พระไตรปิฎก คือพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่ายิ่ง

พระสูตร เล่าเรื่องพระประวัติของพระพุทธเจ้า และคำสอนของพระองค์ตลอด ๔๕ พรรษา

พระวินัย เล่าเรื่องวิถีความเป็นอยู่ของพระที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์

และ พระอภิธรรม ธรรมชาติของจิต และอาการของจิตที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบจากการตรัสรู้

อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสอ่านกัน เพราะในพระไตรปิฎกนั้นอุดมไปด้วยหลักธรรมคำสอนจากพระพุทธองค์ที่พระอริยสาวกช่วยกันจดจานมาทุกยุคทุกสมัยผ่านไปสองพันกว่าปี ยังทรงคุณค่าในหลากหลายภาษาที่ได้มีการแปลออกไป

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เล่าเรื่องการฝึกสมาธิในสมัยวัยเยาว์ให้เราได้เรียนรู้ว่า พระไตรปิฎกมีคุณค่ายิ่งเพียงใด

ใน รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราขกิจจาภรณ์

ตอนที่ ๒ พระคัมภีร์มีชีวิต

  เวลาไปวัด เราคงเห็นพระไตรปิฎกอยู่บนศาลาฟังธรรม โบสถ์ วิหาร หรือในห้องสมุดของวัดบางแห่ง อย่างเงียบเชียบ

ผู้เขียนเคยไปพักปฏิบัติธรรมที่วัดป่าแห่งหนึ่ง กิจวัตรประจำวันเริ่มต้นตั้งแต่ตีสาม ทำวัตรสวดมนต์เช้า ทำสมาธิ เดินจงกรม และรับประทานอาหาร หลังจากนั้น ก็ช่วยทำความสะอาดครัว ศาลา โรงฉัน และแยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรมต่อตลอดวัน ช่วงเย็นๆ ก็แวะมารวมตัวกันที่ศาลาอีกครั้งเพื่อรับน้ำปานะ แล้วก่อนทุ่มหนึ่งก็เริ่มต้นทำวัตรสวดมนต์เย็น จากนั้นก็แยกย้ายกันไปภาวนาก่อนพักเพียงไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็เริ่มต้นภาวนาในวันใหม่ในเวลาตีสามโดยประมาณ

วันหนึ่ง ท่านแม่ชีให้ช่วยทำความสะอาดตู้หนังสือ ซึ่งมีพระไตรปิฎกอยู่ด้วย จึงทำความสะอาดด้วยความระมัดระวัง เกรงว่าหนังสือจะสกปรกจากน้ำและฝุ่น แล้วสิ่งหนึ่งก็ไม่คาดคิด ผู้เขียนพบอึ่งอ่างตัวใหญ่แห้งตายอยู่ในตู้หนังสือ ท่าที่มันตายคือพยายามดันหนังสือออกไปจากตัว เพื่อให้รอดชีวิต แต่แล้ว ความหนักของหนังสือ ก็ไม่สามารถทำให้มันหลุดออกจากที่แคบๆ นั้นได้ แล้วมันก็ตายลงในที่สุด

พระไตรปิฎก เป็นพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่ายิ่ง หากได้อ่านกัน ไม่เก็บไว้เฉยๆ เคารพบูชาเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ แท้จริงแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของพระไตรปิฎกจะเกิดขึ้น เมื่อได้อ่าน และฝึกปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ที่พระพุทธองค์ และพระอรหันตสาวกได้ช่วยกันบันทึกไว้จากรุ่นต่อรุ่นไม่ขาดสายในหลากหลายภาษา เชื่อได้ว่า สังคมคงร่มเย็น เช่นเดียวกับในอดีตกาลที่ผ่านมา

เคยพบชาวต่างชาติท่านหนึ่ง เขาตั้งใจมาเรียนภาษาไทยโดยเฉพาะ เพื่อที่จะอ่านพระไตรปิฎก เราคนไทยอย่าเสียโอกาสที่มีขุมทรัพย์อยู่กับตัว แล้วไม่ได้ขุดจนพบเพชรในพระคัมภีร์ที่จะช่วยดับทุกข์ในใจ และนี่คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระไตรปิฎกที่สามารถสัมผัสได้ด้วยตนเอง

ดังที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์(เทอด ญาณวชิโร ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เล่าให้ฟังว่า เริ่มสนใจอ่านพระไตรปิฎกมาตั้งแต่บวชเป็นสามเณรใหม่ๆ ที่ศาลาการเปรียญที่วัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง) จ.อุบลราชธานี ที่นั่นมีตู้หนังสือพระปิฎกปกสีแดง ชุด “ส. ธรรมภักดี” อยู่ด้วย

“อาตมาชอบไปนอนเล่นที่ศาลา บางทีก็ทดลองนั่งสมาธิ และเปิดพระไตรปิฎกอ่าน รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็อ่านตามประสาอยากรู้อยากเห็น มีหนังสือหลายเรื่องที่อ่าน หนึ่งในนั้น คือ “ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น” รู้สึกว่าเป็นหนังสือที่อ่านยากมาก”

ท่านกล่าวถึงเรื่องพระไตรปิฎกต่อมาว่า เมื่อก่อนพระในต่างจังหวัด ท่านหวงพระไตรปิฎกเป็นที่หนึ่ง อาจเป็นเพราะหายาก วัดไหนมีพระไตรปิฎกถือว่าเป็นวัดอีกระดับหนึ่ง ใครไปหยิบไปเปิดจะถูกดุอย่างแรง โดยมากพระไตรปิฎกจึงถูกปิดเก็บไว้ในตู้

“แต่ที่นี่ หลวงพ่อท่านอนุญาต อ่านไปก็นึกอยากนั่งสมาธิ วันหนึ่งขณะนั่งสมาธิที่ศาลา เหมือนตัวลอยขึ้นไปจะชนหลังคา ตกใจลืมตาขึ้นก็ยังนั่งอยู่ที่เดิม ตอนนั้นยังไม่รู้เป็นอะไรก็ขนลุกไปทั้งตัว กล้าๆ กลัวๆ นึกไปต่างๆ นาๆ แม้จะกลัว วันหลังก็นั่งอีก”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

ความสนใจในการอ่านพระไตรปิฎกของท่านเริ่มมีมากขึ้นจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พระอุปัชฌาย์ของท่าน ซึ่งเมตตาสอนพระเณรในวัดทุกเรื่อง โดยทุกวันศุกร์สอนพระเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและพระไตรปิฎก สำหรับทุกวันพระขึ้น-แรม ๑๕ ค่ำ สอนสามเณรเรื่องกิริยามารยาท

ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเล่าต่อมาว่า ขณะทีี่หลวงพ่อสมเด็จฯ บรรยายพระไตรปิฎก ท่านไม่ได้ใช้ตำราเลย เป็นภาษาที่ประมวลออกจากความทรงจำของท่าน แล้วถ่ายทอดออกเป็นคำพูด ทุกประโยคทุกถ้อยคำ เป็นภาษาที่ออกจากใจ จึงมีความงดงาม ล้ำลึก กินใจ ทั้งหนักแน่น ทั้งอ่อนโยน

รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ ๒. พระคัมภีร์มีชีวิต
รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ ๒. พระคัมภีร์มีชีวิต

ประกอบกับการที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดได้รับถ่ายทอดความคิดทางธรรมโดยตรงจากหลวงพ่อสมเด็จฯ ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้มองพระศาสนาและคณะสงฆ์โดยภาพรวม ไม่สอนให้มองแยกส่วน เฉพาะสาย หรือเฉพาะคณะ

การให้โอกาสศึกษาจนจบปริญญาโททางด้านปรัชญา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และการนำเจริญจิตตภาวนาทุกวันหลังสวดมนต์ทำวัตรค่ำกระทั่งพึ่งตนเองได้ จนเกิดเป็นมโนปณิธานที่มุ่งมั่นในการเผยแผ่ธรรมตามแบบอย่างหลวงพ่อสมเด็จฯ ทำให้ไฟในตัวของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ประทุอยู่ตลอดเวลาในเพศบรรพชิตกว่า ๓๐ ปี จนถึงปัจจุบัน ในการที่จะมุ่งผดุงรักษาพระพุทธศาสนาให้สืบทอดต่อไป เพื่อเป็นแผนที่นำทางให้ผู้คนมีที่พึ่งยามทุกข์ใจให้ผ่อนคลายลงจนหาทางออกจากทุกข์ได้ด้วยตนเองในที่สุด

(จากคอลัมน์ มโนปณิธาน โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here