วันนี้วันพระ
วันจันทร์ที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙
เรียนรู้วิถีชีวิตฮีตคลอง วันบุญข้าวประดับดิน ที่ยึดโยงอยู่กับพระพุทธศาสนา ทั้งหลักคำสอนและความเชื่อท้องถิ่นได้เชื่อมประสานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากปฐมเหตุในสเมัยพุทธกาลที่พระเจ้าพิมพิสารทำบุญแล้วไม่ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้อง ตกกลางคืน พวกเปรตซึ่งเป็นญาติในชาติก่อนของพระองค์ รอรับส่วนกุศลที่หวังว่าจะได้รับส่วนกุศลจากพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อไม่ได้ก็ผิดหวัง จึงมาปรากฏตัว… ด้วยเหตุนี้จึงเกิดธรรมเนียมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล เกิดฮีตคลองของชาวบ้าน และเป็นที่มาของการทำบุญข้าวประดับดินเพื่ออุทิศให้กับญาติที่ตายไปนี้ด้วยแก่ญาติผู้ล่วงลับ
เรื่องของฮีตคลอง
วิถีชีวิตชาวบ้านปากน้ำดำเนินไปในวิถีแห่งฮีตคลองเหมือนวิถีชีวิตของชาวบ้านทั่วไป แม่ก็เช่นเดียวกัน เมื่อวันทำบุญข้าวประดับดินตามฮีตคลองเดือนเก้ามาถึง แม่ก็มักจะกุลีกุจอขะมักเขม้นทำโน่นทำนี่ทั้งวัน เพื่อตระเตรียมสิ่งของทำห่อข้าวน้อย นอกจากจะเตรียมไว้ใช้เองแล้วแม่ยังเตรียมเผื่อส่งไปให้ลุงดิษฐ์พี่ชายของแม่อีกด้วย
“พ่อใหญ่แม่ใหญ่ทางบ้านนาคำจักแม่นนามสกุลหยังแม่กะจื่อบ่ได้ เอาปูเอาปลาไปส่งลุงดิษฐ์อยู่บ้านหนองทามให้เพิ่นใส่ห่อข้าวน้อย กะได้ถามลุงดิษฐ์อยู่ว่า แต่กี้พ่อใหญ่แม่ใหญ่ทางบ้านนาคำขึ้นนามสกุลหยัง ลุงดิษฐ์เพิ่นพอจื่อได้อยู่ แต่ว่าแม่บ่จื่อ เพิ่นว่านามสกุลนี้เขากะฮู้จักเบิดบ้านนาคำนั่นล่ะ ถามแม่ป้าจันทร์เพิ่นกะจื่อบ่ได้คือกัน ตอนแม่เกิดมาแม่ใหญ่เพิ่นกะมาขึ้นวงศ์หอมนำพ่อใหญ่เล็ดแล้ว”
แม่เอาข้าวของสำหรับใส่ห่อข้าวน้อยไปให้ลุงดิษฐ์ที่บ้านหนองทาม ถือโอกาสถามนามสกุลดั้งเดิมของยาย ซึ่งเป็นคนมาจากบ้านนาคำ ลุงดิษฐ์บอกแต่แม่จำไม่ได้ แม่บอกว่า เมื่อก่อนเคยมีนาอยู่ทางเข้าบ้านนาคำ เป็นที่ของยาย หลังยายตายพ่อใหญ่เล็ดจึงขายมาซื้อใหม่อยู่ฟากฮ่อง ทางดงบะเฮน
ตอนยายตายน้องเพิ่งเกิดยังแบเบาะ (น้าบุญมี วงศ์หอม) ยังไม่หย่านม เวลาน้องร้องไห้หิวนม ต้องอุ้มน้องไปขอกินนมจากแม่ใหญ่ทองกิ้นจากคนนั้นคนนี้ นานเข้าเขาก็ไม่ให้กิน เพราะลูกเขาร้องไม่ยอมให้แย่งนมกิน แม่ใหญ่แหวนบ้านนาคำ แม่มหาลำแพน ก็เป็นเพื่อนกับแม่ อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ตอนน้าสาวบุญ น้องแม่ใหญ่ยังอยู่ ก็ยัังได้ไปมาหาสู่อยู่บ้าง แต่พอน้าสาวบุญตาย ตอนนี้ที่บ้านนาคำก็ไม่เหลือใครแล้ว
“มื้อคืนไอ้แพรวไปส่งข้าวพ่อใหญ่แม่ใหญ่ สั่งความไปว่า บ่อนธาตุพ่อใหญ่กับแม่ใหญ่ให้เอาเทียนไปไต้นำ บ่อนพ่อใหญ่กะต่างหาก บ่อนแม่ใหญ่กะต่างหาก ธาตุเพิ่นอยู่คนละม้อง พวกคุ้มบ้านน้อย เขาพากันย่างไปเป็นหมู่กัน พวกขี่รถไปหยื่งหย่าง ๆ กะมี แต่พวกหมู่นี้เขาชวนกันย่างไป”
“พ่อของพ่อใหญ่เล็ด เพิ่นซื่อว่า “พ่อใหญ่เซียงพรหมา” ส่วนแม่ของพ่อใหญ่เล็ดนั่น ซื่อว่า “แม่ใหญ่ทองสูง” กะเอิ้นเอาเบิ่ดนั่นล่ะ”
“มื้อวานไปเพลเฮ็ดบุญข้าวประดับดินนำเพิ่น นั่งดนแน่กะเจ็บหลังเข้า ใจสิหลูดสิขาด พลิกไปอีกทางหนึ่งกะจังเข้า คันย่างไปแน่มันกะเจ็บกะปวด”
แม่บ่นเรื่องเจ็บหลังแต่ก็อยากไปทำบุญข้าวประดับดิน
“ยายหนูกะจักเป็นหยังจังหลังโก่งลง นั่งอยู่กะหลังโก่งโล่งโค้ง เฮ็ดโก่งโก๊ะ โก่งโก๊ะอยู่”
พ่อเพิ่งกลับจากเกี่ยวหญ้าให้วัว พูดแทรกขึ้นมา
“เจ้าของมันกะเจ็บขาเจ็บแข่งคือกัน ลางเถื่อกะเจ็บ ลางเถื่อกะเซา บ่เฮ็ดบ่ไปมันกะอยากเฮ็ด มื้อก่อนลงไปนาหัวบุ่ง เกี่ยวหญ้าให้งัวนำ ดกหญ้า*ออกจากนานำ ไปเห็นนำไฮ่นำนาฮกเฮื้อกะถากกะฟันออก ของมันอดบ่ได้ ไฮ่นาคันบ่พิถีพิถันแน่ มันกะบ่ได้ข้าวได้น้ำนำเขา เห็นเขาได้กะอยากได้นำเขานั่นตี้ บางมื้อคันมันบ่เมื่อย ย่างหลบหน้าหลบหลังอยู่เบิดมื้อ มันกะบ่เมื่อย” (*ดกหญ้า คือ ถอนหญ้า)
“แนมเบิ่งหายใจ เห็นแต่กระดูกส้วงยวบยาบ ๆ แล้วกะยังบืนไปเฮ็ดไปทำอยู่ เฒ่าแล้วจักสิทะเยอทะยานไปเฮ็ดหยัง พอเซากะเซา”
แม่พูดตัดบท
“คนบ่ทันตายมันต้องทะเยอทะยาน หันใส่อันนั่นแน่อันนี่แน่ มันจังทันกินทันอยาก มานั่งถ้านั่งคอยกินมันบ่แม่นแนว คันตายแล้วกะแล้วไป กะมาถ้าห่อข้าวห่อน้ำเขาส่งไปให้จังซี้ตี้”
พ่อต่อปากไม่ลดละ
“เจ้าของมันบ่เคยทุกข์เงิน มันมาทุกข์ตอนเฒ่ามานี่ล่ะ ขอเงินไปซื้องัวกะเว้าบ่แล้วบ่เลิก แต่กี้อยากซื้องัวซื้อควายท่อใด๋กะซื้อ มาอึดเงินตอนเฒ่าย้อนเป็นนำพยาธิ แต่กี้ถือเงินเป็นแสน หาเลาะถามซื้องัวซื้อควายนำบ้านนั่นบ้านนี่ อย่างขี้หล่ายกะเจ็ดหมื่นแปดหมื่น โขงคิค่ายนี้* พ่อเลาะไปมาเบิด” (*โขงคิค่าย คือ แถบนี้ ย่านนี้ หรือ บริเวณนี้)
พ่อคุยอวดต่อ
“เฒ่ามาแล้ว จักแม่นเป็นคนแนวใด๋ แต่กี้คือจังบ่เป็นจังซี้ ว่าให้
เอาเงินในถงในไถ่เจ้า มาเพาะมาโมนำกันกับข้อยแน่ กะบ่หัวสา สะผัดว่า “ไผเฮ็ดกะคือกัน เจ้าเฮ็ดแหล่วกะแล้วตั๊ว ปูปลานาน้ำกะหามาให้แล้ว” ข้อยเฮ็ดมันแล้วข้อยอยู่ แต่มันบ่แล้วเจ้า ข้อยเฮ็ด ข้อยกะได้ของข้อย มันบ่ได้เจ้า เอามาเพาะมาโมนำกัน ให้เพิ่นเขียนซื่อซักอนิจจาหาพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ พอให้พ่อให้แม่เจ้าทางนั้น เพิ่นได้ว่า “อันนี้มันส่วนของลูกกูตั๊วนี่” กะเสย ๆ เลย ๆ อยู่ โลดสิบ่อยากกินอยากทานนำเพิ่นอิหยังจักอย่าง ลูกอยากบวช กะบ่ให้บวช วัดบ่เข้า พระเจ้าบ่นบ แต่งปิ่นโตให้ไปจังหันจังเพลนำพวกผู้เฒ่า กะบ่ไปนำหมู่นำพวก คันตายไป ยมพบาลถามว่า เจ้าเฮ็ดบุญหยังมาแน่ กะสิตอบบ่ได้นำเขา จังแม่นคือพ่อใหญ่โทนพ่อเจ้าน้อ” แม่แขวะพ่อ
“บุญข้าวประดับดิน แฮมสิบสี่ค่ำเดือนเก้า เฮ็ดแนวกินแนวอยากใส่ห่อข้าวน้อยให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่ ส่วนบุญข้าวสาก แม่นเดือนสิบเพ็ง ถัดไปอีกเดือนสิบเฮ็ด จังออกพรรษา ก่อนออกพรรษากะมีสังฆทานวัดบ้าน วัดป่า พ่อแม่เพิ่นพาเฮ็ดพาทำมาจังซั้น”
แม่เลิกต่อล้อต่อเถียงกับพ่อ หันมาพูดเรื่องบุญข้าวประดับดินและฮีตคลองต่อ
“ได้ของใส่ห่อข้าวน้อยให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่หลายอยู่ ได้เนื้อ ได้ปลาข้าวหนอกข้าวนม ของหวานของมัน บักส้มบักหวานมีเบิ่ดสู่อย่าง ปีที่แล้วบักฟ้าไป ปีนี้ไอ้แพรวไป”
แม่สาธยายของใส่ห่อข้าวน้อยปีนี้
บุญข้าวประดับดินนับเป็นการทำบุญตามฮีตคลองที่สำคัญของชาวบ้าน จะทำในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เพื่ออุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวบ้านเชื่อกันว่า ในวันดังกล่าวนรกเปิดให้ผู้ตายมาโลกมนุษย์ได้ในรอบหนึ่งปี ญาติพี่น้องที่ตายไปก็จะมาเดินอยู่ตามบ้านเรือนที่เคยอยู่อาศัย ตามเรือกสวนไร่นาที่เคยทำอยู่ทำกิน และตามวัดวาอารามเพื่อรอรับส่วนบุญที่ญาติจะกรวดน้ำอุทิศให้
ลูกหลานจะทำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ อย่างละเล็กอย่างละน้อย มาห่อด้วยใบตองทำเป็นห่อเล็ก ๆ ตามจำนวนญาติที่ตายไป นอกจากนั้นยังต้องทำเกินไว้เผื่อญาติที่อาจหลงลืม และทำเผื่อเปรตที่ไม่มีญาติด้วย แล้วนำไปยาย(วาง)ไว้ตามธาตุที่เก็บกระดูกปู่ ย่า ตา ยาย ตามบริเวณเจดีย์ โบสถ์ โคนต้นไม้ใหญ่ ตามพื้นดิน หรือตามทางแพร่งให้กับเปรตที่ไม่มีญาติ
บางทีชาวบ้านก็เรียกบุญข้าวประดับดินว่า “เอาบุญห่อข้าวน้อย” เพราะอาหารที่ใส่จะหยิบเอามาห่ออย่างละนิดอย่างละหน่อยรวมกันเป็นห่อข้าวน้อย ดูไปก็เหมือนการตระเตรียมข้าวปลาอาหารและของฝากอย่างพิเศษไว้ต้อนรับญาติจากทางไกล
ครั้นวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ มาถึงเข้า ลูกหลานแต่ละบ้านแต่ละเรือนจะจัดเตรียมข้าวปลาอาหารคาวหวาน และหมากพลู บุหรี่ไว้ทำห่อข้าวน้อยให้ญาติที่ตายไป
นอกจากจะตระเตรียมอาหารคาวหวานให้เพียงพอสำหรับทำห่อข้าวน้อยแล้ว ยังต้องทำเผื่อคนในครอบครัวได้กิน และเผื่อแผ่แจกจ่ายให้ญาติพี่น้องด้วย แต่ส่วนที่จะขาดไม่ได้คือต้องจัดเตรียมไว้สำหรับใส่บาตรทำบุญถวายพระสงฆ์ด้วย
ตามฮีตเก่าคลองหลัง เวลาทำห่อข้าวน้อย พ่อแม่มักจะให้ลูกหลานตัวเล็กตัวน้อยมาช่วยหยิบโน่นหยิบนี่ด้วย เป็นการฝึกให้ลูกหลานรู้ฮีตคลองไปในตัว จะว่าไปก็คือการสอนเรื่องความกตัญญูต่อบรรพชนนั่นเอง แต่สอนด้วยการให้ลูกหลานลงมือทำในวิถีแห่งฮีตคลอง ที่ดำเนินไปในวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ซึ่งปฏิบัติกันมาจนเป็นแบบแผน
บางทีขณะกำลังลงมือทำพ่อแม่ก็จะบอกลูกบอกหลานไปด้วยว่า “อันนี่พ่อปู่เลามัก อันนี่แม่ย่าเลามัก อันนี่พ่อใหญ่เลามัก อันนี่แม่ใหญ่เลามัก อันนี่อีพ่อเลามัก อันนี่อีแม่เลามัก”
ส่วนวิธีห่อข้าวน้อยจะห่อด้วยใบตอง จะใช้ฝ่ามือกะขนาดใบตองเท่าฝ่ามือโดยประมาณ สำหรับความยาวนั้นให้ยาวไปจนสุดซีกของใบตอง อาหารคาวหวานที่ใส่ในห่อนั้น จะจัดใส่ห่ออย่างละเล็กละน้อย ประกอบด้วย
ข้าวเหนียวนึ่งสุกปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ ๑ ก้อน
เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และอาหารอื่น ๆ ใส่ลงไปอย่างละเล็กน้อย ถือว่าเป็นอาหารคาว
กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ มันแกว อ้อย มะละกอสุก บักยาง บักผีผ่วน ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ผลไม้ตามพื้นที่ ข้าวต้มมัด ขนมหวานอื่น ๆ ใส่ลงไป ถือเป็นอาหารหวาน
หมากพลูหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน และเมี่ยงหนึ่งคำ
หลังจากนั้นก็เอาใบตองห่อรวมกันเข้าแล้วใช้ริ้วไม้ไผ่กลัดหัวท้ายและตรงกลางจะได้ห่อข้าวน้อย ที่มีลักษณะยาวๆ ตามซีกใบกล้วยหนึ่งห่อ (ทุกวันนี้มีมีดกรรไกรก็สะดวกขึ้น) จากนั้นก็เอาหมากพลูหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคำ สีเสียด แก่นคูน นำมาห่อใบตองเข้าด้วยกันแล้วไม้กลัดหัวท้าย ก็จะได้ห่อหมาก พลู อีกหนึ่งห่อ เสร็จแล้วก็นำห่อข้าวน้อยและห่อหมากพลูมาผูกรวมกันเป็นคู่ ๆ แล้วนำไปมัดรวมกันเป็นพวง ๑ พวง ๆ ละ ๙ ห่อ
ครั้นย่ำรุ่งย่างเข้าสู่วันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๙ เวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. ได้ยินเสียงกลองดึกตุ้มต้าม ตุมโมง ดังมาจากวัด ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนจะลุกขึ้นนำเอาห่อข้าวน้อยที่จัดเตรียมไว้ไปยาย(วาง)ไว้เป็นระยะ ๆ ตามธาตุที่ใส่กระดูกปู่ ย่า ตา ยาย และญาติที่ล่วงลับ ตามโคนต้นไม้ในวัด ตามพื้นดิน ตามริมกำแพงวัด ตามริมโบสถ์ ริมเจดีย์ และตามทางแพร่งสำหรับให้เปรตที่ไม่มีญาติ
หลังกลับจากการยาย(วาง)ห่อข้าวน้อยเสร็จ ก็จะกลับบ้านมาจัดเตรียมอาหารใส่บาตรและทำบุญในวันดังกล่าว
สำหรับความเป็นมาของการทำบุญข้าวประดับดินมีมูลเหตุมาจากเหตุการณ์ทางพระพุทธศาสนาตอนพระเจ้าพิมพิสารสร้างวัดแห่งแรกถวายพระพุทธเจ้า
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ฟังเทศนาจากพระพุทธเจ้าจนได้บรรลุธรรม ปราศจากความสงสัยในพระพุทธองค์แล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น นอกจากคำสอนของพระบรมศาสดา จึงกราบทูลว่า
“เมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร มีความปรารถนา ๕ ประการ คือ หนึ่ง ขอเราได้รับอภิเษกในราชสมบัติ สอง ขอพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาสู่แว่นแคว้นของเรา สาม ขอเราได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น สี่ ขอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แสดงธรรมแก่เรา และ ห้า ขอเรารู้ทั่วถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บัดนี้ ความปรารถนาของหม่อมฉัน สำเร็จแล้วทั้ง ๕ ประการ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งและไพเราะยิ่งนัก หม่อมฉันขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำหม่อมฉันไว้ว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่บัดนี้เป็นต้นไป” แล้วนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรงรับภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น
พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้จัดเตรียมภัตตาหารอย่างประณีต ครั้นรุ่งเช้า ได้ให้เจ้าพนักงาน ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ถึงเวลาแล้ว พระบรมศาสดา ทรงครองผ้า ถือบาตร เสด็จพุทธดำเนินสู่กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวนหนึ่งพันรูป ซึ่งเคยเป็นนักบวชชฎิลมาก่อน
ในกาลนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงแปลงเป็นมาณพ เสด็จดำเนินนำหน้าพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พลางร้องเพลงสดุดีพระบรมศาสดาโดยประการต่าง ๆ
ประชาชน ได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพแล้ว กล่าวกันว่า “พ่อหนุ่มนี้ เป็นใครกัน ช่างมีรูปงาม น่าชมนัก” ท้าวสักกะได้ตอบประชาชนว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด เป็นปราชญ์ ทรงฝึกอินทรีย์ทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ หาบุคคลเปรียบมิได้ พ้นแล้วจากกิเลส เสด็จไปดีแล้ว เป็นพระอรหันต์ในโลก ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น”
พระบรมศาสดาเสด็จพุทธดำเนินพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่จัดถวาย พระเจ้าพิมพิสารทรงปฏิบัติภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยพระองค์เอง
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว พระราชามีพระราชดำริว่า พระบรมศาสดา ควรประทับอยู่ในสถานที่ไม่ใกล้ไม่ไกลนัก การคมนาคมสะดวก ควรที่ประชาชนผู้ต้องประสงค์ จะเข้าไปเฝ้าได้ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ ตามสมณวิสัย
พระเจ้าพิมพิสาร ทรงพิจารณาว่า สวนเวฬุวัน สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ ตามสมณวิสัยทรงตัดสินพระทัยว่า เราควรถวายสวนเวฬุวัน แก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
พระราชาจึงตรัสสั่งให้จัดเตรียมสุวรรณภิงคาร ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก น้อมถวายวัดเวฬุวัน แด่พระพุทธเจ้า นับว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
หลังจากถวายวัดเวฬุวันแล้ว พระเจ้าพิมพิสารไม่ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับ ตกกลางคืน พวกเปรตซึ่งเป็นญาติในชาติก่อนของพระองค์ รอรับส่วนกุศลที่จะมีคนอุทิศให้มาหลาย ภพชาติ คาดหวังว่า จะได้รับส่วนกุศลจากพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อไม่ได้ก็ผิดหวัง จึงมาปรากฏตัว กรีดร้องโหยหวนขอส่วนกุศล
พระเจ้าพิมพิสารทรงสะดุ้งตื่นเพราะเสียงร้องโหยหวนของพวกเปรต ทรงหวาดหวั่นว่า จะมีภัยมาถึง จึงรีบไปเฝ้าพระพุทธองค์แต่เช้าตรู่ กราบทูลเล่าเรื่องให้ทรงทราบ
พระพุทธองค์ตรัสว่า เปรตเหล่านั้น คือ ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ในชาติก่อนทำบาปกรรมไว้มาก รอส่วนกุศลที่ญาติจะอุทิศไปให้ แต่ไม่มีใครระลึกได้ จำต้องรอคอยบุญกุศลด้วยความหิวโหยทรมานมาหลายภพชาติ ครั้นทราบว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงทำบุญใหญ่ ถวายวัดแก่พระพุทธเจ้าและ หมู่ภิกษุสงฆ์ จึงพากันมาด้วยความหวังว่า จะได้ส่วนกุศลในครั้งนี้ แต่พระองค์ก็ไม่ได้อุทิศให้ จึงมาปรากฏกายให้เห็น
พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามว่า หากพระองค์ทำบุญแล้วอุทิศในเวลานี้ พวกญาติ ของพระองค์ยังจะได้รับส่วนกุศลอยู่หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสว่า หากพระองค์ตั้งใจกรวดน้ำอุทิศ ส่วนกุศลให้ พวกญาติของพระองค์ก็จะได้รับ
พระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมหมู่ภิกษุสงฆ์ ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวัง เพียงชั่วขณะที่ทรงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้เท่านั้น อัตภาพอันแสนลำบากของเปรตเหล่านั้น ได้อันตรธานไป ปรากฏได้อัตภาพทิพย์ขึ้นในขณะนั้นเลยทีเดียว
วิถีชีวิตฮีตคลองชาวบ้านยึดโยงอยู่กับพระพุทธศาสนา ทั้งหลักคำสอนและความเชื่อท้องถิ่นได้เชื่อมประสานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดธรรมเนียมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล เกิดฮีตคลองของชาวบ้าน และเป็นที่มาของการทำบุญข้าวประดับดินเพื่ออุทิศให้กับญาติที่ตายไปนี้ด้วย
ตามปกติชาวบ้านปากน้ำจะตั้งเฮือนเจ้าที่ไว้ที่หัวเฮือน เรียกว่า “เฮือนพระเจ้า” เอาไว้หยาดน้ำหาปู่ ย่า ตา ยาย หรือ หยาดน้ำหาเจ้าที่เจ้าทาง หลังใส่บาตรเสร็จก็จะเอาข้าวเหนียวก้อนหนึ่งเท่าหัวแม่มือ มาไหว้ที่เฮือนเจ้าที่ แล้วก็หยาดน้ำลงตรงนั้น
แม่บอกว่า ถึงแม้ไม่ใช่บุญข้าวประดับดิน เวลากลับจากใส่บาตร แม่ก็จะมาหยาดน้ำหาพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่เฮือนพระเจ้า ทุกครั้ง แล้วแม่ก็ขยายความเรื่องการหยาดน้ำว่า บางทีการหยาดน้ำก็ไม่ใช่คิดถึงบุญถึงคุณเท่านั้น คนไม่ถูกกัน เขาก็หยาดน้ำใส่ด้นไฟสุด* (*ด้นไฟ คือ ดุ้นไฟ หรือ ดุ้นฟืน) เวรกันให้กุดให้มุด ไม่ให้ขึ้นไม่ให้เกิน แต่ถ้าทำไม่ถูกไม่ต้อง มันจะกลับมาเข้าตัวเอง ต้องหาขันดอกไม้ไปขอสมมา*(*ขอสมมา คือ ขอขมา
“คันคนบ่ถืกกันสิเป็นใผกะแล้วแต่ เขากะหยาดน้ำใส่ด้นไฟสุด เป็นตายกะบ่เผาผีกััน ป้อยเวรกันให้กุดให้มุด บ่ให้ขึ้นบ่ให้เกิน แต่คันเฮ็ดบ่ถืกบ่ต้อง มันฮั่งเข้าเจ้าของ พ่อแม่เพิ่นว่าจังซั้น”
แม่เอ่ยคำคติสอนใจ
เรียนรู้สายธารแห่งชีวิต “เรื่องของฮีดคลอง”
เขียนโดย ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์