ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“ มรดกของบรรพบุรุษ”

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๒

(ตอนที่ ๓)

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

คำนำผู้เขียน

ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชรา โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖ เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

พระมหาเทอด ญาณวชิโร

มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗

พระมหาเทอด ญาณวชิโร ผู้เขียน "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" (ภาพในอดีต)
พระมหาเทอด ญาณวชิโร ผู้เขียน “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” (ภาพในอดีต)

“มรดกของบรรพบุรุษ”

เจริญพรโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง 

โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)

ในวันที่สำคัญเช่นนี้  ตั้งใจว่าจะเขียนจดหมายถึงโยมทั้งสองสักฉบับ แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องใด มาคิดได้ว่า

การที่คนผู้ใดผู้หนึ่งได้เกิดมาในตระกูลที่มีศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธศาสนานั้น นับว่าเป็นผลบุญที่เคยทำไว้แต่ ชาติก่อนๆ

หากเกิดในตระกูลที่ไม่ใส่ใจในการบุญ  ไม่มีจิตใจงดงาม  ก็แทบจะเรียกว่าปิดทางมนุษย์ ปิดทางสวรรค์ ปิดทางนิพพานในภพชาติต่อไป แต่ ประตูสัตว์เดรัจฉาน  ประตูเปรต อสูรกาย และนรก เปิดรอรับ เพราะมาจากที่มืด แล้วก็จะไปสู่ที่มืดเช่นเดิม

อาตมาคิดว่า 

เป็นบุญวาสนาที่ปู่ย่าตายายได้แผ้วถางทางบุญเอาไว้ เท่ากับเป็นการเปิดทางไปมนุษย์และสวรรค์ให้

  ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า เมื่อปู่ย่าตายายเป็นคนใจบุญ ลูกหลานก็มักจะเป็นคนใจบุญตาม  เพราะลูกหลานเห็นปู่ย่าตายายทำ ลูกๆ หลานๆ ก็มักทำตาม จึงกลายเป็นว่าลูกหลานรับช่วงมรดกบุญต่อจากปู่ย่า ตายาย

นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงอุปนิสัยเดิมที่ทำมาแต่ชาติก่อน  ผู้มีพระคุณคือปู่ย่าตายาย นั้น มีมรดก ๒ ส่วนที่ตกทอดมายังลูกหลาน คือ

 ๑.มรดก คือทรัพย์สมบัติและชื่อเสียงเกียรติยศ ซึ่งเป็นทรัพย์ภายนอกที่ปู่ ย่าตายายสร้างสมไว้แล้วตกถึงลูกหลาน

๒. มรดก คือ บุญกรรม ซึ่งเป็นทรัพย์ภายในและเป็นทรัพย์ที่แท้จริง

ที่ว่า “ลูกหลานเป็นผู้รับมรดกทรัพย์สมบัตินั้น” จะขอยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ปู่ย่า ตายาย ยอมเป็นผู้เหนื่อยยากลำบากในการประกอบอาชีพ แผ้วถางป่าดงพงพีขุดดินให้เป็นไร่นาทุ่งกว้างหรือประกอบธุรกิจสร้างมรดกคือทรัพย์ สมบัติไว้ ลูกหลานเกิดมาแล้วเป็นแต่เพียงผู้รับมรดกดำเนินกิจการนั้นๆ ต่อจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ทำนาปลูกข้าวกินสบาย ไม่ต้องเหนื่อยยากบุกเบิกเหมือนอย่างท่านจะมีก็แต่ซ่อมแซมคันนา สับหญ้าและต้นไม้เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ หรือขยายกิจการให้ใหญ่โตเจริญก้าวหน้าขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ลูกหลานที่เกิดภายหลังจึงได้ชื่อว่า

 “เป็นผู้รับช่วงมรดก คือทรัพย์สมบัติ”

แต่ลูกหลานบางคนเกิดมาเพื่อล้างผลาญมรดกบรรพบุรุษ ล้างผลาญทั้งมรดกคือ ทรัพย์สมบัติ  ล้างผลาญทั้งมรดก คือ ชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูล ยิ่งถ้าเป็นชื่อเสียงเกียรติยศ ยิ่งเป็นสิ่งที่สร้างได้ยากยิ่ง  กว่าจะสร้างขึ้นมาได้ นั้น ต้องสั่งสมคุณงามความดีมาตลอดชีวิต แต่ถ้าจะต้องมาถูกล้างผลาญลงโดยลูกหลานสายเลือดตนเองก็นับว่าน่าใจหาย

ลูกหลานทุกคนจึงต้องตระหนักเรื่องนี้ให้ดี  อย่าได้ยึดอารมณ์โลภ  เพราะเพ่งมรดกทรัพย์สมบัติ  อย่าได้โกรธจนก่อแค้น  เพียงเพราะเข้าใจผิดจนหลงทำลายล้างมรดก คือ ชื่อเสียงเกียรติยศที่บรรพบุรุษปู่ ย่า ตา ยาย สั่งสมมาจะ เป็นตราบาปแก่ชีวิตตนไม่มีที่สิ้นสุด

ที่ว่า  “ลูกหลานเป็นผู้รับมรดกบุญ” เมื่อ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนใจบุญ  ลูกหลานก็มักจะเป็นคนใจบุญตาม  เพราะลูกหลานเห็นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายทำ ลูกหลานก็มักทำตาม เพราะเป็นภาพติดตาลูกหลาน  เลยได้รับมรดกทางจิตใจจากพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ความงดงามอ่อนโยนด้านจิตใจของผู้เป็นบรรพบุรุษมักแผ่ไปถึงลูกหลานให้เป็นคนมีอุปนิสัยอ่อนโยนตาม

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

ลูกหลานจึงได้ชื่อว่า

“เป็นผู้สืบต่อเส้นทางบุญของบรรพบุรุษ”

ด้วยเหตุที่วันนี้  เป็นวันที่พระพุทธเจ้าผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยพรหมวิหารธรรม ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้  ได้แสดงหลักการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องให้แก่ชาวโลก และ ชาวโลกตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณข้อนั้นของพระพุทธเจ้า จึงได้ร่วมกันเวียนเทียนเพื่อรำลึกถึงพระคุณของพระองค์

วันเช่นนี้ อาตมาจำได้ว่า เมื่อยังเด็กเคยร่วมเดินเวียนเทียนอยู่กับโยมทั้งสอง  เป็นความทรงจำที่อบอุ่นยิ่ง

เมื่อมาหวนนึกถึงความเมตตาความอ่อนโยนเอื้ออาทรที่โยมทั้งสองมีให้ หลานๆ  อาตมาจึงอยากเขียนเกี่ยวกับเรื่องความกตัญญูไว้ เพื่อยืนยัน “ถึงเมตตาธรรม” ของโยมทั้งสองให้ลูกหลานได้รับทราบไว้

ความกตัญญูนี้เองเป็นส่วนช่วยส่งเสริมให้คนเราเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ตรงกันข้ามกับความอกตัญญูลบหลู่บุญคุณมักส่งผลให้ประสบหายนะต่างๆ เป็นความจริงที่ว่า

ผู้มีความกตัญญูมักประสบความเจริญรุ่งเรืองผ่านพ้นอันตรายในชีวิตไปได้ อย่างน่าอัศจรรย์

ผู้ลบหลู่บุญคุณ มักประสบหายนะอย่างน่าประหลาด ผู้รู้บุญคุณมักเจริญรุ่งเรืองเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนขนนกมักลอยน้ำ  ส่วนก้อน หินมักจมน้ำ  คนไทยแต่โบราณจึงถือนักหนาว่า

“คนกตัญญูตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม”

ความจริง จดหมายฉบับนี้ไม่ได้มุ่งจะให้โยมทั้งสองอ่าน แต่มุ่งที่จะให้ ลูกหลานได้อ่าน ก็เพื่อที่จะได้ซึมซับเอาคุณธรรมข้อนี้ตระหนักไว้ 

ตระหนักในบุญคุณของผู้มีพระคุณให้มากแล้วให้เจริญงอกงามไพบูลย์ในจิตใจ

เพื่อจะได้ เป็นแรงส่งเสริมให้ชีวิตเขาในปัจจุบันนี้ดำเนินไปได้ด้วยดี  เป็นอุปนิสัยที่ดีในภพชาติต่อๆ ไป ไม่ประสบอุปสรรคขัดข้อง ไม่มีเภทภัยร้ายแรงเกิดขึ้นในชีวิต

แคล้วคลาดปลอดภัยในที่ทุกสถาน และที่สำคัญจะไม่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติต่อพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อันจะมีผลร้ายแรงทำให้ชีวิตเกิดความตกต่ำในชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-แม่ใหญ่ ฉบับที่ ๒ (ตอนที่ ๓) “มรดกของบรรพบุรุษ” จากธรรมนิพนธ์ เรื่องหลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here