“ลูกผู้ชายต้องบวช”

(ตอนที่ ๔๑) บรรพ์ที่ ๗

“สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร” คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน “เนื้อที่ทรงห้ามฉันและประวัติเกี่ยวกับเนื้อ”

เรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

เนื้อที่ทรงห้ามพระภิกษุฉัน

ชีวิตพระภิกษุเป็นชีวิตที่ต้องอาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีพ อาหารที่พระภิกษุฉันจึงขึ้นอยู่กับชาวบ้าน ชาวบ้านถวายสิ่งใดพระภิกษุก็ต้องฉันสิ่งนั้น   จะเลือกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้   เพราะถ้าเลือกก็จะทำให้ชาวบ้านเกิดความลำบาก

พระภิกษุที่เลือกว่าต้องฉันอาหารอย่างนั้นต้องฉันอาหารอย่างนี้  พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “ผู้เลี้ยงยาก” นอกจากทำตัวเองให้ลำบากแล้ว  ยังทำคนอื่นให้ลำบากด้วย  เช่น ชาวบ้านกินผักพระภิกษุก็จะฉันเนื้อ  หรือ ชาวบ้านกินเนื้อพระภิกษุก็จะฉันผัก อย่างนี้เรียกว่าทำตัวให้เลี้ยงยาก  ไม่ดำรงชีวิตตามมีตามได้ (ยถาปัจจัย) แต่ดำรงชีวิตตามความยึดมั่นถือมั่นที่ตนอยากให้มีอยากให้เป็น

หลักการฉันอาหารของพระภิกษุ ท่านไม่ให้ใส่ใจอาหารที่ฉัน แต่ให้ใส่ใจวิธีฉัน  อาหารจะเป็นชนิดไหนไม่สำคัญเท่ากับฉันแล้วทำอย่างไรจะให้เกิดปัญญา

ท่านจึงให้พิจารณาโดยละเอียดว่า  การฉันอาหารไม่ได้ฉันด้วยความเอร็ดอร่อยเมามัน  ไม่ได้ฉันเพื่อให้ร่างกายมีผิวพรรณดี รูปร่างดี  แต่ฉันเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้เพื่อเกื้อกูลต่อการบำเพ็ญคุณงามความดี และเพื่อเป็นการขจัดความหิวซึ่งเป็นเวทนาทางกายอันเป็นสาเหตุให้ชีวิตดำรงอยู่อย่างไม่ผาสุก

นอกจากนั้น ท่านยังให้พิจารณาโดยรวมว่า  อาหารที่ฉันนั้นเป็นเพียงธาตุที่ตั้งอยู่ตามธรรมชาติ มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  เป็นของปฏิกูล  มีความเปื่อยเน่าไปเป็นธรรมดา  และกำลังเปื่อยเน่าไปตามเหตุปัจจัย  เมื่อมาอยู่ในร่างกายซึ่งเปื่อยเน่าอยู่แล้ว  ก็ยิ่งเป็นของเปื่อยเน่าเข้าไปอีก จึงไม่ควรยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  อาหารทุกอย่างที่ได้รับจากการบิณฑบาต ให้พิจารณาเป็นเพียงธาตุ ไม่ให้แบ่งแยกชนิดว่าเป็นนั่นเป็นนี่  ไม่แบ่งแยกว่าเป็นเนื้อ เป็นผัก แล้วไปมีอัตตาผูกติดเข้าไปจนเกิดอุปาทานยึดมั่นว่า เป็นนั่นเป็นนี่

เนื้อ ๑๐ ชนิด

อย่างไรก็ตาม ในพระวินัยระบุเนื้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระภิกษุฉันไว้ ๑๐ ชนิด พระภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ปรับอาบัติถุลลัจจัย และปรับอาบัติทุกกฏสำหรับเนื้อที่เหลือ 

เนื้อ ๑๐ ชนิด คือ 

๑.  เนื้อมนุษย์ 

๒.  เนื้อช้าง

๓.  เนื้อม้า

๔.  เนื้อสุนัข

๕.  เนื้องู

๖.  เนื้อสีหะ 

๗.  เนื้อเสือโคร่ง

๘.  เนื้อเสือเหลือง

๙.  เนื้อหมี

๑๐.  เนื้อเสือ

การที่ทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์ รวมทั้งเลือดมนุษย์ด้วย เพราะไม่ควรด้วยประการทั้งปวงอีกทั้งทำให้พระภิกษุดูเป็นคนมีจิตใจเหี้ยมโหด แต่ถ้าเลือดออกตามไรฟันพระภิกษุกลืนเข้าไปไม่เป็นอาบัติ เนื่องจากเป็นเลือดที่อยู่ในปากตนเอง

ห้ามฉันเนื้อช้าง  เนื้อม้า   เพราะเป็นสัตว์ใหญ่ และเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านถือว่ามีคุณประโยชน์มาก นอกจากนั้น ยังเป็นสัตว์ที่พระเจ้าแผ่นดินสงวนไว้เป็นพระราชพาหนะด้วย

ห้ามฉันเนื้อสุนัข  เนื้องู  เนื้อราชสีห์  เนื้อเสือโคร่ง  เนื้อเสือเหลือง  เนื้อหมี  และเนื้อเสือดาว เพราะเป็นสัตว์ดุร้าย   และเป็นสัตว์ที่มีสัมผัสดี หากพระภิกษุฉันเนื้อสัตว์เหล่านี้แล้ว กลิ่นตัวก็จะปรากฎ พระภิกษุเดินอยู่ตามป่าเขาอาจเกิดอันตรายจากสัตว์เหล่านี้ได้

เนื้อชนิดอื่นนอกจากเนื้อ ๑๐ ชนิดนั้นที่ชาวบ้านใช้ปรุงเป็นอาหารเพื่อครอบครัว แล้วแบ่งมาถวายพระภิกษุ  หรือเนื้อที่เขาขายตามร้านตลาด คนไปซื้อมาทำเป็นอาหารเพื่อครอบครัว หรือเพื่อกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งของชาวบ้านแล้วแบ่งถวายพระภิกษุ ทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันได้ เพราะถือว่าเป็นอาหารของชาวบ้าน ไม่ใช่เนื้อที่เขาฆ่าเจาะจงเอามาถวายพระภิกษุ  อาหารที่ปรุงจากเนื้อเหล่านี้เป็นของบริสุทธิ์โดยส่วน  ๓  คือ

พระภิกษุไม่เห็นว่าเขาฆ่าเพื่อตน

พระภิกษุไม่ได้ยินว่าเขาฆ่าเพื่อตน

พระภิกษุไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน

เนื้อบริสุทธิ์ทั้งส่วน ๓ นี้ พระภิกษุฉันได้ เพราะเมื่อไม่รับรู้ที่มาที่ไปทั้ง ๓ ส่วน ก็เป็นเพียงสักว่าธาตุหรือสารอาหารชนิดหนึ่ง (ธาตุมัตตะโก) ที่มีอยู่ตามธรรมดา ไม่ใช่สัตว์ (นิสสัตโต) ไม่ใช่ชีวิต(นิสชีโว) ว่างเปล่าจากความหมายว่าเป็นตัวเป็นตน หรือ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (สุญโญ) อาหารนั้นก็สักแต่ว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติ เป็นสสารและพลังงานเพื่อให้กายดำรงอยู่เท่านั้น จึงไม่มีโทษทางวินัย 

เพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุคิดมาก เป็นกังวลเกี่ยวกับอาหารจนเกิดปลิโพธ ไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม พระพุทธองค์จึงแนะนำให้พระภิกษุพิจารณาอาหารทุกชนิดที่อยู่เบื้องหน้าเป็นเพียงสักว่าธาตุที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติเป็นธรรมดา ดังปรากฏในบทสวดพิจารณาปัจจัย ๔ ว่า

ยะถาปัจจะยัง  ปะวัตตะมานัง  ธาตุมัตตะเมเวตัง  ยะทิทัง  ปิณฑะปาโต  ตะทุปะภุญชะโก  จะ  ปุคคะโล  ธาตุมัตตะโก  นิสสัตโต  นิชชีโว  สุญโญ  สัพโพ  ปะนายัง  ปิณฑะปาโต  อะชิคุจฉะนีโย  อิมัง  ปูติกายัง  ปัตะวา  อะติวิยะ  ชิคุจฉะนีโย  ชายะติ  ฯ

คำแปล

สิ่งเหล่านี้  คือ  บิณฑบาต  และบุคคลผู้บริโภคบิณฑบาตนั้น  เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น  มิได้เป็นสัตว์  ชีวิต  บุรุษ  บุคคลที่ยั่งยืน  ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน  บิณฑบาตทั้งหมดนี้  มิได้เป็นของน่าเกลียดมาแต่เดิม  แต่ครั้นมาสัมผัสกับร่างกายอันเปื่อยเน่าอยู่เป็นนิจนี้แล้ว  ก็กลับกลายเป็นของน่าเกลียดมากยิ่งขึ้นไปด้วยกันอีก  สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น  กำลังเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่เนืองนิจ

ดังนั้น  พระภิกษุจะฉันเนื้อหรือฉันผัก ไม่ใช่เหตุผลที่สำคัญ ขอให้อยู่ในหลักการที่พระพุทธองค์แนะนำ อย่าให้การฉันหรือไม่ฉันเนื้อ ทำให้เกิดอัสมิมานะ คือ ความถือตัวดูหมิ่นดูแคลนกันและกัน  เป็นเหตุให้ยกตนข่มท่านว่า เราเก่งกว่าคนนนั้น   พวกเราเก่งกว่าพวกนั้น เป็นกิเลสอย่างใหม่เกิดซ้อนทับขึ้นมาอีก

ไม่ฉันเนื้อเพื่อยกตนข่มท่าน

กรณีพระเทวทัต

พระเทวทัตเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า ฝ่ายกรุงเทวทหะ ออกบวชพร้อมกับพระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายศากยวงศ์กรุงกบิลพัสดุ์ และพระอุบาลี ซึ่งเป็นพนักงานภูษามาลาในราชสำนัก เมื่อพระเทวทัตบวชแล้วเห็นลาภสักการะเกิดขึ้นในพระศาสนามาก จึงอยากเป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าขอปกครองภิกษุสงฆ์เอง

แม้พระพุทธเจ้าตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง แต่พระเทวทัตก็ยังกราบทูลเช่นนั้น ในที่สุดพระพุทธองค์ตรัสว่า แม้แต่พระสารีบุตรและโมคคัลลานะพระองค์ก็ยังไม่มอบให้ปกครองสงฆ์ แล้วไฉนพระองค์จะมอบให้พระเทวทัตปกครองสงฆ์  แล้วทรงตำหนิพระเทวทัตว่าเหมือนคนคอยกลืนกินน้ำลายตนเอง

พระเทวทัตคิดว่า พระบรมศาสดาทรงตำหนิตนท่ามกลางสงฆ์  แต่กลับทรงยกย่องพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จึงบังเกิดความโกรธ และผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้านับแต่นั้นมา

ต่อมาพระเทวทัตได้ยุยงพระเจ้าอชาตศัตรูให้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารพระชนก แล้วอภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ส่วนพระเทวทัตได้พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ด้วยหวังจะปกครองสงฆ์ ได้ส่งพลธนูไปซุ่มยิงพระพุทธเจ้า เมื่อไม่สำเร็จตามที่มุ่งหวัง พระเทวทัตจึงขึ้นภูเขาคิชฌกูฏเอง กลิ้งก้อนศิลาใหญ่ลงมา ด้วยหมายใจว่าจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ขณะที่ก้อนศิลากลิ้งลงมา ได้กระทบยอดบรรพตสองยอด สะเก็ดศิลากระเด็นมากระทบพระบาทพระพุทธเจ้า  ทำให้ห้อพระโลหิต

จากนั้น ได้ปล่อยช้างหลวงชื่อ นาฬาคิรี ซึ่งกำลังตกมัน ไปปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแผ่เมตตาจิตไปสู่ช้างนาฬาคิรี เมื่อช้างนาฬาคิรีได้สัมผัสเมตตาจิตของพุทธองค์แล้ว ก็ละพยศลดงวงลง เดินเข้าไปหาพระพุทธองค์หมอบลงตรงพระพักตร์ พระพุทธองค์ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบกระพอง 

ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์นั้นต่างพูดกันว่า การกระทำเช่นนี้ทั้งหมดเป็นฝีมือพระเทวทัต  แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ยังคบภิกษุเช่นนี้อยู่อีก

พระราชาอชาตศัตรู ทรงสดับเสียงเล่าลือของประชาชนจึงรับสั่งให้ถอนสำรับ ๕๐๐ ที่เคยอุปัฏฐากพระเทวทัตคืนมา แล้วมิได้เสด็จไปอุปัฏฐากพระเทวทัตอีกเลย ประชาชนต่างหมดศรัทธาเลื่อมใส ไม่มีใครต้อนรับพระเทวทัต พระเทวทัตเสื่อมจากลาภสักการะ  จึงวางแผนการใหม่  เป็นเหตุแห่งการทำลายสงฆ์ให้แตกจากกัน(สังฆเภท)

พระเทวทัตได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลขอข้อวัตรปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์เพื่อให้พระบรมศาสดาบัญญัติให้ภิกษุปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  ข้อวัตรปฏิบัตินั้นมี  ๕ ประการ คือ

๑. ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต

๒. ภิกษุทั้งหลายพึงอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต

๓. ภิกษุทั้งหลายพึงเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต

๔. ภิกษุทั้งหลายพึงใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต

๕. ภิกษุทั้งหลายพึงอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต

  พระพุทธองค์ตรัสห้ามพระเทวทัตพร้อมให้เหตุผลว่า ทรงอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน และไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน สำหรับการอยู่ป่าตลอดชีวิต การเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต การใช้ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ทรงอนุญาตให้ถือข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ตามความปรารถนาของตนเองเป็นที่ตั้ง ภิกษุรูปใดปรารถนาถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร หรือถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ก็ให้ปฏิบัติตามนั้น ใครไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องปฏิบัติ สำหรับประการสุดท้ายทรงอนุญาตให้พระภิกษุอาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ ได้เพียง ๘ เดือน นอกฤดูฝนเท่านั้น  เนื่องจากการอยู่ป่าในฤดูฝนจะทำให้ภิกษุสงฆ์เกิดความลำบาก

ที่จริงพระเทวทัตก็รู้อยู่ว่าอย่างไรพระพุทธเจ้าก็คงไม่ทรงอนุญาต ซึ่งจะได้เป็นช่องในการยกตนข่มท่าน เมื่อพระเทวทัตได้ยินว่าพระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต จึงเกิดความดีใจที่สมกับความปรารถนาของตน ที่จักทำให้ประชาชนเห็นว่าตนเป็นผู้มีข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งกว่าพระพุทธเจ้า  จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกลับไปพร้อมพระภิกษุสาวกของตน

รุ่งขึ้นอีกวัน  พระเทวทัตพร้อมด้วยพระภิกษุสาวกเข้าไปกรุงราชคฤห์ ประกาศให้ประชาชนทราบความที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตข้อวัตรที่เคร่งครัดที่ตนสมาทานและประพฤติปฏิบัติอยู่ คือ ไม่ฉันปลาและเนื้อแต่จะฉันอาหารประเภทผักตลอดชีวิต  อยู่ป่าใช้ชีวิตอย่างพระป่าตลอดชีวิต  เที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ต้องฉันในบาตรเท่านั้น อาหารที่ถวายด้วยภาชนะอย่างอื่นซึ่งไม่ได้ใส่ลงไปในบาตรไม่ฉัน จะจัดอาหารใส่ภาชนะอย่างอื่นไม่เอา ใช้ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต  ถ้าผ้าที่ชาวบ้านถวายไม่ใช้  และอยู่โคนต้นไม้ตลอดชีวิต

คำประกาศนั้นทำให้ประชาชนที่ไม่ทราบตามความเป็นจริงของเหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตและไม่อนุญาตบางประการเพื่อให้การบำเพ็ญสมณธรรมอยู่บนทางสายกลางไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง กลับไปเข้าใจว่าพระเทวทัตเคร่งครัดกว่า ส่วนพระพุทธเจ้ามีความประพฤติมักมาก คิดเพื่อความสะดวกสบาย และทำให้พระภิกษุบวชใหม่ที่ไม่เข้าใจเหตุผลของพระพุทธเจ้าเช่นกัน อีกทั้ง ยังไม่รู้ทั่วถึงพระธรรมวินัยพากันหลงเชื่อยอมตนเข้าเป็นสาวกจำนวนมาก

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ ให้พระเทวทัตมาเฝ้า รับสั่งถาม พระเทวทัตรับว่าจริงตามนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อย่าพอใจการทำให้สงฆ์เกิดความแตกแยกเลย เพราะการทำให้สงฆ์แตกแยกมีโทษหนัก ผู้ใดทำให้สงฆ์แตกแยกย่อมประสบโทษและหมกไหม้ในนรกตลอดกัป

พระเทวทัตมิได้ใส่ใจในโอวาทของพระพุทธองค์ หลีกไปจากที่นั้น เช้าวันต่อมา พระเทวทัตพบพระอานนท์ขณะกำลังบิณฑบาต ได้บอกความประสงค์ของตนว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจะทำอุโบสถสังฆกรรมแยกจากพระผู้มีพระภาคเจ้า แยกจากภิกษุสงฆ์อื่น

เมื่อพระอานนท์กลับจากบิณฑบาต ได้นำความนั้นกราบทูลพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า

                        ความดี คนดีทำง่าย คนชั่วทำยาก

                    ความชั่ว คนชั่วทำง่าย แต่คนดีทำยาก

            ครั้นถึงวันอุโบสถ พระเทวทัตประกาศให้พระภิกษุจับสลากเลือกเอา พร้อมกับกล่าวว่า ข้อวัตรปฏิบัติทั้ง ๕ ประการนี้ ผู้ใดเห็นชอบผู้นั้นจงจับสลาก

พระภิกษุผู้บวชใหม่ ชาวเมืองเวสาลีประมาณ ๕๐๐ รูป ยังไม่รู้พระธรรมวินัย เข้าใจว่า นี้คือธรรม นี้คือวินัย จึงจับสลากเลือกข้อวัตรปฏิบัตินั้น ครั้นพระเทวทัตทำลายสงฆ์แล้ว ได้นำพระภิกษุผู้บวชใหม่ ๕๐๐ รูปหลีกไปทางคยาสีสะ

พระบรมศาสดาตรัสกับพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะว่า หากพวกเธอยังมีความการุญในพระภิกษุผู้บวชใหม่เหล่านั้นอยู่ จงรีบไปนำพระภิกษุเหล่านั้น ซึ่งกำลังจะถึงความย่อยยับกลับมา พระอัครสาวกทั้งสองจึงเดินทางไปคยาสีสะ

พระเทวทัตเห็นพระอัครสาวกทั้งสองตามมาเข้าใจว่า พระอัครสาวกตามมาเพราะชอบใจธรรมของตน จึงนิมนต์ให้นั่ง ขณะนั้น พระเทวทัตกำลังแสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลาย โดยได้แสดงลีลาอาการเลียนแบบตามอย่างพระพุทธเจ้า เชื้อเชิญพระสารีบุตรว่า สารีบุตร บัดนี้พระภิกษุสงฆ์ปราศจากความง่วงแล้ว ท่านจงแสดงธรรมกถาต่อจากเราเถิด เราเมื่อยหลัง จะนอนพักสักหน่อย เพราะความเหน็ดเหนื่อยจึงทำให้พระเทวทัตหมดสติสัมปชัญญะเผลอหลับไป

พระสารีบุตรได้กล่าวสอนพระภิกษุผู้บวชใหม่เหล่านั้น ทั้งด้วยธรรมกถาและการว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอน ส่วนพระมหาโมคคัลลานะก็กล่าวสอนทั้งด้วยธรรมกถาและการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เมื่อพระมหาเถระทั้งสองกล่าวสอนอยู่ พระภิกษุผู้บวชใหม่เหล่านั้นได้ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี

จากนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้นำพระภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้น กลับไปยังพระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์

พระโกกาลิกะ (๑) ซึ่งเป็นสาวกผู้ใหญ่ของพระเทวทัต ปลุกพระเทวทัตให้ลุกขึ้นกล่าวว่า ท่านเทวทัตลุกขึ้นเถิด พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะพาพระภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว เราบอกท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าไว้วางใจพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ เพราะทั้งสองมีเจตนาไม่ดี       ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก  จึงเอาเข่ากระทุ้งยอดอกพระเทวทัต  จนเลือดอุ่นๆ พุ่งออกจากปากของพระเทวทัต

เพราะความตรอมใจทำให้พระเทวทัตอาพาธนานถึง ๙ เดือน และนับวันอาการก็ยิ่งหนักลงเรื่อยๆ ในที่สุดจึงกลับได้สำนึก ใคร่จะเฝ้าพระพุทธองค์ จึงขอร้องพระภิกษุสาวกของตนที่ยังเหลืออยู่ให้ช่วยนำไป พระภิกษุพวกนั้นกล่าวว่า ท่านได้ประพฤติตนมีเวรกับพระพุทธเจ้าไว้มากนัก  จึงไม่อาจนำท่านไปเฝ้าได้

พระเทวทัตกล่าวว่า อย่าทำให้เราพินาศเลย แม้เราจะผูกอาฆาตในพระพุทธเจ้า แต่พระองค์หามีความอาฆาตตอบแม้ประมาณเท่าปลายผมไม่  เราจักไปขมาโทษ

แท้จริงแล้ว แม้พระเทวทัตจะทำเช่นนั้น แต่พระพุทธองค์ก็ทรงมีน้ำพระทัยต่อพระเทวทัตเสมอกับบุคคลทั่วไป เช่น นายขมังธนู โจรองคุลิมาล ช้างนาฬาคิรี และพระราหุล เป็นต้น

พระเทวทัตได้ร้องขอวิงวอนแล้ววิงวอนเล่า ให้พระภิกษุนำไปเฝ้าพระผู้มีพระพุทธองค์ สาวกเหล่านั้นจึงเอาเตียงหามพระเทวทัตไปตั้งแต่กรุงราชคฤห์จนถึงกรุงสาวัตถี พระภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวจึงเข้าไปกราบทูลให้พระบรมศาสดาทราบ พระองค์ตรัสว่า เทวทัตนั้นจักไม่มีโอกาสได้เห็นพระองค์อีกเลยในชาตินี้

แม้เหล่าพระภิกษุจะได้เข้ากราบทูลให้ทรงทราบเป็นระยะๆ ว่าพระเทวทัตมาถึงอีกประมาณหนึ่งโยชน์แล้ว คาวุตหนึ่งแล้ว มาถึงที่ใกล้สระโบกขรณีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังทรงรับสั่งเช่นเดิมว่า แม้พระเทวทัตจะเข้ามาจนถึงพระเชตวันแล้ว พระเทวทัตก็จะไม่มีโอกาสได้เห็นพระองค์ในชาตินี้

เมื่อสาวกนำพระเทวทัตมาใกล้พระเชตวัน วางเตียงลงริมฝั่งสระโบกขรณี ต่างก็ลงไปอาบน้ำในสระ พระเทวทัตพยายามจะพยุงตัวลุกขึ้นจากเตียง พอวางเท้าลงบนพื้นดินเท้าทั้งสองก็จมลงในแผ่นดินโดยลำดับ ตั้งแต่ข้อเท้า เพียงเข่า เพียงเอว เพียงอก จนถึงคอ ในขณะที่คางจรดถึงพื้นดิน พระเทวทัตได้กล่าวเป็นครั้งสุดท้าย ว่า

                        ข้าพระองค์ขอถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ผู้เกิดด้วยบุญตั้งร้อย ว่าเป็นที่พึ่ง

            ด้วยอานิสงส์ที่พระเทวทัตสำนึกผิดเปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง ก่อนมรณภาพนี้  ภายหลังจากรับใช้กรรมแล้ว ในอนาคต พระเทวทัตจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า  นามว่า  อัฏฐิสสระ


(๑) พระโกกาลิกะ เป็นหนึ่งในจำนวนพระฉัพพัคคีย์ ทั้ง ๖ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการบัญญัติพระวินัยมากมาย

“ลูกผู้ชายต้องบวช” (ตอนที่ ๔๑) บรรพ์ที่ ๗ “สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร” คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน “เนื้อที่ทรงห้ามฉันและประวัติเกี่ยวกับเนื้อ” เรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here