วันนี้วันพระ วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๔ แรม ๘ ค่ำเดือน ๑๒

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

(บทที่ ๓๔) “นิมิตเกิดขึ้นตอนไหน”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

นิมิตเกิดขึ้นตอนไหน

นิมิตอาจจะเกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ ไม่ใช่ว่าต้องเกิดสำหรับทุกคน อาจจะเกิดมาก เกิดน้อย บางคนเกิดแล้วอาจจะผ่านไปได้เลย หรือบางคนเกิดแล้วอาจจะผ่านไปได้ยากมีจิตอยากเพลิดเพลินหลงติดอยู่ ก็จะเพลินปรุงแต่งไปไกล แต่โดยมากจะเกิดเพราะวิถีของการปฏิบัติเป็นเช่นนี้

นิมิตจะเกิดขณะที่จิตกำลังรวมดวงเป็นอันเดียวกันกับองค์ภาวนาก้าวเข้าสู่ความว่างภายใน อยู่ระหว่างเส้นแบ่งของจิตที่หยาบกับจิตที่ละเอียด อยู่ระหว่างเส้นแบ่งของจิตที่ยังไม่สงบกับจิตที่กำลังจะสงบ อยู่ระหว่างเส้นแบ่งของจิตที่ยังไม่นิ่งกับจิตที่กำลังจะนิ่ง ขณะที่จิตอยู่กึ่งกลางระหว่างการรวมกลับยังไม่รวม และอยู่ระหว่างขาเข้าสู่ความเป็นเอกภาพภายใน กลับขาถอนออกมาจากความเป็นเอกภาพภายใน เหมือนหลอดไฟที่อยู่ระหว่างติดๆ ดับๆ เหมือนคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์ที่อยู่ระหว่างตรงช่อง ไม่ตรงช่อง คือตอนที่จิตกำลังละวางอารมณ์ภายนอก รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอารมณ์พระกรรมฐาน ได้แก่ลมหายใจ และขณะที่จิตกำลังจะละวางลมหายใจก้าวเข้าสู่ความสงบนิ่ง ดิ่ง ล้ำลึก มีความเป็นเอกภาพ แต่ขณะนั้นยังไม่เข้าถึงความเป็นจิตปภัสสรคือ ยังไม่ถึงจิตดั้งเดิม นิมิตจะเกิดระหว่างนั้น

หากมัวหลงเพลินติดอยู่ จิตก็จะไม่ดำเนินต่อไป จิตก็ไม่รวมดวง เพราะมัวเพลินอยู่ก็เป็นอันตรายต่อการรวมดวงของจิต เหมือนคนเดินทางมัวหลงเพลินแวะข้างทางอยู่เรื่อยก็เดินไม่ถึงปลายทางเสียที เมื่อจิตรวมดวงเป็นเอกภาพมีความว่างอยู่ภายในแล้วถอนออกมา ในขณะที่จิตถอนออกมาอาจจะเกิดนิมิตแทรกเข้ามาได้ ถ้าเกิดนิมิตแทรกเข้ามา ก็ดูก็รู้เฉยๆ ไม่ให้ใส่ใจ ไม่ให้ความสนใจ

“ให้มีสติแล้วพลิกขณะจิต

ไปพักไว้ที่ลมหายใจ” 

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เมื่อจิตถอนออกมาก็กลับไปตั้งหลักก่อน ไม่ว่าหลักนั้นจะเป็นพุทโธ เป็นลมหายใจเข้าออก เป็นพองหนอยุบหนอ เป็นสัมมาอรหัง หรือเป็นหลักอื่นใดก็ตาม ในบรรดาอารมณ์พระกรรมฐานที่ฝึกมา และตรงกับอัธยาศัย กลับไปตั้งหลักที่พระกรรมฐานนั้นๆ ก่อน แล้วพิจารณาดูให้ดีว่าอะไรเป็นอะไร สภาวะไหนเป็นสภาวะไหน อาการอะไรเป็นอาการอะไร แล้วอย่าไปมัวหลงติดอยู่

“แค่เห็นแค่ดูแค่รู้ว่าเป็นอะไร

แล้วกลับไปตั้งหลักไว้ที่ลมหายใจ”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เมื่อฝึกดำเนินจิตเช่นนี้อยู่เนืองๆ ก็จะเกิดความชำนาญในการเข้าและการออกจากสมาธิ มีความชำนาญในการกำหนดจิตเข้าสมาธิที่ลึกลงไป คือ จิตจะก้าวข้ามนิมิตเสียได้ จะไม่มัวติดข้องอยู่กับนิมิต ต่อไปก็จะไม่มีนิมิตแทรกเข้ามา เหมือนไม่มีสัญญาณแทรกเข้ามาในขณะดำเนินจิตเข้าสู่ความสงบ เพราะจะมีสติระลึกรู้อยู่ตลอด เมื่อมีนิมิตแทรกเข้ามาสติก็จะคอยทำหน้าที่ตัดขาดไม่ปล่อยให้เติบโตขึ้นมาได้

การดำเนินจิตก็จะมีแต่การเข้า

และการถอนออกจากสมาธิ

อย่างมีสติระลึกรู้การเข้าและการถอนออก

ขณะจิตกำลังรวมดวง

ลงสู่ความว่างภายใน

ก็มีสติระลึกรู้

จิตหยาบแล้วค่อยๆ ละเอียดลงก็รู้

จิตละเอียดแล้วค่อยๆ หยาบขึ้นก็รู้

พระอาจารย์ญาณวชิระ

คำว่า “จิตถอนออก” ก็ไม่ใช่เราถอนจิตออกมา เหมือนถอนต้นไม้ต้นหญ้า แต่จิตถอนออกมาจากความสงบตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิตเอง เราก็เป็นแต่เพียงผู้รู้อาการนั้นจะเข้าก็รู้ จะออกก็รู้ เหมือนตื่นจากหลับ นอนอิ่มก็ตื่น เหตุปัจจัยเพียงพอก็ตื่นเอง หรือมีปัจจัยอื่นมาแทรกทำให้รู้สึกตัว ก็ตื่น เช่นมีคนปลุกให้ตื่น เป็นต้น จะเรียกว่า “จิตย้อนกลับ” หรือ  “จิตคลายจากสมาธิ” ก็ได้

ที่จิตรู้ขณะเข้าขณะออกจากสมาธิ เพราะจิตถูกฝึกให้กลมกลึงเกลี้ยงเกลา  อ่อน  เนียน ละเอียด   ควรแก่การใช้งาน จึงรู้ขณะจิตที่ละเอียดมาก ทั้งเวลาเข้าและเวลาออกจากสมาธิ จึงต้องประคับประคองไม่ให้มีคลื่นความคิดอื่นๆ แทรกเข้ามา เหมือนกัปตันนำเครื่องบินขึ้นลงอย่างระมัดระวัง กว่าจะได้ระดับเพดานบินก็จะปะทะลมพายุชั้นบรรยากาศ เครื่องก็จะมีการสั่นสะเทือน ก่อนจะยกเครื่องขึ้นจนได้ระดับเพดานบิน ก็ต้องประกาศเตือนให้ระมัดระวังให้นั่งอยู่กับที่ให้รัดเข็มขัด ขาลงก่อนเครื่องถึงพื้นก็จะปะทะลมมีการสั่นสะเทือนอีก ก็ประกาศเตือนให้ระมัดระวังอีก แล้วกัปตันก็ประคับประคองเครื่องลงจอดอย่างปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยเขาจึงประกาศเตือนให้รัดเข็มขัดทั้งขาขึ้นขาลง ให้ระมัดระวัง เพราะอาจจะมีอะไรแทรกเข้ามาระหว่างนำเครื่องขึ้นลง เหมือนนั่งสมาธิจะเข้าจะออกก็ต้องมีสติระมัดระวังมีความระลึกรู้อยู่เสมอ

แต่เมื่อปฏิบัติยังไม่ชำนาญ สติยังไม่เร็วพอก็จะไม่รู้ว่าจิตกำลังรวมดวงเป็นเอกภาพภายใน หรือจิตกำลังถอนออกมาจากความเป็นเอกภาพ นิมิตเกิดระหว่างจิตกำลังรวมเข้าและถอนออก ทั้งหมดจะเกิดรวมๆกันและจะเป็นสภาวะที่เร็วมากจนไม่สามารถรู้ได้ว่านิมิตเกิดขึ้นขณะใดของจิต เป็นขณะเข้าหรือขณะออก เพียงแค่เมื่อจิตเริ่มมีความสงบ หรือจิตรวมดวงเริ่มถูกความสงบดึงดูดลงสู่ความว่างก็จะเกิดสภาวะที่เรียกว่านิมิตแทรกเข้ามา ภาวะของจิตขณะนั้นจึงเป็นเหมือนเข้าๆออกๆ ผลุบๆโผล่ๆ เหมือนหลอดไฟที่ดับๆติดๆ จะดับแหล่มิดับแหล่ จะติดแหล่ไม่ติดแหล่  ขึ้นอยู่กับกระแสของไฟที่ส่งมามีความเสถียรหรือไม่

ถ้าจิตถูกความสงบดึงดูดเข้าสู่ความว่างภายในเสียแล้วก็ไม่เกิดนิมิต แต่จะเป็นความรู้ที่บริบูรณ์ หรือถ้าจิตถอนออกจากความเป็นเอกภาพภายในมาอยู่ในการรับรู้ตามปกติแล้ว ก็จะไม่เกิดนิมิต เว้นแต่ในกรณีที่จิตทรงสภาวะความสงบ หรือจิตรวมดวงเป็นขณะๆ ตามอิริยาบถ แม้ไม่ได้นั่งสมาธิ แต่จิตยังทรงความสงบไว้ในอิริยาบถเดิน ยืนหรือนอน เช่นขณะเดินจงกรมเป็นต้น อยู่ในอิริยาบถใดจิตก็รวมดวงลงที่อิริยาบถนั้น ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้เกิดนิมิตได้  เพราะจิตเป็นผู้สร้างนิมิตขึ้นมา หรือจิตในส่วนสังขารได้สังขารนิมิตขึ้นมา เรียกกันในหมู่ผู้ปฏิบัติ “นิมิตใน

“นิมิตใน

คือนิมิตที่เกิดจากการปรุงแต่งของจิต

นิมิตที่หยั่งรู้ลงไปถึงข้อมูลเก่าๆ

ที่เจือด้วยราคะ โทสะ โมหะ

ซึ่งสั่งสมเป็นอนุสัยนอนเนื่อง

อยู่ในจิตมีชาติในอดีต เป็นต้น

พระอาจารย์ญาณวชิระ

นิมิตที่เกิดจากการที่จิต ไปรับรู้รูปที่ละเอียด กลิ่นที่ละเอียด และเสียงที่ละเอียดที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นรูปเทพบุตร เทพธิดา สัตว์นรก วิญญาณคนที่ตายไป กลิ่นทิพย์ เสียงทิพย์ ซึ่งเกิดจากที่จิตที่ละเอียดลงไปจนไปมีความละเอียดอยู่ในระดับเดียวกับรูปเสียงกลิ่นของเทพบุตร เทพธิดา กลิ่นทิพย์ และเสียงทิพย์นั้นๆ ซึ่งเรียกกันในหมู่ผู้ปฏิบัติว่า “นิมิตนอก

“นิมิตภายนอก

อาจจะเกิดจากจิตที่ละเอียดลง

จนไปรับรู้รูป เสียง กลิ่น ที่ละเอียดนั้น

ซึ่งดำรงอยู่ความปกติ

เป็นไปอยู่ตามปกติ

เพียงแต่จิตเผอิญไปรับรู้เข้า

จิตมีความละเอียดลงไป

อยู่ในระดับเดียวกัน

ก็ไปรับรู้เข้า

หรือสิ่งนั้นมีเจตนามาปรากฏให้เห็น

ให้รับรู้จริงๆ ผ่านจิตที่ละเอียด”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

บางทีก็เป็นครูบาอาจารย์แต่หนหลังที่ยังอาศัยความกรุณาคอยติดตามความเป็นไป ก็มาชี้ทางให้ได้รู้พระกรรมฐานที่ถูกกับอารมณ์ ก็มาปรากฏบอกอารมณ์พระกรรมฐาน ชี้นำทางปฏิบัติเป็นนิมิตนอก จิตไม่ได้ปรุงแต่งขึ้น บางทีครูบาอาจารย์ในภพชาติก่อน ท่านยังตามดูแลรักษา เห็นเรายังไม่ทิ้งอัธยาศัยในพระกรรมฐาน อยากให้มีความก้าวหน้าเห็นเราเจริญพระกรรมฐานก็มาปรากฏให้อารมณ์พระกรรมฐาน

ที่จริงนิมิตหรือวิปัสสนูปกิเลสนั้น

เมื่อเกิดขึ้นแล้ว

ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้สนใจเสียทีเดียว

ไม่ใช่ว่าจะต้องสลัดทิ้งไปเลย

หรือไม่ใช่ว่าจะสร้างความคิดที่เป็นลบขึ้นมา

จนเกิดการปฏิเสธต่อต้าน

เกิดความหวาดกลัวจินตนาการไปว่า

จะเป็นอันตรายอย่างนั้นอย่างนี้

พระอาจารย์ญาณวชิระ

ถึงอย่างไรเมื่อปฏิบัติสมาธิไปจนจิตสงบอาการต่างๆ ก็จะปรากฏขึ้นเอง ซึ่งเป็นไปตามปกติธรรมดาของการปฏิบัติ เพียงแต่ว่า ให้รู้ลงไปตรงๆ ตามอาการนั้นๆ อย่าเพิ่งไปปฏิเสธเสียทีเดียวว่า เป็นเรื่องมโนโกหกหลอกลวงจิตนาการไปเอง หรืออย่าเพิ่งไปยึดเสียทีเดียวดูให้ดี อย่าเพิ่งไปคิดว่าจริงหรือไม่จริง เหมือนปลาเห็นเหยื่อก็กระโดดฮุบเลยติดเบ็ด พอยึดก็หลงนิมิตไม่ไปไหนมาไหน ไม่ก้าวไปข้างหน้า เหมือนคนเดินทางมัวหลงผลหมากรากไม้ข้างทาง หลงเพลินชมธรรมชาติข้างทางก็ไปไม่ถึงปลายทาง สุดท้ายก็หลงป่า

เมื่อนิมิตเกิดก็ค่อยดู ค่อยสังเกต ค่อยเทียบเคียง ค่อยพิจารณา ค่อยใคร่ครวญไตร่ตรองดูให้ดีก่อน ในช่วงแรกของการปฏิบัติ อินทรีย์คือปัญญายังอ่อนไม่เข้มแข็ง ยังไม่กล้าพอก็อาจจะหลงไป เห็นรูปอะไร ได้ยินเสียงอะไร ได้กลิ่นอะไรปรากฏ ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง ก็ดูให้แน่ อย่าถลำไป เมื่อดูบ่อยๆ รู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ เกิดขึ้นบ่อยๆ ปัญญาก็จะค่อยๆเจริญขึ้นตามมาในที่สุดก็จะหยิบนิมิตนั่นแหละขึ้นมาพิจารณาจนเกิดปัญญา เห็นนิมิตเป็นธรรมดาแล้วก็จะเฉยๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เห็นก็เห็นเฉยๆ เห็นเป็นธรรมดา เหมือนคนไปเดินเล่นสวนสาธารณะใหม่ๆก็จะตื่นเต้นกับสิ่งแปลกใหม่ พอไปบ่อยๆเข้าก็เฉยๆ แค่เดินผ่านไปเฉยๆ

นิมิตก็เป็นเพียงสภาวธรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น เมื่อนิมิตเกิดขึ้นแล้วก็สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ เหมือนอารมณ์โลภ โกรธ หลงอื่นๆ  แต่อย่าหลงเพลินไป ต้องดูด้วยความระมัดระวังอย่างรู้เท่าทัน  รู้คุณรู้โทษของนิมิต ที่จะไม่ให้รับรู้นิมิตเลยก็เป็นไปไม่ได้ เพราะนิมิตเป็นส่วนหนึ่งของผลที่เกิดจากความสงบ นิมิตเกิดก็รู้แต่อย่าไปหลงนิมิต อย่าเกลียดอย่ากลัวนิมิต อย่าไปสร้างความคิดที่เป็นด้านลบ

“ไม่ว่าจะเป็นนิมิตนอกนิมิตใน

เราก็เป็นแต่เพียงผู้รู้

นิมิตนอกก็รู้ นิมิตในก็รู้

ในที่สุดก็จะมีแต่ผู้รู้เท่านั้น

ไม่ได้เห็นด้วยความยึดถือ

ด้วยความสำคัญมั่นหมาย

เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็รู้ลงไปตรงๆ

ตามสภาวะธรรมที่ปรากฏนั้น

อย่ารู้ด้วยการปรุงแต่งยึดถือ

มีตัณหาและทิฐิเข้าไปอิงอาศัย

ว่าเป็นจริงเป็นจังอะไร”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

ดังนั้น แม้จะมีภาพครูบาอาจารย์ทั้งที่เคยเห็นและไม่เคยเห็นมาก่อน  มาปรากฏสอนพระกรรมฐาน ก็เป็นแต่เพียงผู้รู้ แม้ปรากฏก็อาจเป็นครูบาอาจารย์เก่าที่เป็นเจ้าที่อยู่ตรงที่ราปฏิบัติธรรมนั้น เห็นเราเจริญกรรมฐานท่านยังมีความกรุณาในฐานะของครูบาอาจารย์ อยากให้เจริญก้าวหน้าในธรรม ท่านก็มาบอกมาสอนให้เดินถูกทาง ทั้งหมดจะจริงหรือไม่จริง จะเป็นนิมิตนอกหรือนิมิตใน ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องไปแสวงหาข้อเท็จจริงอะไร ไม่ใช่สิ่งที่จะไปตั้งข้อสงสัย

“เพราะเป้าหมายการปฏิบัติสมาธิ

ไม่ใช่เพื่อจะมาพิสูจน์ว่า

อะไรจริงไม่จริงเกี่ยวกับนิมิต

แต่เป้าหมายของสมาธิคือความสงบ

เพื่อให้เกิดปัญญาจากภายใน”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

ท่านจึงสอนไม่ให้ไปให้ความสำคัญกับนิมิต แต่ให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมดาของจิตที่สงบ ต้องสอนตัวเองไว้เนืองๆ ว่า “เป็นอาการธรรมดาของจิตสงบทั่วไป” เป็นสภาวะธรรมธรรมดา

ถ้าเห็นคลาดเคลื่อนไปจากธรรมดานี้ เรียกว่า “สัญญาวิปลาส” คือเห็นไม่ตรงตามความจริง จึงต้องดูลงไปตรงๆ ตามอาการของจิต อย่าไปคิดดัดแปลง ปรับแต่ง ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดูลงไปตรงๆ เกิดอย่างไรรู้อย่างนั้น ถ้าไปคิดปรุงแต่งผิดไปจากธรรมดา ก็เรียกว่า วิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากความจริงที่ธรรมดา

ความจริงที่ธรรมดาคืออะไร คือ ไม่เที่ยง นิมิตที่ปรากฏจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ อย่าให้วิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากความจริงที่ธรรมดาของสมาธิ ไม่ว่าจะคลาดเคลื่อนไปเพราะความสงบที่เกิดจากสมถะที่เรียกว่า  “นิมิต” หรือคลาดเคลื่อนไปเพราะความสงบจากวิปัสสนา ที่เรียกว่า “วิปัสสนูปกิเลส” คลาดเคลื่อนไปจากความจริงที่เกิดจากตัณหาที่อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามความอยาก

ถ้ามัวแต่ตั้งข้อสงสัย มัวแต่จะไปพิสูจน์ มัวแต่จะไปแสวงหาข้อเท็จจริงแบบตรรกะ จิตก็จะไม่มีอารมณ์เดียวรวมดวงลงสู่ความสงบ ก็ไปไม่ถึงเป้าหมายของสมาธิ ก็ออกนอกทางของการปฏิบบัติ เพราะวิจิกิจฉาขวางเอาไว้  

ท่านจึงสอนเป็นอุบายเอาไว้ว่า

  “ที่เห็นน่ะเห็นจริง

แต่สิ่งที่เห็นน่ะไม่จริง”

ที่เห็นนะเห็นจริง เพราะจิตที่ละเอียดทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา จิตจึงรับรู้อาการเหล่านั้นด้วยจิต จึงชื่อว่า “เห็นจริง” แต่สิ่งที่เห็นน่ะไม่จริง เพราะสิ่งที่เห็นเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏขึ้นจากเหตุปัจจัยแห่งความสงบของจิต

เมื่อจิตถอนออกจากความสงบ สิ่งเหล่านั้นก็หายไป ไม่ต่างจากนอนหลับแล้วฝันไป ความฝันจะว่าจริงก็ไม่ใช่ จะว่าไม่จริงก็ไม่ใช่  เห็นทางความฝันจริง แต่ครั้นจะว่าจริง เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมา ความฝันนั้นก็กลับอันตรธานไป ความฝันนั้นก็ไม่ได้เป็นจริง ท่านจึงบอกว่า เห็นน่ะเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นน่ะไม่จริง อุปมาเหมือนความฝัน ที่ฝันนะฝันจริง แต่สิ่งที่ฝันเห็นนะไม่จริง

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๔) “นิมิตเกิดขึ้นตอนไหน” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here