ก่อนอื่นอยากแนะนำท่านผู้อ่านได้ย้อนกลับไปอ่าน “จาริกธรรมสกอตแลนด์ตอนที่ ๘” เสียก่อนในสัปดาห์ที่แล้ว เพราะตอนที่ ๙ นี้เป็นการเขียนเนื้อหาต่อเนื่องจากคราวที่แล้ว จึงจะได้เข้าใจตอนนี้ได้อย่างลึกซึ้ง …

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๙

“คู่บุญในทางพระพุทธศาสนา”

โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

“การมาถวายสังฆทานในวันเข้าพรรษา คือ งานแต่งของเรา”

           จากประโยคด้านบน มาจากเหตุการณ์ที่อาตมาไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิตของความเป็นสมณะก็ว่าได้ เพราะงานแต่งที่ไหนอาตมาก็เป็นได้แค่แขกรับเชิญคือโยมนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งเรื่องที่ว่านี้เป็นวิธีคิดของชายหญิงคู่หนึ่งที่รักกัน แต่ปรารถนาจะแต่งงาน จึงดูฤกษ์ยามว่าวันไหนเป็นวันดี เป็นวันมงคลแก่การจัดงานมงคลสมรส วันที่ได้นั้นคือวันเข้าพรรษาพอดี จึงถือเอาการมาทำบุญที่วัดด้วย “การมาถวายสังฆทานในวันเข้าพรรษา คือ งานแต่งของเรา” เพราะเหตุปัจจัยบริบทหลายๆ อย่างไม่พร้อมที่จะจัดงานได้ ประกอบกับทางวัดก็มีอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมอยู่แล้วเพราะจัดพิธีเป็นประจำ ซึ่งวัดไทยในต่างแดนแทบทุกแห่ง รวมทั้งที่วัดธรรมปทีป เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์ ที่อาตมาได้มาปฏิบัติศาสนกิจ วัดเปรียบเหมือนเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยในต่างแดน

 เพราะเมื่อทุกคนได้มาวัดพบปะคนไทยด้วยกัน พูดภาษาไทยด้วยกัน รับประทานอาหารไทย ได้สนทนาธรรมกับพระสงฆ์ที่เป็นคนไทยด้วยกัน จากที่เครียดเหนื่อยล้าจากการทำงาน หรือเหงาคิดถึงบ้านเกิดเมืองไทย เมื่อมาเจอบรรยากาศแบบนี้ก็ทำให้สิ่งเหล่านั้นทุเลาลงบ้าง หรือหายไปเลย ทำให้ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้เข้ามาในวัดมันเหมือนได้กลับเมืองไทยเจอญาติพี่น้องเติมเต็มกำลังใจให้กับตนเองก็ว่าได้

           อนึ่ง การทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตในต่างแดนก็เช่นกัน เราจะนำเอาวิธีคิดที่เคยทำงานเผยแผ่ในเมืองไทย หรือเอาวิธีคิดของฆรวาสหรือพระสงฆ์ที่อยู่บนฐานบริบทของสังคมไทย มาใช้กับการทำงานอยู่ที่นี้ไม่ได้เลย เพราะบริบทสังคม บริบทของคน หรือสภาพการณ์เรื่องอื่นๆ ต่างกันโดยสิ้นเชิง ต้องยืดหยุ่น พลิกแพลง ปรับตามสถานการณ์ บางครั้งก็ต้องพบเจอสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอ หรือต้องทำในสิ่งที่ชีวิตไม่เคยทำมาก่อน แต่ต้องไม่ทิ้งพระธรรมวินัย

           โดยเฉพาะเวลาที่โยมมาวัด บางคนมาอาทิตย์ละครั้ง เดือนละครั้ง หรือหลาย ๆ เดือนมาครั้ง หลายคนไม่เคยมาเลยแต่เพิ่งมาเป็นครั้งแรก “สิ่งสำคัญเราต้องใส่ใจกับโยมเป็นอย่างยิ่ง” เพราะเมื่อโยมมาวัด นอกจากจะมาทำบุญด้วยการถวายวัตถุทาน แต่สิ่งที่เราจะให้โยมได้กลับไปบ้างคือธรรมะ หรือช่วงเวลาสั้นๆ ที่โยมเข้ามาในวัดใช้ธรรมะเยียวยาใจโยมได้บ้าง

ถ้าเราไม่ใส่ใจโยมจะไม่เห็นปัญหาหรือไม่รู้ว่าใจโยมทุกข์อะไร เพราะวัดไทยในต่างแดนคือที่พึ่งของคนไทยในยามทุกข์ยาก เมื่อเกิดความทุกข์ในใจไม่รู้จะไปพึ่งที่ไหน คนที่นี่จะคิดถึงวัดเป็นแห่งแรกเสมอ (ในโอกาสต่อไปถึงจะได้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง)

            เหมือนดังเช่น ชายหญิงสองคนที่เป็นคนไทยมาเรียนปริญญาเอกด้วยกันทั้งคู่ในสกอตแลนด์ เมื่อความรักสุกงอม ใจของทั้งสองมีความปรารถนาอยากจะจัดงานมงคลสมรสอยู่กินฉันสามีภรรยาให้ถูกต้องตามจารีตประเพณีหรือครรลองครองธรรม แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างไม่เกื้อกูล ในฐานะที่ทั้งสองเป็นพุทธศาสนิกชนมีจิตเป็นกุศลทั้งคู่ จึงตกลงกันโดยถือเอาการมาทำบุญที่วัดเป็นงานแต่งงาน และเป็นการเข้ามาที่วัดแห่งนี้เป็นครั้งแรกด้วย กว่าพระท่านจะสังเกตหรือรู้เจตนาอันแท้จริงของโยม ก็จนพระสงฆ์จะให้พร กรวดน้ำ เกือบจะเสร็จพิธีแล้ว

           นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงการใส่ใจญาติโยม เพื่อให้เห็นถึงสาเหตุแห่งทุกข์ในใจของโยม แล้วเราถึงจะสามารถใช้หลักธรรมเข้าไปเยียวยาได้ตรงจุด เหมือนหมอต้องรู้โรคก่อน แล้วถึงจะสั่งยาให้ถูกกับโรคได้ โดยเฉพาะเราเป็นพระสงฆ์นอกจากจะเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับโยมแล้ว อะไรพอช่วยเหลือเกื้อกูลให้โยมได้ก็ต้องช่วยกันไปตามเหตุปัจจัย จึงเป็นเหตุให้มีงานมงคลสมรสในวันเข้าพรรษาในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ทั้งคู่บ่าวสาว ตลอดถึงคนที่มาทำบุญที่วัดในวันนั้นด้วย

           คราวที่แล้วอาตมาได้กล่าวถึงบ่อเกิดของความรักของคู่บ่าวสาวทั้งสองในมุมมองทางพระพุทธศาสนา เมื่อเราทราบแล้วว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความรักมี ๒ ประการ แล้วจะทำอย่างไรให้ความรักได้ครองคู่กันทั้งชาตินี้และชาติหน้า(ยังไม่แน่) สำหรับชาตินี้ก่อน ผู้ที่จะครองคู่กันต้องประกอบไปด้วยสมชีวธรรม ๔ หมายถึง หลักธรรมที่จะทำให้ชีวิตการครองคู่กันยืนยาว หรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ๔ ประการ จะเห็นได้จากดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ว่า

           “ดูก่อน คฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ก็จะได้พบกันและกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า”

ขอขอบคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
ขอขอบคุณภาพจาก
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา
และพระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

           ซึ่งพระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) ท่านได้ขยายความไว้อย่างน่าสนใจคือ

           ๑. สมสัทธา สามีภรรยามีศรัทธาเสมอกัน ศรัทธา คือความเชื่อ ความเลื่อมใส ทัศนคติ อุดมการณ์ ความคิดเห็นในเรื่องการทำความดี เรื่องผลแห่งความดีเรื่องบุญบาป เรื่องชาตินี้ชาติหน้า เป็นต้น สามีภรรยาที่มีความเชื่อในเรื่องเหล่านี้เสมอกัน ย่อมอยู่ด้วยกันได้ยืนนานกว่าสามีภรรยาที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องเช่นนี้

           ๒. สมสีลา สามีภรรยามีศีลเสมอกัน ศีล คือความประพฤติ ปกตินิสัย การปฏิบัติตามคุณธรรม งดเว้นการทำผิดพูดชั่ว สามีภรรยาที่มีความประพฤติ มีปกตินิสัยเสมอกันหรือคล้ายคลึงกัน ย่อมเข้าใจกันดีกว่าสามีภรรยาที่มีนิสัยต่างกัน ประพฤติต่างกัน และพูดต่างกัน

           ๓. สมจาคา สามีภรรยามีจาคะเสมอกัน จาคะ คือความเสียสละ ความเอื้อ อารีต่อกัน การบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น สามีภรรยาที่มีใจคอกว้างขวาง มีน้ำใจพอๆกัน ยินดีในการเสียสละ ชอบบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นเหมือนกัน และยินดีในการกำจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวของตนให้หมดไปเช่นกัน ย่อมอยู่ด้วยกันยืดกว่าสามีภรรยาที่มีใจคอคับแคบ แม้กระทั่งคู่ครองของตัว เป็นคนเห็นแก่ตัว ทั้งไม่ชอบช่วยเหลือใครๆ

           ๔. สมปัญญา สามีภรรยามีปัญญาเสมอกัน ปัญญา คือความฉลาดรอบรู้ ความเข้าใจในบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ความฉลาดในการทำความดี สามีภรรยาที่มีปัญญามีความฉลาดรอบรู้ และฉลาดในการทำความดีพอๆกัน ย่อมอยู่ด้วยกันยืดยาวกว่าสามีภรรยาที่ต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน ต่างไม่มีเหตุผล ไม่ใช้สติปัญญาเข้าหากัน มีแต่ใช้อารมณ์เข้าหากันตลอดเวลา

ดังนั้น จะเห็นว่าหลักสมชีวธรรมเสมือนเป็นหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของคู่สมรส ถ้าสามีภรรยาคู่ใดยึดถือหรือประพฤติปฏิบัติตามนี้ หรือทั้งคู่มีหลักธรรม ๔ ประการนี้อยู่ประจำใจ ก็จะเปรียบเหมือนคู่สร้าง คู่สม หรือเรียกว่า “คู่บุญ” ก็ว่าได้ และจะส่งผลให้ชีวิตการครองคู่อยู่ด้วยกันอย่างสอดคล้องกลมกลืน ยืนยาว มั่นคง และมีความสุข 

           อย่างไรก็ตาม ที่อาตมาได้นำเรื่องความรักของโยมคู่นี้เล่าสู่กันฟัง เพื่อให้สังคมได้เห็น และมีแบบอย่างของความรักเช่นนี้ออกไปสู่สังคม ให้สังคมได้เห็นว่าวิธีคิดการใช้ความรักของคนยุคใหม่แบบนี้ยังมีอยู่ในสังคม เพราะหากพูดถึงเรื่องความรัก ชีวิตการครองคู่ ถ้ามองย้อนกลับไปในสังคมไทยปัจจุบันนี้ ถ้าดูตามข่าว หรือในโลกโซเชียลปัจจุบันก็จะเห็นข่าวต่าง ๆ  เช่น หย่ากันเพราะมือที่สาม, ฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังความรัก, ฆ่ากันเพราะง้อขอคืนดีกับคู่รักไม่ได้, หรือข่าวอาชญากรรมอื่น ๆ สาเหตุหนึ่งเพราะคู่รักขาดสมชีวธรรม และที่สำคัญความรักสวยงามเสมอ ความรักไม่เคยทำร้ายใคร มีแต่คนใช้ความหลอกลวงไปทำร้ายคนอื่น ซึ่งนั่นไม่ใช่ความรักที่แท้จริง

           ความรักที่แท้จริงซึ่งจะนำพาชีวิตให้พบแต่สิ่งที่เป็นมงคล ต้องเป็นความรักที่ประกอบไปด้วยปัญญา ถ้าความรักที่ขาดปัญญาเขาไม่เรียกว่าความรัก แต่เขาเรียกว่าความ“หลง”แล้วตอนนี้ล่ะชีวิตของท่านมีความรัก หรือว่า…มีความหลง !!

           แต่ถ้าชีวิตท่านมีความรักอยู่ล่ะก็ให้ท่องสัจธรรมอย่างหนึ่งไว้ว่าสักวันหนึ่งก็ต้องจากกัน ไม่จากกันเป็น ก็จากกันตาย เราไม่จากเขาไป เขาก็จากเราไป”

         และข้อทิ้งท้ายด้วยภาษาวัยรุ่นเพื่อเป็นคติเตือนใจแล้วกันอย่าเอาหัวใจไปฝากไว้ที่ฝ่าเท้าของใคร เพราะมันจะเจ็บทุกย่างก้าวเมื่อเขาเดินจากไป” บู๋ย ๆ

พระใบฏีกาคทาวุธ-คเวสกธมฺโม ผู้เขียน กรรมการ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
พระใบฏีกาคทาวุธ-คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระวิทยากร กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม
และ กรรมการ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
วัดสระเกศ ฯ
ปฏิบัติศาสนกิจ เป็นพระธรรมทูต ณ ประเทศสกอตแลนด์


จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๙“คู่บุญในทางพระพุทธศาสนา”

คอลัมน์ เขียนธรรมสื่อถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒) โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here