วันนี้วันพระ วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑

ศึกษาแแนวคิด ปฏิปทา และจริยวัตร พระเถระแห่งยุคสมัย

ผู้นำพระพุทธศาสนาก้าวสู่โลกยุคใหม่เพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ในยุคกึ่งพุทธกาล

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

สำหรับสามบทนี้ ผู้เขียนอธิบายปฏิปทาของหลวงพ่อสมเด็จฯ ที่ตามรอยพระพุทธเจ้า จากพระธรรมวินัยในการประพฤติปฏิบัติ ถอดรหัสออกมาเป็นการดำเนินงานพระพุทธศาสนาในทุกภาคส่วนของสังคมที่ขาดอยู่ เปิดโอกาสให้พระเณรได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนทางโลกที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย ให้เท่าทันโลก เพื่อช่วยแก้ไขให้เพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์แสนสาหัสได้เกิดปัญญาในการใช้ชีวิต

๗๘. ลมหายใจของแผ่นดิน 

๗๙. หลักการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ๘๐.  สร้างหลักปักฐาน 

: เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๗๘. ลมหายใจของแผ่นดิน     

              แม้ในยามที่ร่างกายเริ่มโรยแรงและชราภาพลง  แต่ข่าวคราวที่พระสงฆ์ สามเณร และชาวพุทธ ถูกฆ่าที่ภาคใต้  กลับเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น  พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  จำนวน ๒๖๐ รูป ในจังหวัดสตูล  สงขลา  ยะลา  นราธิวาส และปัตตานี  จึงถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อปลุกจิตสำนึกให้พระสงฆ์ร่วมกันทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย  นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นมา

              เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ประทานโอวาทแก่พระธรรมทูตอาสาว่า  “หากไม่มีพระสงฆ์ในพื้นที่  ชาวพุทธก็หมดที่พึ่ง…ก็ชื่อว่าพระพุทธศาสนาได้หมดไปแล้ว  ขอให้ทุกรูปหนักแน่น  มั่นคง  อยู่เป็นกำลังใจให้ชาวพุทธ  ถึงแม้วันหนึ่งวันใดข้างหน้า  พระพุทธศาสนาจะหมดไปจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็ขอให้วันนั้น มีพระสงฆ์เดินออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย

              นับเป็นแสงแห่งจิตวิญญาณความมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา  ลำแสงสุดท้ายที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณความรักในพระพุทธศาสนา  ผ่านไปยังพระธรรมทูตอาสา  อันเป็นอมตะวาจาที่ตรึงใจเหล่าพุทธบุตร  ผู้ทำหน้าที่พระธรรมทูตอาสาไปตราบนานเท่านาน

              ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก  จนกระทั่งพระพุทธศาสนาสามารถเบ่งบานกลางหิมะในโลกตะวันตกอย่างแข็งแกร่ง  เกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสนมหาเถร)  ผู้ริเริ่มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก  ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ

“ที่สุดแล้ว….นามของพระมหาเถระท่านนี้

ก็จะถูกจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของโลก”

ผู้นำที่ดีต้องรู้จักเก็บความคิดบางอย่างไว้ในใจ

ผู้นำที่ดีต้องรู้จักสะกดอารมณ์ข่มใจ

๗๙.หลักการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา      

              โดยลักษณะเด่นของหลวงพ่อสมเด็จนั้น คือ ความเป็นผู้นำ  เป็นนักปกครอง  ซึ่งหลวงพ่อท่านมีวิสัยทัศน์ด้านการปกครอง  ต้องมองไปข้างหน้า  เพื่อนำพาองค์กรก้าวไปข้างหน้า  บูรณาการณ์เข้ากับยุคสมัยให้ได้  แต่ไม่ทิ้งหลักของตนเองสามารถที่จะเชื่อมโยงให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันให้ได้

เบื้องต้น  ความเป็นผู้นำท่านจะปฏิบัติตัวของท่านเองให้เป็นตัวอย่าง  การไหว้พระสวดมนต์ท่านก็ไม่ขาดถือว่าเป็นกิจหลัก  เช่น การทำวัตรตอนเย็นเวลาสามทุ่ม  ๒๑.๐๐ น. ท่านก็ลงเป็นประจำ  ซึ่งพระภิกษุภายในวัดนั้นจะพบท่านเป็นประจำ  ใครมีงานอะไร  เรื่องอะไร  ท่านก็ให้พบ  ให้คำปรึกษาทุกเรื่อง  ถือว่าเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหลวงพ่อกับพระสงฆ์ในวัด

              เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ถือว่า  พระเณรที่อยู่ในวัดเหมือนลูก  เวลาพูดกับพระเณรก็เหมือนพ่อพูดกับลูก  พระเณรบางรูปก็เรียกท่านว่า  “หลวงปู่” บ้าง  “หลวงพ่อ” บ้าง “หลวงพ่อสมเด็จฯ” บ้าง

              เวลาเช้า  จะไปกิจนิมนต์นอกวัด  หากเห็นสามเณรบิณฑบาต  ท่านก็ให้หยุดรถแล้วเอาปัจจัยใส่บาตร  เห็นคนทำความสะอาดกำลังกวาดวัด  ก็จะให้สิ่งของตามที่มีในขณะนั้น  เวลาพระเณรเจ็บป่วยไม่สบาย  ก็แสดงความอาทรห่วงใย  คอยสอบถามอาการ  และจัดอาหารด้วยมือของท่านเอง  ส่งไปให้ถึงกุฏิ

หากทราบว่า  โยมพ่อโยมแม่  หรืออาจารย์ที่สำนักเดิมของพระเณรรูปใดไม่สบาย  ท่านก็จะคอยถามข่าวคราวอยู่ตลอด

              ท่านจะจำชื่อพระเณรในวัดได้ทุกรูป  รูปไหนอยู่ห้องไหน  อยู่คณะอะไร  และกำลังเรียนอะไรอยู่  ท่านจำได้หมด  จำได้แม้กระทั้งว่าเกิดอยู่จังหวัดอะไร  รวมถึงครูบาอาจารย์ที่นำมาฝาก  พอเจอใครท่านก็จะทัก  บางรูปหากเห็นเจ้าประคุณสมเด็จฯ เดินมาแล้วหลบ  ท่านจะเรียกมาบอกว่า  “ต่อไปอย่าหลบอย่างนี้  เห็นหลวงพ่อ  อย่ากลัว  ต้องเข้ามาหา

บางทีเดินมาถ้าเห็นพระเณรหลบ  ท่านก็จะปรารภด้วยความเอ็นดูว่า  “เห็นทีชาติที่แล้วจะเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแก  จึงชอบหลบตามซอกตามหลืบ” 

              เพราะความเมตตาเอื้ออาทร  และแสดงความห่วงใยที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลายมาตลอดเช่นนี้  จึงทำให้พระเณรภายในวัดเกิดความผูกพันกับท่านเหมือนพ่อคนหนึ่ง  บางรูปแม้จะลาสิกขาไปแล้วก็ยังแวะเวียนมาเสมอ  เหมือนได้กลับบ้าน  เพียงมีโอกาสพบเจ้าประคุณสมเด็จฯ  ทุกคนก็รู้สึกอบอุ่น  มีกำลังใจ

๘๐. สร้างหลักปักฐาน            

“นักการบริหารพระพุทธศาสนาจะต้องบริหารโลกและบริหารธรรมได้ด้วย”

              ในสมัยที่หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านเป็นเลขาธิการสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  อยู่ในช่วงที่กำลังปรับเปลี่ยนจากการสร้างความน่าเชื่อถือ  ทัศนคติของคนในยุคนั้นที่คิดว่าพระควรจะเรียนแต่เฉพาะเรื่องบาลี  นักธรรม  ไม่เข้าใจว่าพระทำไมต้องเรียนหนังสือ  มีมัธยมศึกษาปีที่ ๑  – มัธยมศึกษาที่ ๖  ทำไมต้องมีปริญญาตรี  ทำไมต้องเรียนภาษาอังกฤษ  ทำให้คนทั่วไม่เข้าใจ  พอเป็นมหาวิทยาลัย  การยอมรับก็ไม่มี  ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่ยอมรับ  หน้าที่ของหลวงพ่อสมเด็จฯ เป็นการไปสร้างความน่าเชื่อถือ  สร้างเป็นฐานให้คนรุ่นใหม่ได้ทำงานง่ายขึ้น 

เพราะฉะนั้นการสร้างทัศนคติต่างๆ ต่อสังคม  การยอมรับนับถือ  ท่านเป็นคนสร้างฐานไว้ให้  เมื่อสร้างฐานเสร็จรุ่นต่อมาก็ทำงานสะดวกง่ายขึ้น  พัฒนาต่อไป  จนกลายเป็นที่ยอมรับในสมัยปัจจุบัน  ในส่วนของมหาวิทยาลัย

              ต่อมาในส่วนของที่เป็นคณะสงฆ์  การบริหารคณะสงฆ์ของหลวงพ่อสมเด็จฯ  พยายามที่จะสร้างพระให้มีวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ  มีความเข้ากันได้ทั้งคดีโลกคดีธรรม  ทั้งฝ่ายทางโลกก็เข้าใจ  ฝ่ายทางธรรมก็เข้าใจ  เพราะถ้าไม่เข้าใจความเป็นโลก  ก็ไม่สามารถที่จะนำพาพระพุทธศาสนาไปได้  เพราะไม่เข้าใจโลก เอาเฉพาะธรรม  บริหารธรรมได้  แต่บริหารโลกไม่ได้  ไม่เรียกว่าเป็นนักบริหารทางพระพุทธศาสนา

 นักการบริหารพระพุทธศาสนาจะต้องบริหารโลกได้ด้วยบริหารธรรมได้ด้วย  นำทั้งสองส่วนนี้มาเข้ากันก็จะได้ทั้งสองส่วน  ในการปกครองทำอย่างไรจะให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคง  ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา  ศาสนทายาทจะต้องมีความมั่นคง  มีความรู้  มีความสามารถที่จะดูแลพระพุทธศาสนาได้

              วิสัยทัศน์หลวงพ่อสมเด็จฯ ขยายไปทั่วโลก  ทำอย่างไรจะให้พระพุทธศาสนาขยายไปทั่วโลกได้  จึงเป็นแนวทางที่ทำให้ท่านสร้างตึกขึ้นมาหลังหนึ่งที่วัดสระเกศฯ  เป็นตึกในขณะที่ท่านเป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ได้รับพระสงฆ์จากนานาชาติมาอยู่ที่วัดสระเกศฯ เช่น  ลาว  พม่า กัมพูชา  เนปาล  บังกลาเทศ  และมีในส่วนที่เป็นจีน  เกาหลี  ญี่ปุ่น ก็เดินทางมาพำนักอยู่ที่วัดสระเกศฯ เชื่อมเอาประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเข้ามา  แล้วให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาทางพระพุทธศาสนา  เมื่อท่านเดินทางกลับไปก็จะนำความรู้ไปบริหารจัดการที่ประเทศของท่าน  กลายเป็นเจ้าอาวาส  เป็นประธานสงฆ์  เป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญ

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๗๘. ลมหายใจของแผ่นดิน ๗๙. หลักการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ๘๐.  สร้างหลักปักฐาน  : เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here