หนังสือ "มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม" :   พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)  ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
หนังสือ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม

ร่วมบำเพ็ญอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์

(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ))
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๗)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

(คำปรารภ)


เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬางกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ,  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และ  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ภาพในอดีต
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ภาพในอดีต

ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของเล่ห์กล ประชาธิปไตยก็เป็นได้แค่คำฉ้อฉล (๑)


เมื่อมองให้ตรง จะเห็นว่า ถ้าการเมืองที่ว่าเป็นระบบประชาธิปไตยอันดี ยังเป็นอยู่อย่างนี้ มีคุณภาพแค่นี้ มันก็จะหมุนเวียนอยู่ในวังวนของการมีสภาพอย่างนี้ เราก็จะมีนักการเมืองที่ดีๆ ร้ายๆ อย่างนี้เรื่อยไป เป็นวัฏสงสารไม่รู้จบ คือเอาดีไม่ได้

หลายคนจะบอกว่า ต้องพัฒนานักการเมือง ให้มีนักการเมืองที่ดี นี่ก็ถูกต้องแน่นอน แต่ถูกแน่แค่ส่วนหนึ่ง ไม่ถึงเนื้อถึงตัว

พูดกันอยู่อย่างจะรู้กันดีว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชา อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนเป็นผู้ปกครอง มวลประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องว่าต่อไปให้จบว่า คุณภาพของประชาธิปไตย อยู่ที่คุณภาพของประชาชน ถ้าจะให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพดี ก็ต้องพัฒนาคุณภาพของประชาชน หรือพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพดี

ในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองมาจากประชาชน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชน ตัวนักการเมืองเองเป็นแค่หน่วยประชากร คือเป็นบางคนจากในหมู่ประชาชนนั่นเองที่ออกมาเสนอตัวให้คนเลือกตั้งไปเป็นนักการเมือง แล้วเขาก็ถูกประชาชนนั่นเองเลือกตั้งเข้ามาเป็นนักการเมือง

ในที่สุด เรื่องทั้งหมดก็มาบรรจบรวมลงที่ประชาชน เป็นเรื่องของประชาชน

ถ้าประชาชนไม่มีคุณภาพ ไม่ว่าเขาจะเป็นหน่วยประชากรที่มาเสนอตัวให้คนเลือกเป็นนักการเมือง หรือเป็นประชาชนที่ไปเลือกคนผู้เสนอตัวอย่างนั้นให้เป็นนักการเมือง ก็เอาดีไม่ได้ทั้งนั้น

ถ้าประชาชนไม่มีคุณภาพ ประชาชนก็ไม่เลือกเอาคนดีเป็นนักการเมือง นอกจากไม่ได้นักการเมืองที่ดีแล้วที่ก็คุมนักการเมืองไม่ได้ แถมจะถูกนักการเมืองร้ายใช้เป็นเครื่องมือเสียอีกด้วย อย่างน้อยที่ถูกเขาอ่อยเหยื่อจูงไปได้ และไปง่ายๆ

บางทีมีสียงพูดว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ นี่แสดงว่าการเมืองที่เล่นที่ทำที่ดำเนินการกันมา ปรากฏความเสียหายเลอะเละเรื่อยมา จนความรู้สึกในแง่ที่ไม่ดีสะสมลึกแน่น เหมือนจะกลายเป็นความหมายของการเมืองไปเสียแล้ว

ที่จริงต้องพูดให้ถูกว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการบ้านเมืองให้เป็นอยู่เป็นไปด้วยดีโดยธรรม

แต่การเมืองนั้นเสี่ยงที่จะและมักจะถูกครอบงำด้วยอำนาจและผลประโยชน์ ทั้งนี้ จะเป็นการเมืองแท้-การเมืองเทียม เป็นการเมืองโดยธรรม หรือเป็นการเมืองเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ ในที่สุดก็อยู่ที่สภาพของประชาชนนั่นแหละ

อำนาจและผลประโยชน์เป็นเหยื่อล่อรอดักนักการเมือง เมื่อประชาชนหย่อนคุณภาพ การเมืองก็หันเหจากธรรมรัฐ ไปเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ได้ทันที

เมื่อนักการเมืองหวังเข้าสู่ฐานอำนาจ เพื่อก้าวไปกอบโกยผลประโยชน์โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบาง จากประชาชน และหน่วยประชากรตนนั้นหมู่นี้ที่อ้างตัวเป็นประชาชนก็หวังพึ่งหวังอาศัยอำนาจของนักการเมือง ที่จะเอื้ออวยให้ตนได้และขยายผลประโยชน์ประชาชนซึ่งเป็นผู้ปกครองเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด แทนที่จะเป็นผู้กำกับดูแลตรวจสอบนักการเมือง กลับกลายมาเป็นเพียงตัวต่อตัวล่อตัวแลกผลประโยชน์กับนักการเมือง แล้วฉะนี้ การเมืองก็จึงเป็นได้แค่เรื่องของอำนาจและผลประโยชน์

อย่างที่ว่าแล้ว อย่ามัววุ่นอยู่กับการด่าว่าและการที่จะพัฒนานักการเมืองนักเลย

อันนั้นต้องทำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องเน้นในระดับย่อย ถ้าทำกันอยู่แค่นั้น การเมืองก็เวียนวนอยู่ในวัฏสงสารของอำนาจและผลประโยชน์ แล้วก็จะมีนักการเมืองดีๆ ร้ายๆ วนเวียนมาให้บ่นว่าด่าชมกันอยู่อย่างนั้น ไม่ไปไหน เป็นเพียงประชาธิปไตยข้ออ้างของนักการเมืองจึงหมุนเวียนอยู่ในวังวน พัฒนาไปไม่ถึงไหน มิใช่เป็นประชาธิปไตยของประชาชน

ถ้าไม่เร่งพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพเข้มพอ นักการเมืองที่ไร้คุณภาพก็จะยังสามารถมาทำให้ชาวบ้านถูกหยามเหยียดได้ว่าเป็นคนจำพวกที่เลือก’ตังค์ ดีกว่าเลือกตั้ง

ชาวบ้านที่มีคุณภาพนั้น แค่ได้ยินเด็กน้อยพูดว่า ถ้าได้ผู้แทนเลว ก็แสดงว่าคนที่เลือกเป็นคนเลว ก็ได้สติทันที
เป็นอันว่า จะต้องพัฒนาประชาธิปไตย ด้วยการพัฒนาคุณภาพของประชาชนแล้วการพัฒนาคุณภาพของนักการเมืองก็จะถูกกำกับ ถูกพ่วงพาให้ตามมาด้วยไม่ยาก

คุณภาพที่จะพัฒนาขึ้นมานั้น ก็ไม่ต้องเอาอะไรมาก แค่ทำให้คนมีความรักธรรม(คือ รักความจริง รักความถูกต้อง รักความดีงาม ถือธรรมเป็นใหญ่ มุ่งให้มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงประโยชน์สุข) และเคารพวินัย (คือ เคารพกติกาที่เป็นธรรม ยึดถือกฎหมาย มีวินัยจริงจัง) ได้เท่านี้ ประชาธิปไตยก็มาได้ในฉับพลัน

ธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่เป็นคุณแท้จริง หลักความจริงของธรรมชาติที่เป็นฐาน และหลักการที่มนุษย์ยึดถือโดยสอดคล้องถูกต้องตามหลักความจริงของธรรมชาตินั้น

วินัย ได้แก่ ระบบ วิธี กระบวนการ และข้อกำหนดที่เป็นแบบแผนในการปฏิบัติโดยเฉพาะที่วางเป็นกฎกติกา รวมทั้งกฎหมาย เพื่อให้ธรรมสัมฤทธิ์ผลที่ต้องการอันดีแก่ชีวิตและสังคมของมนุษย์ ในการแก้ปัญหา และก่อผลดีงามเกื้อกูลที่พึงต้องการ พูดง่ายๆ ว่า วินัยนั้นเพื่อสนองธรรม

วินัยเป็นช่องทางแสดงตัวของธรรม เป็นเครื่องมือในโลกแห่งสมมุติของมนุษย์ที่จะจัดกิจการให้เป็นไปหรือให้สัมฤทธิ์ผลที่ดีอย่างที่พึงเป็นไปตามธรรม

พูดง่ายๆ ว่า วินัย คือ การเอาปัจจัยฝ่ายมนุษย์ใส่ร่วมเข้าไป ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรม เพื่อให้ธรรมสัมฤทธิ์ผลตรงและทันการในโลกแห่งสมมติของมนุษย์

วินัยที่ปฏิบัติเพื่อให้ธรรมสัมฤทธิ์ผล ก็คือต้องเป็นไปตามความจริงแห่งธรรมชาติของความเป็นเหตุเป็นผลสมตามเหตุปัจจัย

ข้อวินัย จะเป็นกฎกติกา หรือกฎหมายใดๆ หากปฏิบัติไป ไม่ช่วยให้แก้ปัญหาได้ เพราะไปไม่ถึงจุดเกิดจุดดับเหตุปัจจัยของปัญหานั้น ก็คือ วินัยนั้นไม่สนองธรรม

ถ้าวินัยไม่สนองธรรม ก็แสดงว่าไม่ถูกไม่ตรงไม่ได้ผลจริง จำเป็นต้องจัดปรับแก้ไข

จะรู้เข้าใจไปถึงธรรมได้ ก็ต้องมีปัญญา จะปฏิบัติวินัยได้ ก็ต้องมีศีล แล้วจะมีศีลเดินอยู่ในทางของปัญญาที่ตรงตามธรรมได้ ใจก็ต้องดีงามสุจริต มีเจตนาซื่อตรงต่อจุดหมาย

ในที่สุด ก็มาลงที่ใจ และในใจนั้น ก็เจตนานี่แหละเป็นตัวแทน เป็นแกน เป็นตัวนำแสดง เจตนาเป็นของประจักษ์แก่ตัว ทุกคนรู้ว่าตนมีเจตนาอย่างไร ใจที่จริงจะเอาอะไร

ตัวตนของคนอยู่ที่เจตนาของเขา เจตนาของใคร ก็คือตัวตนของคนนั้น เมื่อพูดจาแสดงอะไร เขารู้กับตัวว่า เจตนานั้นเป็นตัวจริงในใจของเขาหรือไม่

เมื่อเจตนาที่เป็นตัวนำพาและเป็นตัวแสดงของใจนี้ ตรงตามจริง เขาก็จะใช้ปัญญาใช้ศีลให้เป็นประโยชน์สมความมุ่งหมาย มิฉะนั้น ในทางตรงข้าม เขาก็จะใช้ปัญญาและใช้ศีลให้แฝงเอาโทษมา ซึ่งอาจจะมากมายและรุนแรง

ในระบบอื่น บางทีคนไม่สามารถแสดงออกตามเจตนาที่แท้จริงของเขา เพราะกลัวอำนาจ หรือถูกบังคับ เป็นต้น แต่ประชาธิปไตยช่วยให้มีสังคมที่ทุกคนมีโอกาส และสามารถใช้โอกาสแสดงตนได้ตามที่เขาเป็นจริงๆ ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งร่วมให้ ร่วมได้ ร่วมรับรู้ ร่วมแสดง

ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้ว คนยังมีเจตนาซ่อนเร้น ไม่แสดงตัวตามเป็นจริง แล้วจะมีสังคมประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์อะไร

เมื่อคนไม่มีความจริงใจ ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ของจริง

พูดลงทีเดียว ที่ว่าพัฒนาคุณภาพของประชาชนนั้น จะให้ได้ความหมายเต็มรอบครอบคลุม ก็ใช้คำพระว่า ให้ประชาชนพัฒนาทางด้านศีลบนฐานแห่งวินัย ด้านจิตใจโดยมีเจตนาดีที่ซื่อตรงเที่ยงธรรม และด้านปัญญาโดยมีทั้งความรู้จริงและความคิดก่อประโยชน์

นี่คือภารกิจแห่งการพัฒนาคุณภาพของคน ที่เป็นแกนของประชาธิปไตย
พูดกันนักว่าจะพัฒนาประชาธิปไตย เมื่อไรๆ ก็ถกเถียงกันอยู่แค่ว่าจะจ่ายจะจัดให้เลือกตั้งกันอย่างนั้นเมื่อนี้ เมื่อไหร่จะพูดกันสักทีว่า จะให้คนไทยมีคุณภาพดีได้อย่างไร ทำอย่างไรจะให้คนไทยมีสมรรถนะของเจตนาอันดี ที่จะเลือกตั้งให้ได้คนดี

เหมือนกับจะทำกันได้แค่นั่งโต๊ะเถียงกันไปเถียงกันมาว่าจะเอาช้อนตักแกง จะใช้ส้อมแทงทิ่มไก่ เอามาใส่ปากให้ได้กินอย่างไร ไม่ได้คิดกันเลยว่า อะไรดีแท้ที่ควรจะได้จะทำมากิน เพื่อจะได้มีสุขภาพดี หรือว่าประชาธิปไตยที่เป็นที่มี ทำอย่างดีได้แค่เลือกตั้งอย่างเอาไม้ทิ่มไก่ใส่ปาก เป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบ หาสาระไม่ได้

เมื่อไรๆ ก็อยู่แค่แย่งชิงแข่งกันหาผลประโยชน์ ระหว่างบุคคลนั้นบุคคลนี้ ระหว่างคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เมื่อไรจะไปให้ถึงประโยชน์สุขของประชาชนสักที

รู้กันอยู่แล้วว่าการเมืองกับเศรษฐกิจเป็นปัจจัยคู่เคียงแก่กัน ดังนั้นต้องชัดว่า จะเป็น free-market democracy หรือจะมีประชาธิปไตยและเศรษฐกิจอย่างไหน ก็ต้องให้ได้ผลในขั้นที่คนทั้งหลายมีกินมีใช้เป็นสุข โดยรู้ประมาณในการเสพบริโภค กินเป็นเสพเป็น รู้จักพอดี มีสุขภาพชีวิตเพิ่มพูน พัฒนาความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้นไป

มิใช่ว่า ผู้ทรงอำนาจอิ่มเอม ให้ชาวบ้านหลงเพลินเปรมใจ โดยไม่รู้ตัวว่าเขาอ่อยเหยื่อให้ เป็นได้แค่ทางย่ำเดิน หรือเป็นเครื่องมือของเขาในการโกยทรัพย์เบ่งอำนาจ และก็มิใช่ว่า เป็นนักการเมืองที่เก่ง พาบ้านเมืองให้เจริญร่ำรวยแค่เพื่อจะมัวเมา กินเสพกันให้เต็มที่ โดยไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่าคุณภาพชีวิตเสื่อมลงไปจนแสนจะเต็มที

ถ้ามีการศึกษาจริง พัฒนาคนถูกต้อง ประชาชนมีคุณภาพดี เข้มวินัย แข็งในธรรมก็จะไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจและผลประโยชน์ นักการเมืองก็จะถูกคุมให้ไม่มัวสาละวนอยู่กับอำนาจและผลประโยชน์มากเกินไป

ย่อมรู้กันแน่ๆ ชัดๆ ว่า ในเวลาหนึ่งๆ ในบรรดาประชาชนนั้น คนมีคุณภาพไม่เท่ากัน กำลังพัฒนาอยู่ในระดับที่ต่างกัน เฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่คนจำพวกที่พัฒนามาแค่สุกๆ ดิบๆ มีมาก จะต้องมีระบบคัดและมาตรการเลือกอย่างดีที่สุดที่จะให้มั่นใจว่าจะได้หน่วยประชาชนที่ดีที่สุด เข้ามาเป็นนักการเมือง เพื่อมากำกับทางการพัฒนาประชาชนและพัฒนานักการเมือง ให้ก้าวต่อขึ้นไปอย่างได้เนื้อได้ที่ มิใช่ได้เพียงกระดานหกกระดกหันขึ้นไปได้แค่เพียงเพื่อจะหล่นลงมา

ประชาชนที่พัฒนาดีมีคุณภาพจริงนั้น ไม่ต้องการอะไรมากจากการเมือง เขามีความพร้อมอยู่แล้ว ทั้งทางศีลวินัย ทางจิตใจและทางปัญญา เพียงว่าเมื่อมีโอกาสให้เขาก็ใช้โอกาสนั้นทำการสร้างสรรค์ให้เกิดผลดีมีความเจริญงอกงาม

(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

ขอกราบขอบพระคุณที่มา :
 เว็บไซด์ สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ https://www.watsrakesa.com/
และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ดาวน์โหลดหนังสือ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม ได้ที่เว็บไซต์วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here