เพราะอาศัยหลวงตาหลวงปู่หลวงพ่อทั้งพระป่าพระบ้านช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมอันหลากหลาย ห่อแก่นธรรมไว้อย่างประณีตและมีนัยสำคัญนี้เอง
เราโชคดีที่มีบรรพบุรุษศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสุดจิตสุดใจ
และมีพระสุปฏิปันโนที่สละชีวิตเพื่อธรรมมาโดยตลอด
รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จึงกลับมา
เพื่อบอกเล่าต้นธารแห่งความกตัญญุตาบูรพมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์
ตอนที่ ๙ ดวงดาวกับชีวิต…ลิขิตเอง
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
หลังจากที่สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม ก้าวข้ามความกลัวในวัยเพียงสิบสอง สิบสามปี ท่านก็มีป่าทั้งป่าเป็นเพื่อนในยามกลางคืน หลายๆ วันท่านต้องอยู่ศาลากลางป่าเพียงลำพัง บางวันก็มีชาวบ้านมาอยู่เป็นเพื่อนภาวนาด้วย ทุกๆ วัน ท่านไม่เคยละทิ้งการทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น ซึ่งเป็นกิจของสงฆ์ และแม้ความหิวยังคงรบกวนเด็กในวัยนั้นบ้าง ท่านก็ไม่เคยย่อท้อ
เมื่อได้กราบเรียนถาม ท่านเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ว่า ทำไมจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นพระขนาดนั้น และหลังจากพบความลำบากมากมายตอนอยู่ป่าถึง ๔ ปี ก็ไม่เคยคิดหันหลังกลับบ้านเลยหรือ
ท่านตอบว่า ไม่เลย ไม่เคยคิดจะหันหลังกลับ คือ มีความสุขที่จะอยู่แบบนั้นไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ว่าทำไมจึงอยู่ไปได้ ทั้งๆ ที่มีความกลัว ที่สุดของความกลัวก็ยังอยู่ได้
“ชีวิตคงจะมีชะตา เหนือสิ่งอื่นใดต้องขอบคุณท่านอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร เป็นอย่างมาก ด้วยความที่ท่านเป็นพระที่อยู่ในกรุงเทพฯ และอุปัฏฐากพระผู้ใหญ่ในเมืองมาก่อน พอท่านมาอยู่ป่า สิ่งหนึ่งที่อาตมาเห็นก็คือ พระผู้ใหญ่ไปหาท่านไม่ขาด แล้วอาตมาก็เป็นเณรคอยกางกลดให้ เพราะกุฏิท่านอาจารย์เล็กนิดเดียว เวลาพระผู้ใหญ่ไปหาท่านก็ต้องจำวัดบนศาลา ข้างๆ พระพุทธรูป แต่อาตมาเป็นเณรต้องจำวัดข้างล่าง โดยหันศีรษะไปทางพระพุทธรูป พอหันหน้าไปข้างนอกก็เห็นดวงดาวเต็มไปหมด ข้อดีของการอยู่กับป่าก็คือ ธรรมชาติสอนเราเอง ไม่ต้องใช้ไฟ ไม่ต้องมีนาฬิกาเลย”
“ พอรู้สึกตัวตื่นมาก็ต้องคอยแหงนมองท้องฟ้า เห็นดาวดวงนี้อยู่ระหว่างกิ่งไม้นี้ ประกอบกับฟังเสียงนก เสียงไก่ ก็คำนวณได้ว่าเป็นเวลานั้น เวลานี้”
การเรียนรู้เรื่องดวงดาวกับเวลาและฤดูกาล เจ้าอาจารย์เจ้าคุณเทอดเล่าย้อนไปในวัยเยาว์ให้ฟังว่า เมื่อก่อน ตอนยังเด็ก หน้าร้อน มักนอนนอกชานบ้านกับโยมพ่อ เพราะอากาศเย็นดี แล้วมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ดวงดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้าไปหมด ชอบคิดชอบสงสัยว่าทำไมดวงดาวมากมายขนาดนั้น บางทีก็นับดาวแข่งกับโยมพ่อ วันไหนที่เห็นดาวสะเด็ดวูบหายไปในท้องฟ้า จะรู้สึกตื่นเต้นมาก โยมพ่อบอกว่า ผู้มีบุญจะมาเกิด
แล้วท่านก็รำลึกความทรงจำเกี่ยวกับดวงดาวที่สัมพันธ์กับชีวิตในต่อมาว่า คนโบราณอยู่กับดวงจันทร์และดวงดาวมาโดยตลอด ดวงจันทร์บอกวันเดือน ส่วนดวงดาวบอกเวลา
“ โยมพ่อใหญ่ (คุณปู่โทน วงศ์ชะอุ่ม ) ชอบดูดาวเพ็ก พอดาวเพ็กขึ้น หมายความว่าใกล้รุ่งตีสี่ตีห้า ก็จะลุกไปยามมอง(ข่ายดักปลา) ยามต้อน(แนวกั้นดักปลา) ยามเสร็จแสงเงินแสงทองก็จับขอบฟ้าพอดี ทางอีสานเรียกดาวประกายพรึกว่า ดาวเพ็ก หน้าหนาวจะสุกสว่างมาก
“ตอนเป็นเณรอยู่ป่าก็ได้อาศัยดาวเพ็กบอกเวลา เพราะไม่มีนาฬิกาอยู่ติดตัว นอนตื่นขึ้นมาต้องคอยมองว่าดาวเพ็กขึ้นหรือยัง ถ้าดาวเพ็กปรากฏระหว่างกิ่งไม้นี้ แสดงว่า ได้เวลาตีสี่ต้องลุกไปดูนาฬิกาที่หน้าพระประธาน แล้วตีระฆังส่งสัญญาณทำวัตรเช้า”
ที่จริง ท่านเล่าต่อมาอีกว่า คนอีสานรู้จักดาวประกายพรึก หรือ ดาวศุกร์ ในชื่อ ดาวเพ็ก ขึ้นทางทิศตะวันตกในตอนหัวค่ำ แล้วจะหายไปจากท้องฟ้าทางทิศตะวันออกตอนย่ำรุ่ง ตอนหัวค่ำจะเรียกว่าดาวหลักเมืองหรืออย่างไรก็ไม่แน่ใจ แต่พอรุ่งเช้าเรียกว่า ดาวเพ็ก
“โยมตาอาตมาเป็นผู้กว้างขวางมีพรรคพวกเป็นนายฮ้อย นานๆ จะมีพวกนายฮ้อยที่ต้อนควายไปขายมาชุมที่บ้านโยมตา ก็จะเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งกัน บางทีโยมตารินเหล้าใส่ฝาขวด แล้วแอบส่งให้อาตมาลองชิม โยมแม่ (คุณแม่หนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม )เห็นก็จะต่อว่าโยมตา พวกนายฮ้อยก็อาศัยดาวเพ็กกำหนดรู้เวลารุ่งเช้า พอเหลือบมองเห็นดาวเพ็กสุกสว่างทางทิศตะวันออกคล้อยลงต่ำตั้งแต่ตีสี่ ก็รู้ว่าถึงเวลาต้องลุกขึ้นต้อนควายเดินทางต่อไป ความทรงจำเกี่ยวกับโยมตาเป็นช่วงสั้นๆ เพราะต่อมาโยมตาก็เสียชีวิตตั้งแต่อาตมาอายุยังน้อยมาก จำเรื่องได้ลางๆ”
ดวงดาวยังบ่งบอกถึงการเปลี่ยนผ่านฤดูกาล เกษตรกรอาศัยดวงดาวในการเตรียมปลูกข้าว และทำกิจต่างๆ ดังที่ เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์เล่าต่อมาว่า โยมพ่อใหญ่ใช้ดวงดาวบอกฤดูกาลดำนา(ปักดำข้าวกล้า) ส่วนโยมแม่ใหญ่ใช้ดวงจันทร์นับวันขึ้นแรมดูวันพระ เพื่อไปวัด โดยนับตั้งแต่แรมหนึ่งค่ำเรื่อยไป พอถึงคืนเดือนดับ ก็นับว่า วันนี้วันดับ หมายถึง เดือนดับ แรม ๑๕ ค่ำ พอรุ่งขึ้นอีกวันก็จะนับว่า วันนี้ออกใหม่เดือน ๑ หมายถึง วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ จะนับเรื่อยไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็นับว่า วันเพ็ง(วันเพ็ญ) คือ พระจันทร์เต็มดวง จากนั้นก็จะวนกลับไปนับข้างแรมอีกครั้ง
“พอถึงวันพระมีผลหมากรากไม้ที่ปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนาเท่าที่พอหาได้ โยมแม่ใหญ่ก็เตรียมไว้ไปทำบุญ บางทีใช้เชือกผูกเป็นสัญลักษณ์ไว้ ลูกหลานก็จะไม่แตะต้องเพราะรู้ว่าโยมแม่ใหญ่จะเอาไปวัด โยมพ่อใหญ่ไม่ชอบไปวัด แต่จิตใจดีเหลือเกิน อ่อนโยนงดงามแบบคนโบราณ โยมแม่ใหญ่คอยบอกโยมพ่อใหญ่ด้วยความเป็นห่วงเกรงว่าจะไม่ได้บุญ อยากให้ไปวัดบ้าง โยมพ่อใหญ่ก็ตอบแบบแกล้งๆ ว่า ไปวัดกลับยังไม่ถึงบ้าน บุญหล่นหายแล้ว ในระหว่างทาง เพราะมัวแต่แวะนินทาคนโน่นคนนี้ โยมแม่ใหญ่ก็ได้แต่ยิ้มๆ
“อีกดาวหนึ่งที่ชาวบ้านใช้ดูอยู่บ่อย จนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต คือ ดาววี คนโบราณเปรียบเทียบคนชอบคุยโวโอ้อวดว่า คุยโวอยู่ดาววี คือ คุยคำใหญ่คำโตไม่ดูตัวเอง ชาวบ้านเรียกดาววีอีกอย่างว่า ดาวไก่น้อย น่าจะเพราะกระจุกรวมกันอยู่เป็นกลุ่มเหมือนฝูงลูกไก่ ส่วนภาคกลาง เรียกว่า ดาวลูกไก่
“ชาวบ้านเชื่อมโยงดวงดาวกับฤดูกาล เข้าด้วยกัน ชาวนาจะไม่ดำนาเกินฤดูกาล โดยอาศัยดูจากดาววี(พัด) ถ้าเห็นดาววีคล้อยต่ำไปทางตะวันตก แสดงว่า ย่างเข้าเดือน ๗ เดือน ๘ แล้ว ควรหยุดดำนา เพราะถึงปักดำไปต้นข้าวจะไม่มาน คือ ต้นข้าวจะลีบหรือไม่ตั้งท้องออกรวงแก่ ส่วนหน้าตีข้าว พอเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นลอมแล้ว ก็ต้องสังเกตดาววีอีกเช่นกัน เพราะราวปลายเดือน ๑๑ ต้นเดือน ๑๒ ลมหนาวมา ยิ่งใกล้รุ่ง ดาววีจะยิ่งคล้อยต่ำ ชาวบ้านจะตื่นมาดูดาววีเป็นสัญลักษณ์ หากเห็นดาววีคล้อยต่ำลงแสดงว่าใกล้สว่างแล้ว ถึงเวลาต้องลุกขึ้นฟาดข้าว(ตีข้าว) ”
การตีข้าวเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกร ท่านอาจารย์เจ้าคุณเล่าให้ฟังต่อมาว่า ชาวบ้านจะรวมกันตีเรื่อยไปตั้งแต่หัวค่ำ ผู้ชายตีข้าว ผู้หญิงตีข้าวสะนุ (คือ เก็บตกฟ่อนข้าวที่ผู้ชายตีแล้ว แต่ยังมีเมล็ดข้าวติดอยู่มาใช้ไม้ตีซ้ำ) พวกเด็กๆ ก็จะกระโดดโลดเต้นมุดฟางข้าวที่กองเป็นภูเขาเลากา สนุกสนานไปตามเรื่อง บางทีผู้ใหญ่ตีข้าวเพลินจนดาววีขึ้นตรงหัว พอดาววีเริ่มเคลื่อนคล้อยไป แสดงว่า ดึกมากแล้วได้เวลาหยุด
วิถีดวงดาวเกี่ยวเนื่องกับปากท้องของชาวบ้านอย่างแยกไม่ออก เช่นเดียวกับวิถีพระกับวิถีชุมชนที่ชาวบ้านให้คุณค่าพระพุทธศาสนาเหนือสิ่งอื่น ประเทศไทยจึงมีพระสุปฏิปันโนเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสายเพราะมีบรรพบุรุษศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสุดจิตสุดใจ ลูกหลานจึงขวนขวายที่อยากจะบวชเองโดยไม่ต้องขอร้อง
ดังเช่นเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ซึ่งท่านไม่คิดหันหลังกลับ ก็เป็นเพราะความศรัทธาของโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ โยมพ่อ โยมแม่ของท่านที่นำทาง ดั่งดวงดาวนำชีวิต ทำให้ท่านพบกับความอบอุ่นในวัยเยาว์ก่อนบวช กับตอนที่บวชแล้วนั้นไม่ต่างกันเลย
ดังที่ท่านเล่าต่อมาว่า บางที โยมในหมู่บ้าน เขารู้ว่า มีเณรอยู่รูปเดียวในป่า หลังจากเขากินข้าวเย็นเสร็จจากบ้านเขาก็มาอยู่เป็นเพื่อนเณร
“พอมีโยมมาเราก็อุ่นใจ จะเรียกว่าอย่างไรดี โยมที่มานอนเป็นเพื่อนประจำ ตอนนี้หลานเขาก็มาบวชอยู่กับอาตมา”
ในปัจจุบัน การที่วัดต่างๆ ทั่วประเทศจัดบวชสามเณรภาคฤดูร้อนในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้น มีอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่มาก แม้เป็นเพียงระยะสั้นๆ แต่ก็เป็นการกรุยทางแห่งธรรมให้เด็กๆ ได้ฝึกความอดทน ฝึกวินัย ฝึกความเสียสละ มีความซื่อสัตย์ มั่นคง และฝึกอะไรอีกมากมายในชีวิตสมณะที่จะบ่มเพาะคนดิบให้เป็นคนสุกได้เมื่อลาสิกขา และหากเขาได้รับรสพระธรรมในร่มกาสาวพัสตร์จนเติบใหญ่ในเพศบรรพชิต พระพุทธศาสนาก็จักมีพระสุปฏิปันโนเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งรูป ในการที่จะช่วยเกื้อกูลคนทุกข์อีกมากมาย ให้ได้รับความร่มเย็นใจต่อไปไม่สิ้นสุด
จึงก็ไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดเด็กชายเทอดจึงมีความปรารถนาที่จะเป็นพระ และเมื่อท่านเป็นพระ ท่านก็ตั้งใจปฏิบัติตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ แม้เวลาล่วงเลยไปยี่สิบกว่าพรรษาแล้วก็ตาม
โศลก บุ่งสระพัง
อีกเช้าหนึ่งของบ้านปากน้ำ “บุ่งสระพัง”
ลมหายใจไม่เคยเปลี่ยน
ข้าวเหนียวแต่ละก้อน ตกถึงก้นบาตร
หอมกลิ่นดิน ตอเฟืองแห้ง อบหมอกเช้า
ร้อยวัน เดือน ปี ผ่าน
ร้อยฤดูกาล หมุนเวียน
ร้อยชีวิตเกิดดับ
ถนนสายนี้ ยังมีลมหายใจ
จากไถฮุด หว่านกล้า แล้วดำนา
หมดฝน หนาวมา รวงข้าวแก่
เก็บเกี่ยว ฟาดข้าว สู่เล้า
จนขึ้นหวดบนเตานึ่ง
ทุกลมหายใจจดจ่อรอเสียงตอกโปง
รับอาทิตย์เช้า
แววตาของผู้เฒ่ายังอบอุ่น
ศรัทธาไม่เคยเจือจาง
เหมือนก้อนข้าวเหนียว
ตกถึงก้นบาตร เช้านี้
และ เช้าต่อๆ ไป ฯ
โศลก บุ่งสระพัง โดย พระราชกิจจาภรณ์ เขียนที่บ้านปากน้ำ “บุ่งสระพัง” อุบลราชธานี ๒๑ เมษายน ๒๕๕๘
จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐