“ลูกผู้ชายต้องบวช” (ตอนที่ ๔๔) บรรพ์ที่ ๘ “สมาธิภาวนาและธุดงค์”(๒) “อารมณ์พระกรรมฐาน ๔๐” เรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

อารมณ์พระกรรมฐาน ๔๐

การปฏิบัติสมาธิต้องมีที่ให้จิตยึดเหนี่ยว เรียกว่า “คำบริกรรมภาวนา”  เช่น พุทโธ พองหนอยุบหนอ และสัมมาอะระหัง เป็นต้น

บางครั้งเรียกว่า “อารมณ์พระกรรมฐาน” คือ สิ่งที่จะให้จิต ผูกติด ผูกเพ่ง หรือ เกาะเกี่ยว  อยู่นั่นเอง สิ่งที่จะนำมาบริกรรมหรือเป็นอารมณ์พระกรรมฐานนั้นมีมากอย่าง  อาจเรียกได้ว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นอารมณ์กรรมฐานได้

ตามหลักการปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำไว้ มีถึง ๔๐ อย่าง  เรียกว่า กรรมฐาน ๔๐ อย่าง คือ

กสิน ๑๐ ได้แก่  การเพ่งดิน น้ำ ลม ไฟ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว แสงสว่าง (โอภาส) และที่ว่าง เป็นการบริกรรมหรือเป็นอารมณ์กรรมฐาน

อสุภะ ๑๐ ได้แก่  การเพ่งซากศพโดยความเป็นของไม่สวยไม่งามอยู่ในอาการต่างๆ  เช่น ศพเน่าพอง ศพมีสีเขียวคล้ำ ศพที่มีน้ำเหลืองไหลออก ศพที่ขาดกลางตัว ศพที่สัตว์กัดกิน ศพที่มือ เท้า และศีรษะขาด  ศพที่ถูกคนร้ายสับขาดเป็นท่อนๆ ศพที่ถูกอาวุธฟันมีเลือดไหลอาบอยู่ ศพที่มีตัวหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด และซากศพที่ยังเหลือแต่โครงกระดูก

อนุสติ ๑๐ นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรม นึกถึงพระสงฆ์   นึกถึงศีลที่ตนรักษา นึกถึงทานที่บริจาค นึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา นึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา พิจารณากายให้เห็นว่าไม่งาม ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า “อานาปานสติ” คือ  ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ คือ นิพพาน

พรหมวิหาร ๔ นึกไปทางเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่กว้างออกไปในสรรพสัตว์ทุกจำพวกทุกหมู่เหล่าไม่มีประมาณ ไร้ขอบเขตขีดขั้น ไร้เชื้อชาติศาสนา

อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ การพิจารณาอาหารว่า  เป็นเพียงธาตุที่ตั้งอยู่ตามธรรมดา  มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  เป็นของปฏิกูล  มีความเปื่อยเน่าไปเป็นธรรมดา  และกำลังเปื่อยเน่าไปตามเหตุปัจจัย  เมื่อมาอยู่ในร่างกายซึ่งเปื่อยเน่าอยู่แล้ว  ก็ยิ่งเป็นของเปื่อยเน่าเข้าไปอีก จึงไม่ควรยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  อาหารทุกอย่างให้พิจารณาเป็นเพียงธาตุ ไม่ให้แบ่งแยกชนิดว่าเป็นนั่นเป็นนี่ 

จตุธาตุววัตถาน  พิจารณาร่างกายว่าเป็นที่รวมแห่งธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟมิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  เป็นของปฏิกูล  มีความเปื่อยเน่าไปเป็นธรรมดา  และกำลังเปื่อยเน่าไปตามเหตุปัจจัย

อรูป ๔ เป็นอารมณ์ของผู้เข้าถึงฌานแล้ว แต่ยังต้องให้จิตมีที่ยึดเหนี่ยวต่อไป คือ กำหนดความไม่มีที่สิ้นสุดของความว่างเปล่า  กำหนดความไม่มีที่สิ้นสุดของวิญญาณ  กำหนดความมีตัวตนที่แท้จริงของสรรพสิ่ง และกำหนดสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

หากพิจารณาสิ่งที่จะนำมาเป็นอารมณ์พระกรรมฐานทั้ง ๔๐ อย่างข้างต้น ทุกอย่างที่อยู่รอบตัว สามารถเก็บมาเป็นอารมณ์พระกรรมฐานได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ไม้ แสง สี เสียง อากาศหนาวร้อน ข้าวของเครื่องใช้   สภาพแวดล้อมรอบตัว  ความรู้สึกนึกคิด  เหตุการณ์ที่ผ่านมา อาการเจ็บปวดสุขสบาย สิ่งเหล่านี้ใช้เป็น อารมณ์พระกรรมฐานได้ทั้งหมด 

รวมความ คือ ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอารมณ์พระกรรมฐานได้ทั้งนั้น   ขึ้นอยู่ที่ว่า  จะให้จิตผูกเพ่งอยู่กับสิ่งใด

ในสมัยพุทธกาล  มีพระภิกษุรูปหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้  จนพระพี่ชายเห็นว่า น้องชายไม่มีบุญที่จะบวชเป็นพระภิกษุอยู่ต่อไป  ควรที่จะลาสิกขาไปทำบุญอย่างฆราวาส  ส่วนพระน้องชายก็คิดว่าตนเองอาภัพ  ตั้งใจปฏิบัติธรรมมานานนับปี  ก็ไม่มีผล ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น จึงคิดจะลาสิกขาตามที่พี่ชายสั่ง แต่ก่อนจะลาสิกขา  ท่านได้ไปกราบทูลลาพระพุทธเจ้า 

พระพุทธองค์ให้ท่านนั่งทำกรรมฐาน  โดยให้นั่งลูบผ้าขาว พร้อมกับบริกรรมภาวนาว่า “ระโช หะระนังๆ” แปลเป็นไทยว่า  “เศร้าหมอง เศร้าหมอง

ตอนแรกท่านก็สงสัยว่าผ้าสีขาวบริสุทธิ์ ทำไมพระพุทธเจ้าให้ว่าเศร้าหมอง แต่ด้วยความเคารพพระพุทธเจ้า ท่านก็นั่งบริกรรมแต่โดยดี ขณะที่ท่านไปพบพระพุทธเจ้านั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ ครั้นสายแดดแรง ผ้าขาวบริสุทธิ์ถูกเหงื่อที่ฝ่ามือก็เปลี่ยนเป็นเศร้าหมอง ตามที่บริกรรม พลันนั้นท่านก็เห็นความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง เกิดความเข้าใจในธรรม

ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุธรรม  เพราะคำบริกรรมว่า “เศร้าหมอง (ระโช หะระนัง)” 

อีกรูปหนึ่ง  ท่านเดินทางผ่านทุ่งนา  ได้ยินเสียงเด็กชาวบ้านเลี้ยงควายไปร้องเพลงไปอย่างสบายอารมณ์  ท่านจึงหยุดยืนฟัง เอาจิตไปผูกเพ่งอยู่กับกระแสเสียงของเด็ก เนื้อความเพลงนั้น  พูดถึงความรักที่ไม่เที่ยงแท้ เปลี่ยนแปรเพราะคนหลายใจ เหมือนสรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน พระรูปนั้นท่านพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งจริง ตามเนื้อเพลง พลันก็ได้บรรลุธรรม

ข้อนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า  สิ่งใดก็สามารถนำมาเป็นอารมณ์พระกรรมฐานได้

แต่อารมณ์พระกรรมฐานที่ทราบ และถูกสอนอยู่ในปัจจุบัน อาทิเช่น  พุทโธ  , พองหนอยุบหนอ  , สัมมาอะระหัง  และ อานาปานสติ (กำหนดลมหายใจ)  

กรรมฐานทั้งหมดที่กล่าวมาให้เลือกปฏิบัติตามจริต คือ ความชอบใจที่จะสามารถทำให้เจริญในธรรม เกิดสมาธิและมีปัญญาในการมองเห็นกายใจตามความเป็นจริงจนเบื่อหน่ายจางคลายในวัตถุธาตุทั้งหลาย ถอนความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานได้จนถึงนิพพิทาญาณในที่สุด คือ เบื่อหน่ายในกองทุกข์ทั้งปวง ซึ่งเป็นเรื่องของหลักการที่พระพุทธองค์วางไว้เป็นกรอบ แต่วิธีปฏิบัติในชีวิตจริง ก็มีข้อปลีกย่อยที่ควรทำความเข้าใจจากครูบาอาจารย์และพระอุปัชฌาย์อาจารย์ จนนำมาสู่การปฏิบัติด้วยตนเองจนเกิดเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง

(ตอนต่อไป “ธรรมชาติของจิต”)

ลูกผู้ชายต้องบวช” (ตอนที่ ๔๔) บรรพ์ที่ ๘ “สมาธิภาวนาและธุดงค์”(๒) “อารมณ์พระกรรมฐาน ๔๐” เรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here