัตริย์ ทรงพิจารณาให้รอบคอบก่อน ทรงราชกิจ พระเกียรติยศ ย่อมแผ่ไพศาลไปทั่วทิศ”

เฉลยปัญหาของเทวดา

เมื่อมโหสถบัณฑิต กล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้าวิเทหราช จึงให้มโหสถ นั่งบนบัลลังก์ภายใต้มหาเศวตฉัตร ส่วนพระองค์ ลงนั่งอาสนะที่ต่ำกว่า ตรัสถามปัญหาของเทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ที่มหาเศวตฉัตร ข้อที่ ๑ ว่า  

“บุคคล เตะต่อยคนอื่น และเอามือทุบตี ชกปากคนอื่น แต่เขา กลับเป็นที่รักของคนที่ถูกเตะ ต่อย ผู้เป็นที่รักนั้น ได้แก่ใคร ?”

พอมโหสถได้ยินปัญหาเท่านั้น เนื้อความแห่งปัญหา ก็แจ่มชัด เหมือนการปรากฏขึ้นของพระจันทร์เต็มดวง ในราตรีไร้เมฆหมอก จึงแก้ปัญหาของเทวดาว่า  

“ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อใด เด็กน้อย ได้นอนบนตักมารดา ก็ร่าเริงยินดี เล่นทุบตีมารดาด้วยมือ และถีบยันด้วยเท้า ทั้งจับผมดึงทึ้ง เอามือ ตีปากมารดา มารดา ก็กล่าวกับลูกน้อยด้วยความรักว่า เจ้าลูกวายร้าย ลูกโจร ตีแม่อย่างนี้ ได้อย่างไร แม้กล่าวอย่างนี้ ก็ไม่อาจกลั้นความรักไว้ ก็สวมกอด ให้นอนระหว่างอก จูบศีรษะลูกน้อย ลูกน้อย เป็นที่รักของมารดาเช่นไร   บิดา ก็รักลูกน้อย เช่นนั้นเหมือนกัน”

          พระโพธิสัตว์ อธิบายปัญหา ได้กระจ่าง เหมือนชี้ให้ดูพระจันทร์เต็มดวง กลางท้องฟ้า

เทวดา ได้ยินคำอธิบายของมโหสถบัณฑิต ก็แหวกกำพูมหาเศวตฉัตรออกมา แสดงตนให้สาธุการ ด้วยเสียงไพเราะ บูชามโหสถ ด้วยดอกไม้ และของหอมทิพย์ แล้วอันตรธานหายไป

แม้พระเจ้าวิเทหราช ก็ทรงบูชามโหสถเช่นกัน แล้วตรัสถามปัญหาข้อที่ ๒ ว่า

“บุคคลด่าผู้อื่น อย่างหนำใจ แต่ไม่อยากให้ผู้ถูกด่านั้น ประสบภยันตราย ผู้ถูกด่า ย่อมเป็นที่รักของผู้ด่า พระองค์เห็นว่า ใครเป็นที่รักของผู้ด่า ?”

มโหสถ อธิบายปัญหาว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มารดา ใช้บุตรอายุ ๗ – ๘ ขวบ ผู้พอจะช่วยงานได้ว่า ลูกจงไปนา จงไปตลาด ซื้อของให้แม่ เป็นต้น บุตรกล่าวว่า ได้จ๊ะแม่ ถ้าแม่ให้ขนม ลูกก็จะไป

ครั้นมารดา ให้ขนมหรือของกินอื่น ๆ แล้ว บุตรกลับยืนเตร่อยู่ที่ประตูเรือน ไม่ไปนา กลับหนีไปเล่นกับพวกเพื่อน ๆ ไม่ได้ทำ ตามที่มารดาใช้ ครั้นมารดา บังคับให้ไป ลูกก็ย้อนเอาว่า  แม่อยู่เรือนเย็นสบาย แต่กลับใช้ลูก ไปตากแดดข้างนอก ได้อย่างไร ฉันหลอกแม่ แล้วแสดงท่าทาง ทะเล้น ฟ้อนรำขับร้อง ประชดมารดา

ครั้นมารดาตวาด ก็แสดงอาการหุนหัน โมโห แล้วหนีไป มารดา เห็นบุตรหนี ยิ่งขัดเคือง  ถือไม้ ไล่ตาม เมื่อไม่ทันบุตร ก็ร้องสำทับว่า หยุดเดี๋ยวนี้ อ้ายลูกชั่ว ใช้ให้ทำการงานอะไร ก็ไม่ได้  เพราะความโมโห จึงกล่าวคำต่าง ๆ นานา เช่น เอ็งจะไปไหนก็ไป อ้ายลูกถ่อย ขอให้โจรสับมึงออกเป็นชิ้น ๆ ด่า บริภาษ จนหนำใจ แม้ปากจะพูดเช่นนั้น แต่ใจ ก็ไม่ปรารถนาที่จะเห็นลูกประสบภยันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น

ส่วนบุตร เล่นกับเพื่อน ๆ สนุกสนานตลอดวัน ลืมเข้าบ้าน จนเย็น ไม่กล้ากลับเข้าบ้าน จึงไปนอนบ้านญาติ ส่วนมารดา เฝ้ามองดูหนทาง ที่บุตรจะกลับมา เมื่อไม่เห็นบุตรกลับบ้าน จิตใจ ก็มีแต่ความทุกข์ร้อน ห่วงหาอาทร กังวลเศร้าโศกว่า ทำไม ลูกไม่กลับบ้าน จึงร้องไห้ ออกค้นหา ตามเรือนญาติ ครั้นเห็นลูก ก็สวมกอด จูบที่ศีรษะ ประคองลูก ให้นั่งระหว่างตัก กล่าวว่า ลูก อย่าใส่ใจคำพูดแม่เลย แม่พูดไป เพราะความรักลูก กล่าวฉะนี้ ก็ยิ่งรักลูก อย่างเหลือเกิน  ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บุตร ชื่อว่า เป็นที่รักยิ่ง ในเวลาที่มารดาโกรธเทวดา ได้สดับ ก็บูชามโหสถอย่างคราวที่แล้วมา

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช ก็ทรงบูชามโหสถเช่นกัน แล้วตรัสถามปัญหาข้อที่ ๓ ว่า  

“บุคคล กล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง แล้วท้วงกัน ด้วยคำเหลาะแหละ บุคคลนั้น แม้จะหลอกลวงกัน ก็ยังเป็นที่รักของกันและกัน พระองค์ ทรงเห็นว่า ได้แก่ใคร ?”

มโหสถ กราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อใด สามีภรรยา อยู่ด้วยกันสองต่อสอง ก็พูดจาหยอกล้อกัน ด้วยความเสน่หา ตามประสาชาวโลก แล้วกล่าวตู่ฉอเลาะกันและกัน ด้วยคำ ไม่จริงว่า ไม่ได้รักคุณสักหน่อย ตอนนี้ ไม่รู้ใจคุณไปอยู่กับใครที่ไหน แม้จะพูดกันด้วยคำเหลาะแหละ ไม่จริงเช่นนั้น แต่สามีภรรยาคู่นั้น ก็รักกันปานจะกลืน” เทวดาได้สดับแล้ว ก็บูชา มโหสถ

พระราชา ก็ทรงบูชามโหสถเช่นกัน แล้วตรัสถามปัญหาข้อที่ ๔ ว่า

“บุคคล ให้ข้าว น้ำ ผ้า และของใช้ ที่อยู่อาศัย แก่เขาฝ่ายเดียว บุคคลผู้รับ ก็ยังเป็นที่รัก ของผู้ให้ พระองค์ ทรงเห็นว่า ได้แก่ใคร ?”

มโหสถ อธิบายว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ปัญหานี้ หมายถึงสมณะและพราหมณ์  ผู้ประพฤติธรรม สกุลทั้งหลาย ผู้มีศรัทธา เชื่อโลกนี้ และโลกหน้า จึงบริจาคทาน และปรารถนาที่จะให้อีก สกุลเหล่านั้น เห็นสมณะและพราหมณ์ ขอข้าวน้ำไปบริโภค ก็เลื่อมใสรักใคร่สมณะ  และพราหมณ์ อย่างยิ่งว่า ท่านเหล่านี้ บริโภคข้าว น้ำ ของเรา สมณะและพราหมณ์ จึงชื่อว่า  เป็นผู้รับ คือ เป็นผู้ขอฝ่ายเดียว แต่ก็ยังเป็นที่รักของผู้ให้”

เมื่อมโหสถ ตอบปัญหาจบแล้ว เทวดา ก็บูชาเหมือนเดิม ส่วนพระเจ้าวิเทหราช โปรดปรานเลื่อมใสมโหสถบัณฑิต เป็นอย่างยิ่ง ได้พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีคืนให้ ตั้งแต่นั้นมา มโหสถได้กลับมามีอำนาจวาสนามากขึ้นเหมือนเดิม

ฉีกหน้ากากมหาบัณฑิต

ครั้นอยู่ต่อมา บัณฑิตทั้ง ๔ คน ได้ปรึกษากันอีกว่า ขณะนี้ มโหสถ มีอำนาจวาสนา มากยิ่งขึ้น  พวกเรา จะทำอย่างไรดี

อาจารย์เสนกะ บอกคนอื่น ๆ ว่า “การที่เขามีอำนาจวาสนามากนั้น ช่างเถิด เราต้องใช้อุบาย พวกเรา จะไปหามโหสถ แล้วถามว่า ควรบอกความลับ แก่ใครได้บ้าง เพราะ ความที่มโหสถ เป็นคนมีปัญญา เขาจะต้องบอกว่า ความลับ บอกใครไม่ได้ พวกเราจะทูลยุยง พระราชาว่า มโหสถ ไม่จงรักภักดี มีความลับปกปิดไว้ คิดการเป็นกบฏ”

เมื่อตกลงกันเช่นนั้น จึงพากันไปเรือนมโหสถบัณฑิต ปฏิสันถาร ทักทายกันพอสมควรแล้ว กล่าวว่า “พวกเรา ต้องการทราบว่า ผู้เป็นบัณฑิต ควรจะยึดถือธรรมอะไร เป็นหลัก”

มโหสถ ตอบว่า “ควรยึดถือสัจจะ เหนือชีวิต”  

อาจารย์เสนกะ ถามว่า “ผู้ยึดถือสัจจะ ควรทำอย่างไร”

มโหสถ ตอบว่า “ควรสร้างหลักฐาน ให้ชีวิตมั่นคง แล้วแสวงหาทรัพย์สมบัติ ให้พอกพูน มากขึ้น”

เสนกะ ถามว่า “เมื่อชีวิตเป็นหลักเป็นฐาน มีทรัพย์สมบัติมากแล้ว ควรทำอย่างไร ต่อไป”

มโหสถ ตอบว่า “ควรแสวงหามิตรคบไว้เป็นพวก”

เสนกะ ถามว่า “ในขณะที่เราคบมิตร ควรปฏิบัติตนอย่างไร”

มโหสถ ตอบว่า “ควรศึกษาหาความรู้ และเรียนรู้ความคิดจากมิตร”

เสนกะ ถามต่อไปว่า “เมื่อมีความรู้และเรียนรู้ความคิดจากมิตรแล้ว ควรทำอะไรอีก”  

มโหสถ ตอบว่า “ไม่ควรบอกความลับของตน แก่คนอื่น”

บัณฑิตทั้ง ๔ คน เมื่อรู้ความคิดของมโหสถแล้ว รู้สึกยินดีว่า บัดนี้ ได้โอกาสแล้ว เมื่อสนทนากันพอสมควร จึงลากลับบ้าน แล้วไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า มโหสถ คิดการเป็นกบฏต่อพระองค์

พระเจ้าวิเทหราช ไม่ทรงเชื่อว่า มโหสถ จะเป็นกบฏต่อพระองค์ อาจารย์เสนกะ กราบทูลว่า  “ขอพระองค์ ทรงเชื่อเถิด เรื่องนี้ มโหสถ เก็บไว้เป็นความลับ ถ้าไม่ทรงเชื่อ จงตรัสถามเขาดูว่า  เขาจะบอกความลับ ได้หรือไม่ ถ้าเขา ไม่เป็นกบฏ ก็จะทูลว่า บอกได้ แต่ถ้า เป็นกบฏ เขาจะทูลว่า  บอกความลับ แก่ใคร ๆ ไม่ได้ จนกว่าจะทำการสำเร็จ ถึงตอนนั้น พระองค์จะทรงทราบเอง”  พระราชา ทรงรับจะทดลอง

วันหนึ่ง เมื่อบัณฑิตทั้งหมดมาเฝ้า พร้อมกันแล้ว จึงตรัสถามว่า “เรามีปัญหาจะถาม  บุคคลควรเปิดเผยความลับ ที่ควรติเตียน หรือควรสรรเสริญ แก่คนอื่น หรือไม่”

ครั้นพระราชา ตรัสถามอย่างนี้ อาจารย์เสนกะ คิดว่า จะชิงความได้เปรียบ ทำให้พระราชาเข้าเป็นพวกตน จึงกราบทูลว่า “ขอพระองค์ จงตรัสเปิดเผย แก่พวกข้าพระองค์ก่อน พระองค์เป็นผู้ชุบเลี้ยง ทรงอดกลั้น ลำบากพระวรกาย บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างหนัก จงตรัสก่อน  พวกข้าพระองค์ จะพิจารณาสิ่งที่พระองค์ พอพระราชหฤทัย และเหตุ เป็นที่ชอบด้วยพระอัธยาศัย  แล้ว กราบทูลภายหลัง”

พระราชา จึงตรัสตามพระทัยของพระองค์ว่า “ภรรยา ผู้มีจรรยามารยาทงดงาม ไม่นอกใจ สามี คล้อยตามความพอใจสามี จึงเป็นที่รักของสามี สามี เปิดเผยความลับแก่ภรรยาเช่นนี้ ได้”

เสนกะ ดีใจว่า พระราชา เป็นพวกเราแล้ว เมื่อจะแสดงเหตุการณ์ ที่ตนทำไว้เอง จึงกล่าวว่า  “เพื่อนคนใด ที่เราพึ่งได้ แม้ในยามเดือดร้อน ตกทุกข์ได้ยาก เราสามารถเปิดเผยความลับแก่เพื่อน คนนั้นได้” พระราชา ตรัสถามปุกกุสะบ้าง

ปุกกุสะ กราบทูลว่า “พี่น้องคนใด ไม่ว่า จะเป็นพี่คนโต คนกลาง หรือน้องสุดท้อง  ถ้าพวกเขา มีความประพฤติตัว เรียบร้อย ดีงาม เราสามารถเปิดเผยความลับให้เขาฟังได้”  พระราชา ตรัสถามกามินทะบ้าง

กามินทะ กราบทูลว่า “บุตรใด เชื่อฟังบิดา เป็นอนุชาตบุตร มีปัญญา บิดาเปิดเผยความลับแก่บุตรนั้นได้” พระราชา ตรัสถามเทวินทะ ต่อไป

เทวินทะ กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ มารดาใด เลี้ยงบุตรด้วยความรักใคร่ พอใจ  บุตรเปิดเผยความลับแก่มารดานั้นได้”

พระราชา ตรัสถามมโหสถ เป็นคนสุดท้ายว่า “มโหสถ เจ้าเห็นอย่างไร เราควรบอกความลับ ให้คนอื่นรู้ ได้หรือไม่”

มโหสถบัณฑิต มีอัธยาศัยกว้างใหญ่ ไม่เอนเอียงไปตามบุคคลผู้มีอำนาจเหนือตน ด้วยความรักหรือชัง จึงกราบทูลตามปัญญานุภาพของตนว่า“การรักษาความลับไว้ นั่นแหละดี การเปิดเผยความลับ ไม่ดีเลย บัณฑิต ผู้มีปรีชาอันล้ำลึก เมื่อแผนการยังไม่สำเร็จ ก็พึงรักษาความลับไว้เท่าชีวิต เมื่อแผนการสำเร็จแล้ว จึงพูดได้ตามชอบใจ”

เมื่อมโหสถ กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชา ทรงเสียพระทัย เสนกบัณฑิต มองดูพระพักตร์ พระราชา แม้พระราชา ก็ทอดพระเนตรเสนกบัณฑิต

มโหสถบัณฑิต เห็นกิริยาของเสนกะ และพระราชา ก็รู้ว่า อาจารย์เสนกะ คงจะทูลยุยงอะไร พระราชา ไว้ก่อนแล้ว จึงรู้ว่า พระราชาทดลองตน

          เมื่อพระราชา และบัณฑิตของพระองค์ สนทนากันอยู่ พระอาทิตย์ ได้อัสดงคตลงแล้ว  เจ้าหน้าที่ได้จุดประทีป สว่างไสวไปทั่วพระราชมณเฑียร มโหสถ คิดว่า “ราชกิจสำคัญ ก็ไม่มี แต่ทำไม จุดไฟสว่างไสว ไปทั่วพระราชวัง ความคิดพระราชา ยากที่จะคาดเดา ไม่มีใคร รู้ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น เราควร รีบกลับก่อน” จึงลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระราชาออกไป

มโหสถ เดินครุ่นคิดไปว่า คนหนึ่ง กล่าวว่า บอกความลับแก่สหายได้ คนหนึ่ง กล่าวว่า  บอกความลับแก่พี่น้องได้ คนหนึ่ง กล่าวว่า บอกความลับแก่บุตรได้ ส่วนอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า   บอกความลับแก่มารดาได้ เรื่องที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นแผนการของคนเหล่านี้ หมายความว่าอย่างไร  เราจะต้องรู้สาเหตุให้ได้ ในวันนี้ มิเช่นนั้น จะไม่ใช่เรื่องดี

ความลับของบัณฑิต

ตามปกติ คณะมนตรีผู้เป็นราชบัณฑิตทั้ง ๔ คน ครั้นออกจากราชสำนักแล้ว มักจะไปนั่ง ปรึกษากัน ใกล้ถังใส่ข้าว ใกล้ประตูพระราชนิเวศน์ก่อน จึงกลับบ้าน

มโหสถ ดำริว่า ถ้านอนแอบอยู่ในถังข้าว ก็จะรู้ความลับได้ จึงให้คนรับใช้ยกถังข้าวขึ้น แล้วเข้าไป อยู่ในถังข้าวนั้น บอกคนรับใช้ว่า เมื่อพวกอาจารย์เสนกะลุกไปแล้ว จึงค่อยมายกออก

ฝ่ายอาจารย์เสนกะ เมื่อมโหสถ กลับไปแล้ว ได้กราบทูลยุยงพระเจ้าวิเทหราชว่า “พระองค์ไม่ทรงเชื่อข้าพระบาท บัดนี้ พระองค์ ทราบความจริงแล้ว” พระราชา สดับคำยุยง ก็หาได้ทรง พิจารณาให้รอบคอบไม่ ทรงเชื่ออย่างสนิท หวาดกลัว และตกใจ จึงตรัสถามว่า ควรจะทำอย่างไร  เสนกะ กราบทูลว่า “ไม่ควรชักช้า ต้องรีบฆ่ามโหสถ อย่าทันให้รู้ตัว”

พระราชา ตรัสว่า “ท่านอาจารย์ เว้นท่านเสียแล้ว ไม่มีใคร หวังดีต่อเรา อย่างแท้จริง  ท่านจงชวนสหายของท่าน คอยอยู่ที่ประตูพระนคร พรุ่งนี้ มโหสถมาราชสำนักแต่เช้า ให้ตัดศีรษะ เสีย ด้วยพระแสงขรรค์นี้” แล้วพระราชทานพระแสงขรรค์อาญาสิทธิ์ให้ อาจารย์เสนกะ กราบทูลว่า“ขอพระองค์ อย่าทรงหวาดกลัวเลย พวกข้าพระบาท จะฆ่ามโหสถให้ได้”

เมื่อกราบทูลพระราชาเช่นนี้แล้ว จึงชวนกันออกมานั่งใกล้ถังข้าว ปรึกษากันว่า “พวกเราได้โอกาสกำจัดศัตรูแล้ว” เสนกะ เอ่ยขึ้นว่า ใครจะฆ่ามโหสถ คนที่เหลือ จึงมอบหมายให้เสนกะเป็นผู้ลงมือสังหาร

จากนั้น คณะมนตรีทั้ง ๔ คน ต่างก็ถามความลับของกันและกัน อาจารย์เสนกะ บอกว่า  “ความลับนี้ พระราชา ทรงทราบแล้ว ชีวิตของเรา จะหาไม่” อาจารย์ทั้ง ๓ คน กล่าวว่า“ท่านอย่ากลัวเลย ในที่นี้ มีแต่คนกันเองทั้งนั้น ไม่มีใครเปิดเผยความลับของพวกเรา”

เสนกะ เอาเล็บเคาะถังข้าว พลางกล่าวสัพยอกเพื่อน ๆ ว่า “มโหสถ เห็นจะอยู่ใต้ถังข้าวนี้ กระมัง”

คนอื่น กล่าวว่า “มโหสถ เป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง คงไม่มุดเข้าไปอยู่ในถังข้าวนี้ ขณะนี้  กำลังหลงยศ ท่านระแวงเกินไป”

ฝ่ายเสนกะ ได้เล่าความลับของตน ให้เพื่อนฟังว่า “พวกท่าน จำหญิงขายตัวคนหนึ่ง ได้ไหม  ลองนึกดูสิ เธอยังอยู่ หรือหายสาบสูญไปแล้ว เราสำเร็จกิจกับเธอ ที่สวนไม้รัง เสร็จแล้ว ได้ฆ่านางเสีย เพราะต้องการเครื่องประดับ ที่เป็นของเก่า จากนั้น จึงเอาผ้าห่อเครื่องประดับ ไปเก็บไว้ในห้องที่บ้าน ทุกวันนี้ เรายังไม่กล้าใช้เครื่องประดับนั้น เราทำผิดกฎหมายอย่างนี้ ได้บอกเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เพื่อนคนนั้น ไม่ได้บอกใคร เราจึงกล่าวว่า สามารถบอกความลับเพื่อนได้” มโหสถตั้งใจจดจำความลับของเสนกะไว้อย่างดี

ปุกกุสะ กล่าวว่า “ข้าพเจ้า มีโรคเรื้อนที่ขา น้องชายของข้าพเจ้าคนเดียวเท่านั้นที่รู้ ข้าพเจ้าไม่เคยบอกใครเลย ทำความสะอาดแผลแล้ว ทายา พันผ้าทับแผลไว้ พระราชาทรงกรุณาข้าพเจ้า  ตรัสเรียกมาแล้ว บรรทมหนุนตักข้าพเจ้าอยู่บ่อย ๆ ถ้าพระราชา ทรงทราบเรื่องนี้ คงประหารชีวิตข้าพเจ้า นอกจากน้องชายคนเล็กข้าพเจ้าแล้ว ไม่มีใครรู้เรื่องนี้ ข้าพเจ้า จึงกล่าวว่า บอกความลับ น้องชายได้”

กามินทะ กล่าวว่า“ในวันอุโบสถข้างแรม ยักษ์ชื่อนรเทพ เข้าสิงข้าพเจ้า ข้าพเจ้าร้อง เหมือนหมาบ้า จึงบอกให้ลูกชายทราบ ลูกชาย รู้ว่า ยักษ์สิงข้าพเจ้า ก็ให้ข้าพเจ้า นอนในห้อง  ปิดประตูไว้ แล้วให้มีมหรสพ ที่หน้าบ้าน เพื่อกลบเสียงข้าพเจ้า ข้าพเจ้า จึงบอกว่า บอกความลับ ลูกชายได้”

เทวินทะ กล่าวว่า “ข้าพเจ้า ทำการขัดสีแก้วมณีมงคลอันเป็นของหลวง ซึ่งท้าวสักกเทวราช   ประทานพระเจ้ากุสราชไว้ เป็นสิ่งทำให้เกิดสิริ ข้าพเจ้า ขโมยมงคลมณีรัตน์ มาให้มารดาเก็บไว้  มารดาข้าพเจ้า ไม่บอกให้ใครรู้ ถึงเวลาข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้าพระราชา ก็ให้มงคลมณีรัตน์ข้าพเจ้า  ทำให้ข้าพเจ้ามีสิริ เมื่อเข้าไปราชสำนัก ทำให้พระราชาตรัสกับข้าพเจ้าก่อนคนอื่น แล้ว พระราชทานกหาปณะให้ข้าพเจ้ามากมายทุกวัน ถ้าทรงทราบเรื่อง ข้าพเจ้า คงหาชีวิตไม่ ข้าพเจ้า จึงกล่าวว่า บอกความลับมารดาได้” มโหสถ จดจำความลับทั้งหมดไว้

บัณฑิตทั้ง ๔ คน บอกความลับของกันและกัน จนหมดสิ้น เหมือนผ่าอกของตน แบะเอาอวัยวะ ภายใน ออกมาไว้ภายนอก แล้วเตือนกันว่า อย่าเผลอไปเล่าให้ใครฟัง แล้วมาร่วมมือกันกำจัดมโหสถ  

เก็บความลับไว้เป็นดี

เมื่อบัณฑิตทั้ง ๔ จากไปแล้ว คนรับใช้ของมโหสถ ได้มายกถังข้าวออกตามที่นัดแนะกันไว้ มโหสถ กลับบ้าน อาบน้ำแต่งกาย บริโภคโภชนาหารแล้ว คิดว่า ถึงอย่างไร วันนี้ พระพี่นางอุทุมพร คงจะแจ้งข่าวอะไร ให้รู้ล่วงหน้า จึงให้คนใช้คนสนิท ไปยืนรอที่ประตู

คืนนั้น พระเจ้าวิเทหราช บรรทมบนที่นอน ทรงระลึกถึงความดีของมโหสถว่า รับใช้พระองค์มา ตั้งแต่อายุได้ ๗ ขวบ ไม่เคยทำให้เกิดความเสียหายเลย เมื่อเทวดาถามปัญหา ถ้าไม่มีมโหสถ  ชีวิตของพระองค์ ก็คงหาไม่แล้ว พระองค์เชื่อคำศัตรูคู่เวรของมโหสถ แล้วให้พระแสงขรรค์อาญาสิทธิ์ไปฆ่ามโหสถ พระองค์ทำเช่นนี้ได้อย่างไร แต่พรุ่งนี้ พระองค์ จะไม่ได้เห็นมโหสถอีกต่อไป ทรงรำพึงเช่นนี้ ก็เกิดความเศร้าโศกอย่างมาก กระสับกระส่าย เหงื่อไหลโซมพระวรกาย พระทัยมีแต่ความอึดอัดคับข้อง

พระนางอุทุมพรเทวี เสด็จไปบรรทมร่วมกับพระสวามี ทอดพระเนตรเห็นอาการ ทรงดำริว่า  เรามีความผิดอย่างไร พระราชาจึงเมินเฉย หรือพระองค์ มีเรื่องที่ทำให้ไม่สบายพระทัย จึงทูลถามพระสวามี

พระราชา ตรัสว่า “เธอ ไม่มีความผิดอะไรเลย บัณฑิตทั้ง ๔ คน บอกเราว่า มโหสถไม่จงรักภักดี คิดการเป็นกบฏ เราไม่ได้พิจารณาให้ละเอียด จึงสั่งฆ่ามโหสถผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน  เราคิดเรื่องนี้ จึงเสียใจมากว่า ให้เราตายเสียยังดีกว่า มโหสถตาย”

เมื่อรู้ว่า มโหสถถูกสั่งฆ่า พระนางอุทุมพร ทรงตกพระทัย เกิดความเศร้าโศกอย่างมาก  ด้วยความรักพระโพธิสัตว์ ในสมองหนักอึ้ง เหมือนถูกภูเขาทับ แต่พระนาง ก็ทรงมีสติมั่นคง ทรงคิดว่า  จะทำให้พระสวามี สบายใจก่อน เมื่อพระองค์บรรทมหลับ จากนั้น จึงค่อยส่งข่าวไปบอกให้มโหสถ น้องชายรู้ตัว

พระนาง ทูลปลอบพระราชาว่า “พระองค์ ทรงสถาปนามโหสถ ถึงกับให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี บัดนี้ เขากลับคิดการเป็นกบฏต่อพระองค์ ศัตรูเช่นมโหสถ มิใช่คนธรรมดา สมควรแล้ว ที่พระองค์ จะตัดไฟแต่ต้นลม ประหารชีวิตเขาเสีย ขอพระองค์ อย่าทรงวิตก” พระราชาคลายความโศกลงได้บ้าง จึงสามารถบรรทมหลับลงได้

พระเทวี เสด็จลุกจากห้องบรรทม ไปห้องพระอักษร ทรงเขียนจดหมายถึงมโหสถ แจ้งให้รู้ว่า  คณะมนตรี ทูลยุยงพระราชา ให้เกิดความระแวงมโหสถ พระราชากริ้วมาก ไม่ทันพิจารณาความให้ละเอียด รับสั่งให้ดักฆ่ามโหสถ ที่ประตูพระราชวัง ในตอนเช้าวันพรุ่งนี้ พรุ่งนี้เช้า จึงไม่ให้มาราชสำนัก ถ้าจะมา ก็ขอให้นำประชาชนมาด้วย จะได้มีเกราะป้องกันตัว ทรงพับจดหมายใส่ห่อ  ผูกด้วยด้าย แล้วใส่ไว้ในภาชนะอาหาร ปิดฝาประทับตราราชลัญจกร ประทานให้นางข้าหลวงคนสนิท นำไปให้มโหสถ รับสั่งว่า “เจ้าจงเอาห่อนี้ ไปให้มโหสถ น้องชายเรา”

นางข้าหลวง ออกจากบรมมหาราชวัง ในเวลากลางคืน เพราะพระราชา เคยให้พรพระนางอุทุมพรไว้ก่อนแล้ว พระนางสามารถใช้ใครนำอาหาร ออกไปให้มโหสถ ได้ทุกเวลา ตามประสงค์ จึงไม่มีใครห้ามนางข้าหลวงนั้น มโหสถ รับพระสุพรรณภาชนะแล้ว ให้นางข้าหลวงกลับไป แก้ห่อจดหมาย ออกอ่านแล้ว รู้ความเป็นไปทุกอย่าง ตามที่พระนางอุทุมพรเทวี ระบุไว้ในจดหมาย จัดแจงสิ่งที่ควรทำ ให้เสร็จก่อน จึงเข้านอน

คณะมนตรีทั้ง ๔ คน ถือพระแสงขรรค์ ยืนแอบอยู่ภายในประตูพระราชวัง ตั้งแต่เช้ามืด จนตะวันขึ้น สายแล้ว ก็ยังไม่เห็นมโหสถ เมื่อไม่เห็นมโหสถมา ก็เสียใจ จึงไปเข้าเฝ้าพระราชา พระองค์ ตรัสถามว่า “ฆ่ามโหสถ ได้แล้วหรือ” เสนกปุโรหิต จึงกราบทูลให้ทรงทราบว่า “ข้าพระองค์ไม่เห็นมโหสถมา จึงฆ่าไม่ได้” พระราชา รู้สึกโล่งอก

ครั้นรุ่งเช้า มโหสถ อาบน้ำ แต่งตัว ทานอาหารเสร็จแล้ว นำประชาชน ไปตั้งกองรักษาการไว้ ในที่ต่าง ๆ มีอาณาประชาราษฎร์ห้อมล้อม ขึ้นรถไปยังประตูพระราชวัง

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช ให้เปิดพระแกล ประทับยืนทอดพระเนตร เห็นมโหสถ ลงจากรถ  ถวายบังคมบรมกษัตริย์ แล้วยืนอยู่ ทรงเห็นกิริยามโหสถแล้ว ดำริว่า ถ้ามโหสถคิดการกบฏ  ที่ไหน เขาจะยืนไหว้พระองค์อยู่อย่างนี้ จึงตรัสเรียกให้มโหสถ เข้าเฝ้า

          เมื่อมโหสถ เข้าเฝ้า ได้ถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราช แล้วนั่ง ในที่ของตน

พระราชา ทำเป็นไม่ทรงทราบอะไร ตรัสถามมโหสถว่า “ทำไม เมื่อวานนี้ จึงรีบร้อนกลับบ้านเร็ว แต่วันนี้ กลับมาสายกว่าทุกคน”

มโหสถ ทูลเตือนพระราชาว่า “ขอเดชะ พระองค์ เชื่อคำบัณฑิตทั้ง ๔ คน รับสั่งให้ฆ่าข้าพระองค์ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ จึงยังไม่มาเข้าเฝ้าแต่เช้า”

พระเจ้าวิเทหราช สดับคำมโหสถ ก็ทรงพิโรธ ด้วยทรงเห็นว่า พระนางอุทุมพรเทวี ส่งข่าวไปบอกให้มโหสถรู้ พระองค์ทอดพระเนตรพระเทวี 

มโหสถ รู้กิริยานั้น จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ ทรงพิโรธพระพี่นาง ทำไม ข้าพระองค์ ทราบเหตุการณ์ อดีต อนาคต และปัจจุบัน ทั้งสิ้น ถ้าพระองค์ คิดว่า พระพี่นาง บอกความลับให้ข้าพระองค์รู้ ขอพระองค์จงทบทวนดูก่อน ความลับของเสนกะ และปุกกุสะ เป็นต้น ใครเล่า บอกให้ข้าพระองค์รู้ ปัญหากิ้งก่า ก็ตาม ปัญหาเทวดา ก็ตาม ใครบอกข้าพระองค์  เสนกะได้ทำกรรมชั่วไว้ เขาฆ่าหญิงขายตัวคนหนึ่ง ที่สวนไม้รัง ในนครนี้เอง แล้วยึดเอา เครื่องประดับ ห่อด้วยผ้า เก็บไว้ในบ้านของตน ครั้งหนึ่ง เขาอยู่ในที่ลับ ได้บอกเรื่องนี้ให้เพื่อนคนหนึ่งรู้ เสนกะ ได้ทำกรรมชั่วเช่นนี้ ความลับนี้ ข้าพระองค์ รู้ได้อย่างไร”

มโหสถ ได้บอกความลับของคนอื่น ตามที่ได้ยินมา แล้วกราบทูลว่า “ความลับนี้ พวกเขา เปิดเผยเอง ข้าพระองค์ ได้ยินมาด้วยตนเอง ข้าพระองค์ มิได้คิดการเป็นกบฏ แต่เสนกะและพวก นั่นแหละ คิดการกบฏ หากพระองค์มีพระราชประสงค์ จะจับคนคิดการกบฏ จงโปรดจับเสนกะ และพวกเถิด ไม่ใช่จับข้าพระองค์”

พระราชา ตรัสถามเสนกะ และบัณฑิตที่เหลือ ทุกคน ต่างยอมรับว่า จริงตามนั้น จึงรับสั่งให้ควบคุมตัว ไปจองจำเอาไว้ ในเรือนจำ คณะมนตรี ตั้งใจจะฆ่ามโหสถ แต่ตนเอง กลับถูกส่งเข้า เรือนจำทั้งหมด

พระโพธิสัตว์ กราบทูลพระเจ้าวิเทหราช ว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ กราบทูลว่า  บุคคล ไม่ควรบอกความลับของตน ให้คนอื่นรู้ แต่อาจารย์ทั้ง ๔ คน กราบทูลว่า บอกความลับของตน ให้คนอื่นรู้ได้ จึงถึงความพินาศ เพราะบอกความลับ

เก็บความลับไว้ นั่นแหละดี การเปิดเผยความลับ ไม่ดีเลย บัณฑิต ผู้มีปัญญาอันล้ำลึก เมื่อแผนการ ยังไม่สำเร็จ ก็อดทน เก็บความลับไว้ เมื่อแผนการสำเร็จแล้ว จึงพูดได้ ตามชอบใจ  บัณฑิต ไม่ควรเปิดเผยความลับ ควรรักษาความลับนั้นไว้ เหมือนรักษาขุมทรัพย์ บัณฑิต ไม่ควรบอกความลับแก่สตรี แก่คนไม่ใช่มิตร คนที่เงินล่อซื้อได้ และคนผู้มาเพื่อล้วงความลับ ผู้มีปรีชา ย่อมอดทนต่อคำด่า คำบริภาษ และการลงโทษ จากบุคคลผู้ต้องการรู้ความลับ เหมือนทาส อดทนถูกเจ้านายด่า  

ผู้ฉลาด ไม่ควรเปิดเผยความลับ เมื่อจำเป็นต้องบอกความลับ ในเวลากลางวัน ต้องหา สถานที่ ไม่มีคน เมื่อจะพูดความลับ ในเวลาค่ำคืน อย่าพูดเสียงดังเกินไป เพราะอาจมีคนแอบได้ยิน ความลับ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความลับ จะถูกแพร่งพรายออกไปทันที”

พระเจ้าวิเทหราช ได้สดับคำมโหสถ ก็ทรงพิโรธว่า บัณฑิตของพระองค์ ปองร้ายกันเอง กลับมาลงเอามโหสถว่า เป็นผู้ปองร้ายพระองค์ จึงรับสั่งให้ทหาร นำอาจารย์เสนกะไปประหารชีวิต ตัดหัวเสียบประจาน นอกพระนคร บัณฑิตทั้ง ๔ คน ถูกมัดมือไพล่หลัง เฆี่ยนด้วยไม้เรียว แล้วนำไปสู่ที่ประหาร

มโหสถ กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษว่า “อาจารย์เหล่านี้ เป็นอำมาตย์เก่าของพระองค์  จึงขอพระราชทานอภัยโทษให้เถิด พระเจ้าข้า” พระราชา ทรงพระราชทานอภัยโทษ ไม่ให้ประหารชีวิต ทรงยกให้เป็นทาสมโหสถ แต่มโหสถ ยกให้เป็นอิสระในเวลานั้น พระราชา รับสั่งให้เนรเทศออกจากพระราชอาณาจักร แม้เช่นนั้น มโหสถ ก็ทูลขอพระราชทานอภัยโทษ และขอให้ทรงยกย่องอาจารย์เหล่านั้น ไว้ในฐานันดรเช่นเดิม  

พระราชา ทรงโปรดปรานมโหสถมาก ด้วยทรงดำริว่า มโหสถ มีเมตตาแก่ศัตรูเช่นนี้ แล้วจะไม่ เมตตาต่อประชาชน ได้อย่างไร ตั้งแต่นั้นมา นักปราชญ์ทั้ง ๔ คน ก็หมดพยศ หมดความนับถือ  เหมือนงูพิษ ถูกถอนเขี้ยว เงียบเสียง ไม่กล่าวอะไรอีกเลย

เปิดแผนยึดครองชมพูทวีป

ตั้งแต่นั้นมา มโหสถ ได้ทำหน้าที่ถวายคำแนะนำพระเจ้ากรุงมิถิลานคร สืบมา มโหสถ คิดว่า  อันธรรมดาผู้รักษามหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นราชสมบัติของพระราชา ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท  เพื่อป้องกันภัยจากภายนอกราชอาณาจักร ที่จะเกิดในกาลข้างหน้า มโหสถ จึงให้เสริมกำแพงพระนคร ใหม่ ให้ใหญ่ และเข้มแข็งขึ้น ให้สร้างหอรบ คูค่าย และซ่อมแซมเรือนเก่าภายในพระนครเอาไว้   

ส่วนภายนอกพระนคร ให้ขุดสระขนาดใหญ่ วางระบบการประปาจากสระนั้น ส่งเข้าไปใช้ในพระนคร ให้ขุดลอกคลอง ให้น้ำไหลเข้าออกสะดวก ใส่ข้าวเปลือกให้เต็มฉางหลวงในพระนคร ให้นำหญ้ากับแก้ และบัวสาย จากพวกดาบสผู้คุ้นเคยในราชสกุล จากหิมวันตประเทศ มาปลูกไว้สำหรับเลี้ยงช้างศึก ม้าศึก ตลอดจนสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ และให้ซ่อมแซมศาลาเก่าภายนอกพระนคร  

จากนั้น มโหสถ เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลของพระราชาในราชอาณาจักรต่าง ๆ เพื่อวางแผน  ส่งสายลับไปแทรกซึมอยู่ตามประเทศนั้น มโหสถ ได้สอบถามข้อมูลจากพวกพ่อค้าวาณิชย์ที่เดินทางมาค้าขายในมิถิลานครว่า พระราชาของตนในประเทศนั้น ๆ โปรดปรานอะไร แล้วจดบันทึกไว้อย่างละเอียด ก่อนพวกพ่อค้าวาณิชย์กลับ มโหสถได้จัดงานเลี้ยงฉลองอย่างดี เพื่อเป็นการผูกไมตรี  เมื่อพวกพ่อค้าวาณิชย์กลับไป ก็เรียกทหารของตน ที่ฝึกไว้เป็นสายลับมา จำนวน ๑๐๑ คน  เพื่อทำหน้าที่ จัดส่งเครื่องบรรณาการ ไปถวายกษัตริย์ในราชธานีทั่วชมพูทวีปถึง ๑๐๑ ประเทศ  เมื่อถวายบรรณาการแด่พระราชาเหล่านั้นแล้ว ให้ทำโดยประการที่ จะทำให้พระราชาเหล่านั้น  ไว้วางพระราชหฤทัย แล้วรับราชการในประเทศนั้น ๆ เพื่อคอยดูท่าทีของพระราชาแต่ละประเทศ  แล้วส่งข่าวมาที่มิถิลานคร ส่วนบุตรและภรรยาของทหารสายลับ ก็จะได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี

มโหสถ ได้จารึกชื่อของตน ซ่อนไว้ ที่ฉลองพระบาท พระขรรค์ และสุวรรณมาลา สำหรับให้ทหารสายลับทั้ง ๑๐๑ คน กระจายกันออกไป เพื่อถวายเป็นบรรณาการพระราชาในประเทศต่าง ๆ  ด้วย

พวกทหารสายลับ แต่งตัวอย่างนักแสวงโชคบ้าง อย่างพ่อค้าวาณิชย์บ้าง เดินทางไปในประเทศนั้น ๆ ถวายเครื่องบรรณาการ ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระราชาแต่ละพระองค์ ตามที่จดบันทึกข้อมูลไว้

พระราชา ตรัสถามถึงธุระที่มา ก็ทูลว่า ต้องการถวายตัวรับราชการในราชสำนัก ครั้นพระราชา   ตรัสถามถึงประเทศที่มา ก็ไม่กราบทูลตามความเป็นจริงว่า มาจากกรุงมิถิลานคร แต่กราบทูลว่า มาจากที่อื่น เมื่อทรงรับไว้แล้ว ก็อยู่รับราชการในนครนั้น ๆ ทำโดยประการต่าง ๆ เพื่อให้พระราชา โปรดปราน

ครั้งนั้น พระราชาแห่งกัมพลนคร พระนามว่า “สังขพลกราช” สั่งให้เตรียมศาสตราวุธ และเรียกระดมไพร่พลเข้ากองทัพ

ทหารสายลับของมโหสถ ที่แทรกซึมอยู่ในกัมพลนคร ทราบความเคลื่อนไหวของราชสำนัก พระเจ้าสังขพลกราช ผิดปกติ จึงส่งข่าวไปบอกมโหสถว่า มีความเคลื่อนไหวไม่ปกติ เกิดขึ้นทางกัมพลนคร เนื่องจากพระเจ้าสังขพลกราช รับสั่งให้เตรียมศาสตราวุธ และเรียกระดมไพร่พลอย่างมากมาย ขอให้มโหสถ ตรวจสอบข่าวจากด้านอื่นดูให้แน่ใจอีกครั้งว่า พระเจ้าสังขพลกราชกำลังจะทำการสิ่งใด

มโหสถให้ลูกนกแขกเต้าที่เลี้ยงไว้ ชื่อ “มาธุระ” ไปสังเกตการณ์พระเจ้าสังขพลกราช ที่กัมพลนครว่า ทำไม จึงตระเตรียมกำลังพล จากนั้น จึงสั่งให้ไปสังเกตการณ์ทั่วชมพูทวีป เพื่อสืบดูความเคลื่อนไหวของพระราชา ในแต่ละประเทศ แล้วนำข่าวมาบอก

มโหสถ คลุกข้าวตอกกับน้ำผึ้ง ให้ลูกนกแขกเต้ากิน ให้ดื่มน้ำผึ้ง เอาน้ำมันที่หุงแล้วนับพันครั้ง ทาขนปีก ให้จับที่ขอบหน้าต่างทิศตะวันออก แล้วปล่อยไป  

ลูกนกแขกเต้า ขนปีกสีเขียวมันระยับ บินทะยานออกไป อย่างรู้หน้าที่ สืบดู จนรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ในราชสำนักของพระเจ้าสังขพลกราชหมดสิ้นแล้ว จึงออกตรวจดูประเทศต่าง ๆ ในชมพูทวีปทั้งหมด จนมาถึงกรุงอุตตร ปัญจาลนคร ในแคว้นกัปปิลรัฐ

พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ครองราชสมบัติ ในกรุงปัญจาลนคร มีพราหมณ์นักปราชญ์ ชื่อ เกวัฏฏะ เป็นปุโรหิต คอยถวายคำแนะนำ ในการบริหารราชการแผ่นดิน

ใกล้รุ่งวันหนึ่ง เกวัฏฏปุโรหิต ตื่นขึ้น มองดูไปรอบ ๆ ห้อง เห็นอิสริยยศใหญ่ของตน จากแสงประทีป จึงคิดว่า พระเจ้าจุลนี พระราชทานอิสริยยศใหญ่ ให้เราเช่นนี้ เราควรวางแผนให้พระองค์ เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ในชมพูทวีป เราเอง ก็จะได้เป็นอัครปุโรหิตของพระองค์ด้วย จึงเข้าเฝ้าพระราชา แต่เช้าตรู่ ทูลถามถึงการบรรทมตามธรรมเนียม แล้วกราบทูลว่า ตนมีข้อราชการที่คิดไว้ อยากจะปรึกษา เมื่อพระราชาทรงอนุญาต ให้พูดไปได้เลย จึงกราบทูลว่า “ภายในพระราชวัง ชื่อว่า สถานที่ลับ ไม่มี ขอเชิญเสด็จไปพระราชอุทยาน” พระราชา ทรงเห็นชอบด้วย จึงเสด็จไปพระราชอุทยาน วางกองรักษาการไว้รอบนอก แล้วเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยานกับพราหมณ์ปุโรหิตสองต่อสอง

ขณะนั้น ลูกนกแขกเต้า ที่มโหสถส่งออกไปหาข่าว ได้บินวนสังเกตการณ์อยู่ในกรุงปัญจาลนคร เห็นท่าทางพระเจ้าจุลนี กับพราหมณ์ มีพิรุธ ก็รู้สึกแปลกใจ จึงบินเข้าสู่พระราชอุทยาน จับเร้นอยู่ระหว่างคาคบต้นรัง พราหมณ์เกวัฏฏะ กราบทูลให้พระราชาเก็บเรื่องที่คุยกันวันนี้ ไว้เป็นความลับ ความคิดนี้ จะรู้กันแค่ ๔ หูเท่านั้น ถ้าพระเจ้าจุลนีทำตาม ก็จะได้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ในชมพูทวีป

พระเจ้าจุลนี เป็นผู้กระหายอำนาจ สดับคำของพราหมณ์เกวัฏฏะ ก็ทรงยินดี พราหมณ์เกวัฏฏะ ได้กราบทูลความคิดของตนว่า “ขอให้พระองค์ เรียกระดมพล จัดกองทัพใหญ่ ไปล้อมเมืองต่าง ๆ  เอาไว้ก่อน จากนั้น ข้าพระองค์ จะเข้าไปเจรจา เกลี้ยกล่อมให้พระราชาในเมืองนั้น ๆ ยอมวางอาวุธ อย่าคิดรบ ราชสมบัติ ก็จะยังคงอยู่ และจะยังคงเป็นพระราชาปกครองบ้านเมืองตามเดิม  หากเลือกรบ ก็จะมีแต่ความพ่ายแพ้อย่างเดียว เพราะกองทัพของเรา ล้อมไว้หมดทุกด้านแล้ว  เมื่อพระราชาเหล่านั้น ทำตาม พวกเราจะจับพระราชาทั้งหมด ไว้เป็นตัวประกัน ถ้าไม่ทำตาม  ก็จะทำสงครามรบหักเอาพระนคร แล้วสำเร็จโทษพระราชาพระองค์นั้นเสีย ควบคุมกองทัพของเมืองนั้น เข้ากับกองทัพของเรา เคลื่อนไปยึดเมืองอื่นต่อไป จนหมดทั่วทั้งชมพูทวีป จากนั้น  จึงควบคุมตัวพระราชาทั้งหมด ไปเมืองเรา จัดพิธีฉลองชัยชนะในพระราชอุทยาน ให้พระราชา ทั้งหมด ดื่มสุราผสมยาพิษ เมื่อพระราชาทั้งหมด สิ้นพระชนม์แล้ว จึงเอาศพไปทิ้งในแม่น้ำคงคา  ราชธานีทั่วชมพูทวีป จะอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ พระองค์ จะเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ในชมพูทวีป เพียงพระองค์เดียว”  

พราหมณ์เกวัฏฏะ กราบทูลเตือนพระราชาว่า “ความคิดนี้ รู้กันแค่ ๔ หู เท่านั้น บุคคลอื่นให้ล่วงรู้ไม่ได้ เป็นเด็ดขาด ขอพระองค์ อย่าชักช้า รีบยกกองทัพออกเลยทีเดียว”

เมื่อพราหมณ์กับพระราชา วางแผนยึดครองชมพูทวีป จนตกเย็น ลูกนกแขกเต้ามาธุระ แอบฟังอยู่บนต้นไม้ จึงทำทีเป็นบินลง จับกิ่งไม้รังกิ่งหนึ่ง ถ่ายขี้ลงถูกหัวพราหมณ์เกวัฏฎะ พอพราหมณ์เกวัฏฏะแหงนหน้าขึ้น ร้องว่า “นี้ อะไรกัน” ก็ถ่ายขี้ ให้ตกลงในปากพราหมณ์ แล้วส่งเสียงร้อง บินขึ้น จากกิ่งไม้รัง กล่าวว่า “พราหมณ์ชั่ว แกคิดว่า แผนการของแก รู้กันแค่ ๔ หู เท่านั้นหรือ ตอนนี้รู้เป็น ๖ หูแล้ว และจะรู้เพิ่ม เป็น ๘ หู แล้วรู้ต่อ ๆ ไป กันอีกหลายร้อยหูทีเดียว”

เมื่อทหารร้องบอกให้ช่วยกันจับ ก็บินทะยานอย่างเร็ว ดุจลมพัด ไปสู่กรุงมิถิลานคร ตรงไปสู่เคหสถานแห่งมโหสถบัณฑิต

โดยปกติ ถ้าลูกนกแขกเต้า คิดว่า ข่าวนั้น ควรบอกให้มโหสถ รู้เพียงคนเดียว ก็จะลงจับที่บ่ามโหสถ ถ้านางอมราเทวี ฟังด้วยได้ ก็ลงจับที่ตัก ถ้าคนอื่น ฟังด้วยได้ ก็จะลงจับที่พื้น แต่ครั้งนี้ นกสุวโปดกมาธุระ ลงจับที่บ่ามโหสถ ผู้คนในเรือนเห็นเช่นนั้น ก็รู้โดยนัยว่า เป็นความลับ จึงพากัน หลบไป

มโหสถบัณฑิต พาลูกนกแขกเต้า ขึ้นบนเรือน จากนั้น ลูกนกแขกเต้า จึงแจ้งเรื่องทั้งหมด ให้มโหสถทราบ เมื่อมโหสถบัณฑิต ถามว่า พระเจ้าจุลนี จะทำตามคำแนะนำของพราหมณ์หรือไม่ นกสุวโปดก ก็ยืนยันว่า พระเจ้าจุลนี จะทำตาม จากนั้น มโหสถ ให้นกสุวโปดก นอนในกรงทองคำ  มีเครื่องลาดอ่อนนุ่ม แล้วคิดว่า เห็นที พราหมณ์เกวัฏฎะ จะไม่รู้จักมโหสถบัณฑิตเสียแล้ว จึงมีคำสั่งให้อพยพประชาชน ถ่ายเทครอบครัวสกุลเข็ญใจในเมือง ออกไปอยู่นอกเมือง แล้วนำสกุลมีอิสริยยศ  ซึ่งอยู่ตามชนบทต่าง ๆ เข้ามาอยู่ภายในกำแพงพระนคร ให้สะสมเสบียงและยุทธภัณฑ์ไว้ให้พร้อม

ฝ่ายพระเจ้าจุลนี เชื่อพราหมณ์เกวัฏฎะ ทรงแวดล้อมด้วยหมู่เสนาอำมาตย์ เคลื่อนกองทัพ ออกจากกรุงปัญจาลนคร เสด็จไปล้อมเมืองเล็กแห่งหนึ่งเอาไว้ จากนั้น จึงให้พราหมณ์เกวัฏฏะ เข้าไปเจรจา ให้ยอมจำนน และเข้ายึดเมืองนั้นไว้ ในอำนาจของตน แล้วรวมกองทัพทั้งสองเมือง ให้เป็นกองทัพเดียวกัน ไปล้อมเมืองอื่นอีกต่อไป จนสามารถยึดนครทั่วชมพูทวีปทั้งหมด ไว้ในอำนาจของพระองค์ ยกเว้นมิถิลานครของพระเจ้าวิเทหราช เพียงนครเดียว

สายลับที่มโหสถวางไว้ ก็ส่งข่าวถึงมโหสถ ตลอดเวลาว่า “ขณะนี้ นครทั้งหมดในชมพูทวีป ถูกพระเจ้าจุลนี ยึดไว้แล้ว อย่าได้ประมาท” ฝ่ายมโหสถ ส่งข่าวตอบไปยังสายลับว่า “เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว ขอพวกท่าน อย่าได้วิตก พวกท่าน อยู่ท่ามกลางศัตรู  จงอย่าได้ประมาท”

นับตั้งแต่พระเจ้าจุลนี รับสั่งให้เคลื่อนพลไปล้อมเมือง ๆ หนึ่งไว้ เมื่อยึดได้ ก็สมทบกับเมืองนั้น  ยกไปตีเมืองอื่น ต่อไป จนกองกำลัง เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นกองทัพใหญ่ ใช้เวลายกทัพไปยึดเมืองนั้น ๆ  ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ก็สามารถครอบครองแผ่นดินทั่วชมพูทวีป ยกเว้นมิถิลานคร พระองค์ตรัสกับเกวัฏฎปุโรหิตว่า “จากนี้ไป เราจะยกไปตีมิถิลานครของพระเจ้าวิเทหราช”

ปุโรหิต ทูลทัดทานว่า “การจะยึดนครที่มโหสถอยู่ ต้องคิดให้หนัก เพราะมโหสถ มีความ รอบรู้ ฉลาดในการวางแผนยุทธศาสตร์ ทั้งเมือง ก็อยู่ห่างไกล เดินทัพลำบาก พวกทหาร จะอ่อนล้า  อีกอย่างหนึ่ง มิถิลานคร ก็เป็นแค่เมืองเล็ก จึงไม่คุ้ม กับการยกทัพใหญ่ ไปตีเอาเมืองเล็ก ๆ เช่นนี้  ขอพระองค์ อย่าทรงอยากได้ราชสมบัติในมิถิลานครเลย พระเจ้าข้า”

บรรดากษัตริย์เมืองต่าง ๆ ที่ถูกยึดตัวมา ต่างก็สนับสนุน ให้ยกกองทัพไปตีมิถิลานคร เมื่อยึดกรุงมิถิลานครได้แล้ว จึงค่อยฉลองชัยชนะกันอย่างยิ่งใหญ่

เกวัฏฏะ ทูลทัดทาน ไม่ให้ยกกองทัพ ไปยึดมิถิลานคร เพราะถึงอย่างไร พระราชาในวิเทหรัฐ ก็เหมือนตกอยู่ในอำนาจของพระองค์อยู่แล้ว พระเจ้าจุลนี ทรงเชื่อปุโรหิต เมื่อไม่มีการเคลื่อนทัพ  ไปตีมิถิลานคร พระราชาจากเมืองต่าง ๆ จึงเตรียมจะเสด็จกลับนครของตน

สายลับ ส่งข่าวไปแจ้งมโหสถ ให้ทราบว่า “พระเจ้าจุลนี แวดล้อมด้วยพระราชาจากประเทศ ต่าง ๆ ทั่วชมพูทวีป ประชุมเตรียมจะยกทัพ มาตีกรุงมิถิลานคร แต่แล้ว ก็ยกเลิกแผนการ เพราะเกวัฏฏปุโรหิต ทูลทัดทานเอาไว้”  

มโหสถ ส่งข่าวตอบให้สายลับคอยดูท่าทีของพระเจ้าจุลนี ต่อไป จะต้องมีแผนการอะไรที่สายลับ ยังไม่รู้

พระเจ้าจุลนี ทรงปรึกษากับอาจารย์เกวัฏฏะว่า “จะทำอย่างไร ต่อไป” เกวัฏฏพราหมณ์  กราบทูลว่า “ให้เจ้าหน้าที่ ประดับอุทยาน จัดเตรียมสุรา อาหาร อย่างดี เพื่อจัดพิธีเฉลิมฉลองชัยชนะ” สายลับ ได้ส่งข่าวไปแจ้งมโหสถว่า ขณะนี้ ที่ปัญจาลนคร กำลังจะมีการเตรียมฉลองชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ แต่สายลับไม่ได้ล่วงรู้ว่า พระเจ้าจุลนี วางแผนวางยาพิษในสุรา เพื่อฆ่าพระราชาในชมพูทวีปทั้งหมด

มโหสถ รู้แผนการนั้น จากลูกนกแขกเต้า จึงส่งข่าวตอบสายลับไปว่า “หากรู้วันเฉลิมฉลองที่แน่นอนแล้ว ให้ส่งข่าวมาบอก”

มโหสถ คิดว่า เมื่อเรา ยังมีลมหายใจอยู่ พระราชาทั้งหมด ไม่ควรสิ้นพระชนม์ชีพ เราจะเป็นที่พึ่งของพระราชาเหล่านั้น จึงเรียกเหล่าทหารบริวาร ซึ่งเป็นสหชาติ ๑,๐๐๐ คนนั้น มาสั่งการว่า  “พระเจ้าจุลนี เตรียมวางยาพิษ พระราชาทั้งหมด พวกท่าน จงไปสร้างความวุ่นวายในงานเฉลิมฉลอง ขณะที่พระราชาพระองค์อื่น ๆ ยังไม่นั่งประจำที่ ให้พวกท่าน ไปยึดพระราชอาสน์ ถัดจากพระเจ้าจุลนีเอาไว้ก่อน แล้วประกาศว่า เป็นพระราชอาสน์แห่งพระราชาของพวกเรา  เมื่อข้าราชการ ฝ่ายปัญจาลนคร กล่าวว่า พวกท่าน เป็นคนของใคร ให้ตอบว่า เป็นข้าราชการ ของพระเจ้าวิเทหราช เมื่อถูกถามว่า ขณะที่พวกเรา ไปล้อมยึดเมืองต่าง ๆ ไว้ ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ไม่เคยเห็นหน้าพระเจ้าวิเทหราช แม้แต่วันเดียว แล้วยังจะมีหน้า มาแย่งที่นั่ง ได้อย่างไร พวกเจ้า จงไปนั่งต่อท้ายแถว ให้พวกท่าน เถียงว่า ในสถานที่แห่งนี้ ยกเว้นพระเจ้าจุลนีแล้ว พระราชาพระองค์อื่น ไม่มีใคร ยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้าวิเทหราช พระราชาของเรา จงทุ่มเถียงให้หนักขึ้นว่า  ถ้าพวกเราไม่ได้พระราชอาสน์นี้ เพื่อพระราชาของพวกเรา ก็อย่าหวังว่า พวกท่าน จะได้จัดงานฉลองดื่มสุรา เมื่อพวกเขาไม่ยอม ก็โวยวายกันขึ้น แสดงอาการอันธพาล ก้าวร้าว ดุร้าย  ทำลายข้าวของ ทำให้พวกเขาหวาดกลัว

จากนั้น ให้พวกท่าน ช่วยกันทุบไหสุรา เทราดปลา และเนื้อ ให้กินไม่ได้ แล้วจู่โจมเข้าไปท่ามกลางเหล่าแม่ทัพ อย่างรวดเร็ว ประกาศให้รู้ว่า พวกเรา เป็นทหารของมโหสถแห่งกรุงมิถิลานคร ใครหน้าไหนกล้า ก็เข้ามาจับ จากนั้น จึงถอนตัวออกมา ทุกอย่าง ต้องรวดเร็ว ดุจเหล่าอสูร พุ่งทะยานเข้าไปสู่เทพนคร แล้วจากไป เหมือนสายลม

เหล่าทหารสหชาติของมโหสถ รับคำสั่งแล้ว ประชุมวางแผนการกัน จัดเตรียมอาวุธให้พร้อม  มุ่งหน้าสู่กรุงปัญจาลนคร เข้าสู่พระราชอุทยานของพระเจ้าจุลนี

ภายในพระราชอุทยานนั้น ถูกตกแต่งไว้อย่างดงาม ยกเศวตฉัตรขึ้นตั้ง ทอดพระราชอาสน์ สำหรับพระราชาทั้ง ๑๐๑ พระองค์ ไว้ตามลำดับ ทหารของมโหสถ เคลื่อนไหวอย่างว่องไว จนทหาร ฝ่ายปัญจาลนคร ตั้งตัวไม่ทัน พวกเขา ได้ทำทุกอย่าง ตามที่มโหสถสั่งการ ทำให้มหาชน เกิดเอิกเกริก  โกลาหลขึ้น จนงานเฉลิมฉลองชัยชนะ พังราบลง แล้วถอนตัวออกมา มุ่งหน้ากลับมิถิลานคร เหมือน สายลมวูบผ่าน

          พระเจ้าจุลนี ทราบเหตุที่เกิดขึ้น ก็ทรงพิโรธว่า พวกมิถิลานคร ทำลายแผนการของพระองค์  พังย่อยยับหมด ฝ่ายพระราชาทุกพระองค์ ก็พิโรธว่า พวกมิถิลานคร ทำให้พวกตนอดดื่มสุราฉลองชัยชนะ โดยหารู้ไม่ว่า เป็นสุราผสมยาพิษ ส่วนกองทัพ ก็ขัดใจว่า งานถูกล้มเลิก พวกตนอดดื่มสุราในงานฉลองชัยชนะอันยิ่งใหญ่

พระเจ้าจุลนี ตรัสเรียกพระราชาทั้งหมดมา รับสั่งว่า “พวกเรา จะยกทัพไปเหยียบกรุงมิถิลานคร ให้ราบเป็นหน้ากลอง จับพระเจ้าวิเทหราช ตัดหัว แล้วเหยียบหน้า ให้สาสมใจ  จึงค่อยร่วมกัน ดื่มฉลองชัยชนะ” พระองค์ สั่งให้จัดเตรียมกองทัพ แล้วเสด็จไปปรึกษาราชการลับกับเกวัฏฏปุโรหิต ว่า “พวกเรา จะจับศัตรูที่ทำลายงานมงคลของเรา ขณะนี้ ได้จัดเตรียมกองทัพถึง ๑๘ อักโขภินี๑๑ พร้อมด้วยพระราชาทั้งหมด ไปมิถิลานคร ขอให้ท่านอาจารย์ไปด้วย”

เกวัฏฏปุโรหิต คิดว่า ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถเอาชนะมโหสถได้ การศึกครั้งนี้ จะทำให้ปัญจาลนคร พ่ายแพ้ ย่อยยับ อย่างแน่นอน จะต้องทำให้พระราชา เลิกล้มความตั้งใจ จึงกราบทูลว่า  “ข้าแต่มหาราช พระองค์ อย่าหลงกลมโหสถ นั่น หาใช่เป็นแผนการของพระเจ้าวิเทหราชไม่  แต่เป็นแผนการของมโหสถ มโหสถ ได้วางแผนรักษากรุงมิถิลานครเอาไว้ อย่างเข้มแข็ง ดุจพญาราชสีห์รักษาถ้ำ ใคร ๆ ไม่สามารถกล้ำกรายเข้าไปใกล้ได้ การศึกครั้งนี้ จะทำให้พวกเรา พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ไม่ควรยกทัพไปกรุงมิถิลานคร”

พระเจ้าจุลนี หลงในอำนาจว่า พระองค์ เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ มีกองทัพที่มีแสนยานุภาพมาก  จึงตรัสว่า “มโหสถ เพียงคนเดียว จะมีน้ำยาอะไร การศึก รบด้วยกำลังทหารที่แข็งแกร่ง พระองค์มีพระราชาจากนานาประเทศ ล้วนชำนาญศึก และมีกองกำลังทหารที่เข้มแข็งถึง ๑๘ กองทัพ ล้วนแกล้วกล้า”

พระเจ้าจุลนี ราชาแห่งปัญจาลนคร สั่งเคลื่อนพล เสด็จออกไปด้วยแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่  โดยไม่ยอมฟังคำทัดทานของเกวัฏฏปุโรหิต

เมื่อปุโรหิต ไม่อาจทัดทานพระเจ้าจุลนีได้ ก็โดยเสด็จไปในกองทัพ ด้วยความจำใจ

๑๑ อักโขภินี เป็นจำนวนนับอย่างสูง คือ ๑ มีศูนย์ตามด้วย ๔๒ ตัว หมายถึง กองทัพ ที่มีกองกำลังพร้อมทุกอย่าง

ข่าวศึกจากสายลับ

ครั้นทหารของมโหสถ กลับถึงกรุงมิถิลานครแล้ว ได้รายงานให้มโหสถทราบ แม้สายลับก็รายงานสถานการณ์ ให้รู้ล่วงหน้าว่า “ขณะนี้ พระเจ้าจุลนี พร้อมทั้งพระราชา ๑๐๑ พระองค์เคลื่อนพลที่มีกองกำลังแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ ออกจากปัญจาลนคร มุ่งหน้าสู่มิถิลานครแล้ว  ท่านบัณฑิต อย่าได้ประมาท”

สายลับ รายงานความเคลื่อนไหวของกองทัพพระเจ้าจุลนี ให้มโหสถ ทราบเป็นระยะ  ตลอดเส้นทางการเดินทัพว่า วันนี้ เคลื่อนพลถึงไหนแล้ว วันนี้ กำลังจะเข้าแดนกรุงมิถิลานครแล้ว และ วันนี้ ล้ำแดนมิถิลานครเข้ามาแล้ว ยิ่งทำให้มโหสถ เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

ส่วนพระเจ้าวิเทหราช ทรงสดับข่าวลือ ที่บอกต่อ ๆ กันมาว่า พระเจ้าจุลนี จะกรีธาทัพมายึดเมืองของพระองค์

พระเจ้าจุลนี พร้อมด้วยกองทัพ เสด็จมาถึงมิถิลานคร ตั้งแต่หัวค่ำ ถือคบเพลิงนับแสนดวง  ส่องมรรคา สว่างไสวไปทั่ว แล้วสั่งให้กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กระจายกำลังออกไปล้อมเมืองมิถิลาเอาไว้ โดยรอบประมาณกำหนดทั้งสิ้น ๗ โยชน์

ขณะนั้น มิถิลานคร ถูกกลบด้วยศัพท์สำเนียงแห่งรถม้าศึก และดุริยางค์ดนตรีแห่งกองทัพ สว่างไสว ไปทั่ว ด้วยแสงประทีป และแสงเครื่องประดับเกราะ กระทบไฟ เหล่าพลนิกาย ต่างส่งเสียงบันลือลั่น  คำรณร้อง ข่มขวัญ ปานประหนึ่งแผ่นดิน จะถล่มทลาย

คณะมนตรีแห่งมิถิลานคร ประกอบด้วยเสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะ ได้ยินเสียงโห่ร้องโกลาหล ยังไม่รู้เรื่อง ก็เข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช กราบทูลให้ทรงพิจารณาเสียงโห่ร้องอื้ออึงนั้น ว่า เป็นเสียงอะไร

ขณะที่พระเจ้าวิเทหราช สดับคำถวายรายงานจากคณะมนตรี พระองค์ทรงคิดว่า พระเจ้าพรหมทัต เสด็จมาแล้ว จึงเปิดหน้าต่าง ทอดพระเนตรออกไปนอกกำแพงพระนคร ก็พบว่าเป็นจริง ตามที่ทรงคาดการณ์ไว้

พระองค์ ทรงตกใจ ทั้งกลัวตาย เหมือนทรงเห็นมฤตยู สยายปีกอยู่เบื้องหน้า ทรงทราบชัดว่า  ชีวิตของพระองค์ คงจะหมดสิ้นในวันพรุ่งนี้ วูบความคิดพระองค์ ทรงคิดถึงชีวิต คิดถึงพระเทวี และมหาเศวตฉัตร แล้วประทับนั่ง ทอดอาลัย อยู่กับคณะมนตรี

ส่วนมโหสถ รู้ว่า พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ยกทัพมาถึงแล้ว ก็มิได้ครั่นคร้าม ดุจพญาราชสีห์  องอาจอยู่ในถ้ำของตน เมื่อสั่งการเตรียมรักษาพระนครอย่างเข้มแข็งเสร็จแล้ว จึงขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ เข้าเฝ้าถวายรายงานพระราชา

พระเจ้าวิเทหราช ทอดพระเนตรเห็นมโหสถมาเฝ้า ก็ค่อยใจชื้นขึ้นมา ทรงดำริว่า ยกเว้นมโหสถ บุตรเราแล้ว ไม่มีใคร สามารถแก้ไขสถานการณ์อันคับขันเลวร้ายนี้ได้ จึงตรัสว่า “มโหสถลูกพ่อ  พระเจ้าจุลนีพรหมทัต แห่งปัญจาลนคร ยกทัพมหึมา มาล้อมมิถิลานครของเราเอาไว้ กองทัพ กรุงปัญจาลนคร มากมายเหลือคณานับ ทั้งกองช่างโยธา กองพลทหารราบ ล้วนแกล้วกล้า ลูก ฟังเสียงนั่นสิ อื้ออึงด้วยเสียงกลอง เสียงสังข์ และหอกดาบ กระทบกัน มีธงศึก โบกสะบัด  เกลื่อนกล่นด้วยกองทัพช้าง กองทัพม้า เพียบพร้อมด้วยเหล่าทหาร ที่มีฝีมือ แข็งแกร่ง ด้วยเหล่าทแกล้วทหารกล้า ในกองทัพนี้ มีบัณฑิตที่ปรึกษา ถึง ๑๐ คน ล้วนเป็นผู้ฉลาด มีปัญญา ประชุมกัน วางแผนตลอดเวลา ทั้งยังมีพระชนนีของพระเจ้าจุลนี เป็นที่ปรึกษาคนที่ ๑๑ ทรงสั่งสอนชาวปัญจาลนคร นอกจากนั้น ยังมีพระราชา ๑๐๑ พระองค์ ผู้ชำนาญศึก ตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละ พระราชาทุกพระองค์ ถูกชิงแผ่นดิน กลัวภัย จึงยอมทำตามพระเจ้าปัญจาละ แม้ไม่ปรารถนาที่จะเสด็จมา ก็จำต้องพูดเอาใจพระเจ้าจุลนี โอนอ่อนผ่อนตาม แล้วเสด็จร่วมทัพมาด้วย มโหสถลูกพ่อ กรุงมิถิลานครของเรา ถูกกองทัพพระเจ้าจุลนี โอบล้อมไว้ถึง ๓ ชั้น พวกเรา จะทำอย่างไรกัน”

เทวี จอมนางเเห่งวังหลวง

บรรดาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน แห่งกรุงปัญจาลนครนั้น พระนางสลากเทวี พระชนนีของพระเจ้าจุลนี เป็นบัณฑิตคนที่ ๑๑ ทรงพระปัญญา ยิ่งกว่าบัณฑิตทุกคน พระองค์ทรงสั่งสอน กองทัพปัญจาลนคร ให้มีความฉลาด รอบรู้ในยุทธศาสตร์ และกิจต่าง ๆ

เล่ากันมาว่า วันหนึ่ง มีชายคนหนึ่ง ถือของ ๓ อย่าง คือ ข้าวสาร ๑ ทะนาน ข้าวสุก ๑ ห่อ  และเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ เดินข้ามแม่น้ำ ครั้นเดินลุยลงไปแล้วว่ายน้ำ จนถึงกลางแม่น้ำ ก็กลัว  ไม่กล้าว่ายไปต่อ จึงว่ายกลับมา ร้องบอกผู้คน ที่ยืนอยู่ริมฝั่งว่า ผู้ที่สามารถนำตนข้ามน้ำได้อย่างปลอดภัย จะให้ของที่ตนชอบที่สุด

ชายคนหนึ่ง สามารถนำเขาข้ามไปได้อย่างปลอดภัย แล้วทวงสิ่งของตามที่ตกลงกันไว้  เขาตอบว่า “ท่านจงเอาข้าวสารหนึ่งทะนาน หรือข้าวสุกหนึ่งห่อ ไป” ชายผู้พาข้ามฟาก กล่าวว่า  “เรา ไม่คิดชีวิต พาท่านข้ามฟาก เพราะต้องการกหาปณะ ไม่ใช่ต้องการข้าวสาร และข้าวสุก  แต่ต้องการเงิน” ชายผู้ว่าจะให้ของที่ตนชอบที่สุดนั้น กล่าวว่า “เราบอกว่า จะให้สิ่งที่ตนชอบจากของ ๓ อย่าง นั้น เรา ก็ได้ให้แล้ว ถ้าอยากได้ ก็เอา ไม่อยากได้ ก็ตามใจ” ต่างคน ต่างทุ่มเถียง กันขึ้น อย่างแรง ไม่มีใครยอมใคร ชายผู้พาข้ามฟาก จึงพาชายผู้ว่าจะให้ของ ไปยังสถานที่วินิจฉัย แจ้งให้อำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดีความ ทราบถึงสาเหตุ

ฝ่ายพวกอำมาตย์ ผู้วินิจฉัยคดีความ ได้ฟังข้อความทั้งหมด เห็นว่า เงินตั้ง ๑,๐๐๐ กหาปณะ  มากเกินไป สำหรับจะเป็นค่าจ้างนำคนข้ามฟาก จึงวินิจฉัยให้รับข้าวสาร หรือข้าวสุก ตามนั้น   ชายผู้พาข้ามฟาก ไม่ยอมรับในคำตัดสินของอำมาตย์ จึงไปร้องเรียนกับพระราชา

ฝ่ายพระเจ้าจุลนี ให้เรียกพวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดีความทั้งหมดมาถาม ทรงฟังคำของชายทั้ง ๒ คน จากพวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัย เมื่อไม่ทรงทราบจะตัดสินอย่างไร จึงทรงยึดเอาตามคำวินิจฉัย ของพวกอำมาตย์ ชายผู้พาข้ามฟาก ได้ฟังพระราชวินิจฉัย ก็พูดขึ้นหน้าพระที่นั่งว่า “ข้าพระองค์ยอมสละชีวิต นำเขาข้ามแม่น้ำ ตามที่ตกลงกันไว้ พระองค์ ยังตัดสินให้แพ้คดีได้”

ขณะนั้น พระนางสลากเทวี พระชนนีของพระเจ้าจุลนี ประทับนั่งอยู่ไม่ไกล ทรงทราบว่า  พระราชา วินิจฉัยไม่ถูกต้อง จึงตรัสว่า “ลูกตัดสินคดีความ ถูกต้องแล้วหรือ” พระเจ้าจุลนี ทูลว่า  “ลูก รู้เท่านี้ ถ้าเสด็จแม่ ทราบมากกว่านี้ ก็ทรงตัดสินใหม่เถิด”

พระนางสลากเทวี จึงรับสั่งให้เรียกชายผู้ว่าจะให้ของที่ตนชอบมากที่สุดมา รับสั่งให้นำของทั้ง ๓ อย่าง มาวางไว้ที่พื้น แล้วตรัสถามว่า “เมื่อเจ้าลอยคออยู่ในน้ำ เจ้าบอกกับชายผู้พาเจ้าข้ามฟาก คนนี้ ว่าอย่างไร” เขากราบทูลว่า “ถ้าใคร พาข้ามฟากได้ จะให้ของที่มีค่า ที่ข้าพระองค์ชอบใจที่สุด” พระนางรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงหยิบของมีค่า ที่เจ้าชอบใจมากที่สุด ขึ้นมาดู” ชายเจ้าของทรัพย์ จำใจหยิบถุงเงินขึ้นมา

พระนาง ตรัสถามว่า “เจ้าชอบเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะนี้ มากที่สุดหรือ” ชายคนดังกล่าว ทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า” พระนาง ตรัสถามต่อไปอีกว่า “เจ้าพูดกับชายผู้พาเจ้าข้ามฟากว่า  จะให้ของที่เจ้าชอบใจที่สุด จากของ ๓ อย่างนี้ ใช่หรือไม่” ชายคนดังกล่าว รับว่า ได้พูดเช่นนั้น  พระนาง จึงรับสั่งว่า “ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงให้เงินแก่ชายผู้พาเจ้าข้ามฟาก” เขาได้ฟังคำตัดสิน ก็ถึงกับร้องไห้ เสียดายเงิน แต่จำต้องส่งให้แก่ชายที่พาตนข้ามฟาก

พระเจ้าจุลนี และเหล่าอำมาตย์ เห็นด้วยกับคำตัดสินของพระชนนีนั้น ต่างแซ่ซ้องสรรเสริญ พระนาง

ตั้งแต่นั้นมา ความที่พระนางเจ้าสลากเทวี พระราชชนนีของพระเจ้าจุลนี เป็นผู้ทรงพระปัญญา  ก็เป็นที่เล่าขานไปทั่วกรุงปัญจาลนคร

กลศึกมโหสถ

มโหสถ ได้สดับพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราช ก็ทราบว่า พระองค์ กลัวเกินไป เว้นตนเองแล้ว  ไม่มีใคร เป็นที่พึ่งของพระองค์ได้ จึงปลอบโยนให้พระองค์เบาพระทัย

มโหสถ มิได้ครั่นคร้ามต่อกองทัพของปัญจาลนคร ดุจพญาราชสีห์องอาจอยู่ในถ้ำของตน  กราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า “พระองค์ อย่าทรงกลัวเลย อย่าทรงเป็นทุกข์เรื่องสงคราม จงเสวย ราชสมบัติ ให้เป็นสุขเถิด ข้าพระองค์ จะทำกองทัพนี้ ให้แตกพ่าย หนีไป เหมือนคนเงื้อก้อนดินไล่กา เหมือนคนขึ้นธนูไล่ลิง”

มโหสถ ปลอบพระราชา ให้เบาพระทัยแล้ว จึงออกมาสั่งการ ตีกลองเป็นสัญญาณ แจ้งให้ชาวพระนคร จัดงานมหรสพภายในพระนคร ให้ประชาชนดื่มฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ เล่นดนตรี ดีดสี  ตีเป่า ฟ้อนรำ โห่ร้อง เฮฮา ตบมือ ส่งเสียง ให้เอิกเกริก ราวกับมิถิลานคร มิได้ถูกโอบล้อมด้วยข้าศึก  ค่าใช้จ่ายในการจัดมหรสพทั้งหมด มโหสถบัณฑิต จะเป็นผู้รับผิดชอบ

ครั้นชาวพระนคร เห็นมโหสถ มิได้มีความหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อกองทัพที่อยู่เบื้องหน้า จึงรู้สึกเบาใจ ได้ทำตามที่มโหสถสั่ง เสียงมหรสพจากภายในพระนคร สะท้อนกึกก้องออกไปถึงประชาชนที่อยู่นอกกำแพงเมือง ประชาชนเดินเข้าออกทางประตูน้อยขวักไขว่  โดยไม่มีการตรวจตราเข้มงวดราวกับมิถิลานคร ไม่ได้อยู่ในระหว่างสงคราม

พระเจ้าจุลนี สดับเสียงกึกก้องโกลาหล ด้วยศัพท์สำเนียงดนตรี ภายในกรุงมิถิลานคร  จึงตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า “เพราะเหตุไร เมื่อพระองค์นำกองทัพ มาล้อมเมืองไว้ อย่างแน่นหนา  ชาวเมือง ไม่ได้มีความหวาดกลัว หรือพรั่นพรึง แต่ประการใด กลับร่าเริง ยินดี ตบมือ ฟ้อนรำ  ขับร้องกัน อย่างมีความสุข”

สายลับที่มโหสถวางไว้ ได้เพ็ดทูลพระเจ้าจุลนีว่า พวกตนมีกิจอย่างหนึ่ง จึงแอบลักลอบปะปนผู้คน เข้าไปในเมืองทางประตูน้อย เห็นประชาชนชาวเมือง จัดแสดงมหรสพฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่  จึงได้สอบถามว่า พระราชาทั่วชมพูทวีป ยกกองทัพมา ล้อมเมืองไว้ ทำไม จึงยังมัวประมาทกันเช่นนี้  

พวกชาวเมือง บอกว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระราชาของพวกตน มีความปรารถนาว่า  จะครอบครองชมพูทวีป เมื่อเมืองถูกพระราชาทั่วชมพูทวีป ยกทัพมาล้อมไว้ พระองค์จึงให้มีการ มหรสพ เพราะพระองค์ จะได้มีโอกาสแผ่เดชานุภาพ ไปทั่วชมพูทวีป โดยไม่ต้องยกกองทัพออกไปรบพุ่งเอาให้เหนื่อย วันนี้ ความปรารถนาของพระองค์ สำเร็จแล้ว ทางราชการ จึงประกาศให้ชาวเมือง เล่นมหรสพ ฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่

พระเจ้าจุลนี สดับคำสายลับของมโหสถ ทรงพิโรธอย่างยิ่ง รับสั่งให้ทหาร เข้าจู่โจม ทำลายคูค่าย หอรบ และกำแพงพระนคร เพื่อจะเข้าเมือง ไปจับพระเจ้าวิเทหราชฆ่าให้ได้

พลันที่คำสั่ง ถูกถ่ายทอดลงไป คลื่นทหารกล้า ทุกกองรบ ก็ไหลบ่า ไปยังหอรบ ใกล้ประตู พระนคร อย่างกระหายสงคราม แต่ก็ถูกกองทัพมโหสถ ตีกระทบกลับมาอย่างเข้มแข็ง กองทัพพระเจ้าจุลนี ไม่สามารถเข้าเมืองทางประตูพระนคร จึงถอยกลับลงคู เปลี่ยนเป้าหมาย มาทำลายกำแพง เหล่าทหารฝ่ายกรุงมิถิลานคร ที่ประจำการอยู่บนเชิงเทิน ก็ยิงด้วยลูกศร แทงด้วยหอกและโตมร อย่างห้าวหาญ ต่างด่าทอ ข่มขู่ พูดยั่วโทสะต่าง ๆ นานา ทำลายทหารฝ่ายพระเจ้าจุลนี ให้แตกพ่ายกลับไป เหมือนคลื่นใหญ่กระทบกำแพงยักษ์

พระเจ้าจุลนี ล้อมกรุงมิถิลานครอยู่ ๔ – ๕ ราตรี เมื่อทหาร ไม่สามารถทำอะไรได้  ก็หมดแผนการ ที่จะหักเอากรุงมิถิลานคร จึงตรัสถามอาจารย์เกวัฏฏะว่า ทหารไม่สามารถยึดกรุงมิถิลานครได้ ไม่มีใครเข้าใกล้กำแพงได้สักคน พวกเราควรจะทำอย่างไรดี

พราหมณ์เกวัฏฏะ กราบทูลว่า “เมื่อไม่สามารถยึดเอาได้ด้วยกำลังทหาร ก็ช่างเถอะ  ตามปกติ เมืองมีน้ำ อยู่ด้านนอก ถ้าเรา ล้อมเมืองไว้ จนคนในเมือง ขาดน้ำ ก็จะเปิดประตูเมือง ออกมาเอง” เราก็จะยึดเมืองได้

พระเจ้าจุลนี จึงสั่งปิดทางน้ำ ไม่ให้น้ำไหลเข้าพระนคร และห้ามมิให้ใคร ขนน้ำเข้าไปในเมือง  สายลับมโหสถ ได้เขียนหนังสือผูกลูกศร ยิงเข้าไปในเมือง ทหารคนหนึ่ง เห็นหนังสือที่ปลายลูกศร  ก็นำไปให้มโหสถ

มโหสถ จึงซ้อนแผน ให้ผ่าไม้ไผ่ ยาว ๖๐ ศอก ออกเป็น ๒ ซีก รานปล้องออกหมด แล้วประกบกันเข้าอีก รัดด้วยหนัง ทาโคลน ให้หว่านพันธุ์บัว ซึ่งได้มาจากดาบสผู้มีฤทธิ์ในหิมวันตประเทศ ให้กรอกน้ำเต็ม ในกระบอกไม้ไผ่ แล้วฝังตามเลน ในสระโบกขรณี ด้วยบุญญานุภาพพระโพธิสัตว์ ดอกบัวก็ขึ้นในกระบอกไม้ไผ่ ทอดก้านยาวตามลำไผ่ ราว ๖๐ ศอก

มโหสถ ให้ทหารถอนสายบัว โยนออกไปให้พวกข้าศึก นำไปถวายพระเจ้าจุลนี  ทหารของมโหสถ ม้วนสายบัวให้เป็นวง แล้วโยนลงไป นอกกำแพงพระนคร พร้อมร้องบอกทหารข้าศึก ว่า “พวกท่าน อย่าอดตายเลย จงรับดอกบัวนี้ ประดับ และนำสายบัวนี้ ไปแกงกิน ให้อิ่มหนำ สำราญ เถิด” สายลับ นำไปถวายพระเจ้าจุลนี พระองค์รับสั่งให้วัดดู ก็พบว่า สายบัวยาว ๖๐ ศอก

พระเจ้าจุลนี ตรัสถามว่า “บัวนี้ เกิดที่ไหน” สายลับมโหสถ เพ็ดทูลว่า “วันหนึ่ง ข้าพระองค์ คิดจะดื่มสุรา จึงเข้าไปในเมือง ได้เห็นสระโบกขรณีขนาดใหญ่ ประกอบกับชลประทาน คลองส่งน้ำที่ขุดไว้ สำหรับชาวเมืองเล่นน้ำ ประชาชนนั่งเรือ เก็บดอกบัว สายบัวยาวราว ๑๐๐ ศอก ซึ่งเกิดที่ริมฝั่งสระโบกขรณีนั้น”

พระเจ้าจุลนี ตรัสกับพราหมณ์เกวัฏฏะว่า “ท่านอาจารย์ เราคงไม่สามารถทำให้ชาวเมือง ขาดน้ำ แล้วยึดเอาเมืองนี้ได้” จึงเลิกล้มแผนการนั้น พราหมณ์เกวัฏฏะ กราบทูลว่า “ถ้าอย่างนั้น  จะทำให้ชาวเมืองอดข้าว แล้วยึดเอาเมือง เพราะตามปกติ ชาวพระนคร ต้องนำข้าวมาจากนอกเมือง”

มโหสถบัณฑิต รู้ข่าวจากสายลับ จึงสั่งการให้เทโคลน บนกำแพงเมือง แล้วให้หว่านข้าวเปลือก ในที่นั้น ข้าวเปลือก ก็งอกขึ้นบนกำแพงเมือง ด้วยบุญญานุภาพพระโพธิสัตว์ พระเจ้าจุลนี ทอดพระเนตรเห็นต้นข้าวนั้น จึงตรัสถามว่า “สีเขียวอยู่บนกำแพงเมือง นั่นอะไร”

          สายลับมโหสถ กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ทราบมาว่า มโหสถ เกรงภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเตรียมการให้ขนข้าวเปลือกทั่วแคว้น มาเก็บไว้ในฉางหลวง จนเต็ม ส่วนข้าวเปลือก ที่เหลือ ให้กองไว้ ริมกำแพงพระนคร ถูกแดด จึงแห้ง เมื่อฝนตก ก็เปียกฝน จึงแตกหน่อเป็นข้าวกล้า วันหนึ่ง ข้าพระองค์ มีกิจบางอย่าง จึงเข้าไปพระนคร เห็นกองข้าวเปลือก ริมกำแพง  ก็หยิบขึ้นมาพิจารณาดู ชาวเมืองเห็น คงคิดว่า ข้าพระองค์หิว จึงบอกให้ข้าพระองค์ เอาผ้าห่อ  กลับเรือนไปตำหุงกินได้ ตามชอบใจ”

พระเจ้ากรุงปัญจาละ ตรัสกับพราหมณ์เกวัฏฏะว่า คงไม่สามารถทำให้ชาวเมืองอดข้าว  แล้วยึดเอาเมืองได้ พราหมณ์เกวัฏฏะ กราบทูลแผนการอื่นว่า จะทำให้ชาวเมืองสิ้นฟืน แล้วยึดเอา  พระราชา รับสั่งให้ดำเนินการตามนั้น

ฝ่ายมโหสถ รู้ข่าวจากสายลับ จึงสั่งให้ขนฟืน มากองให้สูง พ้นกำแพงขึ้นไปอีก  ทหารฝ่ายมิถิลานคร กล่าวเยาะเย้ยทหารพระเจ้าจุลนีว่า “พวกท่าน หิวไหม ถ้าหิว ก็หุงข้าวกินเสีย” แล้วโยนฟืนดุ้นใหญ่ ๆ ลงไปให้

ฝ่ายพระราชาจุลนี ทอดพระเนตรเห็นฟืนมากมาย กองพ้นกำแพงเมือง จึงตรัสถามเหล่าที่ปรึกษา สายลับมโหสถ กราบทูลว่า “มโหสถ เกรงภัยในอนาคต จึงเตรียมการ ให้ขนฟืนมากองไว้ตามหลังเรือนสกุลต่าง ๆ และให้กองส่วนที่เหลือ ไว้ริมกำแพงพระนคร”

พระเจ้ากรุงปัญจาละ ได้สดับดังนั้น จึงตรัสบอกอาจารย์เกวัฏฏะว่า ไม่สามารถทำให้ชาวเมือง สิ้นฟืน แล้วยึดเอาเมืองได้

กลศึกเกวัฏฏะ

พราหมณ์เกวัฏฏะ ทูลว่า “ขอพระองค์ อย่าได้ทรงวิตกเลย ยังมีแผนการอื่น” พระเจ้าจุลนี เห็นความพ่ายแพ้ ที่จะนำมา ซึ่งความอับอาย ใกล้เข้ามาทุกขณะ จึงตรัสถามว่า “แผนการอย่างไรอีก  เรายังไม่เห็นแผนการของท่าน ประสบผลสำเร็จสักอย่าง เมื่อไม่สามารถทำให้วิเทหรัฐแตก  เราก็จะกลับ” พราหมณ์เกวัฏฏะ ทูลว่า “หากกลับ พวกเรา จะได้รับความอับอาย จะถูกเยาะเย้ยว่า  พระเจ้าจุลนี และพระราชาถึง ๑๐๑ พระองค์ ยังไม่สามารถเอาชนะวิเทหรัฐได้ มโหสถ เป็นบัณฑิต   แม้ข้าพระองค์ ก็เป็นบัณฑิต พวกเรา จะชนะด้วยเล่ห์อย่างหนึ่ง” พระราชาตรัสว่า “เล่ห์ อะไร  อาจารย์” พราหมณ์เกวัฏฏะ จึงกราบทูลสนองว่า “พวกเรา จะทำธรรมยุทธ์ กับมิถิลานคร”

พระราชา ตรัสถามว่า “อะไร คือ ธรรมยุทธ์” พราหมณ์เกวัฏฏะ กราบทูลว่า “เหล่าทหารไม่ต้องรบ ด้วยคมดาบ แต่บัณฑิตสองคน ของพระราชาทั้งสองฝ่าย จะรบด้วยคมปัญญา ถ้าบัณฑิต คนใด ไหว้ก่อน คนนั้น ถือว่าแพ้ มโหสถ ยังเป็นเด็ก เมื่อเห็นข้าพระองค์ มโหสถ จึงต้องไหว้ เมื่อใด ที่มโหสถไหว้ข้าพระองค์ แคว้นวิเทหะ ก็ชื่อว่า พ่ายแพ้ และเรา ก็จะไม่ต้องพบกับความอับอาย  การรบ ที่ไม่ต้องใช้คมดาบเช่นนี้ ชื่อว่า “ธรรมยุทธ์” เป็นชัยชนะอย่างบัณฑิต”

พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ทรงเห็นด้วยกับแผนการนี้

ฝ่ายมโหสถ ทราบแผนการจากสายลับ จึงคิดว่า ศึกครั้งนี้ ถ้าเราแพ้เกวัฏฏปุโรหิตก็อย่าเรียกเราว่า “บัณฑิต” อีกต่อไป

พระเจ้าจุลนี รับสั่งให้เขียนราชสาส์น ความว่า พรุ่งนี้ จะมีธรรมยุทธ์แห่งบัณฑิตทั้ง ๒ พระนคร ผู้ใด ไม่ทำธรรมยุทธ์ ผู้นั้น ชื่อว่า “พ่ายแพ้” แล้วส่งไปถวายพระเจ้าวิเทหราช พระเจ้ากรุงมิถิลา ได้ทรงสดับราชสาส์นนั้น จึงเรียกมโหสถ มาแจ้งให้ทราบ

มโหสถ กราบทูลให้ตอบพระราชสาส์น รับคำท้า ขอให้กองทัพกรุงปัญจาละ ลงสู่สนามธรรมยุทธ์ ทางประตูพระนคร ด้านทิศตะวันตก มโหสถ คิดว่า วันพรุ่งนี้ เกวัฏฏะจะพบกับความพ่ายแพ้  จึงสั่งให้เตรียมสนามธรรมยุทธ์ ให้พร้อมทุกประการ

ฝ่ายสายลับทั้ง ๑๐๑ คน ที่มโหสถวางไว้ ไม่มั่นใจในความพลิกผันของสถานการณ์ ที่อาจจะเกิดขึ้น ต่างคิดว่า ทุกอย่าง เกิดขึ้นได้เสมอ จึงวางแผน เตรียมการ ที่จะติดตามเกวัฏฏปุโรหิต  เพื่ออารักขามโหสถ หากเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น จะได้ช่วยมโหสถไว้ทัน

พระราชาทั้ง ๑๐๑ พระองค์ เสด็จไปสนามธรรมยุทธ์ ยืนมองไปทางประตูทิศตะวันตก คอยสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ แม้เกวัฏฏปุโรหิต ก็ตรงไปยังสนามธรรมยุทธ์ รอคอยเวลาอยู่เช่นกัน

มโหสถบัณฑิต อาบน้ำ แต่งตัวเต็มยศเสนาบดีแห่งมิถิลานคร ตั้งแต่เช้ามืด ทานอาหารเสร็จแล้ว  ทอดระยะเวลา ให้ผ่านไปครู่หนึ่ง จนตะวันขึ้น สาย แดดแรง จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช พระราชา ตรัสถามว่า “มโหสถ ลูกจะลงสู่สนามธรรมยุทธ์ ลูกต้องการนำอะไรไปบ้าง” มโหสถ กราบทูลว่า จะวางกลลวงเกวัฏฏะ ขอพระบรมราชานุญาต นำแก้วมณีรัตน์ไปด้วย พระราชา ก็ทรงอนุญาต มโหสถ นำแก้วมณี ลงจากพระราชนิเวศน์ ขึ้นรถม้าสินธพ มุ่งตรงสู่ประตูพระนครด้านทิศตะวันตก  มิได้หวาดหวั่น สะทกสะท้าน มีทหาร ๑,๐๐๐ นาย ที่เป็นสหชาติ ติดตามไปด้วย ครั้นออกจากประตูพระนครแล้ว ก็มุ่งหน้าสู่สนามธรรมยุทธ์ ว่องไว องอาจ ดุจพญาราชสีห์

ขณะนั้น พราหมณ์เกวัฏฏปุโรหิต เสนาบดีแห่งมหานครปัญจาละ ยืนชะเง้อ คอยการมาของมโหสถ ตั้งแต่เช้า จนสาย ถูกแดดแผดเผา เหงื่อไหลโซมกาย งุ่นง่าน อึดอัด คับข้องใจ

พระราชา ๑๐๑ พระองค์ เห็นสิริรูปพระโพธิสัตว์ ขณะมุ่งตรงสู่สนามธรรมยุทธ์ ต่างส่งเสียงบอกกันและกัน เอิกเกริกว่า “นั่น มโหสถบัณฑิต ๆ เขาว่า เป็นแค่ลูกคหบดี ชาวชนบทจากหมู่บ้านนอกพระนคร แต่ได้เป็นถึงเสนาบดีแห่งมิถิลานคร”

มโหสถบัณฑิต เสนาบดีแห่งมิถิลานคร ถือแก้วมณี เดินตรงเข้าไปหาพราหมณ์เกวัฏฏะอย่างองอาจ ดุจพญาราชสีห์ องอาจอยู่ท่ามกลางฝูงหมาป่า ฝ่ายเกวัฏฏปุโรหิต เสนาบดีแห่งปัญจาลนคร เห็นมโหสถ ก็เผลอสติ ลุกขึ้นต้อนรับ กล่าวว่า “ท่านมโหสถบัณฑิต เราต่างก็เป็นบัณฑิต สนองงานพระมหากษัตริย์ด้วยกัน ทั้งสองคน เรามารอท่านนานแล้ว ท่านไม่มีเครื่องบรรณาการ สำหรับแขกผู้มาเยือนถึงบ้านเมือง บ้างเลยหรือ”

มโหสถ ตอบว่า “ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้า หาบรรณาการที่สมควรแก่ท่าน อยู่นาน คิดอย่างไร ก็คิดไม่ออก จึงนำแก้วมณีรัตน์มงคลเมือง มาเป็นบรรณาการ ข้าพเจ้า พึ่งได้มาเดี๋ยวนี้เอง  จึงต้องช้า เชิญรับแก้วมณีอันเป็นเครื่องบรรณาการแห่งมิถิลานครนี้เถิด”

เกวัฏฏะ เห็นแก้วมณี สำหรับพระมหากษัตริย์ รุ่งเรืองอยู่ในมือมโหสถ ก็รู้สึกตื่นเต้น ดีใจว่า  มโหสถ จะให้ตน เป็นบรรณาการ จึงยื่นมือ ออกไปรับ มโหสถ แกล้งปล่อยให้แก้วมณีหลุดมือพลัดตกลงพื้น ใกล้ ๆ เท้าของตน เกวัฏฏะ จึงรีบก้มลงหยิบทันที เพราะความโลภ

มโหสถ ได้โอกาส จึงกดหัวเกวัฏฏะไว้ ไม่ยอมให้ลุกขึ้นได้ มือข้างหนึ่งกดหัว อีกข้างหนึ่ง  จับชายกระเบนไว้ แต่ปาก ก็พูดให้ได้ยินไปทั่ว เหมือนตกใจว่า “ลุกขึ้นเถิด ท่านอาจารย์ ๆ ข้าพเจ้า เป็นเด็กปูนหลานท่าน อย่าไหว้ข้าพเจ้าเลย” แล้วกดหน้าเกวัฏฏปุโรหิต ให้กระแทกที่พื้นจนหน้าผากแตก เลือดไหล แล้วพูดให้ได้ยินแต่เพียงสองคนว่า “แก คิดจะให้ข้าไหว้แกหรือ” กล่าวจบ  จึงจับคอเกวัฏฏะ โยนไปตก ราวหนึ่งอุสภะ เกวัฏฏปุโรหิต ลุกขึ้นได้ ก็วิ่งหนีไป ด้วยความอับอายเหล่าทหารของมโหสถ เก็บแก้วมณีไว้

เสียงที่มโหสถ ร้องว่า “ลุกขึ้นเถิด ๆ อย่าไหว้ข้าพเจ้าเลย” นั้น ได้ยินทั่วกองทัพ  ทหารของมโหสถ ก็ตะโกนสำทับลงไปว่า “เกวัฏฏะ กราบเท้ามโหสถแล้ว ๆ” ต่างตะโกนโห่ร้อง  เซ็งแซ่อื้ออึงเป็นเสียงเดียวกัน

พระราชาทั่วชมพูทวีป ตลอดจนพระเจ้าจุลนี มองเห็นเกวัฏฏปุโรหิต น้อมกายลงแทบเท้ามโหสถ ต่างตกตะลึงกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง คิดว่า บัณฑิตของพวกเรา ไหว้มโหสถแล้ว   พวกเราพ่ายแพ้แล้ว มโหสถ จะไม่ไว้ชีวิตเราแน่ ต่างแตกตื่น ขึ้นม้าของตน ควบหนีกลับปัญจาลนคร

ทหารของมโหสถ เห็นพระเจ้าจุลนี หนีไปแล้ว จึงบอกกันและกันว่า พระเจ้าจุลนี พาพระราชา ๑๐๑ พระองค์ หนีไปแล้ว ต่างโห่ร้องกึกก้องเหมือนทหารตามตีข้าศึก พระราชาทุกพระองค์ ได้สดับเสียงนั้น ต่างกลัวตาย พากันแตกทัพ หนีไป มโหสถ แวดล้อมด้วยเสนางคนิกร กลับเข้าสู่กรุงมิถิลานคร

กองทัพของพระเจ้าจุลนี หนีไปไกลถึง ๓ โยชน์ เกวัฏฏะ จึงตามทัน แล้วกล่าวว่า “พวกท่าน อย่าหนีไป เราไม่ได้ไหว้มโหสถ หยุดเถิด” พวกทหารไม่เชื่อ ไม่มีใครยอมหยุด ยังคงแตกตื่นเตลิดหนีเอาตัวรอดกันอย่างสับสนอลหม่าน ต่างพากันด่าทอเกวัฏฏะว่า “พราหมณ์ชั่ว ไร้ธรรม บอกว่า   จะทำธรรมยุทธ์ แล้วมาไหว้มโหสถคราวหลาน พวกเรา จะไม่ทำตามท่าน อีกแล้ว”

เกวัฏฏะ จึงรีบควบม้าไป อย่างรวดเร็ว อธิบายให้กองทัพ ตลอดจนพระราชาทั้งหมด เชื่อว่า ตนไม่ได้ไหว้มโหสถ แต่ตนถูกมโหสถ ลวงด้วยแก้วมณีรัตน์ ครั้นอธิบายให้กองทัพ เชื่อได้แล้ว จึงจัดทัพ  ซึ่งแตกกระจัดกระจาย ให้เป็นรูปขบวน กลับสถานที่ตั้งค่ายอีกครั้ง

พระเจ้าจุลนี ตรัสถามเกวัฏฏะว่า “จะทำอย่างไร ต่อไป” เกวัฏฏะ กราบทูลว่า “พวกเราจะล้อมเมืองไว้อย่างนี้ ปิดกั้นการสัญจรทุกช่องทาง แม้ประตูน้อย ก็ไม่ให้มีการเข้าออก ดูสิ จะเป็นอย่างไร เมื่อชาวเมือง เข้าออกไม่ได้ เกิดความเดือดร้อน ก็จะเปิดประตูเอง ถึงเวลานั้น  พวกเรา ก็จะบดขยี้ข้าศึก ได้อย่างง่ายดาย” พระเจ้าจุลนีทรงรับสั่งให้ทำตามนั้น

แผนเผด็จศึกที่สมรภูมิมิถิลานคร

มโหสถ รู้ข่าวนั้นจากสายลับ จึงเกิดความกังวลว่า ถ้าการศึก ยืดเยื้อ กองทัพปัญจาลนครยังล้อมเมืองอยู่ เช่นนี้ต่อไป ไม่มีกำหนด ไม่ช้านาน ชาวเมือง ต้องอดอยาก เดือดร้อน อาจถึงความพ่ายแพ้ในที่สุด ต้องคิดหาทาง ที่จะเผด็จศึก โดยเร็ว มโหสถ จึงเลือกพราหมณ์คนหนึ่ง  ชื่อ “อนุเกวัฏฏะ” เป็นผู้ฉลาด หลักแหลม มาช่วยงาน

มโหสถ แนะนำแผนการให้อนุเกวัฏฏะทราบ อย่างละเอียด พราหมณ์อนุเกวัฏฏะ ยอมรับจะปฏิบัติตามคำแนะนำ ทุกประการ มโหสถ จึงบอกว่า “ท่านอาจารย์ แผนการนี้ ต้องมีการเฆี่ยนตี  ท่านต้องอับอาย ต้องอดทน ยอมเสียสละตัวเอง” อนุเกวัฏฏะ กล่าวว่า “ยกเว้นชีวิต มือ และเท้าของข้าพเจ้าแล้ว ที่เหลือนอกจากนั้น ท่านบัณฑิต จะทำอย่างไร ก็ได้”

จากนั้น มโหสถ จึงดำเนินตามแผนการ โดยให้อนุเกวัฏฏะ ขึ้นไปบนกำแพงเมือง เมื่อเห็นทหารกองรักษาการฝ่ายกรุงมิถิลาเผลอ ก็โยนขนม ปลา และเนื้อ เป็นต้น ลงไปให้ทหารของพระเจ้าจุลนี แล้วร้องบอกว่า “พวกท่าน กินเถิด อย่าเดือดร้อนใจ ขอให้อดทนอยู่ สัก ๒ – ๓ วัน  ขณะนี้ ชาวเมือง กำลังเดือดร้อน เหมือนไก่รอถูกเชือดอยู่ในกรง เชื่อว่า อีกไม่ช้าไม่นาน ก็จะเปิดประตูเมือง ต้อนรับพวกท่าน จากนั้น จึงค่อยจับพระเจ้ากรุงมิถิลา และมโหสถ ผู้โหดเหี้ยม”

เมื่อทหารกองรักษาการฝ่ายมิถิลานคร ได้ยิน ก็ข่มขู่ ทำเหมือนจับกุมอนุเกวัฏฏะ  ตีด้วยซีกไม้ไผ่ ให้ทหารพระเจ้าจุลนีเห็น แล้วนำอนุเกวัฏฏะ ลงจากกำแพงเมือง มุ่นมวยผม  ขมวดให้เป็นจุก ๕ หย่อม ทัดดอกยี่โถ โรยผง ฝุ่น หญ้า ฟาง ลงบนศีรษะ แล้วเฆี่ยนหลัง พอให้เห็นเป็นรอย จากนั้น จึงนำอนุเกวัฏฏะ ขึ้นบนกำแพงเมือง จับนั่งในสาแหรก เอาเชือกผูก โรยหย่อนลงไป นอกกำแพงเมือง ตะโกนให้กองทัพของพระเจ้าจุลนี ได้ยินว่า “อ้ายกบฏ ขายชาติ ไม่รู้คุณแผ่นดินเกิด  เอ็งไปอยู่กับข้าศึกโน้น”

พวกทหารกองรักษาการของพระเจ้าจุลนี ที่รู้เห็นเหตุการณ์มาตลอด เกิดความสงสาร ต่างก็สอบถามเรื่องราวกับอนุเกวัฏฏะ แล้วนำไปเฝ้าพระเจ้าจุลนี

พระเจ้าจุลนี ตรัสถามว่า “ท่าน ชื่ออะไร มีความผิด สถานใด จึงถูกลงโทษ เช่นนี้” อนุเกวัฏฏะ กราบทูลว่า “ข้าพระองค์ ชื่ออนุเกวัฏฏะ เมื่อก่อน ข้าพระองค์ ดำรงตำแหน่งเป็นถึง มหาอำมาตย์แห่งมิถิลานคร มโหสถ ผู้โหดเหี้ยม อิจฉา ใส่ความข้าพระองค์ว่า เป็นกบฏ ในที่สุด  ก็ถูกถอดจากตำแหน่ง เมื่อกองทัพพระองค์ ยกมาล้อมเมืองไว้ เห็นว่า เป็นโอกาสดี ที่จะให้ทหาร ของพระองค์ ตัดศีรษะมโหสถบุตรคหบดีผู้ทรยศ จึงแอบส่งเสบียง ให้ทหารของพระองค์  รอเวลาที่กองทัพจะเข้าเมืองได้ แต่ถูกทหาร จับได้เสียก่อน และมโหสถ หาโอกาสกำจัดข้าพระองค์อยู่แล้ว  ทหารของพระองค์ รู้เหตุการณ์ทั้งหมดดี” อนุเกวัฏฏะ พูดโดยประการ ที่จะทำให้พระเจ้าจุลนีเชื่อ และยอมให้รับราชการในกองทัพ

ครั้นอยู่ต่อมา เมื่อเกิดความคุ้นเคย จนพระเจ้าจุลนี วางพระทัย อนุเกวัฏฏะ จึงกราบทูลว่า  “ข้าแต่มหาราช จากวันนี้ไป ขอพระองค์ อย่าได้ทรงวิตกเลย บัดนี้ พระเจ้าวิเทหราช และมโหสถ  จะไม่มีลมหายใจ อีกต่อไป ข้าพระองค์ รู้จุดอ่อน และจุดแข็ง ของคูค่าย กำแพงเมืองนี้ ทุกซอกทุกมุม ข้าพระองค์ จะยึดเมือง ถวายพระองค์ ในไม่ช้า”

พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ทรงเชื่อคำกราบทูลของอนุเกวัฏฏะ อย่างสนิทใจ ทรงดำริว่า  หากได้คนในกรุงมิถิลา มาไว้ใช้งาน จะเป็นประโยชน์ ต่อการวางแผนการรบ จึงประทานรางวัล และให้รับราชการอยู่ในกองทัพ ต่อมา จึงได้มอบให้อนุเกวัฏฏะ คุมกองทัพ และพาหนะของพระองค์

เมื่ออนุเกวัฏฏะ มีอำนาจบัญชาการกองทัพ จึงออกคำสั่ง บังคับให้เหล่าทหาร ลงในคูค่าย ที่มีจระเข้ร้าย ทหารถูกจระเข้กัด ถูกทหารกองรักษาการที่อยู่บนหอรบยิง แทงด้วยหอก และโตมร ล้มตายเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นั้นมา พวกทหารจึงขยาด ไม่กล้าเข้าใกล้กำแพงเมือง  

อนุเกวัฏฏะ จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนี กราบทูลว่า “ข้าพระองค์ ไม่สงสัยเลยว่า  ทำไมกองทัพที่มีแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ ดูแข็งแกร่งเกรียงไกรของพระองค์ จึงตีมิถิลานครไม่แตก เพราะไม่มี ใครเลยสักคน ที่รบเพื่อพระองค์ มีแต่พวกรับสินบนทั้งนั้น ถ้าพระองค์ไม่เชื่อ จงรับสั่งให้คนเหล่านั้น เข้าเฝ้า จะทอดพระเนตรเห็นอักษรจารึกชื่อมโหสถ ซ่อนอยู่ในผ้านุ่ง เป็นต้น”

พระเจ้าจุลนี รับสั่งให้ทำตามนั้น ทอดพระเนตรเห็นอักษร ในราชาภรณ์ ของพระราชาทั้งหมด  ก็สะดุ้งกลัวว่า พระองค์ อยู่ท่ามกลางวงล้อมศัตรู เข้าพระทัย แน่ชัดว่า คนพวกนี้ รับสินบน จึงตรัสถาม อนุเกวัฏฏะว่า “ควรจะทำอย่างไร ต่อไป” อนุเกวัฏฏะ ได้โอกาส จึงกราบทูลว่า “เราไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ นอกจากรักษาชีวิตไว้ก่อน เพราะขณะนี้ เราไม่รู้ว่า ใครเป็นใคร ถ้าพระองค์ทรงรีรออยู่ อาจเกิดอันตรายได้ มโหสถ เป็นคนมีเล่ห์เหลี่ยมมาก ถ้าพระองค์ จะประทับอยู่ มโหสถ ก็จะวางแผนยืมมือทหารของพระองค์ ฆ่าพระองค์ ขอพระองค์ อย่าชักช้า ส่วนอาจารย์เกวัฏฏะก็รับสินบนเช่นกัน พอรับแก้วมณีมาแล้ว ก็มัวสาละวนอยู่แต่แผลที่หน้าผากเท่านั้น ไม่ใส่ใจกองทัพ  หลอกให้พระองค์ หนีไปถึง ๓ โยชน์ กราบทูลให้พระองค์เชื่อ แล้วนำกองทัพกลับมาอีก อาจารย์เกวัฏฏะ ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะคอยยุยงให้กองทัพแตก ข้าพระองค์ไม่คิดจะอยู่ แม้ชั่วข้ามคืน ควรจะหลบหนีเสีย ในเที่ยงคืนวันนี้ อย่าทันให้พวกเขารู้ตัวว่า  เรารู้แผนการแล้ว ยกเว้นข้าพระองค์ คนอื่น ไม่น่าไว้วางใจ”

พระเจ้าจุลนี รับสั่งให้ผูกม้าพระที่นั่ง เตรียมไว้ อนุเกวัฏฏะ รู้ว่า พระเจ้าจุลนี จะหนีแน่ จึงทูลให้อุ่นพระทัย แล้วออกไปข้างนอก สั่งสายลับว่า “คืนนี้ พระเจ้าจุลนี จะเสด็จหนีไป พวกท่านอย่าหลับเสีย” แล้วสั่งให้ผูกบังเหียนม้าพระที่นั่ง อย่างมั่นคง โดยประการที่ เมื่อพระราชารั้งไว้ จะให้หยุด   มันยิ่งเข้าใจว่า ต้องวิ่งหนีตะบันไป ครั้นเที่ยงคืน จึงกราบทูลว่า ม้าพระที่นั่ง เตรียมไว้พร้อมแล้ว  พระราชา ก็ขึ้นม้า เสด็จหนีไป  

ฝ่ายอนุเกวัฏฏะ ก็ขึ้นม้า ทำเหมือนโดยเสด็จ ไปได้ครู่หนึ่ง ก็รั้งบังเหียน วกม้ากลับ  ส่วนม้าพระที่นั่ง แม้พระราชา รั้งให้หยุด ก็พาพระราชา มุ่งหน้าหนีไปอย่างเดียว

ครั้นอนุเกวัฏฏะ กลับเข้าไปท่ามกลางหมู่เสนา ก็ร้องอื้ออึงขึ้นว่า “พระเจ้าจุลนี เสด็จหนีไปแล้ว” สายลับที่มโหสถวางไว้ ก็ร้องบอกกันและกัน ไปทั่วกองทัพ

พระราชาทั้งหมด สดับเสียงนั้น เข้าใจว่า มโหสถ โจมตียามค่ำคืน ก็ตกใจ กลัวตาย  พากันควบม้าหนีไป จากนั้น สายลับมโหสถ ก็ร้องเอ็ดอึงกันขึ้นว่า “แม้พระราชาทุกพระองค์ก็เสด็จหนีไปแล้ว”

ทหารกองรักษาการฝ่ายมิถิลานคร บนประตูหอรบ ได้ยิน ก็โห่ร้องกึกก้องสนั่นหวั่นไหว  ราวแผ่นดินจะแยกออกจากกัน เหมือนท้องทะเล กำลังปั่นป่วนบ้าคลั่ง ทหารปัญจาลนครทั้ง ๑๘ กองทัพ กลัวตาย เข้าใจว่า พระเจ้าจุลนี และพระราชาทั้งหมด ถูกมโหสถจับได้แล้ว พากันทิ้งค่าย แตกทัพหนีไป พระเจ้าจุลนี พาพระราชาทั้งหมด กลับพระนครของพระองค์  

วันรุ่งขึ้น ทหารฝ่ายกรุงมิถิลานคร เปิดประตูเมืองออกมา ตรวจการณ์ ตั้งแต่เช้ามืด  เห็นข้าวของ กองอยู่มากมาย จึงแจ้งให้มโหสถทราบ มโหสถ บอกว่า ทรัพย์ที่พวกทหารทิ้งไว้  ตกเป็นของพวกท่าน ให้นำสิ่งที่เป็นของพระราชาทั้งหมด ไปถวายพระราชา สิ่งที่เป็นของเศรษฐี และ  เกวัฏฏพราหมณ์ เป็นของมโหสถ ที่เหลือจากนี้ เป็นของชาวเมือง

ประชาชน ใช้เวลาขนแก้วแหวนเงินทองไปจากค่าย ถึงครึ่งเดือน และของอย่างอื่น  ใช้เวลาถึง ๔ เดือน มโหสถ ให้รางวัลพราหมณ์อนุเกวัฏฏะมากมาย ตั้งแต่นั้นมา ชาวกรุงมิถิลานครก็อยู่อย่างสันติสุข ประชาชน กลายเป็นคนมั่งคั่ง ร่ำรวยเงินทอง

พลิกแผนพิฆาตจอมราชัน

วันเวลาผ่านไปหนึ่งปี หลังจากที่พระเจ้าจุลนี พ่ายแพ้สงครามที่ยุทธภูมิมิถิลานคร วันหนึ่ง  เกวัฏฏปุโรหิต ส่องดูหน้าตนเอง ที่กระจก เห็นแผลเป็น ที่หน้าผาก ก็ให้นึกเจ็บแค้นใจว่า มโหสถฝากแผลไว้ ทำให้ได้รับความอับอาย จะต้องแก้แค้นให้ได้ จึงคิดว่า พระราชธิดา พระนามว่า “ปัญจาลจันที” มีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก จะวางแผนเอาเป็นเหยื่อล่อ ให้พระเจ้าวิเทหราช กลืนเบ็ด แล้วจับฆ่าเสีย พร้อมทั้งมโหสถ จึงเข้าเฝ้า กราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า ตนยังมีแผนการ อีกอย่างหนึ่ง

พระเจ้าจุลนี ตรัสว่า “อาจารย์ พวกเรา หนีตาย จนเกือบไม่มีแม้กระทั่งผ้าจะนุ่ง เพราะความคิดของท่าน ท่าน ยังมีแผนการอะไรอีก” เกวัฏฏปุโรหิต ทูลว่า“ไม่มีแผนอื่น แยบยล เช่นแผนนี้ อีกแล้ว พระเจ้าข้า” พระราชา จึงรับสั่งให้เกวัฏฏะ เล่าแผนการให้ฟัง

พราหมณ์เกวัฏฏะ คิดว่า ที่ผ่านมา แผนการ ถูกเปิดเผยไปสู่ศัตรู ทุกครั้ง เหมือนมีหนอนบ่อนไส้  แต่ไม่สามารถจับได้ว่า เป็นใคร คราวนี้ จะต้องให้รัดกุมมากขึ้น จึงกราบทูลว่า “ถ้าจะทูล ควรอยู่กัน ตามลำพัง เพียงสองต่อสอง” พระราชา จึงนำพราหมณ์ ขึ้นปราสาท เสด็จเข้าไปในห้องบรรทมเกวัฏฏะ กราบทูลว่า “พวกเรา จะเล้าโลมพระเจ้าวิเทหราช ด้วยกิเลส แล้วจับตัว มาฆ่าเสียพร้อมกับมโหสถ”

พระราชา ตรัสว่า “แผนการนี้ดี แต่เรา จะเล้าโลม นำพระเจ้าวิเทหราช มาได้อย่างไร” เกวัฏฏะ ทูลว่า “พระนางปัญจาลจันที พระธิดาของพระองค์ ทรงพระสิริโฉมงดงาม พวกเราจะให้จินตกวี ประพันธ์รูปสมบัติ อันทรงสิริ และความงามแห่งอิริยาบถของพระธิดา แล้วประพันธ์เป็นเพลง ให้ผู้ชำนาญนำไปขับร้องในกรุงมิถิลานคร พระเจ้าวิเทหราช จะต้องมนต์สะกด  เพราะบทเพลงอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพระองค์ จะไปกรุงมิถิลานคร กำหนดวันให้พระเจ้าวิเทหะ มารับพระธิดาอภิเษก เมื่อข้าพระองค์ กลับมาจากการกำหนดวันแล้ว  พระเจ้าวิเทหราช ก็เหมือนปลากลืนเบ็ด จากนั้น พวกเรา จะฆ่าพระเจ้าวิเทหราช และมโหสถ ได้อย่างง่ายดาย” พระเจ้าจุลนี สดับคำเกวัฏฏปุโรหิตแล้ว เห็นดีด้วย ทรงยินดีว่า แผนการยอดเยี่ยมมาก

พระเจ้าจุลนี ให้เรียกพวกจินตกวีเอกประจำราชสำนักมา รับสั่งให้ประพันธ์กาพย์กลอนตามพระสิริโฉมพระธิดา

พวกจินตกวี บรรจงประพันธ์บทเพลง ได้อย่างไพเราะจับใจยิ่ง แล้วให้นักร้อง ขับขานถวายพระเจ้าจุลนีว่า

พระสิริโฉมงดงามนามประภัสร์         เจิดจรัสมาจากฟากฟ้าไหน

ทั่วแผ่นดินมิควรคู่กษัตริย์ใด           หากมิได้เป็นปิ่นแผ่นดินชัย

โอ้ว่าจอมนรินทร์ปิ่นวิเทหรัฐ          ถ้ามิได้นารีรัตน์ดังมาดหมาย

ถึงครอบครองหมื่นปฐพินปิ่นไผท          ก็ว่างไร้เกียรติศักดิ์จอมราชันฯ

          พระราชา ทรงพอพระทัย พระราชทานทรัพย์ให้ อย่างมากมาย ทรงให้พวกนักฟ้อนเรียนกาพย์กลอน จากพวกจินตกวีจนชำนาญแล้ว ไปขับร้องตามงานมหรสพต่าง ๆ เมื่อบทเพลงถูกเผยแพร่ออกไป จนเป็นที่นิยมของประชาชนแล้ว ให้จับนกตัวใหญ่ ๆ มาจำนวนมาก เอากังสดาล  ห้อยคอ พอตกกลางคืนราตรีสงัด ให้คนขึ้นต้นไม้ ร้องเพลงจนดึกดื่น พอใกล้รุ่ง จึงปล่อยนกให้พากังสดาล บินไปทั่ว เมื่อกังสดาลส่งเสียง เวลานกบิน ก็ปล่อยข่าวลือว่า แม้แต่เทวดาก็ยังร้องเพลงนี้ บทเพลงแห่งธิดาปัญจาลจันที แพร่กระจายไปในหมู่ประชาชน อย่างรวดเร็ว

พระเจ้าจุลนี พระราชทานทรัพย์ ให้พวกนักฟ้อน และจินตกวี รับสั่งให้ไปกรุงมิถิลานคร แล้ว ขับร้อง โดยทำนองนี้ พวกนักฟ้อน และจินตกวีเหล่านั้น จึงร้องเพลงตามเมืองต่าง ๆ ไปจนถึงแคว้นวิเทหะ แล้วเข้าไปเปิดการแสดงในโรงมหรสพ กลางมหานครมิถิลา

มหาชน ได้ฟังบทเพลงอันไพเราะเพราะพริ้ง ต่างส่งเสียงโห่ร้องเกรียวกราว ได้ให้รางวัลมากมายแก่นักร้อง ต่างกล่าวขวัญถึงพระสิริโฉมพระธิดาพระเจ้ากรุงปัญจาลนคร

พระเจ้าวิเทหราช สดับเสียงเล่าลือเช่นนั้น ทรงให้เรียกพวกนักดนตรี มาแสดงถวายภายในพระราชนิเวศน์ พวกนักฟ้อน กราบทูลว่า พวกตน ได้ยินมาว่า พระเจ้าจุลนี มีพระราชประสงค์จะประทานพระธิดาผู้ทรงสิริโฉมเช่นนี้ แก่พระองค์ พระเจ้าวิเทหราช ก็ทรงยินดี ได้พระราชทานรางวัล  ให้นักกวี เป็นจำนวนมาก เหล่านักฟ้อน และพวกจินตกวี ก็นำความ กลับไปกราบทูลพระเจ้าจุลนีให้ทรงทราบ ทุกประการ

อาจารย์เกวัฏฏะ จึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีให้ทรงทราบว่า บัดนี้ ได้เวลาแล้ว ตนจะไปเพื่อกำหนดวันอภิเษก พระราชา ตรัสถามว่า จะต้องนำอะไรไปบ้าง เกวัฏฏะ กราบทูลว่า ควรเอาบรรณาการ ไปบ้างเล็กน้อย เกวัฏฏะนำเครื่องบรรณาการไป พร้อมด้วยบริวารหมู่ใหญ่  ครั้นถึงวิเทหรัฐ ก็ให้ประกาศไปตามถนนในกรุงมิถิลานคร เพื่อให้ประชาชนรับรู้ ว่า พระเจ้าวิเทหราช  จะอภิเษกกับพระธิดาของพระเจ้าจุลนี

ประชาชน ต่างโจษขานถึงการมาของเกวัฏฏะว่า “พระเจ้าจุลนี กับพระเจ้าวิเทหราช จะเชื่อมสัมพันธไมตรีกัน ฝ่ายพระเจ้าจุลนี จะประทานพระธิดาของพระองค์ แด่พระราชาของพวกเรา  เขาเล่าว่า ขณะนี้ พราหมณ์เกวัฏฏปุโรหิต มาเฝ้าพระราชาของพวกเรา เพื่อกำหนดวัน เสด็จไปอภิเษกแล้ว

เสียงเล่าลือนั้น ได้ยินไปถึงพระเจ้าวิเทหราช แม้มโหสถ ก็ได้ยิน จึงเกิดความกังวลใจว่า “เกวัฏฏะ ไม่ได้มาดีแน่ เราต้องรู้ความจริง ให้ได้ จึงส่งข่าวไปยังสายลับในราชสำนักของพระเจ้าจุลนี ให้ตรวจสอบข่าวนี้ ให้แน่ชัด แม้สายลับ ก็ไม่รู้ เนื่องจากพระเจ้าจุลนี  กับเกวัฏฏปุโรหิต ปรึกษากันในห้องบรรทม มีเพียงนกสาลิกาที่เลี้ยงไว้ในห้องบรรทมของพระเจ้าจุลนี เท่านั้น ที่รู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้

ทุกอย่าง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมโหสถ ตั้งตัวไม่ทัน ในสถานการณ์ ที่ยังคาดเดาอะไรไม่ได้  มโหสถ คิดว่า ไม่ควรให้เกวัฏฏะ ซึ่งเป็นศัตรู เห็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของบ้านเมือง ที่จัดการไว้อย่างรัดกุม จึงสั่งให้เอาเสื่อ ที่เขียนภาพ ล้อมสองข้างทาง ประดับด้วยดอกไม้ ตั้งแต่ประตูพระนคร  จนถึงพระราชนิเวศน์ และตั้งแต่พระราชนิเวศน์ จนถึงเรือนตน ให้ตั้งหม้อน้ำ ปักต้นกล้วย และผูกธง ประดับไว้ ตลอดสองข้างทาง เหมือนประดับตกแต่งพระนคร รับราชทูตจากปัญจาลนคร

ขณะเกวัฏฏปุโรหิต เข้าสู่พระนคร เห็นถนนหนทาง ประดับประดาไว้อย่างงดงาม จนมองไม่เห็นอาคารบ้านเมือง เข้าใจว่า พระราชา ให้ตกแต่งหนทาง ไว้ต้อนรับตน ก็ปลาบปลื้มใจ

เกวัฏฏปุโรหิต เข้าเฝ้า ถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราช ถวายเครื่องบรรณาการ แล้วกราบทูลถึงจุดประสงค์ที่ตนมาว่า “พระเจ้าจุลนี มีพระราชประสงค์ จะเจริญสัมพันธไมตรี จะประทานรัตนะอันเลิศ แด่พระองค์ จากนี้ไป ทูตทั้งหลาย จะพูดด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน ปัญจาลนคร  และมิถิลานคร จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสืบไป ชั่วกัลปาวสาน พระราชาของข้าพระองค์   ทรงประสงค์จะส่งมหาอำมาตย์อื่นมา ก็เกรงจะไม่สามารถแจ้งข่าว ให้เป็นที่ชอบพระทัย  จึงส่งข้าพระองค์มา โดยพระบรมราชโองการ แล้วนำเสด็จสู่อุตตรปัญจาลนคร ขอพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไป จะได้พระธิดาผู้ทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก และสัมพันธไมตรี กับพระราชา ของข้าพระองค์ จะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

พระเจ้าวิเทหราช ทรงยินดี คิดเพียงว่า จะได้พระราชธิดาผู้ทรงสิริโฉมงดงามที่สุด จึงตรัสว่า  “ท่านอาจารย์ ความบาดหมาง เพราะธรรมยุทธ์ ระหว่างท่านกับมโหสถ ขอให้เลิกแล้วต่อกันไป  ท่านจงไปหามโหสถบุตรเรา ท่านเป็นบัณฑิตด้วยกันทั้งคู่ จงยกโทษให้กัน ปรึกษาหารือกันถึงการเตรียมงานอภิเษกแล้ว จึงค่อยกลับมา” เกวัฏฏะ จึงไปพบมโหสถ

ฝ่ายมโหสถ รู้ว่า ถึงอย่างไร เกวัฏฏะ ต้องมาพบตน คิดว่า วันนี้ ยังไม่ควรพูดอะไรกับเกวัฏฏะจนกว่าจะรู้ความจริงกระจ่างชัด จึงดื่มเนยใสนิดหนึ่ง ตั้งแต่เช้ามืด ทำทีว่า ตนอยู่ในระหว่างกระทำมงคล จึงให้แม่บ้านเอาโคมัยสด ละเลงเรือน และเอาน้ำมัน ทาเสา ตั้งเตียงนอนมโหสถไว้เพียงเตียงเดียว สิ่งของนอกจากนี้ให้เก็บออกหมด ไม่ให้เหลือสิ่งใดไว้ เพื่อไม่ให้เกวัฏฏปุโรหิตมีที่นั่งที่ยืน

มโหสถ ซักซ้อมกับคนใช้ ให้แจ้งพราหมณ์เกวัฏฏะว่า “วันนี้ ขออย่าพึ่งพูดกับท่านบัณฑิตเลย  เพราะวันนี้ ท่านดื่มเนยใส เมื่อเราทำท่าจะพูดกับเกวัฏฏะ พวกเจ้า ก็พึงห้ามว่า ท่านดื่มเนยใสอย่างแรง ท่านอย่าเพิ่งพูดเลย” มโหสถ จัดแจงอย่างนี้แล้ว จึงจัดคนรักษาไว้ที่ประตูถึง ๗ ชั้นแล้ว นอนบนเตียง ใกล้กับประตูที่ ๗

เกวัฏฏปุโรหิต มาถึงบ้านมโหสถ ยืนอยู่ที่ซุ้มประตู ถามว่า “ท่านบัณฑิต อยู่ไหน” พวกคนใช้ ทำท่าดุ ห้ามพราหมณ์เกวัฏฏะว่า “ท่านพราหมณ์ ถ้าอยากมา ก็อย่าส่งเสียงดัง ให้มาเงียบ ๆ วันนี้ ท่านบัณฑิต ดื่มเนยใส อย่างแรง นอนพักอยู่ ขอท่าน อย่าได้ส่งเสียงดังอื้ออึง” พวกคนใช้ ที่ซุ้มประตู ถัดมา ก็ห้ามพราหมณ์ อย่างนั้น จนผ่านมา ถึงประตูที่ ๗ ซึ่งเป็นห้องที่มโหสถนอนพักอยู่ มโหสถ   ทำท่าจะพูด พวกคนใช้ ก็ทำตามที่นัดแนะไว้ ต่างห้ามเป็นการใหญ่ พราหมณ์เกวัฏฏะ ไปพบมโหสถ  แต่ไม่มีที่นั่ง ไม่มีแม้แต่อาสนะรองยืน ต้องยืนเหยียบโคมัยสดอยู่ จึงเก้อเขิน ไม่รู้จะทำอย่างไร

พวกคนใช้มโหสถบางคน มองดูเกวัฏฏะ แล้วยักคิ้วหลิ่วตาให้ บางคน ถลึงตา บางคน งอศอก เงื้อสับไปในอากาศ บางคน ชูกำปั้นขึ้น เหมือนจะเอาศอกสับพราหมณ์ บางคน ทำท่าจะเตะ บางพวก แสดงมือ ไม้ ด้วยท่าทางต่าง ๆ เกวัฏฏะ เห็นกิริยาพวกคนใช้มโหสถ ก็ยิ่งเก้อเขิน ไม่รู้จะทำอย่างไร  จึงลากลับไป ได้ยินเสียงตะโกนตามหลังว่า “พราหมณ์ถ่อย แกอย่าส่งเสียง ถ้าแกขืนส่งเสียงดัง  ทำให้นายข้าพูด ข้าจะหักกระดูกแก” พราหมณ์เกวัฏฏะ ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า จะเจอเหตุการณ์ เช่นนี้ จึงตกใจกลัว รีบกลับไป โดยไม่เหลียวหลัง

พลันนั้น ใครคนหนึ่ง ลุกขึ้น เอาเรียวไผ่ ตีหลังเกวัฏฏพราหมณ์ อีกคนหนึ่ง ก็ถลันลุกตบท้ายทอย ส่วนอีกคนหนึ่ง ผลักคอพราหมณ์ เซถลาไป เกวัฏฏะ ตกใจกลัว ทั้งอับอาย จึงรีบกลับ เข้าสู่พระราชวัง

พระเจ้าวิเทหราช ทรงดำริว่า “วันนี้ มโหสถบุตรเรา ได้ฟังเรื่องมงคล ที่พระเจ้าจุลนีจะให้พระธิดาแก่เรา คงจะยินดีมาก บัณฑิตทั้งสอง คงมีเรื่องพูดคุยกันมาก คงปรับความเข้าใจ  ขอโทษกันและกัน ถึงเรื่องในอดีต ช่างเป็นโชควาสนาของเราจริง ๆ” พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเกวัฏฏะ กำลังเดินมา จึงตรัสถามว่า “อาจารย์เกวัฏฏะ ท่านได้พบมโหสถบุตรเราแล้วหรือ  เป็นอย่างไรบ้าง เชิญเล่าให้ฟังเถิด มโหสถกับท่าน ยกโทษให้กันแล้ว ใช่ไหม มโหสถดีใจไหมได้พบท่าน

เกวัฏฏะ กราบทูลว่า “ขอเดชะ คนอย่างมโหสถ ไม่ควรนับว่า เป็นบัณฑิตเลย พระเจ้าข้า  ไม่มีใคร ต่ำช้ากว่ามโหสถอีกแล้ว คนเช่นมโหสถ เป็นคนหยาบกระด้าง ก้าวร้าว มิใช่สัตบุรุษ  ไม่ยอมพูดอะไรสักคำ เหมือนคนใบ้ หูหนวก แม้ที่นั่ง ก็ไม่มีให้ข้าพระองค์”

พระเจ้าวิเทหราช สดับคำเกวัฏฏปุโรหิตแล้ว ไม่ทรงแสดงอาการพอพระทัย หรือไม่พอพระทัย อย่างไร โปรดให้พระราชทานเสบียง และเรือนพัก แก่เกวัฏฏะ และบริวาร ที่มา ไปพักผ่อน แล้วทรงรำพึงว่า “ตามปกติ มโหสถ ฉลาดในการปฏิสันถาร รอบรู้วิธีทางการทูต แต่ครั้งนี้ เขาไม่ปฏิสันถาร เกวัฏฏะเลย ไม่แสดงความยินดี หรือจะเห็นภัยอะไร ๆ ที่จะเกิดขึ้น สิ่งนี้ รู้ได้ยากยิ่ง แท้จริง  แม้พระองค์ ก็หวั่นไหว ไม่กล้าทิ้งแว่นแคว้น ไปสู่เงื้อมมือของศัตรู มโหสถ จะเห็นโทษในการมาของพราหมณ์เกวัฏฏะ หรือเขามิได้มา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี แต่จะมา ด้วยเหตุอย่างอื่น บุตรของเรา จะเห็นภัย หรืออย่างไร” นึกอย่างนี้ ก็ทรงหวาดหวั่น ประทับนั่งนิ่งอยู่

ขณะนั้น คณะมนตรีทั้ง ๔ คน ได้มาเข้าเฝ้า พระเจ้าวิเทหราช จึงตรัสถามเสนกะว่า พระองค์ ควรไปอภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระเจ้าจุลนี ที่ปัญจาลนคร หรือไม่

เสนกะ กราบทูลว่า “ขอเดชะ พระองค์รับสั่งอะไรเช่นนั้น นี่เป็นโอกาสอันดี พระเจ้าจุลนี เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ในชมพูทวีป ประสงค์จะยกพระราชธิดาผู้ทรงพระสิริโฉมงดงามถวายพระองค์ ก็ด้วยทรงเห็นว่า กษัตริย์แห่งมิถิลานคร พระองค์เดียวเท่านั้น ที่เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่  เสมอด้วยพระองค์ กษัตริย์พระองค์อื่น เป็นแต่เพียงกษัตริย์ประเทศราช อยู่ในอำนาจปัญจาลนคร   ไม่มีใครเสมอพระองค์ ขอได้ทรงทำตามพระเจ้าจุลนีเถิด ไม่ควรที่พระองค์จะให้โอกาสหลุดลอยไป หากพระองค์เสด็จไปกรุงปัญจาละ ก็จะได้พระธิดาของพระราชาผู้เป็นใหญ่ มาเป็นมเหสี   ทั้งสัมพันธไมตรี ระหว่างสองนคร ก็จะแน่นแฟ้น สืบไป”

พระเจ้าวิเทหราช ตรัสถามอาจารย์คนอื่น ทุกคน ต่างกราบทูลเช่นเดียวกัน ขณะที่พระราชา กำลังรับสั่งอยู่กับคณะมนตรีของพระองค์ พราหมณ์เกวัฏฏะ ออกจากเรือนพักรับรอง มาถวายบังคม พระราชา เพื่อทูลลากลับ พระราชา ทรงทำสักการะแก่พราหมณ์เกวัฏฏะ แล้วส่งกลับไป

มโหสถ รู้ว่า เกวัฏฏะ กลับไปแล้ว จึงลุกขึ้น อาบน้ำ แต่งตัว ไปเข้าเฝ้า พระเจ้าวิเทหราช  ทรงดำริว่า “มโหสถบุตรเรา เป็นปราชญ์ มีความคิดลุ่มลึก ย่อมจะรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งในอดีต  อนาคต และปัจจุบัน จะรู้ว่า ควรหรือไม่ควร ที่เราจะไปกรุงปัญจาลนคร”

แม้จะรู้เช่นนั้น พระองค์ ก็ถูกความกำหนัดยินดี แผดเผา ทั้งลุ่มหลง เพราะความปรารถนา  จึงตรัสถามมโหสถว่า “พวกเราทั้ง ๖ คน ล้วนเป็นบัณฑิต มีปัญญาสูงสุด ดุจแผ่นดิน จะลงมติกันเป็นเอกฉันท์ มโหสถลูกพ่อ แม้เจ้า ก็ต้องทำตามมติว่า ควรไปปัญจาลนคร หรือไม่”

มโหสถ คิดว่า พระเจ้าวิเทหราช ทรงเชื่ออาจารย์ทั้งสี่ ไม่รู้ว่า จะเกิดอันตราย เราจะบอก อันตราย ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้พระองค์ เลิกล้มความตั้งใจเสีย จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด พระเจ้าจุลนี ทรงมีแสนยานุภาพมาก มีกองทัพเกรียงไกร มีกำลังพลมาก ต้องการ ปลงพระชนม์พระองค์ ดุจนายพรานใช้กวางตัวเมีย หลอกล่อฆ่ากวางตัวผู้ นายพรานจับกวางตัวเมีย มาฝึกดีแล้ว ก็นำไปผูกไว้กลางทุ่งหญ้า เพื่อล่อฝูงกวางมา ด้วยมายา เมื่อฝูงกวางตัวผู้มา เพื่อหวังจะเล้าโลมนางกวาง ก็ถูกจับฆ่ามากมาย

พระเจ้าจุลนีพรหมทัต เป็นเหมือนนายพราน เกวัฏฏปุโรหิต เป็นอาวุธในมือพราน  ส่วนพระธิดาปัญจาลจันที เป็นเหยื่อล่อ

พระองค์ ทรงปรารถนาพระธิดา ดุจปลาติดเบ็ด เพราะหลงเหยื่อ ที่เขาเกี่ยวเบ็ดล่อไว้  ไม่ทรงทราบว่า พระธิดาของพระเจ้าจุลนี เป็นแค่เหยื่อ ถ้าพระองค์ ตั้งพระทัยจะเสด็จไปปัญจาลนคร ขอให้เลิกล้มพระราชดำริ พระองค์ จะประสบภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงนัก ไม่ต่างอะไร จากกวาง หลงเดินตามทางเข้าสู่หมู่บ้านคน

พระเจ้าวิเทหราช ทรงพิโรธมโหสถ ทั้งที่รู้ราชสาส์นว่า พระเจ้าจุลนี จะประทานพระธิดาแด่พระองค์ ก็ยังไม่พูดสิ่งที่เป็นมงคล แม้สักคำ กลับกล่าวเปรียบพระองค์ เหมือนเนื้อ และปลา ติดเบ็ด  พระองค์ ตรัสเสียดสีมโหสถว่า “เอาละ พวกเราทั้งหมดนี้ พูดถึงประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้น แต่กลายเป็นคนโง่ บ้าน้ำลาย เพราะพูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับบ้านกับเมือง เจ้ามันลูกคหบดี รู้แต่วิธีจับหางไถ จะรู้กิจที่เป็นมงคลอย่างชาวเมืองคนอื่น ๆ ได้อย่างไร” เพราะความพิโรธ ทั้งน้อยพระทัย  พระเจ้าวิเทหราช จึงรับสั่งให้ทหาร ลากคอขับไล่มโหสถออกไป

มโหสถ รู้ว่า พระราชา ตรัสเพราะความกริ้ว คิดว่า หากใคร ทำตามพระราชดำรัส จับคอตน ลากออกไป ก็จะได้รับความอับอายไปตลอดชีวิต จึงไม่รอให้ทหารมาไล่ตน ถวายบังคมแล้วลากลับบ้าน

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช รับสั่งเช่นนั้น เพราะทรงพิโรธ และน้อยพระทัย เท่านั้น หาได้ต้องการให้ใคร ทำเช่นนั้นไม่ เพราะพระองค์ มีพระทัยเคารพรักมโหสถ ประหนึ่งบิดารักบุตร

สายลับจากเวหา

มโหสถ คิดว่า พระราชา ไม่รู้อะไรเป็นอะไรเลย คิดเพียงว่า จะได้พระธิดาพระเจ้าจุลนีอย่างเดียว ไม่คิดถึงอันตราย เมื่อเสด็จไปกรุงปัญจาละ ก็จะถึงความพินาศ ครั้นจะเฉยเมย เก็บเอาคำพูดของพระองค์มาใส่ใจ พระองค์ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ตนมาก ทรงพระราชทานอิสริยยศอันยิ่งใหญ่ให้ ถึงอย่างไร ก็ต้องคิดหาทางช่วยเหลือพระองค์ให้ได้ จึงตัดสินใจส่งลูกนกแขกเต้าไปสืบหาความจริง ที่กรุงปัญจาลนคร ให้แน่ชัดก่อน แล้วจึงไปเองภายหลัง  

มโหสถ คลุกข้าวตอกกับน้ำผึ้ง ให้ลูกนกแขกเต้ากิน ให้ดื่มน้ำผึ้ง เอาน้ำมันที่หุงนับพันครั้ง ทาขนปีก อย่างที่เคยปฏิบัติ พูดกับลูกนกแขกเต้า ซึ่งจับอยู่ที่ตักว่า“มาธุระ เจ้าจงช่วยงานที่มนุษย์ ทำไม่ได้ คนอื่น เว้นพระเจ้าจุลนี และพราหมณ์เกวัฏฏะ ไม่มีใครรู้เรื่องที่พราหมณ์เกวัฏฏะเป็นทูต มาเชิญเสด็จพระราชาของเรา สู่กรุงปัญจาลนคร มีคนเพียงสองคนเท่านั้น ที่นั่งปรึกษากันในห้องบรรทมของพระเจ้าจุลนี นอกจากนั้น ก็มีเพียงนางนกสาลิกา ที่เขาเลี้ยงไว้ในห้องบรรทมที่รู้เรื่อง เจ้าจงไป ทำความสนิทชิดเชื้อกับนางนกสาลิกานั้น ถามความลับของพระเจ้าจุลนี และพราหมณ์เกวัฏฏะ ในสถานที่มิดชิด คุยกันเบา ๆ อย่าให้ใครรู้ เป็นอันขาด ถ้ามีใครได้ยินเสียงเจ้า ชีวิตของเจ้า ก็จะจบสิ้น”

ลูกนกแขกเต้ามาธุระ รับคำมโหสถ บินทำประทักษิณ เคารพมโหสถ แล้วทะยานออกทางหน้าต่าง โบยบินด้วยความเร็ว ปานลมพัด สังเกตความเป็นไปในประเทศนั้น ๆ ผ่านไปทางนครอริฏฐปุระ แคว้นสีพี แล้วบินสู่ปัญจาลนคร ถึงที่อยู่ของนางนกสาลิกา ลงจับที่ยอดพระปรางค์ พระราชนิเวศน์ ส่งเสียงร้องไพเราะ ด้วยราคะ

แม้นางนกสาลิกานั้น ได้ยินเสียงลูกนกแขกเต้าแล้ว ก็จับที่สุวรรณบัญชร ใกล้ที่บรรทมของพระราชา มีจิตกำหนัดด้วยราคะ เช่นกัน ส่งเสียงรับสามครั้ง ลูกนกแขกเต้าบินไปนิดหนึ่ง  แล้วส่งเสียง ให้ได้ยิน เป็นระยะ บอกว่า เราจะเข้าไปแล้วนะ แล้วบินไปเกาะที่ธรณีสีหบัญชร ตามเสียงนางนกสาลิกา ตรวจดูว่า ไม่มีอันตราย จึงบินเข้าไปหานางนกสาลิกา

นางนกสาลิกา กล่าวกับลูกนกแขกเต้าว่า “มาจับที่สุวรรณบัญชรของฉันสิ” ลูกนกแขกเต้าก็โผบินไปจับ อย่างว่าง่าย แล้วทักทายนางนกสาลิกานั้นว่า “กรงเธองามจัง” นางนกสาลิกา ถามว่า   “เธอ มาจากไหน”

ลูกนกแขกเต้า คิดว่า ถ้าบอกว่า มาจากมิถิลานคร แม้ตาย นางนกสาลิกานี้ ก็จะไม่ทำความสนิทชิดเชื้อกับเรา ก็เรา กำหนดนครอริฏฐปุระ ในแคว้นสีพีมาแล้ว จึงโกหกว่า “พระเจ้าสีพีราช  ส่งฉันมาจากอริฏฐปุระ พระองค์เลี้ยงฉันไว้ ในที่บรรทม บนปราสาท พระราชา ทรงเป็นพระธรรมราชา โปรดให้ปล่อยสัตว์ทั้งหลาย ที่ถูกขังในที่ต่าง ๆ”

นางนกสาลิกา ให้ข้าวตอกคลุกน้ำผึ้ง ที่วางอยู่ในกระเช้าทอง และน้ำผึ้ง แก่ลูกนกแขกเต้า แล้ว ถามว่า“ท่าน มาไกลจัง มีประสงค์สิ่งใด” ลูกนกแขกเต้า โกหกไปว่า “นางนกสาลิกา ตัวหนึ่งพูดอ่อนหวาน เป็นภรรยาฉัน เหยี่ยว ได้ฆ่านางตาย ต่อหน้าต่อตาฉัน ในห้องบรรทม”

นางนกสาลิกา ถามลูกนกแขกเต้าว่า “ก็อย่างไร เหยี่ยว จึงได้ฆ่าภรรยาของท่านเสียเล่า” ลูกนกแขกเต้า สร้างเรื่องโกหกว่า “วันหนึ่ง พระราชาของฉัน เสด็จไปเล่นน้ำ ตรัสเรียกฉันตามเสด็จไปด้วย ฉันจึงพาภรรยาตามไปด้วย แล้วกลับมา พร้อมพระราชา ขณะขึ้นปราสาท ได้ชวนภรรยาออกมาจากกรง จับอยู่ที่ตำหนักยอด เพื่อผึ่งกาย ขณะนั้น มีเหยี่ยวตัวหนึ่ง บินมาโฉบเราทั้งสอง ซึ่งกำลังออกจากตำหนักยอด เตรียมขึ้นปราสาท กลับเข้ากรง ฉันกลัวตาย บินหนีโดยเร็ว” ลูกนกแขกเต้ามาธุระ ทอดเสียงครู่หนึ่ง เหมือนกลืนความทุกข์ให้หายไป แล้วกล่าวต่อว่า “แต่ถึงคราวเคราะห์ นางนกสาลิกาภรรยาฉัน มีครรภ์แก่ จึงบินหนี ไม่ทัน เหยี่ยวโฉบนางตายต่อหน้าต่อตาฉัน พาหนีไป พระราชา เห็นฉันร้องไห้เศร้าโศกถึงภรรยา จึงปลอบใจฉัน รับสั่งให้หยุด ร้องไห้ แล้วให้ฉัน ออกไปหาภรรยาอื่น ฉันกราบทูลว่า แม้นำภรรยาอื่นมาแล้ว ก็จะมีประโยชน์ อะไร ในเมื่อไม่มีใครมีมารยาทเรียบร้อยงดงามเช่นนาง พระองค์รับสั่งว่า ได้เห็นนางนกสาลิกาตัวหนึ่ง เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตรเช่นภรรยาของเจ้า เขาเลี้ยงไว้ในห้องบรรทมของพระเจ้าจุลนี  เจ้าไปที่นั้น ถามใจเธอดู ถ้าเจ้าชอบใจ จงมาบอกเรา จากนั้น เราหรือพระเทวี จะไปสู่ขอจับคู่ให้ แล้วทรงส่งฉันมาที่นี้ ฉันรักเธอ จึงมาพบเธอ ถ้าเธอให้โอกาส เราทั้งสอง ก็จะได้อยู่ร่วมกัน”

นางนกสาลิกา ได้ฟังคำพูดลูกนกแขกเต้ามาธุระ ก็สงสาร แต่ยังไม่ให้ลูกนกแขกเต้า รู้ความในใจ ว่า ตนก็รัก ทำเป็นไม่ปรารถนา กล่าวว่า “นกแขกเต้า รักกับนางนกแขกเต้า นกสาลิกา รักกับนางนกสาลิกา นกแขกเต้า จะอยู่ร่วมกับนางนกสาลิกา ดูกระไรอยู่”

ลูกนกแขกเต้ามาธุระ คิดว่า หากนางนกสาลิกานี้ ไม่ต้องการเรา ก็คงไม่พูดคุยด้วย คงจะมีใจ ปรารถนาอยู่บ้าง เป็นแน่ จึงกล่าวเปรียบเทียบว่า “คนรักกับหญิงชาวบ้าน ต้องเป็นชาวบ้านเช่นนั้นหรือ ขึ้นชื่อว่า ความรัก มีเหมือนกันหมด ไม่ว่าคนหรือสัตว์”

ลูกนกแขกเต้ามาธุระ ยกเรื่องในหมู่มนุษย์ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต มาชี้แจงก่อน เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรื่องความรัก ไม่ได้มีความแตกต่างในชาติพันธุ์ว่า “พระราชมารดาของพระเจ้าสีพี พระนามว่า ชัมพาวดี พระนาง เป็นหญิงชาวบ้าน ได้เป็นพระมเหสี ผู้เป็นที่รักของพระเจ้าวาสุเทพกัณหโคตร

มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า วันหนึ่ง พระเจ้าวาสุเทพ เสด็จออกจากกรุงทวารวดี ประพาสพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นสตรีสาวรูปงามคนหนึ่ง เป็นชาวบ้านธรรมดา ออกจากหมู่บ้าน เข้าพระนคร ไปธุระบางอย่าง พระองค์เกิดมีจิตปฏิพัทธ์ รับสั่งให้ถามถึงชาติกำเนิด แม้ทรงทราบว่า เป็นหญิงสาวชาวบ้านธรรมดา ก็ยังมีรับสั่ง ให้ถามว่า มีสามี หรือไม่ ทรงสดับว่า ยังไม่มี  จึงพาหญิงสาวเข้าสู่พระราชนิเวศน์ สถาปนาไว้ ในตำแหน่งอัครมเหสี

พระนาง ประสูติพระโอรส พระนามว่า “สีพี” เมื่อพระราชบิดา สวรรคตแล้ว พระเจ้าสีพีจึงครองราชสมบัติ ในกรุงทวารวดี

พระเจ้าวาสุเทพ เป็นถึงกษัตริย์ เช่นนี้ ยังมีความรัก กับหญิงสาวชาวบ้าน แล้วใครจะว่าอะไร เราทั้งสองเล่า

แล้ว สุวโปดกลูกนกแขกเต้า ก็ยกอุทาหรณ์เรื่องอื่นอีกมากมาย มาแสดง

นางนกสาลิกานั้น ได้ฟังคำของลูกนกแขกเต้ามาธุระแล้ว กล่าวคำค่อนแคะด้วยมายาสตรีว่า  “จิตใจเปลี่ยนแปลงง่ายนัก ขึ้นชื่อว่า จิตแล้ว ที่จะไม่เป็นสองนั้น ย่อมไม่มี ภายหลัง ฉันกลัว  แต่ความพลัดพรากจากท่านที่รัก”

ลูกนกแขกเต้า ฉลาด รู้ว่า เป็นมายาสตรี เมื่อจะทดลองนางนกสาลิกา จึงกล่าวว่า “เอาเถอะ  แม่สาลิกาเสียงหวาน ฉันจะไปแล้ว เพราะคำของเธอ ทำให้ฉันประจักษ์ เธอดูหมิ่นรักฉันนัก”

นางนกสาลิกา ฟังคำลูกนกแขกเต้า รู้สึกใจหาย เหมือนหัวใจจะแตก เพราะถูกความกำหนัด ยินดี แผดเผา ตั้งแต่แรกเห็น แม้ทำที เป็นไม่ปรารถนา ด้วยมายาสตรี จึงกล่าวว่า มาธุระ เธอจะรีบไปไหน สิริย่อมไม่มี แก่คนขี้ใจน้อย ใจเร็ว ด่วนได้ เชิญเธออยู่ก่อนเถอะ จนกว่า จะได้เฝ้าพระราชา  จนกว่า จะได้ฟังดนตรี แล้วนกทั้งสอง ก็ร่วมสังวาสกัน ในเย็นวันนั้นเอง มีความสามัคคี บันเทิงอยู่ร่วม เป็นที่รักกัน

ลูกนกแขกเต้ามาธุระ คิดว่า บัดนี้ นางนกสาลิกา จะไม่ปกปิดความลับ จึงกล่าวว่า “สาลิกา  ฉันอยากจะถามอะไรเธอสักอย่าง แต่วันนี้ เป็นวันมงคลของเรา ไว้วันอื่น ฉันจึงค่อยถาม”                         นางนกสาลิกา กล่าวว่า “ถ้าเป็นเรื่องมงคล ก็ถามเถิด แต่ถ้ามิใช่ ก็อย่าเพิ่งถาม” ลูกนกแขกเต้า  ตอบว่า “เป็นเรื่องมงคลจ๊ะ ที่รัก” แล้วลูกนกแขกเต้า ก็ถามว่า “ฉันได้ยินเสียงเล่าลือในหัวเมืองว่า   พระธิดาของพระเจ้าปัญจาละ มีพระฉวีวรรณดังดาวประกายพรึก พระเจ้ากรุงปัญจาลราช  จะถวายพระธิดา แก่พระเจ้าวิเทหราช จะมีการอภิเษก ระหว่างพระเจ้าวิเทหราช กับพระธิดา  จริงหรือ ฉันคิดว่า พระธิดา ทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก ทั้งพระเจ้าวิเทหราช ก็เป็นข้าศึกของพระเจ้าจุลนี พระราชาพระองค์อื่น ๆ ที่อยู่ในพระราชอำนาจ ก็มีอยู่มาก พระเจ้าจุลนีไม่ประทาน แก่พระราชาเหล่านั้น เหตุไร จึงจะประทานพระธิดา แก่พระเจ้าวิเทหราช ผู้เป็นอริเสียเล่า”

นางนกสาลิกา กล่าวว่า “เหตุไร พี่จึงกล่าวอวมงคล ในวันมงคลของเรา” ลูกนกแขกเต้าย้อนว่า “เอ๊ะ! ฉันพูดเรื่องมงคล เพราะเป็นเรื่องอภิเษกสมรส แต่เธอ กลับบอกว่า เป็นอวมงคล  นี่อะไรกัน” นางนกสาลิกา กล่าวว่า “การมงคลของคนที่เป็นศัตรูกัน จะเกิดขึ้นได้อย่างไร”

ลูกนกแขกเต้า ขอให้นางนกสาลิกา เล่าให้ฟัง แต่นางว่า ไม่กล้าเล่า ลูกนกแขกเต้า จึงว่า“น้องรัก ถ้าเรายังมีความลับต่อกันอยู่ แล้วจะเป็นสามีภรรยากัน ได้อย่างไร”

นางนกสาลิกา ถูกลูกนกแขกเต้ามาธุระ รบเร้าหนัก จึงกล่าวว่า “การที่พระเจ้าปัญจาลราชจะทำวิวาหมงคลพระธิดา กับพระเจ้าวิเทหราช จะไม่เกิดขึ้น เพราะการแต่งงานกับศัตรู ไม่มีทางเป็นไปได้”

ลูกนกแขกเต้า ซักถามว่า “เพราะเหตุไร เธอ จึงกล่าวเช่นนี้” นางนกสาลิกา จึงกล่าวว่า  “พระราชาผู้เป็นจอมทัพแห่งชาวปัญจาละ หลอกพระเจ้าวิเทหราชมาฆ่า อย่าว่าแต่จะอภิเษกเลย  แม้แต่หน้าพระธิดาปัญจาลจันที พระเจ้าวิเทหราช ก็จะไม่ได้เห็น พระเจ้าวิเทหราชนั้น มีที่ปรึกษา อยู่คนหนึ่ง ชื่อมโหสถ พระเจ้าจุลนี วางแผนจะฆ่ามโหสถ พร้อมกับพระเจ้าวิเทหราชด้วยเรื่องนี้ เกวัฏฏปุโรหิต ได้ปรึกษากับพระเจ้าจุลนี จากนั้น จึงไปกรุงมิถิลา เพื่อจับมโหสถ”

นางนกสาลิกา บอกความลับ ให้มาธุระฟัง จนหมดสิ้น ลูกนกแขกเต้า แกล้งชมเกวัฏฏะว่า  “อาจารย์เกวัฏฏะ เป็นผู้ฉลาดในการวางแผน การฆ่าพระเจ้าวิเทหราชเสีย ด้วยแผนการอันแยบยล เช่นนี้ น่าอัศจรรย์เหลือเกิน แต่ช่างเถอะ ไม่เห็นจะมีประโยชน์ ที่เราจะมามัวพูดกันเรื่องอวมงคล เช่นนี้ นิ่งเสียเถอะ แล้วนอนให้หลับ”

ลูกนกแขกเต้ามาธุระ รู้ว่า หน้าที่ของตน สำเร็จแล้ว ก็เบาใจ จึงอยู่กับนางนกสาลิกา  ในราตรีนั้น ครั้นรุ่งเช้า ก็กล่าวว่า “ที่รัก ฉันจะกลับแคว้นสีพี ทูลพระเจ้าสีพี และพระเทวีของฉันว่า  ฉันได้ภรรยาที่ชอบใจ เธอจงอนุญาตให้ฉันไปสัก ๗ ราตรี เพียงเพื่อให้ฉันได้กราบทูลพระเจ้าสีพีราช และพระมเหสี”

นางนกสาลิกา ไม่ปรารถนาจะพรากจากลูกนกแขกเต้ามาธุระ แม้ชั่วขณะเดียว แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ จึงกล่าวว่า “เอาเถิด ฉันอนุญาตให้เธอไปประมาณ ๗ ราตรี ถ้าเธอไม่กลับมา ใน ๗ ราตรี  ก็จงมารับศพฉันไป”

ฝ่ายลูกนกแขกเต้า พูดว่า “ที่รัก เธอพูดอะไรเช่นนั้น ถ้าฉันไม่ได้เห็นเธอในวันที่ ๘ จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ได้อย่างไร” แต่ใจ คิดอีกอย่างหนึ่งว่า “เจ้าจะเป็นหรือตาย ก็ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับเรา” จึงบินขึ้น มุ่งหน้าไปสีพีรัฐ เมื่อบินไปได้ครู่หนึ่ง ก็ทำเป็นวกกลับมาหานางนกสาลิกาอีก กล่าวว่า  “ที่รัก ฉันไม่เห็นหน้าเธอ ไม่อาจจากเธอไปได้ ฉันจึงกลับมา ให้ได้เห็นหน้าเธออีกครั้ง” แล้วบินขึ้น  เหมือนมุ่งหน้าไปแคว้นสีพี แล้ววกไปกรุงมิถิลานคร ลงจับที่จะงอยบ่ามโหสถบัณฑิต แจ้งเรื่องทั้งหมดแก่มโหสถ

สู่อำนาจปัจจามิตร

พระโพธิสัตว์ ฟังความจากลูกนกแขกเต้า จึงคิดว่า เราห้ามพระราชาไม่ให้ไป พระองค์ก็จะเสด็จไปให้ได้ ครั้นเสด็จไปแล้ว ก็จะพบกับความทุกข์ อย่างสาหัส เมื่อบัณฑิตเช่นเรา ยังมีชีวิตอยู่  และพระองค์ ก็เป็นผู้ประทานอิสริยยศ ให้เรา เราจะไม่สนองพระเดชพระคุณ เป็นการไม่ถูกต้อง  เราจะล่วงหน้า ไปเฝ้าพระเจ้าจุลนีก่อน เตรียมการสร้างเมืองที่ประทับสำหรับพระเจ้าวิเทหราชอย่างรัดกุม แล้วหาทางอภิเษกพระนางปัญจาลจันที พระธิดาของพระเจ้าจุลนี และพระราชาของเรา ให้ได้ ขณะที่พระราชาทั่วชมพูทวีป พร้อมด้วยทหาร ๑๘ กองทัพ ตั้งค่ายล้อมอยู่ เราจะช่วยพระราชาของเรา แล้ว นำเสด็จกลับสู่มิถิลานคร อย่างปลอดภัย การเสด็จสู่ปัญจาลนคร ต้องเป็นหน้าที่ของเรา

เมื่อมโหสถ ดำริอย่างนี้ ก็เกิดปีติว่า “บุคคลผู้เป็นบัณฑิต ได้รับอิสริยยศใหญ่ จากราชสำนัก ของพระราชาพระองค์ใด ควรสนองพระเดชพระคุณพระราชาพระองค์นั้น ให้ถึงที่สุด แม้พระองค์ จะทรงด่า ทรงบริภาษ ก็ตาม บัณฑิต ไม่ควรถือเป็นเหตุสำคัญ”

ครั้นพระโพธิสัตว์ ดำริดังนี้แล้ว จึงอาบน้ำ แต่งตัว ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ถวายบังคมแล้ว ทูลถามว่า “พระองค์ จะเสด็จไปปัญจาลนคร จริงหรือ พระเจ้าข้า

พระราชา ตรัสตอบว่า “เราจะไปจริง หากเราไม่ได้พระธิดาปัญจาลจันที ราชสมบัติ ก็ไม่มีความหมาย เจ้าอย่าทิ้งเรา จงไปกับเรา เมื่อเรา ได้พระธิดาแล้ว ราชไมตรีของพระเจ้าจุลนีกับเรา ก็จะมั่นคง จะเกิดประโยชน์ แก่ทั้งสองพระนคร

มโหสถ กราบทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น ข้าพระองค์ จะล่วงหน้าไปก่อน เพื่อสร้างพระราชวัง สำหรับเป็นที่ประทับของพระองค์ เมื่อข้าพระองค์ ส่งข่าวมาแล้ว พระองค์ ค่อยเสด็จตามไป”

พระเจ้าวิเทหราช ทราบข่าวว่า มโหสถ ไม่ทิ้งพระองค์ ก็ทรงโสมนัส ทรงโอบกอดมโหสถ  ตรัสบอกว่า “มโหสถ เมื่อลูก จะล่วงหน้าไปก่อน ลูกต้องการสิ่งใด ก็จงเอาไปมโหสถกราบทูลขอพระบรมราชานุญาต เปิดเรือนจำ ๔ แห่ง ให้ถอดโซ่ตรวน ส่งพวกโจรไปกับตน

เมื่อพระราชา ทรงอนุญาต มโหสถ จึงให้เปิดเรือนจำ นำพวกนักโทษ ไปเป็นทหาร เพราะมี ความอดทน กล้าหาญ และสามารถทำงานได้ ในทุกสถานการณ์ โดยได้มอบสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แก่คนเหล่านั้น  

จากนั้น มโหสถ ได้พาเสนา ๑๘ เหล่า ผู้มีความชำนาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ทั้งช่างไม้  ช่างเหล็ก ช่างหนัง ช่างศิลา ช่างอิฐ และช่างเขียน เป็นต้น จัดเตรียมเครื่องอุปกรณ์เป็นอันมาก ไปด้วย  มีกองพลใหญ่ห้อมล้อม ออกจากมิถิลานครไป

มโหสถ ให้สร้างหมู่บ้านขึ้น ตามรายทางที่ผ่านไป เป็นระยะ ๆ หมู่บ้านหนึ่ง ห่างกันราว ๑ โยชน์  สั่งอำมาตย์คนหนึ่ง ๆ ให้อยู่ประจำหมู่บ้านนั้น ๆ จัดบำรุง ช้าง ม้า และรถ ให้พร้อมไว้ ตลอดเวลา  มื่อพระเจ้าวิเทหราช รับพระนางปัญจาลจันที มาถึงหมู่บ้านนั้น ๆ ให้ทำการอารักขา แล้วพาเสด็จ กลับกรุงมิถิลา โดยเร็ว อย่าให้ศัตรู ทำร้ายได้

เมื่อมโหสถ เดินทางถึงฝั่งแม่น้ำคงคา ได้สั่งให้อำมาตย์ชื่ออานนท์ พาช่างไม้ ๓๐๐ คน ไปตัดเอาไม้แก่น มาต่อเรือ เตรียมการไว้ ประมาณ ๓๐๐ ลำ แล้วถากไม้ในป่านั้น ให้เป็นแผ่น บรรทุกเรือไป สำหรับสร้างพระราชวัง

ส่วนมโหสถบัณฑิต ขึ้นเรือ ข้ามฟาก ไปอีกฝั่งหนึ่ง ก้าวเท้า คำนวณนับระยะทาง ตั้งแต่ขึ้นจากเรือ กำหนดว่า จะขุดอุโมงค์ใหญ่ตรงนี้ จะสร้างพระราชวัง สำหรับเป็นที่ประทับของพระเจ้าวิเทหราชตรงนี้ จากพระราชวังนี้ไป จะมีอุโมงค์เป็นทางเดินลอดไปยังพระราชมณเฑียร แห่งปัญจาลนคร กำหนดเช่นนี้แล้ว จึงเข้าพระนคร ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนี

พระเจ้าจุลนี ทราบว่า มโหสถ มาถึงแล้ว ก็ทรงโสมนัสยิ่งว่า ความปรารถนาของพระองค์ใกล้สำเร็จแล้ว ใกล้จะแก้แค้นศัตรูได้แล้ว เมื่อมโหสถมา ไม่ช้า พระเจ้าวิเทหราชก็ต้องมา   เราฆ่าศัตรูทั้งสอง ก็จะได้เสวยราชสมบัติในชมพูทวีป แต่เพียงผู้เดียว

ชาวกรุงอุตตรปัญจาละ เกิดเอิกเกริกโกลาหลว่า “ผู้นี้ ชื่อ “มโหสถ” ดูอายุยังน้อย  เขาว่า เป็นลูกคหบดีชาวชนบท แต่ได้เป็นถึงเสนาบดีแห่งมิถิลานคร พระราชาถึง ๑๐๑ พระองค์  ถูกคน ๆ นี้ ไล่ให้หนีไป เหมือนคนขว้างก้อนหินไล่กา มาเพื่อเตรียมการอภิเษกพระธิดาปัญจาลจันที”

มโหสถ ผ่านเข้าประตูพระนครไป ในขณะที่ฝูงชนชาวเมืองปัญจาลนครมุงดูแออัดยัดเยียดให้กราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า ตนขอเข้าเฝ้า

แผนเผด็จศึก

ที่สมรภูมิปัญจาลนคร

พระเจ้าจุลนี ทรงทำการปฏิสันถาร ต้อนรับมโหสถ แล้วถามถึงการเสด็จมาของพระเจ้าวิเทหราช มโหสถ กราบทูลว่า “พระองค์ จะเสด็จมาทันที เมื่อข้าพระองค์ ส่งข่าวไปกราบทูล” พระเจ้าจุลนี ตรัสถามถึงการมาล่วงหน้าของมโหสถว่า มีความต้องการสิ่งใด มโหสถ กราบทูลว่า “มาเพื่อสร้างพระราชนิเวศน์ เตรียมรับการเสด็จ”

พระเจ้าจุลนี พระราชทานเสบียง สิ่งของเป็นอันมาก สำหรับกองทัพ และเรือนรับรอง สำหรับมโหสถ แล้วตรัสว่า “ขอให้อยู่ ตามสบาย อย่าเกรงใจ จงทำราชการ ที่ควรทำ อยู่กับเรา จนกว่าพระราชาของเจ้า จะมาถึง”

ในขณะที่มโหสถบัณฑิต ขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ ยืนอยู่ใกล้เชิงบันได กำหนดว่า ประตูอุโมงค์ควรจะอยู่ตรงนี้ แล้วเกิดความกังวลใจว่า ถ้าขุดตรงนี้ ก็จะเป็นที่สงสัย ทำอย่างไร จึงจะไม่เป็นที่สงสัย  และบันได จะไม่ทรุดลงมา เมื่อขุดอุโมงค์มาถึง

มโหสถ จึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า “เมื่อข้าพระองค์ มาเข้าเฝ้า เดินผ่านเชิงบันได ตรวจดู การก่อสร้าง ที่ตรงนั้น เห็นว่า ยังไม่สวยงาม ถ้าพระองค์ เห็นชอบด้วย ข้าพระองค์ จะเอาไม้               มาปูใหม่ ให้ดูดี เป็นที่พอใจ”

เมื่อพระเจ้าจุลนี ทรงอนุญาต มโหสถ กำหนดดีแล้วว่า ประตูอุโมงค์ ต้องขึ้นตรงนี้ จึงให้นำบันไดออก แล้วนำแผ่นไม้มาปู เพื่อป้องกันไม่ให้ดิน ตรงที่จะเป็นประตูอุโมงค์ ถล่มลง จากนั้นก็พาดบันไดไว้อย่างมั่นคง ตามเดิม

เมื่อพระราชา ไม่เห็นสิ่งผิดปกติ ก็เข้าพระทัยว่า มโหสถทำด้วยความจงรักภักดี  มโหสถให้ทำการก่อสร้างตลอดทั้งวัน ครั้นรุ่งขึ้น จึงกราบทูลพระเจ้าจุลนี ขอพระบรมราชานุญาตเลือกสถานที่สร้างพระราชวัง ที่ประทับ สำหรับพระเจ้าวิเทหราช

พระเจ้าจุลนี ตรัสว่า “ยกเว้นพระราชนิเวศน์ เป็นที่ประทับของเรา เจ้าจงเลือกเอาตามชอบใจ” มโหสถ กราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์ เป็นแขก ประชาชนของพระองค์ที่เป็นพระญาติก็มี เป็นทหารคนใกล้ชิดก็มาก เมื่อข้าพระองค์ สร้างพระราชวัง ไปล้ำเขตเรือนเขา  ก็จะเกิดการทะเลาะกัน งานก็จะล่าช้าออกไป ข้าพระองค์ จะทำอะไรพวกเขาได้” พระเจ้าจุลนี ตรัสว่า “อย่าถือสาเลย อย่าใส่ใจพวกเขา จงเลือกเอาตามใจชอบ”

มโหสถ จึงกราบทูล ต่อไปว่า “คนพวกนั้น มากราบทูล ร้องเรียนพระองค์บ่อย ๆ จะทำให้ เกิดความไม่สบายใจ ทั้งสองฝ่าย เวลาก็จะเนิ่นช้าออกไป ถ้าพระองค์ทรงอนุญาต ในระหว่างนี้  คนรักษาประตูพระราชวัง ขอให้เป็นคนของข้าพระองค์ จนกว่า จะหาสถานที่สร้างพระราชวังได้  พระองค์ ก็จะทรงสำราญ ส่วนข้าพระองค์ ก็จะไม่มีความกังวลใจ” พระเจ้าจุลนี ทรงอนุญาตตามนั้น

มโหสถ วางคนของตน ไว้ในที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ ที่เชิงบันได หัวบันได และประตูใหญ่ สั่งห้ามไม่ให้ใคร ผ่านเข้าไป จากนั้น มโหสถ จึงไปยังตำหนักพระราชมารดาของพระเจ้าจุลนีก่อน  แล้วสั่งให้จัดการรื้อพระตำหนัก คนเหล่านั้น ก็เตรียมการจะรื้ออิฐ และขุดดิน ตั้งแต่ซุ้มประตู  พระราชชนนี ทราบเรื่อง จึงเสด็จมารับสั่งห้าม คนของมโหสถ ทูลตอบว่า “มโหสถ ให้รื้อ เพื่อสร้างพระราชวัง เตรียมรับเสด็จพระเจ้าวิเทหราช”  

พระราชชนนี ตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น ก็อยู่ด้วยกันในตำหนักนี้ ก็แล้วกัน ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่” คนของมโหสถ ทูลตอบว่า “ข้าราชบริพารพระราชาของข้าพระองค์มีมาก  พระตำหนักนี้ ไม่พอกันอยู่ จึงจำเป็นต้องสร้างที่ประทับใหม่ ให้ใหญ่ขึ้น” พระราชชนนี จึงรับสั่งว่า  “พวกเจ้า ไม่รู้ว่า ข้าเป็นใคร ข้าเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าจุลนี ข้าจะไปบอกลูกข้า”  คนของมโหสถ ทูลว่า พวกตน ทำตามพระราชดำรัสของพระเจ้าจุลนี ถ้าพระองค์ห้ามได้ ก็ห้าม

พระราชชนนี ทรงกริ้ว รับสั่งว่า “เดี๋ยวก็รู้ว่า ข้า ทำอะไรพวกแก ได้หรือไม่” จึงเสด็จไป พระราชวัง

ยามเฝ้าประตูพระราชวัง ทำเป็นไม่รู้จักพระราชชนนี ห้ามว่า “เข้าไปไม่ได้” พระราชชนนีตรัสว่า “ข้าเป็นถึงพระราชชนนี ทำไม จะเข้าไปไม่ได้” ชนเหล่านั้น ทูลว่า “พวกข้าพระองค์ไม่ทราบได้ แต่พระเจ้าจุลนี รับสั่งไว้ว่า อย่าให้ใครเข้าไป ข้าพระองค์ ต้องทำตามหน้าที่  ขอพระองค์ จงเสด็จกลับไปเถิด” เมื่อพระราชชนนีไม่รู้จะไปพึ่งใคร ก็เสด็จกลับมาประทับยืน ทอดพระเนตรพระตำหนักของพระองค์ ที่กำลังถูกรื้อ

ขณะนั้น ใครคนหนึ่ง พูดกับพระนางว่า “คนเขากำลังทำงาน พระองค์มายืนเกะกะอยู่ทำไม  จะไปที่ไหน ก็ไปให้พ้น” ว่าแล้ว ก็ลุกขึ้น ผลักพระศอ จนพระนางล้มลง พระนางเจ้า ดำริว่า พระราชา ลูกเรา คงจะสั่งไว้จริง ๆ เป็นแน่ เพราะไม่เคยมีใคร กล้าทำอย่างนี้กับพระองค์ได้ จึงเสด็จไปหามโหสถ  ตรัสว่า “พ่อมโหสถ ท่านให้รื้อตำหนักเรา เพราะอะไร” มโหสถ ไม่ทูลกับพระนาง แต่ให้ชายผู้ยืนอยู่ใกล้ ทูลว่า “พระนาง ตรัสอะไรกับมโหสถ” พระราชชนนี จึงรับสั่งถามว่า “มโหสถให้รื้อตำหนักเรา ทำไม” บุรุษนั้น ทูลว่า “เพื่อสร้างพระราชวัง ที่ประทับสำหรับพระเจ้าวิเทหราช”  

พระราชชนนี รับสั่งว่า “เมืองใหญ่ถึงเพียงนี้ ทำไม จะหาที่สร้างพระราชวังที่อื่นไม่ได้   เจ้าจงรับสินบนเป็นเงินแสนกหาปณะนี้ แล้วไปสร้างพระราชวัง ที่อื่นเถิด” บุรุษนั้น ทูลตอบว่า  “ก็ได้ พระแม่เจ้า ข้าพระองค์ จะให้งดเว้นพระตำหนักของพระองค์ แต่พระองค์ อย่าบอกใครเป็นอันขาดว่า ข้าพระองค์ รับสินบน เนื่องจาก คนอื่น จะมาให้สินบนข้าพระองค์ เพราะใคร ๆ ก็ไม่อยากให้รื้อเรือนของตน แล้วการสร้างพระราชวัง ก็จะล่าช้าออกไป”

พระราชชนนี รับสั่งว่า “การบอกให้ใครรู้ว่า เราให้สินบน เป็นเรื่องที่น่าอับอาย เราจะบอก ให้ใครรู้ ทำไม” พระนาง ได้ให้เงินหนึ่งแสนกหาปณะ คนของมโหสถ จึงเว้นพระตำหนักนั้น  แล้วไปเรือนเกวัฏฏพราหมณ์ ให้ทำเหมือนกับที่ตำหนักพระราชชนนี เกวัฏฏปุโรหิต โกรธจัด  จะไปเฝ้าพระราชา คนรักษาประตู ก็เอาเรียวไม้ไผ่ ตีหลัง จนเป็นรอยแดงยาวเป็นแนวขึ้นมา  เกวัฏฏปุโรหิต ไม่รู้จะพึ่งใคร ก็กลับบ้าน ให้สินบนหนึ่งแสนกหาปณะเช่นกัน จากนั้น มโหสถจึงไปยึดเรือนมหาอำมาตย์ และเศรษฐีในพระนคร สำหรับสร้างพระราชวัง โดยทำนองเดียวกัน  รับสินบน จนได้กหาปณะ ประมาณ ๙ โกฏิ จึงไปเฝ้าพระเจ้าจุลนี

พระราชา ตรัสถามว่า “พวกท่าน ได้สถานที่สร้างพระราชวัง หรือยัง” มโหสถ กราบทูลว่า  “ไม่มีใคร ที่ไม่ยินดียอมให้สร้าง แต่ครั้นข้าพระองค์จะสร้าง เจ้าของที่ ก็จะลำบาก  การที่ชนเหล่านั้น ต้องพลัดพรากจากของรัก ไม่สมควร ข้าพระองค์ จะสร้างพระราชวังที่ประทับพระราชา ในระหว่างแม่น้ำคงคา กับพระนครนี้ ซึ่งอยู่นอกพระนคร จะได้ไม่ทำให้ ชาวเมืองเดือดร้อน”

พระเจ้าจุลนี ทรงเห็นด้วย ทรงดำริว่า หากเกิดการต่อสู้กันขึ้น การรบกันภายในเมือง ไม่สะดวก  ไม่รู้ว่า ทหารฝ่ายไหน เป็นฝ่ายไหน การสู้รบนอกเมือง เป็นการง่าย อีกอย่างหนึ่ง จะได้ไม่มีการฆ่ากันตาย ในพระนคร จึงทรงอนุญาต ให้สร้างเมือง ตามที่กำหนด

มโหสถ กราบทูลว่า “ขณะกำลังดำเนินการก่อสร้าง ขออย่าเพิ่งให้ชาวพระนคร ไปหาฟืน และของป่า ในบริเวณนั้น เพราะเมื่อชาวเมืองเข้าไป เกิดการทะเลาะวิวาทกับพวกคนงาน ที่กำลังทำการก่อสร้าง งานก็จะล่าช้า และทำให้เกิดความไม่สบายใจ ทั้งสองฝ่าย”

ขณะทำการก่อสร้างพระราชวัง เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดความสงสัยว่า ทำไม น้ำในแม่น้ำขุ่น  มโหสถ จึงกราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า “โขลงช้างของข้าพระองค์ ชอบเล่นน้ำ เมื่อน้ำขุ่นขึ้นมา  ชาวเมือง จะโกรธเคืองว่า ตั้งแต่มโหสถมา พวกเราไม่ได้ดื่มน้ำใส แล้วไปกราบทูลฟ้องร้อง  ขอพระองค์ ทรงมีพระขันติธรรม อดกลั้นเรื่องนี้ไว้ อย่ากริ้วพวกข้าพระองค์”

พระเจ้าจุลนี ตรัสว่า “จงปล่อยให้โขลงช้างพวกเจ้า เล่นน้ำตามสบายเถิด” จึงออกประกาศ ว่า

“ผู้ใด ไปสถานที่ก่อสร้างพระนครของมโหสถ จะถูกปรับสินไหม เป็นเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ”

มโหสถ พาคนของตน ออกจากพระนคร ไปสถานที่เตรียมการก่อสร้างพระนคร กำหนดให้สร้างหมู่บ้าน ชื่อว่า “คัคคลิ” ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น ให้เป็นที่พักบำรุง ช้าง ม้า รถ พาหนะ  และโค ไว้เตรียมรอ จากนั้น จึงวางแผน และออกแบบพระนคร แบ่งหน้าที่ ให้คนทั้งหมด รับผิดชอบ ในแต่ละส่วน แล้วเริ่มลงมือขุดอุโมงค์ ประตูอุโมงค์ใหญ่ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ให้คนประมาณ ๖,๐๐๐ คน มีหน้าที่ขุดอุโมงค์ใหญ่ ให้ขนกรวดทราย มาเททิ้งลงในแม่น้ำคงคา ให้ช้าง ม้า เหยียบจนขุ่นคลัก ไหลไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสงสัย ชาวเมือง ก็พากันบ่นว่า ตั้งแต่มโหสถมา พวกเรา ไม่ได้ดื่มน้ำใส แม่น้ำคงคา ขุ่นมัวไปหมด ทำไมถึงเป็นอย่างนี้  

สายลับที่มโหสถวางไว้ ก็ปล่อยข่าวออกไปว่า โขลงช้างของมโหสถ เล่นน้ำ จึงทำให้น้ำในแม่น้ำคงคา ขุ่นเป็นตม

ธรรมดาว่า ความประสงค์ของพระโพธิสัตว์ ย่อมประสบผลสำเร็จ ได้ไม่ยาก ในที่ที่คนขุดอุโมงค์จึงไม่มีรากไม้ ศิลา กรวด เป็นต้น ที่จะทำให้งานล่าช้า ประตูทางเข้าอุโมงค์ขนาดใหญ่อยู่ในเมือง  คนสามารถเดินเข้าออกพร้อมกันได้ ราว ๓,๐๐๐ คน มโหสถ ให้ขุดอุโมงค์เป็นทางเดิน ให้บรรจุกรวด ทรายในถุงหนัง ไปถมในนครนั้น ให้คลุกดินเหนียวเป็นปูน โบกกำแพง สำหรับประตูทางเข้าอุโมงค์ใหญ่  เป็นประตูยนต์ สูงถึง ๑๘ ศอก มีกลไกยนต์ สำหรับควบคุมการเปิดปิด ผนังอุโมงค์ทั้ง ๒ ข้าง ก่ออิฐ ถือปูน ด้านบนอุโมงค์ ปูไม้เป็นเพดาน เอาดินเหนียว อุดตรงที่เป็นช่อง แล้วยาด้วยปูนขาว มีประตูใหญ่ สำหรับเข้าออก ๘๐ แห่ง ประตูเล็กอีก ๖๔ แห่ง ทุกประตู มีกลไกเปิดปิด ระหว่าง ๒ ข้างของผนังอุโมงค์ ประดับโคมไฟไว้ เป็นระยะ โคมไฟทุกดวง มีกลไกเปิดปิด เพียงอันเดียว เมื่อเปิด  ก็สว่างพร้อมกันหมด เมื่อปิด ก็ดับพร้อมกัน มีห้องบรรทม ๑๐๑ ห้อง สำหรับพระราชา ๑๐๑ พระองค์  มีเครื่องลาดต่าง ๆ ไว้ในห้องบรรทมทุกห้อง แต่ละห้อง มีเศวตฉัตร อยู่ที่ประทับ ทุกห้อง นอกจากนั้น  ศิลปิน ได้ถักรูปสตรี ด้วยเส้นป่าน งดงาม ตั้งไว้ตามห้อง ถ้าไม่จับต้องดู ก็ไม่รู้ว่า ไม่ใช่รูปคนจริง

พวกช่างวิจิตรศิลป์ ได้เขียนจิตรกรรมฝาผนัง อย่างวิจิตร เป็นรูปต่าง ๆ ระหว่างผนังอุโมงค์  ส่วนช่าง ๓๐๐ คน ที่มโหสถให้มีหน้าที่สร้างพระราชวัง และให้ต่อเรือบรรทุกไม้มานั้น ก็ได้ต่อเรือ บรรทุกอุปกรณ์ สำหรับสร้างพระนคร มาตามแม่น้ำคงคา ให้ขนอุปกรณ์ทั้งหมด ขึ้นไว้ในสถานที่สร้างพระนคร แล้วนำเรือ ไปแอบซ่อนไว้ในที่ลับ เตรียมพร้อม รอรับคำสั่ง  

มโหสถ ดำเนินการสร้างเมืองชื่อว่า “อุปการนคร” เสร็จเรียบร้อย ภายในระยะเวลา ๔ เดือน  ประกอบด้วย คูค่าย กำแพงเมือง ป้อมปราการ ประตูเมือง ซุ้มประตู หมู่มหาปราสาท พระราชนิเวศน์  โรงช้าง สระโบกขรณี และอุโมงค์ใหญ่

ครั้นเวลา ผ่านไปได้ ๔ เดือน มโหสถ จึงส่งทูต ไปเชิญเสด็จพระเจ้าวิเทหราช กษัตริย์ผู้ครองกรุงมิถิลานคร  

พระเจ้าวิเทหราช พร้อมด้วยมหาจตุรงคเสนา ออกจากกรุงมิถิลานคร เสด็จพระราชดำเนินสู่เมือง ที่มโหสถสร้างไว้ ในแคว้นกัปปิละ เสด็จขึ้นสู่ปราสาท สรงสนานพระวรกาย ทรงแต่งพระองค์ แล้ว เสวยพระกระยาหาร ทรงพักพระอิริยาบถ ครั้นตกเย็น ทรงสั่งราชทูต ไปยังราชสำนักพระเจ้าจุลนี  กราบทูลให้ทรงทราบว่า พระองค์ เสด็จมาถึงแล้ว  

พระเจ้าจุลนี ทรงดีใจว่า ศัตรู เหมือนลูกไก่ในกำมือ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด ไม่มีทางที่จะหนีไปไหนพ้น ทรงพระราชทานรางวัล แก่ราชทูต เพื่อจะแสดงให้ทูตเห็นว่า พระองค์ทรงดีใจ แล้ว รับสั่งให้พระเจ้าวิเทหราช หาฤกษ์อภิเษกสมรสไว้

ราชทูต กลับไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช กราบทูลให้ทรงหาฤกษ์ ที่สมควรแก่การอภิเษกสมรส

พระเจ้าวิเทหราช ก็ทรงหาฤกษ์ แล้วส่งราชทูต ถือพระราชสาส์น ไปถวายพระเจ้าจุลนี กำหนดวันพระราชทานพระราชธิดา ให้เป็นพระมเหสี

พระเจ้าจุลนี ตรัสลวงราชทูตว่า จะส่งไปตามฤกษ์ยามนั้น ครั้นราชทูต กลับไปแล้ว ทรงให้สัญญาณ แก่พระราชา ๑๐๑ พระองค์ พร้อมทั้งทหาร ๑๘ กองทัพ เตรียมการรบ พระราชา ทั้งหมด ก็เคลื่อนทัพสู่อุปการนคร ในทันที

เมื่อพระเจ้ากรุงปัญจาละ จะเสด็จออกทำสงคราม ด้วยพระองค์เองนั้น ได้ทำการป้องกันพระราชมณเฑียรเอาไว้ ทรงทูลเชิญพระนางสลากเทวี พระราชมารดา พระนางนันทาเทวี พระมเหสี  เจ้าชายปัญจาลจันทะ พระราชโอรส และเจ้าหญิงปัญจาลจันที พระราชธิดา รวม ๔ พระองค์  มาอารักขาไว้ ในพระตำหนักเดียวกันกับนางสนม

เจ้าหญิงเชลยศึก

มโหสถ ถวายการต้อนรับพระเจ้าวิเทหราช พร้อมด้วยจตุรงคเสนาที่ตามเสด็จ อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ทหารบางพวก ดื่มสุรา บางพวก กินปลา และเนื้อ เป็นกับแกล้ม และบางพวก เจ็บป่วย เพราะเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไกล จึงนอนพัก ในขณะที่พระเจ้าวิเทหราช พร้อมด้วยคณะมนตรี ประทับนั่งที่ท้องพระโรงใหญ่แห่งพระราชมณเฑียร ท่ามกลางข้าราชบริพาร

ฝ่ายพระเจ้าจุลนี สั่งกองทัพ ให้ปิดล้อมเมืองอุปการนคร ที่พระเจ้าวิเทหราชประทับเอาไว้ถึง ๓ ชั้น แปรรูปกระบวนทัพ จากทหาร ๑๘ กองทัพ ยุบรวมเป็น ๔ กองทัพ ปิดล้อมไว้ทั้ง ๔ ทิศ มีคบเพลิงนับแสน ๆ ดวง สว่างไสวไปทั่ว เตรียมเข้ายึดเมือง ในเวลาอรุณรุ่ง

เมื่อพระเจ้าจุลนี ยกทัพออกจากพระราชวัง มาล้อมเมืองไว้แล้ว มโหสถ รู้ว่า ภายในพระนคร ว่างเปล่าจากกองทัพ จึงสั่งให้ทหาร ๓๐๐ นาย ของตน ลอดอุโมงค์ ไปจับพระราชมารดา พระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดา ของพระเจ้าจุลนี ออกมาทางอุโมงค์ ให้ตั้งกองอารักขาไว้ จนกว่ามโหสถจะมา

ทหารหน่วยจู่โจม ที่มโหสถฝึกฝนมาเป็นพิเศษ ลัดไปทางอุโมงค์ เปิดแผ่นไม้ที่ปูไว้ ตรงเชิงบันได จับราชองครักษ์ และนางกำนัลทั้งหมด มัดมือเท้า ปิดปาก แล้วนำไปซ่อนไว้ ในที่กำบัง กินของเสวย ทุบทำลายข้าวของ เกลื่อนกระจายพระราชมณเฑียร พระนางสลากเทวี ทรงเข้าใจว่า มีความปลอดภัย จึงให้พระราชโอรส พระราชธิดา ไปบรรทม รวมอยู่ที่นอนเดียวกันกับพระองค์

ทหารเหล่านั้น ยืนร้องเรียกที่ประตูห้อง พระนาง คิดว่า เป็นราชองครักษ์ จึงตรัสถามว่า “มีอะไรไหม” ทหารมโหสถ จึงแสร้งทูลว่า “พระราชา ฆ่าพระเจ้าวิเทหราช กับมโหสถ ได้แล้วพระองค์เป็นเอกราชทั่วชมพูทวีป ดื่มฉลองชัยชนะด้วยพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ พระราชาส่งข้าพระองค์มา เพื่อพาเสด็จไปในพิธี” พระราชวงศ์ทั้ง ๔ พระองค์ จึงเสด็จลงจากปราสาทมาจนถึงเชิงบันได

ทหารมโหสถ นำกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ เสด็จเข้าไปทางอุโมงค์ พระราชมารดา รู้สึกแปลกใจ เพราะไม่เคยรู้ว่า มีอุโมงค์ลับอยู่ระหว่างเชิงบันได ทหารมโหสถ กราบทูลว่า “ขอเดชะ คนทั่วไป ไม่ใช้ทางลับนี้ เพราะเป็นทางมงคล สำหรับพระราชา วันนี้ พระราชาตรัสสั่งให้นำเสด็จ โดยทางนี้ เพราะเป็นวันมงคล” พระราชมารดา ก็ทรงเชื่อ

ทหารบางส่วน นำพระราชมารดา เสด็จล่วงหน้าไปก่อน บางส่วน ย้อนกลับเข้าไปเปิดคลังหลวง ในพระราชนิเวศน์ ขนเอาข้าวของทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองตามต้องการ เมื่อพระราชมารดาเข้าสู่อุโมงค์ใหญ่ เห็นอุโมงค์วิจิตรงดงามราวกับเทพสภา ก็ทรงเข้าใจว่า เป็นทางลับ ที่เขาจัดไว้เป็นการเฉพาะ สำหรับพระราชาเสด็จ เท่านั้น

ทหารมโหสถ นำกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ ไปใกล้ถึงแม่น้ำคงคา ก็ให้ประทับในห้องภายในอุโมงค์ พวกหนึ่ง อยู่รักษาการณ์ อีกพวกหนึ่ง ไปรายงานให้มโหสถทราบ มโหสถ ยินดีว่า แผนการของตน ใกล้สำเร็จแล้ว จึงไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช ได้ยินเสียงกึกก้องราวแผ่นดินจะถล่ม เข้าใจว่า พระเจ้าจุลนี กำลังนำ พระราชธิดามาประทานพระองค์ จึงเสด็จลุกจากราชบัลลังก์ ทอดพระเนตรออกไปทางช่องพระแกล เห็นพระนครสว่างไสวไปทั่วด้วยคบเพลิงนับแสน ๆ ดวง นคร ถูกกองทัพใหญ่ ล้อมไว้โดยรอบ ก็ทรงฉงนสนเท่ห์ วิตกกังวลว่า เกิดอะไรขึ้น จึงตรัสถามพวกคณะมนตรีของพระองค์ว่า มีความเห็นอย่างไรกัน

อาจารย์เสนกะ กราบทูลว่า “อย่าทรงวิตกกังวลไปเลย พระเจ้าข้า นั่น เห็นจะเป็นกองเกียรติยศ ที่พระเจ้าจุลนีจัดถวาย เนื่องด้วยการอภิเษกสมรสพระราชธิดา”

ฝ่ายอาจารย์ปุกกุสะ กราบทูลว่า “พระเจ้าจุลนี จะทรงอารักขา เพื่อทรงทำอาคันตุกะ สักการะ แด่พระองค์” ทุกคน ต่างก็ทูลไปตามความเห็นของตน

พระเจ้าวิเทหราช ทรงสดับเสียงสั่งทหารเข้าประจำการในที่นั้น ๆ และทรงทอดพระเนตรเห็น ทหารทุกคน สวมเกราะ ดูฮึกเหิม ก็ทราบว่า เป็นเสียงบัญชาการกองทัพ จึงทรงกลัวว่า จะเป็นอุบาย หลอกพระองค์มาฆ่า ตามที่มโหสถเคยบอก หวังจะได้ยินคำยืนยันจากมโหสถ ให้อุ่นพระทัย จึงตรัสถามว่า “มโหสถ กองทัพหุ้มเกราะ เพียบพร้อมไปด้วยกองทัพช้าง กองทัพม้า กองพลรถ กองพลทหารราบ สวมเกราะ ตั้งมั่น จุดคบเพลิง สว่างไสวอยู่ เช่นนี้ พวกเขา จะทำอะไรกัน”

มโหสถ คิดว่า จะทำให้พระราชา รู้จักกลัวเสียบ้าง ค่อยแสดงกำลังแห่งปัญญาของตน ให้เห็นในภายหลัง จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ พระเจ้าจุลนี ทรงมีกำลังแสนยานุภาพมากมาย นำกองทัพมาล้อมเมืองเอาไว้ ด้วยพระองค์เอง เพื่อจับพระองค์ ปลงพระชนม์ ในวันพรุ่งนี้” พระเจ้าวิเทหราช ตกใจ กลัวตาย ปากคอแห้ง เกิดเร่าร้อน กระวนกระวายในพระสรีระ คร่ำครวญ อย่างคนไร้สติว่า “มโหสถ ลูกพ่อ ใจพ่อสั่น ปากคอพ่อ แห้งผาก เร่าร้อน เหมือนถูกแผดเผา แล้วเรา จะทำอย่างไร กันดี”

มโหสถ เห็นพระเจ้าวิเทหราช คร่ำครวญเช่นนี้ ก็คิดว่า พระองค์ ไม่ยอมเชื่อเรา จึงทำให้ข้าราชบริพารทุกหมู่เหล่า เดือดร้อนกันไปทั่ว ต้องทำให้พระองค์ ได้สติขึ้นมาบ้าง จึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ พระองค์ ทรงประมาทเกินไป ไม่ยั้งคิด แม้ข้าพระองค์ จะห้ามปราม ก็ไม่ทรงเชื่อ ความคิด จึงทำลายพระองค์เอง คณะมนตรีของพระองค์ เป็นคนมีความคิด ก็จงแก้ไขพระองค์จากภัยเถิด ข้าพระองค์ หวังประโยชน์เกื้อกูล แต่พระองค์ ไม่ทรงเชื่อ เหมือนเนื้อตกหลุมพราง ปลาติดเบ็ด พระองค์ ทำตามความอยาก ไม่ทราบว่า พระธิดาของพระเจ้าจุลนี เป็นเหมือนเหยื่อ จึงไม่รู้ว่า ตนเอง กำลังก้าวเข้าไปสู่ปากแห่งความตาย แม้ข้าพระองค์ จะทูลทัดทานว่า ถ้าเสด็จไปปัญจาลนคร พระองค์ จะประสบภัยใหญ่หลวงนัก เหมือนภัยที่จะเกิดกับกวาง ซึ่งหลงเดินตามทางเข้าหมู่บ้านมนุษย์ คนเรา ไม่ควรคบคนชั่วเป็นมิตร เหมือนชาวนาเลี้ยงงูเห่า จะแว้งกัดเข้าสักวัน นักปราชญ์ ไม่พึงผูกไมตรีกับคนชั่ว เพราะ มีแต่จะนำทุกข์มาให้ ผู้มีปรีชาญาณอันล้ำลึกพึงผูกไมตรีกับผู้มีศีล เป็นพหูสูต จึงจะประสบ แต่ความสงบสุข”

มโหสถ ข่มขู่พระเจ้าวิเทหราช ยิ่งขึ้น ด้วยหวังว่า พระองค์ จะไม่ทรงทำอย่างนี้อีก เมื่อจะนำพระดำรัสที่พระราชาถากถางตน มาแสดง จึงทูลว่า

“พระองค์ ทรงถากถางข้าพระองค์ ถึงการได้มาซึ่งรัตนะอันสูงสุดว่า ข้าพระองค์เกิดในชนบท เป็นลูกคหบดี รู้แต่เฉพาะวิธีจับหางไถ จะรู้จักธรรมเนียมกษัตริย์ เหมือนคนอื่นเขาได้อย่างไร ท่านทั้งหลาย จงลากคอมโหสถออกไปเสีย จากแว่นแคว้นของเรา เพราะเขาพูดสิ่งที่เป็นอวมงคลกับเรา ข้าพระองค์ เป็นบุตรคหบดี จะรู้จักความเจริญ เหมือนบัณฑิตคนอื่น ได้อย่างไร แม้เช่นนั้น ข้าพระองค์ ก็ไม่ได้นำคำพูดนั้น มาใส่ใจ

ข้าพระองค์ เป็นบุตรคหบดี ย่อมรู้ศิลปะแห่งคหบดี นั่นเป็นความจริง ก็อาจารย์เหล่านั้น เป็นบัณฑิต แต่วันนี้ พระองค์ ถูกกองทัพปิดล้อมไว้แล้ว ดูสิ พวกบัณฑิตของพระองค์ จะทำอย่างไร พระองค์ รับสั่งให้ลากคอข้าพระองค์ ฉุดคร่าออกไปเสีย แล้วบัดนี้ จะตรัสถามข้าพระองค์ทำไม ขอเชิญตรัสถามบัณฑิตของพระองค์เถิด พระเจ้าข้า”

พระเจ้าวิเทหราช ดำริว่า มโหสถ รู้ล่วงหน้าว่า จะเกิดภัยอย่างใหญ่หลวง จึงห้ามไม่ให้พระองค์มา มโหสถ น่าจะรู้วิธีการแก้ไข เขาจึงกล่าวข่มขู่เหลือเกิน แม้พระองค์เอง ก็ทรงทำผิด ไว้กับมโหสถมาก จึงตรัสว่า

“มโหสถ ลูกพ่อ บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่เสียดสี ถึงเรื่องที่แล้วมา เจ้าพูดเสียดสีพ่อ เหมือนคนเอาปฏัก แทงม้าที่เขาผูกไว้ ทำไม ถ้าเห็นว่า จะพ้นภัยได้อย่างไร ก็จงสั่งสอนพ่อมาเถิด เจ้าทิ่มแทงพ่อ เพราะความผิดพลาดในอดีต แล้วจะได้อะไร”

มโหสถ คิดว่า จะต้องให้พระองค์ รู้จักความลำบากเสียบ้าง จึงกราบทูลว่า “ขอพระองค์ทรงทราบเถิด ข้อผิดพลาดร้ายแรงบางอย่าง ที่ถลำทำลงไปแล้ว ยากจะแก้ไขได้ ดูกองพลช้าง กองพลม้า นั่นสิ นก ยักษ์ หรือ คนมีฤทธิ์ เหาะไปทางอากาศได้ เท่านั้น จึงจะพาพระองค์ หลบหนีรอดพ้น จากกองทัพนี้ไปได้ ข้าพระองค์ ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้”

พระเจ้าวิเทหราช จำนนต่อคำของมโหสถ ทรงสิ้นหวัง ประทับนั่งทอดอาลัยอยู่

อาจารย์เสนกะ คิดว่า ยกเว้นมโหสถแล้ว ไม่มีใครสามารถช่วยได้ พระราชา ฟังคำมโหสถ ทรงหวาดกลัวต่อมรณภัย ตรัสอะไร ๆ ไม่ได้ อีกต่อไป เราจะอ้อนวอนให้มโหสถช่วย จึงกล่าวว่า “ท่านมโหสถ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของพวกเรา ท่านเป็นผู้มีความสามารถสูงสุด กว่าพวกเราเหล่ามนตรีทั้งหมด”
มโหสถ ยืนยันคำเดิมว่า “อาจารย์เสนกะ ความผิดพลาดร้ายแรงบางอย่างที่มนุษย์ทำลงไปแล้ว ยากที่จะแก้ไขได้ ขอท่านจงแก้ไขเองเถิด”

เมื่อพระเจ้าวิเทหราช ไร้ที่พึ่ง ไม่ทราบว่า จะตรัสอะไรกับมโหสถ ทรงดำริว่า อาจารย์ทั้ง ๔ คน อาจจะมีแผนการ อะไรบ้าง จึงตรัสถามเสนกะว่า ควรทำอย่างไร

อาจารย์เสนกะ กราบทูลว่า “พวกเรา ช่วยกันเอาไฟเผาบ้านเผาเมืองให้หมด แล้วเอามีด เชือดคอตนเอง ตายไปก่อน อย่าทันให้พระราชาพรหมทัตจับพวกเราไปทรมานจนตาย”

พระเจ้าวิเทหราช ได้สดับดังนั้น ก็ทรงนึกฉุน จึงตรัสด้วยไม่รู้จะตรัสอะไรว่า “จงทำเชิงตะกอน เช่นนั้น เผาลูกเมียท่านเถิด” แล้วตรัสถามคณะมนตรีคนอื่น ๆ

แม้บัณฑิตที่เหลือ ก็ตอบไม่ต่างจากเสนกะ บางคน เสนอว่า ควรชิงกินยาพิษ ตายไปก่อน บางคนเสนอว่า ควรชิงผูกคอตาย ส่วนเทวินทะ คิดว่า ทำไม พระราชาจึงตรัสถามพวกเรา ในเมื่อไฟมีอยู่ กลับทรงเป่าหิ่งห้อย ยกเว้นมโหสถแล้ว ไม่มีใคร สามารถช่วยพวกเราให้พ้นภัยได้ พระองค์ไม่ตรัสถามมโหสถ มาตรัสถามพวกเรา แล้วพวกเรา จะรู้อะไร เมื่อไม่มีแผนการอื่น จึงกราบทูลคำ ที่เสนกะกล่าวว่า

“ถ้ามโหสถ ไม่สามารถช่วยเราได้แล้ว ก็ช่วยกันเอาไฟเผาบ้านเมืองให้หมด แล้วเอามีด เชือดคอตนเอง ตายไปก่อน แต่ข้าพระองค์ คิดว่า พวกเราทั้งหมดนี้แหละ ช่วยกันวิงวอนมโหสถ ก่อน ถ้าแม้ เมื่อวิงวอนแล้ว มโหสถ ยังไม่สามารถช่วยพวกเราได้ จึงค่อยทำตามแผนการของเสนกะ”

พระเจ้าวิเทหราช สดับคำของเทวินทะ ทรงระลึกถึงโทษ ที่พระองค์เคยทำไว้กับมโหสถก็ไม่สามารถจะตรัสกับมโหสถได้ ทรงคร่ำครวญว่า “พวกเรา หาหนทางที่จะพ้นภัยครั้งนี้ ยากที่จะ เป็นไปได้ เหมือนหาแก่นต้นกล้วย และแก่นงิ้ว เราหมดปัญญา เหมือนช้างขาดน้ำ ใจเราสั่น ปากคอแห้งผาก เหมือนถูกไฟแผดเผา ไม่มีความเย็นใจเลย”

มโหสถ คิดว่า พระราชา ทรงลำบากมากแล้ว ถ้าไม่ปลอบพระองค์ พระทัยจะแตก สิ้นพระชนม์ชีพ จึงกราบทูลว่า “ขอพระองค์ อย่าทรงวิตกเลย พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ จะทำให้กองทัพแห่งปัญจาลนคร หนีไป ถ้าข้าพระองค์ ไม่สามารถช่วยพระองค์ ผู้ตกที่คับขัน ให้พ้นภัยได้ ปัญญาของข้าพระองค์ จะมีประโยชน์อะไร แล้วพระองค์ จะมีข้าแผ่นดินเช่นข้าพระองค์ ไว้ทำไม” พระเจ้าวิเทหราช สดับคำมโหสถ กลับได้ความอบอุ่นพระทัยว่า พระองค์ รอดชีวิตแล้ว

เสนกะ ถามมโหสถว่า มีแผนการอย่างไร จึงจะพาพวกเราหนีรอดไปทั้งหมดได้ มโหสถชี้แจงแผนการว่า จะพาเล็ดลอดออกไปทางอุโมงค์ ที่เตรียมไว้ จึงสั่งให้ทหาร เปิดประตูอุโมงค์ อุโมงค์ทั้งหมดก็สว่างไปทั่ว มโหสถ กราบทูลเชิญพระราชา เสด็จลงจากปราสาท ส่วนเสนกะ แก้ผ้าโพกศีรษะออก แล้วผลัดผ้าเปลี่ยนเป็นหยักรั้ง

มโหสถ จึงถามว่า ทำอะไร เสนกะ ตอบว่า การมุดไปทางอุโมงค์ ต้องแก้ผ้าโพก แล้วนุ่งหยักรั้ง จะได้เดินสะดวก มโหสถ บอกว่า อุโมงค์กว้างใหญ่ สูงถึง ๑๘ ศอก จึงไม่ต้องก้ม ถ้าต้องการขี่ช้าง หรือ ม้าไปก็ได้

มโหสถ จัดให้เสนกะ เดินนำหน้าไปก่อน พระเจ้าวิเทหราช อยู่ตรงกลาง ส่วนตนเอง รั้งท้า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเกรงว่า พระเจ้าวิเทหราช จะมัวทอดพระเนตรอุโมงค์ ที่ตกแต่งไว้อย่างวิจิตร แล้วเกิดความล่าช้า พระเจ้าวิเทหราช เสด็จไปพลางทอดพระเนตรอุโมงค์ไป

ทหารของมโหสถรู้ว่า พระเจ้าวิเทหราช เสด็จมา จึงนำกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ออกจากอุโมงค์ ให้ประทับอยู่ ณ พลับพลาลานกว้างใหญ่ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา

พระเจ้าวิเทหราช เสด็จออกจากอุโมงค์กับมโหสถ พระนางสลากเทวี พระนางนันทาเทวี เจ้าชายปัญจาลจันทกุมาร และเจ้าหญิงปัญจาลจันที เห็นพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถ ก็ทราบว่า ตกอยู่ในเงื้อมมือศัตรู อย่างแน่นอน ก็ทรงหวาดหวั่นต่อความตาย ต่างร้องไห้อื้ออึง

ขณะนั้น เป็นเวลาเดียวกับพระเจ้าจุลนี เสด็จไปดักอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา ห่างจากทัพหลวง ออกไป ประมาณ ๑ คาวุต ด้วยทรงเกรงว่า พระเจ้าวิเทหราช จะหนีไปทางน้ำ ในเมื่อราตรีเงียบสงัด พระเจ้าจุลนีพรหมทัตสดับเสียงคล้ายเสียงร้องของกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ ทรงประสงค์จะตรัสถาม ทหารว่า นั่น ใช่เสียงพระนางนันทาเทวี และลูกเรา ใช่หรือไม่ แต่ก็หาได้ตรัสไม่ เพราะทรงเกรงถูกทหารเย้ยหยันว่า พระองค์อ่อนแอ ทอดพระเนตรเห็นพระนางนันทาเทวีที่ไหน

มโหสถ เชิญพระธิดาปัญจาลจันที ประทับบนกองรัตนะ อภิเษกให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าวิเทหราช ในที่นั้น แล้วกราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า “พระองค์ เสด็จมาเพื่ออภิเษก พระธิดาพระองค์นี้ เป็นพระมเหสีของพระองค์ เรือ ๓๐๐ ลำ ได้เทียบท่า รอรับเสด็จอยู่แล้ว ขอพระองค์ เชิญเสด็จเถิด พระเจ้าข้า” พระเจ้าวิเทหราช จึงเสด็จลงจากพลับพลา ขึ้นเรือพระที่นั่ง พร้อมกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์

มโหสถ ได้ถวายอนุศาสน์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน บัดนี้ พระเจ้าจุลนี เป็นพ่อตาของพระองค์ พระนางนันทาเทวี เป็นแม่ยาย ขอพระองค์ จงปฏิบัติเหมือนปฏิบัติต่อพระราชมารดา ของพระองค์เอง ขอพระองค์ จงรักใคร่พระปัญจาลจันทกุมาร เหมือนพระเชษฐภาดา ร่วมพระอุทร มารดาเดียวกันกับพระองค์ ส่วนพระธิดาปัญจาลจันทีนี้ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าจุลนี ที่พระองค์ทรงปรารถนายิ่งนัก ขอพระนาง จงเป็นพระมเหสีของพระองค์ และพระองค์ จงดูแล เอาใจใส่ ทะนุถนอมพระนาง ให้สมกับความยากลำบาก ที่พระองค์เสี่ยงชีวิต จึงได้มา”

มโหสถ ยืนกล่าวอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา พระเจ้าวิเทหราช มีพระประสงค์จะรีบเสด็จไป จึงตรัสว่า “เจ้าจะมัวชักช้าอยู่ทำไม รีบขึ้นเรือไปเร็วเถิด”

มโหสถ กราบทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์ ยังไปไม่ได้ แม่ทัพ จะทิ้งทหาร เอาตัวรอด ไม่ถูกต้อง ข้าพระองค์ พาพวกเขา มาจากกรุงมิถิลานคร จะทิ้งพวกเขาไว้ ให้พระเจ้าจุลนีเข่นฆ่า ไม่ได้ พวกเขา เดินทางมาไกล ล้วนมีใจทำงาน เพื่อข้าพระองค์ต่างหิวกระหาย บางพวก กำลังกินข้าว บางพวก กำลังดื่ม บางพวก เหน็ดเหนื่อย ก็นอนหลับ บางพวก เจ็บป่วย ต่างทำงานหนัก ร่วมกับข้าพระองค์ มาตลอด ๔ เดือน ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พวกเรา หนีออกไปทางอุโมงค์ ข้าพระองค์ ทิ้งพวกเขาไว้ที่นี่ ไม่ได้ แม้แต่คนเดียว ข้าพระองค์ จะนำพวกเขากลับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่จะเป็นศพ ทรัพย์สินที่พระเจ้าจุลนีประทาน ก็จะไม่เหลือไว้ ขอให้พระองค์ รีบเสด็จ อย่าหยุดพักที่ไหน แม้แต่ราตรีเดียว ขอให้พระองค์ สลับช้าง ม้า พาหนะ ซึ่งเหน็ดเหนื่อยแล้ว เสด็จขึ้นพาหนะ ที่ยังมีกำลังดี ซึ่งข้าพระองค์ เตรียมไว้เป็นระยะ กลับกรุงมิถิลา อย่างรวดเร็ว”

พระราชา รู้สึกเป็นห่วงมโหสถขึ้นมา อย่างจับใจ ตรัสว่า “มโหสถ เจ้าอย่าโง่นักเลย กำลังทหารเจ้าน้อย ไม่มีทางสู้กองทัพพระเจ้าจุลนีได้หรอก” มโหสถกราบทูลว่า “แม้มีทหารน้อย หากมีความคิด ก็สามารถเอาชนะกองทัพที่มีแสนยานุภาพมาก แต่ไร้ความคิดได้ ข้าพระองค์รบด้วยปัญญา ไม่ใช่รบด้วยอาวุธ ขอเชิญพระองค์ เสด็จเถิด พระเจ้าข้า”

ขณะเรือพระที่นั่ง เคลื่อนตัวออกจากฝั่ง พระเจ้าวิเทหราช ทรงนึกถึงคุณมโหสถว่า พระองค์ พ้นจากเงื้อมมือข้าศึกได้ และความประสงค์ของพระองค์ ก็สำเร็จแล้ว เพราะได้พระนางปัญจาลจันทีราชธิดา ก็บังเกิดพระปีติปราโมทย์ จึงตรัสสรรเสริญคุณมโหสถ ต่อหน้าเสนกะว่า

“ท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิต เป็นสุขดีแท้ มโหสถ ช่วยพวกเรา ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือข้าศึก เหมือนคน ช่วยฝูงนกที่ติดกรง เหมือนช่วยฝูงปลาที่ติดร่างแห” แม้อาจารย์เสนกะ ก็สรรเสริญคุณมโหสถไม่ขาดปากเช่นกัน

พระเจ้าวิเทหราช เสด็จขึ้นจากฝั่งแม่น้ำ แล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อ จนถึงหมู่บ้านที่มโหสถให้สร้างไว้ ทุก ๑ โยชน์ พวกอำมาตย์ที่มโหสถเตรียมไว้ ในหมู่บ้านนั้น ๆ ก็จัดช้าง ม้า และพาหนะ ข้าว น้ำ เป็นต้น ถวายการต้อนรับ ทำการอารักขา อย่างแน่นหนา พระราชา เปลี่ยนช้าง ม้า และพาหนะที่เหน็ดเหนื่อย ตลอดระยะทาง จนผ่านไปไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ ครั้นรุ่งเช้า ก็เสด็จล่วงเข้าเขตแดนมิถิลานคร

ส่วนมโหสถ เข้าสู่ประตูอุโมงค์ ไปทะลุอีกด้านหนึ่ง ปลดดาบที่เหน็บไว้ออก ฝังกลบไว้ในทราย ที่ปากอุโมงค์ จากนั้น ก็กลับเข้าอุโมงค์ ไปออกที่ประตูทางเข้าเมืองที่สร้างไว้ ขึ้นสู่ปราสาท อาบน้ำ กินอาหารแล้ว นอนพักผ่อนเอาแรง เมื่อคิดว่า งานของเราสำเร็จแล้ว ก็หลับไปอย่างง่ายดาย

ฝ่ายกองทัพพระเจ้าจุลนีพรหมทัต เคลื่อนพลมาปิดล้อมอุปการนครไว้ ด้วยแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ เกรียงไกร ประกอบด้วย กองทัพช้างพลาย ซึ่งสามารถย่ำยีอุปการนครให้พังพินาศได้ พลธนู มีลูกศรปลายแหลมคม เจาะทะลุกระดูกได้ สามารถยิงเข้าไปในพระนครให้ตกลงดังห่าฝน เหล่าทหารหนุ่ม สวมเกราะ แกล้วกล้า อาวุธมีด้ามวิจิตรงดงาม หอกมีคมแสงเป็นประกายวาววับ เหล่าทหารมีอาวุธครบมือ ต่อให้พระเจ้าวิเทหราช มีปีกบินเหมือนนก ก็ไม่สามารถรอดพ้นไปได้ ทหารของพระองค์ มีมากมาย สามารถตัดหัวข้าศึกเท่าที่มี เอามาคนละหัวได้ ทั่วทั้งแผ่นดิน ไม่มีกองทัพใด เสมอเหมือน เหล่าทหารหนุ่ม ผิวพรรณดั่งทองคำ งดงาม องอาจ นั่งอยู่บนคอช้าง ล้วนประดับด้วยเครื่องประดับสีเหลือง นุ่งผ้าสีเหลือง ห่มผ้าเฉวียงบ่าสีเหลือง คมดาบต้องแสงอาทิตย์ ยามเช้า ทอประกายวาววับ ดาบไร้สนิม ตีด้วยเหล็กกล้า ขัดถูด้วยน้ำมัน คมยิ่งนัก เหล่าทหาร เชี่ยวชาญสงคราม ถืออาวุธครบมือ สวมเสื้อสีแดง กวัดแกว่งดาบงดงามดั่งสายฟ้าแลบ เหล่าทหาร ผู้กล้าหาญ สวมเกราะ โบกสะบัดธงไปมา เชี่ยวชาญในการใช้ดาบ ถูกฝึกมาอย่างเชี่ยวชาญ สามารถตัดคอช้างใหญ่ ให้ขาดสะบั้นด้วยดาบเดียว

พระเจ้าจุลนี ทรงตรวจตรา อย่างเข้มงวด ตลอดราตรี คอยเฝ้าระวัง ไม่ให้ศัตรูหลบหนีไป ครั้นรุ่งอรุณแล้ว ก็เสด็จไปยังกำแพงเมืองอุปการนคร ทรงรำพึงว่า จะจับเป็นพระเจ้าวิเทหราชให้ได้ จึงตรัสข่มขู่พระเจ้าวิเทหราช ท่ามกลางเหล่าทหาร ให้เกิดความฮึกเหิม ทรงเตือนช้างพระที่นั่ง ด้วยพระแสงขอประดับเพชร พร้อมกับออกคำสั่งทหารว่า “จงบุกเข้าไป ทำลายมันให้สิ้นซาก”

ทหารที่มโหสถวางไว้ เห็นเหตุการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จึงพากันตีวงล้อมมโหสถเอาไว้ ขณะนั้น มโหสถ ลุกจากที่นอน อาบน้ำ ชำระร่างกายแล้ว ทานอาหารเช้า แต่งตัวด้วยผ้านุ่งอย่างดีจากแคว้นกาสี ห่มรัตนกัมพลเฉวียงบ่า ถือไม้เท้าทอง สวมรองเท้าทอง มีเหล่าสตรีแต่งตัวงดงามดุจเทพอัปสรพัดอยู่ข้าง ๆ เปิดสีหบัญชรบนปราสาทออก ปรากฏตัวให้พระเจ้าจุลนีเห็น แล้วเดินกลับไปกลับมาด้วยลีลาดังท้าวสักกเทวราช

แม้พระเจ้าจุลนี ทอดพระเนตรเห็นสิริรูปอันอุดมของพระโพธิสัตว์ ก็ไม่สามารถทำให้พระองค์ เลื่อมใสได้ เกิดความโกรธแค้น ขึ้นมาทันที ทรงเร่งไสช้างเข้าไป หมายจะจับมโหสถให้ได้

มโหสถ คิดว่า พระเจ้าจุลนี ยังไม่ทราบว่า เราจับพระโอรส พระธิดา และพระมเหสีของพระองค์ ส่งไปถวายพระราชาของเราแล้ว ยืนอยู่บนสีหบัญชรนั่นเอง เย้ยหยันพระเจ้าจุลนีว่า “ข้าแต่บรมกษัตริย์ พระองค์ เร่งไสช้างมาทำไมหนอ พระเจ้าข้า ดูพระองค์ร่าเริง ขอพระองค์โยนอาวุธฝังเพชรทิ้ง แล้วปลดเกราะประดับแก้วมณีออกเสียเถิด”

พระเจ้าจุลนีพรหมทัต สดับคำเยาะเย้ยของมโหสถ จึงตรัสว่า “เจ้าบุตรคหบดี ยังมีหน้ามาพูดจาทำท่าร่าเริงกับเรา เจ้าพูดอย่างฝืนยิ้ม หน้าตาอย่างนี้ คือ หน้าตาคนใกล้ตาย เดี๋ยวก็รู้ว่า จะฆ่าแกได้หรือไม่”

ขณะที่มโหสถ พูดกับพระเจ้าจุลนีอยู่นั้น เหล่าพลนิกาย ได้เห็นรูปสิริแห่งพระโพธิสัตว์ คิดว่า พระราชาของพวกเรา ทรงปรึกษาอะไรอยู่กับมโหสถ จึงเข้าไปใกล้ช้างพระที่นั่ง

มโหสถ ได้ฟังพระเจ้าจุลนีตรัสเช่นนั้น ก็กล่าวว่า “ข้าแต่สมมติเทพ เขารู้แผนการของพระองค์ กันหมดแล้ว สิ่งที่พระองค์และเกวัฏฎะ คิดด้วยใจ ไม่มีใครรู้ได้ แต่สิ่งที่พูดด้วยปาก คนรู้กัน ไปทั่วแล้ว คำขู่คำรามของพระองค์ ไร้ประโยชน์ แผนการของพระองค์แตกแล้ว พระองค์จับพระเจ้าวิเทหราช ไม่ได้หรอก เหมือนม้ากระจอก ไล่ไม่ทันม้าสินธพ พระเจ้าวิเทหราช พร้อมเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพาร เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาไป ตั้งแต่เมื่อเย็นวานนี้แล้ว หากพระองค์ ติดตามไป ก็คงเหมือนกา บินไล่ตามพญาหงส์”

แม้มโหสถ ถูกกองทัพ ล้อมไว้ทุกด้าน ก็ไม่ครั่นคร้าม ไม่ประหวั่น พรั่นพรึง กราบทูลต่อไปว่า “สุนัขจิ้งจอก เห็นดอกทองกวาว บานในเวลากลางคืน ก็คิดว่า ชิ้นเนื้อ จึงพากันเข้าล้อม ต้นทองกวาว เมื่อพระอาทิตย์สว่างขึ้น จึงรู้ว่า เป็นดอกทองกวาว ก็พากันหมดหวัง เดินคอตกจากไป พระองค์ ล้อมพระเจ้าวิเทหราช ก็จะหมดหวัง เหมือนฝูงสุนัขจิ้งจอก ล้อมต้นทองกวาว”

พระเจ้าจุลนี ถูกเปรียบเทียบกับสุนัขจิ้งจอก ก็ทรงเจ็บแค้นเป็นอย่างมาก ทรงเห็นมโหสถไม่พรั่นพรึง ก็คิดว่า บุตรคหบดีนี้ กล้าเกินคนจริง ๆ มันคงให้พระเจ้าวิเทหราช หนีไปแล้วเป็นแน่ ครั้นคิดเช่นนั้น ก็กริ้วเหลือเกินว่า เมื่อก่อน มันทำให้เราอับอาย จนไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน บัดนี้ ศัตรูอยู่ในเงื้อมมือของพวกเราแล้ว แต่มันก็ให้หนีรอดไปได้ มโหสถสร้างความฉิบหายให้เรา เราจับมันไม่ได้พร้อมกันทั้งสองคน ก็จะจับมโหสถคนเดียวก่อน จึงออกคำสั่งว่า “มโหสถ ปล่อยศัตรูของข้า ให้หนีไปแล้ว พวกเจ้า จงจับมัน ตัดแขนขา ฉีกออกเป็นชิ้น ๆ แล้วเอาหลาวเสียบ ย่างไฟเสีย”

มโหสถ ได้ยินเช่นนั้น จึงหัวเราะลั่น คิดว่า พระราชาพระองค์นี้ พิโรธ ยังไม่รู้ว่า เราส่งลูกเมีย ของพระองค์ ไปกรุงมิถิลานครแล้ว จึงคิดจะทรมานเราเล่น ตามชอบใจ เราจะบอกให้พระองค์ เจ็บปวด โศกาดูร จนสลบอยู่บนหลังช้างนั่นเอง จึงกล่าวว่า

“ถ้าพระองค์ แทงข้าพระองค์ ด้วยหอก พระเจ้าวิเทหราช ก็จะเอาหอกแทงเจ้าชาย เจ้าหญิง และพระมเหสี ของพระองค์ ด้วยหอก เช่นกัน

ที่กราบทูลเช่นนี้ เป็นสิ่งที่พระเจ้าวิเทหราชกับข้าพระองค์ ได้ตกลงกันไว้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ช่างหนัง ทำโล่หนัง ไว้ป้องกันลูกธนู ฉันใด ข้าพระองค์ เป็นข้าแผ่นดินของพระเจ้าวิเทหราช ก็จำต้องทำลายลูกธนู คือ พระดำริของพระองค์ ด้วยโล่หนัง คือ ปัญญาของข้าพระองค์ ฉันนั้น เช่นกัน”

พระเจ้าจุลนี ทรงดำริว่า บุตรคหบดีคนนี้ บ่นเพ้อบ้าบออะไรของมัน เราทรมานมันอย่างใด พระเจ้าวิเทหราช ก็จะทรมานลูกเมียของเราอย่างนั้น คงไม่รู้ว่า เราเตรียมการอารักขาลูกเมียเราไว้ อย่างดี มันคงใกล้ตาย จึงบ่นเพ้อไป

มโหสถ คิดว่า พระราชา คงเข้าใจว่า เราพูดไป เพราะกลัวตาย จึงตะโกนไปว่า “ขณะนี้ พระราชนิเวศน์ของพระองค์ ว่างเปล่า ไร้พระโอรส พระธิดา พระมเหสี ตลอดจนพระชนนี ของพระองค์ ขอเชิญทอดพระเนตร ข้าพระองค์ ได้นำออกจากเมืองทางอุโมงค์ ไปถวายพระเจ้าวิเทหราชแล้ว”

พระเจ้าจุลนี ได้ทรงสดับดังนั้น ทรงคิดว่า บุตรคหบดีคนนี้ พูดหนักแน่นเหลือเกิน เมื่อคืน เราเองก็ได้ยินคล้ายเสียงร้องของนันทา แว่วมาจากฝั่งแม่น้ำคงคา มโหสถปัญญามาก บางทีมันอาจจะพูดจริง ก็เป็นได้ ทรงคิดดังนี้แล้ว ก็ประหวั่นพรั่นพรึง แต่ทรงตั้งสติไว้ ไม่แสดงกิริยาให้ใครเห็น แล้ว ส่งอำมาตย์คนหนึ่ง ไปตรวจสอบความจริง

อำมาตย์นั้น กลับเข้าไปตรวจดูพระราชนิเวศน์ เห็นพวกทหารราชองครักษ์ในพระราชนิเวศน์ และเหล่านางกำนัล ถูกผูกมือเท้า มัดปาก ผูกติดไว้กับไม้ ข้าวของเครื่องใช้ในพระราชนิเวศน์ ตกแตก เกลื่อนกระจาย ของกิน เกลื่อนกล่น เรี่ยราดไปทั่ว ห้องต่าง ๆ ถูกเปิด ถูกรื้อค้น เอาแก้วแหวน เงินทอง ฝูงกา เข้ามาทางประตู และหน้าต่าง ที่ถูกเปิดทิ้งเอาไว้เที่ยวบินว่อน เกาะอยู่ไปทั่ว

พระราชนิเวศน์ ไร้สิริ เหมือนบ้าน ที่ถูกทิ้งร้าง ดูวังเวง ราวกับป่าช้า จึงกลับมากราบทูล พระราชา ให้ทรงทราบ พระเจ้าจุลนี ได้สดับดังนั้น ก็ทรงสะทกสะท้าน ด้วยความโศก พระองค์พิโรธมโหสถอย่างยิ่ง ดุจงูพิษ ถูกตีด้วยท่อนไม้

มโหสถ เห็นพระเจ้าจุลนีกริ้ว จึงคิดว่า พระราชาพระองค์นี้ มีเดชานุภาพมาก สามารถฆ่าเรา ด้วยขัตติยมานะ เพราะความพิโรธ เราจะต้องให้พระองค์ คิดถึงพระนางนันทาเทวี ให้พระองค์ ได้รู้ว่า ต่อไป จะไม่มีโอกาส ได้เห็นพระนางอีกแล้ว เมื่อพระองค์ ระลึกถึงพระนาง จะยังไม่ทำอะไรเรา ด้วยทรงเป็นห่วงพระมเหสี ค่อยหาทางผ่อนปรนแก้ไข จึงทูลว่า

“พระนางนันทาเทวี เสด็จไปทางอุโมงค์นี้ มีพระสิริโฉมงดงามพร้อม ทุกสัดส่วน น่าชมยิ่งนัก พระองค์มีสะโพกผึ่งผาย พระสุรเสียงไพเราะน่าฟัง สายรัดถันพระองค์นั้น ก็งามทำด้วย กาญจนวิจิตร มีพระบาทสดใสด้วยพระโลหิตขึ้นแดง พระองค์เพียบพร้อมด้วยเบญจกัลยาณี พระเกศา พระเส้นเอ็น และพระอัฐิ งามยิ่งนัก ดวงพระเนตรโตงามราวกับดวงตาลูกกวาง แวว พระเนตรดุจเปลวเพลิงในเหมันตฤดู ริมพระโอษฐ์เอิบอิ่มสุกปลั่งแดงดั่งผลตำลึงสุก บั้นพระองค์เล็ก เรียวบอบบางขอดงาม ประหนึ่งจะโอบรัดได้รอบ พระเกล้ายาวดำปลายช้อยเล็กน้อยดุจปลายมีด เส้นขน ก็อ่อนงดงาม พระเพลางาม ดังงวงกุญชร พระถันทั้งคู่ ดังผลมะพลับ

พระองค์ คงยินดี ที่จะเห็นพระนางนันทาเทวี และข้าพระองค์ ไปสู่ยมโลกพร้อมกัน เป็นแน่”

ขณะที่มโหสถ สรรเสริญพระนางนันทาเทวี ด้วยเสียงอ่อนหวาน พระนางนันทาเทวี เหมือนมาประทับอยู่หน้าช้างพระที่นั่ง พระเจ้าจุลนี ดำริว่า เว้นมโหสถแล้ว ไม่มีใคร สามารถพาพระมเหสีที่รักของพระองค์ กลับมาได้

เมื่อพระองค์ ระลึกถึงพระนางเจ้านันทาเทวีอยู่ ก็ทรงเศร้าโศกอย่างมาก มโหสถเห็นเช่นนั้น จึงได้โอกาส กราบทูลว่า “ขอพระองค์ อย่าได้ทรงวิตกเลย เมื่อข้าพระองค์ กลับถึงมิถิลานครแล้ว พระราชเทวี พระราชโอรส และพระราชชนนี ของพระองค์ จะเสด็จกลับมาอย่างปลอดภัย ขอพระองค์วางพระทัยเถิด”

พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ดำริว่า เราทำการป้องกันเมืองของเรา ไว้เป็นอย่างดี จึงยกทัพใหญ่ ออกมาล้อมเมืองอุปการนครของมโหสถเอาไว้ อย่างแน่นหนา แต่มโหสถ ก็ยังนำลูก เมีย แม่ของเรา ออกจากเมือง ไปให้พระเจ้าวิเทหราชได้ แม้พวกเรา ตั้งกองทัพล้อมเมืองอยู่อย่างนี้ มโหสถยังช่วยให้พระเจ้าวิเทหราช ทั้งพลพาหนะ หนีไปได้ โดยไม่มีใครรู้เลย แม้สักคน มโหสถ รู้เล่ห์กลทิพย์ หรือเป็นเพียงมายากลบังตาหนอ จึงตรัสถามว่า “เจ้ารู้เล่ห์กลทิพย์ หรือเพียงแสดงมายากลบังตา จึงสามารถช่วยให้พระเจ้าวิเทหราช หนีรอดไปได้”

มโหสถ กราบทูลว่า “พวกบัณฑิต ล้วนต้องเรียนยุทธศาสตร์เอาไว้ ครั้นเมื่อภัยมาถึง จึงจะช่วยตนเอง และผู้อื่น ให้พ้นภัยได้ เหล่าทหารที่ยังหนุ่มแน่น ล้วนแต่ฉลาด เป็นผู้ขุดอุโมงค์ พระเจ้าวิเทหราช เสด็จกลับกรุงมิถิลานคร ตามอุโมงค์ที่ทหารเหล่านี้ ขุดไว้”

จากศัตรูสู่ยอดมหามิตร

พระเจ้าจุลนี หมดสิ้นมานะ พระทัยอ่อนโยน มีพระราชประสงค์ จะทอดพระเนตรอุโมงค์   มโหสถ ลงจากปราสาท ถวายบังคมพระเจ้าจุลนี แล้วนำเสด็จพระเจ้าจุลนี พร้อมด้วยพระราชา ๑๐๑  พระองค์ ตลอดจนกองทหาร และข้าราชบริพาร เข้าสู่อุโมงค์  

พระเจ้าจุลนี ทอดพระเนตรเห็นอุโมงค์ ราวกับเทวสภา จึงทรงพรรณนาคุณมโหสถว่า “มโหสถ  บัณฑิตทั้งหลาย ผู้เช่นกับเจ้า อยู่ในแว่นแคว้นของผู้ใด ก็มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เป็นลาภของแคว้นวิเทหะ และชาวมิถิลานครจริง ๆ ที่ได้อยู่ร่วมกับเจ้า”

มโหสถ ได้แสดงห้องนอน ๑๐๑ ห้อง แด่พระเจ้าจุลนี เมื่อประตูห้องหนึ่ง ถูกเปิดออก   ประตูทั้งหมด ก็เปิดออกด้วย เมื่อประตูห้องหนึ่ง ถูกปิด ประตูทั้งหมด ก็ถูกปิดด้วย เมื่อพระเจ้าจุลนี  ทอดพระเนตร พลางเสด็จพระราชดำเนินต่อไป มโหสถ ได้โดยเสด็จตามไปข้างหลัง กองทหารทั้งหมด  ก็เข้าสู่อุโมงค์ ตามเสด็จด้วย

พระราชา เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรไปเรื่อย ๆ จนออกจากอุโมงค์อีกด้านหนึ่ง  มโหสถ รู้ว่า พระเจ้าจุลนี เสด็จออกจากอุโมงค์ไปแล้ว จึงตามออกมาบ้าง แล้วเหยียบเครื่องสลักยนต์ ปิดประตูอุโมงค์ ไม่ให้พระราชา ๑๐๑ พระองค์ และทหารทั้งหมด ออกมา ประตูใหญ่ ๘๐ แห่ง  ประตูน้อย ๖๔ แห่ง ประตูห้อง ๑๐๑ ห้อง และโคมไฟ ทั้งหมด ก็ปิดลงพร้อมกัน อุโมงค์ทั้งสิ้นมืดราวกับอยู่ในโลกันตนรก พวกทหาร ต่างสะดุ้ง ทั้งกลัวตาย

มโหสถ หยิบดาบ ที่ซ่อนกลบไว้ในทรายขึ้นมา กระโดดขึ้นจากพื้นสูงราว ๑๘ ศอก แล้วกลับลงมาจากอากาศ จับพระหัตถ์พระเจ้าจุลนีไว้ เงื้อดาบ เหมือนจะจ้วงฟัน ทูลถามว่า “ราชสมบัติทั่วทั้งชมพูทวีป เป็นของใคร” พระเจ้าจุลนี กลัวลนลานละล่ำละลัก ตรัสตอบว่า “ราชสมบัติเป็นของเธอ ท่านบัณฑิต”

ครั้นแล้ว มโหสถ กราบทูลว่า “ขอพระองค์ อย่าตกพระหฤทัยกลัวเลย พระเจ้าข้า  ข้าพระองค์ มิได้มีความประสงค์ จะปลงพระชนม์พระองค์ เพียงต้องการสำแดงปัญญานุภาพของข้าพระองค์ เท่านั้น” แล้วได้น้อมถวายดาบนั้น ที่พระหัตถ์พระราชา และกราบทูลพระราชา  ผู้ทรงถือดาบประทับยืนอยู่ว่า “ถ้าพระองค์ ทรงมีพระประสงค์จะฆ่าข้าพระองค์ ก็จงฆ่าด้วยดาบ เล่มนี้ ถ้าพระองค์ ทรงมีพระประสงค์จะพระราชทานอภัยโทษ ก็จงพระราชทานเถิด พระเจ้าข้า”  

พระราชา ทรงมีพระทัยอ่อนโยน ทรงรำพึงว่า บุรุษผู้นี้หรือ คือศัตรูของพระองค์ เขาถือดาบอยู่ในมือแท้ ๆ กลับยื่นดาบ ให้กับพระองค์ ทรงเห็นความองอาจของมโหสถ ก็ปลาบปลื้มยิ่งนัก  ทรงประคองมโหสถ ผู้นั่งก้มหน้านิ่ง น้อมดาบถวายอยู่เบื้องพระพักตร์ขึ้นมา แล้วตรัสว่า “เราให้อภัย เธอแล้วจริง ๆ เธออย่าคิดอะไรเลย” พระเจ้าจุลนีกับมโหสถโพธิสัตว์ ต่างจับดาบสาบาน  ที่จะไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน แล้วตรัสกับมโหสถ ด้วยพระดำรัสอ่อนโยนว่า “มโหสถ เธอเพียบพร้อม ด้วยกำลังแห่งปัญญา อย่างนี้ เหตุไร ไม่ครองราชสมบัติเสียเอง”

มโหสถ ตอบว่า “ถ้าข้าพระองค์ ปรารถนาราชสมบัติ ก็จะฆ่าพระราชาในชมพูทวีปทั้งหมด  ในวันนี้ แต่ไม่มีนักปราชญ์คนใด สรรเสริญการได้มาซึ่งอำนาจ ด้วยการทำลายล้างผู้อื่น”

พระราชา ตรัสว่า “ท่านบัณฑิต มหาชน ออกจากอุโมงค์ไม่ได้ ต่างคร่ำครวญ เธอจงเปิด ประตูอุโมงค์ ปล่อยพวกเขาเถิด” มโหสถ จึงกดสลักยนต์ เปิดประตูอุโมงค์ พลันนั้น แสงสว่างก็ฉาบไปทั่วอุโมงค์ มหาชน เกิดความปีติยินดี ต่างโห่ร้องกันขึ้น พระราชาทุกพระองค์ พร้อมทั้งเหล่าทหาร ออกจากอุโมงค์ไปหามโหสถ และพระเจ้าจุลนี ณ พลับพลาที่ลานอันกว้างขวาง

พระราชาในชมพูทวีป ตรัสกับมโหสถว่า “พวกข้าพเจ้า รอดชีวิตเพราะท่าน ถ้าท่านไม่เปิดประตูอุโมงค์ อีกครู่เดียว พวกเราทั้งหมด ก็คงตายอยู่ในอุโมงค์”

มโหสถ กราบทูลว่า “นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่พระองค์รอดชีวิต เพราะข้าพระองค์ ก่อนหน้านี้  พวกพระองค์ ก็รอดชีวิต เพราะข้าพระองค์มาครั้งหนึ่งแล้ว พระองค์จำวันที่พระเจ้าจุลนียึดราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งหมดไว้ แล้วจัดเตรียมสุรา เพื่อดื่มฉลองชัยชนะในสวนหลวงได้หรือไม่  พระเจ้าจุลนีกับเกวัฏฏปุโรหิต ได้วางแผนชั่วร้าย เตรียมวางยาพิษปลงพระชนม์พระองค์ทั้งหมด  ข้าพระองค์ คิดว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ กษัตริย์ทั่วชมพูทวีป อย่าได้สิ้นพระชนม์ อย่างไร้ที่พึ่งเลย  จึงส่งคนไปทำลายภาชนะบรรจุเหล้า และเนื้อ ทั้งหมด ให้กินไม่ได้ แล้วทำลายความคิดของพวกเขาเสีย ช่วยให้พวกพระองค์ รอดชีวิต”  

พระราชาทั้งหมด ได้สดับคำมโหสถ ก็รู้สึกหวาดสะดุ้ง จึงทูลถามพระเจ้าจุลนีว่า จริงหรือไม่  พระเจ้าจุลนี รับว่า จริงตามนั้น เพราะเชื่ออาจารย์เกวัฏฏะ พระราชาเหล่านั้น ต่างสวมกอดมโหสถ ด้วยความยินดีแล้ว บูชาพระโพธิสัตว์ ด้วยราชาภรณ์มากมาย

มโหสถ กราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า “พระองค์ อย่าทรงคิดอะไรมาก นั่น เป็นโทษของการคบคนพาลเป็นมิตร ขอพระองค์ จงขอโทษพระราชาทั้งหลาย”

พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ตรัสขอโทษว่า “ข้าพเจ้า ได้ทำกรรมเช่นนี้ เพราะเชื่อคนชั่ว นั่นเป็นความผิดของข้าพเจ้า” พระราชาทั้งหมด ต่างขอโทษกันและกัน แล้วเป็นผู้พร้อมเพรียง ชื่นชมต่อกัน

พระเจ้าจุลนี โปรดให้มีการเฉลิมฉลอง อย่างยิ่งใหญ่ ตลอดสัปดาห์ แล้วเข้าสู่พระนคร ให้ทำ การต้อนรับพระโพธิสัตว์ อย่างยิ่งใหญ่ ทรงมีพระราชประสงค์ จะให้มโหสถรับราชการอยู่ในราชสำนัก ของพระองค์ มโหสถ กราบทูลห้ามว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้ที่ทอดทิ้ง ผู้ที่ชุบเลี้ยงตน เพราะเห็นแก่ทรัพย์ เขาย่อมถูกตนเอง และผู้อื่น ดูหมิ่น ตราบใด ที่พระเจ้าวิเทหราช ยังทรงพระชนม์อยู่  ตราบนั้น ข้าพระองค์ ก็ไม่อาจเป็นข้าแผ่นดินของพระราชาพระองค์ใด”

พระเจ้าจุลนี ตรัสกับมโหสถว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงรับปากเราได้ไหมว่า เมื่อพระราชาของท่าน ทิวงคตแล้ว จะกลับมานครนี้” มโหสถ ทูลสนองว่า “หากข้าพระองค์ ยังมีชีวิตอยู่  จะกลับมา อย่างแน่นอน”

พระเจ้าจุลนี ทรงทำสักการะพระโพธิสัตว์ ตลอดสัปดาห์ ครั้นล่วงไปอีกสัปดาห์ มโหสถจึงทูลลา กลับมิถิลานคร พระองค์ ได้มอบทอง ๑,๐๐๐ ลิ่ม และบ้าน ๘๐ ตำบล ในแคว้นกาสี ทาส ทาสี  ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คน ให้มโหสถ และอวยพรให้มโหสถ พร้อมทั้งเสนางคนิกรเดินทางกลับ โดยสวัสดี

มโหสถ กราบทูลพระเจ้าจุลนีว่า “ขอพระองค์ อย่าทรงวิตกถึงพระราชวงศ์ ข้าพระองค์ได้ทูลพระราชาของข้าพระองค์ ให้ตั้งพระนางนันทาเทวี ไว้ในที่พระราชชนนี ตั้งพระปัญจาลจันทกุมาร ไว้ในที่พระกนิษฐภาดา และอภิเษกพระธิดาปัญจาลจันที เป็นมเหสีของพระเจ้าวิเทหราช ข้าพระองค์ จะส่งพระราชมารดา พระนางนันทาเทวี และพระราชโอรส  กลับมาโดยเร็วที่สุด” พระเจ้าจุลนี ได้ฝากข้าทาส ชาย หญิง โค กระบือ เครื่องประดับ เงิน ทอง ช้าง และม้า  ไปพระราชทานพระราชธิดาปัญจาลจันที

วีรบุรุษจากสมรภูมิรบ

มโหสถ เดินทางกลับด้วยบริวารมาก ในระหว่างทาง ได้ส่งคนไปเก็บส่วย จากบ้านที่พระเจ้าจุลนีพระราชทาน แล้วเดินทางต่อ จนถึงกรุงมิถิลานคร โดยสวัสดิภาพ

ขณะนั้น พระเจ้าวิเทหราช ประทับอยู่บนปราสาท ทอดพระเนตรออกไปทางพระแกล  เห็นกองทัพขนาดใหญ่ กำลังมุ่งหน้ามา ทรงดำริว่า ทหารมโหสถ มีจำนวนน้อย แต่กองทหารที่มา  มีมากเหลือเกิน เห็นจะเป็นกองทัพของพระเจ้าจุลนี หรือมโหสถ จะเสียทีข้าศึกแล้ว ทรงรู้สึกหวาดกลัว   อาจารย์เสนกะ กราบทูลว่า “มโหสถ กลับมาอย่างปลอดภัยแล้ว”

พระเจ้าวิเทหราช ตรัสว่า “อาจารย์ นั่น ไม่ใช่กองทหารของมโหสถ กองทหารมโหสถ มีน้อย  แต่นี่ทหาร มากมายเหลือเกิน” เสนกะ กราบทูลว่า “มโหสถ ทำให้พระเจ้าจุลนี ทรงเลื่อมใส แล้ว พระราชทานกองทหาร ให้มโหสถ” คล้อยหลังจากนั้นไม่นาน ทหารรักษาการณ์ ก็ถวายรายงานว่า  มโหสถ กลับมาแล้ว                 

พระเจ้าวิเทหราช จึงให้ตีกลอง ป่าวประกาศไปทั่วพระนคร ให้ชาวเมืองตกแต่งพระนครต้อนรับมโหสถ เมื่อมโหสถ เข้าพระนครแล้ว ได้ตรงไปสู่ราชสำนัก เข้าเฝ้า ถวายบังคมพระเจ้าวิเทหราช

พระเจ้าวิเทหราช เสด็จลุกขึ้น สวมกอดมโหสถ ด้วยความปีติยิ่ง ประทับเหนือราชบัลลังก์  ตรัสปฏิสันถารด้วยวาทะแห่งนักปราชญ์ว่า

“คน ๔ คน หามคนตาย ไปทิ้งไว้ในป่าช้า แล้วกลับบ้าน ฉันใด พวกเรา ทิ้งเจ้าไว้ ในอำนาจแห่งปัจจามิตร แล้วหนีกลับมา ก็ฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไม เจ้ายังสามารถเอาชีวิตรอด  หนีพ้นเงื้อมมือศัตรู กลับมาได้”

มโหสถบัณฑิต กราบทูลว่า “ข้าพระองค์ ป้องกันวาทะ ด้วยวาทะ ป้องกันความคิด  ด้วยความคิด ใช่แต่เท่านั้น ข้าพระองค์ ยังสามารถป้องกันพระมหากษัตริย์ทั้งหลาย จากความตาย   ประหนึ่งฝั่งแห่งมหาสาคร ป้องกันชมพูทวีปเอาไว้”

พระเจ้าวิเทหราช สดับดังนั้น ก็ทรงโสมนัส แล้วมโหสถ ได้กราบทูล ให้ทรงทราบว่า  พระเจ้าจุลนี พระราชทานบรรณาการให้ตน อย่างมากมาย

พระราชา ตรัสสรรเสริญมโหสถว่า “มโหสถ ช่วยเหลือพวกเรา ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก  เหมือนช่วยเหลือฝูงนกที่ติดกรง เหมือนช่วยฝูงปลาที่ติดร่างแห” แม้เสนกบัณฑิต ก็สรรเสริญมโหสถ  ไม่ขาดปากเช่นกัน

พระเจ้าวิเทหราช ให้ออกประกาศ ไปทั่วพระนคร ให้ชาวเมือง จัดงานมหรสพเฉลิมฉลองตลอดสัปดาห์ ใครรักพระองค์ ก็ขอให้ทำสักการะแก่มโหสถ

ครั้นชาวเมือง และชาวชนบท ได้ยินเสียงป่าวประกาศ ก็ได้ทำสักการะกันเหลือล้น  ข้าราชบริพารฝ่ายใน สมณะ และพราหมณ์ กองทัพ ตลอดจน พ่อค้า ประชาชน เห็นมโหสถบัณฑิต กลับมาสู่กรุงมิถิลานคร ต่างก็พากันดีใจ ได้ร่วมกันนำข้าว น้ำ เป็นอันมาก มาให้มโหสถ ต่างโบกธงตามท้องถนน ที่มโหสถผ่านไป

พระโพธิสัตว์ ไปราชสำนักในวันสุดท้ายของงานเฉลิมฉลอง กราบทูลว่า “ควรที่พระองค์จะส่งพระราชมารดา พระราชเทวี และ พระราชโอรส ของพระเจ้าจุลนี กลับโดยเร็ว”  พระเจ้าวิเทหราช จึงได้จัดการส่งพระราชวงศ์ทั้ง ๓ พระองค์ กลับพระนคร มโหสถ ทำสักการะเหล่าเสนาที่พระเจ้าจุลนีพระราชทานมากับตน แล้วส่งกลับปัญจาลนคร หมดทุกคน

พระนางนันทาเทวี สวมกอดพระธิดา จุมพิตที่พระเศียร ตรัสว่า “แม่ลาเจ้าละ” ทรงกรรแสงไห้  คร่ำครวญด้วยความอาลัยรักพระธิดา พระธิดาปัญจาลจันที กราบพระมารดา ทรงโศกาดูร กราบทูลว่า  “พระมารดา อย่าทิ้งลูกไว้คนเดียว” แล้วกรรแสง ปิ่มจะขาดใจ กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์ ออกจากมิถิลานคร ด้วยบริวารมาก ถึงปัญจาลนคร โดยสวัสดิภาพ

พระเจ้าจุลนี ตรัสถามพระราชมารดาว่า “พระเจ้าวิเทหราช ปฏิบัติต่อพระองค์ อย่างไร” พระนางเจ้าสลากราชชนนี ตรัสว่า “พระเจ้าวิเทหราช ตั้งแม่ไว้ ในฐานะเป็นเทวดา  ได้ทำการสักการะบูชา นันทาเทวี อยู่ในฐานะพระราชมารดา ส่วนปัญจาละ ก็อยู่ในฐานะพระราชกนิษฐภาดา”

พระเจ้าจุลนี ทรงยินดียิ่งนัก ส่งบรรณาการเป็นอันมาก ไปถวายพระเจ้าวิเทหราช ตั้งแต่นั้น  กษัตริย์ทั้ง ๒ พระนคร ก็มีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน สืบมา

เกียรติศักดิ์มหาบัณฑิต

พระราชธิดาปัญจาลจันทีเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหราชเป็นอย่างยิ่ง  ปีที่สอง  หลังการอภิเษกสมรส พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส  ครั้นพระราชโอรสนั้น มีพรรษาได้ ๑๐ ปี  พระเจ้าวิเทหราช ผู้พระชนกก็สวรรคต  มโหสถได้ถวายราชสมบัติแด่พระราชกุมารนั้น แล้วทูลลาไปอยู่ราชสำนักพระเจ้าจุลนี

พระราชายุวราชนั้น ตรัสว่า “ท่านบัณฑิต ท่านอย่าทิ้งข้าพเจ้าผู้ยังเยาว์ไป  ท่านเปรียบเหมือนบิดาที่ข้าพเจ้าเคารพบูชายิ่ง”  

แม้พระนางเจ้าปัญจาลจันที ผู้พระชนนี ก็ตรัสวิงวอนพระโพธิสัตว์ว่า “ที่นี่ ข้าพเจ้าไม่มีญาติ  ท่านเป็นเหมือนญาติคนเดียวของข้าพเจ้า  เมื่อท่านไปแล้ว ข้าพเจ้าก็ไร้ที่พึ่ง  ท่านอย่าไปเลย”

มโหสถ กราบทูลว่า “ข้าพระองค์ ได้ถวายปฏิญาณไว้แด่พระเจ้าจุลนี พระชนกของพระองค์  ข้าพระองค์ไม่ไป ไม่ได้ ส่วนประชาชน ต่างก็คร่ำครวญ อย่างน่าสงสาร มโหสถ ก็พาบริวารของตน ออกจากพระนคร ไปปัญจาลราชธานี

พระเจ้าจุลนี ทราบว่า มโหสถมาถึง ก็เสด็จออกต้อนรับ ด้วยพระองค์เอง นำเข้าพระนคร ด้วยบริวารเป็นอันมาก พระราชทานเคหสถานใหญ่โต ที่มโหสถเคยอยู่ และโภคสมบัติอื่น ๆ ที่เคยพระราชทานแล้วครั้งก่อน ตั้งแต่นั้นมา มโหสถ ก็รับราชการอยู่ในราชสำนักนั้น

ที่ราชสำนักนั้น มีปริพาชิกา๑๒ คนหนึ่ง ชื่อ “เภรี” เข้าไปฉันภัตตาหารในพระราชนิเวศน์เป็นประจำ นางเป็นบัณฑิต ฉลาด ยังไม่เคยเห็นมโหสถมาก่อน เคยได้ยินเพียงกิตติศัพท์ แม้มโหสถเอง ก็ยังไม่เคยเห็นนางเช่นกัน ได้ยินเพียงว่า มีปริพาชิกาคนหนึ่ง ฉลาด หลักแหลม ฉันภัตตาหารในราชสำนัก

๑๒ ปริพาชิกา เป็นนักบวชลัทธิหนึ่ง มีทั้งนักบวชชาย และนักบวชหญิง นักบวชหญิง เรียก “ปริพาชิกา” ในสมัยพุทธกาล  นางเภรี กลับชาติมาเกิด เป็นนางอุบลวรรณาภิกษุณี 

ฝ่ายพระนางนันทาเทวีนั้น ไม่ชอบพระทัยพระโพธิสัตว์ว่า ได้ทำให้บุคคล ผู้เป็นที่รักของพระองค์ลำบาก  พระนาง จึงรับสั่งให้เหล่าสตรีคนสนิทราว ๕๐๐ คน คอยจับผิดมโหสถ  แล้วทูลยุยง ให้ขัดใจกับพระราชา

อยู่มาวันหนึ่ง นางเภรีปริพาชิกานั้น ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ออกไปจากพระราชนิเวศน์ ผ่านมาทางสนามหลวง เดินสวนทางกับพระโพธิสัตว์ ซึ่งกำลังมาเข้าเฝ้าพระราชา

พระโพธิสัตว์ ไหว้ปริพาชิกาแล้ว เลี่ยงไปยืนอยู่สถานที่สมควร ปริพาชิกา คิดว่า ทราบมาว่า  มโหสถนี้ เป็นบัณฑิต ควรจะทดลองดูว่า เป็นบัณฑิตจริง ตามที่พูดกัน หรือไม่ จึงยกมือขึ้นมองดูมโหสถ แล้วแบมือออก ทำเป็นสัญลักษณ์ ถามปัญหาด้วยใจว่า “พระเจ้าจุลนี นำมโหสถ  มาจากประเทศอื่น ทุกวันนี้ พระองค์ พระราชทานอะไร ให้ท่าน หรือไม่”

มโหสถ รู้ความหมาย ที่นางเภรีปริพาชิกาถาม จึงกำมือเข้า ตอบปัญหาด้วยใจ เช่นกันว่า  “ข้าพเจ้า มาตามปฏิญาณ ที่ให้ไว้กับพระราชา แต่พระราชา ยังเหมือนกับกำพระหัตถ์ไว้มั่น  ยังไม่พระราชทานอะไร ๆ เพิ่มเติม จากที่เคยพระราชทานแก่ข้าพเจ้าครั้งก่อน”

นางเภรี รู้ความหมาย ที่มโหสถตอบ จึงยกมือขึ้น ลูบศีรษะของตน ถามปัญหาด้วยใจว่า  “ถ้าท่าน ลำบาก เหตุไร จึงไม่บวช เหมือนอาตมาเล่า” มโหสถ รู้ความหมายนั้น จึงลูบท้องของตน หมายความว่า “ข้าพเจ้า ยังมีบุตรและภรรยาที่ต้องเลี้ยงดู จึงยังบวชไม่ได้”

นางเภรี ถามปัญหา ด้วยเครื่องหมายแห่งมือ เช่นนี้แล้ว ก็รู้ได้ว่า มโหสถ เป็นบัณฑิต จึงไปสู่อาวาสของตน ฝ่ายมโหสถ ไหว้นางปริพาชิกาแล้ว ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนี

พวกสตรี ที่พระนางนันทาเทวี สั่งไว้ ยืนอยู่ที่หน้าต่าง เห็นกิริยานั้น จึงไปเฝ้าพระเจ้าจุลนี  ทูลยุยงว่า “มโหสถ กับนางเภรีปริพาชิกา อยู่ในที่ลับ สองต่อสอง ได้ปรึกษากัน ร่วมมือชิงราชสมบัติ”

พระราชา ตรัสถามว่า “พวกเจ้า ได้เห็น หรือได้ยินอะไร” สตรีเหล่านั้น ทูลว่า “ข้าแต่ มหาราชเจ้า เมื่อวาน ปริพาชิกา ฉันภัตตาหารแล้ว ลงจากปราสาท เห็นมโหสถ ที่สนามหลวงแบมือ แล้วเหยียดออก หมายให้รู้ว่า ท่านสามารถยึดราชสมบัติ ให้มาอยู่ในเงื้อมมือของตนได้ หรือไม่

ฝ่ายมโหสถ เมื่อแสดงอาการจับดาบ ได้กำมือเข้า หมายให้รู้ว่า อีกไม่กี่วัน เราจะตัดศีรษะ พระราชา แล้วชิงเอาราชสมบัติ ไว้ในเงื้อมมือ ปริพาชิกา ยกมือขึ้นลูบศีรษะ หมายให้รู้ว่า   ท่านจะตัดศีรษะพระราชา เท่านั้นหรือ มโหสถลูบท้อง หมายให้รู้ว่า เราจะตัดกลางตัว เสียด้วย  ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ อย่าได้ประมาท ควรที่พระองค์ จะฆ่ามโหสถ ตัดไฟแต่ต้นลมเสียก่อน” พระเจ้าจุลนี ทรงดำริว่า มโหสถ ไม่น่าจะคิดทำร้ายเรา เราถามปริพาชิกา ก็จะรู้ความ

อีกวันหนึ่ง เมื่อปริพาชิกา มาฉันที่พระราชนิเวศน์ พระองค์ ตรัสถามว่า “พระคุณเจ้า เคยพบ กับมโหสถ บ้างหรือยัง” นางปริพาชิกา ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร อาตมา ได้พบ เมื่อวานนี้  หลังจากฉันภัตตาหารแล้ว ออกจากที่นี้ จึงได้พบ” พระราชา ตรัสถามว่า “ได้สนทนาอะไรกันบ้าง”  นางถวายพระพรว่า “มหาบพิตร หาได้พูดอะไรกันไม่ เป็นแต่อาตมา ทราบมาว่า มโหสถเป็นบัณฑิต ต้องการทดลองภูมิปัญญาเธอดู จึงถามปัญหา ด้วยภาษามือ คิดว่า ถ้าเธอเป็นบัณฑิตจริง ก็จะรู้ปัญหานี้ จึงได้แบมือออก ให้รู้ว่า พระราชาของท่าน เป็นผู้มีพระหัตถ์แบ  หรือมีพระหัตถ์กำ คือ ได้ทรงสงเคราะห์อะไรท่านบ้าง มโหสถ ได้กำมือ ให้รู้ว่า พระราชารับปฏิญญาของข้าพเจ้าไว้ แล้วตรัสเรียกมา เดี๋ยวนี้ ยังไม่ได้พระราชทานอะไร นอกเหนือจากที่เคยพระราชทาน อาตมา จึงลูบศีรษะ ให้รู้ว่า ถ้าท่านลำบาก ทำไม ไม่บวชอย่างอาตมา  ฝ่ายมโหสถ ลูบท้องของตน ให้รู้ว่า ข้าพเจ้า ยังต้องเลี้ยงดูบุตร และภรรยา เหตุนี้ จึงยังบวชไม่ได้”

พระราชา จึงตรัสถามนางว่า “มโหสถ เป็นบัณฑิตหรือ” นางเภรี ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร  บนพื้นแผ่นดินนี้ ไม่มีใครเป็นบัณฑิต เช่นมโหสถ”  

เมื่อนางเภรีปริพาชิกา กลับไปแล้ว มโหสถ ได้เข้าเฝ้า เหมือนกับทุกวัน

พระราชา ตรัสถามมโหสถว่า “บัณฑิต ท่านได้พบนางเภรีปริพาชิกา บ้างหรือยัง” มโหสถ กราบทูลว่า ได้พบแล้ว เมื่อวาน ได้กราบทูล ตามที่นางเภรีกราบทูลไปแล้ว พระราชาทรงเลื่อมใสได้พระราชทานตำแหน่งเสนาบดี แก่มโหสถ ในวันนั้น ให้มโหสถบริหารราชการแผ่นดินทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมา มโหสถ ก็มีเกียรติยศใหญ่ ในปัญจาลนคร

มโหสถ คิดว่า พระราชา พระราชทานอิสริยยศยิ่งใหญ่ ในคราวเดียว แต่พระราชาทั้งหลาย  เมื่อจะประหารชีวิต ก็ทรงสั่งการในคราวเดียว เช่นกัน ทำอย่างไร  เราจะรู้ว่า พระราชาคิดอย่างไรกับเรา นางเภรีปริพาชิกา ผู้มีปัญญา เพียงคนเดียวเท่านั้น จะรู้ได้ จึงถือดอกไม้ธูปเทียนไปพบปริพาชิกาที่อาวาส บูชานาง แล้วกล่าวว่า “พระคุณเจ้า ตั้งแต่วันที่ท่านกล่าวคุณของข้าพเจ้าแด่พระราชา พระองค์ พระราชทานยศยิ่งใหญ่ แก่ข้าพเจ้า ราวกับว่า จะทับถม แต่ข้าพเจ้า  หาทราบไม่ว่า พระองค์ พระราชทานยศนั้น ตามปกติ หรือมีข้อพิเศษอย่างไร ท่านเท่านั้น ที่จะรู้ว่า   พระราชา โปรดปรานข้าพเจ้า แน่หรือ”

นางเภรีปริพาชิกา รู้ความมุ่งหมายของมโหสถ วันหนึ่ง เมื่อไปพระราชนิเวศน์ นางคิดว่า  เราเป็นเหมือนคนสอดแนม ทูลถามพระราชา โดยอุบาย ก็สามารถรู้ได้ว่า พระองค์คิดอย่างไรกับมโหสถ

พระราชา ทรงนมัสการนางเภรี แล้วประทับนั่งอยู่ นางเภรี เกิดความกังวลว่า ถ้าพระราชา คิดร้ายมโหสถ เราทูลถามปัญหา ก็จะตรัสความที่พระองค์มีพระหทัยโหดร้าย มหาชนก็จะรู้ ซึ่งเป็นสิ่ง ไม่สมควร เราควรทูลถามพระองค์ ที่ไหนสักแห่ง จึงทูลว่า “อาตมา ต้องการให้เป็นความลับ”  พระราชา จึงให้ข้าราชบริพารออกไป นางเภรี ทูลขอวโรกาสถามปัญหา พระราชาตรัสอนุญาต  ถ้าพระองค์รู้ ก็จะตอบ

นางเภรี ทูลถามปัญหาว่า “ถ้าผีเสื้อน้ำ ต้องการมนุษย์ เป็นเครื่องสังเวย จับเรือ ซึ่งแล่นอยู่กลางทะเล เรือนั้น มีพระนางสลากเทวี พระราชชนนี พระนางนันทาเทวี พระมเหสี พระติขิณมนตรี กุมาร พระอนุชา ธนุเสขกุมาร พระสหาย เกวัฏฏพราหมณ์ ราชปุโรหิต ผู้เป็นอาจารย์  และมโหสถบัณฑิต รวมเป็น ๗ คน ทั้งพระองค์ พระองค์ จะประทานใคร ให้ผีเสื้อน้ำ ตามลำดับ”

พระเจ้าจุลนี ตรัสตามพระราชอัธยาศัยว่า “พระองค์ จะให้พระมารดาก่อน ให้พระมเหสี  ให้พระกนิษฐภาดา ให้สหาย และให้พราหมณ์ปุโรหิต เป็นคนที่ ๕ ส่วนพระองค์เอง เป็นคนที่ ๖  แต่จะไม่ยอมให้มโหสถแน่นอน โยมจะบอกว่า “พ่อผีเสื้อน้ำ จงอ้าปากเคี้ยวกินข้าพเจ้า” แล้วโดดเข้าปากมัน โดยไม่คำนึงถึงสิริราชสมบัติ เมื่อโยม ยังมีชีวิตอยู่ จะไม่ยอมให้มโหสถบัณฑิตอย่างเด็ดขาด”  

ปริพาชิกา รู้แน่ชัดว่า พระราชา ทรงมีพระหทัยดี ต่อพระโพธิสัตว์ นางคิด อีกว่า คุณของมโหสถ ไม่ควรจะปรากฏ เพียงคำพูดแค่นี้ เราควรจะกล่าวคุณของเขา ท่ามกลางข้าราชบริพารทั้งหมด คุณของมโหสถบัณฑิต ก็จะปรากฏดุจดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญลอยเด่นในท้องฟ้า

จึงให้เรียกข้าราชบริพารทั้งหมด เข้ามาร่วมฟัง แล้วทูลถามปัญหาดังกล่าว อีกครั้งว่า “พระองค์ รับสั่งว่า จะประทานพระชนนี ให้ผีเสื้อน้ำ เป็นอันดับแรก ตามปกติ มารดามีบุญคุณมาก  พระราชมารดาของพระองค์ ไม่ได้เป็นเช่นกับมารดาของชนเหล่าอื่น เมื่อยังทรงพระเยาว์ พราหมณ์ชื่อฉัพภิ ประทุษร้ายพระองค์ พระราชมารดา เป็นผู้ฉลาด ทำรูปเหมือน ช่วยให้พระองค์ รอดชีวิต  พระองค์ จะประทานพระชนนี ผู้ประทานชีวิตแก่พระองค์ ผู้อุ้มพระครรภ์ เลี้ยงดูพระองค์ ให้ทรงเจริญระหว่างพระทรวง ด้วยโทษอะไร”

ยุวกษัตริย์พลัดแผ่นดิน

เมื่อพระเจ้าจุลนี ยังทรงพระเยาว์ พระนางสลากเทวี เป็นพระมเหสีของ “พระเจ้ามหาจุลนี”  เป็นชู้กับพราหมณ์ ชื่อว่า “ฉัพภิ” ร่วมกันวางแผนปลงพระชนม์พระเจ้ามหาจุลนี แล้วยกราชสมบัติให้พราหมณ์ พระนางเป็นมเหสีของพราหมณ์นั้น

วันหนึ่ง พระจุลนีราชกุมาร ทูลพระมารดาว่า หิว พระนาง จึงให้ของเคี้ยว และน้ำอ้อยแก่พระโอรส ฝูงแมลงวัน ได้กลิ่นน้ำอ้อย จึงรุมตอมพระกุมาร พระองค์ คิดว่า จะกินขนมนี้ โดยไม่มีแมลงวันตอม จึงเลี่ยงไปนิดหนึ่ง แล้วทิ้งน้ำอ้อยลงที่พื้น หยดหนึ่ง เพื่อให้แมลงวัน หนีจากตน ไปตอมน้ำอ้อย ที่พื้น พระราชกุมาร เสวยของควรเคี้ยว โดยไม่มีแมลงวัน ด้วยปัญญาเช่นนี้

พราหมณ์ เห็นกิริยาพระกุมาร จึงคิดว่า พระกุมารนี้ ฉลาดเกินไป เมื่อเจริญวัยแล้ว จะไม่ให้    ราชสมบัติแก่เรา ควรจะฆ่าพระราชกุมารนี้เสีย ตั้งแต่บัดนี้ พราหมณ์ จึงบอกให้พระนางสลากเทวีทราบ  เพราะความที่พระนาง เป็นผู้ฉลาด จึงรับว่า “ดี เราฆ่าพระสวามี เพราะรักท่าน แล้วยังจะต้องการลูกคนนี้ อีกทำไม แต่ต้องทำเป็นความลับ โดยมิให้ประชาชนรู้ว่า พระกุมารถูกฆาตกรรม” แล้วจึงลวง พราหมณ์นั้นว่า มีแผนที่จะจัดการ อย่างแยบยล

พระนางสลากเทวี เป็นผู้มีปรีชาสามารถ ในการวางแผน จึงเรียกพ่อครัวผู้ฉลาด มีไหวพริบคนหนึ่งมา รับสั่งว่า “ฉัพภิพราหมณ์ ต้องการฆ่าพระโอรส เจ้าจงช่วยชีวิตพระโอรส ต่อไปนี้ขอให้พระโอรส อยู่ในเรือนของเจ้าทุกวัน ตัวเจ้า พระโอรส และบุตรของเจ้า จงนอนในห้องเครื่อง  เพื่อมิให้ใครสงสัย พอผ่านไป จนรู้ว่า ไม่มีใครสงสัยแล้ว จงวางกระดูกแพะไว้ที่นอนของเจ้าทั้ง ๓ คน ทำให้เป็นเหมือนกระดูกคน ขณะที่ผู้คนหลับ ในเวลากลางคืน จงจุดไฟเผาห้องเครื่อง  เหมือนเกิดไฟไหม้ อย่าให้ใครรู้ แล้วพาพระโอรส และบุตรของเจ้า หลบหนีออกจากประตูลับไปนอกแคว้น อย่าให้ใครรู้ว่า บุตรของข้า เป็นพระราชโอรส จงรักษาชีวิตพระโอรสไว้”

พระนาง ประทานทรัพย์ ให้พ่อครัว พ่อครัว รับพระราชเสาวนีย์แล้ว ทำตามนั้น พาบุตรของตน และพระราชกุมาร ไปสากลนคร ในมัททรัฐ แล้วรับราชการเป็นพ่อครัว ในราชสำนักพระเจ้ามัททราช  เพราะความมีฝีมือดี และตั้งใจทำงาน พระเจ้ามัททราช จึงถอดพ่อครัวคนเก่าออก ประทานตำแหน่ง ให้พ่อครัวคนใหม่

แม้กุมารทั้ง ๒ คน ได้ไปพระราชวัง กับพ่อครัว เป็นประจำ พระราชา ตรัสถามว่า “เด็กทั้ง ๒ คนนี้ เป็นบุตรใคร” พ่อครัว กราบทูลว่า เป็นบุตรของตน พระเจ้ากรุงสากลนคร ตรัสว่า “หน้าตาไม่เหมือนกัน ไม่ใช่หรือ” พ่อครัว เพ็ดทูลว่า “ขอเดชะ เป็นลูกคนละแม่ พระเจ้าข้า” ครั้นเมื่อวันเวลาผ่านไป จุลนีราชกุมาร และธนุเสขกุมาร ติดตามพ่อครัวเข้าวังอยู่บ่อย ๆ ได้เล่นกับพระธิดา ในพระราชวัง จนเกิดความคุ้นเคยกัน

จุลนีราชกุมาร กับนันทาราชธิดาพระเจ้ามัททราช เกิดมีจิตปฏิพัทธ์กัน เพราะเห็นกันทุกวัน  วันหนึ่ง จุลนีราชกุมาร ให้พระธิดา นำลูกข่าง และเชือกบ่วง มาเล่น แต่พระธิดา ไม่นำมา จุลนีกุมาร จึงตีจนพระธิดากรรแสง

พระราชา ทรงสดับเสียงพระธิดา จึงตรัสถามว่า “ใคร ตีลูกเรา” พระธิดา คิดว่า ถ้าบอกว่า  กุมารนี้ตี พระบิดา ต้องลงราชทัณฑ์ จึงไม่ตรัสบอก ด้วยความรักพระราชกุมารนั้น พระธิดา กราบทูล ว่า “ไม่มีใครตี”

พระเจ้ามัททราช ทอดพระเนตรเห็นจุลนีราชกุมาร ตีพระธิดา ด้วยพระองค์เอง แต่พระธิดา กลับปกป้อง ทรงดำริว่า กุมารนี้ ไม่เหมือนพ่อครัว มีรูปร่างสะอาด งดงาม สง่าผ่าเผย ไม่กลัวจนเกิน เหตุ กุมารนี้ น่าจะไม่ใช่บุตรพ่อครัว

ตั้งแต่นั้นมา พระองค์ ทรงสังเกตกุมารนั้น เมื่อนางนม นำของเสวย มาถวายพระธิดา ในที่เล่น   พระธิดา ก็ประทานให้เด็กคนอื่น ๆ เด็กเหล่านั้น คุกเข่า น้อมตัวลงรับ ฝ่ายจุลนีราชกุมาร  ยืนรับจาก พระหัตถ์พระธิดา กิริยานั้น ไม่ได้รอดพ้นไปจากสายตาของพระเจ้ามัททราช

วันหนึ่ง ลูกข่างของจุลนีราชกุมาร เข้าไปภายใต้ที่บรรทมพักผ่อนของพระราชา จุลนีราชกุมาร  คิดว่า เราไม่ควรเข้าไปใต้ที่บรรทม จึงเอาไม้เขี่ยลูกข่างหยิบออกมา

พระราชา ทอดพระเนตรเห็นกิริยานั้น เข้าพระทัยว่า กุมารนี้ รู้ว่าอะไรควรไม่ควร จะต้องไม่ใช่ บุตรพ่อครัวแน่ จึงให้เรียกพ่อครัวมา ตรัสถามว่า “เด็กทั้ง ๒ คนนี้ เป็นบุตรใคร” พ่อครัว ทูลว่า  เป็น บุตรของตนทั้ง ๒ คน พระราชา ตรัสข่มขู่ว่า “อย่าโกหก ข้ารู้ว่า เป็นบุตรของเจ้า หรือไม่ใช่  ถ้าไม่บอกความจริง จะฆ่าเจ้าเสีย” จึงเงื้อพระแสงขรรค์ พ่อครัว กลัวพระราชอาญา จึงทูลว่า “ข้าพระองค์ ต้องการให้เป็นความลับ”

พระราชา ประทานโอกาส จึงกราบทูล ตามความเป็นจริง พระราชา ทรงทราบความจริงแล้ว  ครั้นอยู่ต่อมา ถึงเวลาที่สมควร จึงแต่งพระธิดาของพระองค์ ประทานให้แก่จุลนีราชกุมาร

ส่วนที่กรุงปัญจาลนคร ในวันที่พ่อครัวพาจุลนีราชกุมาร และบุตรของตน หนีไปด้วยการวางแผนเหมือนเกิดเพลิงไหม้ห้องเครื่อง เกิดความโกลาหลว่า “พ่อครัว จุลนีราชกุมารและบุตรพ่อครัว ถูกไฟคลอกตายไปพร้อมกันในห้องเครื่อง” พระนางสลากเทวี ทรงทราบเหตุนั้น  จึงแจ้งให้พราหมณ์ทราบ

พระนางสลากเทวี ให้นำกระดูกแพะ มาแสดงแก่พราหมณ์ว่า “นี่คืออัฐิ จุลนีกุมาร” แล้วให้ทิ้งเสีย

ที่นางเภรีปริพาชิกา กล่าวว่า พระราชมารดา ทรงทำรูปเหมือน ช่วยพระองค์ รอดพ้นจากการปลงพระชนม์ หมายถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้

พระเจ้าจุลนี ตรัสว่า “พระชนนีของโยม มีบุญคุณมาก ก็จริง และโยม ก็รู้ว่า พระชนนีมีบุญคุณแก่โยม มาก แต่คุณของโยมนี่แหละ มีมากกว่านั้น พระมารดาทรงชราแล้ว ก็ยังทำเป็นสาว ทรงเครื่องประดับ ซึ่งไม่ควรประดับ ตรัสกระซิกกระซี้ สรวลเสเฮฮา กับพวกทหารเวรยาม รักษา ประตู และทรงฝึกหัดม้า กับพวกทหารหนุ่ม จนเกินเวลา เป็นที่นินทา ของชาวพระนคร  ยิ่งกว่านั้น พระมารดา ยังแทรกแซงราชการแผ่นดิน ส่งทูตถึงพวกเจ้าผู้ครองนครเสียเอง  โดยไม่เห็นแก่หน้าโยม ซึ่งเป็นพระราชา จึงให้พระชนนี แก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษนั้น”

นางเภรี ได้ถวายพระพร ต่อไปว่า “พระองค์ จะประทานพระราชมารดา ด้วยโทษนี้ ก็สมควร  แต่พระมเหสีของพระองค์ เป็นผู้มีพระคุณ พระนางนันทาเทวี เป็นพระมเหสีผู้ประเสริฐกว่านารีใด  มีพระเสาวนีย์ เป็นที่รักเหลือเกิน ไม่ขัดพระทัยพระองค์ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ตามเสด็จพระองค์ ประดุจเงา ไม่ทรงพิโรธง่าย เป็นผู้มีบุญ เป็นบัณฑิต เห็นประโยชน์ พระองค์จะประทานพระราชเทวี แก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษอะไร”

พระเจ้าจุลนี ตรัสว่า “พระนางนันทาเทวี ชอบขอทรัพย์ ที่ไม่ควรขอ จากโยม แม้บางครั้ง  ของสิ่งนั้น โยม จะให้พระโอรส และพระธิดา ไปแล้ว ก็ตาม นางก็ยังอยากได้ เมื่อให้สิ่งที่ไม่อยากให้แล้ว  โยม ก็มาทุกข์ใจภายหลัง โยม จึงให้พระเทวี แก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษนั้น”

นางเภรี ถวายพระพรว่า “แล้วพระกนิษฐภาดา พระนามว่า ติขิณราชกุมาร ทรงทำให้บ้านเมือง เจริญ เชิญเสด็จพระองค์ ผู้ประทับอยู่ ณ สากลนคร ให้กลับสู่ราชธานี ทรงช่วยปราบปรามพระราชาทั้งหลาย นำทรัพย์เป็นอันมาก มาจากราชธานีอื่น ทรงกล้าหาญกว่าคนที่กล้าหาญทั้งหลาย ทรงมีความคิดหลักแหลม พระองค์จะประทานพระกนิษฐภาดา แก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษอะไร”

ติขิณราชกุมาร๑๓ นั้น ประสูติในกาล เมื่อพระราชมารดา อยู่ร่วมกับพราหมณ์  เมื่อพระราชกุมาร ทรงเจริญแล้ว พราหมณ์ ได้ให้พระแสงขรรค์ และสั่งให้พระกุมาร ถือพระแสงขรรค์ เข้าเฝ้าได้ พระราชกุมารนั้น ก็เข้าใจว่า พราหมณ์ เป็นพระชนกของตน

อำมาตย์คนหนึ่ง ได้กราบทูลให้พระราชกุมาร ทราบว่า พระองค์ มิใช่พระโอรสพราหมณ์นี้  เมื่อพระองค์ ยังอยู่ในพระครรภ์ พระนางสลากเทวี ผู้เป็นพระราชมารดา ให้ปลงพระชนม์พระราชบิดา  แล้วมอบราชสมบัติ ให้พราหมณ์นี้ พระองค์ เป็นพระราชโอรสพระเจ้ามหาจุลนี

พระราชกุมาร ได้สดับดังนั้น ก็กริ้ว ดำริว่า “เราจะฆ่าพราหมณ์ แล้วเข้าไปราชสำนักประทานพระแสงขรรค์ ให้มหาดเล็กใกล้ชิดคนหนึ่ง แล้วแอบตรัสกับมหาดเล็ก อีกคนหนึ่งว่า “เจ้าจงยืนอยู่ใกล้ประตูพระราชนิเวศน์ กล่าวกับมหาดเล็ก ที่ถือพระขรรค์นั้นว่า เป็นพระแสงขรรค์ของเจ้า แล้ววิวาทกับมหาดเล็กคนนั้น” จากนั้น พระองค์ จึงเสด็จเข้าไป พบพราหมณ์ในห้อง ขณะนั้น มหาดเล็กทั้งสอง เกิดทะเลาะกันขึ้น

พระราชกุมาร ส่งทหารคนหนึ่ง ไปดูว่า มหาดเล็กสองคนนั้น ทะเลาะอะไรกัน ทหาร มาทูลว่า  พวกเขาแย่งพระขรรค์กัน  

พราหมณ์ ถามพระราชกุมารว่า เรื่องเป็นอย่างไร พระราชกุมาร กล่าวว่า “พระขรรค์ที่พระองค์ประทาน แก่หม่อมฉัน ตกเป็นของคนอื่นแล้ว” พราหมณ์ กล่าวว่า “พูดอะไร ถ้าอย่างนั้น  จงให้เขานำมา ฉันจำพระขรรค์นั้นได้” พระราชกุมาร ให้นำพระขรรค์นั้นมา แล้วชักออกจากฝัก  ทำเป็นจำได้ พลางพูดว่า “เชิญทอดพระเนตรเถิด นี่พระขรรค์ ที่พระองค์ประทาน แก่หม่อมฉัน”  ทำทีเป็นเอาเข้าไปให้พราหมณ์ดู แล้วตวัดพระขรรค์ ตัดศีรษะพราหมณ์ฉับเดียว ขาดตกลงแทบพระบาทของตน

จากนั้น จึงนำศพพราหมณ์ ไปทิ้งนอกพระนคร จัดแต่งพระราชนิเวศน์ เพื่อเตรียมอภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

๑๓  ในสมัยพุทธกาล ติขิณกุมาร กลับชาติมาเกิด เป็นพระฉันนะ

พระชนนี แย้งว่า “ราชสมบัติ เป็นของพระเชษฐาจุลนี ซึ่งยังอยู่ในมัททรัฐ” พระราชกุมาร ทรงสดับดังนั้น จึงแวดล้อม ด้วยเสนางคนิกร เสด็จมัททรัฐ นำพระเชษฐาธิราช มาครองราชสมบัติ

ตั้งแต่นั้นมา ชนทั้งหลาย ก็รู้จักพระองค์ว่า “ติขิณมนตรี” ปริพาชิกา ทูลถามว่า “พระองค์จะประทานพระกนิษฐภาดา ผู้ฉลาด หลักแหลม เช่นนี้ แก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษอะไร”

พระราชา จึงตรัสโทษของติขิณราชกุมารนั้นว่า “ติขิณราชกุมาร ทำให้บ้านเมืองเจริญ  เชิญโยม ผู้อยู่ ณ สากลนคร ให้กลับมาครองราชสมบัติ ช่วยโยม ปราบปรามพระราชาทั้งหลาย  นำทรัพย์เป็นอันมาก มาจากราชธานีอื่น เป็นผู้ประเสริฐกว่านายขมังธนูทั้งหลาย กล้าหาญ  มีความคิดหลักแหลม แต่ในคราวที่มาเฝ้า เธอชอบคุยโอ้อวดเสมอว่า พระราชาองค์นี้ มีความสุขได้เพราะตน เธอมองเหมือนโยมเป็นเด็ก เวลามาเข้าเฝ้า ก็ไม่มาหมือนแต่ก่อน โยมจึงให้พระกนิษฐภาดา แก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษนั้น”

ปริพาชิกา ถวายพระพรว่า “โทษของพระกนิษฐภาดา จงยกไว้ก่อน แต่ธนุเสขกุมารรักพระองค์ เป็นผู้มีอุปการะมาก พระองค์ และธนุเสขะ เกิดในราตรีเดียวกัน เป็นชาวปัญจาละ  เกิดในพระนครนี้ เป็นสหาย มีวัยเท่ากัน มีจริยางาม ติดตามพระองค์ไป ทุกหนทุกแห่ง ร่วมสุขร่วมทุกข์กับพระองค์ ขยันขันแข็ง ช่วยกิจทุกอย่าง ไม่ว่า จะเป็นกลางวันและกลางคืน จงรักภักดี ต่อพระองค์ จะให้พระสหาย แก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษอะไร”

พระเจ้าจุลนี ตรัสว่า “ธนุเสขะนี้ ประพฤติกระซิกกระซี้ ตีเสมอโยม ต่อหน้าธารกำนัล ไม่เว้น แม้ขณะที่โยม ออกว่าราชการ แม้วันนี้ ก็หัวเราะดัง เกินขอบเขต แบบนั้น โยม อยู่ในที่รโหฐานกับพระเทวีของโยม ตามลำพัง ไม่ได้เรียกหา ก็เข้าไป โดยไม่แจ้ง ให้ทราบก่อน เขาได้รับโอกาส จากโยมให้เข้านอกออกในได้ ทุกที่ทุกเวลา แต่กลับไม่มีความยำเกรง ไม่รู้กาลเทศะ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ โยม ให้แก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษนั้น”  

ปริพาชิกา ถวายพระพรว่า “โทษของพระสหายธนุเสขะนี้ ยกไว้ก่อน แต่เกวัฏฏปุโรหิตเป็นผู้มีอุปการะ แก่พระองค์ มาก ฉลาดในนิมิตทั้งปวง รู้เสียงร้องของสัตว์ทั้งหลาย เชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวท รอบรู้ในเรื่องอุบาทว์ เรื่องสุบิน ชำนาญในการหาฤกษ์ยกทัพ และการเข้ารบ เป็นผู้บอกฤกษ์ล่าง ฤกษ์บน ฉลาดในการเคลื่อนย้ายตำแหน่งของดาวฤกษ์ พระองค์ ให้พราหมณ์ปุโรหิต แก่ผีเสื้อน้ำ ด้วยโทษอะไร”

พระราชา ตรัสว่า “แม้ในที่ประชุม เกวัฏฏปุโรหิต๑๔ ก็เลิกคิ้ว ถลึงตามองดูโยม อย่างไร้มารยาท โยม จึงให้ปุโรหิตผู้เลิกคิ้วถลึงตานี้ แก่ผีเสื้อน้ำเสีย

ปริพาชิกา ถวายพระพรว่า “พระองค์ จะให้ชนทั้ง ๕ คน แก่ผีเสื้อน้ำ และตรัสว่า จะประทานชีวิตของพระองค์ แทนมโหสถ โดยไม่คำนึงถึงสิริราชสมบัติ เช่นนี้ พระองค์ ทรงปกครองแผ่นดิน อันกว้างใหญ่ไพศาล มีมหาสมุทรเป็นขอบเขตทุกด้าน พสุธาที่เป็นพระราชอาณาเขต เป็นประหนึ่ง กุณฑลที่อยู่ในสาคร ทรงมีอำมาตย์แวดล้อม เป็นที่เฉลิมพระราชอิสริยยศ ทรงมีบ้านเมือง  แว่นแคว้นใหญ่ จรด ๔ คาบมหาสมุทร ทรงพิชิตชมพูทวีปได้แล้ว ทั้งรี้พลของพระองค์เล่า ก็มาก ถึง ๑๘ กองทัพ พระองค์ ทรงเป็นหนึ่งในปฐพี พระราชอิสริยยศของพระองค์ ถึงความไพบูลย์  เหล่านารีของพระองค์ ก็มีมาก ล้วนสำอาง แต่งองค์ ทรงเครื่องระยับ มาจากนครต่าง ๆ ทั่วชมพูทวีป ทรงพระสิริโฉมยิ่งนัก พระองค์ เพียบพร้อม ด้วยสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขอย่างครบครัน หากมีพระราชประสงค์สิ่งใด ก็จะสำเร็จสมปรารถนา ทุกประการ น่าที่พระองค์จะมีพระชนม์ยาวนาน ชีวิต เป็นที่รักยิ่ง ของคนที่มีความสุข เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงป้องกันมโหสถไว้ ทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์ ด้วยเหตุใด”  

พระเจ้าจุลนี ทรงประกาศเกียรติคุณพระโพธิสัตว์ว่า “แม้มโหสถบัณฑิตจะมาจากบ้านเมืองอื่น ก็มาด้วยมุ่งประโยชน์ แก่โยม โยม ยังมองไม่เห็นความชั่วของมโหสถผู้เป็นปราชญ์ สักนิดเดียว ถึงแม้ว่า โยม จะต้องตายไปก่อน ก็ตามเถิด แต่มโหสถ ก็จะทำให้ลูก และหลานของโยม มีความสุข มโหสถ รู้เห็นความเจริญทุกอย่าง ทั้งอนาคต และปัจจุบัน โยม จะไม่ยอม ให้มโหสถซึ่งไม่มีความผิด แก่ผีเสื้อน้ำ”

นางเภรีปริพาชิกา คิดว่า เกียรติคุณของมโหสถบัณฑิต ไม่ควรปรากฏเพียงเท่านี้ เราจะทำให้เกียรติคุณของมโหสถบัณฑิต ปรากฏท่ามกลางอาณาประชาราษฎร์แห่งปัญจาลนคร จึงเชิญเสด็จ พระเจ้าจุลนี ลงจากปราสาท ให้ปูลาดอาสนะ ที่สนามหลวง ประกาศให้ประชาชนชาวปัญจาลนครมาประชุมกัน แล้วทูลถามพระเจ้าจุลนี ถึงปัญหาผีเสื้อน้ำ เช่นเดิม

๑๔ ในสมัยพุทธกาล เกวัฏฏปุโรหิต กลับชาติมาเกิด เป็นพระเทวทัต

แม้พระเจ้าจุลนีพรหมทัต ก็ได้ทรงยืนยันเจตนารมณ์ของพระองค์  ที่มีต่อมโหสถบัณฑิตแก่อาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ อีกครั้ง ว่า แม้ชีวิตของตน จะเป็นสิ่งที่สละได้ยาก  แต่เพื่อคอยตามปกป้องบัณฑิต ผู้ทรงภูมิปัญญาอันล้ำลึก เช่นกับมโหสถแล้ว พระองค์ สามารถ สละพระชนม์ชีพของพระองค์ ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องได้

กลับชาติมาเกิดสมัยพุทธกาล

พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แล้ว จึงประกาศอริยสัจ ๔ ประชุมชาดกว่า “ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่บัดนี้ เท่านั้น ที่ตถาคต ใช้ปัญญาย่ำยีวาทะผู้อื่น แม้ในอดีตกาล เมื่อญาณ ยังไม่แก่กล้า ตถาคต ยังบำเพ็ญจริยา เพื่อบรรลุพระโพธิญาณ ก็ได้ใช้ปัญญา ย่ำยีวาทะผู้อื่น เหมือนกัน เสนกบัณฑิต ในครั้งนั้น คือ กัสสปภิกษุ ในชาตินี้ กามินทะ คือ อัมพัฏฐภิกษุ  ปุกกุสะ คือ โปฏฐปาทภิกษุ ปัญจาลจันทกุมาร คือ อนุรุทธภิกษุ เทวินทะ คือ โสณทัณฑกภิกษุ  เกวัฏฏพราหมณ์ คือ  เทวทัตภิกษุ พระนางสลากเทวี คือ ถูลนันทาภิกษุณี อนุเกวัฏฏพราหมณ์ คือ โมคคัลลานภิกษุ พระนางปัญจาลจันที คือ สุนทรีภิกษุณี นางนกสาลิกา คือ พระนางมัลลิกาเทวี  พระนางอุทุมพรเทวี คือ โคตมีภิกษุณี พระเจ้าวิเทหราช คือ กาฬุทายีภิกษุ นางเภรีปริพาชิกา คือ  อุบลวรรณาภิกษุณี คหบดีผู้บิดา คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช คหปตานีผู้มารดา คือ พระนางสิริมหามายา นางอมรา คือ พระนางพิมพา ผู้เลอโฉม ติขิณกุมาร คือ ฉันนภิกษุ  ธนุเสขะ คือ ราหุลภิกษุ นกสุวบัณฑิต คือ อานันทภิกษุ พระเจ้าจุลนี คือ สารีบุตรภิกษุ  มโหสถบัณฑิต คือ เรา ผู้เป็นพระโลกนาถ”

“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ : ชาติที่ ๕. พระมโหสถบัณฑิต อัจฉริยภาพแห่งปัญญามหาบุรุษ

https://podcasts.apple.com/dk/podcast/%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B8%87%E0%B8%AA-%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA-%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95-%E0%B8%9B%E0%B8%93-%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9A-%E0%B8%A3-%E0%B8%A9%E0%B9%84%E0%B8%A1-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5-%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87-%E0%B8%89%E0%B8%9A-%E0%B8%9A-%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%A7%E0%B8%8A-%E0%B8%A3%E0%B8%B0-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97-5/id1480673036?i=1000581755617

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here