บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๐) จิตที่รักษาความเป็นกลางได้ คือ จิตที่มีปัญญา เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
จิตที่รักษาความเป็นกลางไว้ได้ ไม่มีการคิดปรุงแต่งตามอารมณ์ไปทางพอใจ ไม่พอใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ชอบ ชัง หรือ สุข ทุกข์ ก็จะเป็นเพียงผู้รู้ที่เฝ้าสังเกตดูความเกิดขึ้นและดับไปของความคิดหรือการเกิดขึ้นและดับไปของจิต ไม่มีการเติมเชื้อชอบหรือชังผสมปนเปลงไป
เมื่อจิตผุดความคิดชอบขึ้นมาก็จะเป็นเพียงอาการชอบที่เกิดขึ้น จิตไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่องต่อไป จะมีอุเบกขาคอยตัดเข้าสู่ความเป็นกลาง แล้วดำรงความสงบสมดุลอยู่อย่างนั้น
เมื่อจิตผุดความคิดชังขึ้นมา ก็จะเป็นเพียงอาการชังที่เกิดขึ้น เป็นไปตามธรรมดาของจิตที่มีการเกิดความคิดและดับไป แต่จะไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่องต่อไป
จิตมีการเกิดดับส่งต่อสืบเนื่องกันไปเป็นกระแส จนเกิดเป็นกระแสชีวิต มีการดำเนินต่อไปได้ เพราะมีการเติมเชื้ออยู่ตลอดเวลาไม่เคยหยุดพัก เชื้อของจิตวิญญาณหรืออาหารของจิต ก็คือ โลภะ ราคะก็รวมลงในนี้ โทสะ ปฏิฆะก็รวมลงในนี้ และโมหะ อวิชชาก็รวมลงในนี้ เมื่อจิตคิดปรุงแต่งโดยมีโลภะ โทสะ โมหะเป็นเชื้อผสมโรงเข้าไป ก็คือ การเติมเชื้อให้จิตมีพลังงานเกิดกระแสสืบเนื่อง ขณะอยู่ในความสงบ มีความสมดุลเป็นกลาง มีสติบริบูรณ์เฝ้าสังเกตความเป็นไปของจิต จะเห็นว่า จิตมีการดึงความคิดที่มีโลภะ โทสะ โมหะ อันมีลักษณะชอบใจ ไม่ชอบใจ ขึ้นมาเติมความคิดอยู่ตลอด
ความคิดใดมีความเข้มข้น มีพลังเพียงพอ
ก็จะทำให้จิตคิดปรุงแต่ง
และความคิดนั้นก็จะตกตะกอน
เป็นอนุสัยสืบต่อเป็นเชื้อกักตุนไว
้เป็นพลังงานให้กับจิต
เกิดเป็นกระแสชีวิตต่อไป
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ส่วนความคิดใดที่สติรู้ทัน มีอุเบกขาคอยตัดเข้าสู่ความเป็นกลาง ไม่ทันได้คิดปรุงแต่งสืบเนื่อง ความคิดนั้นก็จะเป็นเพียงความคิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไปตามธรรมชาติ เมื่อไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่อง ก็ไม่ตกตะกอนเป็นอนุสัย กลายเป็นเชื้อกลับมาคิดใหม่ เชื้อด้านนอกก็ไม่เข้ามาใหม่ เชื้อด้านในก็ค่อย ๆ ถูกขจัดออก เชื้อที่ทำให้เกิดกระแสชีวิตก็จะค่อย ๆ ลดลงที่ละนิดทีละหน่อย การเกิดดับของความคิดก็สั้นเข้า ก็จะเป็นเพียงกิริยาของจิตที่เกิดขึ้นและดับลงตามธรรมชาติของจิตเท่านั้น
กาต้มน้ำ ภาพวาดสีฝุ่น โดย หมอนไม้
อันที่จริง กระแสชีวิตจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จิตต้องใช้เครื่องปรุงแต่งจาก ๒ ส่วน คือ เครื่องปรุงแต่งจากภายนอกเรียกว่า “อารมณ์ภายนอก” จะเรียกว่า “กามคุณ ๕” ก็ได้ และเครื่องปรุงแต่งจากภายในเรียกว่า “อารมณ์ภายใน”จะเรียกว่า “ธรรมารมณ์” ก็ได้
ทุกบัลลังก์ของการนั่งสมาธิ เมื่อจิตสงบก้าวเข้าสู่ความสมดุลเป็นกลาง จะไม่มีการรับอารมณ์จากภายนอกเข้ามาปรุงแต่งสืบต่อ สมาธิที่เจริญดีแล้ว จะสร้างให้จิตเกิดอุเบกขาคอยตัดการรับรู้เข้าสู่ความว่างภายใน ทุกครั้งที่เกิดการรับรู้อารมณ์ภายนอก อุเบกขาจะคอยตัดการรับรู้เข้าสู่ความว่างภายใน ไม่ปล่อยให้เกิดการนำอารมณ์ภายนอกเข้ามาปรุงแต่งสืบต่อ ซึ่งก็เท่ากับว่า ขณะนั้น จิตไม่มีการเติมเชื้อจากภายนอกเข้ามาปรุงแต่งให้เกิดกระแสชีวิต แต่จิตก็จะดึงเชื้อจากภายในขึ้นมาคิดปรุงแต่งเป็นกระแสชีวิตต่อไป
“พระสงฆ์ คือ เนื้อนาบุญของโลก” ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่านโดย หมอนไม้
เมื่อความคิดเกิดแล้ว
ผู้ปฏิบัติสมาธิก็จะเป็นแต่เพียงผู้รู้
การเกิดและการดับของความคิด
คือ เป็นแต่เพียงผู้เฝ้าสังเกต
การเกิดดับของความคิดเท่านั้น
ไม่ปรุงแต่งจินตนาการ
ไปตามความพอใจหรือความไม่พอใจ
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ซึ่งก็เท่ากับว่า เชื้อโลภะ โทสะ โมหะที่ทำให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจที่สะสมเป็นอนุสัยดองอยู่ในจิต ก็จะลดลงไปตามสัดส่วนของแต่ละบัลลังก์ที่นั่งสมาธิ และเฝ้าสังเกตตามรู้ทันทุกขณะจิต โดยจะเรียกกันในหมู่ผู้ปฏิบัติว่า “รู้ปัจจุบันขณะ” ก็ได้
เหมือนคนหาปลาทำคันกั้นน้ำไว้ ไม่ให้น้ำใหม่ไหลเข้ามา แล้วค่อย ๆ ตักน้ำในคันกั้นน้ำออกไป น้ำใหม่ไม่เข้า น้ำเก่าก็ถูกตักออกไป ในขณะเดียวกันก็คอยสอดส่องระมัดระวังคันกั้นน้ำไม่ให้รั่วซึม หรือไม่ให้คันกั้นน้ำขาดจนน้ำจากนอกคันกั้นน้ำไหลทะลักเข้ามา ในที่สุดน้ำเก่าก็จะหมดไป
การทำสมาธิก็เช่นเดียวกับคนหาปลาทำคันกั้นน้ำ ในขณะฝึกดูลมหายใจก็เหมือนคนหาปลากำลังขุดดินทำคันกั้นน้ำ เมื่อฝึกจนนำจิตเข้าสู่ความว่างภายใน มีความสมดุลเป็นกลาง ก็เหมือนทำคันกั้นอารมณ์จากภายนอกได้แล้ว อุเบกขาจะเป็นเหมือนคันป้องกันไม่ให้อารมณ์จากภายนอกไหลเข้าสู่ภายใน จากนั้น ปัญญาในวิปัสสนาที่เฝ้าสังเกตการเกิดดับของขณะจิต จะพิจารณาเห็นขณะจิตเป็นแค่เพียงการเกิดและการดับ สืบเนื่องติดต่อกันไป เป็นการทำวิชชาให้เกิดเพื่อขับไล่อวิชชา
บางขณะจิตเกิดเป็นความชอบใจ แล้วก็ดับไป บางขณะจิตเกิดเป็นความชังแล้วก็ดับไป บางขณะจิตเกิดเป็นความนิ่ง ๆ เฉย ๆ เป็นกลาง ไม่เป็นทั้งชอบหรือชัง แล้วก็ดับไป ไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่อง เป็นการทอนอารมณ์ภายในออกไป เหมือนคนหาปลาจ้วงตักน้ำภายในคันกั้นออกไป
ขณะอยู่ในบัลลังก์แห่งสมาธิ
ประคองจิตเข้าสู่ความเป็นกลาง
อาหารใหม่ที่ทำให้เกิดกระแสชีวิตก็ไม่เข้า
อาหารเก่าก็ถูกทอนออกไป ในที่สุด
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
เชื้อกระแสชีวิตที่มีความยึดมั่นถือมั่นอันมีโลภะ โทสะ โมหะเป็นราก เป็นส่วนผสมที่สำคัญ ก็จะค่อย ๆ เบาบางไป ที่มีราคะกล้า ก็จะเบาบางไป ที่มีโทสะกล้า ก็จะเบาบางไป ที่มีโมหะกล้า ก็จะเบาบางไป และที่มีปฏิฆะความขัดเคืองใจ ความขัดเคืองก็จะเบาบางไป
ดังนั้น กระแสชีวิตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะอวิชชานั่นแหละ ทำให้ไม่รู้ ว่า โลภะ โทสะ โมหะ มีตัณหาเป็นหัวเชื้อ มีอุปาทานความยึดถือเป็นยางเหนียวเชื่อมผนึกแน่น เป็นเหตุให้เกิดกระแสความคิดดำเนินไป จิตจึงเกิดการปรุงแต่งไปตามความยึดถือในโลภะ โทสะ โมหะ ตามขณะจิตนั้น ๆ แต่เมื่อวิชชาเกิดรู้แล้วว่า กระแสชีวิตเกิดขึ้นเพราะตัณหา คือ ความอยากทำให้เกิดความยึดถืออันมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นราก แม้จะเกิดความพอใจไม่พอใจหมุนไปตาม ก็จะไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่อง จะเป็นแต่เพียงขณะจิตของผู้รู้เกิดขึ้นและดับไป
ในที่สุด ก็จะเห็นว่า เพราะอวิชชาความไม่รู้นี่แหละ จึงหลงคิดปรุงแต่งไปตามโลภะ โทสะ โมหะ จิตจะคอยอบรมตัวเองให้รู้อยู่อย่างนี้
ญาณวชิระ :พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่าน โดย หมอนไม้
บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๐) จิตที่รักษาความเป็นกลางได้ คือ จิตที่มีปัญญา เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)