พระประธานในพระอุโบสถ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระประธานในพระอุโบสถ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ ยังอยู่ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ไทย และวันครอบครัว อีกทั้งยังเป็นวาระที่เราทุกคนต่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อมวลมนุษยชาติร่วมกัน ในการช่วยชลอและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -๑๙ ด้วยการอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน สร้างสรรค์งานที่บ้าน ให้กำลังใจกันและกัน เกื้อกูลกันในสิ่งที่เราต่างทำได้ในเวลานี้ ปลูกพืชผักสวนครัว และสมุนไพร กินอาหารเป็นยาเพิ่มภูมิต้านทานชีวิต ขณะเดียวกัน จิตก็ต้องการภูมิต้านทานเหมือนกัน ด้วยธรรมะ หากเรามีธรรมะครองใจ ก็จะไม่หวั่นไหวไปกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่าย อีกทั้งยังช่วยจรรโลงครอบครัว และสังคมมิให้ตื่นตระหนกไปกับข่าวสารเชิงลบ ช่วยให้กำลังใจกันและกัน สร้างสรรค์ความคิดดีๆ สู่การกระทำดีๆ และกล่าววาจาที่ให้พลังกันและกัน

ในช่วงเวลานี้ก็จะเป็นโอกาสอันงามที่เราจะได้ทบทวนตนเอง และค่อยๆ เริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการทำบ้านให้เป็นวัด ปฏิบัติธรรมเจริญสติในทุกอิริยาบถของการทำงานบ้าน ทุกการคิด พูด และทำ กับคนในบ้านด้วยวาจาแห่งรักและเมตตา พลังบวกก็จะแผ่ออกไปอย่างไม่มีประมาณสู่เพื่อนบ้านและสังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้ก็จะได้รับความเย็นใจจากเรา

แม้เราเป็นจุดหนึ่งเล็กๆ ของสังคม ก็สามารถที่จะช่วยกันสร้างสรรค์โลกให้เกิดความร่มเย็นได้ในภาวะโรคระบาดเช่นนี้ และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากเรามีมรณานุสติเป็นเพื่อนก็พร้อมที่จะจากไปอย่างสงบ จึงขอน้อมนำธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น มาเป็นธรรมบรรณาการ เป็นแรงบันดาลใจในช่วงเวลาที่เราต่างต้องการกำลังใจซึ่งกันและกันและก้าวผ่านไปด้วยจิตใจดี

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“การได้อ่านพระไตรปิฎก

ก็เหมือนการได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์”

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ (ฉบับที่ ๑)

กรุงเทพมหานคร, ระหว่างพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๙

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

คำนำผู้เขียน

ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชรา

โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน

การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น

หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖

เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

พระมหาเทอด ญาณวชิโร

มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗

พระมหาเทอด ญาณวชิโร
พระมหาเทอด ญาณวชิโร

เจริญพรโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง

ในพรรษานี้  อาตมาได้ซื้อพระไตรปิฎกมาชุดหนึ่ง  ๔๕ เล่ม พระไตรปิฎกนี้ เป็นหนังสือรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเท่าที่พระสาวกในสมัยพุทธกาลรวบรวมไว้ได้ การได้อ่าน พระไตรปิฎก ก็เหมือนการได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วฟังธรรม เฉพาะพระพักตร์

คัมภีร์พระไตรปิฎกนั้นมี ๓ ชุด คือ

(๑) พระวินัยปิฎก คัมภีร์บันทึกคำสอน ในส่วนที่เป็นวินัย หรือ ศีลของภิกษุและภิกษุณี ตลอดจนระเบียบแบบแผนต่างๆ เพื่อความงดงามเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระสงฆ์ใน พระพุทธศาสนา

 (๒) พระสุตตันตปิฎก คัมภีร์บันทึกเทศนาของพระพุทธเจ้าที่พระองค์เทศนาโปรดบุคคลในโอกาสต่างๆ ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ตลอดจนคำสอนของพระสงฆ์สาวกทั้งที่เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก  และ อุบาสิกา ที่พระองค์ทรงรับรองว่าถูกต้องตามธรรมตามวินัย

(๓) พระอภิธรรมปิฎก คัมภีร์ที่บันทึกหัวข้อธรรม ที่แสดงสภาวะของจิตล้วนๆ พระอภิธรรมเป็นธรรมะที่สำคัญ พระพุทธเจ้าจึงเลือกไปแสดงโปรดพระพุทธมารดา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระองค์ใช้เวลาเทศนาอยู่ ๑ พรรษาจึงจบ ส่วนพระพุทธมารดา เมื่อฟังพระพุทธเจ้าเทศนากัณฑ์นี้จบแล้ว ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล (ฟังแล้วดูชื่นใจ)

เนื้อหาพระอภิธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดพระพุทธมารดานั้น มี ๗ หมวด คือ (๑) ธัมมสังคณี   (๒) วิภังค (๓) ธาตุกถา (๔) ปุคคลบัญญัติ (๕) กถาวัตถุ (๖) ยมก (๗) ปัฏฐาน

พระสงฆ์นำมาใช้สวดในงานทำบุญอุทิศให้ผู้วายชนม์ในปัจจุบัน   เราเรียกกันว่า “พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์”   และในวันที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ได้มีประชาชนมารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก  จึงเกิดประเพณี ตักบาตรเทโวโรหณะ หลังออกพรรษา มาจนถึงปัจจุบัน

รวมคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ชุด

เรียกว่า “พระไตรปิฎก”

พระไตรปิฎกนี้ พระสงฆ์ทรงจำไว้เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าด้วยการท่องบ่นสาธยายมาตั้งแต่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ตั้งต้นแต่พระอุบาลีเถระ ทำหน้าที่ทรงจำพระวินัย พระอานนท์เถระ ทรงจำพระสูตร และพระสารีบุตรเถระทรงจำพระอภิธรรม ปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างในปัจจุบัน คือ การสวดพระปาฏิโมกข์ในวันอุโบสถ การเจริญพระพุทธมนต์ และการทำวัตรสวดมนต์ของพระสงฆ์

ภายหลังพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ ๓ เดือน ได้มีการจัดระเบียบแบบแผน การทรงจำคำสอนใหม่ให้เป็นระบบมากขึ้น เรียกว่า “การสังคายนา” โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน

การสังคายนาหรือการรวบรวมคำสอนนี้ พระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธองค์ และเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในสมัยนั้น  ได้มีการริเริ่มทำไว้เป็นแบบอย่าง ตั้งแต่สมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่  จนเกิดพระสูตรๆ หนึ่งชื่อ สังคีติสูตร แปลว่า พระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือพระสูตรว่าด้วยการจัดระเบียบคำสอนนั่นเอง

ภายหลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานประมาณ ๔๕๐ ปี จึงได้มีการบันทึกคำสอนเป็นตัวหนังสือ การบันทึกคำสอนเป็นตัวหนังสือเกิดขึ้นที่ทวีปลังกา หรือประเทศศรีลังกาที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

 อาตมาบวชมาตั้งแต่เยาว์วัย จนบัดนี้ย่างเข้าวัยหนุ่ม เคยตั้งใจไว้ว่า จะหาโอกาสอ่านพระไตรปิฎก ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าให้สมกับที่ได้เกิดมาบวชในพระพุทธศาสนา เป็นความตั้งใจมานานแล้วว่า เมื่อบวชเป็นพระภิกษุ จะอ่านพระไตรปิฎกสักรอบเป็นอย่างน้อย บัดนี้ก็พอจะมีเวลาบ้างแล้ว

ทุกครั้งที่เปิดหนังสือพระไตรปิฎกออกอ่าน  มีความรู้สึก เหมือนนั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ เมื่อพบข้อธรรมะที่ประทับใจ  อาตมาคิดถึงโยมทั้งสอง อยากให้โยมทั้งสองรู้ ในสิ่งที่อาตมารู้ อยากให้เห็น ในสิ่งที่อาตมาเห็น อยากให้อ่าน ในสิ่งที่อาตมาอ่าน

 แต่คงเป็นไปไม่ได้  เพราะเหตุผลและปัจจัยหลายอย่าง  จึงอยากเขียนจดหมายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ได้ศึกษาเล่าเรียนให้โยมทั้งสองฟัง

แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม ( โยมย่า)
แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม ( โยมย่า)

ตั้งใจจะส่งจดหมายฉบับนี้   ไปพร้อมกับโยมป้า  แต่เผอิญเขียนไม่ทันเพราะมีเรื่องโน้นเรื่องนี้ต้องทำจดหมายฉบับนี้จึงส่งมาช้ากว่ากำหนดหลายวัน ได้ฝากเพียงม้วนเทปธรรมะมาให้ เผื่อว่าจะได้ฟังไปก่อน ในวัยที่ล่วงเลยมาจนถึงบั้นปลายชีวิตเช่นนี้  อยากให้โยมทั้งสองตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลหน้าที่การงานอีกแล้ว ควรแสวงหาหลัก และที่พึ่งทางใจให้ตนเอง

พ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม  (โยมปู่)
พ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (โยมปู่)

ต่อไปนี้     ทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูกหลานจัดการดูแลกันเอง ให้โยมพ่อใหญ่โยมแม่ใหญ่ ตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล คนอื่นเขาจะเอาอะไร จะคิดอะไร จะรวยอย่างไรก็ช่างเขาเถอะ อย่าต้องการ อย่าอยากได้ อยากมีอย่างเขาอีกต่อไป เพราะเวลาแห่งความอยากได้อยากมีของคนแก่หมดลงแล้ว อย่าไปห่วงลูก ห่วงหลาน ห่วงทรัพย์สมบัติ ไม่ต้องคิดว่าอยากให้ลูกหลานเป็นโน่นเป็นนี่ ควรหาที่พึ่งอันแน่นอนให้ตัวเองก่อน ตั้งใจให้มั่งคงแน่วแน่ว่า

“เวลาที่เหลืออยู่  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะยึดมั่นในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง  สิ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่เอาแล้ว”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“การได้อ่านพระไตรปิฎก ก็เหมือนการได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์” จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ (ฉบับที่ ๑) จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here