ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว

สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด และบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕

เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ ผู้ทรงเป็น “แม่แห่งแผ่นดิน” จึงขอนำพระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ และอารัมภกถา มาย้อนรำลึกความทรงจำอันยิ่งใหญ่แห่งชีวิตของมหาพระโพธิสัตว์ในกาลก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และชวนกันอ่าน เพื่อนำหลักธรรมจากชีวประวัติของพระโพธิสัตว์ และของพระองค์ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดสติปัญญาในการแก้ปัญหาทุกประการ และเกิดความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ

พระราชประวัติ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

อารัมภกถา

                   ทศชาติชาดกเป็นเรื่องราวในพระชาติหนหลังของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะพระองค์กำลังทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ 

พระมหากษัตริย์ไทยนับแต่โบราณกาลมา ทรงโปรดให้นำทศชาติชาดกมาเขียนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถจารึกไว้ตามพระอารามต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญในพระชาติ ทั้ง ๑๐ พระชาติ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้อาณาประชาราษฎร์  ได้ศึกษาเส้นทางชีวิตของพระมหาบุรุษ ที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ  แต่ละพระชาติทรงบำเพ็ญพระบารมีด้วยจิตใจที่แน่วแน่ มีปณิธานที่มั่นคง  กว่าจะอุบัติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย ประกอบด้วย

                   เตมีย์ชาดก (บำเพ็ญเนกขัมมบารมี) พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ทรงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการเสด็จออกบรรพชา จึงทรงแกล้งทำเป็นคนใบ้ ด้วยทรงมุ่งหวังที่จะละทิ้งกามคุณทั้ง ๕ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

                   มหาชนกชาดก (บำเพ็ญวิริยบารมี) พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก ขณะเสด็จลงสำเภาไปค้าขาย ได้เกิดพายุใหญ่เรือแตกจมลงในมหาสมุทร แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง แต่พระมหาชนกก็มิได้ท้อถอย ทรงแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรถึง ๗ วัน นางมณีเมขลาเทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร ได้พูดลองใจให้พระองค์เลิกล้มความพยายาม   แต่พระมหาชนกไม่ทรงฟัง ยังเพียรพยายามแหวกว่ายด้วยความมุ่งมั่น  นางมณีเมขลาเห็นเช่นนั้น จึงเกิดความเลื่อมใสในความเพียรและให้การช่วยเหลือด้วยการอุ้มพระมหาชนกไปขึ้นฝั่งที่เมืองมิถิลา จนได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

                   สุวรรณสามชาดก (บำเพ็ญเมตตาบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระสุวรรณสาม เลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอดอยู่ในป่า  วันหนึ่งพระสุวรรณสามถูกพระเจ้าปิลยักษ์ยิงด้วยลูกศร ได้รับบาดเจ็บแสนสาหัส แต่ไม่ได้ผูกโกรธ ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรม ได้ทำให้พระสุวรรณสามกลับฟื้นคืนชีวิต และบิดามารดากลับมามองเห็นได้ดังเดิม

                   เนมิราชชาดก (บำเพ็ญอธิษฐานบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช เป็นผู้มั่นคงในการให้ทาน ทรงเบญจศีลเป็นนิจ  สมาทานอุโบสถทุกวันปักษ์ ทรงแสดงธรรมให้ทราบทางสวรรค์  สอนอาณาประชาราษฎร์ให้กลัวนรก พระอินทร์ทรงพอพระทัยถึงกับให้มาตลีเทพบุตรนำราชรถไปรับพระเจ้าเนมิราช เพื่อไปเที่ยวชมเมืองนรกและเมืองสวรรค์  ในกาลต่อมา เมื่อพระเกศาหงอกแล้ว ได้เสด็จออกบรรพชา  

                   มโหสถชาดก (บำเพ็ญปัญญาบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระมโหสถบัณฑิต ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน รับราชการอยู่ประจำในราชสำนักของพระเจ้าวิเทหะแห่งกรุงมิถิลา ในท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคนานัปการ พระมโหสถบัณฑิตได้ใช้ปัญญาที่อบรมมาดีแล้ว สามารถแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีมาโดยลำดับ

                   ภูริทัตชาดก (บำเพ็ญศีลบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพญานาค ชื่อว่า ภูริทัต รักษาอุโบสถศีลอยู่ที่จอมปลวกใกล้ฝั่งแม่น้ำยมุนา แต่ถูกพราหมณ์หมองูผู้รู้มนต์อาลัมพายน์ จับตัวไปเที่ยวแสดงละครหาเงินตามสถานที่ต่างๆ พระภูริทัตก็มิได้มีความแค้นเคืองคิดที่จะทำลายชีวิตพราหมณ์หมองูนั้น เพราะความที่ตนสมาทานรักษาอุโบสถศีลอย่างมั่นคง

                   จันทกุมารชาดก (บำเพ็ญขันติบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร ราชโอรสของพระเจ้าเอกราชแห่งเมืองปุปผวดี พระราชบิดาทรงเชื่อคำหลอกลวงของขัณฑหาลปุโรหิต จึงทรงรับสั่งให้จับพระจันทกุมารพร้อมด้วยคนและสัตว์เป็นจำนวนมากนำไปบูชายัญ ท้าวสักกเทวราชจึงได้เสด็จลงมาช่วยชีวิตไว้ แม้จะถูกกระทำเช่นนี้ พระจันทกุมารก็มิได้ผูกอาฆาตพยาบาทแต่ประการใด

                   นารทชาดก (บำเพ็ญอุเบกขาบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นท้าวมหาพรหม ชื่อว่า นารทะ ครั้งนั้น พระเจ้าอังคติราช  มีความเห็นผิดว่า นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี ในเวลานั้น ท้าวมหาพรหมได้เสด็จลงมาแสดงโทษแห่งความเห็นผิดให้พระเจ้าอังคติราชสดับ  ทำให้พระองค์ทรงคลายจากมิจฉาทิฏฐิละความเห็นผิดกลับมาปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขด้วยทศพิธราชธรรมดังเดิม  

                   วิธูรชาดก (บำเพ็ญสัจจบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์ ชื่อว่า วิธูระ เป็นผู้สอนอรรถและธรรมแด่พระเจ้าธนัญชัย โกรัพยะแห่งกรุงอินทปัตถ์ เมื่อปุณณกยักษ์มาท้าพนันเล่นสกากับพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ โดยมีวิธูรบัณฑิตเป็นเดิมพัน เพื่อให้เป็นทาสของปุณณกยักษ์ พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะทรงพ่ายแพ้ แม้วิธูรบัณฑิตรู้ดี  หากตอบว่าตนเองไม่ใช่ทาสของพระราชาก็จะพ้นจากความลำบาก แต่ก็ยังตอบไปตามความเป็นจริง เพราะความยึดมั่นในการบำเพ็ญสัจจบารมี   

                   เวสสันดรชาดก (บำเพ็ญทานบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร พระองค์ทรงตั้งปณิธานในการบริจาคทาน แม้จะมีใครขอสิ่งที่รักสิ่งที่หวงแหนที่สุดในชีวิตไม่ว่าจะเป็นดวงหทัย ดวงตา เนื้อ และเลือด บุตรธิดา หรือภรรยา ก็ทรงบริจาคเป็นทานได้ เพราะมุ่งมั่นในพระโพธิญาณเป็นปณิธานสูงสุด   

                   พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมีแต่ละข้อ ละเอียดขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นธรรมดา เรียกว่า “บารมี” ขั้นกลาง เรียกว่า “อุปบารมี” จนถึงขั้นสูงสุด เรียกว่า “ปรมัตถบารมี” รวมเป็นบารมี ๓๐ ประการ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร  มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์   ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทย มีพระบรมเดชานุภาพยิ่งใหญ่ ทรงพระปรีชาในศาสตร์หลายด้าน มีพระมนัสมั่นในพระกตัญญุตาธรรม มีพระราชศรัทธาเคารพหนักแน่นในพระรัตนตรัย มีพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรู้เท่าทันในเหตุการณ์เหตุผลโดยตลอด พระองค์ทรงบำเพ็ญสรรพราชกรณียกิจ ล้วนเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่สมณพราหมณาจารย์  ทั้งแก่พสกนิกรถ้วนทั่ว

ด้วยการพระราชทานสังคหธรรมนำจิตอาสาให้เพิ่มพูนขึ้นเนือง ๆ ด้วยทรงรักษาปกป้องคุ้มครองโดยชอบธรรม ทรงเพียบพร้อมด้วยพระคุณสมบัติแห่งพระราชาผู้ยิ่งใหญ่เป็นอเนกประการ   มีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานที่เป็นเหตุนำความเจริญรุ่งเรืองแห่งขอบขัณฑสีมาสยามประเทศ อันจะหาผู้ใดมาปรัปวาทมิได้  

บัดนี้ พระจอมชน ทรงสมบูรณ์ด้วยพระบุญญาธิการบารมี เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  มีพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร   มหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ปรากฏด้วยพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่แล้วนั้น

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระเกียรติยศปรากฏระบือไกล เป็นพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นอัครพุทธมามกชน   มีพระราชหฤทัยมั่นคงในพระบวรพุทธศาสนา ถึงพร้อมด้วยพระบุญญาธิการมากล้น เพียบพร้อมด้วยพระราชอัธยาศัยน้อมไปในการเสียสละช่วยเหลือเกื้อกูลแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทรงงามพร้อมด้วยพระสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล และพระเกียรติคุณอันสูงส่งตลอดกาล ทรงพระปรีชาสามารถใคร่ครวญด้วยเหตุและผลก่อนที่จะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ทรงไว้ซึ่งความละเอียดอ่อนสุขุมคัมภีรภาพ และทรงฉลาดหลักแหลมในอุบาย เป็นที่ประจักษ์ชัดแท้แก่ใจพสกนิกรชาวไทยตลอดเวลาว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์ไว้นานัปการแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ทรงพร่ำสอน ใส่พระทัยถึงงานศิลปาชีพและศิลปะแห่งการดำเนินชีวิตอย่างมีจุดหมาย อิงอาศัยประโยชน์สุขเป็นสำคัญ ทั้งทรงเกื้อกูลงานศิลป์ทุกแขนงอย่างแยบคาย   ด้วยอุบายวิธีสุดล้ำเลิศ ได้พระราชทานและดำเนินการความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์ป่า และน้ำ โดยชื่อว่า โครงการป่ารักน้ำ

เพราะฉะนั้นแล พระองค์ฯ จึงทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทยที่ต่างยกย่องเทิดทูนเหนือเศียรเกล้า สถิตไว้เป็นมิ่งขวัญของปวงประชาตลอดกาล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชชนนี ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

                   สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าของชาวไทยทุกพระองค์ ล้วนทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมเพื่อปกครองดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้อาณาประชาราษฎร์ได้เกิดความร่มเย็นภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เฉกเช่นการบำเพ็ญพระบารมีธรรมแห่งพระโพธิสัตว์ซึ่งได้บำเพ็ญพระบารมีมานับด้วยอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป กล่าวเฉพาะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ  มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร  ราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต่างทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมแห่งพระโพธิสัตว์ เหมือนเช่น สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าของชาวไทยทุกพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วนั้น                  

                   ในศุภสมัยอันเป็นมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้ บรรดาอาตมภาพและพสกนิกรทั้งปวง ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ขอถวายพระพรชัยมงคลแด่พระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และเดชานุภาพแห่งพระกุศลผลบุญที่ทรงบำเพ็ญมา ขอพระองค์ฯ ผู้มีบุญญาธิการอันถึงพร้อมแล้ว จงทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน ดำรงอยู่เป็นมิ่งขวัญอันยิ่งใหญ่ ของพสกนิกรชาวไทย ตลอดกาล

ในศุภสมัยอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ บรรดาอาตมภาพและพสกนิกรทั้งปวง จึงขอน้อมสนองพระเดชพระคุณแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อให้พระเกียรติยศปรากฏอยู่ตลอดกาลนาน ด้วยการจัดพิมพ์หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับญาณวชิระ ซึ่งพระเถระวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ทั้ง ๕ รูป ประกอบด้วย พระธงชัย สุขญาโณ (อดีตพระพรหมสิทธิ), พระมหาสังคม ญาณวฑฺฒโน (อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์), พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์), พระมหาบุญทวี ปญฺญาวํโส (อดีตพระศรีคุณาภรณ์)  และ พระมหาสมจิตร จิตฺตธมฺโม (พระครูสิริวิหารการ) ได้มีวิริยะ อุตสาหะ เรียบเรียง ตรวจทานแก้ไขปรับปรุงการใช้ถ้อยคำและสำนวนภาษาไทยให้เหมาะสมกับยุคสมัย อันจะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้โดยง่าย  สามารถเข้าถึงหลักธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งปรากฏอยู่ในทศชาติชาดกนั้น เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน อำนวยประโยชน์แพร่หลายแก่ผู้สนใจในธรรมโดยทั่วไป ทั้งจะเป็นการประกาศพระเกียรติคุณ น้อมถวายเป็นพระราชกุศล ถวายพระพรชัยมงคล แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ปรากฏแผ่ไพศาล เสด็จเป็นมิ่งขวัญของอาณาประชาราษฎร์ ทรงสถิตสถาพร ตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญฯ

คณะผู้เรียบเรียง ตรวจทานแก้ไขปรับปรุงการใช้ถ้อยคำและสำนวนภาษาไทย

หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ

พระธงชัย สุขญาโณ (อดีตพระพรหมสิทธิ)

พระมหาสังคม ญาณวฑฺฒโน (อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์)

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

พระมหาบุญทวี ปญฺญาวํโส (อดีตพระศรีคุณาภรณ์)

พระมหาสมจิตร จิตฺตธมฺโม (พระครูสิริวิหารการ)

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here