จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดดกาลนาน

“ญาณวชิระ” นครหลวงของประเทศไทย ระหว่างพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐

ลูกผู้ชายต้องบวช

บรรพ์ที่ ๑๐ : การทำวัตรสวดมนต์และการแสดงอาบัติ

: เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

บรรพ์ที่ ๑๐

การทำวัตรสวดมนต์และ การแสดงอาบัติ

การทำวัตรสวดมนต์

       การสวดมนต์ คือ การท่องบ่นสาธยายพระพุทธพจน์ ซึ่งถูกบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี เพื่อการทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ยืนยาวสืบต่อไป การสวดมนต์ในอีกด้านหนึ่งก็คือการเจริญสมาธิภาวนา  ที่ได้นำเอาพระพุทธพจน์มาเป็นบทบริกรรมภาวนา ให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกขณะของอักขระที่กำลังสวดสาธยาย  ไม่ปล่อยให้นิวรณ์แทรกเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมองได้นั่นเอง

              พระสงฆ์สาวกสมัยพุทธกาล  นอกจากจะมีหน้าที่ในการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อนำตนออกจากทุกข์แล้ว  ยังมีภาระหน้าที่ในการทรงจำพระพุทธพจน์  เพื่อสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ควบคู่กันไปอีกด้วย  พระสาวกสมัยพุทธกาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งที่จะต้องท่องบ่น  สาธยายพระพุทธพจน์  เพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหลัก  ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งความเพียร เพื่อนำตนออกจากทุกข์ในสังสารวัฏ  จึงหาวิธีที่จะทรงจำพระพุทธพจน์ให้เป็นกิจกรรมในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิภาวนา

              การสวดมนต์  ที่ต้องสวดเป็นภาษาบาลีเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพระพุทธพจน์ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งกระทำควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิภาวนา  เป็นกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์สาวกในสมัยพุทธกาลที่ถ่ายทอดสืบต่อมาสู่พระสงฆ์สาวกในยุคปัจจุบัน

บททำวัตรเช้าเย็นนั้น คณะสงฆ์ได้กำหนดเป็นแบบเดียวกันทั่วสังฆมณฑล โดยในแต่ละบท ได้น้อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า

สำหรับบทสวดมนต์ที่ใช้ในปัจจุบันมีมาก แตกต่างกันไปตามแต่วัดไหนจะเลือกสวดบทใด เพราะเป็นการนำเอาพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎกมาสวดสาธยาย

อย่างไรก็ตาม แม้การสวดมนต์ในแต่ละวัดจะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่ก็มีบทที่บูรพาจารย์วางไว้เป็นหลัก และยึดถือเป็นแบบแผนร่วมกัน  โดยเรียกวิธีสวดสาธยายแบบนั้นๆ ว่า “เจ็ดตำนาน” กำหนดบทสวด ๗ บทเป็นหลักบ้าง   เรียกวิธีสวดแบบ “สิบสองตำนาน” กำหนดบทสวด ๑๒ บทเป็นหลักบ้าง  และเรียกวิธีสวดแบบ “นพเคราะห์” โดยกำหนดบทสวดตามกำลังจักราศี  เพื่อให้ต้องตามคตินิยมของโลกเป็นหลักบ้าง หรือบางแห่งก็ใช้ตามความนิยมของท้องถิ่น 

 ส่วนวัดไหนจะตัดหรือเพิ่มบทสวดให้พิสดารออกไปอย่างไร  ก็สามารถที่จะทำได้

บทสวดมนต์ที่มีพลานุภาพ

ในการคุ้มครอง  ป้องกัน   รักษา

             นอกจากนั้น พระพุทธมนต์ยังมีพลานุภาพ ในการต้านทาน คุ้มครอง ป้องกัน รักษาได้ด้วย  ต้องอาศัยจิตที่อ่อนโยนมีเมตตาเป็นสมาธิมั่นคงแน่วแน่เป็นหลักการที่สำคัญ  พระพุทธพจน์ที่นำมาเป็นพระพุทธมนต์นั้น  บางสูตรพระพุทธองค์ทรงใช้สวดเอง  บางสูตรทรงแนะนำให้พระสงฆ์สาวกใช้  บางสูตรเทวดาเป็นผู้ นำมาแสดง

             โพชฌงคสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์สวดให้พระมหากัสสปะ และมหาโมคคัลลานะฟังจนหายจากเป็นไข้ไม่สบาย และเมื่อพระองค์ประชวรก็ได้ให้พระมหาจุนทะสวดโพชฌงคสูตรให้สดับ จนหายจากอาการประชวรเช่นกัน

             กรณียเมตตสูตร  เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำภิกษุ ให้แผ่เมตตาจิตไปในมวลสรรพสัตว์  ตลอดจนเทพเทวาภูติผีปีศาจทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไร้พรมแดนขีดขั้น ไม่ว่าสัตว์นั้นหรือเขาผู้นั้นจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนาอะไร จะเกี่ยวข้องกับเราโดยความเป็นญาติ เป็นประเทศ เชื้อชาติ ศาสนาหรือไม่ก็ตาม ให้มีจิตกว้างขวางไร้ขอบเขตขีดขั้น ขอให้เขาได้มีความสุข  หากทำได้เช่นนี้ นอกจากเทวดาจะไม่แสดงสิ่งที่น่ากลัวหลอกหลอนแล้ว   ยังมีใจอนุเคราะห์ภิกษุโดยไมตรีจิตด้วยความอ่อนโยนมีเมตตา

           รัตนสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระอานนท์เถระน้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย  คือ  พุทธรัตนะ    ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะแล้วทำสัจกิริยา คือ การตั้งสัจอธิษฐานตามความเป็นจริง ให้เกิดเป็นอานุภาพขจัดปัดเป่าภัยพิบัติที่เกิดแก่ชาวเมืองเวสาลี  ภายหลังได้กลายเป็นแบบอย่างในการทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับพระสงฆ์สาวกต่อมาจนถึงปัจจุบัน

             นอกจากนั้น  ยังปรากฏในประวัติพระองคุลิมาลเถระว่า  พระพุทธองค์ ทรงแนะนำให้พระองคุลิมาลเถระทำสัตยาธิฐานเพื่อให้หญิงคนหนึ่งคลอดบุตรง่าย  เมื่อพระเถระกล่าวคาถาจบทารกก็คลอดโดยง่าย  มีความปลอดภัยทั้งแม่และลูก  อานุภาพนั้นได้คุ้มครองไปถึงผู้ที่ ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ  ด้วย

             อาฏานาฎิยสูตร    เป็นคาถาที่เทวดาทั้ง ๔ ตนที่เรียกกันว่า “ท้าวจาตุมหาราช” ผูกขึ้นมา แสดงแก่พระพุทธองค์    เพื่อให้ภิกษุสวดป้องกันเหล่าอมนุษย์บางพวกที่ ไม่หวังดีต่อพระสงฆ์สาวกที่ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร เมื่อไม่มีอะไรป้องกัน เหล่าอมนุษย์ที่ไม่เลื่อมใสก็จะรบกวนเบียดเบียนให้ได้รับความลำบาก ท้าวมหาราชจึงได้แสดงเครื่องป้องกันรักษา ชื่อ “อาฏานาฏิยรักษ์” นี้ไว้

             พระพุทธมนต์ตามที่กล่าวมานั้น จะมีอานุภาพต้องอาศัยการสวดอย่างสม่ำเสมอจนจิตแน่วแน่มั่นคงเป็นสมาธิเป็นพื้นฐานที่สำคัญ   

             การเจริญสมาธิภาวนา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด  ย่อมมีพลานุภาพในการต้านทานสิ่งไม่ดีทั้งหลาย

          ในเบื้องต้นสามารถต้านทานกิเลสภายในตัวเองก่อน แล้วขยายอานุภาพออกไปสู่การต้านทานสิ่งไม่เป็นมงคลอันเกิดจากมนุษย์ และอมนุษย์ที่เป็นพาลสันดานหยาบทั้งหลาย  ในขณะเดียวกันก็เป็นพลังแห่งการก่อเกิดสิ่งดีงาม คือ ความอ่อนโยนมีเมตตาเอื้ออาทรภายในตนเองก่อน แล้วขยายอานุภาพกว้างออกไปสู่การก่อเกิดสิ่งอันเป็นมงคลภายนอกทั้งหลาย ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ประสบผลสำเร็จในสิ่งปรารถนาทุกประการ

             ในอรรถกถาคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก ได้แสดงวิธีการเจริญพระพุทธมนต์ไว้ว่า 

             หากเรียนด้วยความตั้งใจจนเกิดความช่ำชองคล่องปาก ไม่ตกหล่นทั้งอรรถและพยัญชนะ  มีจิตประกอบด้วยเมตตาหวังให้ผู้คนพ้นจากทุกข์ บริกรรมพระพุทธมนต์แผ่เมตตาไปไม่เห็นแก่ลาภ ย่อมจะบังเกิดเป็นอานุภาพคุ้มครองป้องกันเหล่าอมนุษย์และสรรพอันตรายทั้งหลาย

             สำหรับผู้เจริญพระพุทธมนต์ และผู้ฟังการเจริญพระพุทธมนต์  หากกระทำด้วยจิตเลื่อมใส  ไม่มีกิเลสมาครอบงำจิต  ไม่มีกรรมหนักมาตัดรอน  อีกทั้งยังไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย  พระพุทธมนต์ย่อมจะมีอานุภาพในการบำบัดทุกข์โศกโรคภัย  ความเจ็บป่วยไข้  และสรรพอันตรายทั้งหลายได้  สามารถดับความเร่าร้อนกระวนกระวายใจ ขจัดลางร้ายและฝันร้ายทั้งหลาย ปัดเป่าเสนียดจัญไร  อุบัติเหตุ สิ่งอัปมงคลอันเกิดจาก บาปเคราะห์    ฤกษ์หามยามร้ายและสิ่งที่ไม่พึงพอใจต่างๆ   ป้องกันแม้โจรภัย    อัคคีภัย   วาตภัย  อุทกภัย   อสรพิษ      สัตว์ร้าย   อมนุษย์ ภูตผีปีศาจ  ยักษ์  นาค  คนธรรพ์  และเทวดาที่ไม่หวังดีทั้งหลาย คุ้มครอง ป้องกันรักษาตลอดทั้งครอบครัวหมู่ญาติ  พวกพ้องและบริวารทั้งหลายให้ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยนานาประการ  แคล้วคลาด ปลอดภัย จากผู้จองเวรที่คอยจ้องผลาญ นอนหลับก็สบายไม่ฝันร้าย  เป็นผู้มีอายุ   วรรณะ   สุขะ    พละ    และเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาตลอด กาลทุกเมื่อ

เหตุที่สวดมนต์แล้วไม่เกิดพลานุภาพ

             แม้พระพุทธมนต์ที่เจริญโดยยึดหลักสองประการ จนเกิดอานุภาพ   แต่ก็ยังมีเหตุที่ทำให้อานุภาพไม่สามารถคุ้มครองป้องกันอยู่อีก  อานุภาพนั้นจะไม่คุ้มครองป้องกันเพราะเหตุ  ๔  ประการ   ดังนี้

                 เมื่อผู้สวดหรือผู้ฟังการเจริญพระพุทธมนต์ไม่มีความเชื่อความเลื่อมใสในอานุภาพแห่งพระพุทธมนต์

                 แม้ผู้สวดหรือผู้ฟังพระพุทธมนต์มีความเชื่อความเลื่อมใสในอานุภาพแห่งพระพุทธมนต์  แต่ในขณะที่เจริญพระพุทธมนต์มีกิเลสครอบงำ  แล้วเจริญพระพุทธมนต์เพราะอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้  ทำให้จิตวอกแวก ฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิ  เช่นนี้พระพุทธมนต์ก็ไม่มีอานุภาพในการต้านทาน

                 แม้ผู้สวดหรือผู้ฟังพระพุทธมนต์จะมีความเชื่อความเลื่อมใส  แล้วเจริญพระพุทธมนต์ด้วยจิตเป็นสมาธิมั่นคงแน่วแน่ ไม่วอกแวกฟุ้งซ่าน แต่หากมีกรรมหนัก คือ  อนันตริยกรรมมาตัดรอน ขัดขวาง  พระพุทธมนต์ก็ไม่มีอานุภาพในการต้านทาน  เพราะขณะนั้น กรรมกำลังให้ผลตามที่ผู้นั้นได้กระทำไว้

                 ถึงแม้ผู้สวด  หรือผู้ฟังพระพุทธมนต์จะมีความเชื่อความ เลื่อมใส  แล้วเจริญพระพุทธมนต์ด้วยจิตเป็นสมาธิมั่นคงแน่วแน่ ไม่วอกแวกฟุ้งซ่าน  และไม่มีกรรมหนักมาตัดรอนขัดขวาง  แต่หากผู้สวดหรือ ผู้ฟังถึงวาระสิ้นอายุขัยตามวัยของมนุษย์  อานุภาพของพระพุทธมนต์ก็จะไม่ต้านทาน  ท่านเปรียบเหมือนคนถึงคราวสิ้นอายุขัย  แม้จะได้รับการ เยียวยารักษาจากหมอผู้เชี่ยวชาญ และด้วยยาขนานพิเศษอย่างไรก็ช่วยไม่ได้   ต้องเป็นไปตามธรรมดาของสังขารร่างกาย

ผู้ที่นำพระพุทธพจน์มาบริกรรมภาวนาในรูปแบบการเจริญพระพุทธมนต์  หากมุ่งหวังให้พระพุทธมนต์เป็นพระปริตรที่มีพลานุภาพในการต้านทาน  จำเป็นต้องมีความเชื่อความเลื่อมใสประกอบด้วยเมตตา จิตปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ไม่เห็นแก่ลาภ มีจิตเป็นสมาธิไม่ฟุ้งซ่าน เจริญพระพุทธมนต์แล้วกระทำสัจกิริยา  คือ  ตั้งสัจอธิษฐานตามความเป็นจริง  หากยังไม่สิ้นอายุขัย  ไม่มีกรรมหนักขัดขวาง พระพุทธมนต์ย่อมจะเกิดพลานุภาพในการต้านทานตามความมุ่งหวังทุกประการ  ฯ

เหตุที่ต้องสวดมนต์เป็นภาษาบาลี

         การเจริญสมาธิภาวนา  คือ  การที่จิตผูกหรือเพ่งอยู่กับคำใดคำหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น  พุทโธ  พุทโธ, พองหนอ-ยุบหนอ, สัมมา-อะระหัง เป็นต้น ให้จิตเกาะเกี่ยวไหลไปตามกระแสของคำนั้นๆ  เพื่อเป็นสื่อให้จิตเข้าถึงความสงบ มีค่าเท่ากับจิตผูกเพ่งอยู่กับการสวดมนต์ที่จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกอักขระของบทสวดมนต์

             จิตที่ไหลไปเป็นกระแสตามทุกอักขระเช่นนี้ ไม่เปิดโอกาสให้นิวรณ์  คือ  สิ่งที่ขวางกั้นจิตไม่ให้ทำความดี  เช่น ความรักโลภ โกรธหลง  กามราคะ  อาฆาตพยาบาท  หงุดหงิด  ฟุ้งซ่าน  รำคาญ  เบื่อหน่ายแทรกเข้ามาครอบงำจิตได้  ทำให้จิตมีความผ่องใส  เป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะเข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา  มีความฉับไวต่อการรับรู้อารมณ์ และคมต่อการแยกแยะความถูกผิด

๏ การสวดมนต์ คือ การเจริญสมาธิภาวนา

             การสวดมนต์ เป็นรูปแบบของการเจริญสมาธิภาวนาอย่างหนึ่ง แต่แทนที่จะใช้วิธีนั่งบริกรรม ให้จิตเกาะเกี่ยวอยู่กับคำใดคำหนึ่ง  หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น  พุทโธ  พุทโธ เป็นต้น เพื่อเป็นสื่อให้เข้าถึงความสงบ  ก็ใช้วิธีให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับอักขระเป็นกระแสเช่นนี้ ไม่ปล่อยให้ความ รักโลภ โกรธ หลง กามราคะ อาฆาตพยาบาทได้โอกาสแทรกเข้ามาครอบงำจิต ทำให้จิตมีความผ่องใสเป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะเข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา 

             จิตเช่นนี้เป็นจิตสงบ  คือ  สงบจากกาม ราคะ   อาฆาตพยาบาท  หงุดหงิดฟุ้งซ่าน  รำคาญ  เบื่อหน่ายจึงชื่อว่า  “จิตเป็นสมาธิ” การสวดมนต์เป็นภาษาบาลีจึงเป็นวิธีการทำสมาธิอย่างหนึ่ง

๏ การสวดมนต์คือการทรงจำพระพุทธพจน์

             การสวดมนต์ คือ การท่องบ่นสาธยายพระพุทธพจน์ ซึ่งถูกบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี เพื่อการทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ยืนยาวสืบต่อไป

             การสวดมนต์ในอีกด้านหนึ่งก็คือการเจริญสมาธิภาวนา  ที่ได้นำเอาพระพุทธพจน์มาเป็นบทบริกรรมภาวนา   ให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกขณะของอักขระที่กำลังสวดสาธยาย  ไม่ปล่อยให้นิวรณ์แทรกเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมองได้นั่นเอง

             พระสงฆ์สาวกสมัยพุทธกาล  นอกจากจะมีหน้าที่ในการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อนำตนออกจากทุกข์แล้ว ยังมีภาระหน้าที่ในการทรงจำพระพุทธพจน์ เพื่อสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ควบคู่กันไปอีกด้วย   พระสาวกสมัยพุทธกาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งที่จะต้องท่องบ่น สาธยายพระพุทธพจน์  เพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหลัก  ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งความเพียรเพื่อนำตนออกจากทุกข์ในสังสารวัฏ  จึงหาวิธีที่จะทรงจำพระพุทธพจน์ให้เป็นกิจกรรมในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิภาวนา

             การสวดมนต์  ที่ต้องสวดเป็นภาษาบาลีเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพระพุทธพจน์ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งกระทำควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิภาวนา เป็นกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์สาวกในสมัยพุทธกาล  ที่ถ่ายทอด   สืบต่อมาสู่พระสงฆ์สาวกในยุคปัจจุบัน

             รายละเอียดเรื่องอานุภาพของการเจริญพระพุทธมนต์  ผู้เขียนได้เขียนไว้แล้วในหนังสือ “พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์

การแสดงอาบัติ

กิจอีกอย่างหนึ่ง ที่พระสงฆ์ถือเป็นข้อปฏิบัติก่อน หรือหลังจากการทำวัตรสวดมนต์ คือ การแสดงอาบัติ

การแสดงอาบัติ คือ การบอกอาบัติที่พระภิกษุต้องเข้าแล้วให้พระภิกษุรูปอื่นได้รับทราบ  เพื่อเป็นการเตือนสติตนเองว่าจะตั้งใจปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น โดยยืนยันว่าจะไม่ทำ ไม่พูด ไม่คิดอย่างนั้นอีก  เป็นการดำเนินตามปฏิปทาของพระโสดาบัน  คือ ผู้เป็นพระโสดาบันนั้น แม้จะยังมีข้อผิดพลาดทางกาย ทางวาจา หรือทางใจอยู่บ้างก็จริง แต่เมื่อทำแล้วท่านไม่ปกปิดข้อผิดพลาดของตนไว้ พร้อมที่จะยอมรับ และเปิดเผยสิ่งที่ได้กระทำตามความเป็นจริง  โดยกระทำให้ถูกต้องตามวิธีการทางพระวินัยกำหนดไว้

การแสดงอาบัติของภิกษุเป็นการดำเนินตามปฏิปทาของพระโสดาบัน  เมื่อพระภิกษุต้องอาบัติแล้วจึงต้องแสดงอาบัติทันที  พระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบัน  จึงมีการแสดงอาบัติเช้า-เย็น เพื่อเป็นการเตือนสติให้มีจิตตั้งมั่นในการละบาปแม้เล็กน้อยและทำความดีต่อไป อันเป็นการเจริญรอยตามปฏิปทาของพระโสดาบัน

คำแสดงอาบัติ

 พระภิกษุผู้จะแสดงอาบัติ ห่มจีวรให้เรียบร้อย หันหน้าเข้าหากัน  พรรษาอ่อน  กราบ  ๑  หน

(ผู้แสดงพรรษาอ่อนว่า) สัพพา ตา อาปัตติโย  อาโรเจมิ  (ว่า ๓ หน)

   สัพพา  คะรุละหุกา  อาปัตติโย  อาโรเจมิ  (ว่า ๓ หน)

   อะหัง  ภันเต  สัมพะหุลา  นานาวัตถุกาโย  อาปัตติโย  อาปัชชิง  ตา ตุมหะ  มูเล ปะฏิเทเสมิ

(ผู้รับพรรษาแก่ว่า)  ปัสสะสิ  อาวุโส  ตา  อาปัตติโย

(ผู้แสดงพรรษาอ่อนว่า) อุกาสะ อามะ ภันเต ปัสสามิ

(ผู้รับพรรษาแก่ว่า) อายะติง  อาวุโส  สังวะเรยยาสิ

(ผู้แสดงพรรษาอ่อนว่า) สาธุ  สุฎฐุ  ภันเต  สังวะริสสามิ

 ทุติยัมปิ  สาธุ  สุฎฐุ  ภันเต  สังวะริสสามิ

  ตะติยัมปิ  สาธุ  สุฎฐุ  ภันเต  สังวะริสสามิ

   นะ  ปุเนวัง  กะริสสามิ

    นะ  ปุเนวัง  ภาสิสสามิ

     นะ  ปุเนวัง  จินตะยิสสามิ  (จบพรรษาอ่อน)

 (ผู้แสดงพรรษาแก่ว่า) สัพพา  ตา  อาปัตติโย  อาโรเจมิ  (ว่า ๓ หน)

   สัพพา  คะรุละหุกา  อาปัตติโย  อาโรเจมิ (ว่า ๓ หน)

    อะหัง  อาวุโส  สัมพะหุลา  นานาวัตถุกาโย

    อาปัตติโย อาปัชชิง  ตา ตุยหะ  มูเล ปะฏิเทเสมิ

(ผู้รับพรรษาอ่อนว่า) อุกาสะ  ปัสสะถะ  ภันเต  ตา  อาปัตติโย

(ผู้แสดงพรรษาแก่ว่า) อามะ  อาวุโส  ปัสสามิ

(ผู้รับพรรษาอ่อนรับว่า) อายะติง  ภันเต  สังวะเรยยาถะ

(ผู้แสดงพรรษาแก่ว่า) สาธุ  สุฎฐุ  อาวุโส  สังวะริสสามิ

  ทุติยัมปิ  สาธุ  สุฎฐุ  อาวุโส  สังวะริสสามิ

   ตะติยัมปิ  สาธุ  สุฎฐุ  อาวุโส  สังวะริสสามิ

     นะ  ปุเนวัง  กะริสสามิ

      นะ  ปุเนวัง  ภาสิสสามิ

       นะ  ปุเนวัง  จินตะยิสสามิ (จบพรรษาแก่)

(ผู้แสดงพรรษาอ่อน) เริ่มต้นว่าอีก ๑ รอบ เสร็จแล้ว กราบ ๑ หน

คำแปล

(ผู้แสดงพรรษาแก่ว่า) กระผมบอกอาบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น

 กระผมขอบอกอาบัติหนักอาบัติเบาทั้งหลาย                       

  ท่านขอรับกระผมต้องอาบัติหนักต่างมากอย่างจึงแสดงคืนแก่ท่าน

(ผู้รับพรรษาออนว่า) ผู้มีอายุ ท่านเห็นอาบัติเหล่านั้นหรือ

(ผู้แสดงพรรษาแก่ว่า)  ขอโอกาส กระผมเห็นขอรับ

(ผู้รับพรรษาอ่อนว่า)    ท่านพึงสำรวมต่อไป

(ผู้แสดงพรรษาแก่ว่า) ท่านขอรับ  ผมจักสำรวมระวังให้ดี  แม้ครั้งที่สองฯลฯ  แม้ครั้งที่สาม ฯลฯ กระผมจักไม่ทำ  จักไม่พูด  จักไม่คิดอย่างนั้นอีกต่อไป

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๑๐ : การทำวัตรสวดมนต์และการแสดงอาบัติ : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here