จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
ญาณวชิระ
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๒๐ )
บรรพ์ที่ ๔
ขั้นตอนการบรรพชา และ อุปสมบท
(๓) เมื่อพระพุทธองค์เผชิญนาคราช
โดย ญาณวชิระ
หลังการเสวยวิมุตติสุข พระพุทธองค์เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นเทศนากัณฑ์แรกโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ทำให้พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมรู้แจ้งสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ในขณะที่องค์อื่นๆ ก็ได้บรรลุธรรมในวันต่อๆ มา แล้วพระพุทธองค์ทรงจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นเอง ในพรรษาแรกนั้นมีพระสาวกที่บวชตามพระองค์บรรลุเป็นพระอรหันต์ถึง ๖๐ องค์ สมัยนั้นจึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ องค์
หลังจากออกพรรษา พระพุทธองค์เสด็จจาริกสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ มีชฎิล ๕๐๐ คนเป็นบริวาร นทีกัสสปะ มีชฎิล ๓๐๐ คนเป็นบริวาร คยากัสสปะ มีชฎิล ๒๐๐ คนเป็นบริวาร ชฎิลสามพี่น้องตั้งอาศรมอยู่ตามริมน้ำ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมนี้ ประชาชนชาวมคธให้ความเคารพนับถือมาก พระองค์เสด็จเข้าไปสู่อาศรมของอุรุเวลกัสสปะ ขอพักอาศัยอยู่ในโรงบูชาไฟ อุรุเวลกัสสปะห้ามว่าในโรงบูชาเพลิงนั้นมีพญานาคดุร้าย มีฤทธิ์มาก มีพิษร้ายแรงอาศัยอยู่ หากเข้าไปพญานาคอาจทำอันตรายได้
พระพุทธองค์ตรัสว่า พญานาคจะไม่ทำอันตรายขอเพียงอนุญาตให้พักอาศัยในที่นั้น อุรุเวลกัสสปะเตือนสองครั้งสามครั้งจึงกล่าวเชื้อเชิญให้พำนักในโรงบูชาเพลิงได้ตามพระประสงค์
เมื่ออุรุเวลกัสสปะกล่าวอนุญาต พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปสู่โรงบูชาเพลิง ทรงลาดอาสนะแล้วประทับนั่งขัดสมาธิ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้มั่น ขณะนั้นพญานาคเห็นพระพุทธองค์เสด็จเข้ามาในโรงบูชาไฟที่ตนอาศัยอยู่ เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากจึง *บังหวนควัน (๑) ขึ้น
พระพุทธองค์จึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร แล้วบังหวนควันขึ้นบ้างเช่นกัน พญานาครู้สึกว่าตนเองถูกลบหลู่ดูหมิ่นจึงหมดความอดทนพ่นไฟออกมาในทันที พระพุทธองค์ก็ทรงเข้ากสิณสมาบัติบันดาลไฟต้านทานไฟพญานาคเช่นกัน ขณะนั้นโรงบูชาเพลิงได้ปรากฏแสงรุ่งโรจน์ดุจไฟลุกไหม้ไปทั่ว พวกชฎิลเหล่านั้นมาล้อมโรงบูชาเพลิง ต่างโพนทะนากันว่า พระสมณะรูปงามคงถูกพิษพญานาคตายแล้วเป็นแน่
ครั้นรุ่งเช้า เปลวไฟของพญานาคไม่ปรากฏ แต่เปลวไฟขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังปรากฏรุ่งโรจน์อยู่ พระรัศมีสีต่าง ๆ คือ สีขาว สีเขียว สีแดง สีหงสบาท สีเหลือง สีแก้วผลึก ซ่านออกจากพระวรกาย พระพุทธองค์ทรงขดพญานาคราชนั้นไว้ในบาตร แล้วทรงแสดงแก่ชฎิลนั้น ตรัสว่า อุรุเวลกัสสปะ นี่พญานาคของท่าน
ภพของนาคราช
เรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคยังปรากฏในพุทธประวัติอีกตอนหนึ่ง บ่งบอกให้ทราบถึงที่อยู่ของพญานาค
เมื่อกรุงเวสาลีนครหลวงแห่งแคว้นวัชชี เคยเป็นเมืองมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เนืองแน่นไปด้วยอาณาประชาราษฎร์เกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง สมัยนั้น กรุงเวสาลีเกิดฝนแล้งติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ข้าวกล้าแห้งตายเพราะแดดแผดเผา ผู้คนอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมาก คนยากจนตายก่อน ซากศพไร้คนจัดการถูกทิ้งเกลื่อนนคร พวกอมนุษย์ได้กลิ่นซากศพก็พากันเข้าสู่พระนคร ทำอันตรายแก่หมู่มนุษย์ ทำให้คนตายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อความไม่สะอาดปฏิกูลแพร่กระจายไป โรคระบาดก็เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนล้มตายเหลือที่จะนับได้
นครเวสาลีที่เคยเป็นเมืองมั่งคั่ง ผู้คนพลุกพล่านไปมาขวักไขว่ทักทายกันจอกแจกจอแจ ได้ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง ๓ ประการ คือ
๑. ข้าวยากหมากแพง (ทุพภิกขภัย)
๒. ภูตผีปีศาจทำอันตราย (อมนุสสภัย)
๓. เกิดโรคระบาดคร่าชีวิตผู้คน (โรคภัย)
ชาวเมืองรวมตัวกันไปร้องทุกข์ต่อพระราชาว่า ในเมืองนี้ไม่เคยมีภัยทั้ง ๓ ประการนี้เกิดขึ้นมา ๗ ชั่วคนแล้ว เห็นทีผู้ปกครองรัฐจะประพฤติไม่ชอบด้วยทำนองคลองธรรม
พระราชาโปรดให้ชาวเมืองประชุมกันที่ศาลากลางเมือง เพื่อตรวจสอบความผิดของพระองค์ ก็ไม่เห็นความผิดประการใด จึงปรึกษากันว่าทำอย่างไรภัยทั้ง ๓ ประการนี้จะสงบลงได้ ผลของการปรึกษาได้ตกลงที่จะเชิญเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากแคว้นมคธสู่กรุงเวสาลี ด้วยได้ยินกันมาว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์ทรงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่หมู่สัตว์ มี * มหิทธานุภาพ (๓) พระองค์เสด็จไปที่ไหนก็จะมีแต่ความสงบสุข หากพระองค์เสด็จสู่กรุงเวสาลี ภัยพิบัติทั้งปวงจักสงบระงับลงไป
คราวนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์แคว้นมคธ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าพิมพิสารผู้ถวายเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ชาววัชชีจึงส่งเจ้าลิจฉวี ชื่อมหาลิ และมหาอำมาตย์ผู้หนึ่งเป็นราชทูตเดินทางเข้าสู่แคว้นมคธ ทูลขอร้องพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อขอพระราชทานวโรกาสกราบทูลเชิญเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปกรุงเวสาลี
พระบรมศาสดาทรงพิจารณาว่า หากพระองค์เสด็จไปกรุงเวสาลี ประโยชน์ ๒ อย่างจักเกิดขึ้น คือ พระองค์จะแสดงรัตนสูตร เป็นเหตุให้ชาววัชชีได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุมรรคผลเป็นอันมาก และภัยพิบัติจะสงบไป จึงทรงรับนิมนต์
พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงโปรดให้ตกแต่งเส้นทางเสด็จพระพุทธดำเนินตั้งแต่กรุงราชคฤห์ถึงฝั่งแม่น้ำคงคา อันเป็นพรมแดนของแคว้นทั้งสอง รับสั่งให้ปรับพื้นถมดินทำทางให้เรียบเสมอ ให้ปลูกที่ประทับแรมทุกโยชน์ เตรียมให้เสด็จวันละโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป สู่ฝั่งแม่น้ำคงคาสิ้นทาง ๕ โยชน์ (๑ โยชน์มีระยะเทียบเท่ากับ ๑๖,๐๐๐ เมตร หรือ ๑๖กิโลเมตร) ใช้ระยะเวลาเดินทาง ๕ วัน
ฝ่ายกรุงเวสาลีก็ได้ตกแต่งเส้นทางจากฝั่งแม่น้ำคงคาถึงกรุงเวสาลีเป็นระยะทางถึง ๓ โยชน์ เตรียมการรับเสด็จพระพุทธองค์ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาอย่างยิ่งใหญ่
ขณะเรือส่งเสด็จที่พระเจ้าพิมพิสารจัดถวายใกล้ถึงฝั่งนครเวสาลี มหาเมฆตั้งเค้าขึ้นทั้ง ๔ ทิศ พอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่างพระบาทแรกเหยียบดินที่ฝั่งแม่น้ำคงคาบนแผ่นดินแคว้นวัชชี ฝนโบกขรพรรษได้ตกลงมาอย่างหนัก ทุกแห่งน้ำไหลไปแค่เข่า แค่สะเอว พัดพาเอาสิ่งโสโครกต่างๆ ลงแม่น้ำลำคลองไปสิ้น พื้นดินชุ่มเย็นและสะอาดทั่วไปในแดนวัชชี
พระพุทธองค์เสด็จจากฝั่งแม่น้ำคงคา ถึงกรุงเวสาลีสิ้นระยะทาง ๓ โยชน์ เป็นเวลา ๓ วัน ครั้นเสด็จถึงกรุงเวสาลี พระอินทร์พร้อมด้วยเทพบริวารเป็นอันมากก็มา ณ ที่นั้น เมื่อเทวดาซึ่งเป็นใหญ่กว่ามากันมาก พวกอมนุษย์ก็ถอยร่นหลีกไปเป็นอันมาก
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนที่ประตูพระนครเวสาลี รับสั่งให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตร กล่าวสัจจะอันอาศัยคุณของพระรัตนตรัยกำจัดอุปัทวันตรายทั้งหลายภัยพิบัติทั้งปวง พระอานนท์เดินสวดรัตนสูตรพลางพรมซัดน้ำพระพุทธมนต์ไปทั่วพระนคร
พอพระอานนท์ขึ้นบท “ยังกิญจิ วิตตัง”พวกอมนุษย์ที่แอบอยู่ตามที่ต่างๆ ทนอยู่ไม่ไหวชิงกันหนีออกทางประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู แน่นยัดเยียด บางพวกทนรอออกทางประตูไม่ไหว ช่วยกันพังกำแพงเมืองหนีกระเจิงไปหมดสิ้น พอพวกอมนุษย์ออกไป โรคในตัวมนุษย์ก็หาย ผู้ที่หายจากโรคก็ลุกออกมาบูชาพระเถระเจ้าด้วยเครื่องบูชาต่างๆ
ภายในพระนครเวสาลี ชาวเมืองตกแต่งศาลากลางเมืองเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่ที่ประทับแล้ว เหล่าภิกษุสงฆ์ และเจ้าลิจฉวี ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ก็ไปเฝ้าที่นั่น แม้ท้าวสักกเทวราชก็ทรงพาเทวดาทั้งปวงมาเฝ้าที่นั่นด้วย พระอานนท์เที่ยวทำการรักษาทั่วกรุงเวสาลีแล้วได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ที่นั่น ชาวพระนครเวสาลีติดตามมาเฝ้าด้วยเป็นอันมาก ที่ประชุมนั้นได้กลายเป็นมหาสมาคม
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส “รัตนสูตร” ซ้ำในมหาสมาคมนั้น เมื่อจบเทศนาลง อุปัทวันตรายภัยพิบัติทั้งหลายทั้งปวงได้สงบลง ความสุขสวัสดีแผ่ไปทั่วแคว้นวัชชี จากนั้นมาฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม
พระพุทธองค์เสด็จกลับกรุงราชคฤห์ เหล่าเจ้าลิจฉวีตามส่งเสด็จพร้อมด้วยเครื่องสักการะเป็นอันมาก จนถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เหล่านาคราชทั้งหลายในแม่น้ำคงคาคิดกันว่า หมู่มนุษย์ทำการสักการะพระพุทธองค์เป็นอันมาก จึงได้ทูลวิงวอนให้พระพุทธองค์อนุเคราะห์พวกตน พระผู้มีพระภาคเจ้ารับคำนิมนต์ เหล่านาคราชนำเสด็จพระพุทธองค์พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสู่นาคพิภพ พระองค์แสดงธรรมโปรดเหล่านาคราชตลอดราตรี รุ่งขึ้นเหล่านาคราชถวายสักการะและภัตตาหารอันเป็นทิพย์ พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาเสร็จแล้วเสด็จออกจากนาคพิภพ เหล่าภุมมเทวดาและเทวดาทั้งหลายก็ได้กระทำสักการะต่อจากนี้เช่นเดียวกัน
นันโทปนันทนาคราช
นอกจากนั้น ในนันโทปนันทสูตร ยังได้แสดงภพอันเป็นทิพย์ของนันโทปนันทนาคราชไว้ว่า
คราวหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจึงทูลนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมทั้งภิกษุ ๕๐๐ รูปฉันภัตตาหาร ใกล้รุ่งวันนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลก พญานาคนันโทปนันทะปรากฏในพระญาณ พระพุทธองค์ได้ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งสรณคมน์ของพญานาคราชผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ พระพุทธองค์เรียกพระอานนท์มาตรัสบอกว่า พระองค์จะเสด็จจาริกไปยังเทวโลกให้ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปตามเสด็จด้วย
ในวันนั้นเอง เหล่านาคบริษัททั้งหลายได้ตระเตรียมสถานที่สำหรับดื่มสุราเพื่อนันโทปนันทนาคราช กางกั้นด้วยเศวตฉัตรทิพย์ นพรัตนบัลลังก์ทิพย์ ห้อมล้อมด้วยนักฟ้อน ๓ พวกและเหล่านาคบริษัทมากมาย พญานันโทปนันทนาคราชนั่งมองดูอาหารที่เขาจัดวางไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้นาคราชเห็นว่าพระองค์เสด็จข้ามวิมานของนาคราชบ่ายพระพักตร์ไปยังดาวดึงส์เทวโลก โดยมีหมู่ภิกษุ ๕๐๐ ตามเสด็จ
นันโทปนันทนาคราชเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ ก็พาลโกรธว่าพวกสมณะหัวโล้นเหล่านี้ ข้ามหัวตนไปมาโปรยฝุ่นจากเท้าลงบนหัวของตนไม่เกรงอกเกรงใจ จึงขึ้นไปยังเชิงเขาสิเนรุ เอาขนดหางวงรอบเขาสิเนรุ ๗ รอบแผ่พังพานปิดภพดาวดึงส์ไว้
ท่านพระรัฏฐปาลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เมื่อก่อน ยืนอยู่ก็สามารถมองเห็นภพดาวดึงส์ ตลอดจนธงบนยอดเวชยันตปราสาท เหตุไรบัดนี้จึงไม่เห็น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกว่านาคราชชื่อว่านันโทปนันทะโกรธพวกเธอจึงเอาขนดหางวงรอบเขาสิเนรุ ๗ รอบ แผ่พังพานปิดบังภพดาวดึงส์ไว้ แม้ท่านพระรัฏฐปาล ท่านพระภัททิยะ ท่านพระราหุล และภิกษุทั้งหมด แม้ขอทรมานนาคราชพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต ในที่สุดพระมหาโมคคัลลานะเถระ กราบทูลขอทรมานนาคราชนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาต
พระเถระนิรมิตกายเป็นรูปพญานาคราชใหญ่ เอาขนดหางวงรอบนันโทปนันทนาคราช ๑๔ รอบ วางพังพานของตนลงบนยอดพังพานของนันโทปนันทนาคราชแล้วกดเข้ากับเขาสิเนรุ นาคราชบังหวนควันขึ้น
พระเถระกล่าวว่า มิใช่จะมีแต่ควันในร่างกายของท่านเท่านั้น แม้เราเองก็มีควันเช่นกัน จึงบังหวนควันขึ้นบ้าง ควันของนาคราชไม่สามารถทำอันตรายแก่พระเถระได้ แต่ควันของพระเถระกลับทำอันตรายแก่พญานาคราช นาคราชจึงพ่นไฟออกไปด้วยความกราดเกรี้ยว พระเถระกล่าวว่า ไม่ใช่จะมีแต่ไฟในร่างกายของท่านเท่านั้น แม้เราก็มีไฟเช่นกัน จึงพ่นไฟออกไปบ้าง
ไฟของนาคราชไม่สามารถทำอันตรายแก่พระเถระได้ แต่ไฟของพระเถระกลับทำอันตรายแก่นาคราช นาคราชคิดว่า พระองค์นี้กดหัวเราเข้ากับเขา จึงบังหวนควันและพ่นไฟพร้อมกับถามว่า ท่านเป็นใคร พระเถระตอบว่า เราโมคคัลลานะ นาคราชจึงตะโกนออกไปด้วยความโกรธว่า เป็นพระทำไมไม่อยู่ส่วนพระ
พระเถระจึงเปลี่ยนร่างเข้าไปทางช่องหูขวาออกทางช่องหูซ้าย แล้วเข้าทางช่องหูซ้ายออกทางช่องหูขวา เข้าทางช่องจมูกขวา ออกทางช่องจมูกซ้าย เข้าทางช่องจมูกซ้ายแล้วออกทางช่องจมูกขวาของนาคราช พอนาคราชอ้าปากเท่านั้นพระเถระก็พุ่งเข้าไปทางปากแล้วเดินจงกรมอยู่ภายในท้อง
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนพระเถระว่า โมคคัลลานะเธอจงตั้งสติให้ดี อย่าได้ประมาท นาคราชมีฤทธิ์มาก พระเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เจริญอิทธิบาท ๔ ดีแล้ว กระทำให้มากแล้ว สามารถทำให้เป็นเหมือนยานได้ กระทำให้เป็นดุจวัตถุที่ตั้ง ตั้งมั่น สั่งสมและปรารภไว้ดีแล้ว อย่าว่าแต่นันโทปนันทะเลย ต่อให้พญานาคราชเช่นกับนันโทปนันทะสักร้อย สักพัน สักแสน ข้าพระองค์ก็สามารถทรมานได้
ส่วนพญานาคราชคิดว่า ตอนพระเถระเข้าไปเราไม่ทันเห็น ในเวลาออกมาจักใส่เขี้ยวเคี้ยวกินเสียเลย เมื่อคิดแล้วจึงแสร้งกล่าวว่า ขอท่านจงกลับออกมาเถิด อย่าเดินไปๆ มาๆ ในท้องทำข้าพเจ้าให้ลำบากเลย พระเถระจึงได้ออกจากท้องไปยืนข้างนอก นาคราชเห็นว่านี้คือเขาละ จึงพ่นลมทางจมูก พระเถระเข้าจตุตถฌาน ลมนาคราชไม่สามารถทำให้ไหวได้แม้แต่ขุมขนของพระเถระ
ที่จริง พระภิกษุทั้งหลายสามารถทำปาฏิหาริย์ได้ตามที่พระโมคคัลลานะทำมาตั้งแต่ต้น แต่พอถึงตรงนี้ ไม่มีใครสามารถตั้งตัวและเข้าสมาบัติได้ทัน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะแพ้แก่นาคราช เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุอื่นทรมานนาคราช แต่อนุญาตพระโมคคัลลานะ เพราะฤทธิ์ของพระโมคคัลลานะเท่านั้นที่สามารถกำหนดได้
นาคราชคิดว่า ลมจมูกของเราไม่สามารถทำแม้ขุมขนของพระภิกษุรูปนี้ให้ไหวได้ พระภิกษุรูปนี้มีฤทธิ์มาก แล้วจึงรีบหนีไป พระเถระได้แปลงกายนิรมิตเป็นพญาครุฑไล่ติดตามพญานาคราชไป นาคราชจึงละอัตภาพนาคกลายเป็นมาณพน้อยกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ กระผมขอถึงท่านเป็นสรณะ แล้วกราบลงที่เท้าพระเถระ พระเถระกล่าวว่า นันทะ พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ท่านจงมา พวกเราจะไป พระเถระทรมานนาคราชจนสิ้นพยศแล้วจึงกลับไปเฝ้าพระพุทธองค์ นาคราชถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์เป็นสรณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ท่านจงเป็นสุขเถิดนาคราช หมู่ภิกษุห้อมล้อม ได้เสด็จไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุไรพระองค์จึงเสด็จมาสาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โมคคัลลานะและนันโทปนันทนาคราชได้ทำสงครามกัน ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลว่า ใครแพ้ใครชนะพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โมคคัลลานะชนะ ส่วนนันทะเป็นผู้แพ้
อนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ตามลำดับแห่งเดียวตลอด ๗ วัน ข้าพระองค์จักกระทำสักการะแก่พระเถระ ๗ วันแล้วได้กระทำมหาสักการะแก่ภิกษุ ๕๐๐ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน
* (๑) บังหวนควัน คือ การพ่นควันออกมา แสดงอาการว่าโกรธ
(๒) อิทธาภิสังขาร คือ การบันดาลด้วยฤทธิ์
(๓) มหิทธานุภาพ คือ มีอานุภาพที่ยิ่งใหญ่
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๒๐) บรรพ์ที่ ๔ “ขั้นตอนการบรรพชา และ อุปสมบท ” (๓) เมื่อพระพุทธองค์เผชิญนาคราช โดย ญาณวชิระ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด