“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

ฉบับ ญาณวชิระ

ขุนเขาย่อมมีวันทลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

ชาติที่ ๒ พระมหาชนก

พระมหาชนก

สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง

“เกิดเป็นคน ควรมีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป

จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ

นรชนผู้มีปัญญา

แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง”

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ ที่ทรงใช้ความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด กว่าจะผ่านความทุกข์เข็ญ จนได้ออกผนวช เมื่อครั้งเกิดเป็นพระมหาชนก ทรงมีปณิธานอย่างแน่วแน่ ในการบำเพ็ญ “วิริยบารมี” ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว ที่จะมีความเพียรพยายาม เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ แม้จะประสบกับความทุกข์ยากลำบากขนาดไหน หากยังไม่ประสบผลสำเร็จ ก็จะเพียรพยายามต่อไปไม่ท้อถอย

มหาชนกชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก และอรรถกถา  ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต

ขณะตรัสเล่าเรื่องพระมหาชนก พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซื้ออุทยานของพระกุมารพระนามว่า “เชต” สร้างถวายพระพุทธองค์   ขณะนั้น เป็นเวลาบ่ายแล้ว อาทิตย์ย้ายดวงคล้อยลงต่ำ หมู่ภิกษุออกจากสถานที่สำหรับทำสมาธิ  มานั่งประชุมกันอยู่ในอาคารสำหรับแสดงธรรม สนทนาถึงการออกบวชของพระพุทธองค์  พระพุทธองค์เสด็จออกจากพระคันธกุฎี มายังอาคารสำหรับแสดงธรรม ตรัสถามหมู่ภิกษุถึงเรื่องราวที่กำลังสนทนากัน

เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าเรื่องพระมหาชนก  ผู้ตั้งปณิธานที่จะใช้ความเพียรพยายาม จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ ดังต่อไปนี้

ศึกชิงราชบัลลังก์มิถิลานคร

ในอดีตชาติ ได้มีพระราชาพระนามว่า “พระมหาชนกราช” ครองราชสมบัติในกรุงมิถิลานคร แคว้นวิเทหะ พระองค์มีพระราชโอรส ๒ องค์ คือ “พระอริฏฐชนก” และ  “พระโปลชนก” พระราชาทรงแต่งตั้งอริฏฐชนกผู้พี่ เป็นอุปราช และแต่งตั้งโปลชนกผู้น้องเป็นเสนาบดี

ครั้นต่อมา พระมหาชนกราชสวรรคต พระอริฏฐชนกขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระบิดา ทรงตั้งพระโปลชนก ให้เป็นอุปราช อำมาตย์ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่ง คอยกราบทูลยุยงพระอริฏฐชนกราชอยู่เสมอว่า “พระอุปราชวางแผนจะปลงพระชนม์พระองค์ขึ้นครองราชย์เสียเอง” พระอริฏฐชนกราชทรงสดับคำยุยงบ่อย ๆ เข้า ก็หลงเชื่อ เกิดความหวาดระแวง หมดความรักในพระอนุชา จึงสั่งควบคุมพระโปลชนกอุปราช ด้วยโซ่ตรวน นำไปจองจำไว้ ในคฤหาสน์หลังหนึ่ง ใกล้พระราชวัง ตั้งกองทหารควบคุม รักษาการ อย่างเข้มแข็ง

พระโปลชนกทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ถ้าเราก่อเวรต่อพระเชษฐา เครื่องจองจ อย่าหลุดจากมือและเท้า แม้ประตูเหล็ก ก็อย่าเปิดออก ถ้าเราไม่ได้ก่อเวรต่อพระเชษฐา  ขอเครื่องจองจำ จงหลุดจากมือและเท้า แม้ประตู ก็จงเปิดออก” สิ้นคำสัตยาธิษฐาน   ทันใดนั้น โซ่ตรวนก็พลันหักสะบั้นออกเป็นท่อน ๆ แม้ประตู ก็เปิดออก พระโปลชนก  เสด็จหลบหนีลี้ภัยออกไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้ชายแดนแห่งหนึ่ง ชาวบ้านจำพระองค์ได้ จึงช่วยกันบำรุงดูแล พระอริฏฐชนกราชส่งจารชนออกติดตาม แต่ก็ไม่สามารถจับพระองค์ได้

พระโปลชนกได้ยึดเอาหมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง สั่งสมกำลังพล จนกลายเป็นกองทัพ ใหญ่ขึ้นตามลำดับ ครั้นสถานการณ์เอื้ออำนวย ทรงดำริว่า “เมื่อก่อน เราไม่ได้ก่อเวรต่อพระเชษฐาของเรา แต่บัดนี้ ถึงเวลาที่เราต้องก่อเวรแล้ว” จึงสั่งให้ประชุมพล ยกทัพออกจากชายแดน ไปตั้งค่ายประชิดมิถิลานคร

การศึกครั้งนั้น เหล่ากองทหารฝ่ายมิถิลานคร ที่ยังจงรักภักดีต่อพระโปลชนก ทราบว่า พระองค์ยกทัพเสด็จมาแล้ว ก็เล็ดลอดขนยุทโธปกรณ์ นำช้างม้า เป็นต้น เข้าสวามิภักดิ์ แม้ชาวเมืองอื่น ๆ ก็เข้าร่วมเป็นพันธมิตรเป็นจำนวนมาก กองทัพพระโปลชนก จึงกลายเป็นกองทัพที่ยิ่งใหญ่ พระองค์   ส่งสาส์นไปถวายพระเชษฐาว่า “เมื่อก่อนข้าพระองค์ มิได้ก่อเวรต่อพระองค์ แต่บัดนี้ ข้าพระองค์   จะก่อเวร พระองค์จะให้เศวตฉัตร หรือจะทำสงคราม”

พระราชาอริฏฐชนก ตัดสินพระทัย เลือกใช้วิธีการทางทหาร เข้าต่อสู้ทำการรบ ป้องกันเศวตฉัตร จึงสั่งจัดเตรียมกำลังพล ทำสงคราม ทรงสั่งเสียพระอัครมเหสีว่า “ในสมรภูมิรบ  แพ้ชนะไม่อาจหยั่งรู้ ถ้าเกิดอันตราย จงรักษาลูกในครรภ์ให้ดี” ครั้นแล้ว ได้กรีฑาทัพหลวง ออกจากพระนคร เป็นการเปิดศึกสายเลือด ชิงบัลลังก์มิถิลานคร

ในการศึกครั้งนั้น ทหารฝ่ายพระโปลชนก ได้ปลิดชีพพระอริฏฐชนกราช กลางสมรภูมิรบ   กองทัพฝ่ายพระนคร รู้ว่า พระราชาสวรรคตแล้ว ไม่มีผู้บังคับบัญชาการทัพ ก็เกิดขวัญเสีย กลายเป็นโกลาหลไร้รูปขบวน จึงถูกกองทัพฝ่ายพระโปลชนก บดขยี้ แตกพ่ายสิ้น

ฝ่ายพระอัครมเหสี เมื่อทราบว่า พระราชสวามีสิ้นพระชนม์ในสนามรบแล้ว ก็รีบเก็บสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ที่สามารถนำติดตัวไปได้ เช่น ทองคำ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร เป็นต้น ห่อด้วยผ้าเก่า  ใส่กระเช้า ปูปิดทับไว้ด้วยข้าวสารอีกชั้น ทรงปลอมแปลงพระองค์ นุ่งเสื้อผ้าเก่าคร่ำคร่าเศร้าหมอง  วางกระเช้าบนพระเศียร เสด็จหนีออกจากพระนครไปทางประตูเมืองด้านทิศเหนือ ในเวลากลางวัน เพียงลำพัง เพราะพระองค์ไม่เคยเสด็จไปที่ไหน จึงไม่มีใครรู้จักพระองค์ แม้พระองค์เอง ก็ไม่รู้จักเส้นทาง ทั้งไม่สามารถกำหนดทิศได้ พระองค์ตั้งใจเสด็จไปยังเมืองกาลจัมปานคร แคว้นอังคะ ซึ่งเคยได้ยินแต่ชื่อเท่านั้น จึงประทับที่ศาลาริมทางแห่งหนึ่ง คอยสอบถามคนที่จะเดินทางไปกาลจัมปานคร

ด้วยเดชานุภาพลูกในครรภ์พระเทวี ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ ช่วยบันดาลให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกเทวราช เกิดรุ่มร้อน เมื่อพระองค์ตรวจดูสาเหตุ ก็ทราบว่า ผู้ที่บังเกิดในครรภ์พระเทวี มีบุญมาก แต่แม่กำลังได้รับความลำบาก ต้องการความช่วยเหลือ จึงเนรมิตเกวียนมีประทุน  ปกปิดมิดชิดดี มีเตียงสำหรับนั่ง นอน อยู่ภายในประทุนนั้น เนรมิตตนเป็นชายชราขับเกวียน ไปหยุดที่ศาลา ซึ่งพระเทวีประทับอยู่ แกล้งร้องถามไปว่า “มีใคร จะไปนครกาลจัมปา บ้างไหม”   พระเทวี ได้สดับดังนั้น ก็ดีใจ รีบตอบว่า “ตา ฉันเองจะไป” ท้าวสักกะแปลง จึงตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น แม่หนูขึ้นมานั่งบนเกวียนเถิด” พระเทวีรีบกุลีกุจอออกจากศาลา พลางกล่าวว่า “ตา ครรภ์ฉันแก่แล้ว  ขึ้นเกวียนไปไม่ได้ จะขอเดินตามหลังเกวียนไป แต่ขอฝากกระเช้านี้ บรรทุกเกวียนไปด้วย”  ท้าวสักกะในคราบชายชราผู้อารี ตรัสว่า “แม่หนู พูดอะไรอย่างนั้น ไม่มีใครชำนาญการขับเกวียนอย่างตาอีกแล้ว แม่หนู อย่ากลัวเลย ขึ้นมานั่งบนเกวียนเถิด”

ด้วยบุญญานุภาพลูกในครรภ์ เมื่อพระเทวีจะก้าวขึ้นเกวียน ได้เกิดลมพัดฟุ้ง ฝุ่นละอองกระจายไปทั่ว ขณะนั้น แผ่นดิน ได้นูนขึ้น จรดท้ายเกวียน พระเทวีก้าวขึ้นเกวียน ได้อย่างง่ายดาย วูบหนึ่งของความคิด พระเทวีทรงสงสัยว่า “นี่หรือจะเป็นเทวดา” แต่เพราะความเหนื่อยล้า จึงทำให้พระเทวีหลับไปอย่างง่ายดาย บนที่นอนภายในประทุนเกวียน พร้อมกับความสงสัยนั้น

ท้าวสักกะในคราบชายชราผู้ชำนาญทาง ได้ขับเกวียนมาไกลราว ๓๐ โยชน์ จึงหยุดพักที่แม่น้ำแห่งหนึ่ง จัดเตรียมเสื้อผ้าสำหรับผลัดเปลี่ยน และอาหาร ไว้ให้ จึงปลุกพระเทวี ให้ลุกขึ้น อาบน้ำในแม่น้ำ พระเทวีทำตามอย่างว่าง่าย ลุกขึ้น อาบน้ำ ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ทานอาหารแล้วหลับต่อ ท้าวสักกะในคราบชายชราผู้อาทร ขับเกวียนนำทางต่อไป จนลุเข้าเขตนครกาลจัมปา  เมื่อเวลาเย็นแล้ว

พระเทวีรู้สึกตัว ลุกขึ้น ทอดพระเนตรเห็นประตู คูค่าย หอรบ และกำแพงพระนคร  ตระหง่านงาม อยู่รายรอบ จึงถามชายชราผู้นำทางว่า “ตา เมืองนี้ ชื่ออะไร” ท้าวสักกะแปลง ตอบว่า  “แม่หนู นี่แหละ นครกาลจัมปา” พระเทวีนึกฉงน จึงค้านว่า “ตา พูดอะไร นครกาลจัมปา อยู่ห่างจากเมืองของพวกเราตั้ง ๖๐ โยชน์ มิใช่หรือ” ชายชรา ตอบว่า “ถูกแล้ว  แม่หนู แต่ตาขึ้นล่อง ระหว่างมิถิลานครกับกาลจัมปานครอยู่บ่อย จึงชำนาญทาง รู้จักทางลัดดี จึงมาถึงที่นี่เร็ว” ชายชรา ผู้อาทร ให้พระเทวีลงจากเกวียน ใกล้ประตูด้านทิศใต้แล้ว กล่าวด้วยแววตาเอ็นดู และน้ำเสียงอ่อนโยน ว่า “บ้านของตา เลยไปข้างหน้าโน้นอีก แต่แม่หนู ลงตรงนี้ แล้วเข้าไปในเมืองเถิด” แล้วขับเกวียน หายไป พระเทวีเข้าไปนั่งพักอยู่ที่ศาลาแห่งหนึ่งตามลำพัง ท่ามกลางบ้านเมืองป้อมปราการที่แปลกตา  ตะวันเริ่มอ่อนแสงลง ยิ่งทำให้พระองค์รู้สึกโดดเดี่ยว

ขณะนั้น พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ ชาวนครกาลจัมปา มีลูกศิษย์ ๕๐๐ คน เดินตามไปอาบน้ำ ได้ผ่านมาทางศาลานั้น ด้วยอานุภาพพระโพธิสัตว์ ผู้บังเกิดในพระครรภ์ของพระเทวี ทำให้มหาพราหมณ์ มองเห็นรูปร่างพระเทวีงดงามสมบูรณ์ด้วยสิริลักษณ์มาแต่ไกล พอเห็นเท่านั้น ก็เกิดความเมตตาอย่างล้นพ้น เหมือนได้เห็นน้องสาวของตน จึงให้เหล่าศิษย์ หยุดอยู่นอกศาลา เข้าไปในศาลาเพียงลำพัง ถามว่า “แม่หนู เป็นชาวเมืองไหน” พระเทวีตอบว่า “ดิฉัน เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าอริฏฐชนก กรุงมิถิลานคร”

พราหมณ์ถามว่า “แม่หนู มาที่นี่ทำไม” พระเทวีตรัสตอบว่า “พระเจ้าอริฏฐชนก  ถูกพระโปลชนก พระอนุชา ปลงพระชนม์ ชิงเอาราชสมบัติ ดิฉันกลัวอันตราย จึงหนีมา ตั้งใจรักษาลูกในครรภ์ไว้”

พราหมณ์ถามว่า “พระองค์มีญาติในพระนครนี้ บ้างหรือไม่” พระเทวีตอบว่า “ไม่มี”  พราหมณ์กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น พระองค์อย่าเสียใจไปเลย เรา คือ อุทิจจพราหมณ์ เป็นพราหมณ์มหาศาล เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เธอมีฐานะเป็นน้องสาวเรา ต่อไปนี้ ให้เรียกเราว่า พี่ชาย จงจับเท้าเรา แกล้งทำเป็นร้องไห้คร่ำครวญเถิด” พระเทวีทำตามที่พราหมณ์แนะนำ ส่งเสียงร้องไห้  จับเท้าทั้งสองข้างของพราหมณ์

ทั้งสองคน ต่างร้องไห้ คร่ำครวญ รำพันกันอยู่ เหล่าลูกศิษย์ได้ยินเสียงร้องไห้รำพัน  จึงตกใจ พากันวิ่งกรูเข้าไปในศาลา ถามถึงสาเหตุ พราหมณ์กล่าวว่า “หญิงนี้ เป็นน้องสาวของอาจารย์ พลัดพรากจากกันไป เมื่อคราวโน้น เพิ่งได้มาพบกัน” ลูกศิษย์กล่าวว่า “บัดนี้ พวกท่าน ก็ได้เจอกันแล้ว ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอพวกท่าน อย่าได้วิตกกังวลเลย” พราหมณ์ให้ลูกศิษย์ นำยานที่มีประทุนปกปิด มารับพระเทวีกลับเรือน กำชับพวกลูกศิษย์ ให้บอกนางพราหมณีว่า หญิงนี้ เป็นน้องสาว

ฝ่ายนางพราหมณี ภรรยามหาพราหมณ์ เข้าใจว่า พระเทวี เป็นน้องสาวสามี จึงให้พระเทวีสรงสนานด้วยน้ำอุ่น แล้วจัดเตรียมที่นอนให้ ดูแลพระเทวีในเรือนของตนด้วยดีตลอดมา

กำเนิดพระมหาชนก

ครั้นอยู่ต่อมาไม่นาน พระเทวีก็ประสูติพระโอรส มีผิวพรรณเกลี้ยงเกลา งดงาม พระเทวี ขนานนามพระโอรส ตามพระอัยกา ว่า “มหาชนก”

ครั้นพระกุมาร เจริญวัย เป็นคนเข้มแข็ง มีกำลังมาก เมื่อเล่นอยู่กับพวกเด็ก ๆ ใครทำให้ไม่พอใจ พระมหาชนกจะจับเด็กคนนั้นไว้แน่น แล้วตีอย่างแรง เพราะถือว่า ตนมีกำลังมาก และ  ด้วยความเป็นผู้กระด้าง ถือตัว เพราะความที่เกิดในตระกูลกษัตริย์ เด็กเหล่านั้น พากันร้องไห้  เมื่อถูกถามว่า ใครตี ก็บอกว่า “คนไม่มีพ่อ ลูกหญิงหม้าย ตี” พระมหาชนก นึกฉงนที่พวกเด็กเรียกตนว่า ลูกหญิงหม้าย

วันหนึ่ง พระมหาชนก ถามมารดาว่า ใครเป็นบิดา พระเทวีลวงว่า มหาพราหมณ์เป็นบิดา  พระมหาชนกก็เชื่อสนิทใจ ครั้นรุ่งขึ้นอีกวัน พระมหาชนก ถูกพวกเด็กล้อเลียนอีกว่า  “ลูกหญิงหม้าย ๆ” จึงบอกว่า “พ่อพราหมณ์ เป็นบิดาเรา” เด็กพวกนั้น แย้งว่า “พราหมณ์เป็นลุงเธอต่างหาก ไม่ใช่พ่อ” พระมหาชนกคิดว่า เด็กเหล่านั้นบอกว่า พราหมณ์เป็นลุงเรา มารดา เห็นจะไม่ได้บอกความจริง จึงตั้งใจ ที่จะค้นหาความจริงให้ได้

ครั้นถึงเวลาดื่มนม พระมหาชนกจึงกัดนมมารดาไว้ บอกว่า “ถ้าแม่ไม่บอกว่า ใคร เป็นบิดา  ลูกจะกัดนมให้ขาด” พระเทวีไม่สามารถปกปิดพระโอรส จึงบอกความจริงทุกประการ ว่า เป็นโอรสพระเจ้าอริฏฐชนก ในกรุงมิถิลานคร พระบิดาถูกพระโปลชนกผู้เป็นน้องชายปลงพระชนม์   ชิงราชสมบัติ พระองค์ต้องการรักษาชีวิตลูกในครรภ์ไว้ จึงแอบหลบหนี มาอยู่เมืองนี้

เมื่อพระมหาชนก ทราบความจริงแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้พระมหาชนกจะถูกล้อเลียน ว่า “ลูกหญิงหม้าย คนไม่มีพ่อ” ก็ไม่เกรี้ยวกราดโกรธเคือง พระองค์กลับมุ่งมั่นเรียนไตรเพท  และศิลปศาสตร์ทั้งปวง จากอุทิจจมหาพราหมณ์ จนจบสิ้น  

แผนยึดสุวรรณภูมิ

ขณะมีอายุ ๑๖ ปี พระมหาชนก องอาจ สง่างาม มีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว ที่จะชิงเอาราชสมบัติของพระบิดาคืนมาให้ได้ แต่ขณะนี้ ยังไม่มีกำลังทรัพย์ ทั้งกำลังทางทหาร ก็ไม่มี พระองค์จึงจำเป็นจะต้องมีกองกำลังเป็นของพระองค์เอง พระองค์เริ่มติดต่อกับพวกพ่อค้าทางทะเล เตรียมการวางแผน ที่จะยึดแผ่นดินสุวรรณภูมิ แผ่นดินในตำนาน ที่ถูกกล่าวขานถึงความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์  เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่น สั่งสมกองกำลัง ชิงเอาราชสมบัติคืน จึงทูลถาม มารดาว่า “แม่ แม่มีทรัพย์ติดตัวมาบ้างหรือไม่ ลูกจะค้าขาย ให้ทรัพย์เพิ่มมากขึ้น แล้วใช้เป็นทุน ชิงเอาราชสมบัติพระบิดาคืนมา” พระเทวีตอบว่า “แม่ไม่ได้มามือเปล่าหรอกลูก แม่ได้นำของมีค่าอยู่ ๓ อย่าง มาด้วย คือ แก้วมณี แก้วมุกดา แก้ววิเชียร แต่ละอย่าง พอจะเป็นทุน ชิงเอาราชสมบัติคืนมาได้ ลูกใช้แก้วสามอย่างนั้น แล้ว คิดอ่านเอาราชสมบัติเถิด อย่าทำการค้าขายเลย”

พระมหาชนกกราบทูลว่า “ขอแม่ ให้ทรัพย์เพียงครึ่งหนึ่ง ลูกจะไปค้าขายเมืองสุวรรณภูมิ ได้ทรัพย์จำนวนมากเป็นทุนแล้ว จะชิงเอาราชสมบัติพระบิดาคืน” จึงขอทรัพย์ครึ่งหนึ่ง นำไปซื้อสินค้าขึ้นเรือ แล้วกลับมากราบลาพระมารดา ไปเมืองสุวรรณภูมิ พร้อมกับพวกพ่อค้าวาณิชย์

พระมารดาตรัสห้ามว่า “ลูกเอ๋ย ขึ้นชื่อว่า มหาสมุทร มีประโยชน์น้อย แต่มีอันตรายมาก  ลูกอย่าไปเลย ทรัพย์สมบัติของลูก ก็มีมากพอที่จะชิงเอาราชสมบัติคืนมาได้” พระมหาชนกคิดว่า  แม้พระมารดา จะมีทรัพย์พอที่จะชิงเอาราชสมบัติคืนมาได้ แต่หากขาดกองกำลังที่แข็งแกร่ง ทรัพย์ที่มีอยู่ ก็ไร้ค่า ไม่สามารถที่จะชิงเอาราชสมบัติคืนมาได้ จึงกราบทูล ว่า “อย่างไรเสีย ลูกก็ต้องไป”  แล้วทำประทักษิณ กราบลาไปขึ้นเรือพร้อมกับพวกลูกเรือชาวสุวรรณภูมิ

ในวันที่มหาชนกลงเรือไปค้าขายที่สุวรรณภูมินั้น เหตุการณ์ข้างฝ่ายมิถิลานคร  พระเจ้าโปลชนก เกิดประชวรอย่างหนัก พระองค์บรรทมแล้ว ไม่ได้เสด็จลุกขึ้นอีกเลย

ส่วนพวกพ่อค้าชาวสุวรรณภูมิ ประมาณ ๗๐๐ คน แล่นเรือออกสู่มหาสมุทร ไปได้ ๗๐๐ โยชน์ แล่นเรือไปได้ ๗ วัน ก็เผชิญพายุอย่างหนัก คลื่นแรง ท้องทะเล ปั่นป่วน จนไม่อาจบังคับเรือได้  เรือไม่สามารถต้านทานพายุคลื่นที่โหมซัดกระหน่ำอย่างบ้าคลั่ง แผ่นกระดานท้องเรือ ถูกคลื่นซัด  ปริร้าว แล้วหลุดแตกกระจายไป ตามแรงคลื่น น้ำไหลทะลักเข้าเรือทุกทิศทุกทาง เรือค่อย ๆ จมลงสู่มหาสมุทร ลูกเรือกลัวตาย ร้องไห้ระงม กราบไหว้อ้อนวอน เทวดาที่ตนเคารพ นับถือ แต่พระมหาชนก ไม่ร้องไห้ ไม่คร่ำครวญ ไม่อ้อนวอนเทวดา ทราบว่า เรือจมแน่ เสี้ยวหนึ่งของความคิด  พระมหาชนก รีบคลุกน้ำตาลกรวดกับเนย กินให้อิ่มท้อง เอาผ้าเนื้อเกลี้ยง ๒ ผืน ชุบน้ำมันจนชุ่ม  เช็ดถูตามตัว แล้วนุ่งผ้าให้กระชับมั่น เพื่อไม่ให้ร่างกายชุ่มน้ำ และดับกลิ่นกายมนุษย์ แล้วปีนป่ายขึ้นไป บนยอดเสากระโดง ขณะเรือกำลังจมดิ่งลงสู่ท้องทะเล พระมหาชนกมองเห็นปลา เต่า และสัตว์ร้าย นานาชนิด กำลังรุมกินลูกเรืออย่างกระหายเลือด ท้องทะเลขื่นคาว แดงฉานไปด้วยสีเลือด

พระมหาชนกยืนที่ยอดเสากระโดง กำหนดทิศที่เมืองมิถิลานครตั้งอยู่ แล้วโยกปลายเสากระโดง  ดีดตัวเองด้วยพละกำลังสุดแรง กระโดดพุ่งออกไป จนข้ามพ้นรัศมีฝูงปลาและเต่า ซึ่งกำลังรุมกินซากลูกเรืออยู่ จึงพ้นจากคมปากของสัตว์ร้ายทั้งหลาย   

ขณะเรือวาณิชย์ที่พระมหาชนกโดยสารมา เผชิญกับพายุร้าย จนเรือแตก อับปางลงสู่มหาสมุทร พระเจ้าโปลชนก เสด็จสวรรคต ในวันนั้นนั่นเอง

พระมหาชนก ว่ายน้ำอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรสีมรกตอันกว้างใหญ่ไพศาล ไปตามทิศทางที่กำหนด ผืนน้ำจรดขอบฟ้า เบื้องหน้าไม่เห็นฝั่ง แต่ก็ยังแหวกว่ายอยู่เช่นนั้น ครั้นถึงวันที่ ๗  พระมหาชนก สังเกตท้องฟ้า เห็นพระจันทร์เต็มดวง ก็รู้ว่า เป็นวันเพ็ญอุโบสถ จึงบ้วนปากด้วยน้ำเค็ม แล้วสมาทานอุโบสถศีล กลางมหาสมุทร

กาลนั้น ท้าวจตุโลกบาล มอบให้นางมณีเมขลาเทพธิดา เป็นผู้คอยช่วยเหลือคนดี ที่ทำกรรมดี  เช่น บำรุงเลี้ยงมารดาบิดา เป็นต้น ที่เรืออับปาง ไม่สมควรตายในมหาสมุทร

นางมณีเมขลา ไม่ได้ตรวจตราดูมหาสมุทร มาเป็นเวลา ๗ วัน เพราะไปเทวสมาคม   หลงเพลิดเพลินทิพยสมบัติในเทวสมาคมนั้น จึงลืมตรวจตราดูมหาสมุทร เมื่อนึกขึ้นได้ ก็ล่วงไป  ๗ วันแล้ว นางตรวจดู ก็เห็นพระมหาชนก กำลังแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล จึงคิดว่า  ถ้าปล่อยให้พระมหาชนก ตายในมหาสมุทร ตนก็จะไม่สามารถมองหน้าเทพตนใดในเทวสมาคมได้อีก  จึงปรากฏกายในอากาศ ไม่ไกลจากพระมหาชนกนัก พร้อมกับกล่าวว่า “นั่นใครกัน ทั้งที่มองไม่เห็นฝั่ง  ก็ยังอุตส่าห์เพียรพยายามแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ จะมีประโยชน์อะไร  ที่ต้องเพียรพยายามว่ายน้ำอยู่เช่นนี้”  

พระมหาชนกคิดว่า “เราว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทรมาได้ ๗ วัน เข้าวันนี้แล้ว ไม่เห็นมีใคร  นอกจากเราคนเดียว นี่ใคร มาพูดกับเรา” จึงแหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้า ก็เห็นมีสตรีนางหนึ่ง  ปรากฏกายอยู่ แล้วตอบว่า “เราได้ไตร่ตรอง เห็นถึงปณิธานแห่งชาวโลก และอานิสงส์แห่งความเพียร พยายาม เพราะฉะนั้น แม้มองไม่เห็นฝั่ง เราก็จะเพียรพยายามว่ายน้ำอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรต่อไป”

พระมหาชนก ได้พิเคราะห์โดยถี่ถ้วนแล้ว

รู้ธรรมเนียมของโลกว่า ปณิธานแห่งบุรุษ

  และอานิสงส์แห่งความเพียรพยายาม

จะไม่สูญเปล่า

จึงเพียรพยายามอยู่เช่นนั้น

นางมณีเมขลา ต้องการฟังธรรมจากพระมหาชนก มากยิ่งขึ้นไป จึงกล่าวอีกว่า “ฝั่งมหาสมุทร อยู่ห่างไกลสุดสายตา พยายามไป ก็ไร้ประโยชน์ ยังไม่ทันถึงฝั่ง ก็จะตายเสียก่อน”

พระมหาชนก ตอบนางมณีเมขลาว่า “เธอพูดอะไรนั่น ถ้าเราได้เพียรพยายามแล้ว แม้จะ  ตายไป ก็ไร้คำครหา ผู้ที่มีความเพียรพยายาม แม้จะตาย ก็ไม่เป็นหนี้ เพราะไม่ถูกตำหนิจากหมู่ญาติ จากเทวดา และจากพรหมทั้งหลาย เมื่อได้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชาย อย่างองอาจ   แม้จะตาย ก็ไม่เสียใจภายหลัง”

เทพธิดา แย้งพระมหาชนกว่า “หน้าที่บางอย่าง เพียรพยายามไป ก็ไร้ประโยชน์ มีแต่ก่อให้เกิดความลำบาก เพียงอย่างเดียว การทำความพยายามกับสิ่งที่ไร้ผล สุดท้าย ก็ตายเปล่า แล้วจะทำความเพียรพยายามไปทำไมกัน”

เมื่อเทพธิดา กล่าวอย่างนี้ พระมหาชนก ต้องการให้นางมณีเมขลา ยอมจำนนต่อความเพียรพยายามของตน จึงกล่าวว่า “แม่เทพธิดา ใครก็ตาม ทั้งที่รู้ว่า สิ่งที่ตนทำ จะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าไร้เสียซึ่งความพยายาม แล้วทอดอาลัยในชีวิต ล้มเลิกความเพียรพยายามกลางคัน ไม่ทำสิ่งนั้นต่อไป เขาก็ย่อมได้รับผลแห่งความเกียจคร้าน แต่คนบางคนในโลกนี้ อยู่ได้เพราะความหวัง จึงทำหน้าที่ของตน ด้วยความเพียรพยายาม แม้หน้าที่นั้น จะประสบความสำเร็จ  หรือไม่ก็ตาม เธอก็เห็นผลแห่งความเพียรพยายามประจักษ์แจ้ง ด้วยตนเองแล้ว มิใช่หรือ ดูสิ คนอื่น ๆ จมลงในมหาสมุทรกันหมดแล้ว เพราะพวกเขาไร้เสียซึ่งความเพียรพยายาม เราเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ยังเพียรพยายามว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรอยู่ จึงมีโอกาสได้มาพบเธอผู้เป็นเทพธิดา เราจะพยายามตามกำลังความสามารถ จะทำความเพียรที่ลูกผู้ชายควรทำ ว่ายน้ำต่อไป จนถึงฝั่งแห่งมหาสมุทร ให้ได้”  

เทพธิดา ได้ฟังวาจาอันแสดงความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น เช่นนั้น จึงสรรเสริญพระมหาชนกว่า “แม้ห้วงน้ำ จะกว้างใหญ่ไพศาล สุดประมาณเช่นนี้ ท่านก็ยังมีความเพียรพยายาม โดยธรรม  ด้วยความเพียรแห่งบุรุษ จึงไม่จมลงในห้วงมหรรณพ ท่านจงไปในสถานที่ที่ท่านปรารถนาเถิด”

          เทพธิดามณีเมขลา ถามพระมหาชนกว่า “ท่านบัณฑิต ผู้มากด้วยความเพียรพยายาม  ท่านจะให้เราไปส่งที่ไหน” พระมหาชนกตอบว่า ต้องการไปกรุงมิถิลานคร

ครั้นแล้ว นางมณีเมขลา จึงช้อน อุ้มพระมหาชนกขึ้น เหมือนคนยกช่อดอกไม้  ใช้แขนทั้งสอง ประคองให้นอนแนบทรวง พาเหาะไปในอากาศ เหมือนมารดาอุ้มบุตร  เพราะพระมหาชนกเหนื่อยล้าจากการว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทร ตลอด ๗ วัน จึงหลับไปในอ้อมกอด  ของนางเทพธิดาทันที

นางมณีเมขลา นำพระมหาชนกไปถึงมิถิลานคร ให้บรรทมเบื้องขวา บนแผ่นหินเรียบสนิทดี  ในสวนมะม่วงแห่งหนึ่ง มอบให้รุกขเทวดาคอยเฝ้าระวังรักษา แล้วกลับวิมานของตน

พระเจ้าโปลชนกนั้น ไม่มีพระราชโอรส แต่มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว นามว่า  “สีวลี” เป็นหญิงฉลาดหลักแหลม ก่อนที่พระเจ้าโปลชนกจะสวรรคต อำมาตย์ทั้งหลายได้ทูลถาม ว่า  จะมอบราชสมบัติให้ใคร พระองค์สั่งเสียว่า “พวกท่าน จงยินยอมพร้อมใจกัน มอบราชสมบัติ แก่ผู้ที่ สามารถทำให้พระราชธิดายอมรับได้ หรือผู้ที่รู้หัวนอนแห่งบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม หรือผู้ที่สามารถยกธนู มีชื่อว่า “สหัสสถามธนู” ขึ้นได้ หรือผู้ที่สามารถนำขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ แห่ง ออกมาแสดงได้”

อำมาตย์ทั้งหลาย กราบทูลถามถึงปริศนาแห่งปัญหาว่า เป็นอย่างไร พระราชาจึงตรัสบอก คำใบ้ปริศนาแห่งขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ แห่งไว้ ดังนี้

. ขุมทรัพย์ ที่อยู่ทางพระอาทิตย์ขึ้น

. ขุมทรัพย์ ที่อยู่ทางพระอาทิตย์ตก

. ขุมทรัพย์ ภายใน

. ขุมทรัพย์ ภายนอก

. ขุมทรัพย์ ที่ไม่ใช่ภายใน ไม่ใช่ภายนอก

. ขุมทรัพย์ ขาขึ้น

. ขุมทรัพย์ ขาลง

๘. ขุมทรัพย์ ที่ไม้รังใหญ่ทั้ง ๔ (ด้านที่ ๑)

๙. ขุมทรัพย์ ที่ไม้รังใหญ่ทั้ง ๔  (ด้านที่ ๒)

๑๐. ขุมทรัพย์ ที่ไม้รังใหญ่ทั้ง ๔ (ด้านที่ ๓)

๑๑. ขุมทรัพย์ ที่ไม้รังใหญ่ทั้ง ๔ (ด้านที่ ๔)

๑๒. ขุมทรัพย์ ในที่ ๑ โยชน์ โดยรอบ

๑๓. ขุมทรัพย์ใหญ่ ที่ปลายงาทั้ง ๒

๑๔. ขุมทรัพย์ ปลายหาง

๑๕. ขุมทรัพย์ น้ำ

๑๖. ขุมทรัพย์ ที่ยอดไม้

สหัสสถามธนู ที่หนักพันแรงคนยก ด้านหัวนอนของบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม อยู่ด้านไหน  และการทำให้พระธิดาสีวลียอมรับ

พระเจ้าโปลชนก ตรัสดังนี้แล้ว ก็สวรรคต  

ในวันที่ ๗ จากวันที่พระเจ้าโปลชนกสวรรคต และถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้วนั้น  เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ ได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่า ใครเหมาะสม ที่จะครองราชสมบัติ   ตามที่พระราชารับสั่งไว้ เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ ต่างมีความเห็นว่า เสนาบดี มีความสนิทใกล้ชิดกับพระราชา เป็นผู้ที่เหมาะสม จึงแจ้งให้เสนาบดีทราบ

เสนาบดี ยินดียิ่งนัก จึงตรงไปปราสาทพระราชธิดา เมื่อพระราชชธิดา ทราบว่า ผู้ที่ทำให้พระองค์ยินดี ก็จะได้ครองราชสมบัติ สืบต่อจากพระราชบิดา ต้องการทดลองเสนาบดีว่า  จะมีสติปัญญา คู่ควรเศวตฉัตรหรือไม่ จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า เสนาบดีประสงค์จะทำให้พระราชธิดาโปรดปราน จึงรีบเดินเข้าไปเฝ้าอย่างเร่งรีบตามรับสั่ง

พระราชธิดา รับสั่งให้วิ่งกลับไป เสนาบดี คิดว่า จะทำให้พระราชธิดาโปรดปราน  จึงวิ่งกลับไป พระราชธิดา จึงรับสั่งให้วิ่งมาอีก เสนาบดี ก็วิ่งกลับมาตามรับสั่ง พระราชธิดาทราบว่า เสนาบดีคนนี้ เบาปัญญา เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ จึงรับสั่งให้นวดเท้า เสนาบดี ก็นั่งลง  เริ่มนวดเท้าพระราชธิดา พระราชธิดา ก็ถีบอกเสนาบดี ล้มหงายลงไป แล้วไล่ออกไป

เสนาบดี ได้รับความอับอาย เมื่อถูกใครถาม ก็ตอบว่า พระราชธิดาไม่ใช่คน แต่เป็นนางยักษิณี จากนั้น อำมาตย์ผู้เป็นขุนคลัง เศรษฐีทั้งหมด เจ้าพนักงานเชิญเครื่องสูง  เจ้าพนักงานเชิญพระแสง ที่เข้าทดสอบ ล้วนแต่ได้รับความอับอายขายหน้า จากพระราชธิดา ทั้งสิ้น

เมื่อไม่มีผู้สามารถทำให้พระราชธิดายอมรับได้ เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ จึงปรึกษากัน  ป่าวประกาศข้อที่ ๒ ออกไปว่า จะมอบราชสมบัติ ให้ผู้ที่สามารถยกธนูน้ำหนักราวพันแรงคน ยกขึ้นได้ ก็ไม่มีใครสามารถยกธนูขึ้นได้ เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ จึงปรึกษากัน ป่าวประกาศข้อที่ ๓ ออกไปว่า  จะมอบราชสมบัติ ให้แก่ผู้รู้จักหัวนอนแห่งบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม ก็ไม่มีใครบอกได้ จึงปรึกษากัน  ป่าวประกาศข้อที่ ๔ ออกไปว่า จะมอบราชสมบัติ ให้แก่ผู้ที่สามารถนำขุมทรัพย์ ๑๖ แห่งออกมาได้   ก็ไม่มีใครสามารถนำออกมาได้ เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ทั้งหลาย ต่างปรึกษากันว่า แว่นแคว้นที่ขาดพระราชา ไม่สามารถดำรงอยู่ได้

สู่ราชบัลลังก์มิถิลานคร

ปุโรหิต ได้แนะนำเหล่าอำมาตย์ว่า ควรจะประกอบพิธีอัศวเมธ ปล่อยราชรถเทียมม้ามงคลสีขาว ออกไป พระราชาที่เชิญเสด็จได้ ด้วยพิธีอัศวเมธ สามารถครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น 

เหล่าเสนาอำมาตย์ ต่างเห็นด้วย จึงให้ตกแต่งพระนคร แล้วให้เทียมม้าสีขาว ๔ ตัว ในราชรถอันเป็นมงคล ปูด้วยเครื่องลาดอันวิจิตร สำหรับประดิษฐานเบญจราชกกุธภัณฑ์ แวดล้อมด้วยจาตุรงคเสนา ให้นักดนตรีประโคมดนตรีทั้งข้างหน้าและข้างหลังราชรถ ให้เอาน้ำจากพระเต้าทองคำ  รดสายหนังเชือก แอก ปฏัก จึงปล่อยราชรถออกไป พร้อมสั่งว่า “จงไปที่อยู่ของผู้มีบุญญาธิการที่จะได้ครองราชสมบัติ”

ราชรถทำประทักษิณพระราชนิเวศน์แล้ว มุ่งหน้าออกสู่ถนนหลวง แล่นทะยานไปเบื้องหน้า ด้วยความเร็ว ชนทั้งหลาย ต่างภาวนาให้ราชรถมาหยุดที่ตน ราชรถนั้น แล่นผ่าน เคหสถานบ้านเรือนของชนทั้งปวงไป ทำประทักษิณพระนครแล้ว ออกประตูพระนครด้านตะวันออก  มุ่งหน้าตรงไปยังอุทยาน

ชนทั้งหลาย เห็นราชรถแล่นออกพระนครไป จึงบอกให้นำราชรถกลับมา ปุโรหิตห้ามว่า แม้จะแล่นไปไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ ก็อย่าให้กลับ ราชรถมุ่งหน้าสู่อุทยาน ทำประทักษิณแผ่นศิลามงคล แล้ว หยุดอยู่ เตรียมรับเสด็จขึ้น

ปุโรหิต เห็นชายคนหนึ่ง นอนอยู่บนศิลา ต้องการทดสอบชายผู้นั้นว่า มีปัญญา สมควรแก่เศวตฉัตรหรือไม่ จึงหยุดคอยสังเกตดูอยู่ ถ้าผู้มีปัญญา จะไม่ลุกขึ้นมองดู ถ้าเป็นคนกาลกิณี  จะตกใจกลัว ลุกขึ้น มองดูด้วยความลนลาน แล้วหนีไป จึงให้ประโคมดนตรีเป็นร้อย ๆ ชิ้น ขึ้นทันที เสียงดนตรีดังกึกก้องแผ่สะท้อนออกไปทั่วท้องสมุทรสาคร  

พระมหาชนก รู้สึกตัว เพราะเสียงนั้น เปิดผ้าคลุมศีรษะออก เห็นฝูงชน จึงคิดว่า “เศวตฉัตร มาถึงเราแน่แล้ว” คงอยู่ในอาการสงบ ไม่ได้แสดงอาการดีใจ แต่อย่างไร ดึงผ้าคลุมปิดศีรษะ พลิกตัว นอนตะแคงซ้าย ทำทีเหมือนไม่ใส่ใจเหตุการณ์รอบข้าง หลับต่อไป ปุโรหิต จึงเข้าไปเปิดเท้าพระมหาชนก ตรวจดูลักษณะ แล้วกล่าวว่า “อย่าว่าแต่ทวีปหนึ่ง เท่านั้นเลย ท่านผู้นี้ สามารถ ครองราชสมบัติในมหาทวีปทั้ง ๔ ได้” แล้วให้ประโคมดนตรีขึ้นอีก

พระมหาชนก เปิดหน้าออกมาอีกครั้ง พลิกตัวกลับมานอนตะแคงขวา มองดูฝูงชน ขณะนั้น ปุโรหิต แจ้งให้ฝูงชนถอยออกไป ประคองอัญชลี กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นสมมติเทพ   ขอพระองค์ ได้โปรดเสด็จลุกขึ้นเถิด ราชสมบัติมาถึงพระองค์แล้ว”

พระมหาชนก ถามปุโรหิตว่า “พระราชาของพวกท่านไปไหน” ครั้นปุโรหิตกราบทูลว่า  “พระราชา สวรรคตแล้ว” จึงตรัสถามว่า “พระราชา ไม่มีพระราชโอรสหรือ” ปุโรหิตกราบทูลว่า  “พระราชา ไม่มีพระราชโอรส มีแต่พระราชธิดา เพียงพระองค์เดียว”

พระมหาชนก จึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น เราจะครองราชสมบัติ” แล้วเสด็จลุกขึ้น ประทับนั่ง เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ ปุโรหิต ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ ได้ประกอบพิธีอภิเษกพระมหากษัตริย์  ณ สถานที่นั้น ถวายพระนามว่า “พระมหาชนกราช”

พระมหาชนก ประทับบนราชรถ เสด็จนำขบวนเข้าสู่พระนคร ด้วยเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่  แล้วเสด็จขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ ทรงดำริว่า การแต่งตั้งตำแหน่งเสนาบดี และตำแหน่งอื่น ๆ เอาไว้ก่อน  ทรงเสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งชั้นใน

ขุมทรัพย์จอมจักรา

ฝ่ายพระธิดาสีวลี ต้องการจะทดลองพระมหาชนก มหากษัตริย์แห่งมิถิลานครพระองค์ใหม่ จึงรับสั่งให้ทหาร ไปตามมาเข้าเฝ้าโดยด่วน ทหารไปกราบทูลพระราชาตามรับสั่งว่า  “พระธิดาสีวลี รับสั่งหา จงรีบเสด็จเข้าเฝ้า”

แม้พระราชา สดับแล้ว ก็แสร้งทำเป็นเหมือนไม่ได้ยิน เพราะความที่พระองค์เป็นบัณฑิต จึงรับสั่งกับเหล่าอำมาตย์ ชมเชยปราสาทราชฐานไปตามปกติว่า มีความวิจิตรงดงามตระการตา  เมื่อทหารนั้น ไม่อาจทำให้พระราชาได้ยิน จึงกลับมาทูลพระราชธิดาว่า พระราชามัวแต่ชมปราสาทราชฐาน ไม่ใส่ใจคำพูดของพระองค์

พระราชธิดา คิดว่า ชายผู้นี้ มีอัธยาศัยกว้างขวาง ลุ่มลึก จึงส่งทหารไปทูลเชิญเสด็จอีกถึงสองสามครั้ง แม้พระมหาชนก ก็เสด็จชมปราสาทราชฐาน ไปตามปกติ ตามความพอพระทัยของพระองค์ เหมือนการดำเนินของพญาราชสีห์ จนเสด็จเข้าไปใกล้พระสีวลีเทวีราชธิดา พระธิดารู้สึกสั่นสะท้าน ไม่อาจต้านทานเดชานุภาพได้ จึงเสด็จมาถวายให้เกี่ยวพระกร พระมหาชนกทรงรับเกี่ยวพระกรพระราชธิดา ขึ้นประทับนั่ง ณ ราชบัลลังก์ ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตรัสเรียกอำมาตย์ ทั้งหลายมาถามว่า ก่อนที่พระราชาจะเสด็จสวรรคต ได้สั่งอะไรไว้บ้าง อำมาตย์กราบทูลให้ทราบถึงปริศนาที่พระราชารับสั่งไว้ ดังนี้  

(๑) ให้มอบราชสมบัติ แก่ผู้ที่ทำให้พระราชธิดาสีวลี โปรดปรานได้

พระมหาชนกตรัสว่า“พระราชธิดา เสด็จมาถวายเกี่ยวพระกรพระองค์แล้ว ข้อนี้ เป็นอันว่า  เราได้ทำให้พระราชธิดา โปรดปรานแล้ว ท่านจงบอกข้ออื่น ”

อำมาตย์กราบทูลให้ทราบถึงคำใบ้แห่งปริศนาข้อต่อไป ดังนี้

(๒) ให้มอบราชสมบัติ แก่ผู้ที่รู้ด้านหัวนอนแห่งบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม

พระมหาชนก ดำริว่า ปัญหาข้อนี้ รู้ยาก ต้องอาศัยอุบาย จึงจะรู้ได้ พระองค์จึงถอดปิ่นทองคำ บนพระเศียรออก วางที่พระหัตถ์พระสีวลีเทวี ทรงรับสั่งว่า “เธอช่วยหาที่วาง ปิ่นทองนี้ด้วย” พระราชธิดาสีวลี รับปิ่นทองไป เนื่องจากปิ่นทอง เป็นเครื่องประดับพระเศียรพระมหากษัตริย์ พระนางเลือกวางไว้ในที่ ๆ เหมาะสม จึงวางไว้ ส่วนที่เป็นเบื้องหัวนอนแห่งบัลลังก์นั้น

พระมหาชนก ทราบได้ทันทีว่า ตรงนั้น เป็นด้านหัวนอนแห่งบัลลังก์ แต่ทำเป็นเหมือนไม่ได้ยิน  อำมาตย์ จึงตรัสทวนคำถามซ้ำว่า “ท่านถามเรา ว่าอย่างไร” ครั้นอำมาตย์ กราบทูลให้ทราบ จึงรับสั่ง ว่า “การรู้จักหัวนอนบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม ไม่ยาก ด้านนี้ เป็นด้านหัวนอน” พร้อมกับชี้บัลลังก์ด้านที่ปิ่นวางอยู่

อำมาตย์กราบทูลให้ทราบถึงคำใบ้แห่งปริศนาข้อต่อไป ดังนี้

(๓) ให้มอบราชสมบัติ แก่ผู้ยกสหัสถามธนูขึ้นได้

พระมหาชนก รับสั่งให้นำสหัสสถามธนู ที่มีน้ำหนักพันแรงคนยกขึ้นนั้นมา แล้วประทับบนราชบัลลังก์นั้นเอง ยกธนูขึ้น เหมือนยกกงดีดฝ้ายของเหล่าสตรี

อำมาตย์กราบทูลให้ทราบถึงคำใบ้แห่งปริศนาข้อต่อไป ดังนี้

(๔) ให้มอบราชสมบัติ แก่ผู้นำขุมทรัพย์ ๑๖ แห่งออกมาได้

พระมหาชนก ตรัสถามถึงปริศนาเกี่ยวกับขุมทรัพย์นั้น เมื่อพวกอำมาตย์ กราบทูลคำใบ้แห่งปริศนาต่าง ๆ มีขุมทรัพย์ ในที่พระอาทิตย์ขึ้น เป็นต้น พระองค์ ก็ทราบได้ทันที เหมือนคนเห็นดวงจันทร์ในวันเพ็ญลอยเด่นอยู่ท่ามกลางท้องฟ้า ทรงตรัสว่า “วันนี้ เย็นแล้ว พรุ่งนี้ จะเปิดขุมทรัพย์ ทุกแห่ง”

ครั้นรุ่งขึ้นอีกวัน พระมหาชนก ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ แล้วตรัสถามว่า พระราชาเคยนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้า มาฉันภายในพระราชนิเวศน์หรือไม่ เมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า เคยนิมนต์มาฉัน พระมหาชนก จึงดำริว่า พระอาทิตย์ น่าจะไม่ใช่พระอาทิตย์ที่มองเห็นกัน แต่หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งมีคุณแรงกล้าเหมือนดวงอาทิตย์ ขุมทรัพย์ คงจะอยู่ในสถานที่ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้า และขุมทรัพย์อีกแห่ง จะอยู่ตรงพระองค์ยืนส่งพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งเหมือนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า

พระมหาชนก รับสั่งให้ขุด ตรงที่พระราชาประทับยืนขณะเสด็จออกต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้า นำขุมทรัพย์ออกมาได้ และให้ขุด ตรงที่พระราชาประทับยืนขณะเสด็จส่งพระปัจเจกพุทธเจ้า นำขุมทรัพย์ออกมาได้ มหาชนต่างโห่ร้องถวายสาธุการสรรเสริญพระปัญญา ของพระมหาชนก ด้วยความปีติยินดีว่า “คนเป็นอันมาก เที่ยวขุดค้นหาทรัพย์ ทางทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น  และพระอาทิตย์ตก แต่ขุมทรัพย์ อยู่ตรงนี้เอง”

พระมหาชนก ได้แก้ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับคำใบ้แห่งปริศนาขุมทรัพย์ ของพระเจ้าโปลชนก ดังต่อไปนี้

ให้ขุดขุมทรัพย์ ภายในธรณีแห่งประตูใหญ่ของพระราชฐาน เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ ภายใน”

ให้ขุดขุมทรัพย์ ภายนอกธรณีแห่งประตูใหญ่ของพระราชฐาน เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ ภายนอก”

ให้ขุดขุมทรัพย์ ใต้ธรณีประตูใหญ่ของพระราชฐาน เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ ไม่ใช่ภายใน ไม่ใช่ภายนอก”

ให้ขุดขุมทรัพย์ ตรงที่เกยสำหรับพระราชาเสด็จเหยียบขึ้นช้างทรง เพราะปัญหาว่า  “ขุมทรัพย์ ขาขึ้น”

ให้ขุดขุมทรัพย์ ตรงที่พระราชาเสด็จลงจากคอช้างทรง เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ ขาลง”

ให้ขุดขุมทรัพย์ ทั้ง ๔ ใต้เท้าพระแท่นบรรทมทั้ง ๔ ซึ่งทำจากไม้รังใหญ่ เพราะปัญหาว่า  “ขุมทรัพย์ ที่ไม้รังใหญ่ทั้ง ๔”

ให้ขุดขุมทรัพย์ จากที่ประมาณชั่วแอกโดยรอบพระสิริไสยาสน์ เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ในที่โยชน์หนึ่ง โดยรอบ”

ให้ขุดขุมทรัพย์ ทั้ง ๒ ในโรงช้างต้น ตรงใต้งาทั้ง ๒ ข้าง เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายงาทั้งสอง”

ให้ขุดขุมทรัพย์ ในโรงช้าง เฉพาะตรงปลายหางของช้างต้น เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง”

ให้วิดน้ำในสระโบกขรณีออก ขนเอาขุมทรัพย์ขึ้นมา เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์น้ำ”

ให้ขุดขุมทรัพย์ ตรงเงาไม้รัง เวลาเที่ยงวัน ที่โคนไม้รังใหญ่ ในพระราชอุทยาน เพราะปัญหาว่า “ขุมทรัพย์ใหญ่ที่ยอดไม้”

พระมหาชนก ให้นำขุมทรัพย์ใหญ่ทั้ง ๑๖ มาได้แล้ว ตรัสถามว่า ยังมีปัญหาอื่นอีกหรือไม่  เมื่อเหล่าอำมาตย์ กราบทูลว่า ปัญหาหมดสิ้นแล้ว มหาชน ต่างโห่ร้อง ร่าเริง ด้วยความดีใจ ว่า  พระราชาของเรา เป็นบัณฑิต ทรงไขปริศนา ได้อย่างน่าอัศจรรย์

พระมหาชนก ทรงดำริว่า ก่อนบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอื่นใด พระองค์ควรให้ทานใหญ่ จึงโปรดให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ โรงทานกลางพระนครหนึ่งแห่ง โรงทาน  ที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ด้าน และโรงทานที่ประตูพระราชนิเวศน์อีกหนึ่งแห่ง สำหรับให้ทาน

แรงกตัญญู

เมื่อพระมหาชนก ได้ขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งมิถิลานครแล้ว ก็หวนคิดถึงพระมารดา จึงโปรดให้เชิญพระมารดา และพราหมณ์มหาศาล มาจากกาลจัมปานคร พระองค์ทำการบูชาสมโภชเฉลิมฉลองพระมารดา และพราหมณ์มหาศาล อย่างยิ่งใหญ่

เมื่อพระมหาชนก ขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์มีอายุ ๑๖ ชันษา เพราะความที่พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ ขณะยังทรงพระเยาว์ และทรงเป็นยุวกษัตริย์ ที่เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา  ประชาชนชาววิเทหรัฐ ต่างเล่าขานถึงยุวกษัตริย์ของตนด้วยความเคารพรักว่า “พระมหาชนก  ทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าอริฏฐชนกราช ผู้สิ้นพระชนม์กลางสนามรบ ทรงครองราชสมบัติ  เป็นพระธรรมราชา แห่งมิถิลานคร ทรงเป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาดในอุบาย สามารถแก้ปัญหาได้ พวกเราทั้งหลาย ต้องการเห็นพระองค์

ประชาชนชาววิเทหรัฐ ต่างแตกตื่นกันมา เพื่อจะได้เห็นพระมหาชนก  

เมื่ออาณาประชาราษฎร์ ต่างถือเครื่องบรรณาการ หลั่งไหลเข้าสู่มิถิลานคร จนกลายเป็นมหาสมาคม ชาวพระนครก็ยินดีปรีดา จัดงานเฉลิมเฉลองพระนครเป็นการใหญ่ ตกแต่งพระราชนิเวศน์ อย่างวิจิตรสวยงาม ห้อยพวงดอกไม้ โปรยปรายข้าวตอก ตกแต่งด้วยดอกไม้ เครื่องอบธูป และ เครื่องหอม จัดเตรียมข้าวน้ำโภชนาหารในภาชนะเงิน ภาชนะทองคำ โดยประการต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องราชบรรณาการ ถวายพระมหาชนก อาณาประชาราษฎร์ ต่างหลั่งไหลกันมา ชื่นชมยุวกษัตริย์ ของตน อย่างเนืองแน่น พวกอำมาตย์ข้าราชบริพาร อยู่ปะรำหนึ่ง พวกพราหมณ์ อยู่ปะรำหนึ่ง  พวกเศรษฐี เป็นต้น อยู่ปะรำหนึ่ง พวกชะแม่ ชาววัง สนมฝ่ายใน รูปโฉมงดงาม อยู่ปะรำหนึ่ง  พราหมณ์ทั้งหลาย ก็พร้อมกันสวดสาธยายมนต์ เพื่ออำนวยความสวัสดี ผู้กล่าวชัยมงคล ก็พร้อมกัน  ร้องถวายชัยมงคลกึกก้อง เหล่าผู้ชำนาญการขับร้อง ก็พร้อมกันขับเพลงถวายอยู่อึงมี่ ชนทั้งหลาย ก็บรรเลงดนตรีอยู่ครามครัน พระราชนิเวศน์ ก็บันลือลั่นสนั่นศัพท์สำเนียงเป็นเสียงเดียวกัน  ปานมหาสมุทรปั่นป่วนเพราะพายุโหมกระหน่ำพัด พระมหาชนกทอดพระเนตรไปที่ไหน ก็เหมือนจะกัมปนาทหวั่นไหว

พระมหาชนก ประทับบนพระราชอาสน์ ภายใต้มหาเศวตฉัตร ทอดพระเนตรสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่ ทรงระลึกถึงความเพียรพยายามของพระองค์ ท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล พระองค์ทรงรำพึงว่า

“ชื่อว่า ความเพียร ควรทำแท้ ถ้าเรา ไม่มีความเพียรท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล เราก็จะไม่ได้ราชสมบัตินี้”  

เมื่อทรงระลึกถึงความเพียรพยายามอยู่ ก็เกิดปีติโสมนัส จึงเปล่งอุทาน ด้วยกำลังปีติว่า

“ลูกผู้ชาย ที่เป็นบัณฑิต ควรมีความหวัง อย่าพึงเบื่อหน่าย เพราะความหวังนี้เอง จึงทำให้เรา ได้เป็นพระราชา

ลูกผู้ชาย ที่เป็นบัณฑิต ควรมีความหวัง อย่าพึงเบื่อหน่าย เพราะความหวังนี้เอง จึงทำให้เรา สามารถว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้

เกิดเป็นคน ควรเพียรพยายามอยู่ร่ำไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ นรชนผู้มีปัญญา  แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง  

แท้จริง คนเป็นอันมาก เมื่อประสบทุกข์ ก็บ่นเพ้อรำพัน เมื่อประสบสุข ก็ระเริงหลง ไม่คิดจะใช้ความเพียรพยายาม จึงประสบหายนะ คือ ความตาย โภคะทั้งหลายของสตรี หรือบุรุษ  ไม่ได้เกิดขึ้น เพียงเพราะความคิดเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้น เพราะความเพียร พยายาม

พระมหาชนก ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม เสมอมา ทรงถวายความอุปถัมภ์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย กาลต่อมา พระนางสีวลีเทวี ได้ประสูติพระโอรส สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งผู้มีบุญญาธิการ ทรงขนานพระนามว่า “ทีฆาวุราชกุมาร” เมื่อทรงเจริญวัย ได้รับการอุปราชาภิเษกแล้ว ทรงช่วยพระบิดาปกครองบ้านเมืองต่อมา

อุทยานอัมพวัน

อยู่มาวันหนึ่ง คนดูแลสวน ได้นำผลไม้นานาชนิด ตลอดจนดอกไม้หลากพรรณ มาถวายพระมหาชนก ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ทรงยินดี ปรารถนาจะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน  คนดูแลสวน จึงเตรียมการรับเสด็จ ตามพระราชประสงค์ พระมหาชนก ประทับบนคอช้าง  เสด็จออกจากพระนคร มีข้าราชบริพารตามเสด็จ เป็นจำนวนมาก

ขณะพระองค์ เสด็จผ่านประตูพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วง ๒ ต้น แผ่กิ่งก้านสาขา เขียวชอุ่ม สง่างาม ต้นหนึ่ง ไม่มีผล อีกต้นหนึ่ง มีผล ต้นที่มีผลนั้น  เป็นมะม่วงที่มีรสหอมหวาน ไม่มีใครกล้าเก็บผลมะม่วงจากต้นนั้น เพราะพระราชายังไม่ได้เสวย

พระมหาชนกประทับบนคอช้าง รับสั่งให้คนดูแลสวน เก็บผลมะม่วงผลหนึ่ง มาให้เสวย มะม่วงนั้น มีรสชาติโอชาหอมหวานดุจรสทิพย์ พระองค์ทรงตั้งใจว่า เมื่อกลับออกจากอุทยาน  จะเสวยเพิ่มอีก แล้วเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยาน ชมสถานที่อื่น ๆ อุปราช ปุโรหิต อำมาตย์ และ  ข้าราชบริพาร ตลอดจนตะพุ่นช้าง ตะพุ่นม้า ที่ตามเสด็จ เมื่อรู้ว่า พระราชาเสวยมะม่วงแล้ว  ครั้นพระองค์เสด็จคล้อยไปหน่อยหนึ่ง ต่างก็รุมกัน ยื้อแย่งผลมะม่วงที่เหลือ ทำให้ใบมะม่วงร่วง กิ่งฉีก หักเกลื่อน ไม่เหลือสภาพต้นมะม่วงที่สง่างามเหมือนเดิม ส่วนมะม่วงอีกต้น ซึ่งไม่มีผล  กลับยืนต้น แผ่กิ่งก้านสาขาเขียวครึ้มสง่างาม

ครั้นพระราชา เสด็จออกจากพระราชอุทยาน ตั้งใจว่า จะเสวยมะม่วงเพิ่มอีก กลับเห็นต้นมะม่วงที่ให้ผลดกหนา อยู่ในสภาพน่าหดหู่เช่นนั้น ส่วนต้นที่ไม่มีผล กลับยืนต้น แผ่กิ่งก้านสาขา เขียวครึ้มสง่างาม จึงตรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า เกิดอะไรขึ้น

เมื่ออำมาตย์กราบทูลให้ทราบถึงสาเหตุที่ต้นมะม่วงกลายสภาพเป็นเช่นนี้ จึงเกิดความสังเวชใจว่า “ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง ยังคงแผ่กิ่งก้านสาขาสง่างาม เพราะไม่มีผล แต่อีกต้นที่มี    ผลดกหนา ถูกยื้อแย่งใบร่วงกิ่งฉีกหักเกลื่อน ราชสมบัติ ก็เหมือนต้นมะม่วงมีผล ต้องคอยเฝ้าหวงแหน ทำให้เกิดความกังวลใจ การบวช เหมือนต้นมะม่วงไร้ผล เพราะไม่มีผลประโยชน์ให้แสวงหา ภัยย่อมมี แก่ผู้มีความกังวล และภัยย่อมไม่มี แก่ผู้ไม่มีความกังวล”

พระมหาชนก ทรงอธิษฐานจิตมั่นว่า

“เราจะไม่เป็นเหมือนต้นมะม่วงมีผล

แต่จะเป็นเหมือนต้นมะม่วงไม่มีผล

เราจะสละราชสมบัติ ออกบวช”

ครั้นเสด็จสู่พระนครแล้ว ได้เสด็จขึ้นสู่ปราสาททันที ประทับยืนที่ประตู ให้เรียกเสนาบดีมารับสั่ง ห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าเฝ้า เว้นแต่ผู้นำอาหาร น้ำบ้วนพระโอษฐ์ และไม้สีพระทนต์ เท่านั้น  พระองค์ไม่ทรงราชกิจใด ๆ ทรงมอบให้เหล่าเสนาอำมาตย์ เป็นผู้วินิจฉัยราชกิจ ทรงบำเพ็ญสมณธรรมบนปราสาทเพียงลำพังพระองค์เดียว

ครั้นวันเวลาล่วงไป ประชาชนไม่เห็นพระมหาชนก เกิดความรู้สึกว่า พระราชาเปลี่ยนไป  จึงชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง วิพากษ์วิจารณ์กันว่า “พระราชา ไม่เหมือนเดิม ไม่ทอดพระเนตรการฟ้อนรำ ไม่ใส่ใจในการขับร้อง ไม่ทอดพระเนตรฝูงเนื้อ ไม่เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ไม่ทอดพระเนตรฝูงหงส์ ประทับนิ่ง เหมือนคนใบ้ ไม่ทรงออกว่าราชกิจอะไร ๆ เลย”

พระมหาชนก ไม่มีจิตใจข้องเกี่ยวในกามทั้งหลาย ทรงน้อมไปในวิเวก ระลึกถึงเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้คุ้นเคยในราชสกุล ทรงรำพึงว่า ใครจะสามารถบอกสถานที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ให้พระองค์ทราบได้ จึงเปล่งอุทานว่า

“ปราชญ์ทั้งหลาย ผู้มุ่งความสงบสุข ปราศจากเครื่องผูก คือ กิเลส ทั้งหนุ่มและแก่  ก้าวข้ามตัณหาได้แล้ว วันนี้ ท่านอยู่ที่ไหนกันหนอ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมปราชญ์เหล่านั้น  ผู้ก้าวล่วงกิเลสได้แล้ว ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ไม่มีความตะเกียกตะกาย แต่อยู่ในโลกที่ตะเกียกตะกาย สามารถตัดข่ายแห่งมัจจุราช ให้ขาดเสียได้ ใครหนอ จักนำเราไปสู่ป่า ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของท่านเหล่านั้นได้”

เมื่อพระมหาชนก น้อมรำลึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่เช่นนี้ ก็เกิดปีติอย่างมาก ทรงเสด็จลุกจากบัลลังก์ เปิดสีหบัญชรด้านทิศเหนือ ยกมือไหว้เหนือพระเศียร น้อมนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ไปสู่ที่อันไกลโพ้น

วันเวลาล่วงไป ๔ เดือน พระหทัยของพระองค์ ได้น้อมไปในบรรพชาอย่างยิ่ง ปราสาทราชฐาน ปรากฏดุจไฟนรกลุกไหม้ เร่าร้อนดุจถูกเผาผลาญ ทรงใคร่ครวญถึงกาลที่จะเสด็จออกจากมิถิลานคร  สู่ป่าหิมวันต์ ครองเพศเป็นบรรพชิต ทรงพรรณนาถึงกรุงมิถิลานคร ที่พระองค์ต้องการจะละทิ้งไป  โดยประการต่าง ๆ ว่า

“เมื่อไร เราจะได้จากกรุงมิถิลานครอันรุ่งเรือง สว่างไสวไปทุกทิศ นายช่าง ผู้ชำนาญรังสรรค์ไว้ เป็นสัดส่วน มีพระราชนิเวศน์ ถนน กำแพง หอรบ มีป้อมปราการ ที่แข็งแกร่ง มีซุ้มประตูมั่นคง มีทางหลวงตัดไว้เรียบร้อยดี มีร้านค้าเรียงรายอยู่ตามริมถนน ผู้คนขวักไขว่  เบียดเสียดไปด้วย โค ม้า และรถ มีพุ่มไม้ประดับ และพรรณไม้นานาชนิด ในพระราชอุทยาน  มีปราสาทอันวิจิตรงดงาม ระดะไปด้วยปราการ ๓ ชั้น ที่พระเจ้าวิเทหะผู้ยิ่งใหญ่ พระนามว่า  “โสมนัส” ทรงสร้างไว้ ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม พรั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์  อันหมู่ปัจจามิตร มิอาจรบชนะได้  

เมื่อไร เราจะได้จากปราสาทราชมณเฑียรอันน่ารื่นรมย์ ฉาบทาด้วยปูนขาว และดินเหนียว  มีกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ พระตำหนักแซงเสียดฟ้า ปลียอดวิจิตรสีละลานตา ราดรด ประพรมด้วยแก่นจันทน์  

ความหวังที่จะได้ออกบวช จะสำเร็จได้ เมื่อไรหนอ

เมื่อไร เราจะได้จากราชบัลลังก์ทอง บัลลังก์แก้วมณี ที่ลาดด้วยพรมขนสัตว์อย่างวิจิตร จะได้จากผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าป่าน และผ้าจากแคว้นโกทุมพร จากสระโบกขรณี  อันชุ่มเย็น เจื้อยแจ้วจำเรียงเสียงด้วยนกจากพรากมาพร่ำเพรียกอยู่ ดารดาษไปด้วยดอกมณฑา  ปทุม และอุบลหลากสี

ความหวังที่จะได้ออกบวช จะสำเร็จ เมื่อไรหนอ

เมื่อไร กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลธนู ราชบุตรทั้งหลาย หมู่พราหมณ์  และเหล่าอำมาตย์ ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ล้วนสวมเกราะแกล้วกล้า เดินนำหน้าไปเป็นขบวน ที่เคยติดตามเรา จะไม่ติดตามเรา

เมื่อไร เหล่านางสนมกำนัลใน พูดจาฉอเลาะ น่ารัก ละมุนละไม สะโอดสะอง ประดับด้วยเครื่องอลังการงดงาม ที่เคยติดตามเรา จะไม่ติดตามเรา  

ความหวังนั้น จะสำเร็จได้ เมื่อไรหนอ

เมื่อไร เราจะได้ปลงผม ห่มผ้า พาดสังฆาฏิ อุ้มบาตร เที่ยวบิณฑบาต จะได้ครองผ้าสังฆาฏิ  ที่ทำจากผ้าบังสุกุล ซึ่งเขาทิ้งไว้ตามถนนหนทาง เมื่อฝนตกตลอด ๗ วัน เราจะมีจีวรเปียกชุ่ม   เที่ยวบิณฑบาต จะได้จาริกไปตามต้นไม้ ตามราวป่า ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน ไม่กังวลถึงราชกิจใด ๆ เราจะละความกลัว และความขลาดเขลา เที่ยวไปคนเดียว ตามซอกเขา และ  โตรกธาร จะทำจิตให้ตรง ดังนักดนตรี ดีดพิณให้รื่นรมย์ใจ

ความหวังนั้น จะมาถึง เมื่อไรหนอ

เมื่อไร เราจึงจักตัดกามสังโยชน์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ และของมนุษย์ ได้เสียที

ความหวังนั้น จะสำเร็จได้ เมื่อไรหนอ”

สู่ทางโพธิญาณ

พระมหาชนก เกิดในยุคสมัย ที่คนมีอายุ ๑๐,๐๐๐ ปี เสวยราชสมบัติ ๗,๐๐๐ ปี  ออกผนวช ขณะพระชนมายุเหลืออยู่ประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ใช้เวลาตัดสินใจบวชอยู่ ๔ เดือน  จึงออกบวช

ตั้งแต่วันที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วง ที่ประตูพระราชอุทยาน ก็ทรงดำริว่า  “การบวชเป็นบรรพชิต ประเสริฐกว่าการเป็นพระราชา เราจะออกบวช” จึงรับสั่งมหาดเล็กเป็นความลับ ให้ซื้อผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรดินมาจากตลาด อย่าให้ใครรู้ ให้เรียกเจ้าพนักงานภูษามาลามาปลงผมและหนวด พระราชทานบ้านส่วย เป็นรางวัลแก่พนักงานภูษามาลา แล้วโปรดให้กลับไป

จากนั้น พระองค์ทรงนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง และพาดผืนหนึ่ง ที่พระอังสา  สวมบาตรดินในถุง คล้องพระอังสา ทรงถือไม้เท้า เสด็จจงกรมกลับไปกลับมาบนปราสาท   ตามอย่างลีลาพระปัจเจกพุทธเจ้า ตลอดทั้งวัน ทรงเปล่งอุทานว่า “โอ การบรรพชา เป็นสุขอย่างยิ่ง  เป็นสุขอันประเสริฐเหลือเกิน

ครั้นรุ่งขึ้นอีกวัน ขณะแสงเงินแสงทองจับขอบฟ้า พระองค์ทรงตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยว เสด็จลงจากปราสาท ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับพระนางสีวลีเทวี ตรัสเรียกเหล่าสตรีคนสนิททั้ง ๗๐๐ คน มาบอกให้ทราบว่า พระองค์ไม่ได้พบพระราชา มากว่า ๔ เดือนแล้ว จึงรับสั่งให้ทุกคน ตกแต่งประดับประดาตนเอง ด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง ให้แสดงกิริยาอาการร่าเริงแจ่มใสอย่างสตรี แม้พระเทวีเอง ก็ทรงประดับตกแต่งพระองค์ แล้วเสด็จขึ้นปราสาทพร้อมสตรีเหล่านั้น เพื่อเข้าเฝ้าพระมหาชนก

ขณะที่พระนางเสด็จไปยังปราสาท ได้เดินสวนทางกับพระราชา ซึ่งบวชเป็นบรรพชิต  ก็จำไม่ได้ ทรงก้มลงกราบ แล้วถอยไปยืนอยู่อีกด้านหนึ่ง เพราะคิดว่า บรรพชิตรูปนี้   เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า มาถวายโอวาทพระราชา

ขณะที่พระโพธิสัตว์ เสด็จลงจากปราสาทนั้น พระเทวีก็เสด็จเข้าไปห้องบรรทม ทอดพระเนตรเห็นพระเกศาสีดำสนิท ดุจปีกแมลงภู่ และห่อเครื่องราชาภรณ์ วางอยู่บนที่บรรทม ก็ทราบว่า สมณะที่เดินสวนทางลงไปนั้น ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เป็นพระราชสวามีของพระองค์เอง จึงเรียกเหล่าสตรี เสด็จลงจากปราสาทอย่างรีบเร่ง ตามไปทันพระราชา ที่ท้องสนามหลวง

ครั้นถึงแล้ว ได้สยายพระเกศาเรี่ยราย เบื้องพระปฤษฎางค์ พร้อมทั้งสตรีเหล่านั้น  เอาพระหัตถ์ทั้งสองทุบอก กราบทูลว่า “เพราะเหตุไร พระองค์ จึงทรงทำอย่างนี้” ทรงร้องไห้คร่ำครวญปริเทวนาการ อย่างน่าสงสารยิ่ง ติดตามพระราชาไป ไม่ลดละ แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของพระราชาได้

ครั้งนั้น ชาวพระนครทั้งสิ้น ก็เอิกเกริกโกลาหล ชาวเมืองต่างโจษขานกันว่า พระราชาทรงสละราชสมบัติ ออกผนวช ต่างร้องไห้ เสียใจ ต่อการสละพระราชบัลลังก์ของพระราชา

แม้พระนางสีวลี ทรงร้องไห้คร่ำครวญอยู่ ก็ไม่สามารถทำให้พระราชาเสด็จกลับได้  จึงให้เรียกเหล่าอำมาตย์ มาออกอุบาย ตรัสสั่งให้จุดไฟเผาเรือนเก่า ศาลาเก่า ข้างหน้า ตามทางที่พระราชาจะเสด็จผ่านไป ให้เอาหญ้าและใบไม้ มาสุมให้เกิดควันโขมงมากขึ้น ประหนึ่งว่า  ไฟลุกไหม้กรุงมิถิลานครแล้ว เหล่าเสนาอำมาตย์ ได้ทำตามพระเทวีรับสั่ง

พระนางสีวลี ไปหมอบแทบพระบาท กราบทูลให้ทราบว่า “เปลวไฟ โหมลุกไหม้คลังทั้งหลาย ทั้งคลังเงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ แก้วมณี สังข์ ผ้า จันทร์เหลือง หนังสัตว์ เครื่องงาช้าง และคลังเหล็ก แม้อยู่กันคนละฝั่ง ก็ไหม้ติดกันไปหมด ขอพระองค์ โปรดเสด็จกลับไป ดับไฟเสียก่อน  พระราชทรัพย์ อย่าได้วอดวายในเปลวเพลิงเลย ขอพระองค์จงดับไฟนั้น แล้วจึงค่อยเสด็จไปภายหลัง เพราะพระองค์ จะถูกครหาว่า เสด็จออกไป โดยไม่เหลียวแลพระนคร ที่กำลังถูกไฟไหม้   พระองค์ จะเสียใจในภายหลัง เพราะความอับอายนั้น มาเถิด พระองค์โปรดสั่งการให้เหล่าอำมาตย์  ดับไฟเถิด”

พระโพธิสัตว์ ตรัสกับพระนางสีวลีว่า “เธอพูดอะไรกัน ผู้คน เกิดความกังวล เพราะไฟเผาผลาญทรัพย์สมบัติ แต่บัดนี้ เราไม่มีทรัพย์สมบัติแล้ว เรามีชีวิตอยู่สบาย เมื่อไฟไหม้กรุงมิถิลานคร จึงไม่ได้ไหม้เรา แม้แต่นิดเดียว”

ตรัสแล้ว ก็เสด็จออกจากพระนคร ทางประตูทิศเหนือ แม้พระสนมกำนัลทั้งหมด ก็ออกตามเสด็จไป

พระนางสีวลี คิดอุบายอีกอย่างหนึ่งได้ จึงตรัสสั่งอำมาตย์ ให้ทำเหมือนโจรปล้นฆ่าชาวบ้าน   คนทั้งหลาย ก็ทำเป็นคนถืออาวุธวิ่งไปมาเหมือนปล้น รดน้ำครั่งที่ร่างกายเหมือนถูกคมหอกคมดาบ เลือดแดงฉาน ทุรนทุรายเกลือกกลิ้งโอดครวญบนพื้นดินว่า “ขณะนี้ พวกโจรปล้นแผ่นดิน เข่นฆ่าอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์” แม้พระเทวี กราบทูลว่า “โจรป่า ปล้นแผ่นดินพระองค์  ขอพระองค์ จงเสด็จกลับเถิด อย่าให้แผ่นดินนี้ พินาศเลย”

พระมหาชนก สงสัยว่า เมื่อพระองค์อยู่ในพระนคร ไม่เคยได้ยินว่า มีโจรปล้นแผ่นดินนี้ เห็นจะเป็นอุบายของพระนางสีวลี จึงตรัสว่า “เราไม่มีความกังวล มีชีวิตเป็นสุขดี เมื่อโจรปล้นแว่นแคว้น พวกโจรไม่ได้ปล้นอะไร ๆ ของเราไป เราจะมีปีติเป็นอาหาร ให้วันเวลาผ่านไป ด้วยความสุขที่เกิดจากฌาน เหมือนเทวดาชั้นอาภัสสระ

แม้เมื่อพระราชา ตรัสอย่างนี้แล้ว มหาชนก็ยังคงติดตามพระองค์ไป อย่างไม่ลดละ พระโพธิสัตว์ จึงหยุดในระหว่างทางใหญ่ ตรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า “ราชสมบัติ เป็นของใคร” อำมาตย์ทั้งหลาย  กราบทูลว่า “เป็นของพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์” พระมหาชนก จึงตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น  ท่านทั้งหลาย จงลงราชทัณฑ์ แก่ผู้ที่ลบรอยขีดของพระมหากษัตริย์ นี้” แล้วทรงเอาไม้เท้าขีดเส้นบนแผ่นดิน ขวางทางไว้

ไม่มีใคร กล้าลบรอยขีด ที่พระราชาขีดไว้ ข้าราชบริพาร ยืนอยู่ระหว่างรอยขีด  ต่างคร่ำครวญกัน อย่างเหลือเกิน

แม้พระนางสีวลี ก็ไม่กล้าลบรอยขีดนั้น แต่เมื่อทอดพระเนตรเห็นพระราชาหันหลังกลับ   เสด็จต่อไป จึงไม่อาจกลั้นโศกาอาดูรได้ ทรงทุบพระอุระ ล้มลงขวางทางใหญ่ กลิ้งเกลือกไปมา ทำให้เส้นขีดลบไป ข้าราชบริพาร จึงพากันตามเสด็จต่อไป เพราะไม่มีเส้นขีด

พระโพธิสัตว์ ทรงมุ่งหน้าเสด็จขึ้นเหนือ ไปทางภูเขา เขตป่าหิมวันต์ ส่วนพระนางสีวลีก็พาข้าราชบริพาร ตามเสด็จไม่ลดละ แม้พระราชา เสด็จไปไกลถึง ๖๐ โยชน์ ก็ยังไม่สามารถทำให้มหาชนกลับได้

         ๑ สวรรค์มี ๖ ชั้น เป็นที่อยู่ของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องกับกามคุณ สูงขึ้นไปกว่านั้น เป็นพรหมโลก มี ๒๐ ชั้น แบ่งเป็นพรหมที่มีรูปร่าง เรียกว่า “รูปพรหม” ๑๖ ชั้น และพรหมที่ไม่มีรูปร่าง เรียกว่า “อรูปพรหม” อีก ๔ ชั้น รวมเป็นพรหมโลก ๒๐ ชั้น  ผู้ที่จะไปเกิดในพรหมโลกแต่ละชั้น ต้องทำสมาธิ จนได้บรรลุฌาน ๔ ขั้น เท่านั้น

          กาลนั้น มหานารทฤๅษี ในป่าหิมวันต์ ออกจากฌาน เปล่งอุทานว่า “โอ เป็นสุขหนอ   โอ เป็นสุขจริงหนอ” มหาฤๅษีนั้น เห็นพระมหาชนก ซึ่งเป็นพระราชา ออกผนวช แต่มีมหาชน   ข้าราชบริพาร และพระมเหสี ติดตามมาจากพระนคร เป็นอันมาก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อพระองค์  ผู้ตั้งใจออกผนวช จึงไปพบพระราชาด้วยฤทธิ์ สถิตอยู่ในอากาศเบื้องหน้าพระราชา กล่าวสอน เพื่อให้เกิดอุตสาหะว่า “สมณะ ใครหนอ ตามท่านมา เสียงกึกก้องโกลาหลของประชาชน ใหญ่ขนาดนี้ เหมือนเล่นกันอยู่ในบ้าน ทำไม ประชาชนจึงตามแวดล้อมท่านมากมายขนาดนี้”

พระโพธิสัตว์ สดับคำของฤๅษี จึงตรัสว่า “ประชาชน ตามข้าพเจ้าผู้ละทิ้งพวกเขามา   ข้าพเจ้า ก้าวข้ามสีมา คือ กิเลสไปแล้ว ออกบวช เพื่อบรรลุฌานของพระมุนี แต่ผู้คนทั้งหลายเหล่านั้น ยังเป็นผู้เจือด้วยความเพลิดเพลิน จึงติดตามข้าพเจ้ามา พระคุณเจ้า ก็รู้อยู่ แล้วจะถามทำไม”

มหานารทฤๅษีกล่าวว่า “พระองค์ ทรงครองเพศบรรพชิต เพียงร่างกาย แค่บริขาร และ  ผ้ากาสาวพัสตร์ของนักบวชเท่านั้น อย่าเข้าพระทัยว่า เราข้ามพ้นกิเลสได้แล้ว กรรมคือกิเลส   ไม่สามารถข้ามพ้นได้ เพียงเพราะแต่งตัวเป็นเพศบรรพชิต เพราะอันตรายจากกิเลส ยังมีอยู่มาก”

พระโพธิสัตว์ตรัสตอบนารทฤๅษีว่า “ข้าพเจ้า ไม่ปรารถนากามทั้งหลาย ทั้งในปัจจุบัน และ  ในอนาคต ข้าพเจ้าผู้เดียว ท่องเที่ยวไปตามลำพัง แล้วอันตราย จะมีแก่ข้าพเจ้า ได้อย่างไร”

มหานารทฤๅษี แสดงอันตรายแห่งการบวช แก่พระโพธิสัตว์ว่า “อันตราย อยู่ที่ตัวเราเอง คือ  ความหลับ ความเกียจคร้าน ความง่วงเหงา ความไม่ชอบใจ ความเมาเพราะบริโภคอาหารมากเกินไป พระองค์มีรูปงามน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณดุจทองคำ เมื่อพระองค์ประกาศ ให้คนทั้งหลาย ทราบว่า พระองค์ทิ้งราชสมบัติออกผนวช คนทั้งหลาย ก็จะศรัทธา ถวายบิณฑบาตมีรสดี  ทั้งประณีตแก่พระองค์ พระองค์รับมาเต็มบาตร เสวยพอควร แล้วเข้าบรรณศาลา บรรทมบนที่ลาด ด้วยใบไม้ หลับกรน รู้สึกตัว บิดขี้เกียจ พลิกกลับไปกลับมา เหยียดพระหัตถ์ และพระบาท ลุกขึ้น จับราวจีวร เกียจคร้าน ไม่จับไม้กวาดกวาดอาศรม ไม่ตักน้ำดื่ม บรรทมต่ออีก คิดถึงกามารมณ์   ถึงเวลานั้น ก็จะไม่พอใจในการบวช”

พระโพธิสัตว์ ตรัสสรรเสริญนารทฤๅษีว่า “ท่านผู้เจริญ พร่ำสอนข้าพเจ้าดีนักหนา   ท่านเป็นใคร”

มหานารทฤๅษีกล่าวว่า “อาตมา มีนามว่า “นารทะผู้คน เรียกอาตมาตามโคตร ว่า “กัสสปะ” อาตมภาพ มาหาพระองค์ เพราะรู้ว่า การสมาคมกับสัตบุรุษ ย่อมเป็นประโยชน์   ขอพระองค์ จงยินดีในพรหมวิหารธรรม จงบำเพ็ญในศีล ในบริกรรมภาวนา และในฌานให้บริบูรณ์ จงมีความอดทน และความสงบระงับ อย่าถือพระองค์ว่า เป็นกษัตริย์ออกบวช   จงลดความถือตัว บำเพ็ญกุศล วิชชา และสมณธรรม แล้วประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยความเคารพ”  ครั้นนารทฤๅษี ถวายโอวาทพระโพธิสัตว์ อย่างนี้แล้ว ก็กลับไปที่อยู่ของตน

เมื่อมหานารทฤๅษี ไปแล้ว มิคาชินฤๅษี ก็มาถวายโอวาทพระโพธิสัตว์ เช่นกัน ว่า “พระองค์    ทิ้งช้าง ม้า และอาณาประชาราษฎร์ ออกผนวช ยินดีในบาตร อาณาประชาราษฎร์ มิตร อำมาตย์  และพระประยูรญาติเหล่านั้น ทำให้พระองค์ผิดหวัง กระมัง พระองค์ จึงทิ้งอิสริยยศ มาชอบใจบาตรดิน”

พระโพธิสัตว์ ตอบมิคาชินฤๅษีว่า

“ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้า มิได้มีความขัดแย้งอะไรกับพระประยูรญาติ ทั้งพระประยูรญาติ ก็มิได้ขัดแย้งกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นโลกถูกกิเลสย่ำยี ผู้คนต่างตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ถูกทำลายและถูกฆ่าไป เพราะกิเลส ดังนั้น  จึงได้บวชเป็นภิกษุ”

มหาฤๅษี ปรารถนาจะฟังข้อความนั้น ต่อไปอีก จึงกล่าวว่า “ใครหนอ เป็นศาสดา สั่งสอนพระองค์ คำพูดหมดจดในวัตรปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การก้าวล่วงทุกข์นี้ ใคร เป็นผู้สอน”

พระโพธิสัตว์ กล่าวว่า ท่านมิคาชินะ ถึงแม้ข้าพเจ้า จะมีความเคารพในสมณะ  หรือพราหมณ์ อย่างจริงใจ แต่ก็ไม่เคยถามอะไร เกี่ยวกับการบรรพชาเลย ข้าพเจ้าไปอุทยาน   ได้เห็นต้นมะม่วง ๒ ต้น ต้นหนึ่ง มีผลหอมหวาน อีกต้นหนึ่ง ไม่มีผล เหล่าชน ผู้ต้องการผลมะม่วง พากันยื้อแย่งต้นมะม่วงที่มีผล จนใบร่วงกิ่งฉีกหัก กลายเป็นต้นไม้ มีใบร่วงโกร๋น น่าสังเวชใจ  แต่มะม่วงอีกต้นที่ไม่มีผล กลับมีใบเขียวชอุ่ม แผ่กิ่งก้าน สมบูรณ์

เสือเหลือง ถูกฆ่าเพราะหนัง ช้าง ถูกฆ่าเพราะงา คนมีทรัพย์ ถูกฆ่าเพราะทรัพย์ ใครเล่า จะฆ่าผู้ไม่มีเหย้าเรือน ผู้ไม่เกี่ยวข้อง กับตัณหา มะม่วงต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทั้งสองต้นนั้น เป็นผู้สั่งสอนข้าพเจ้า

มิคาชินฤๅษี ได้ฟังดังนั้น จึงถวายโอวาทว่า “ขอพระองค์ ทรงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด  มหาบพิตร” แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตน

บนเส้นทางที่ต้องเลือก

          เมื่อมิคาชินฤๅษี ไปแล้ว พระนางสีวลีเทวี หมอบลงแทบพระบาทพระราชา กราบทูลให้พระองค์กลับไปอภิเษกพระโอรสเป็นพระมหากษัตริย์ก่อนว่า “อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงต่างตกใจว่า พระราชาทอดทิ้งพวกเขา ออกผนวชเสียแล้ว ขอพระองค์โปรดทำให้ประชาชนอบอุ่นใจ ด้วยการกลับไปอภิเษกพระราชโอรสครองราชสมบัติแล้ว จึงทรงผนวชในภายหลัง”

         พระโพธิสัตว์ แย้งว่า “อาตมา ได้สละชาวชนบท มิตร อำมาตย์ และพระประยูรญาติ ทั้งหลายแล้ว ส่วนทีฆาวุราชกุมารนั้นเล่า ก็เป็นบุตรของชาววิเทหะ สามารถปกครองบ้านเมืองให้เจริญได้ ชาววิเทหะจะอภิเษกพระราชโอรส ให้ครองราชสมบัติ ในกรุงมิถิลานคร”

พระนางสีวลี กราบทูลถึงตัวพระนางเองว่า “เมื่อไม่มีพระองค์ หม่อมฉันจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร” พระโพธิสัตว์ตอบว่า “พระเทวี อาตมาจะบอกให้รู้ เมื่อเธอให้พระโอรส ครองราชสมบัติ ก็จะเป็นเหตุให้ทำบาป ทั้งทางกาย วาจา และใจ เป็นอันมาก ซึ่งจะทำให้ไปเกิดในนรก การที่เราดำรงชีพอยู่ ด้วยก้อนข้าวที่ผู้อื่นให้ นี้ เป็นธรรมของนักปราชญ์ ทั้งหลาย

         กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ตรัสโต้ตอบกันพลางเสด็จดำเนินไปเช่นนี้ จนอาทิตย์อัสดง จับทิวป่า สาดแสงสีแดงระเรื่อ พระเทวีจึงรับสั่งให้ตั้งค่ายพักแรม ส่วนพระโพธิสัตว์เสด็จประทับแรมที่โคนไม้แห่งหนึ่ง ตลอดราตรี

ครั้นรุ่งเช้า พระโพธิสัตว์ ก็ทรงเสด็จดำเนินตามหนทางต่อไป แม้พระเทวี ก็เสด็จติดตามไปข้างหลัง จนลุเข้าเขตถูณนคร ในเวลาภิกขาจาร

         ขณะนั้น มีชายชาวเมืองถูณนครคนหนึ่ง ซื้อเนื้อมาจากโรงฆ่าสัตว์ เสียบหลาวย่างไฟจนสุก เอาออกวางไว้ข้างนอก คอยให้เย็น พอเผลอ สุนัขตัวหนึ่ง แอบคาบเนื้อชิ้นนั้น วิ่งหนีไป เขาวิ่ง  ไล่ตาม จนสุนัขออกประตูเมือง เมื่อเห็นว่า วิ่งตามไม่ทันแล้ว จึงกลับบ้าน พระโพธิสัตว์กับพระเทวี  เสด็จมาตามทางที่สุนัขวิ่งสวนมา สุนัขนั้นตกใจกลัว จึงทิ้งเนื้อ วิ่งหนีไป

           พระโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นเนื้อนั้น ทรงรำพึงว่า สุนัขทิ้งชิ้นเนื้อหนีไปแล้ว และเจ้าของ  คนอื่น ก็ไม่มี อาหารเช่นนี้ ไม่มีโทษ ชื่อว่า “บังสุกุลบิณฑบาต” จึงนำบาตรดินออกมา หยิบเนื้อชิ้นนั้น  ขึ้นมาปัดฝุ่น แล้วใส่ลงในบาตร เสด็จไปท่าน้ำ ที่มีน้ำใสสะอาด ทรงพิจารณาอาหารบิณฑบาต  แล้วเริ่มเสวยเนื้อชิ้นนั้น

          พระเทวี ดำริว่า “หากพระราชา ยังมีเยื่อใยอยู่บ้าง ก็จะไม่เสวยเนื้อเดนสุนัขเปื้อนฝุ่น ไม่สะอาด น่าเกลียดนี้ แต่นี้ พระองค์ไม่ใช่พระราชสวามีของเรา อีกต่อไปแล้ว” แม้เช่นนี้ พระนางก็ไม่สามารถหักห้ามความรักได้ จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ ช่างเสวยเนื้อ   ที่น่าเกลียดเช่นนี้ได้” พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “เธอยังเขลานัก จะรู้จักบิณฑบาต ที่วิเศษนี้ ได้อย่างไร” แล้วทรงเสวยก้อนเนื้อนั้นต่อไป ดุจเสวยอมตรส บ้วนพระโอษฐ์ ล้างพระหัตถ์ และพระบาท ที่ท่าน้ำนั้น

พระเทวีตำหนิพระราชาว่า “คนทั่วไป แม้อดอาหารมาถึง ๔ มื้อ ก็ไม่ยอมกินเนื้อเปื้อนฝุ่น  ไม่สะอาด พระองค์สิ ช่างเสวยเนื้อเดนสุนัข ไม่สะอาด น่าเกลียดนี้ได้ ไม่ดี ไม่งามเลย

         พระโพธิสัตว์ตอบว่า “ชิ้นเนื้อนี้ เป็นอาหารอาตมา เพราะทั้งคน ทั้งสุนัข ต่างก็สละแล้ว  อาหารที่ได้มา โดยชอบธรรม เป็นของไม่มีโทษ”

         เมื่อสองกษัตริย์ ตรัสโต้แย้งกันพลางเสด็จดำเนินไปอยู่อย่างนี้ ก็ถึงประตูถูณนคร ขณะนั้น  เด็กในนคร กำลังเล่นกันอยู่ เด็กหญิงคนหนึ่ง เอากระด้งน้อยฝัดทรายเล่นอยู่ ทำให้กำไลสองอันที่สวมอยู่ในข้อมือข้างหนึ่ง กระทบกันเกิดเสียง แต่มืออีกข้างหนึ่ง ไม่มีเสียง พระโพธิสัตว์ดำริว่า พระนางสีวลี ตามหลังมา สตรีย่อมเป็นที่ครหาสำหรับบรรพชิต ชนทั้งหลายเห็น ก็จะติเตียนได้ว่า   บรรพชิตนี้ แม้บวชแล้ว ก็ยังไม่สามารถตัดขาดจากภรรยา ถ้าเด็กคนนี้ ฉลาด จะพูด ทำให้นางสีวลีกลับได้ จึงเสด็จเข้าไปหาเด็กหญิงคนนั้น ตรัสว่า “หนูน้อย กำไลมือของหนูข้างหนึ่งมีเสียง แต่อีกข้างหนึ่ง ทำไมไม่มีเสียง”

         เด็กหญิงกล่าวว่า “สมณะ เสียงเกิดจากกำไลสองอันกระทบกัน แต่มืออีกข้างหนึ่ง   มีกำไลอันเดียว จึงไม่มีเสียง เหมือนมุนีอยู่ตัวคนเดียวจึงสงบนิ่ง ส่วนคนมีคู่ ย่อมทะเลาะกัน ถ้าอยู่คนเดียว จะทะเลาะกับใครได้ หากท่านอยากสงบสุข ก็จงอยู่คนเดียวเถิด”  

พระโพธิสัตว์ จึงตรัสกับพระนางสีวลีว่า “สีวลี เธอได้ยินเด็กพูดแล้ว มิใช่หรือ เสมอเพียงชั้น คนใช้ ยังตำหนิเราได้ เพราะความที่อาตมาเป็นบรรพชิต เธอเป็นสตรี เดินตามกันมา ย่อมเป็นเหตุให้เกิดข้อครหา เราจะแยกกันบนทางสองแพร่งนี้ เธอเดินไปตามทางหนึ่ง ส่วนอาตมา ก็จะเดินไปอีกทางหนึ่ง จากนี้ต่อไป อย่าเรียกอาตมาว่า เป็นสวามีเธอ และอาตมา ก็จะไม่เรียกเธอว่า  เป็นมเหสีอาตมา”

พระนางสีวลี กราบทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น พระองค์เป็นกษัตริย์ จงเดินไปตามทางขวา   ส่วนหม่อมฉัน เป็นสตรี จะเดินไปตามทางซ้าย” ครั้นพระเทวี เสด็จไปได้ครู่หนึ่ง ไม่สามารถจะอดกลั้นโศกาอาดูรได้ จึงเสด็จตามพระราชามาอีกเหมือนเดิม แล้วเข้าถูณนครพร้อมกัน

         พระโพธิสัตว์ เสด็จเที่ยวบิณฑบาต จนถึงประตูเรือนช่างศร แม้พระนางสีวลี ก็เสด็จตามมา ประทับยืนอยู่ข้างหลัง ช่างศร นั่งที่ริมประตูบ้าน กำลังลนลูกศรที่ถ่านเพลิง เอาน้ำข้าว ทาลูกศร หลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูที่คด ด้วยตาข้างหนึ่ง ดัดลูกศรให้ตรง

         พระโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงดำริว่า ถ้าช่างศรฉลาด ก็จะพูดอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเรา จึงเสด็จเข้าไปหาช่างศร แล้วตรัสถามช่างศรนั้นว่า “ช่างศร ทำไม  ท่าน จึงหลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูลูกศร ด้วยตาข้างหนึ่ง”

ช่างศร กราบทูลว่า “ท่านสมณะ การเล็งด้วยตาทั้ง ๒ ข้าง จะเห็นกว้างไป จึงไม่เห็นที่คด  ไม่สามารถดัดลูกศรให้ตรงได้ ถ้าหลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูที่คด ด้วยตาอีกข้างหนึ่ง ก็จะสามารถเห็นที่คด และดัดลูกศรให้ตรงได้ คนมีคู่ จึงทะเลาะกัน ถ้าอยู่กันคนเดียวแล้ว จะไปทะเลาะกับใครเล่า  หากท่านอยากสงบสุข จงอยู่คนเดียวเถิด ปกติสมณะทั้งหลาย จะไม่พาแม้น้องสาว เที่ยวไปด้วย  แต่เหตุไร ท่านจึงพาภรรยารูปร่างงดงาม ติดตามไปด้วย ภรรยานี้ จะทำให้ท่านเกิดอันตราย ท่านจงให้ภรรยากลับไป อยู่คนเดียว บำเพ็ญสมณธรรมเถิด”

          พระโพธิสัตว์ เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ได้ภัตตาหารที่เจือปนแล้ว เสด็จออกจากพระนคร   ประทับนั่งเสวย ที่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง ครั้นเสวยเสร็จแล้ว ทรงบ้วนพระโอษฐ์ ล้างบาตร เก็บเข้าถุง   แล้วตรัสกับพระนางสีวลีว่า “สีวลี เธอได้ยินที่ช่างศรพูดแล้ว มิใช่หรือ ช่างศร เสมอเพียงคนใช้  ยังติเตียนเราได้ เพราะความที่อาตมาเป็นบรรพชิต ส่วนเธอเป็นสตรี เดินตามกันมา ย่อมทำให้เกิดข้อครหา เราจะต้องแยกกัน บนทางสองแพร่งนี้ เธอเดินไปทางหนึ่ง ส่วนอาตมา ก็จะเดินไปอีกทางหนึ่ง จากนี้ต่อไป อย่าเรียกอาตมาว่า เป็นพระสวามีของเธอ และอาตมา ก็จะไม่เรียกเธอว่า  เป็นมเหสีอาตมาอีก”

         แม้พระนางสีวลีเทวี จะถูกพระโพธิสัตว์ห้ามเรียกพระองค์ว่า พระสวามี ก็ยังเสด็จติดตามไป อย่างไม่ละความพยายาม พระโพธิสัตว์เอง ก็ไม่สามารถให้พระนางสีวลีกลับได้  แม้มหาชน ก็ตามเสด็จพระองค์อยู่นั่นเอง

ครั้นแล้ว พระโพธิสัตว์ ทอดพระเนตรเห็นแนวป่าใหญ่ เขียวชอุ่ม อยู่เบื้องหน้า  เมื่อดำเนินไป ได้ทอดพระเนตรเห็นหญ้ามุงกระต่ายข้างทาง จึงถอนหญ้ามุงกระต่ายขึ้นมา  แล้วตรัสกับพระเทวีว่า “สีวลี เธอดูหญ้ามุงกระต่ายนี่สิ หญ้ามุงกระต่าย ที่ติดกันอยู่แต่เดิม บัดนี้ อาตมา ถอนขึ้นแล้ว ไม่อาจต่อกันได้อีก จากนี้ต่อไป การอยู่ร่วมกันระหว่างเราสองคน ไม่มีอีกแล้ว เธอจงอยู่คนเดียว แม้อาตมา ก็จะอยู่คนเดียวเช่นกัน”

         พระเทวี ได้ฟังเช่นนั้นแล้ว เกิดความเศร้าโศกเสียใจว่า จากนี้ไป จะไม่ได้อยู่ร่วมกับพระมหาชนกนรินทรราชอีกแล้ว พระนางไม่อาจอดกลั้นความเศร้าโศกเสียใจได้ ก็ทุบพระอุระ  ด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงร้องไห้อย่างน่าสงสาร ครั้นแล้ว ก็หมดสติ ถึงวิสัญญีภาพ สลบ ล้มลงไปในระหว่างทาง

พระโพธิสัตว์ ทราบว่า พระนางสลบไปแล้ว แม้จะสงสารเหลือประมาณ แต่ก็ตัดใจ  รีบสาวเท้า เสด็จหายเข้าไปในป่าใหญ่

         เมื่อพระนางสีวลีฟื้นแล้ว เสด็จลุกขึ้น ตรัสถามถึงพระราชา ให้เที่ยวค้นหา ก็ไม่พบ พระนางร้องไห้ปริเทวนาการปิ่มจะขาดใจ แล้วให้สร้างพระเจดีย์ ตรงที่พระราชาประทับยืน บูชาด้วยของหอม และดอกไม้ แล้วเสด็จกลับกรุงมิถิลานคร

         ฝ่ายพระโพธิสัตว์ เสด็จเข้าป่าหิมวันต์ เจริญสมณธรรม จนได้บรรลุอภิญญา และสมาบัติ ภายใน ๗ วัน มิได้เสด็จมาสู่ถิ่นมนุษย์อีกเลย ตลอดพระชนม์ชีพ

ขณะพระนางสีวลี เสด็จกลับ โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลายองค์ ในระหว่างทาง ณ ที่ที่พระโพธิสัตว์ ตรัสกับช่างศร ตรัสกับเด็กหญิง เสวยเนื้อที่สุนัขทิ้ง ตรัสกับมหามิคาชินฤๅษี และ  ตรัสกับมหานารทฤๅษี บูชาด้วยของหอม และดอกไม้  

         ภายหลัง เสด็จไปถึงมิถิลานครแล้ว ทรงอภิเษกพระราชโอรส ณ พระราชอุทยานอัมพวัน ทรงส่งพระราชโอรส พร้อมทั้งจาตุรงคเสนา เข้าพระนครไป ส่วนพระองค์ ทรงผนวช   ประทับอยู่ ณ พระราชอุทยานนั้น ทรงเพ่งกสิณบริกรรม จนได้บรรลุฌาน ไม่เสื่อมจากฌาน  เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ได้ไปเกิดในพรหมโลก ฝ่ายพระมหาชนก ก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก เช่นกัน

กลับชาติมาเกิดสมัยพุทธกาล

          พระศาสดา ตรัสว่า มิใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้น ที่ตถาคตออกบวช แม้ในชาติก่อน  ตถาคต ก็ออกบวชเช่นกัน แล้วสรุปชาดกว่า “ท้าวสักกเทวราชในอดีตชาตินั้น ได้มาเกิดเป็นพระอนุรุทธะ ในชาตินี้ พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ ได้มาเกิด เป็นพระมหากัสสปะ นางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษาสมุทร ได้มาเกิด เป็นอุบลวรรณาภิกษุณี นารทฤๅษี ได้มาเกิด เป็นพระสารีบุตร   มิคาชินฤๅษี ได้มาเกิด เป็นพระโมคคัลลานะ เด็กหญิง ได้มาเกิด เป็นนางเขมาภิกษุณี ช่างศร   ได้มาเกิด เป็นพระอานนท์ ราชบริษัทที่เหลือ ได้มาเป็นพุทธบริษัท สีวลีเทวี ได้มาเกิดเป็นมารดาราหุล ทีฆาวุกุมาร ได้มาเกิด เป็นราหุล พระชนก พระชนนี ได้มาเกิด เป็นมหาราช ศากยสกุล ส่วนพระมหาชนกนรินทรราช คือ เรา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เอง”  

“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ชาติที่ ๒ พระมหาชนก

https://podcasts.apple.com/dk/podcast/%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B8%87%E0%B8%AA-%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA-%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95-%E0%B8%9B%E0%B8%93-%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9A-%E0%B8%A3-%E0%B8%A9%E0%B9%84%E0%B8%A1-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5-%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87-%E0%B8%89%E0%B8%9A-%E0%B8%9A-%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%A7%E0%B8%8A-%E0%B8%A3%E0%B8%B0-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97-2/id1480673036?i=1000581755563

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here