“ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน”
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
คำนำ
เมื่อพ่อใหญ่แม่ใหญ่*อายุใกล้ ๘๐ ปี (*ปู่กับย่า คือ พ่อใหญ่โทน-แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม) คิดว่า ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอันสามัญของชีวิต คงใกล้จะมาถึงในอีกไม่ช้า ต้องทำอะไรที่จะเป็นการวางจิตของโยมทั้งสอง ลงสู่ฐานะอันควร จึงเริ่มเขียนเล่าเรื่องธรรมะสิ่งละอันพันละน้อย ถึงพ่อใหญ่แม่ใหญ่ผ่านจดหมายขนาดยาว ๔ ฉบับ (พุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖ ) เหมือนการพูดคุยผ่านตัวหนังสือ
อีกไม่กี่ปีถัดมา พ่อใหญ่แม่ใหญ่ก็ทยอยจากไปทีละคน นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว
ต่อมา จดหมายถึงพ่อใหญ่แม่ใหญ่ทั้ง ๔ ฉบับ ได้ถูกนำมาปรับปรุงให้มีเนื้อหาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” (พุทธศักราช ๒๕๔๗ )
ในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากโทษของวัฏฏะอย่างหนักหน่วง กินระยะเวลายาวนานหลายปี (พุทธศักราช ๒๕๖๑ – ๒๕๖๗ : ขณะเขียนคำนำ) บางช่วงบางเวลา มีโอกาสได้นั่งทบทวนอะไรบางอย่าง วันคืนก็ล่วงไป ล่วงไป ไม่ได้ล่วงไปเปล่า แต่กำลังได้ถดถอยลงไปด้วย อายุมากขึ้น ชีวิตก็เหลือน้อยลงทุกขณะ อะไรที่ทำแล้ว และอะไรที่เคยตั้งใจเอาไว้ แต่ยังไม่ได้ทำ ก็ควรลงมือทำเสียตั้งแต่วันนี้ ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท
“ควรทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะตายหรือไม่ ฯ” (พระพุทธพจน์)
การมาของวัยชราทำให้ร่างกายของโยมพ่อและโยมแม่กลายเป็นที่ประชุมแห่งโรค ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอันสามัญของชีวิต คงใกล้จะมาถึงในอีกไม่ช้า การทำอะไรไว้เป็นเครื่องอนุสรณ์ถึง ในขณะที่โยมทั้งสองยังรับรู้ได้ ชื่อว่าเป็นการสนองพระคุณในความกตัญญูอย่างหนึ่ง แม้ระหว่างนี้จะยังอยู่ในช่วงที่โทษของวัฏฏะตามบีบคั้นอย่างไม่ลดละ สถานการณ์ชีวิตพลิกผันไปตามความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ในแต่ละวัน แต่เมื่อคำนึงถึงพระพุทธพจน์ข้างต้น ก็ทำให้ไม่อาจวางใจลงในความประมาทได้ จึงหาเวลาสนทนากับโยมพ่อด้วยเรื่องสัพเพเหระ ตามโอกาสอันควร อันจะเป็นการเติมเต็มความปรารถนาในใจให้ถึงความบริบูรณ์
บางแง่มุมในการสนทนา ก็เป็นเรื่องของการหาเลี้ยงปากท้อง ตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชราของโยมพ่อ ตามวิถีชีวิตชาวบ้านอันธรรมดาแต่ก็แฝงไว้ด้วยปูมหลัง พื้นประวัติ ภูมิปัญญา คติชน และความเชื่อ อันเป็นรากฐานของชุมชน บางแง่มุมในการสนทนาของบางวัน กลับดิ่งลึกลงไป ในความคิดอันแหลมคม ทำให้เห็นชีวิตในความหมายของคำว่า “พ่อ” ยิ่งกว่าบทเทศนาว่าด้วยความกตัญญูใด ๆ
นับจากวันนั้นเป็นต้มา (พุทธศักราช ๒๕๖๔ ) หลังการสนทนาจบลงในแต่ละครั้ง จึงหาข้อมูลเพิ่มเติม และเริ่มเรียบเรียงถ้อยคำของโยมพ่อ ออกเป็นตัวหนังสือ เป็นที่มาของ ๕๕ ความเรียงจากบทสนทนา ระหว่างพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
นับตั้งแต่วันที่โยมพ่อโยมแม่ยอมอนุญาตให้ลูกชายบรรพชาเป็นสามเณร (พุทธศักราช ๒๕๒๗) จนถึงวันเข้าสู่มณฑลแห่งการอุปสมบท เป็นพระภิกษุ (พุทธศักราช ๒๕๓๕ ถึงแม้โยมทั้งสองจะลำบาก จะขัดสน จะประสบกับความยุ่งยาก ในการประกอบอาชีพเพียงใด ก็ตาม แต่โยมทั้งสอง ก็ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดจากพระลูกชาย ในฐานะของลูก เกินไปจากสมณวิสัย ที่พระสงฆ์จะพึงแสดงความกตัญญูต่อโยมพ่อโยมแม่ได้ จึงไม่ต้องคอยกังวลกับฐานะและความเป็นอยู่ของโยมทั้งสอง ทำให้มีจิตมุ่งตรงต่อการทำงานพระศาสนา สนองงานพระอุปัชฌาย์ เท่ากับโยมทั้งสองให้โอกาสลูกชาย ได้ทำห้าที่พระสงฆ์ อย่างเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ทั้งนี้ เพราะโยมทั้งสองเคารพในความเป็นพระของลูกชาย ทั้งยังรู้แจ้งชัดว่า พระสงฆ์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนอย่างไร
เมื่อความชรามาเยือน ในวันที่วัยและสังขารของโยมทั้งสองเริ่มโรยราลง เพื่อแสดงความขอบคุณโยมทั้งสอง ที่ยอมสละลูกชายถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อแสดงคุณของโยมทั้งสองให้ปรากฏ จึงได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น
บัดนี้ มโนรสในใจได้ถึงความบริบูรณ์แล้ว ขอท่านผู้มีส่วนอุปถัมภ์การทำหน้าที่พระสงฆ์ของอาตมภาพ จงเป็นผู้มีความไพบูลย์ในธรรม และร่วมอนุโมทนาในโอกาสนี้ด้วย
ญาณวชิระ
พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร, มกราคม ๒๕๖๗
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
สารบัญ
๑ เรื่องของบุ่งสระพัง
๒ ข้าวหลามรสมือแม่อร่อยกว่าข้าวหลามใด ๆ
๓ เรื่องของโนนพระเจ้าเรื่องของคนนาหัวบุ่ง
๔ เรื่องหาดบุ่งสระพัง มหัศจรรย์หาดทรายในแม่มูล
๕ เรื่องท่าโฮงแมบ ท่าของพ่อที่นาลุ่ม
๖ เรื่องของท่าชาละวัน ท่านาทามน้อยของพ่อใหญ่
๗ เรื่องของคนบ้านไกล
๘ เรื่องฮ่มคร้อในตำนาน และลายจักสานของพ่อใหญ่
๙ เรื่องของนาดงบะเฮนและสะพานไม้วังหล่ม
๑๐ คำขี้นาค วังหล่ม และทางไปดงบะเฮน
๑๑ วัวคู่แรกและเกวียนของพ่อ
๑๒ น้ำท่วมนาหาปลาแลกข้าว
๑๓ เรื่องของพ่อเรื่องของคนเผาถ่าน
๑๔ เรื่องของคนเลื่อยไม้
๑๕ พ่อสร้างเนื้อสร้างตัวจากสร้อยทองของแม่
๑๖ วิถีของคนหาปลา
๑๗ รวงต้อนของพ่อใหญ่
๑๘ ปลูกบัวที่หัวบุ่ง
๑๙ เรื่องของพ่อใหญ่เมืองปลูกบัวที่หนองหวาย
๒๐ ฝังสายแฮ่ครูบาที่นาหัวบุ่ง
๒๑ จักรยานของพ่อ
๒๒ พ่อหัดถีบจักรยานเป็นครั้งแรกจากจักรยานฮ้างของลุงเริญ
๒๓ บ้านหลังเก่ากับเพลงของพ่อ
๒๔ บ้านหลังใหม่
๒๕ ให้ไก่สองตัวเป็นค่าพาไปบวชเณร
๒๖ เรื่องของเสือที่หนองห้าง
๒๗ น้ำท่วมอุบลในวัยชราของพ่อและเรือลำสุดท้ายของพ่อใหญ่
๒๘ เพื่อนพ่อหาปลาที่ท่ากกแต้
๒๙ เมื่อพ่อรู้จักเช็คเงินสดครั้งแรก
๓๐ นายฮ้อยวัวนายฮ้อยควาย
๓๑ บักฟ้าแลบ บักส่วงตาบ บักหน้าด่างใบโพธิ์ และวัวควายในคำนิยามของพ่อ
๓๒ เรื่องของพ่อใหญ่เมืองปลูกบัวที่หนองหวาย
๓๓ ทหารอเมริกัน จีไอ” (G.I.)เยี่ยมแม่คลอดลูกสาวคนแรกที่นาหัวบุ่ง
๓๔ หลวงตาจันทร์พาชาวบ้านไปดูเครื่องบินทหารอเมริกันตกที่หัวป่าแวง
๓๕ หลวงตาจันทร์ได้ทหารฝรั่งช่วยสร้างโบสถ์
๓๖ เรื่องของกรณ์ เพื่อนเลี้ยงควายฟากบุ่งของพ่อ
๓๗ บ้านกุดลาดกับบ้านปากน้ำเลี้ยงควายฟากบุ่งร่วมกัน
๓๘ ย่าหอมถวายที่ปลูกหม่อนให้หลวงตาสร้างศาลากลางบ้าน
๓๙ ดาบศรีคันชัยของพ่อใหญ่ทองลาย
๔๐ แตกยอดถอดกอตระกูลวงศ์ชะอุ่มในเมืองอุบล
๔๑ ฟื้นความหลังฟังพ่อเล่าเรื่องตระกูลของพ่อ
๔๒ ต้นจิกใหญ่ในนาของพ่อ
๔๓ ลูกหลานว่านเครือ แม่ใหญ่จูม(บุตรสง่า) วงศ์ชะอุ่ม
๔๔ มูลมังสังขยาของปู่ย่าตายาย
๔๕ พ่อผูกเสี่ยวที่บ้านคำหนามแท่ง
๔๖ ลูกครึ่งฝรั่งมาปลูกตูบหาปลาที่นาหัวบุ่ง
๔๗ ทางหลวงกระโสบ
๔๘ เรื่องของดงพระคเณศ
๔๙ เรื่องของหอปู่
๕๐ บ้านตาเณศตามหลักฐานทางโบราณคดี
๕๑ สร้างบ้านแปลงเมือง
๕๒ เรื่องของหนองสะทัง
๕๓ เรื่องของฮีตคลอง
๕๔ เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ แด่ความชราอันเงียบงัน
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์ เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
๑
เรื่องของบุ่งสระพัง
บุ่งสระพัง หรือ บุ่งสะทัง ตามภาษาปากชาวบ้าน คือ บึงที่แยกตัวออกมาจากแม่น้ำมูล รูปทรงรี ลักษณะคล้ายกระเพาะอาหาร มีความยาวราว ๒ – ๓ กิโลเมตร ไม่ลึกมากนัก มีบัว จอก แหน ผือ ไผ่ป่า พี้ หวายน้ำ ฝ้ายน้ำ และพันธุ์ไม้น้ำขึ้นระน้ำอยู่ตามตลิ่ง จึงเป็นแหล่งที่ปลา ปู หอย และกุ้งนานาชนิดอาศัยอยู่ชุกชุม กลายเป็นเส้นเลือดขนาดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านปากน้ำ ตลอดจนหมู่บ้านใกล้เคียง มาอาศัยจับปลาทำอาหาร ทำปลาร้า ตากแห้งไว้กินหน้าแล้ง และนำไปขายในตลาดหารายได้เลี้ยงครอบครัว
วิธีการหาปลาของชาวบ้านจะมีหลากหลายวิธี ตั้งแต่แบบพึ่งพิงวิธีธรรมชาติไปจนถึงใช้เครื่องไม้เครื่องมือจับปลา เช่น ลงเยาะ (เอากิ่งไม้ ขอนไม้กองทับถมไว้ตามน้ำล่อให้ปลาเข้ามาอาศัยแล้วเอาเผือกล้อมจับ) ขุดสระเป็นหลุมไว้ตามริมฝั่ง(ล่อให้ปลาเข้ามาอาศัย) ใส่บั้งลัน ใส่จั่น ใส่ลอบ ลงต้อน ใส่ไซ ใส่เบ็ด สักสุ่ม ส้อนสวิง ส้อนกะแหง่ง หรือ แก่กวด(ลากอวน) เป็นต้น
แม้ปัจจุบันทางการจะมีข้อจำกัดในการจับปลาที่บุ่งสระพัง เพื่อรักษาความสมดุลของปลาให้คงอยู่ยาวนาน ชาวบ้านก็ปรับวิธีจับปลาไปตามข้อกำหนดของทางราชการ
บุ่งสระพังมีท่าน้ำมากมายอยู่ตลอดแนวตลิ่ง แต่ละท่ามีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ตามชื่อเจ้าของท่าบ้าง ตามต้นไม้ที่ใช้เป็นเครื่องหมายบ้าง ตามเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่มาของท่านั้น ๆ บ้าง
จากปากบุ่งสระพังซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อแม่น้ำมูล เป็นท่าบ้าน เรื่อยขึ้นไปจนถึงโนนพระเจ้าจึงเป็นหัวบุ่ง มีท่าน้ำเรียงรายอยู่ตามริมตลิ่งตลอดแนว มีทั้งท่าหลักและท่าย่อย ดังนี้
(๑) ท่าบ้าน (๒) ท่าวาด (๓) ท่าบ่อน้อย (๔) ท่าหอ หรือ ท่าหอจ้าวปู่ (๕) ท่ากระโสบ (๖) ท่ากกดู่ (๗) ท่ากกไผ่ (๘) ท่าโนนวัด (๙) ท่าน้ำคำ (๑๐) ท่ากกแต้ หรือ ท่าเครื่อง (๑๑) ท่าซาละวัน หรือท่าสาละวัน (๑๒) ท่าควาย (๑๓) ท่าโฮงแมบ (๑๔) ท่าขุมดินหรือท่ากรวด (๑๕) ท่าข้วม (หรือท่าข้าม) (๑๖) โฮงเกลือ (๑๗) โนนพระเจ้า (๑๘) ฮ่องหนองหมา และ(๑๙) หัวบุ่ง
นอกจากนั้น ชาวบ้านปากน้ำยังอาศัยท่าต่าง ๆ สำหรับนำวัวควายข้ามไปเลี้ยงยังอีกฝั่งหนึ่งของบุ่งสระพัง เรียกว่า “ฟากบุ่ง” มีท่าน้ำเรียงรายอยู่ตลอดแนวฝั่งฟากบุ่ง ตั้งแต่เจดีย์เรื่อยขึ้นมาบรรจบกันที่หัวบุ่งบริเวณโนนพระเจ้า ประกอบด้วยท่าต่าง ๆ ดังนี้
(๑) ปากบุ่ง (๒) ท่าหนองแสง (๓) ท่าซ้งอีซอง (๔) ท่าซ้งอีกาน (๕) ท่าซ้งปะทาย (๖) ท่าซ้งปากหนองหวาย (๗) ท่าซ้งใหญ่ (๘) ท่าซ้งกกไคร้ อยู่ตรงข้ามกับท่าน้ำคำ (๙) ท่าซ้งกกซี (๑๐) ท่าซ้งแม่ใหญ่ดา อยู่ตรงข้ามกับท่าโฮงแมบ และ(๑๑) ท่าข้วม หรือท่าข้ามหัวบุ่ง
ฟากบุ่งมีบริเวณกว้างขวางกินพื้นที่หลายร้อยไร่ ลักษณะพื้นที่มีความสูงต่ำสลับกันไปตามริมฝั่งแม่น้ำมูล เรียกว่า “คูมูล” นอกจากมีพันธุ์ไม้น้ำและพันธุ์ไม้ป่าทามนานาพันธุ์ขึ้นอยู่ตามคูมูลแล้ว ยังมีหนองน้ำกระจายกันอยู่ตามคูมูล ดังนี้
(๑) หนองสา (๒) หนองแสง (๓) หนองพ่อใหญ่ซู หรือ หนองพ่อใหญ่คำปึก (๔) หนองพ่อใหญ่พันพอน (๕) หนองจาน (๖) หนองเบ็น (๗) หนองหวายกระโสบ (๘) หนองหว้า (๙) หนองสะวาน (๑๐) หนองฮี (๑๑) หนองหล่ม (๑๒) หนองสะวานเกด (๑๓) หนองหวายยาว (๑๔) หนองหวายมน (๑๕) หนองบัวทอง (๑๖) หนองปัจฉิม หรือ หนองสะวานปัจฉิม และหนองที่อยู่ไปทางบ้านกุดลาด (๑๗) หนองขวาง หรือ หนองสะวานขวาง (๑๘) หนองจอก (๑๙ ) กุดอ้อ
บางหนองมีน้ำอยู่ได้ตลอดทั้งปี บางหนองก็แห่งขอดในหน้าแล้ง จากปากบุ่งตามแนวฝั่งแม่น้ำมูลออกมาทางวัดป่าพระพิฆเณศวร์ มีหนองสำคัญ ๆ อยู่ตลอดแนวฝั่งแม่น้ำมูลเช่นกัน ประกอบด้วย
(๑)กุดขุ่น (๒) หนองของ (๓) หนองจุกหลุก (๔) หนองเหม (๕) หนองวัด (๖) หนองบักยาง (๗) หนองแม่ใหญ่จันทร์สอน (๘) หนองปลาดุก (๙) หนองผือ (๑๐) หนองยาว และ (๑๑) หนองสะทัง
พอถึงหน้าแล้งน้ำมูลลดลงจนเห็นหาดทรายผุดขึ้นพ้นน้ำสูงต่ำสลับกันเป็นแนวยาวอยู่กลางแม่น้ำมูล จะมีฝูงนกเป็ดน้ำนับพันตัวมาลงกินปลาเป็นแพกระจายอยู่ตามเนินทราย
เมื่อน้ำมูลลด น้ำในบุ่งสระพังก็ลดลงงวดขอดตามไปด้วย จนปากบุ่งขาดจากแม่น้ำมูลกลายเป็นผืนหญ้าเขียว เป็นสถานที่เลี้ยงวัวควายของชาวบ้าน ทำให้อีกด้านของบุ่งสระพัง เรียกว่า “หัวบุ่ง” ตั้งแต่โนนพระเจ้า โฮงเกลือ ท่ากวด และขุมดินตื้นเขิน ข้ามไปมาได้สะดวก ชาวบ้านจึงใช้เป็นเส้นทางลัดหาบข้าวของไปขึ้นเรือไฟที่ท่ากกไม้สูงเพื่อนำไปขายในเมือง และใช้เป็นเส้นทางนำเกวียนข้ามไปขนไม้ ขนฟืนจากฟากบุ่งมาขาย จึงเรียกว่า “ท่าข้วม” (ท่าข้าม)
ทางเกวียนท่าข้ามหัวบุ่งจะทอดยาวข้ามฟากบุ่งไปจนถึงท่ากกไม้สูง ซึ่งเป็นท่าเรือไฟ เรื่อยไปจนถึงหนองปัจฉิม หนองบัวทอง กุดอ้อ พื้นที่บ้านกุดลาด แล้วเชื่อมต่อไปยังท่าเตาไห (เตาเผาไห) หนองดินดาก
เวลาชาวบ้านใช้เกวียนแก่ไม้ แก่ฟืน แก่ถ่าน เทียวไปเทียวมาหลายชั่วอายุคน นานเข้าท่าข้วมหัวบุ่ง(ท่าข้าม)ก็เกิดร่องน้ำลึกลงตามล้อเกวียนเป็นทางทอดยาวไปจนถึงเตาไห ส่วนฝั่งโนนพระเจ้าก็เป็นทางเกวียนเชื่อมเข้าทางหลักไปจนถึงบ้านกุดลาด และบ้านกระโสบ
เดิมทีชาวบ้านปากน้ำ ตั้งหมู่บ้านอยู่ใกล้กับปากบุ่งสระพัง เพื่อสะดวกในการลงหาปลา มีบ้านเรือนกระจายอยู่ตลอดแนวบุ่งสระพัง มาจนถึงปากบุ่งตรงบริเวณหาดทรายแม่น้ำมูล เรียกว่า “บ้านตาเณศ” จึงมีท่าน้ำ เรียกว่า “ท่าบ้าน” แต่เมื่อชาวบ้าน ต้องประสบกับการเกิดน้ำท่วมหมู่บ้านอยู่เป็นประจำ ประกอบกับเกิดห่าลง ปีหนึ่ง คนในหมู่บ้านล้มตายติดต่อกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ ปู่ ย่า ตา ยาย ตัดสินใจย้ายหมู่บ้านจากบุ่งสระพังขึ้นมาอยู่ในดงบากใหญ่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านปากน้ำ ปัจจุบัน และเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบาก” ตามชื่อดงบาก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านปากน้ำ” บุ่งสระพัง
ตำนาน “บุ่งสระพัง” มีเล่าไว้มากมายหลายสำนวน ตามแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านแต่ละยุคแต่ละสมัยจะปรุงแต่งเล่าสู่ลูกหลานฟัง จนผสมผสานกลายเป็นหนึ่งเดียวกับตำนานฆ้องทองคำใหญ่ที่ดังมาจาก “หนองสะทัง” และลูกไฟสุกสว่างที่ลอยดวงขึ้นจากดงพระคเณศ
แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ลูกหลานชาวบ้านปากน้ำ ไม่ว่ารุ่นไหน ไม่มีใครไม่รู้สึกภูมิใจในบุ่งสระพัง จนลูกหลานชาวบ้านปากน้ำเรียกชื่อหมู่บ้านต่อท้ายเสมอว่า บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง และเรียกเชื้อสายว่าเป็นลูกหลานจ้าวปู่ บุ่งสระพัง ว่า “ลูกจ้าวปู่” และอุทิศชื่อท่าน้ำแห่งหนึ่งให้เป็นท่าของจ้าวปู่ เรียกว่า “ท่าหอ” หรือ“ท่าหอปู่” โดยจะไม่มีการหาปลาบริเวณท่าน้ำนี้
เรื่องของบุ่งสระพัง ที่ซึ่งพ่ออาศัยทำมาหาเลี้ยงชีพมาจวบจนบั้นปลายของชีวิต คือ การเริ่มต้นบทสนทนาของเราในค่ำวันหนึ่ง