พระใบฎีกาธีรศักดิ์ ธมฺมธีโร และ พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ
พระใบฎีกาธีรศักดิ์ ธมฺมธีโร และ พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ

ในโลกนี้มีอะไร ที่เราแลกได้ด้วยชีวิต?

 โดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ

กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

(๑)

นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ.

“ความรัก (อื่น) เสมอด้วยตนไม่มี”

หากให้ตอบคำถามว่า เรารักใครมากที่สุดในชีวิต? คงมีคำตอบหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก ญาติพี่น้อง
คนรัก หรืออื่น ๆ อีกมากมาย ถ้านับความปรารถนาที่จะทำให้คนที่เรารักมีความสุข คำตอบอาจเป็นคนอื่น แต่เมื่อให้เลือกคนที่ได้รับความทุกข์ เราคงเลือกตัวเองเป็นลำดับสุดท้ายเสมอ นี่ชัดเจนแล้วว่า สุดท้ายแล้ว มนุษย์เลือกที่จะรักตัวเองมากกว่าใคร ๆ

นั่นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่มนุษย์ผู้มีธรรม มีธรรมชาติที่เหนือไปจากนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ควรรักษายิ่งกว่าชีวิต
สิ่งนั้นคืออะไร?

(๒)

จเช ธนํ องฺควรสฺส เหตุ     องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน

องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ  จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโต

“พึงสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

เมื่อเล็งเห็นประโยชน์สูงสุด พึงสละทั้งอวัยวะ และชีวิต เพื่อรักษาธรรมไว้”

          เมื่อเจ็บป่วย เราต้องรักษา แม้ว่าจะต้องเสียทรัพย์มากเพียงใดก็ตาม เราจักไม่เสียดาย เพื่อให้ร่างกายนั้นกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง แม้ว่าจะต้องสละอวัยวะใด เพื่อให้เรามีชีวิตต่อก็ยอม นั่นแสดงให้เห็นว่าชีวิตนี้สำคัญยิ่งนัก

          แล้วจะมีอะไรที่เป็นสิ่งที่เราควรรักษาแม้ต้องแลกด้วยชีวิต หากสิ่งนั้นจะพึงมี เราเรียกสิ่งนี้ว่า “ธรรม”
อันหมายถึง คุณงามความดี ความถูกต้องดีงาม ที่มีค่ายิ่งชีวิต

และหากมี “ธรรม” ที่ทำให้พระรูปหนึ่งสละชีวิตเข้าแลก ธรรมนั้นคืออะไร?

(๓)

จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ.

“เธอทั้งหลาย จงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก

เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”

          พระพุทธองค์ทรงประกาศนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในคราที่ส่งพระอรหันตสาวก จำนวน ๖๐ รูป ออกเผยแผ่ด้วยธรรมโอวาทด้านบนนี้ วิธีแรกในการเผยแผ่มิใช่การเทศนาสั่งสอน หากแต่เป็นการประพฤติพรหมจรรย์
อันหมายถึง “อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส ปฏิบัติให้ดู”

          ในการเผยแผ่นั้นพระพุทธองค์ให้ยึดเอาประโยชน์ของชนหมู่มาก มิใช่ลาภยศของตนเอง นี่จึงเป็นธรรมอันเลิศ เป็นนโยบาย เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงใจพระนักเผยแผ่ เช้าวันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ พระรูปหนึ่ง ตัดสินใจใช้ร่างกายของตนยึดเหนี่ยวกับท้ายรถที่กำลังไหลลงจากภูเขา เพื่อเป็นเครื่องป้องกันมิให้สามเณรที่อยู่บนรถหกหายตกหล่นลงจากรถแม้แต่รูปเดียว นี่คือ การประพฤติพรหมจรรย์ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง มิได้กริ่งเกรงถึงภยันตรายอันใกล้เข้ามาถึงที่จะ
เกิดกับตนโดยแท้

          ในวินาทีนั้น อะไรคือปัจจัยทำให้ท่านตัดสินใจเช่นนั้น?

พระใบฎีกาธีรศักดิ์ ธมฺมธีโร
พระใบฎีกาธีรศักดิ์ ธมฺมธีโร

(๔)

“คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะต้องตายไปในขณะกำลังทำ ความเพียรพยายามอยู่

ก็จะไม่มีผู้ใดมาตำหนิติเตียนได้ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว

(บทสนทนาที่พระมหาชนกตรัสตอบนางมณีเมขลา ในขณะที่ว่ายน้ำอยู่กลางทะเลมา ๗ วัน ๗ คืน)

          ไม่มีใครรู้ว่า ในวินาทีนั้นท่านคิดและตัดสินใจจากอะไร? เท่าที่รู้จักในฐานะพระน้องชายรูปหนึ่ง ที่ทำงานร่วมกันมานาน ทำให้มั่นใจได้เลยว่า ในวินาทีนั้นท่านไม่กลัว แม้แรงรถที่ส่ายไปมาในขณะที่ไหลลงจากเขา แม้ท่านจะโซเซไปตามแรงเหวี่ยงของรถ เชื่อแน่ว่าท่านต้องกำมือให้แน่นกว่าเดิม เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมีสามเณรค่อย ๆ หล่นจากรถ และถูกรถทับทีละรูป ๆ มิใช่เพียงแต่มือที่แข็งแรง แต่ยังต้องใช้หัวใจที่แข็งแกร่งแกล้วกล้า เพื่อให้มั่นใจถ้าจะ
มีใครหล่นลงไป ต้องไม่ใช่สามเณรที่ต่างตื่นตกใจอยู่บนรถ

          สุดแรงกำลังเกินต้านทาน ผนวกกับมืออ่อนล้า และท่านก็ตกลงมาจากรถในที่สุด

สติสุดท้ายของท่าน คงบอกตัวเองว่าความเพียรพยายามที่ผ่านมา ท่านได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสุดกำลัง แม้ว่าหลังจากนั้น คือ รถคันที่ท่านเพิ่งตกลงมา ไหลลงมาทับลมหายใจสุดท้ายของท่าน

(๕)

“…”

          ไม่มีคำกล่าวลาใดที่ควรค่า ไม่มีน้ำตาใดมีความหมาย ความตายคือความตาย ไม่เคยให้โอกาสใครเป็นครั้งที่ ๒

          สิ่งที่เราจดจำ คือ ความงดงามในการสละชีพเพื่อรักษาธรรมของท่าน การทำหน้าที่เพื่อคนหมู่มากอย่างสมบูรณ์ ด้วยคุณความดีที่ปฏิบัติมา ไม่มีใครตำหนิความเพียรพยายามที่ท่านกระทำอย่างดีที่สุดแล้วในครั้งนี้

          …ขอถวายความอาลัย “พระใบฎีกาธีรศักดิ์ ธมฺมธีโร”

(ภาพประกอบ : การปฏิบัติศาสนกิจนำสามเณรบิณฑบาตและให้พรญาติโยม เช้าวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ (ก่อนเกิดเหตุ ๑ ชั่วโมง) ขอขอบคุณ ภาพจาก : สำนักสงฆ์เขาพระครู จังหวัดชลบุรี )

ในโลกนี้มีอะไร ที่เราแลกได้ด้วยชีวิต? โดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ

คอลัมน์ เย็นกายสุขใจ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒

พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ ผู้เขียน กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตรย์ วัดสระเกศฯ

ในโลกนี้มีอะไร ที่เราแลกได้ด้วยชีวิต? หากสิ่งนั้นจะพึงมี เราเรียกสิ่งนี้ว่า ธรรม
อันหมายถึง คุณงามความดี ความถูกต้องดีงาม ที่มีค่ายิ่งชีวิต”

พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ ผู้เขียน กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ฯ

ในโลกนี้มีอะไร ที่เราแลกได้ด้วยชีวิต? โดย  พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ   คอลัมน์ เย็นกายสุขใจ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒
ในโลกนี้มีอะไร ที่เราแลกได้ด้วยชีวิต? โดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ คอลัมน์ เย็นกายสุขใจ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here