น้อมถวายความอาลัย พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ (วัดโคกโก), อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และอดีตประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ที่มรณภาพจากสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

ในประเทศไทย พระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์และคุ้มครองจากรัฐ ดังที่รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๘๐ ว่า “รัฐต้องให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือ ” และพระสงฆ์ไทยดำเนินภารกิจตามพระธรรมวินัย โดยมีกฎหมายรองรับ คือ
พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งกำหนดอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ คือ มหาเถรสมาคมลงไปตามลำดับโครงสร้างการปกครองจนถึงเจ้าอาวาสวัดให้มีหน้าที่ในด้านการปกครอง, การศึกษา, การเผยแผ่, การสาธารณูปการ, การศึกษา, การสงเคราะห์ และการสาธารณสงเคราะห์ (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๔๖ หน้า ๒๒ ถึง ๒๓)

มหาเถรสมาคม เป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ที่กำหนดนโยบาย ออกกฎระเบียบในการดำเนินกิจการของคณะสงฆ์ทั้ง ๖ ด้าน ดังกล่าว มีหน่วยงานราชการรับสนองงานคณะสงฆ์ และทำหน้าที่อุปถัมภ์ดูแลสนับสนุนส่งเสริมคณะสงฆ์ ให้ดำเนินกิจการตามพระธรรมวินัย และนโยบายของรัฐ คือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

องค์กรการเผยแผ่ของคณะสงฆ์คือ กองงานพระธรรมทูต หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล และที่เป็นสถาบันหลักของสังคมที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ในประเทศไทย คือ วัด

ส่วนพระภิกษุที่ทำหน้าที่เผยแผ่ ได้แก่ ผู้แสดงธรรมประจำวัดในโอกาสต่างๆ คือ “พระนักเทศน์” ซึ่งเดิมเรียกว่า “พระธรรมกถึก” หมายถึง ผู้แสดงธรรม และ พระธรรมทูต ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการวิจัยในขณะนี้ ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในเชิงรุก นำธรรมเข้าสู่สถานที่ชุมชน องค์การด้วยหลายวิธี ทั้งสองลักษณะมีคำเรียกเป็นสมมติภาพว่า “พระนักเผยแผ่”

นอกจากนี้ พระที่ทำหน้าที่ให้การศึกษา และฝึกฝนการปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐานแก่พระ พุทธบริษัทสี่ จะมีสมมติภาพ เรียกว่า พระวิปัสสนาจารย์ สอนในศูนย์ปฏิบัติธรรมของวัด หรือที่ตั้งองค์กรพระพุทธศาสนา การดำเนินการเผยแผ่ของคณะสงฆ์ทุกกิจการ รัฐได้จัดงบประมาณสนับสนุน ทั้งด้านการบริหารศาสนบุคคลและอุปถัมภ์การบริหารองค์กร

อย่างไรก็ดี บทบาทของวัด และพระภิกษุสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากอดีต ชุมชน และสังคมพึ่งพาวัดน้อยลง ความศรัทธาและความเชื่อถือว่าพระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ลดน้อยลงมาก การปฎิบัติหน้าที่ชาวพุทธของฝ่ายคฤหัสถ์ย่อหย่อน, ละเลยการศึกษาเล่าเรียนหลักพระพุทธธรรม แต่กลับนับถือพระพุทธศาสนาเพียงในนาม เห็นได้จาก (พระพรหมคุณาภรณ์ ๒๕๕๐ ) ได้กล่าวถึงปัญหาของพระพุทธศาสนาไว้ในหนังสือความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติว่า การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยห่างเหินจากวัฒนธรรมไทยแบบเดิม

ทั้งนี้คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม ก็เห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้มีความพยายามพัฒนาการจัดกิจกรรมของวัดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่น มีการเปิดวัดให้อบรม และจัดกิจกรรมในวันอาทิตย์ เชิญชวนเข้าวัดฟังธรรมในวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันหยุดประเพณีต่างๆ มีการพัฒนา และเผยแผ่องค์ความรู้ด้านหลักธรรมคำสอน โดยผ่านสื่อที่หลากหลาย เช่น การสร้างสถานีวิทยุชุมชน เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำวัด ภายใต้การรับรองของมหาเถรสมาคม

นอกจากนี้ ได้มีระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อให้มีองค์การพระพุทธศาสนาระดับชาติและจังหวัด และมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัด เป็นการสร้างความเข้มแข็งในเชิงโครงสร้างและการสนับสนุนจากรัฐ

นอกจากนั้น ความไม่สงบใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นปัญหาหนึ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่สั่นคลอนความมั่นคงของพระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม จึงได้วางรูปแบบในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาใน ๕ จังหวัดชายแดนขึ้นมาเป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นเขตพื้นที่พิเศษที่เป็นปัญหาความขัดแย้ง

ซึ่งมหาเถรสมาคมได้ให้ความสำคัญของการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพื้นที่พิเศษนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงให้กับพระพุทธศาสนา จึงได้ดำเนินการจัดตั้งองค์กรขึ้นมา คือ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อให้คณะสงฆ์บริหารจัดการ ฝึกอบรมภาพพระภิกษุให้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างคล่องตัว และให้พิจารณาสภาพแวดล้อมนั้น ๆ อย่างระมัดระวัง เพราะเป็นพื้นที่พิเศษ

เนื่องจากที่ผ่านมา เกิดปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนที่นับถือพระพุทธศาสนา ปฏิบัติหน้าที่กิจหน้าที่ของชาวพุทธ เป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงเกิดพระธรรมทูตกลุ่มหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า “พระธรรมทูตอาสา” เพื่อที่จะทำงานเผยแผ่ใน ๕ จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีข้อจำกัดในหลายด้าน เช่น

ด้านระยะเวลา และด้านงบประมาณ สภาพพื้นที่ พระธรรมทูตอาสาแต่ละรูป แต่ละองค์ ที่เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่เสียสละ เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ การเสียสละอันยิ่งใหญ่ของบรรดาพระธรรมทูตอาสา เป็นสิ่งที่ควรยกย่องเป็นอย่างยิ่ง เป็นเทียนชัยเล่มเล็กๆ แห่งพระพุทธศาสนา ที่จะส่องแสงสว่างไปทั่วทั้ง ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีภาระและงานรับผิดชอบอยู่มาก ตามขนาดของพื้นที่ไปด้วย

ปัญหาที่พบคือ

๑) พระสงฆ์ที่มีคุณภาพตามหลักพระธรรมวินัยมีจำนวนไม่มาก แม้ว่าการศึกษาของสงฆ์ที่ยกระดับถึงอุดมศึกษา และกฎหมายรองรับการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ในเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ยังไม่สามารถกระจายพระสงฆ์ที่มีคุณภาพตามหลักพระธรรมวินัยไปสู่วัดต่างๆ ในประเทศได้ทั่วถึง

๒) การขาดแคลนศาสนทายาทที่จะสืบต่อพระพุทธศาสนา เพราะชาวพุทธมิได้ให้ความสำคัญในการบวชเรียน และชาวพุทธเองก็ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในหลักธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ มีทั้งในส่วนที่มีศรัทธาไม่ถูกต้อง ยึดถือสิ่งที่มิใช่สาระธรรม และอีกส่วนหนึ่งคือการย่อหย่อนศรัทธา

๓) พระธรรมทูตอาสาในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อรักษาพระพุทธศาสนา รักษาวัดวาอาราม อยู่เป็นหลักชัย หลักใจให้ชาวพุทธ ไม่ทิ้งถิ่น ไม่ทอดทิ้งศาสนสถาน และมรดกธรรมที่บรรพบุรุษเฝ้ารักษาไว้ให้ได้อย่างไร

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาถึงประสิทธิผล การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ในภาพรวมว่า บรรลุผลตามภารกิจในระดับมากน้อยเพียงใด

มีปัจจัยข้อใดมีปัจจัยใดที่มีส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้การดำเนินการดังกล่าวประสบผลสำเร็จและเสนอแนะแนวทางเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จในระดับที่สูงขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิ์ที่ผลดียิ่งขึ้นต่อไป

เรียบเรียงจาก ดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “ประสิทธิผลการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสา ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้” จากงานวิจัยของ พระมหาปรีชา สาเส็ง
และขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ ณ โอกาสนี้

ตามรอยธรรม “พระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนใต้ “(ขออุทิศแด่… พระธรรมทูตอาสาที่ล่วงลับ ด้วยความเสียสละ)(๓ ) ปฐมเหตุแห่งการวิจัย : จากงานวิจัยโดย พระมหาปรีชา สาเส็ง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here