วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๔ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

(บทที่ ๒๗) “ ต้องพลิกขณะจิตจากสมถะสู่วิปัสสนา”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ต้องพลิกขณะจิตจากสมถะสู่วิปัสสนา

            คำว่า “เพ่งความสนใจลงไป” ก็คือ “ฌาน” นั่นเอง

การเพ่งเป็นสมถะ

เพ่งความสนใจลงไปที่ไหน

จิตก็รวมลงอยู่ที่นั่น

จิตรวมลงที่ไหนความสงบระงับก็มีที่นั่น

ญาณวชิระ

เมื่อจิตเข้าถึงความสงบจมดิ่งแช่นิ่งอยู่กับความว่างภายใน พอจิตถอนออกจากความสงบ ก็ฝึกพลิกขณะจิตกลับไปพักไว้ที่ลมหายใจ อย่าปล่อยให้จิตเลื่อนลอยปรุงแต่งอย่างไร้หลัก

พอถอนออกจากความสงบ ก็พลิกขณะจิตกลับมาตั้งหลักไว้ที่ลมหายใจ แล้วพลิกขณะจิตกลับไปขบคิดพิจารณาความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน

ความไม่แน่นอน

มีอยู่แม้กระทั่งกับจิต

ความไม่แน่นอน

มีอยู่แม้กระทั่งในความว่าง

ญาณวชิระ

คำว่า ขบคิด พลิกขณะจิต คือ คิดอย่างเอาใจจดจ่อหาผล ไม่ใช่ใช้ความคิดอย่างธรรมดา ฝึกเปลี่ยนจิตที่เพ่งจับจ้องให้ความสนใจอยู่กับอารมณ์หนึ่งไปยังอีกอารมณ์หนึ่ง ฝึกเปลี่ยนความคิดหนึ่งไปยังอีกความคิดหนึ่งอยู่เนื่องๆ เพื่อพลิกขณะจิตจากสมถะไปสู่วิปัสสนา หากไม่ฝึกจิตก็ไม่รู้วิธีที่จะพลิกตัวเอง ก็ฝึกอยู่เนื่องๆ จนจิตรู้ที่จะพลิกขณะจิตด้วยจิตเอง เพื่อให้จิตเกิดความรู้ขึ้นมาไม่อย่างนั้นจิตจะจมดิ่งแช่นิ่งลึกไม่รับรู้อารมณ์

ระหว่างสมถะกับวิปัสสนา จึงทำงานสืบเนื่องเป็นอันเดียวกัน หนุนเนื่องซึ่งกันและกัน ต่างกันตรงที่ทำคนละขณะจิต ขณะจิตหนึ่งนิ่งสงบราบเรียบสว่างไสวอยู่ภายใน อีกขณะจิตหนึ่งเกิดสติระลึกรู้ ขบคิดพิจารณาความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสภาวะที่เกิดขึ้น

ฌาน คือเพ่ง เพ่งความสนใจลงไปที่ลมหายใจ จิตรวมลงที่ลมหายใจ จิตละวางลงหายใจเข้าสู้ความว่างภายใจก็เป็นสมถะ ระยะเวลาที่จิตรวมดวงเป็นสมถะ สว่างไสวเด่นดวงอยู่นั้น จะช้าจะนานแค่ไหนก็ไม่สามารถบอกได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้นๆ

บางขณะแค่เข้าไปแตะความสงบก็ถอนออก บางขณะก็ทรงอยู่นานบางขณะก็ทรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แต่ละครั้งไม่แน่นอน เมื่อจิตถอนออก บางขณะก็กลับเข้าไปใหม่ได้ บางขณะก็กลับเข้าไปใหม่ไม่ได้ บางขณะก็ยึดอารมณ์อย่างอื่นทั้งอารมณ์ที่เป็นกุศลและอกุศลปรุงแต่งสืบเนื่องเลื่อนลอยต่อไปเหมือนนกเต้นเกาะไปตามกิ่งไม้กิ่งใหม่ไปเรื่อย

วิธีที่จะกลับเข้าสู่ความว่างภายในได้ ก็ต้องพลิกขณะจิตไปสู่ที่ตั้งเดิมคือลมหายใจ เป็นการกลับไปเริ่มต้นที่ลมหายใจใหม่อีกครั้ง แล้วลมหายใจจะดึงดูดจิตกลับเข้าไปสู่ความว่างภายใน

เมื่อจิตถอนออกมา ก็ฝึกหัดให้รู้วิธีที่จะดำเนินจิตกลับเข้าไปด้วยวิธีเดิมๆ เนือง ๆ

สำหรับผู้ที่ฝึกสมาธิจนชำนาญในการเข้าและการออกจากสมาธิแล้ว แม้จิตจะถอนออกก็สามารถกำหนดจิตลงไปที่ความว่างใหม่ได้ โดยไม่ต้องกลับไปตั้งหลักที่ลมหายใจใหม่อีกครั้ง พอเพ่งความสนใจลงไปที่ความสงบ จิตก็จะรวมดวงดำเนินไปสู่ความว่าง ความว่างก็ปรากฏเมื่อจิตละวางลมหายใจ เข้าสู่ความว่างภายใน มีความเป็นเอกภาพรวมดวง เบิกบานสว่างไสวเด่นดวงอยู่เช่นนั้น ก็เป็นสมถะ เมื่อจิตถอนออกมาพลิกขณะจิตไปเพ่งความสนใจระลึกรู้อยู่กับลมหายใจพิจารณาลมหายใจว่า มีความเกิดดับ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ลมหายใจมีอยู่แต่ไม่มีผู้หายใจ

มีแต่การหายใจ

เป็นการเห็นอริยสัจในลมหายใจ

ก็เป็นวิปัสสนา

ญาณวชิระ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๗) “ ต้องพลิกขณะจิตจากสมถะสู่วิปัสสนา” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here