ขอน้อมถวายผลงานนี้ไว้ในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นพุทธบูชา

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา

พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง
พุทโธ ปะกิคัณหาตุ อัจจะยันตัง

กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ฯ

หากจะมีกรรมอันน่าติเตียนใด
ที่ข้าพเจ้าได้ทำผิดพลาดไว้

ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ
ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงยกโทษล่วงเกินนั้น

เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีความสำรวมระวัง
ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลต่อไปฯ

ญาณวชิระ

ทศชาติ

ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

การบำเพ็ญบารมีสิบชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

ญาณวชิระ

พุทธศักราช ๒๕๔๙

ใน คำนำผู้เขียน ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม ๒๕๔๙ จนถึงพิมพ์ครั้งที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๗ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศฯ คณะ ๗ ดังนี้

ทศชาติ เป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญบารมี เพื่อบรรลุพระโพธิญาณ และเป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่ชาวโลก ไม่เฉพาะแต่คนไทยรู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง บรรพบุรุษไทยในอดีต ได้นำทศชาติมาเขียนเป็นจิตกรรมฝาผนังพระอุโบสถตามวัดต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานได้ศึกษาเส้นทางชีวิตมหาบุรุษ ผู้ที่จะเกิดมาเป็นพระศาสดาเอกของโลก

หลายปีมาแล้ว ผู้เขียนชอบเข้าไปนั่งในพระอุโบสถ ดูภาพจิตกรรมฝาผนัง วันแล้ววันเล่าไม่รู้จักอิ่ม ความงดงามของภาพจิตรกรรม ดึงผู้เขียนให้จมลึกลงไปสู่เหตุการณ์และเรื่องราว ที่เกิดขึ้นในอดีตตามภาพจิตรกรรม ทั้งงดงามและอิ่มเอิบ

ค่ำคืนวันหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้ปรารภถึงเรื่องอยากให้มีหนังสือทศชาติที่อ่านง่าย และเหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน พร้อมกับส่งหนังสือให้เล่มหนึ่ง วันเวลาล่วงเลยมาจนถึงจนถึงต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ผู้เขียนเริ่มเปิดพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกอ่าน แล้วผู้เขียนก็จมหายไปกับเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า

บางเรื่องราวดูงดงาม บางเรื่องราวดูเหงาเศร้า แต่ทั้งหมดก็เต็มไปด้วยพลังแห่งความเพียรพยายามของมหาบุรุษเอกของโลก พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์โดยเลือดเนื้อและชีวิตอย่างมนุษย์ทั่วไป แต่ทรงสูงส่งยิ่งด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ เหนือมนุษย์และเทวดาทุกผู้ทุกนาม

ผู้เขียนพยายามเก็บความจากพระไตรปิฎก และอรรถกถาให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วนำมาจัดเรียงหัวข้อใหม่ เพื่อให้น่าสนใจและชวนติดตามมากขึ้น โดยได้เชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลไว้ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้นำแผนที่แสดงที่ตั้งเมืองต่างๆ ในชมพูทวีปและสุวรรณภูมิสมัยโบราณมาประกอบไว้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น บางเมืองในชาดกยังมีชื่อปรากฏอยู่ในสมัยพุทธกาล บางเมืองได้เปลี่ยนชื่อไปหลายชื่อ แต่บางเมืองก็ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา บางเรื่องบางเหตุการณ์ในทศชาติ อาจดูเป็นเรื่องเกินจริงสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง

แต่หากพิจารณาให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าว มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับชีวิตมนุษย์ได้เสมอ.

ญาณวชิระ ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙

พุทธศักราช ๒๕๖๕

สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด และบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕

และในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา เวลา ๑๕.๐๐ น. เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานจากศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ โดยมี พลตำรวจโท เผ่าไทย ทองธิว กรรมการบริหาร บริษัท เมืองโบราณ จำกัด คุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวด้วย โดยทางบริษัท เมืองโบราณ เป็นเจ้าภาพในการพิมพ์แจกเป็นธรรมทานแก่ประชาชน ๑๐,๐๐๐ เล่ม

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ รัฐบาลได้ดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดทำโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ

โดยการจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ซึ่งพระเถระวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ๕ รูป ประกอบด้วย พระธงชัย สุขญาโณ (อดีตพระพรหมสิทธิ) พระมหาสังคม ญาณวฑฺฒโน (อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์) พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) พระมหาบุญทวี ปญฺญาวํโส (อดีตพระศรีคุณาภรณ์) และ พระมหาสมจิตร จิตฺตธมฺโม (พระครูสิริวิหารการ) ในการนี้ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการพิมพ์ รวมทั้งจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) และหนังสือ เสียง (Audiobook) อีกทั้งได้มีการกระจายเสียงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยไปแล้วเป็นลำดับ จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม กล่าวต่อมาอีกว่า นับเป็นหนังสือที่ชาวพุทธต้องได้อ่านเพราะจะทำให้ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นและปณิธานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นรากฐานของความเพียรพยายามที่จะมอบให้มนุษย์ได้มองเห็นแก่นธรรมของชีวิต อย่างถ่องแท้ สามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน ในสังคม หรือความสุขสงบในจิตใจตามวิถีพุทธ อันจะก่อให้เกิดสังคมที่เป็นสุขและประเทศชาติร่มเย็น เช่น ธรรมของความเพียร ความอดทนต่อทุกข์ ความกตัญญูกตเวที ความวิริยะอุตสาหะ ความเสียสละ ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่ประชาชนควรยึดถือปฏิบัติด้วย เพื่อประโยชน์ใน ๓ ส่วน คือ ตนเอง สังคม และประเทศชาติบ้านเมือง 

๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕

มอบหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ

ให้แก่คณะรัฐมนตรี

ต่อมา ในวันอังคารที่ ๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๐ น. ได้มีการมอบหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ให้แก่คณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้การสนับสนุนการจัดทำหนังสือด้วยดี มาตั้งแต่ต้น จึงเห็นสมควรจัดแสดงความเป็นมาของหนังสือทศชาติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเทิดพระเกียรติ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล แด่ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระองค์นั้น อย่างสูงสุด ด้วยระลึกถึงการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการของพระองค์ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่บรรดาอาณาประชาราษฎร์ผู้อาศัยภายใต้ร่มพระบารมีอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย ประดุจดังการบำเพ็ญ พระบารมีของพระมหาโพธิสัตว์หลายพระชาติสุดที่จะคณานับด้วยปณิธานอันแน่วแน่เพื่อจะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกตราบจนปัจจุบัน

เพื่อมอบให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบว่า หนังสือทศชาตินี้ ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศได้ให้ความสนใจและลงทะเบียน ขอรับหนังสือโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งได้ลงทะเบียนขอรับหนังสือเต็มจำนวนที่กำหนดอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา ๑ วัน เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ซึ่งได้ปิดรับการลงทะเบียนไปแล้ว แต่ทั่วโลกยังสามารถดาวน์โหลดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) และหนังสือเสียง (Audiobook) ได้ตลอดเวลา

ด้วยเหตุที่หนังสือทศชาติฉบับนี้ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสมหามงคลยิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ซึ่งเป็นโอกาสมหามงคลที่หาได้ยากยิ่ง อีกทั้ง หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระนี้ เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่านับเป็นวรรณคดีที่สำคัญของชาติที่ทุกคนควรจะได้อ่าน ควรมีไว้ประจำบ้าน อีกทั้ง ยังประกอบด้วยหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงด้วยภาษาหนังสือ ที่เรียบง่าย

ซึ่งการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกำลังอยู่ในระหว่างการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบ ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อนำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม ตามวัน เวลา ที่จะทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไป

ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับแต่หนังสือได้จัดพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มเรียบร้อยแล้วและได้มอบให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อนำไปถวายแด่คณะกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป ตลอดจนวัดภายในประเทศทั่วทุกภูมิภาคได้นำหลักธรรมจากหนังสือทศชาติไปร่วมจัด กิจกรรมเทิดพระเกียรติ ฯ รวมทั้ง วัดไทยในต่างประเทศทั่วโลก เช่น วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ วัดพุทธารามลีดส์ ประเทศอังกฤษ วัดธรรมปทีป ประเทศสกอตแลนด์ และวัดพุทธาราม ประเทศเกาหลี เป็นต้น

ด้วยทศชาติ ฉบับ ญาณวชิระนี้ มีต้นกำเนิดจากการที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ตั้งใจอยากจะให้มีหนังสือทศชาติที่อ่านง่าย เข้าถึงประชาชนทุกวัย นับแต่ปี ๒๕๔๙ ที่พระอาจารย์ ญาณวชิระ ได้เขียนขึ้นและมีการตีพิมพ์ถึงแปดครั้งเป็นธรรมทาน จนปัจจุบันในปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ ถือเป็นปีมหามงคลยิ่ง ที่ทศชาติ ฉบับ ญาณวชิระได้เรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยพระเถระ ๕ รูป แห่งวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕

บันทึกการเดินทาง… “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ตอนที่ ๕ ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ปฐมเหตุแห่งการเขียน ต้นทางแห่งการก่อเกิดอักษรธรรม

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here