ธรรมะกับธรรมชาติในป่าใหญ่

และ…ใจมนุษย์ 

ดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย

มนุษย์มักคิดว่า…

เราเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้​ที่แตกต่างจากสัตว์อื่นทั่วไป​ 

ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ​ ฉลาด​ มีความรู้​ ความสามารถเหนือกว่าสัตว์อื่น​

  แต่บางครั้งบางเวลาใจมนุษย์ตกต่ำลงไม่ต่างจากสัตว์เหล่านั้นเลย

และอาจจะยิ่งกว่าสัตว์เสียอีก


พระครูสมุห์สุพัฒน์  อนาลโย

แท้จริงแล้ว ธรรมชาติอยู่เหนือกว่าสรรพสัตว์ทั้งปวง​ ถ้าเรารู้จักเคารพซึ่งกันและกัน​ ก็จะอยู่ร่วมกันพึ่งพิงอาศัยกัน​ได้  แต่เมื่อมีความหวาดระแวงกัน​ ไม่มีความเชื่อใจไว้วางใจกัน​  ไม่ให้อภัยแก่กัน​ คิดเบียดเบียนกัน​   จะแสวงหาความสงบสุขทางกายและใจได้ยาก​ 

และความเห็นแก่ตัวจากมนุษย์นี้เอง นำไปสู่ความเสียหายของระบบสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ด้วยความละโมบ ทำให้ธรรมชาติเสื่อมโทรมลง​ ผู้ที่รับผลของกรรมนั้นอย่างเต็มๆ ก็กลับคืนสู่มนุษย์นั่นเอง​ในทุกทาง เรื่องของฝุ่น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการถูกทำลายธรรมชาติโดยน้ำมือมนุษย์เท่านั้น เพราะมนุษย์ ยังเบียดเบียนกันและกันโดยการโกงค่าแรง เบียดเบียนแรงงาน ทำธุรกิจไม่ซื่อตรง อาศัยกฏหมายทำร้ายกันเองในนามของวาทกรรมความถูกต้อง แต่ไม่ถูกธรรม ตรงกับพุทธพจน์ประโยคที่ว่า​

กัมมุนา​ วัตตติ โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

“กระทำกรรมอย่างไร… ​ก็ได้รับผลของกรรมตามนั้น”

ยัง​ กัมมัง​ กะริสสามิ.เราทำกรรมอันใดไว้

ตัสสะ​ ทายาโท​ ภะวิสสามิ. เราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น

ดังเรื่องเล่าว่า​

ในป่าใหญ่มีสิงโตและเสือเป็นเพื่อนรักกันอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง​  สัตว์ทั้งสองตัวออกไปล่าสัตว์ได้มาก็แบ่งกันกินใต้ต้นไม้นั้นทุกๆ วัน​

หลายวันผ่านไป…ซากศพที่อยู่ใต้ต้นไม้นั้นได้ส่งกลิ่นเหม็นอบอวนเป็นอย่างมาก​  จนเทวดาที่อยู่ที่ต้นไม้นั้นทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว​ จึงออกมาหารือกับเทวดาที่เป็นพระโพธิสัตว์ว่า​

 “เราต้องไล่เจ้าสิงโตกับเสือไปให้ไกลจะไม่มีกลิ่นเหม็นนี้มารบกวนใจอีก”  

เทวดาพระโพธิสัตว์ว่า​

ไม่เป็นไรหรอก​ เรากับเขาก็อาศัยกันและกันอยู่” 

ส่วนเทวดาอีกองค์หนึ่ง​พูดว่า​ “ไม่ยอม” 

หลังจากนั้น​  ก็ได้เนรมิตรตนเป็นผีสางขับไล่สัตว์ทั้งสองตัวด้วยอาการต่างๆ​ ให้ออกไปในที่สุด​ สิงโตและเสือหนีไปจากต้นไม้นี้​   หลายเดือนผ่านไปชาวบ้านทราบข่าวว่าสิงโตและเสือไม่อยู่แล้วก็เข้าไปตัดไม้ต้นใหญ่ไปแปรรูปเป็นอย่างอื่น​ 

เทวดาก็ไม่มีวิมานอยู่เดือดร้อนก็มาหาเทวดาพระโพธิสัตว์ถามว่าเราจะทำอย่างไรดีก็เลยบอกเทวดานั้นว่าให้เจ้าไปเชิญสิงโตและเสือให้กลับมาอยู่ที่เดิมให้ได้ผลปรากฏว่าสัตว์ทั้งสองตัวนั้นไม่กลับมาอีกเลย

จะเห็นได้ว่าป่าไม้ต้องอาศัยสัตว์​เพื่อรักษาเผ่าพงไพรให้เขียวสวยงามเพิ่มความอุดมเป็นเครื่องประดับให้โลกน่าอยู่  สัตว์ก็อาศัยป่าไม้เป็นที่หลับนอนที่กิน​  เมื่อขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งความสมดุลของธรรมชาติก็ไม่สมบูรณ์ถูกทำลายให้ดับสูญพันธุ์ไป​

ส่วนต้นไม้ต้องใช้ระยะเวลาปลูกให้เติบโตสักประมาณ​ ๓๐​ ปีได้​ แต่เวลาที่ทำลายนั้นไม่ถึงชั่วโมงชั่วพริบตาก็เหลือแต่ตอไม้ไว้ให้ดูต่างหน้า​ 

การทำลายป่าก็สลับซับซ้อน บางทีชาวบ้านเป็นเพียงผู้รับจ้างมีรายได้เพียงน้อยนิด แต่ผู้สั่งตัดตัวจริงอยู่เบื้องหลัง ได้ประโยชน์มหาศาลจากป่าไม้โดยอาศัยการจ้างชาวบ้าน และผู้ที่เคราะห์ร้ายถูกจับก็กลายเป็นชาวบ้าน ส่วนผู้ร้ายตัวจริงลอยนวล นี่แหละช่องว่างของกฎหมายที่ทำอะไรคนมีอำนาจไม่ค่อยได้

บุคคลที่หมั่นสะสมทำความดีมาหลายปี  เมื่อพลาดพลั้งเพียงครั้งเดียว คนก็ตีตรามองไม่ดีตลอดชีวิต อันนี้ไม่ควร เราควรให้อภัยต่อกันเพื่อเริ่มต้นใหม่

เพราะมนุษย์อาศัยธรรมหล่อเลี้ยงจิตใจ​ หากมนุษย์ไม่มีธรรมะอยู่ในใจแล้วก็เป็นได้เพียงแค่คนเท่านั้น​ 

ดังนั้น​ ไม่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ป่าไม้ภูเขาที่เป็นธรรมชาติ ต้องอิงอาศัย​พึ่งพากัน​ หากขาดความพอดีตอนไหนก็จบกันที่ตรงนั้น​ บุคคลที่รักษาธรรมะ​ ธรรมะจะย้อนกลับมาปกป้องรักษาเราเช่นกัน​

สังคมจะสงบสุขอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง​ได้และประกอบด้วยคุณธรรมครองใจคนคือ​

“รู้จักแบ่งปันเอื้อเฟื้อแผ่​ พูดจาไพเราะเพราะพริ้ง​ 

มีจิตอาสาสาธารณะ​ และวางตนเสมอต้นเสมอปลาย”

พระจ๊อดส์

๑๔​ พฤษภาคม​ พ.ศ. ๒๕๖๒

พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย ที่สวนโมกขพลาราม
พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย ผู้เขียน
ขณะเดินทางไปเป็นพระวิทยากร
ให้กับสามเณรปลูกปัญญาธรรมปีที่ ๘
ที่สวนโมกขพลาราม
จังหวัดสุราษฎร์ธานี

“จะเห็นได้ว่า…

ป่าไม้ต้องอาศัยสัตว์​เพื่อรักษาเผ่าพงไพรให้เขียวสวยงามเพิ่มความอุดมเป็นเครื่องประดับให้โลกน่าอยู่  สัตว์ก็อาศัยป่าไม้เป็นที่หลับนอนที่กิน​  เมื่อขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งความสมดุลของธรรมชาติก็ไม่สมบูรณ์ถูกทำลายให้ดับสูญพันธุ์ไป​ มนุษย์ก็เช่นกัน ควรถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ”

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here