บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๑) ความว่างภายใน เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความว่างภายใน

จิตที่ดำเนินไปในลักษณะของผู้รู้ จะคอยตัดเข้าสู่ความว่างภายในอยู่ตลอด จะคอยระมัดระวังไม่ให้จิตนำอารมณ์ต่างๆ จากภายนอกเข้ามาปรุงแต่ง ในขณะเดียวกัน อารมณ์ภายในที่มีอยู่แล้ว  ก็คอยถูกขจัดให้หมดไป เมื่อขจัดอารมณ์ใดออกไปได้แล้ว  ก็คอยเฝ้ารักษาสภาวะนั้นไว้ และขจัดอารมณ์อื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยไป

คำว่า ขจัด คือ รู้เรื่อย ๆ

เกิดความคิดขึ้นมาก็รู้

ปัญญาจะถอยตัวเองออกมา

เป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตการณ์

ดูความคิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไปแต่ละขณะจิต

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

จิตที่ดำเนินไปในลักษณะผู้รู้ คือ จิตจะรู้อารมณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวตามหน้าที่ของจิต แต่ผู้รู้คือจิตที่ได้รับการฝึกจนสติบริบูรณ์ จะตัดเข้าสู่ความว่างภายใน เพราะเฝ้าสังเกตกิริยาหรือพฤติกรรมของจิต และรับรู้ความเป็นไปอยู่ตลอด ให้พฤติกรรมของจิตอยู่ในสายตาแห่งสติอยู่เนืองๆ ไม่ว่าพฤติกรรมของจิตจะแสดงออกไปทาง ยินดี ยินร้าย ชอบใจ ไม่ชอบใจ ก็อยู่ในสายตาแห่งสติแล้วตัดเข้าสู่ความว่างภายใน และรักษาความสมดุลเป็นกลางอยู่อย่างนั้นเนือง ๆ

ขอทำความเข้าใจ  คำว่า “ความว่างภายใน” กับคำว่า “ความสมดุลเป็นกลาง” เพิ่มอีก

อันที่จริงจิตไม่ได้ว่างหรือความว่างของจิตไม่มี เพราะจิตมีธรรมชาติเกิดดับไหลไปเป็นกระแส จึงทำให้กระแสชีวิตดำเนินไป

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เมื่อจิตดวงหนึ่งดับจะส่งต่อคุณสมบัติไปยังจิตอีกดวงหนึ่ง หรือความคิดหนึ่งๆ จะส่งต่อคุณสมบัติไปยังความคิดอีกความคิดหนึ่ง หากเกิดความคิดเป็นราคะ ความชอบใจ ก็จะส่งต่อคุณสมบัติแห่งราคะ ความชอบใจ ไปยังขณะความคิดต่อไป ขณะที่ความคิดเป็นโทสะ ปฏิฆะ โมหะหรืออวิชชา ก็ดำเนินไปในลักษณะเดียวกัน

จิตจึงไม่เคยว่างจากกระแสความคิด  แม้จะอยู่ในภาวะแห่งความสงบก็ตาม ก็จะหน่วงความสงบนั่นเองเป็นกระแส เพราะแม้ความสงบก็เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งที่จิตสร้างขึ้น คือ เป็นอารมณ์สงบ

จิตจึงไม่ได้ว่างจากอารมณ์

คำว่า “ความว่างภายใน” จึงเป็นคำพูดที่ใช้อธิบายสภาวะที่จิตมีความเป็นใหญ่ในตัวเองด้วยอำนาจของความสงบ จึงว่างจากนิวรณ์ ว่างจากการคิดปรุงแต่งไปตามสุข หรือทุกข์ ยินดี หรือยินร้าย พอใจ หรือไม่พอใจ ซึ่งมี โลภะ โทสะ หรือโมหะ เป็นส่วนผสมในการปรุงแต่ง มีตัณหาเป็นหัวเชื้อ มีอุปาทานเป็นตัวผนึกยึดแน่น  มีความสมดุลเป็นกลางระหว่างสุขหรือทุกข์ เพราะจิตไม่ปรุงแต่งหมุนไปตามสุขหรือทุกข์ พอใจหรือไม่พอใจด้านใดด้านหนึ่ง แต่ยึดความสงบเป็นอารมณ์   จึงเรียกว่า “ว่างภายใน

การปฏิบัติสมาธิ

จึงไม่ใช่แค่ปฏิบัติให้หยุดคิดเท่านั้น

แต่ปฏิบัติเพื่อให้รู้ความคิด 

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

โดยอาศัยอุเบกขา  คือ ความสมดุลเป็นกลางคอยเฝ้าดูจิตที่หลุดออกไปเป็นสุขหรือทุกข์ แล้วรู้ตามอาการที่เป็นจริงของความคิดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไหลไปเป็นกระแส  สลับกันเกิดขึ้นระหว่างกระแสแห่งความไม่รู้ ซึ่งเป็นกระแสแห่งอวิชชา และกระแสแห่งความระลึกรู้ ซึ่งเป็นกระแสแห่งวิชชา แต่จิตมักจะไหลไปตามกระแสแห่งอวิชชาตลอดสาย เกิดดับอยู่ในกระแสแห่งความไม่รู้ต่อเนื่อง

การที่สติระลึกรู้ตัดเข้าสู่ความว่างภายใน

ก็เป็นการที่กระแสความรู้

ตัดกระแสความไม่รู้ให้ตกไป

แล้วตัดเข้าสู่ความเป็นกลาง

กระแสแห่งอวิชชาใดที่เกิดขึ้น

ก็จะถูกสติระลึกรู้ตัดให้ขาดเป็นตอน ๆ อยู่ตลอด

ไม่ปล่อยให้เกิดความคิดต่อกันเป็นกระแส

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

อุเบกขา คือ ความสมดุลเป็นกลางจะคอยเฝ้าสังเกตดูจิต พอกระแสอวิชชาเกิดขึ้นยังไม่ทันได้ก่อตัวคิดปรุงแต่งเป็นกระแส ก็จะถูกสติทำหน้าที่ระลึกรู้ตัดเข้าสู่ความสมดุลเป็นกลาง คือ ความว่างภายใน  ในที่สุดสติความระลึกรู้ก็จะคอยตัดความคิดให้กลายเป็นท่อนๆเป็นตอนๆ


เวลาเฝ้าสังเกตดูกระแสความคิด  ให้ทำความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ริมตลิ่งเฝ้ามองดูสายน้ำที่กำลังไหลไป อย่างไม่ได้ตั้งใจเพ่งมองจุดใดจุดหนึ่ง น้ำในแม่น้ำไหลไปก็เห็นเป็นกระแสน้ำ

บางครั้งก็เห็นระลอกคลื่นกระฉอกบาง ๆ บนพื้นผิวกระแสน้ำ  เพราะถูกลมภายนอกกระทบ แต่ไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้กระแสน้ำกระเพื่อมขึ้นมา เพียงแต่ลมทำให้เกิดระลอกคลื่นเล็กน้อยที่พื้นผิวเท่านั้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอพายุโหมกระหน่ำ หรือเจอแผ่นดินไหว กระแสน้ำก็จะกระเพื่อมปั่นป่วนขึ้นมาอย่างบ้าคลั่ง อาจทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้าให้พินาศได้ 

อารมณ์ภายนอกไม่สามารถทำให้จิตที่เข้าถึงความเป็นเอกภาพมีความสมดุลเป็นกลางกระเพื่อมปั่นป่วนขึ้นมาได้ แม้อารมณ์ภายในก็ไม่ก่ออันตราย เพราะอยู่ในสายตาแห่งสติคอยระลึกรู้ อารมณ์ใดเกิดขึ้นก็รู้เฉย ๆ ไม่สำคัญมั่นหมาย แล้วก็จะตัดความคิดให้ขาดตกไปเป็นท่อนๆ  

สติในฐานะฝ่ายวิชชา

จะคอยตัดความคิดฝ่ายอวิชชา

ให้ขาดตอนอยู่เสมอ

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๑) ความว่างภายใน เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here