พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และ พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียนหนังสือ "ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา"
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น และ พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียนหนังสือ “ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา”

ผู้เขียนเปิดบันทึกเมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และเลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ในขณะนั้น เมตตาให้ไปดำเนินรายการเสวนา เปิดตัวหนังสือ “ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท หนังสือรางวัลพระนักเขียนปัญจสิกขะ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๐

รางวัลพระนักเขียนปัญจสิกขะ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๐
รางวัลพระนักเขียนปัญจสิกขะ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๐

และกว่าจะมาเป็นหนังสือ ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา” เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ เป็นธรรมทาน ในคอลัมน์ “จาริกบ้านจารึกธรรม” หน้าพระไตรสรณคมน์ เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท มาก่อนในปีพ.ศ.๒๕๖๐

ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. ณ ศาลาสุวรณบรรพต (หลวงพ่อโชคดี) วัดสระเกศ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ เป็นประธานในพิธีงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา” โดยมี พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียนหนังสือ มาบอกเล่าประสบการณ์ในการลงไปทำงานร่วมกับพระธรรมทูตอาสา และบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

พร้อมกับ พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.ประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลพระนักเขียน และ พระครูโฆสิตสุตาภรณ์ ประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการเสวนา โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ บรรณาธิการอิสระ ผู้ดูแลหน้าธรรมวิจัย ทุกวันอังคาร และหน้าพระไตรสรณคมน์ ทุกวันพฤหัสบดี หนังสือพิมพ์คมชัดลึก จนสิ้นปี พ.ศ.๒๕๖๒ ก่อนที่นสพ.จะปิดตัวลงเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓ ที่ผ่านมา

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, พระครูโฆสิตสุตาภรณ์, พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, พระครูโฆสิตสุตาภรณ์, พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ ดำเนินรายการ

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี อธิบายว่า หนังสือ “ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา” มีเนื้อหาที่สื่อถึงเหตุการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยบอกเล่าประสบการณ์การทำงานของพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงแง่คิดต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นความเข็มแข็งของพระสงฆ์และชาวไทยพุทธได้อย่างดีเยี่ยม ที่สำคัญไม่ได้ทิ้งเอกลักษณ์ของงานทางพระพุทธศาสนาคือมีหลักธรรมประกอบไว้ในเนื้อหาตลอด จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ด้วยความรำลึกในความเมตตากรุณาของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ที่ให้โอกาสในการฝึกตนมาเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาหนังสือ และถวายความรู้ด้านการเขียนบทความแด่พระภิกษุสงฆ์ ในโครงการพระนักเขียน และช่วยเป็นบรรณาธิการหนังสือธรรมะร่วมสมัยที่พระอาจารย์หลายๆ ท่านเขียน ในช่วงที่นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ปิดตัวลงในกลางปี พ.ศ.๒๕๖๐ อีกทั้งผู้เขียนก็สูญเสียคุณแม่ในปลายปีเดียวกัน ในช่วงเวลาแห่งความทุกข์แสนสาหัส ท่านอาจารย์เจ้าคุณเมตตาให้มาฝึกตน นำความรู้ที่ทำสื่อมาตลอดชีวิตเกือบสามสิบปีมาถ่ายทอดผ่านตัวอักษรธรรม ถวายพระพุทธเจ้า ผู้เขียนจึงขอน้อมนำ บทความ ‘พูดแทนพระ’ บันทึกแห่งศรัทธา ‘ลมหายใจชายแดนใต้’ จากคอลัมน์ บันทึกธรรมวิจัย โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก )วันอังคารที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑ มาบันทึกไว้ในพื้นที่แห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง

'พูดแทนพระ' บันทึกแห่งศรัทธา 'ลมหายใจชายแดนใต้' จากคอลัมน์ บันทึกธรรมวิจัย โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก )วันอังคารที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑
‘พูดแทนพระ’ บันทึกแห่งศรัทธา ‘ลมหายใจชายแดนใต้’ จากคอลัมน์ บันทึกธรรมวิจัย โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก )วันอังคารที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑

“พูดแทนพระ”

บันทึกแห่งศรัทธา “ลมหายใจชายแดนใต้ ฯ”

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

พระครูโฆสิตสุตาภรณ์ และ พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
พระครูโฆสิตสุตาภรณ์ และ พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

“เรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ สืบเนื่องจากได้ลงไปทำงานกับคณะพระอาจารย์พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เก็บไว้ ภายหลังมาเขียนลงเฟสบุ๊ค เมื่อมีเรื่องราวต่างๆ มากพอ ก็ได้ส่งลงนสพ.คมชัดลึก จากนั้นจึงได้มารวมเล่มในครั้งนี้ “

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้ประสานงานโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา “หนังสือรางวัลพระนักเขียนปัญจสิกขะ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. ณ ศาลาสุวรณบรรพต (หลวงพ่อโชคดี) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่ผ่านมา

           หนังสือเล่มนี้ พระราชกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหารเลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ กล่าวว่า

เป็นหนังสือที่ “พูดแทนพระ” 

หมายความว่าอย่างไร ต้องเท้าความจุดกำเนิดของหนังสือไปตั้งแต่การที่ พระครูโฆสิตสุตาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม จ.ปัตตานี มาร่วมในโครงการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจัดขึ้นในโครงการ “ดีมั่นใจ ใต้มั่นคง” แล้วพระสงฆ์ที่มาร่วมงานก็รวมตัวกันเป็นพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตั้งให้ท่านเป็นประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคราวนั้นจึงได้พบกับ พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ที่ วัดมุจลิททวาปีวิหาร (วัดตุยง) พระอารามหลวง ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของหนังสือเล่มนี้

ท่านพระครูโฆสิตสุตาภรณ์ กล่าวว่า  จริงๆ แล้วอาตมาทำงานเผยแผ่มาตลอดหลายปี ใครๆ ก็ทราบว่า ในปี ๒๕๔๗ เกิดอะไรขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้นมีความกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ มีวันหนึ่ง ไฟดับทั้งเมือง ทั้งจังหวัด อย่างไม่มีสาเหตุ แต่วันนั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี

แม้ไม่มีอะไรเกิดขึ้นภายนอกในวันนั้น  แต่ภายในใจของผู้เขียนหนังสือ “ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา” เล่า …พระมหาอภิชาติ สะท้อนความรู้สึกในใจว่า ในช่วงเวลานั้น

“อาตมาเห็นความกลัวที่เกิดขึ้นในใจ แต่เราก็ต้องอยู่กับสถานการณ์นั้นให้ได้ โดยที่ไม่ได้แสดงความรู้สึกเหล่านั้นให้คนรอบข้างต้องกังวล เพราะเราต้องเดินทาง ต้องลงชุมชน เราก็ต้องทำตัวให้ปกติเหมือนอยู่วัด พระครูท่านก็บอกว่า รับรองความปลอดภัย แต่ความไม่ปลอดภัย ไม่รับรอง จึงเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วพอได้มาคุยกับญาติโยม เห็นความทุกข์ของเขา มันหนักกว่าการที่เราลงไปเพียงแค่ครั้งคราวที่เราได้รับรู้เรื่องราวในช่วงที่ลงไปเท่านั้นเอง แต่เขาต้องอยู่ในเหตุการณ์ตลอด”

ในฐานะของพระที่อยู่ในพื้นที่ พระครูโฆสิตสุตาาภรณ์ เสริมว่า มีวันหนึ่ง เกิดระเบิดปิงปองที่หน้าวัด  หน้าร้านซีดี แรงมาก ก่อนระเบิดมีคนขี่มอเตอร์ไซด์มาแล้วเดินเข้าไปในร้าน จากนั้น แรงระเบิดทำให้เซกันเลย

“โดยปกติ หลังเกิดระเบิด ก็มีคนเข้าไปช่วยกัน แต่หลังจากนั้นแวบเดียว ช่วงนั้น อาตมายืนอยู่คุยกับพระ ก็มีเสียงตูม ห่างจากระเบิดไม่มาก สะเก็ดระเบิดข้ามต้นไม้ลงหลังตา ยืนบนกุฏิแรงสั่นสะเทือนเลย หลังจากนั้นสามสิบนาทีกว่าเจ้าหน้าจะมา เขาก็ทราบว่า การที่เราจะเข้าไปช่วยเหตุการณ์นั้นจะมีระเบิดลูกที่สอง ที่สามตามมา หลังจากนั้น ก็เป็นข่าวว่า พระเข้าไปร้านซีดี แล้วเกิดระเบิด แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น”

           ความจริงมักเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นข่าวเสมอ หนังสือเล่มนี้เมื่อออกเดินทาง จึงทำหน้าที่พูดแทนพระ ทำหน้าที่สื่อสารแทนผู้คนในพื้นที่อีกมุมหนึ่งที่ใครหลายคนอาจไม่เคยได้ยิน  

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร. , พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท และ พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย ป.ธ.๙  ดร.
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร. , พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท และ พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย ป.ธ.๙ ดร.

สำหรับปกหนังสือ ที่เป็นภาพจีวรพระ พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙,ดร. ประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลพระนักเขียน  อธิบายที่มาอย่างมีนัยสำคัญ

“เรื่องปก คุยกันหลายครั้งมาก ความตั้งใจแรกอยากให้เสร็จก่อนสิ้นปี แต่ก็ล่วงเลยมาจนถึงปลายมกราคม หนังสือจึงปรากฏออกมา คือไม่ง่าย อาตมาสะท้อนความไม่ง่ายของเล่มนี้ คือ คนทำเป็นป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ทำให้เกล็ดเลือดน้อยลง แทบเอาชีวิตไม่รอด เขาบอกว่า ไม่แน่ใจว่าจะทำเสร็จหรือเปล่า วิกฤติเลย งานเล่มนี้ จะทำเป็นหนังสือก็ยากแล้ว กว่าท่านอภิชาติลงพื้นที่แล้วถอดบทเรียนมาก็ยาก มันสะท้อนว่า เล่มนี้ไม่ใช่ทำง่าย มีปัญหาให้แก้อยู่ตลอดเวลา แม้แต่เรื่องปก

“เขาบอกว่า เขาอ่านชื่อเรื่องก่อน ทำไมชื่อหนังสือยาวมาก ขอตัดได้ไหม ขอตัดวรรคล่างออกได้ไหม เหลือ ลมหายใจชายแดนใต้ อย่างเดียว แต่ผู้เขียนคือท่านอภิชาติบอกว่า ไม่ได้ครับ เพราะเล่มนี้ทำด้วยศรัทธา ต้องมีศรัทธาสูงมากทุกอย่างเลยที่มารวมอยู่ในเล่มนี้  เขาจึงนำคำสองคำที่แยกกันอยู่ คือ ลมหายใจ และ ศรัทธา มาร้อยเรียงกันด้วยสายสิญจน์ เส้นบางๆ แล้วทำชื่อปกเป็นตัวเล็กๆ หมายถึงการลงไปทำพื้นที่ของพระต้องตัวเล็กๆ ต้องลดอัตตาตัวเองลงมา”

 ทำไมคนทำปกถึงคิดได้เช่นนี้ พระมหาขวัญชัย อธิบายต่อมาว่า คุณถนอมสิงห์ โกศลนาวิน หนึ่งในบรรณาธิการ และช่วยประสานงานกับทีมงานที่ช่วยทำปกและรูปเล่มให้บอกว่า ทุกคนอ่านแล้วอ่านอีก อ่านจนวิเคราะห์ว่า หนังสือเล่มนี้ต้องออกแบบเป็นจีวร ที่ชายจีวรค่อยๆ หลุดไปทีละชิ้น จีวรจะหลุดลุ่ย จีวรหมายถึงพระพุทธศาสนา ที่กำลังถูกรักษาไว้ด้วยศรัทธาเพียงน้อยนิด คือ สายสิญจน์ นี้ คือ ลมหายใจที่เบาบางมาก มันค่อยๆ ทยอยออกไปทีละเล็กทีละน้อย

           “สังเกตผ้าที่ไม่ได้เย็บขอบ มันจะค่อยๆ หลุดลุ่ยลงเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะหมด ผ้าก็คือ จีวรคือ รูปแบบของพระศาสนากำลังจะหายไป คนทำงานออกแบบปกเพียงหนึ่งเดือน เข้าใจบริบทของหนังสือเล่มนี้ อย่างชัดเจน เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ “

อีกอย่างหนึ่งคือ ชื่อผู้เขียน มองอย่างไรบนปกแทบหาไม่เจอ

พระมหาขวัญชัย อธิบายต่อมาว่า ตอนแรกก็เกือบจะตำหนิคนทำปกไป เพราะเห็นชื่อจมหายไปกับหนังสือเลย  เวลาหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านจึงไม่ค่อยเห็นชื่อผู้เขียนคือ พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ซึ่งคนออกแบบปกบอกว่า สาเหตุที่เขาไม่เน้นคนเขียน ก็เพราะบุคคลที่ทำหน้าที่ บุคคลที่จรรโลงพระพุทธศาสนา ท่านไม่ได้ต้องการรางวัลอะไรตอบแทน แม้แต่รางวัลที่ตั้งให้ ก็ไม่ได้ปรากฏอยู่บนหนังสือเล่มนี้ แต่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล็กๆ เท่านั้น

“นั่นหมายความว่า พระที่ทำงานเผยแผ่ยอมพลีชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา แม้ชื่อเสียงจะหมดไป หรือเลือนหายไปภายใต้จีวรก็ไม่เป็นไร

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

“เพราะ ชื่อเสียงไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา คือ จีวร  นั่นแหละสำคัญที่สุด  ซึ่งสอดคล้องกับณิธานของหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) กล่าวไว้ว่า

ไม่ว่าเราจะทำงานอะไรสักอย่างหนึ่ง พระพุทธศาสนาได้ วัดไม่ได้ เราไม่ได้ งานนี้สมควรทำ คือถ้าพระพุทธศาสนาได้รับอานิสงส์ คือคนได้รับความจรรโลงใจจากพระพุทธศาสนาก็สมควรทำ

“คือ ถ้าไม่มีหนังสือเล่มนี้เราไม่มีทางรู้เลยว่า มีชีวิตของพระครูโฆสิตสุตาภรณ์ อยู่ที่นั่นทำงานเผยแผ่อย่างหนักอยู่ในพื้นที่ แล้วท่านอภิชาติก็ดึงท่านออกมาให้ผู้คนได้รับรู้ แม้แต่คนทำปกก็เพิ่งทราบจากหนังสือเล่มนี้ว่ามีพระทำงานอยู่ในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เช่นนั้น สังคมก็ไม่ได้รับรู้เท่าไร แต่การทำงานของท่านก็ยังทำอยู่ ทำโดยไม่ต้องมีคนรับรู้ก็ได้ ท่านทำด้วยศรัทธาของท่าน คือ ท่านทำงานโดยไม่ได้หวังว่าจะมีชื่อเสียงจากการเขียนหนังสือเล่มนี้เลย จึงมองไม่เห็นเลยว่า ใครเขียน”

นั่นจึงเป็นที่มาของรางวัล พระนักเขียนปัญจสิกขะ ที่พระมหาอภิชาติได้รับ เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานของพระผู้อยู่ข้างหลังพระผู้ปิดทองหลังพระในการเผยแผ่อีกต่อหนึ่ง เป็นการทำงานร่วมกันของพระในพื้นที่ พระอาคันตุกะ และพระจากส่วนกลางด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งชีวิต

สนใจหนังสือ “ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา”  ติดต่อได้ที่ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ศาลาสันติวัคคีย์ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร Email: Pmapichat@gmai.com  , Facebook : พระมหาอภิชาติ ธมฺมภินนฺโท 

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๖๖ ลมหายใจชายแดนใต้ ลมหายใจแห่งความ ศรัทธา โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ขอขอบคุณ ภาพจิตกรรมฝาผนัง ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  
ขอขอบคุณ ภาพจิตกรรมฝาผนัง ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร 

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญารวชิโร)

ตอนที่ ๓๑

โฉมหน้าของตัณหา

เมื่อจิตนิ่งอยู่กับอารมณ์เดียว ก็ลองกลับมาดูที่กายใจอีกทีหนึ่ง แล้วกลับไปดูลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ลองขยายความรู้สึกไปดูกาย สังเกตอาการทางกาย คอตรงไหม เอียงซ้ายเอียงขวาไหม  ถ้างุ้มไปข้างหน้าก็ตั้งขึ้นมา ถ้ามโน้มไปข้างหลังก็ดึงกลับขึ้นมา ก็ดูกายดูใจไปเรื่อยๆ ดูตามที่กายที่ใจเป็น อย่าไปดัดแปลง อย่าไปปรับแต่งให้กายใจเป็นไปตามความอยาก

กายเจ็บก็รู้ว่ากายเจ็บ อย่าไปดัดแปลงแทรกแซงการทำหน้าที่ของกาย อย่าไปร้องขอว่าอย่าเจ็บอย่าปวด

ให้รู้ลงไปตรงๆ ตามอาการเจ็บอาการปวดของกาย

ถ้าไปร้องขอไม่ให้กายเจ็บ คือเราไปแทรกแซงการทำหน้าที่ที่เป็นไปตามธรรมชาติของกาย เพราะอยากให้เป็นตามความอยากของเรา

ใจสงบก็รู้ ใจไม่สงบก็รู้ สบายใจก็รู้ ไม่สบายใจก็รู้ รู้ลงไปตรงๆ ตามที่กายใจเป็นขณะนั้น อย่าไปดัดแปลงให้มันผิดไปจากความเป็นจริง

อย่าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของใจ ให้กำหนดรู้ไปตามอาการ พอปัจจัยพร้อมเดี๋ยวก็สงบเองพอสงบไปสักครู่ พอปัจจัยพร้อมเดี๋ยวก็ออกจากความสงบ ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ หรือไม่ต้องคาดหวังว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันน่าจะเป็นอย่างนี้ มันควรจะเกิดอย่างนั้นมันควรจะเกิดอย่างนี้ ก็คิดปรุงแต่งวุ่นวายอยู่ในหัว มีคำถามผิดขึ้นมาเรื่อย

รวมความ คือ อย่าไปดัดแปลงให้มันผิดไปจากอาการตามความเป็นจริงของกายและใจในขณะนั้นให้เห็นลงไปตรงๆ ตามสภาวะที่ปรากฏ

ให้ดูกายดูใจไปเรื่อย

จิตเป็นสมาธิจึงเป็นจิตที่ตั้งมั่น เมื่อตั้งมั่นได้แล้วก็มีที่มั่นในการรับรู้อารมณ์ ไม่ว่าจะกระทบอารมณ์อะไรก็ตั้งมั่นเป็นกลางรู้ตามที่กายใจเป็น ไม่เฉออกไปจากความเป็นกลางไปทางพอใจ ไม่พอใจ แม้รับอารมณ์ใดๆ ก็ไม่ถูกชักพาให้กระเพื่อมไหวออกจากที่ตั้งมั่นไปทางสุขหรือทุกข์ อารมณ์อะไรจะผ่านเข้ามาก็รู้เฉยๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย

เมื่อจิตมีที่ตั้งมั่นดีแล้ว ก็พัฒนาให้จิตได้รับความสงบจากปัญญา วิธีที่จะทำให้เกิดความสงบจากปัญญา ก็คือ ให้ลองปล่อยจิตได้รับการกระทบอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นธรรมารมณ์ คือ ความคิดที่ผุดขึ้นมาภายในใจ หรือ อารมณ์จากภายนอกที่ประสาทสัมผัสรับเข้ามา แล้วสังเกตการกระเพื่อมไหวซึ่งเป็นผลสืบเนื่องที่เกิดจากการกระทบอารมณ์

เมื่อหูกระทบอารมณ์ เสียงกระทบแก้วหู วิ่งเข้าสู่ใจ เฝ้าสังเกตใจว่ามันกระเพื่อมไหม กระเพื่อมไปทางพอใจหรือไปทางขัดเคืองใจ เกิดความรู้สึกขวางหูขวางตา รำคาญใจไหม ได้ยินคำด่า คำนินทา คำดูถูก  ดูเข้ามาที่ใจใจกระเพื่อมไปทางขัดเคืองใจ ไม่พอใจ หรือพอได้ยินคำเยินยอ กระทบแก้วหูแล้ววิ่งเข้าสู่ใจ ดูเข้ามาที่ใจ ใจกระเพื่อมไปทางฟูขึ้น ชอบใจ สุขใจ ตื่นเต้นไหม  ก็เฝ้าสังเกตอาการทางใจอย่างนี้เรื่อยไป จะกี่วัน กี่เดือน กี่ปีก็ต้องทำ ต้องฝึกหัด แล้วปัญญาคือวิชชาก็จะค่อยๆเติบโตขึ้นมาขับไล่อวิชชาออกไป

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ประธานในพิธีงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา" เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ประธานในพิธีงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

(โปรดติดตาม บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน …มโนปณิธานพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here