พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปี พ.ศ.๒๕๖๐
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปี พ.ศ.๒๕๖๐

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๗๐

“จุดเริ่มต้นแห่งปณิธาน

และการสร้างพระพุทธรูปที่มีชีวิต ”  

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์  

ในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา ผู้เขียนเพียรสวดมนต์ ตั้งใจภาวนาถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ถวายแด่พ่อแม่ครูอาจารย์อันมีพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่ผู้เขียนเคารพศรัทธาอย่างสูงสุด ท่านเมตตาให้ข้อคิดสติปัญญาแก่ผู้เขียน ให้ผ่านช่วงที่เศร้าโศกที่สุดในชีวิตจากการสูญเสียคุณแม่เมื่อสามปีก่อน ท่านให้แนวทางในการดำเนินชีวิตด้วยสติและปัญญาให้ผู้เขียนพึ่งตนเองให้ได้

ผู้เขียนมีคำสอนของท่านเป็นพลังในการก้าวไปในแต่ละวันและตั้งใจเขียน “รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน” ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ถวายพระพุทธเจ้าเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชาเป็นธรรมบรรณาการฝากไว้ในโลกนี้ว่า มีพระสุปฏิปันโนเล็กๆ รูปหนึ่งที่มีชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา มีลมหายใจเพื่อสร้างพระเณร และงานเผยแผ่พระพุทธศาสนามาโดยตลอดตามรอยหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) พระอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่าน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปี พ.ศ.๒๕๖๐
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปี พ.ศ.๒๕๖๐

ผู้เขียนเปิดบันทึกความทรงจำที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เมตตาให้ข้อคิด เป็นแนวทางในการสร้างงานสื่ออย่างมีศิลปะไว้เมื่อสามปีก่อน ตอนที่นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์เตรียมจะปิดตัวลงในต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐ ด้วยผู้เขียนกราบเรียนท่านว่า เรียนศิลปะมาตามรอยคุณแม่ เพราะคุณแม่ก็เรียนเพาะช่าง และคุณแม่ชอบเขียนหนังสือส่งบทกลอนไปลงตามนิตยสารต่างๆ ในสมัยก่อน ก็เลยได้แรงบันดาลใจจากคุณแม่มาเรียนศิลปะและเขียนหนังสือ และได้นำศิลปะนี้ทั้งสองด้านนี้มาสร้างสรรค์ในงานสารคดีทีวี งานข่าว บทความ และการเขียนคอลัมน์ต่างๆ มาโดยตลอด แต่ถ้านิตยสารปิดตัวลงและต้องออกจากสื่อไปจะทำอย่างไรกับชีวิต

ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้นเมตตาให้ข้อคิดว่า งานทุกอย่างล้วนต้องอาศัยศรัทธา อุดมการณ์ และปณิธานเป็นที่ตั้ง  เพราะถ้าขาดเสียซึ่งศรัทธา ก็คงไร้ซึ่งอุดมการณ์ เมื่อไม่มีอุดมการณ์ ก็คงไม่มีปณิธานที่ยิ่งใหญ่  เมื่อไม่มีปณิธานแล้วจะสร้างงานที่มีคุณค่าได้อย่างไร

“ศิลปินในอดีตสร้างศิลปะอันสูงส่ง มีคุณค่า ก็เพราะท่านมีปณิธานอันยิ่งใหญ่ คือ มีศรัทธาที่จะสร้างงานศิลป์ให้เป็นเครื่องสักการะพระรัตนตรัยในอันที่จะบูชาพระพุทธเจ้านั่นเอง

“เมื่อเรามีศรัทธาแล้ว ศรัทธาจะทำให้เรามีอุดมการณ์ และอุดมการณ์จะทำให้เราทำงานศิลปะอย่างมีเป้าหมาย  และเป้าหมายนั้นแหละ คือ ปณิธานในการสร้างงานอันอมตะของผู้คนมากมาย  จึงเกิดพระพุทธปฏิมากร เกิดองค์พระเจดีย์ และสิ่งก่อสร้างทางพระศาสนามากมาย ล้วนแล้วแต่งดงามไปตามการสร้างสรรค์ของยุคสมัย เมื่อเราคิดจะสร้างงานอันอมตะเฉกเช่นท่านเหล่านั้น ก็ให้เราตั้งปณิธานไว้เสมอ  ไม่ว่ายามหลับหรือตื่น  ถามตัวเองไว้เสมอว่า เราจะสร้างงานศิลป์ไปเพื่ออะไร เพื่อตายไป หรือเพื่อให้ดำรงอยู่เพื่อเชิดชูพระพุทธเจ้า  ควรคิดฝันอยู่เสมอ ไม่ว่ายามหลับหรือตื่น หวังจะสร้างสรรค์งานให้เกิดคุณค่าอันอมตะสำหรับแผ่นดิน เป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า นี่คือ ปณิธานที่เราควรตั้งไว้”

แม้เราตั้งเป้าหมายว่า จะมีปณิธานเพื่อสร้างงานให้เป็นอมตะกับแผ่นดินแล้ว ท่านอาจารย์เจ้าคุณอธิบายต่อมาอีกว่า แต่ก็อย่าหลงลืมไปว่า ชีวิตคนเรายังต้องดำเนินต่อไป งานศิลป์บางอย่างสร้างเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ส่วนงานบางอย่างหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ งานที่หล่อเลี้ยงชีวิตนั้นควรจะเป็นงานที่ผลิตได้เร็ว เพราะต้องหล่อเลี้ยงชีวิตที่ยังคงต้องดำเนินต่อไป และต้องมีเวลาสำหรับสร้างงานอีกชิ้นหนึ่ง เพื่อให้เป็นงานชิ้นสำคัญที่เราจะสร้างมันขึ้นมาให้เป็นอมตะคู่กับแผ่นดิน ซึ่งสร้างควบคู่กันไปกับงานศิลป์สำหรับหล่อเลี้ยงชีวิ

“ความหมาย ก็คือ งานที่เราใช้เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตก็เหมือนงานที่เราตอกเสาเข็ม เพื่อรองรับงานชิ้นใหญ่ที่จะมีคุณค่า  ที่ชอบพูดกันว่า “เป็นงานอมตะคู่กับแผ่นดิน”  เราอาจตั้งเป้าหมายไว้ว่า งานชิ้นใหญ่ปีหนึ่งออกให้ได้ชิ้นหนึ่งก็ได้ แต่ในระหว่างหนึ่งปี เราจะมีงานชิ้นเล็กๆ ไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นคุณค่าสำหรับเรา และสำหรับคนที่รู้คุณค่า”

คุณค่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเมตตาอธิบายต่อมาอีกว่า  ก็เพื่อมอบให้บุคคลที่นับถือตามวาระ เช่น วันเกิด  วันขึ้นบ้านใหม่ หรือวันครบรอบอะไรก็ได้ เพราะการที่เราให้อะไรใครตามโอกาส สิ่งนั้นจะมีคุณค่าตามโอกาสนั้น เพราะเป็นความทรงจำของโอกาสนั้น  คุณค่าก็จะมาจากความทรงจำและในโอกาสที่มอบให้

ปาฐกถาธรรม โดยพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในอดีตเมื่อครั้งที่ท่านเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการและปาฐกถาธรรม ในหัวข้อพิเศษ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับศิลปะไทย”  วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐
ปาฐกถาธรรม โดยพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในอดีตเมื่อครั้งที่ท่านเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการและปาฐกถาธรรม ในหัวข้อพิเศษ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับศิลปะไทย” วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐

“อาตมาเคยพูดกับเด็กๆ ที่เรียนศิลปะ และเคยได้พูดคุยกับศิลปินที่เขียนภาพบางท่าน อย่างเมื่อครั้งที่ไปเปิดงานนิทรรศการและไปพูดในหัวข้อ “พระพุทธศาสนากับศิลปะไทย”  ที่วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐

ในครั้งนั้น ก็ได้สนทนากับผู้อำนวยการภาควิชาศิลปะประจำชาติและหัตถกรรม  วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ซึ่งสาขานี้เขาเรียนเขียนลายไทยกัน ปั้นพระพุทธรูป เป็นต้น แล้วเขาก็พาเดินดูศิลปะไปตามตึกต่างๆ

ก็คุยกับเขาว่า โลกของศิลปะ สำหรับเรา แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งก็คือ ศิลปะที่เป็นศิลปะไทย เป็นรากฐานที่สำคัญ นักศึกษาที่เรียนศิลปะไทยก็ได้รู้แล้วว่า ทำไมครูบาอาจารย์ท่านจึงสอนให้เขียนภาพทศชาติ เขียนภาพตามบทสวด ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นศิลปะแนวจารีต เช่นว่า พออาจารย์ให้เขียนภาพทศชาติ ท่านก็จะให้เขียนแบบเดิมๆ เป็นรูปแบบการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง จึงกลายเป็นจารีตในการเขียนจิตรกรรมไทยแนวนี้ ทุกวัดจึงมีภาพทศชาติ และภาพไตรภูมิแนวเดียวกันไปหมด เป็นศิลปะแบบจารีต ซึ่งต้องอนุรักษ์ไว้ในการสอนศิลปะไทยที่สอนเหมือนกันหมดในทุกที่  เพราะนี่คือ ศิลปะประจำชาติแนวจารีต

“จารีตเป็นสิ่งที่เด็กๆ นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ เพราะเป็นรากฐานที่สำคัญของศิลปะไทยในอดีต แต่เด็กๆ นักศึกษาก็จะต้องเดินไปหาอนาคต ไม่ย่ำอยู่กับอดีต เพราะฉะนั้น เราก็สอนให้เขารู้ว่า ศิลปะในโลกแห่งอดีตจะไปบรรจบกับศิลปะแห่งอนาคตได้อย่างไร”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งที่ท่านเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งที่ท่านเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐

สองเรื่องนี้จะมาบรรจบกันได้บนเส้นแบ่งความคิดที่สร้างสรรค์ ผ่านศรัทธาและอุดมการณ์ ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเมตตาให้ข้อคิดว่า จะต้องมีความสร้างสรรค์เกิดขึ้นเพื่อเชื่อมต่ออดีตกับอนาคตเข้าหากัน งานสร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้นมาอย่างมีราก มิใช่สร้างสรรค์จนหลุดลอยจากความรับผิดชอบต่อสังคม งานสร้างสรรค์บางอย่างทำลายรากฐานที่สำคัญ เพราะไม่ได้สร้างจากแรงศรัทธาพระพุทธเจ้า แต่สร้างเพราะต้องการเอาพระรัตนตรัยเป็นบันไดไปสู่ความเป็นศิลปิน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งที่ท่านเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งที่ท่านเป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐

“การเชื่อมต่อศิลปะจากอดีตสู่อนาคตนั้น อย่างเช่น ถ้าเขียนภาพทศชาติ เด็กที่เขียนภาพก็จะเขียนภาพแบบเดิมที่อาจารย์ให้คัดลอกจากจิตรกรรมฝาผนัง   จะไม่สามารถตีความเป็นอื่นจากภาพแนวเดิมๆ หรือจะไม่ลองคิดเขียนเหตุการณ์อื่นขึ้นมาบ้าง แบบเดิมก็สำคัญเพราะเป็นรากฐาน แต่จะให้เขาตีความขึ้นมาใหม่ได้ไหม อย่างเช่น ภาพพระเตมีย์ ที่ผ่านมาเราก็เขียนแบบเดิมๆ เป็นภาพพระเตมีย์ยกราชรถขึ้นมา เป็นต้น สมมติว่า เราจะตีความใหม่ในภาพพระเตมีย์ เราสามารถให้เด็กๆ นักศึกษาลองตีความใหม่ ลองให้เขียนเหตุการณ์อื่นดูบ้าง เพื่ออะไร ก็เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ให้เดินไปหาอนาคต แต่อยู่บนรากฐานเดิม คือ บนรากฐานที่เป็นศิลปะประจำชาติ

“การที่เขาจะตีความได้ก็ต้องขยายขอบเขตความรู้เรื่องพระเตมีย์อย่างละเอียดลงไปในแต่ละตอนตั้งแต่ต้นจนจบ คือ ต้องให้นักศึกษามีฐานความรู้เรื่องพระเตมีย์ให้กว้างขวางและลุ่มลึก ทั้งเนื้อเรื่องและหลักคิดที่ซ่อนอยู่ในเนื้อเรื่อง เพื่อที่จะให้เขาตีความงานใหม่ตามความคิดสร้างสรรค์ของเขาออกมาผสานกับศิลปะแบบจารีตประเพณีที่เป็นรากฐานสำคัญ เป็นการสร้างปณิธานขึ้นมา เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีคุณค่า

หากทว่า งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา จะว่าไปก็เป็นงานที่อาภัพ?

(จากคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ )

ผู้เขียนขอน้อมนำบทความเรื่อง “สร้างพระพุทธรูปที่มีชีวิต” จากคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ มาขยายมุมมองเพิ่มเติมว่า เราจะมีมุทิตาจิตในการชื่นชมยินดีกันอย่างไร ในการที่เวลามีใครสักคนมีความคิดสร้างสรรค์ในแนวทางพุทธศิลป์เกิดขึ้น เพื่อให้กำลังใจเขาให้เขาได้เติบโตทางความคิดเพื่อนำไปสู่จิตที่เปิดกว้างในการสร้างงานแห่งชีวิตอันจะเป็นงานอมตะแห่งแผ่นดินต่อไปในอนาคต…

เหตุที่ตั้งคำถามเช่นนั้น  เพราะงานเผยแผ่มักไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่  อาจเป็นเพราะว่า  จับต้องโดยรูปธรรมไม่ค่อยได้  และประเมินเป็นผลงานออกมาเป็นรูปธรรมยาก เนื่องจากเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ถ้าเป็นงานการศึกษาก็พอประเมินผลได้ เช่น เรียนบาลี ก็ประเมินได้ว่า เรียนกี่รูป สอบได้กี่รูป ปริยัติสามัญก็ยังมีจำนวนนักเรียน มีการจบการศึกษาเป็นเครื่องวัด  โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาก็เช่นกัน  หรือการสร้างวัด สร้างโบสถ์  วิหาร  ศาลาการเปรียญ  ล้วนแต่เป็นสิ่งที่จับต้องได้  แต่เมื่อเป็นงานเผยแผ่กลับจับต้องไม่ได้  วัดค่าไม่ได้  ก็เลยถูกมองข้ามความสำคัญไป  มีพระหนุ่มเณรน้อยจำนวนมากซุกตัวทุ่มเททำงานเผยแผ่อยู่เงียบๆ แต่กลับไม่ได้รับการเอาใจใส่

  หลวงพ่อสมเด็จ มองเห็นปัญหานี้ จึงได้ตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ขึ้นมา เพื่อเป็นแกนกลาง เป็นกำลังใจ เป็นจุดเชื่อมต่อการทำงานเผยแผ่ของพระหนุ่มเณรน้อย ด้วยปรารภเหตุผลว่า เป็นห่วงสถานการณ์พระพุทธศาสนา ห่วงคณะสงฆ์ และห่วงสังคม

สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑

สิ่งสำคัญก็คือ มาถึงวันนี้ เมื่อมองลึกลงไป พระพุทธศาสนาไม่ปกติ คณะสงฆ์ก็ไม่ปกติ แม้บ้านเมืองเองก็ไม่ปกติ คือ ภัยคณะสงฆ์มีมาก รุมล้อมเข้ามารอบด้าน โดยเฉพาะภัยจากทัศนคติ พระเณรจะอ่อนแอ  ไม่ตื่นตัวต่อภัยจากทัศนคตินี้ไม่ได้  ผู้ที่จะกอบกู้ภาพลักษณ์พระศาสนาก็คือ พระเณรเรานี่แหละที่จะช่วยกัน อยู่ในจังหวัดไหน อำเภอไหน ตำบลไหน วัดในหมู่บ้านไหน ทำที่นั่น

  ในเบื้องต้น ต้องดูแลชุมชนของตัวเองก่อน หมู่บ้านคือฐานที่สำคัญ ต้องรักษาฐานของตัวเองให้แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นฐานรากให้พระศาสนามั่นคง ดูแลทั้งชาวบ้านจนถึงนักเรียน นำพาเขาสร้างบุญกุศล ปฏิบัติธรรม เจริญจิตตภาวนา แล้วค่อยๆ ขยายออกจากหมู่บ้านไปสู่ตำบล สู่อำเภอ หากทำได้อย่างนี้ ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาก็จะเกิดขึ้นในใจของแต่ละคน ทีละคน ทีละหมู่บ้าน

จะทำได้เช่นนี้ พระเณรต้องปลูกสำนึกรักบ้านเกิดให้เกิดขึ้น เกิดบ้านไหนกลับไปทำบ้านนั้น โดยถือหลักญาติสังคหะ ให้มองคนในหมู่บ้านในชุมชนเป็นญาติพี่น้องที่ต้องสงเคราะห์โดยธรรม ยกจิตให้สูงขึ้นจนเป็นความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

  ที่จริงแล้ว พระเราทำงานหนักมาก แทบจะทุกพื้นที่มีพระอุทิศตนเคลื่อนไหวทำงานไปตามความเคลื่อนไหวของสังคม  แต่น่าแปลกทำไมคนยังมีทัศนคติที่ไม่ดีกับพระ กับคณะสงฆ์  เมื่อนึกตรึกตรองดู  ก็พบว่า พระทำงาน แต่คนไม่เห็นงานของพระ คือ พระทำงานแบบใจพระโพธิสัตว์ มองว่า ทำความดี ก็เป็นความดี ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นเห็น ไม่ต้องให้คนอื่นรู้ ก็เป็นความดี

       คราวนี้  ต้องเปลี่ยนทัศนคติกันบ้าง คือ ทำความดี ต้องเผยแพร่ความดี เพื่อให้คนเห็นความดีที่พระทำ  จะได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในชุมชน สังคม ในการที่จะทำความดีต่อไป

(จากคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ )

ภาพประกอบสีฝุ่น โดย หมอนไม้
ภาพประกอบสีฝุ่น โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

โดย  พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๓๔  “ความเพียรต้องทำต่อเนื่อง”

       ในการปฏิบัติสมาธิ ความเพียรเป็นสิ่งที่สำคัญ ความเพียรต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน ไม่ทำๆ หยุดๆ

ลักษณะของความเพียรมีหลายลักษณะ ความเพียรที่ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย เมื่อมีความชัดเจนในเป้าหมายเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องเป็นสัมมาทิฐิแล้ว ก็ลงมือทำไปไม่ท้อถอย เรียกว่า วิริยะ หรือ วายามะ เมื่อทำความเพียรไปแล้วคราวใดที่เกิดความง่วง เบื่อหน่ายไม่เบิกบานถูกความง่วงครอบงำก็ต้องใช้ความเพียรแบบชาคริยานุโยค (คือ การอยู่ในอิริยาบถสาม คือ เดิน ยืน นั่ง ไม่นอนตลอดราตรี) เพื่อขับไล่ความง่วง เป็นความเพียรแบบตั้งใจคิดหาวิธีแก้ไขความง่วงความไม่เบิกบานให้ใจตื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันกลางคืน คิดหาวิธีที่จะทำให้เบิกบานใจในการปฏิบัติ ประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่เรียกว่า “ชาคริยานุโยค”

บางคราวก็ต้องเร่งความเพียรเพิ่มความร้อนให้ใจกล้าขึ้น ก็ใช้ความเพียรแบบอาตาปี เพื่อเป็นตบะแผดเผาขจัดเอามลทินออกจากใจ เพื่อแผดเผาเอาสิ่งที่ไม่ใช่เนื้อแท้ของใจออกไป เหมือนเร่งไฟเพิ่มความร้อนเผาเหล็ก เพื่อเผาผลาญเอาสนิมซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เนื้อแท้ของเหล็กออกไป ให้อ่อนควรแก่การตีปรับรูปให้เป็นดาบ เหมาะแก่การใช้งานตามต้องการ

คุณสมบัติของเหล็กแท้คือ ความแข็งแกร่ง ความทน ความกล้า ความคม และใช้ประโยชน์สูงสุดได้ตามคุณสมบัติที่แท้จริงของเหล็ก

จิตที่มีความเพียรแบบอาตาปี จะค่อยๆ แผดเผา ค่อยๆ กัดเซาะ ค่อยๆละลาย ค่อยๆ ขจัดมลทิน คือ กิเลสของใจออกไปเรื่อยๆ หากความเพียรมากก็แผดเผาขจัดมลทินของใจออกไปได้มาก เร่งความเพียรมากขึ้นก็ทำลายกิเลสได้มากขึ้น จิตก็ถึงความสะอาด บริสุทธิ์ กล้า แกร่ง ทน ถึงความเป็นคุณสมบัติที่แท้จริงของจิต ใช้ประโยชน์ได้สูงสุดตามคุณสมบัติที่แท้จริงของจิต อารมณ์ใดๆ กิเลสใดๆ ก็ทำอันตรายจิตเช่นนี้ไม่ได้

จิตที่ทำความเพียรถึงที่สุดแล้ว อารมณ์ภายนอกก็ไม่สามารถทำอันตรายได้  (อายตนะภายนอก) อารมณ์ภายในก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ (อายตนะภายใน)ทั้งอารมณ์ภายในทั้งอารมณ์ภายนอก ก็ทำอันตรายไม่ได้

เพราะจิตถึงความเป็นจิตเดิมแท้ ถึงความเป็นจิตประภัสสร สะอาด บริสุทธิ์ กล้า แกร่ง ทน ควรแก่การใช้งาน เหมือนสแตนเลสแท้ที่ถูกเผาขจัดสนิมออกไปแล้ว ก็ไม่เกิดสนิมอีก ไม่ถูกสนิมภายในเนื้อสแตนเลสทำลาย ไม่ถูกสนิมจากข้างนอกทำลาย สนิมข้างในก็ไม่เกิดสนิมข้างนอกก็กัดกินไม่ได้

ความเพียรที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จะเป็นไปอย่างมีความสมดุล ให้ปฏิบัติไปเหมือนเด็กหัดพูด หัดเดิน ล้มแล้วก็แค่ลุกขึ้นใหม่ เด็กไม่ได้คิดว่าจะเดินได้หรือเดินไม่ได้ ก็แค่เดินไปเรื่อยๆ ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมา แล้วก็เดินต่อไปเดินต่อไป โดยไม่ได้หันกลับมาถามพ่อแม่ว่าเมื่อไหร่จะเดินได้ เด็กแค่ก้าวไปข้างหน้าไม่เคยคิดว่า การเดินมันยากหรือง่าย จากพูดอ้อแอ้ก็เริ่มชัดถ้อยชัดคำ จากเดินเปะปะก็เริ่มเดินได้ตรง  จากเดินช้าก็เริ่มเดินได้เร็ว แล้วก็วิ่งได้ในที่สุด

เราฝึกหัดสมาธิก็ไม่ต้องหันกลับมาถามครูบาอาจารย์อยู่เรื่อยว่าเมื่อไหร่จะปฏิบัติสมาธิได้เสียที ก็ฝึกหัดไป ล้มลุกคลุกคลานไปบ้างก็ไม่เป็นไร

การทำความเพียรให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องจะนั่งสมาธิก็ได้จะเดินจงกรมก็ได้จะสลับกันไปมาระหว่างนั่งสมาธิกับเดินจงกรมก็ได้ หรือจะดูความเคลื่อนไหวของร่างกายที่เป็นไปอย่างสืบเนื่องก็ได้  ให้ปฏิบัติสลับกันไปตามความเหมาะสม แต่ให้ต่อเนื่อง

การเดินจงกรมทำให้สติไว เพราะมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ขณะที่เท้าเคลื่อนไหว ความคิดก็ตกไปในช่วงสั้นๆ แล้วสติก็จะกลับมาระลึกรู้ ความคิดนั้นก็ตกไป ขณะเดินอยู่บนเส้นทางจงกรมเกิดความคิดขึ้นมา และความคิดกำลังจะปรุงแต่งต่อไป พร้อมกับที่เท้าต้องก้าวไป จิตก็จะตัดมาที่การก้าวเท้าเดิน ทำให้ความคิดนั้นตกไปเสียก่อนแต่ที่จะมีการคิดปรุงแต่งไปไกล

ก้าวย่างจะคอยทำหน้าที่ตัดความคิดให้ตกไป ยิ่งเดินไวความคิดก็ยิ่งตกไปไว เรียกว่า

“เดินจงกรมเป็นการตัดภพตัดชาติให้สั้นเข้า”

เพราะขณะจิตเกิดดับไปเร็ว ยังไม่ทันได้ปรุงแต่งเติบโต ก็ดับเสียตั้งแต่เริ่มก่อตัวเป็นความคิด เกิดความคิดมาใหม่อีกก็ถูกก้าวย่างตัดให้ตกไปเสียอีก ไม่ทันได้คิดปรุงแต่งยาวนาน ความคิดกำลังก่อตัวขึ้นมา พอมีการเคลื่อนไหวเท้าความคิดก็ตกไป

ขณะเดินเกิดความคิดขึ้นมาก็หมายความว่า “ภพเกิด” ขณะที่ก้าวเท้าเคลื่อนไปจะทำให้จิตไหว ความคิดนั้นก็ตกไปเพราะมีสติในการที่จะก้าว  ก็เรียกว่า “สิ้นภพ” ถ้าความคิดนั้นยังไม่ขาดเพียงแต่ตกไปในช่วงสั้นๆ ก็จะถูกดึงกลับมาคิดใหม่ ระหว่างที่เดินก็จะมีสติรู้ตัวขึ้นมาอีก เพราะมีสติในการที่จะก้าวความคิดนั้นก็ตกไปอีก หมายความว่า ภพนั้นก็ดับไป ภพชาติของความคิดในขณะนั้นๆ จึงสั้นไม่ทันได้โต ระหว่างการเดินจงกรมกับการนั่งสมาธินั้น สติระลึกรู้ในการเดินจงกรมจะมีมากกว่าการนั่งสมาธิ การเดินจะทำให้รู้ตัวอยู่ตลอด

แม้จะมีความคิดผุดขึ้นมาก็จะคิดแค่สั้นๆ พอขยับเท้าก้าวเดิน ความคิดนั้นก็จะตกไปเพราะจิตไหวตามเท้าทุกก้าวย่าง

(โปรดติดตาม สัมมาสมาธิและ รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here