อาสาฬหบูชา

วันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”

ปฐมเทศนา เรื่อง ทางสายกลาง หนทางออกจากทุกข์ในวัฏสงสารอย่างสิ้นเชิง

เป็นวันที่พระอัญญาโกณฑัญญะ ดวงตาเห็นธรรม

ก่อเกิด พระสงฆ์องค์แรกของโลก และมีพระรัตนตรัย ครบองค์ประชุม

ในวันนั้นเอง ผู้ที่โชคดี มีบุญบารมีเต็มเปี่ยมในการสดับรับฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าเมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อน ก็คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคี ที่ติดตามอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ธรรม นับเป็นความสำคัญอย่างยิ่งของชาวโลก ที่พระพุทธเจ้าทรงพระเมตตาอย่างหาประมาณไม่ได้ ในการประกาศสัจธรรมอันลึกซึ้งนี้ ที่ยากนักจะมีผู้เข้าใจได้และสามารถปฏิบัติตามไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ จนกระทั่งจิตเป็นอิสระจากกิเลสมารทั้งปวง เป็นการประกาศสัจธรรมหยุดโลก คือหยุดกิเลสภายในใจ ให้ดับสิ้นไปอย่างสิ้นเชิง

อาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า “อาสาฬหปูรณมีบูชา” หมายถึง “การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ” ตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๘ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปจัดในวันเพ็ญเดือน ๘ หลังแทน

สำหรับวันอาสาฬหบูชา ปีนี้ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ตรงกับวันอังคารที่ ๑ สิงหาคม ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘/๘ ตามจันทรคติ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้แสดงสัจธรรมอันลึกซึ้ง ซึ่งเป็นหนทางออกจากทุกข์ในสังสารวัฏจากการตรัสรู้ให้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ มฤคทายวัน เมืองพาราณสี สาธารณรัฐอินเดีย

ดังที่เกริ่นไปในข้างต้น การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ประกอบด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นภิกษุองค์แรกในโลก และทำให้ในวันนี้มี พระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลกด้วย คือ มีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ สามเสาหลักของพระพุทธศาสนาที่มั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยเหตุความสำคัญอันยิ่งใหญ่ดังกล่าง จึงทำให้วันนี้ได้รับการเรียกว่า “วันพระธรรม” เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประกาศพระสัจธรรม หรือ วันพระธรรมจักร ขับเคลื่อนวงล้อแแห่งความจริง คือ อริยสัจสี่ ให้เข้าสู่หัวใจชาวโลกที่พร้อมจะฟังคำอธิบายหลักธรรมอันล้ำค่า จากการเห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และ หนทางอันประเสริฐ ๘ ประการ บนเส้นทางสายกลาง จนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด ใน “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ”

พระสูตรแห่งทางสายกลางนี้เอง ที่จะนำผู้คนที่ปฏิบัติจนเกิดผลไปสู่ความดับทุกข์ทางกายและทางใจโดยสิ้นเชิง คือ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ จิตเป็นอิสรภาพ ตัดวงจรการเกิด จากการร้อยรัด ของกิเลสตัณหาทั้งปวง เป็นการมองเห็นที่มาของความทุกข์อย่างชัดแจ้ง และหนทางดับทุกข์อย่างชัดเจนจนกระทั่งสามารถขุดรากถอนโคนกิเลสให้สิ้นไปจากจิตใจไม่เหลือเชื้อมาเกิดอีก

นับเป็นนวัตกรรมทางจิต จากโลกุตรปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยพระองค์เองในคืนวันตรัสรู้ธรรม วิสาขปุณรมีบูชา ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ แล้วนำมาประกาศให้ศิษยานุศิษย์กลุ่มแรก คือ ปัญจวัคคี ได้ปฏิบัติจนดวงตาเห็นธรรม ในวันอาสาฬหบูชา ก่อนที่พระองค์จะเสด็จออกเผยแผ่สัจธรรมอันลึกซึ้งนี้ต่อไปอีก ๔๕ พรรษาจนเสด็จดับขันธปรินิพพานในที่สุด เมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษา

บทสวด “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ” จึงเป็นพระสูตรที่สำคัญยิ่ง มาจนถึงปัจจุบัน และจะเป็นพระสูตรที่ไม่มีวันตาย ตราบที่ยังมีผู้ฝึกตนบนหนทางนี้ มีพระรัตนตรัยครบองค์ประชุม และมีพุทธบริษัทตามรอยธรรมบนเส้นทางอริยมรรคมีองค์แปดประการทุกลมหายใจเข้าออก โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ คือผู้ไม่กลับมาเกิดอีก และโลกจะสงบเย็นปราศจากสงครามด้วยการที่มนุษย์สามารถดับกิเลสภายในจิตใจของตนเองได้คือ ดับไฟราคะ ดับไฟโทสะ และดับไฟโมหะ ได้อย่างสิ้นเชิง

บทสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตตปาฐะ พร้อมคำแปล

(หนฺท มยํ ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนสุตฺตปาฐํ ภณาม เส.)

(หันทะ มะยังธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสุตตะปาฐัง ภะณามะ เส)

เทวเม ภิกขะเว อันตา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ที่สุดแห่งการกระทำสองอย่างเหล่านี้, มีอยู่

ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา

เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะเลย

โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค

นี้คือการประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย

หีโน (ออกเสียง ฮีโน)

เป็นของต่ำทราม

คัมโม

เป็นของชาวบ้าน

โปถุชชะนิโก

เป็นของคนชั้นปุถุชน

อะนะริโย

ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า

อะนัตถะสัญหิโต

ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย, นี้อย่างหนึ่ง

โย จายัง อัตตะกิละมะถานะโยโค

อีกอย่างหนึ่งคือการประกอบการทรมานตนให้ลำบาก

ทุกโข

เป็นสิ่งนำมาซึ่งทุกข์

อะนะริโย

ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า

อะนัตถสัญหิโต

ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย

เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง, ไม่เข้าไปหาที่สุดแห่งการกระทำสองอย่างนั้น, มีอยู่

ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา

เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว

จักขุกะระณี

เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ

ญาณะกะระณี

เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ

อุปะสะมายะ

เพื่อความสงบ

อะภิญญายะ

เพื่อความรู้ยิ่ง

สัมโพธายะ

เพื่อความรู้พร้อม

นิพพานายะ สังวัตตะติ

เป็นไปเพื่อนิพพาน

กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้นเป็นอย่างไรเล่า

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค

ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้น, คือข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ, ประกอบด้วยองค์แปดประการนี้เอง

เสยยะถีทัง

ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ

สัมมาทิฏฐิ

ความเห็นชอบ

สัมมาสังกัปโป

ความดำริชอบ

สัมมาวาจา

การพูดจาชอบ

สัมมากัมมันโต

การทำการงานชอบ

สัมมาอาชีโว

การเลี้ยงชีวิตชอบ

สัมมาวายาโม

ความพากเพียรชอบ

สัมมาสะติ

ความระลึกชอบ

สัมมาสะมาธิ

ความตั้งใจมั่นชอบ

อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, นี้แลคือข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง

ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา

เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว

จักขุกะระณี

เป็นเครื่องกระทำให้เกิดจักษุ

ญาณะกะระณี

เป็นเครื่องกระทำให้เกิดญาณ

อุปะสะมายะ

เพื่อความสงบ

อะภิญญายะ

เพื่อความรู้ยิ่ง

สัมโพธายะ

เพื่อความรู้พร้อม

นิพพานายะ สังวัตตะติ

เป็นไปเพื่อนิพพาน

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือทุกข์นี้, มีอยู่

ชาติปิ ทุกขา

คือความเกิดก็เป็นทุกข์

ชะราปิ ทุกขา

ความแก่ก็เป็นทุกข์

มะระณัมปิ ทุกขัง

ความตายก็เป็นทุกข์

โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา

ความโศกความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์

อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข

ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์

ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข

ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์

ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง

มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์

สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา

ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้งห้าเป็นตัวทุกข์

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์นี้, มีอยู่

ยายัง ตัณหา

นี้คือตัณหา

โปโนพภะวิกา

อันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดอีก

นันทิราคะสะหะคะตา

อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน

ตัตระตัตราภินันทินี

เป็นเครื่องให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ

เสยยะถีทัง

ได้แก่ตัณหาเหล่านี้คือ

กามะตัณหา

ตัณหาในกาม

ภะวะตัณหา

ตัณหาในความมีความเป็น

วิภะวะตัณหา

ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้, มีอยู่

โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ

นี้คือความดับสนิทเพราะจางไปโดยไม่มีเหลือของตัณหานั้นนั่นเอง

จาโค

เป็นความสลัดทิ้ง

ปะฏินิสสัคโค

เป็นความสละคืน

มุตติ

เป็นความปล่อย

อะนาละโย

เป็นความทำไม่ให้มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้น

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็อริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำให้สัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี้, มีอยู่

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค

นี้คือข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ, ประกอบด้วยองค์แปดประการ

เสยยะถีทัง

ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ

สัมมาทิฏฐิ

ความเห็นชอบ

สัมมาสังกัปโป

ความดำริชอบ

สัมมาวาจา

การพูดจาชอบ

สัมมากัมมันโต

การทำการงานชอบ

สัมมาอาชีโว

การเลี้ยงชีวิตชอบ

สัมมาวายาโม

ความพากเพียรชอบ

สัมมาสะติ

ความระลึกชอบ

สัมมาสะมาธิ

ความตั้งใจมั่นชอบ

อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ, จักขุง อุทะปาทิ, ญานัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่าอริยสัจคือทุกข์, เป็นอย่างนี้อย่างนี้, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ

ว่าก็อริยสัจคือทุกข์นั้นแล, เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ

ว่าก็อริยสัจคือทุกข์นั้นแล, เรากำหนดรู้ได้แล้ว, ดังนี้

อิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ, จักขุง อุทะปาทิ, ญานัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่าอริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์, เป็นอย่างนี้อย่างนี้, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ

ว่าก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์นั้นแล, เป็นสิ่งที่ควรละเสีย, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหีนันติ

ว่าก็อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์นั้นแล, เราละได้แล้ว, ดังนี้

อิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ, จักขุง อุทะปาทิ, ญานัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่าอริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, เป็นอย่างนี้อย่างนี้, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ

ว่าก็อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล, เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ

ว่าก็อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล, เราทำให้แจ้งได้แล้ว, ดังนี้

อิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว, ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ, จักขุง อุทะปาทิ, ญานัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา, ในธรรมที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน, ว่าอริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, เป็นอย่างนี้อย่างนี้, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพันติ

ว่าก็อริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล, เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดมี, ดังนี้

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ

ว่าก็อริยสัจคือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นแล, เราทำให้เกิดมีได้แล้ว, ดังนี้

ยาวะกีวัญจะ เม ภิกขะเว, อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ, เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง นะ สุวิสุทธัง อะโหสิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง, มีปริวัฏฏ์สาม มีอาการสิบสองเช่นนั้น, ในอริยสัจทั้งสี่เหล่านี้, ยังไม่เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เราอยู่เพียงใด

เนวะ ตาวาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ตลอดการเพียงนั้น, เรายังไม่ปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว, ซึ่งอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ, ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกมารโลกพรหมโลก, ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์, พร้อมทั้งเทวดา และมนุษย์

ยะโต จะ โข เม ภิกขะเว, อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ, เอวันติปะริวัฏฏัง ทวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อะโหสิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, เมื่อใด, ปัญญาเครื่องรู้เห็นตามที่เป็นจริง, มีปริวัฏฏ์สามมีอาการสิบสองเช่นนั้น, ในอริยสัจทั้งสี่เหล่านี้, เป็นของบริสุทธิ์หมดจดด้วยดีแก่เรา

อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ ปัจจัญญาสิง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, เมื่อนั้น, เราปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว, ซึ่งอะนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ, ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกมารโลกพรหมโลก, ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์, พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์

ญาณัญจะ ปะนะ เม ภิกขะเว ทัสสะนัง อุทะปาทิ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ก็ญาณและทัสสนะได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา

อะกุปปา เม วิมุตติ

ว่าความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ

อะยะมันติมา ชาติ

ความเกิดนี้เป็นความเกิดครั้งสุดท้าย

นัตถิทานิ ปุนัพภะโวติ

บัดนี้ความเกิดอีกย่อมไม่มี, ดังนี้

อิทะมะโวจะ ภะคะวา ฯ 

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสธรรมปริยายนี้แล้ว

อัตตะมะนา ปัญจะวัคคิยา ภิกขู ภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุง ฯ 

พระภิกษุปัญจวัคคีย์ก็มีใจยินดีเพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า

อิมัสมิญจะ ปะนะ เวยยากะระณัสมิง ภัญญะมาเน 

ก็แลเมื่อไวยากรณ์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอยู่

อายัสมะโต โกณทัญญัสสะ วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ 

จักษุในธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่พระผู้มีอายุโกณทัญญะ

“ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ ฯ” 

ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว สิ่งนั้นทั้งปวง ก็ต้องดับสลายไปเป็นธรรมดา”

ปะวัตติเต จะ ภะคะวะตา ธัมมะจักเก 

ก็เมื่อธรรมจักรอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เปิดเผยจากธรรมชาติให้เห็นแล้ว

ภุมมา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง 

เหล่าภูมิเทวดาก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า

เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติ ฯ 

ว่า นั่นจักรคือธรรม ไม่มีจักรอื่นสู้ได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม และใคร ๆ ในโลกยังให้เป็นไปไม่ได้ ดังนี้

ภุมมานัง เทวานัง สัททัง สุตวา จาตุมมะหาราชิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ 

เทวดาเหล่าชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของเทวดาเหล่าภูมิเทวดาแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น

จาตุมมะหาราชิกานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ตาวะติงสา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ 

เทวดาเหล่าชั้นดาวดึงส์ ได้ฟังเสียงของเทวดาเหล่าชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น

ตาวะติงสานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ยามา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ 

เทวดาเหล่าชั้นยามาได้ฟังเสียงของเทวดาเหล่าชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น

ยามานัง เทวานัง สัททัง สุตวา ตุสิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ 

เทวดาเหล่าชั้นดุสิตได้ฟังเสียงของเทวดาเหล่าชั้นยามาแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น

ตุสิตานัง เทวานัง สัททัง สุตวา นิมมานะระตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ

เทวดาเหล่าชั้นนิมมานรดีได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิตแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น

นิมมานะระตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา ปะระนิมมิตะวะสะวัตตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง ฯ 

เทวดาเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตดีได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดีแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่น

ปะระนิมมิตะวะสะวัตตีนัง เทวานัง สัททัง สุตวา พรัหมะกายิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง  (พรหมเจ้าที่เกิดในชั้นพรหมได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ก็ยังเสียงให้บันลือลั่นขึ้น)

“เอตัมภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พราหมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พรัหมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสมินติ ฯ”     

“ว่า นั่นจักรคือธรรม ไม่มีจักรอื่นสู้ได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม และใคร ๆ ในโลก ไม่สามารถให้เป็นไปได้ดังนี้ ฯ”

อิติหะ เตนะ ขะเณนะ เตนะ มุหุตเตนะ ยาวะ พรัหมะโลกา สัทโท อัพภุคคัจฉิ ฯ

  โดยขณะหนึ่งครู่หนึ่งนั้น เสียงขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนี้ ฯ

อะยัญจะ ทะสะสะหัสสี โลกะธาตุ สังกัมปิ สัมปะกัมปิ สัมปะเวธิ ฯ 

ทั้งหมื่นโลกธาตุ ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้านลั่นไปทั่ว

อัปปะมาโณ จะ โอฬาโร โอภาโส โลเก ปาตุระโหสิ  

ทั้งแสงสว่างแห่งธรรมอันใหญ่ยิ่งไม่มีประมาณ ได้ปรากฏแล้วในโลก

อะติกกัมเมวะ เทวานัง เทวานุภาวัง ฯ 

ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลายเสียหมด ฯ

อะถะ โข ภะคะวา อุทานัง อุทาเนสิ 

ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า

อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญติ 

โกณทัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญ

อิติหิทัง อายัสมะโต โกณทัญญัสสะ “อัญญาโกณทัญโญ” เตววะ นามัง อะโหสีติ ฯ 

เพราะเหตุนั้น นามว่า “อัญญาโกณทัญญะ” นี้นั่นเทียว ได้มีแล้วแก่พระโกณทัญญะผู้มีอายุ ด้วยประการฉะนี้แล ฯ

หัวใจ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” กับการตื่นรู้ของชาวโลก ในวันอาสาฬหบูชา

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here