ขอขอบคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

“พระธรรมทูต” ต้องมีอุดมการณ์เพื่อพระพุทธศาสนา

สามารถสื่อสารผ่านเรื่องโลกๆ ไปสู่โลกุตตระได้

โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

ฉบับนี้ขอเปิดบันทึกบทสนทนาระหว่างท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตไทย สายอินเดีย-เนปาล กับพระมหานภันต์  สนฺติภทฺโท, พระมหา ดร.ไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย  และ อาตมาเอง พระมหา ดร.ขวัญชัย  กิตฺติเมธี  พระวิทยากรกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สนง.ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ  ระหว่างเวลา ๑๙.๐๐-๒๑.๐๐ น. ในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๘ ณ วัดวิศวศานติพุทธสิกขาลัย ประเทศเนปาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการถอดบทเรียน “พระวิทยากรกระบวนธรรม” เพื่อสรุปในการออกแบบการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพพระวิทยากรเป็นลำดับต่อไป ให้ท่านผู้อ่านร่วมเรียนรู้แนวทางการทำงานของพระธรรมทูตและพระวิทยากรกระบวนธรรมในหลากหลายบทบาทหน้าที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแผ่ธรรมเพื่อช่วยดับทุกข์ในใจคนไปทั่วโลก ตามที่พระธรรมทูตได้จาริกไปถึงที่นั่น จะได้เห็นภาพร่วมกันว่าเราทำงานอย่างไรกันบ้างทั้งก่อนและหลังที่นำพระไปฝึกอบรมกันที่ประเทศอินเดีย-เนปาล และจัดการบวชเรียนในแผ่นดินแม่ ดินแดนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ ความจริงอันประเสริฐ ที่ผ่านการเดินทางมากว่า ๒๖๐๐ ปีในการช่วยดับทุกข์ทางใจให้กับผู้คนมานับไม่ถ้วนจนถึงปัจจุบัน

ขอขอบคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

 (๑) “การทำงานต้องมองให้เห็นภาพรวม (เอกีภาวะ) โดยสามารถแยะแยะแบบวิภัชชะเป็นอย่างไร?”  พระวิทยากรสงสัย

 “ในฐานะผู้สั่งการต้องมองเห็นภาพรวม  และแยกแยะให้ออกว่าใครควรทำอะไรแบบวิภัชชะ คือต้องแบ่งหน้าที่คนให้ชัดเจน”  ท่านเจ้าคุณอาจารย์ช่วยไขข้อสงสัย  

นอกจากนั้นท่านเจ้าคุณอาจารย์จะเน้นให้พระวิทยากรทั้ง ๓ รูปจากกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สนง.ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ  เรียนรู้ในฐานะผู้จัดและผู้แจกจ่ายหน้าที่ทั้งในแง่การจัดการเตรียมความพร้อม  และในช่วงพิธีว่าต้องจัดเรื่องที่นั่งว่าใครเป็นใคร  ตั้งแต่ประธาน,  พระและฆราวาสที่มาร่วมงานควรนั่งตรงไหน? 

ส่วนหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละจุด  ใครจะทำอะไร  ตรงไหน  อย่างไร  ต้องอธิบายได้และชัดเจนในแง่ของปฏิบัติ  ต้องซักซ้อมให้ดี  และที่สำคัญทำงานอย่าให้มี “เขา”  ต้องบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร  ไม่ใช่บอกแค่ว่า “สั่งให้ “เขา” ทำแล้ว”  แบบนี้ไม่ได้  ต้องทำเอง  เห็นเอง จึงเป็นอันใช้ได้

ขอขอบคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

(๒) “ท่านเจ้าคุณอาจารย์คิดอย่างไร? กับงานพระธรรมทูต” พระวิทยากรถามต่อ

 “ขึ้นอยู่กับธง…”  ท่านเจ้าคุณอาจารย์ตอบก่อนจะอธิบายต่อ “ท่านเหล่านี้ปักธงเรื่องนี้ไว้อย่างไร  เพราะคำว่า “ธรรมะ” กับ “ทำท่า” ฟังดูคล้ายๆ กันต้องดูให้ดีว่าเป็นแบบไหน และคำว่า  “ทูต” นั้นต้องสามารถสื่อสารผ่านเรื่องโลกๆ คือโลกิยะไปสู่ธรรมคือโลกุตตระได้  อย่างพระศรีลังการูปหนึ่งเมื่อถามว่าคิดจะเป็นพระธรรมทูตเมื่อไหร่  คำตอบที่ได้คือแต่อายุ ๑๒ ปี  พระธรรมทูตต้องมีอุดมการณ์เพื่อพระพุทธศาสนา  ไม่ใช่มาหาความก้าวหน้าให้ตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น”

และท่านเจ้าคุณอาจารย์ยังแนะวิธีการทำงานและการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจว่า

         “…อย่าให้ใครมาสอนงานว่าต้องทำอะไร  ลงมือทำก่อนเลย  แล้วส่งงานอย่าให้ต้องมีใครมาทวง… ต้องสร้างศรัทธาทุกวัน  สร้างแล้วทิ้งไว้กับพระพุทธเจ้า  พรุ่งนี้ก็สร้างใหม่…ความดีเท่านั้นเป็นพลังงานให้เราทำงานได้ คือ ให้คิดแต่สิ่งดีๆ แม้แต่ไม่ดีก็คิดออกมาในทางที่ดี  อย่างนี้จึงจะมีพลัง…ทำงานอย่าหวังแค่ปัจจัย ๔ (อาหาร, เสื้อผ้า, ยารักษาโรค,ที่อยู่อาศัย) จนทำลายอริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ต้องสนุกกับการแบ่งปัน…ฯลฯ”

“…ต้องพัฒนาพระที่เทคนิคการใช้การศึกษามากกว่าจะเน้นแค่ศึกษา  อย่างบทว่า “อภิวาทนสีลิสฺส  นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน  จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ  อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ฯ  ผู้กราบไหว้ อ่อนน้อมถ่อมตัวต่อผู้ใหญ่เป็นนิจศีล ย่อมเจริญด้วยคุณธรรมสี่ประการคืออายุ ชื่อเสียง สุข” เราเรียนบาลีกันมา  คนอินเดียเขารู้จักหาเรื่องไหว้ เรื่องนอบน้อมทั้งต้นไม้ และสัตว์อย่างลิงก็มีรูปปั้นเยอะแยะ สร้างเรื่องราวให้คนเคารพเพื่อให้รู้จักกราบไหว้สิ่งรอบตัว…

“การศึกษาต้องเอาหัวเรียน  เรียนจบแล้วเอาไว้ที่เท้า  คือเดินตามรอยบาทพระศาสดา  คือ ตอนเรียนนั้นนั้นเหมือนสร้างบันได  ยิ่งเรียนสูงขั้นบันไดก็ยิ่งเยอะ ยิ่งขั้นบันไดเยอะยิ่งต้องระวังจะไปกระทบสิ่งนั้นสิ่งนี้  ยิ่งตอนจะใช้ต้องวางบันไดลงก่อนแล้วใช้เท้าก้าวขึ้นไป…ฯลฯ”

 (๓) “ตอนแรกผมคิดว่าท่านเจ้าคุณอาจารย์จะปั้นพวกผมให้เป็นแค่หนู  แต่ดูเหมือนพระอาจารย์จะปั้นพวกผมให้เป็นช้างแล้วตอนนี้”  พระวิทยากรถาม

         “ก็ผมเห็นว่าพวกท่านเป็นวัสดุชั้นดี  คงไม่เหมาะถ้าจะปั้นเป็นแค่หนู  ผมว่าจะปั้นให้พวกท่านเป็นช้าง  หรือไม่อย่างนั้นก็จะปั้นให้เป็นหนูแต่ตัวเท่าช้าง”

 เป็นคำตอบที่ทำให้พระวิทยากรทั้ง ๓ หายสงสัยและรับรู้ได้ถึงความไว้วางใจที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพโพธิวิเทศเล็งเห็น  และท่านเจ้าคุณวิจิตรธรรมาภรณ์ ในขณะนั้นก็ได้มอบหมายภาระหน้าที่อันสำคัญนี้มาให้ …

“พระธรรมทูต” ต้องมีอุดมการณ์เพื่อพระพุทธศาสนา สามารถสื่อสารผ่านเรื่องโลกๆ ไปสู่โลกุตตระได้ โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

จากคอลัมน์ ท่องเที่ยวโลกกะธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒)

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้เขียน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้เขียน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์
วัดสระเกศ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here