ขนุนในเปลือกทุเรียน โดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ
ขนุนในเปลือกทุเรียน โดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ

เรียนรู้สัจธรรมผ่านหนามทุเรียน…กับ พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ

ขนุนในเปลือกทุเรียน

           ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนิกชน อย่างน้อยก็ในบัตรประชาชนของข้าพเจ้าที่บอกเช่นนั้น ยิ่งหากยืนยันด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ที่ห่มคลุมกายข้าพเจ้าอยู่ ทำให้แน่ใจได้แน่นอนว่าข้าพเจ้ามิเป็นศาสนิกอื่นเลย

           วันหนึ่ง ก่อนที่ข้าพเจ้าจะไปบรรยายที่จังหวัดนนทบุรี ได้หยิบหนังสือเล่มหนึ่งมอบให้เพื่อนสหธรรมิก พร้อมแนะนำว่า ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นคริสต์ศาสนิกชนที่เข้าใจโลก มองโลกด้วยสายตาแห่งความรัก ลองอ่านดูนะ

           เขาถามข้าพเจ้าด้วยสายตาถมึงทึงว่า  ท่านบูชาคนนอกศาสนาตนหรือไร หนังสือที่คนพุทธเขียนมีถมไป ทำไมท่านถึงไม่อ่าน ไม่ศึกษา แล้วนี่ยังจะมาแนะนำให้ผู้อื่นไปสนับสนุนคนนอกศาสนาอีก

           ข้าพเจ้าไม่ได้ว่ากระไร หยิบหนังสือเล่มนั้นใส่กลับเข้าไปในย่าม และไปบรรยายตามที่ได้รับนิมนต์ไว้ เมื่อจบการบรรยาย ผู้ประสานงานถวายทุเรียนนนทบุรีมา ๒ ลูก พร้อมกำชับว่าอยากให้ลองฉันดู นี่เป็นของฝากขึ้นชื่อของที่นี่ ข้าพเจ้านำทุเรียนทั้งสองลูกนั้นกลับมา แม้ยังสงสัยว่าทุเรียนเป็นลูกที่ถวายมา จะให้พระฉันอย่างไร ที่แน่ๆ คงไม่ใช่ฉันทั้งเปลือกเหมือนแอปเปิล

           รุ่งขึ้นอีกวัน เมื่อได้พบสหธรรมิกท่านนั้น จึงหยิบทุเรียนถวายไป ๑ ลูก พร้อมกับบอกว่า อยากให้ท่านได้ลองฉันขนุนเมืองนนท์ ที่ว่ากันรสชาติดีกว่าขนุนใดๆ ในประเทศนี้

           สหธรรมิกท่านนั้นตอบกลับมาว่า  ท่านคงบ้าแล้วกระมัง เมื่อวานก็อ่านหนังสือคนนอกศาสนา วันนี้ยังจะมาบอกว่าข้างในลูกทุเรียนเป็นขนุนอีก

           ข้าพเจ้ายังคงยืนยันเช่นเดิมอย่างแข็งขัน ก่อนจะมอบทุเรียนลูกนั้นถวายไป

           …

         โลกของเราจะแคบ ก็เพราะใจของเราไม่กว้างนี่แหละ

           ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราอาจจะคลอดออกมาโดยความรู้การทำคลอดของคนศาสนาคริสต์ อาจจะกินอาหารที่ผลิตจากคนอิสลาม อาจจะทำพิธีพราหมณ์ในบ้าน อาจจะเคยเดินทางผ่านและยกมือไหว้ศาสนสถานของศาสนาซิกซ์

           ก็ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในโลกใบเดียวกัน แทนที่จะแบ่งแยกออกเป็นโลกของใครของมัน ทำไมเราไม่เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ให้มันเป็นโลกแห่งความรักล่ะ ทีกับเรื่องดาราที่เกิดในบ้านที่เขาสร้างรั้วป้องกันไว้แน่นหนา ทำไมเราสาระแนอยากรู้อยากเห็นให้ได้ จนบางทีไม่สนใจเรื่องมารยาทกันแล้ว

           แล้วถ้าเราจะเอาความอยากรู้อยากเห็นอันเดียวกันนั้น มาเปิดเปลือก เปิดใจ เรียนรู้คนอื่นบ้าง มันจะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเราไม่ยอมเปิดเปลือกตัวเองเสียบ้าง ระวังนะ นาน ๆ เข้าเปลือกนั้นจะกลายเป็น ‘กะลา’ เอานา !

           …

           สหธรรมิกท่านนั้นกลับมาในวันรุ่งขึ้น พร้อมพูทุเรียนที่เหลืองอร่ามน่าฉัน บอกว่านำมาแบ่งให้ ข้าพเจ้าทำทีตกใจว่า ข้างในลูกทุเรียนที่ผ่าออกมา มิใช่ขนุนหรอกหรือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นไปได้

           “ไม่นะครับ ผมนั่งเฝ้าลูกศิษย์ผ่า เห็นกับตาว่าข้างในเป็นทุเรียน ในลูกทุเรียนก็ต้องเป็นทุเรียนสิ”

           ใช่ ถูกต้องแล้ว ในลูกทุเรียนก็ต้องเป็นทุเรียน แต่เราก็จะไม่ได้รู้ ไม่ได้ชิม หากไม่ผ่าเปลือกออกเสียก่อน ก็ถ้าจะมัวมามีข้อแม้กับเปลือกที่มีแต่หนาม เราจะไม่ได้สัมผัสความงาม ความอร่อยที่อยู่ข้างใน

           ในลูกทุเรียนไม่เป็นอย่างอื่นหรอก นอกจากทุเรียน แต่ความยากของทุเรียนคือทำให้คนมองข้ามเปลือก แล้วสัมผัสกับเนื้อที่อยู่ข้างใน แม้ว่ากระบวนการเอาเปลือกออกมันจะยากเย็นเพียงใดก็ตาม แต่ก็มีความคุ้มค่ารออยู่ข้างในนั้น

         เราก็เช่นกันมิใช่หรือ ถ้าเราดีจริง งามจริง ก็ต้องทำให้คนมองข้ามเรื่องเปลือกไปให้ได้

           “ขอยืมหนังสือเล่มนั้นไปอ่านหน่อยนะท่าน” เพื่อนสหธรรมิกบอกหลังจากนั่งฉันทุเรียนด้วยกันเรียบร้อยแล้ว

           …

           หากมีอะไรที่จะบอกทิ้งท้ายของเรื่องนี้ ก็คงเป็นประโยคว่า… “ทุเรียนนนทบุรี รสชาติดีสมคำร่ำลือ”

พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ ผู้เขียน

    โลกของเราจะแคบ
ก็เพราะใจของเราไม่กว้างนี่แหละ
” ในช่วงชีวิตหนึ่ง เราอาจจะคลอดออกมาโดยความรู้การทำคลอดของคนศาสนาคริสต์ อาจจะกินอาหารที่ผลิตจากคนอิสลาม อาจจะทำพิธีพราหมณ์ในบ้าน อาจจะเคยเดินทางผ่านและยกมือไหว้ศาสนสถานของศาสนาซิกซ์ “
คอลัมน์ เย็นกายสุขใจ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑
โดย พระมหาธนเดช  ธมฺมปญฺโญ
 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here