ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ขอน้อมถวาย

ผลงานนี้ไว้ในพระพุทธศาสนา

เพื่อเป็นพุทธบูชา

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา
พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง พุทโธ ปะกิคัณหาตุ อัจจะยันตัง กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ฯ

หากจะมีกรรมอันน่าติเตียนใด ที่ข้าพเจ้าได้ทำผิดพลาดไว้ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงยกโทษล่วงเกินนั้น เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีความสำรวมระวัง ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลต่อไปฯ

ญาณวชิระ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

การบำเพ็ญบารมีสิบชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

โดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

คำนำผู้เขียน

ทศชาติ เป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญบารมี เพื่อบรรลุพระโพธิญาณ และเป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่ชาวโลก ไม่เฉพาะแต่คนไทยรู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง บรรพบุรุษไทยในอดีต ได้นำทศชาติมาเขียนเป็นจิตกรรมฝาผนังพระอุโบสถตามวัดต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานได้ศึกษาเส้นทางชีวิตมหาบุรุษ ผู้ที่จะเกิดมาเป็นพระศาสดาเอกของโลกหลายปีมาแล้ว ผู้เขียนชอบเข้าไปนั่งในพระอุโบสถ ดูภาพจิตกรรมฝาผนัง วันแล้ววันเล่าไม่รู้จักอิ่ม ความงดงามของภาพจิตรกรรม ดึงผู้เขียนให้จมลึกลงไปสู่เหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตตามภาพจิตรกรรม ทั้งงดงามและอิ่มเอิบ

ค่ำคืนวันหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้ปรารภถึงเรื่องอยากให้มีหนังสือทศชาติที่อ่านง่าย และเหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน พร้อมกับส่งหนังสือให้เล่มหนึ่ง วันเวลาล่วงเลยมาจนถึงจนถึงต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ผู้เขียนเริ่มเปิดพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกอ่าน แล้วผู้เขียนก็จมหายไปกับเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าบางเรื่องราวดูเจ็บปวดหนักหน่วงในชีวิตมนุษย์ จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีชีวิตเช่นนี้อยู่จริงบนโลก

บางเรื่องราวดูงดงาม บางเรื่องราวดูเหงาเศร้า แต่ทั้งหมดก็เต็มไปด้วยพลังแห่งความเพียรพยายามของมหาบุรุษเอกของโลก พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์โดยเลือดเนื้อและชีวิตอย่างมนุษย์ทั่วไป แต่ทรงสูงส่งยิ่งด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ เหนือมนุษย์และเทวดาทุกผู้ทุกนาม ผู้เขียนพยายามเก็บความจากพระไตรปิฎก และอรรถกถาให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วนำมาจัดเรียงหัวข้อใหม่ เพื่อให้น่าสนใจและชวนติดตามมากขึ้น โดยได้เชื่อมโยมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลไว้ด้วย

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

นอกจากนั้น ยังได้นำแผนที่แสดงที่ตั้งเมืองต่างๆ ในชมพูทวีปและสุวรรณภูมิสมัยโบราณมาประกอบไว้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น บางเมืองในชาดกยังมีชื่อปรากฏอยู่ในสมัยพุทธกาล บางเมืองได้เปลี่ยนชื่อไปหลายชื่อ แต่บางเมืองก็ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา บางเรื่องบางเหตุการณ์ในทศชาติ อาจดูเป็นเรื่องเกินจริงสำหรับชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง แต่หากพิจารณาให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าว มีโอกาสเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ได้เสมอ.

ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๑) พระเตมีย์ : เนกขัมมบารมี (ตอนที่ ๔) “ประกาศคาถาว่าด้วยน้ำใจมิตร” โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ประกาศคาถาว่าด้วยน้ำใจมิตร

พระโพธิสัตว์ดำริว่า จะต้องทำให้นายสารถีเชื่อให้ได้ว่า พระองค์ คือ เตมีย์กุมาร พระโอรสของพระเจ้ากาสิกราช จึงประกาศคาถาว่าด้วยน้ำใจมิตรดังกึกก้องไปทั่วราวป่าแห่งนั้นว่า

“ผู้ใดมิได้เนรคุณมิตร ชนเป็นอันมากก็ได้พึ่งพาอาศัยเขาเลี้ยงชีพ เขาจากเรือนไปที่ไหนๆ ย่อมอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร ผู้ใดมิได้เนรคุณมิตร เขาไปสู่ชนบท หมู่บ้าน หรือราชธานีใดๆ จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติคุณ ได้รับการนับถือจากหมู่ชนเป็นอันมากในที่นั้นๆ โจรทั้งหลายไม่อาจข่มเหงเขาผู้นั้นได้ กษัตริย์ก็มิอาจดูหมิ่น เขาผู้นั้นย่อมข้ามพ้นข้าศึกศัตรูทั้งปวงได้

ผู้ใดมิได้เนรคุณมิตร เมื่อเขาผู้นั้นกลับมาเรือนของตน ก็มิได้กลับมาด้วยความรู้สึกโกรธเคืองใครๆ จะเป็นผู้โดดเด่น เป็นที่ชื่นชมยินดี ได้รับคำยกย่องสรรเสริญอย่างมากมาย ท่ามกลางหมู่ญาติ เขาผู้นั้นย่อมให้ความเคารพนอบน้อม ยกย่องประกาศเกียรติคุณคนอื่น และคนอื่นก็จะให้ความเคารพนอบน้อม ยกย่องประกาศเกียรติคุณเขาเช่นกัน

ผู้ใดมิได้เนรคุณมิตร เขาผู้นั้นบูชาคนอื่นย่อมได้รับการบูชาตอบ ไหว้ผู้อื่นย่อมได้รับการไหว้ตอบ และย่อมเข้าถึงความเป็นผู้เจริญด้วย เกียรติยศ ชื่อเสียง มีสิริ เจริญรุ่งเรืองดุจกองเพลิง ย่อมรุ่งเรืองไพโรจน์ยิ่งดุจเทวดาผู้มีเดชานุภาพ โคทั้งหลายของบุคคลผู้นั้น จะเกิดเพิ่มจำนวนมากขึ้น พืชธัญญาหารที่หว่านไว้ในนาย่อมเจริญงอกงาม จะได้ประโยชน์จากพืชผลที่หว่านไว้

แม้ประสบอุบัติเหตุพลัดตกจากภูเขา ต้นไม้ หรืออันตรายโดยประการใด จะได้ที่พึ่งอาศัยไม่เป็นอันตราย

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

“ผู้ใดไม่ประทุษร้ายเหล่ามิตร เหล่าศัตรูย่อมย่ำยีเขาผู้นั้นไม่ได้ ดุจต้นไทรที่หยั่งรากไปทั่ว ย่อมเจริญงอกงามแผ่กิ่งก้านใบดกหนา พายุไม่อาจพัดให้หักโค่นล้มได้”

แม้พระโพธิสัตว์จะตรัสถึงเพียงนี้ นายสารถีก็ยังจำำพระองค์ไม่ได้ คิดสงสัยว่าคนนี้เป็นใครกันแน่ แล้วลุกขึ้นเดินไปที่รถ ไม่เห็นพระโอรสและห่อเครื่องประดับ จึงกลับมามองดูอีกครั้งก็จำพระองค์ได้ จึงทรุดหมอบลงแทบพระบาทประนมมือทูลวิงวอนว่า “เชิญเสด็จเถิดพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะนำพระองค์คืนสู่พระนคร ขอพระองค์จงครองราชสมบัติ ขอพระองค์จงมีพระชนม์ยิ่งยืนนาน”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

“เราไม่ต้องการราชสมบัติหรอกนายสารถี แต่เราต้องการปฏิบัติธรรม”

นายสุนันทสารถีกราบทูลว่า “เมื่อพระองค์เสด็จกลับจากป่าแห่งนี้ พระชนกและพระชนนีจะพระราชทานรางวัลมากมายแก่ข้าพระองค์ เหล่าสนม กุมาร พ่อค้า และพราหมณ์ทั้งหลายจะยินดีให้รางวัลข้าพระองค์ เหล่ากองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพลราบทั้งหมดก็จะยินดีให้รางวัลแก่ข้าพระองค์ แม้แต่ชาวชนบท ชาวหมู่บ้าน ผู้มีธัญญาหารมากก็จะชุนนุมกันให้เครื่องบรรณาการข้าพระองค์ ขอพระองค์เชิญกลับคืนสู่พระนครเถิด พระเจ้าข้า”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “พระชนกและพระชนนีสละเราแล้ว กุมารทั้งปวง และชาวพระนคร ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ต่างก็สละเราแล้วเช่นกัน เราไม่มีเหย้าเรือน แม้พระชนกพระชนนีทั้งสองก็ทรงอนุญาต

“เราจะบวชอยู่ในป่าคนเดียว ไม่ปรารถนากามคุณทั้งหลาย”

เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสคุณธรรมของพระองค์เช่นนี้ พลันปีติก็เกิดขึ้นท่วมท้นจิตใจ จึงทรงเปล่งอุทานด้วยกำลังแห่งปีติว่า

ความหวังผลของผู้ไม่รีบร้อนบำเพ็ญเพียร ย่อมสำเร็จผลในวันหนึ่งอย่างแน่นอน นายสารถี เพื่อนเอ๋ย ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า เราออกบวชประพฤติพรหมจรรย์เรียบร้อยแล้ว ภัยในนรกจะมีแต่ที่ไหน”

นายสารถีคิดว่า หากทำให้พระองค์สงสาร อย่างไรเสีย พระราชกุมารก็จะต้องเสด็จกลับ จึงกราบทูลว่า “พระองค์มีวาจาไพเราะอ่อนโยนเช่นนี้ เหตุไรจึงไม่ตรัสในพระราชสำนักของพระชนก พระชนนีเล่า “

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “เราเป็นคนง่อยเปลี้ย เพราะไม่มีเส้นเอ็นยึดโยงร่างกายก็หาไม่ เราเป็นคนหูหนวกเพราะไม่มีช่องหูก็หาไม่ เราเป็นใบ้เพราะไม่มีลิ้นก็หาไม่ แต่เราระลึกชาติได้ว่าเคยได้เกิดเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติในมหาเศวตฉัตรนั้นเป็นเวลา ๒๐ ปี กลับไปเกิดในนรกหมกไหม้นานถึง ๘๐,๐๐๐ ปี

เรากลัวการครองราชสมบัติ จึงอธิษฐานใจว่า ขอชนทั้งหลายอย่าได้อภิเษกเราในราชสมบัติเลย เราจึงไม่พูดในราชสำนักพระชนกและพระชนนี

ในเวลานั้น พระชนกทรงอุ้มเราให้นั่งบนตัก แล้วตรัสสั่งว่า “จงฆ่าโจรคนหนึ่ง จงจองจำโจรคนหนึ่ง จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่ง แล้วเอาน้ำแสบราดแผล จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว”

เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคายที่พระชนกตรัสสั่งเจ้าหน้าที่อย่างนี้ จึงกลัวการครองราชสมบัติ

เราไม่เป็นใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นใบ้ ไม่เป็นง่อยเปลี้ย ก็ทำให้คนเข้าใจว่าง่อยเปลี้ย แกล้งนอนเกลือกกลิ้งอยู่ในอุจจาระปัสสาวะของตน

“นายสารถี เพื่อนเอ๋ย ชีวิตมนุษย์เรานี้ลำบากยิ่งนัก เป็นของน้อย ทั้งเต็มไปด้วยทุกข์ ใครเล่าจะอาศัยชีวิตซึ่งน้อยนิดนี้สร้างเวรกรรมเพราะไม่มีปัญญา เพราะไม่เข้าใจในธรรม ”

พระโพธิสัตว์ตรัสอุทานซ้ำอีก เพื่อประกาศเจตนารมณ์อันแรงกล้าในการตัดสินใจที่จะไม่เสด็จกลับคืนพระนครว่า “ความหวังผลของผู้ไม่รีบร้อนบำเพ็ญเพียร ย่อมสำเร็จผลในวันหนึ่งอย่างแน่นอน นายสารถี ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า เราออกบวชประพฤติพรหมจรรย์เรียบร้อยแล้ว ภัยในนรกจะมีแต่ที่ไหนเล่า”

สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า

พระราชกุมารมีราชสมบัติมหาศาลเช่นนี้ ยังทิ้งเข้าป่าบวชอย่างไม่ไยดี เหมือนทิ้งซากศพเสียอย่างนี้ แล้วเราจะต้องการอะไรกับชีวิตอันไม่สมประกอบของเรานี้ เราจะบวชกับพระองค์

จึงกราบทูลว่า “แม้ข้าพระองค์ก็จะบวชกับพระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด”

พระโพธิสัตว์ดำริว่า “หากเราอนุญาตให้นายสารถีบวชในเวลานี้ พระชนกและพระชนนีของเราก็จะไม่เสด็จมาที่นี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเสื่อมจะมีแก่พระองค์ทั้งสอง ม้า รถ และเครื่องประดับเหล่านี้ก็จะสูญหายไป จะเกิดข้อครหาแก่เราว่า นายสารถีนั้นไม่กลับมา คงจะถูกพระราชกุมารซึ่งเป็นยักษ์จับกินเสียแล้ว”

ทรงพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อมิให้เกิดข้อครหา และพิจารณาถึงความเจริญแก่พระชนกและพระชนนีทั้งสอง จึงเปลื้องเครื่องประดับมอบให้นายสารถี พร้อมกับสั่งว่า “ท่านจงนำรถไปคืนราชสำนัก ปลดเปลื้องตนจากหนี้ก่อน ผู้ไม่มีหนี้เท่านั้นจึงจะบวชได้”

นายสารถีได้ฟังดังนั้น เกิดความกังวลใจว่า เมื่อเรากลับไปพระนครแล้ว ถ้าพระกุมารเสด็จไปที่อื่น พระราชบิดาเสด็จมาไม่พบจะลงราชทัณฑ์เรา เพราะฉะนั้น เราจะขอคำยืนยันให้แน่ใจก่อน จึงกล่าวว่า “เมื่อข้าพระองค์ทำตามพระดำรัสแล้ว แม้พระองค์ก็ควรจะทรงทำตามคำที่ข้าพระองค์ทูลขอ ขอพระองค์จงประทับรออยู่ที่นี้จนกว่าข้าพระองค์จะนำพระราชาเสด็จมา พระราชบิดาทอดพระเนตรเห็นพระองค์แล้ว คงจะปีติโสมนัสอย่างยิ่งเป็นแน่”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “นายสารถี เราจะทำตามคำร้องขอของท่าน แม้ตัวเราเองก็อยากเห็นพระชนก พระชนนี และพระประยูรญาติทั้งหลายของเราเสด็จมาในที่นี้ จงกลับไปเถิดนายสารถีเพื่อนรัก จงกราบทูลพระชนกชนนีตามที่เราสั่ง”

ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็น้อมพระองค์หันหน้าไปยังกรุงพาราณสี ถวายบังคมพระชนกชนนีจากที่ไกล ด้วยความเคารพรักอย่างเต็มเปี่ยม นายสารถีทำประทักษิณพระกุมาร กราบลงแทบพระยุคลบาท ลิงโลดใจเหลือประมาณ ขึ้นรถขับบ่ายหน้าตรงไปยังกรุงพาราณสี

ในขณะนั้น พระนางจันทาเทวีเปิดหน้าต่างรอคอยการกลับมาของนายสารถี ด้วยต้องการจะทราบความเป็นไปของลูกว่าเป็นอย่างไร พอทอดพระเนตรเห็นนายสารถีกลับมาเพียงคนเดียว พระหฤทัยแทบแตกสลาย ทรงร้องไห้ฟูมฟายว่า

“นายสารถีฝังลูกเราเสียแล้ว เพราะนายสารถีกลับมา ปัจจามิตรทั้งหลายจะเย้ยหยันยินดี ศัตรูทั้งหลายจะกระหยิ่มใจ เพราะสามารถฝังลูกเราได้แล้ว”

ทรงกันแสงโศกเศร้า ตรัสถามนายสารถีด้วยพระอัสสุชลนองพระเนตรว่า

“ลูกเราเป็นง่อยใบ้หรือตรัสอะไรกับเธอบ้าง เขาขยับมือขยับเท้าบ้างไหม เขาร้องขอชีวิตหรือเปล่าขณะถูกฝัง”

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

นายสุนันทสารถีเห็นพระเทวีร้องไห้แทบขาดใจก็สงสารอย่างจับใจ แต่ไม่กล้ากราบทูลเรื่องทั้งหมด เพราะคิดว่า ถ้ากราบทูลว่าพระโอรสไม่ได้เป็นใบ้ ไม่ได้ง่อยเปลี้ย ไม่ได้หูหนวก มีพระดำรัสไพเราะเสนาะกล่าวธรรมได้อย่างจับใจ พระราชาจะกริ้วว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุใดจึงไม่พาพระกุมารกลับมา แล้วสั่งลงพระราชอาญาโดยที่ยังไม่ได้รับฟังรายละเอียด ควรขอพระราชทานอภัยก่อน จึงกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้าโปรดประทานอภัยแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอกราบทูลตามที่ได้ฟังได้เห็นในสำนักพระราชโอรส”

พระนางจันทาเทวีตรัสว่า “นายสารถี เธออย่ากลัวเลย จงบอกตามที่ท่านได้ฟัง ได้เห็นมาว่าลูกของเราเป็นอย่างไร”

นายสารถีกราบทูลว่า “พระโอรสไม่ได้เป็นใบ้ ไม่ได้ง่อยเปลี้ย พระองค์มีวาจาไพเราะ ทรงกลัวที่จะได้ครองราชสมบัติ จึงคิดหาวิธีลวง พระองค์ทรงระลึกชาติได้ว่า เคยเป็นพระราชาครองราชสมบัติในชาติก่อนเป็นเวลา ๒๐ ปี แล้วต้องไปตกนรกหมกไหม้อยู่ถึง ๘๐,๐๐๐ ปี เพราะกลัวจะต้องครองราชสมบัติอีกครั้ง จึงทรงอธิษฐานว่า ขอขนทั้งหลายอย่าได้อภิเษกเราในราชสมบัติเลย พระองค์จึงไม่ตรัสในพระราชสำนักพระชนกและพระชนนี

พระโอรสทรงมีอวัยวะครบทั้ง ๓๒ ประการ มีพระรูปงดงามสมส่วน มีพระวาจาไพเราะอ่อนโยน ฉลาดหลักแหลม

“ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์จะพบพระโอรส ก็ขอเชิญเสด็จเถิดพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะนำเสด็จไปยังที่พระโอรสประทับอยู่”

(โปรดติดตาม ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ชาติที่ ๑ พระเตมีย์ : เนกขัมมบารมี ตอนต่อไป “สู่ทางโพธิญาณ”)…

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here