แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม

ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา

ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์


ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๕๕. “แด่ความชราอันเงียบงัน” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์

๕๕. แด่ความชราอันเงียบงัน

เมื่อคืนฝนตกหนัก ทั้งลมทั้งฝน ทั้งฟ้าร้องฟ้าแลบ น่ากลัว จนแม่ต้องลุกขึ้นมาก่อไฟเอาไว้ พ่อนอนอยู่ข้างนอกบอกว่า เวลาฟ้าแลบ แดงวาบเข้ามาถึงใต้ถุนบ้านไม้ที่พ่อนอน ต้องเอาผ้าห่มขอมหัว

“พ่อแม่เพิ่นบอกเพิ่นสอนว่าจังซั้น คันมื้อใดฝนตกฝนลง ฟ้าฮ้องฟ้าเลื่อมแฮงหลาย อย่าหงายคมมีดคมพร้า ให้ดังไฟเอาไว้นำเฮือนนำซาน มื้อคืนทั้งลมทั้งฝน ฟ้าเลื่อมเป็นตะย้านกะเลยลุกขึ้นมาดังไฟเอาไว้ จักแม่นฟ้าลงทางใดแน่ ฟากหนองผักบ้งกะว่าลง ทางในบ้านกะว่าโทรทัศน์ตายหลายเฮือน พ่อนอนอยู่ทางนอกเพิ่นว่า ฟ้าเลื่อมแฮงเป็นตะย้าน ยามฟ้าเลื่อมแดงวาบเข้ามาฮอดตะล่างเฮือน จนเอาผ้าห่มขอมหัว”

“คันเป็นหวัดเป็นไอ เจ็บคอให้กินน้ำข้าวหม่าสามอึก ตื่นเช้ามา บ่ต้องเว้านำไผ ให้กั้นใจกินน้ำข้าวหม่าก่อนโลด”

แม่เปรยเรื่องดินฟ้าอากาศเมื่อคืนที่ผ่านมา แล้วพูดถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในการรักษาอาการหวัดลงคอ จากนั้นก็บ่นปวดเอวเพราะลูกวัวน้อยที่พ่อซื้อมากระโดดใส่ข้างหลัง เคยไปหาหมอ หมอก็บอกว่ากระดูกเสื่อมตามอายุ ไม่ได้เกี่ยวกับวัวน้อยกระโดดใส่
อันที่จริงแม่ก็มีอาการปวดหลังอยู่บ้าง ร่างกายส่งสัญญาณเตือนว่าเริ่มชราแล้ว

ระยะหลังมานี้แม่เริ่มบ่นปวดหลังบ่อยขึ้น คงจะเป็นผลมาจากการแบกหาม กรากกรำทำงานหนักมาทั้งชีวิต ทั้งก้มดำนา ทั้งหาบถ่านหาบปลาขาย ทั้งหาบหญ้าให้วัว ทำให้กระดูกสันหลังบางข้อทรุดตัวแล้วไปกดทับเส้นประสาทจึงเกิดอาการปวดอย่างแรง หมอไม่อยากผ่าตัดให้เพราะเห็นว่าอายุมากแล้ว เวลานอนแม่ต้องนอนตะแคง พอนอนตะแคงนานก็เมื่อย จะพลิกตัวนอนหงายก็ปวดตรงที่มันงอ ต้องหาอะไรนุ่ม ๆ วางรองก่อนจะนอนลง

แม่บอกว่า หรือจะเป็นกรรมพันธุ์ เพราะป้าจันทร์กับลุงดิษฐ์พี่สาวกับพี่ชายของแม่ก็ล้วนแต่หลังค่อมกันทุกคน ยิ่งลุงดิษฐ์ ทุกวันนี้ เดินไปไหนมาไหนแทบจะเฟือดินไป แต่ก็ยังเลี้ยงวัว ยังปลูกถั่วปลูกแตงไม่หยุด

พ่อเองก็สังเกตได้ว่าปีนี้หลังแม่ค่อมลงไปมาก แม้จะบ่นปวดหลังปวดเอวแต่แม่ก็ทำงานไม่หยุด พออาการทุเลาลงหน่อยก็ขึ้นกี่ต่ำสาด

“เดี๋ยวเบิ่งย่างจ่องเจ๊าะ ๆ โซ๊ะ ๆ เซ๊ะ ๆ อยู่กะยังบืนใส่กี่ใส่ฟืมต่ำสาด บอกว่าอย่าเฮ็ดกะยังเฮ็ด สาดอยู่เทิงเฮือนต่ำไว้กะมีพอได้ใซ้อยู่”

พ่อเพิ่งกลับจากไล่มองที่บุ่งบ่นให้แม่งึมงำ จากนั้นก็เล่าเรื่องที่พ่อซื้อวัวแม่ลูกมาเมื่อหลายอาทิตย์ก่อนว่า พ่อขอเงินจากแม่ไปซื้อวัวแม่ลูกคู่หนึ่ง เพราะเงินพ่อไม่พอ แม่ไม่อยากให้ซื้อก็บ่นไปสารพัด เคยทำไม่ได้ทำก็ไม่รู้จะนอนอยู่อย่างไร รู้สึกโหวง ๆ เหวง ๆ อยากหาวัวมาเลี้ยงไว้พอได้หยอกเล่น สายมาไม่มีอะไรทำก็พอได้เดินออกไปดู หาหญ้าให้กิน ซื้อมาไม่นานลูกวัวน้อยก็กระโดดใส่แม่ เจ็บหลังนอนร้องอยู่โงก ๆ

แล้วพ่อก็ออกปากยอมรับเองว่า ตอนนั้น มันผิดที่พ่อหยอกมันเล่น ไม่รู้แม่ไปนั่งอยู่อย่างไร มันจึงกระโดดใส่ข้างหลัง ลูกวัวน้อยคนเคยเล่นกับมัน พอเห็นคนมันก็คงจะเล่นด้วย จึงกระโดดใส่ มันเป็นสัตว์ก็ไม่รู้ว่าคนจะเจ็บจะปวด มันผิดที่พ่อหยอกมันเล่น พอจับคางจับเอว มันก็หดหน้าหดหลัง มันกระโดดใส่ก็ผลักมันออก

มันชอบรถ เห็นรถไม่ได้ พอเอาเข้ามาบ้าน เห็นรถมันก็ไม่อยากหนีจากรถ ก็เดินวนเวียนอ้อมไปอ้อมมาอยู่กับรถ ทั้งเลียทั้งดม จนต้องหาอะไรมาล้อมรถเอาไว้

“จังว่า วนเอาเงินนำแม่ไปซื้องัวหว่างใด๋หัน กะสิกดดันพ่อแน่อยู่ แม่เพิ่นบ่อยากให้ซื้อ มันเคยเฮ็ดเคยทำ อยู่ซื่อ ๆ กะอยู่บ่เป็น คันบ่มีงัวมีมอ นอนอยู่ซื่อ ๆ มันกะเป็นโหวง ๆ เหวง ๆ คือเฮือนบ่มีหยัง ซื้อมาบ่ทันดน ลูกงัวผัดมากระโดดโคมแม่เพิ่น เจ็บหลังฮ้องอยู่โงก ๆ เห็นแม่เพิ่นเจ็บโตกะมาคึดว่า มันเป็นนำปากคนบ่ จังว่านอนคึดเบิ่ง พ่อวนเอาเงินนำเพิ่นไปซื้อวัว เงินโตบ่พอ เพิ่นบ่อยากให้ซื้อ ปากเพิ่นผัดเว้าไปแน่”

“งัวผัดเป็นงัวหน้าด่างใบโพธิ์ เพิ่นว่ามันบ่ดี พ่อแม่เพิ่นว่ามาจังซั้น ถ้าหน้าด่างแต่ว่ามันซอดออกไปทางหาง ทางตีนนำจังเป็นงัวดี แต่ทุกมื้อนี้เขาบ่ถือกัน ขอให้ขายได้ราคากะว่าดีเบิ่ด”

“จักจังใด๋ละ มันอยากได้มาเลี้ยงไว้เป็นหมู่ สวยมาพอได้ย่างออกไปเบิ่ง หาหญ้าหายูให้มันกิน คันสินอนอยู่เฮือนซื่อ ๆ กะนอนอยู่บ่เป็น เลี้ยงพอได้หยอกเล่น”
“ก่อสิเป็นนั้น มันผิดนำเจ้าของไปหยอกมันเล่น แม่เพิ่นกะสิไปนั่งอยู่จังใดละ บ่ได้ระวัง แนวงัวน้อยเห็นคนเคยเล่นนำมัน มันกะสิไปเต้นโคมล้มลงเจ็บหลัง”
“เป็นกับเจ้าของเล่นนำมัน กะหยอกมันแน่ มันเต้นใส่ โตกะคึมันออก เห็นคนเล่นมันกะสิเล่นนำคน มันกะบ่ฮู้ดอกว่าคนสิเจ็บสิปวด แนวงัวแนวควาย คนเจ็บบ่เจ็บมันกะบ่ฮู้จัก แต่ว่า ทางหยอกพ่อหยอกมันอยู่ กะผิดนำเจ้าของไปหยอกมัน จับคางจับแอวมัน มันกะหดหน้าหดหลัง จักแม่เพิ่นไปนั่งอยู่จังใด๋ งัวน้อยมันย่างย๊อก ๆ มาทางหลังกระโดดใส่ เพิ่นบ่ได้ระวัง”
“บักฟ้าบอกว่า อีพ่ออย่าเฮ็ดจังซั้น อย่าไปหยอกมัน มันสิซนคน เพิ่นกะบ่หัวซา มักเอาแท้ ๆ เล่นนำงัวนำมอ เฒ่ามาแล้วกะจักเป็นจังใด๋ แต่กี้คือจังบ่เป็น ซื้องัวกะซื้องัวหน้าด่างมา มันบ่ดี”
เสียงแม่แทรกขึ้นมา
“ซื้อมาเลี้ยงพอได้หยอกมันเล่น งัวไทยโตน้อย ๆ หนึ่งดอก บ่แม่นงัวใหญ่อีหยัง มันอยากดื้อแน่ คันเอาเข้ามาในบ้าน ผัดบ่อยากหนีจากรถ เห็นรถกะวนเวียนอ้อมไปอ้อมมาอยู่แต่นำรถ”
“จังว่าบอกแม่เพิ่นว่าแนวเจ้าปากบ่ดี”

พอพูดถึงเรื่องวัวน้อยกระโดดใส่แม่จนปวดหลังต้องไปหาหมอ แล้วพ่อก็สังเกตเห็นว่าแม่หลังโก่งลงมาก พ่อนึกถึงเรื่องบางเรื่องขึ้นมาได้ แล้วก็เล่าว่า สมัยพ่อยังเด็กอายุไม่มาก พ่อใหญ่(คือ พ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม)ซื้อควายมาพันเอ็ด (๑,๑๐๐ บาท) ตอนนั้น บ้านบากไม่มีใครซื้อควายแพงอย่างนี้ มีแต่พ่อใหญ่ พอซื้อมาได้แค่วันเดียว พ่อใหญ่ก็ล้มป่วยนอนจับไข้หนาวสั่นเข้า ส่วนแม่ใหญ่ก็ร้องไห้ไม่หยุด ดึกดื่นเที่ยงคืนก็ไม่หยุด เสียใจว่า พ่อใหญ่ซื้อควายแพงกว่าคนอื่น เห็นคนอื่นซื้อวัวควายก็ไม่ได้ซื้อแพงอย่างนี้
อาวมีน้องชายพ่อใหญ่มาปลอบพี่เอื้อยว่าอย่าคิดอย่างนั้น มันเสียโชคเสียชัย

เมื่อพ่อใหญ่เป็นไข้ลุกไม่ขึ้นพ่อจึงขี่ควายไปนา ตอนไปนา ควายตัวอื่นมาใกล้ไม่ได้ ควายตัวนี้มันยืนไปขวางทางเอาไว้ ไปไล่ก็ไม่ได้ อยู่มาได้สี่ห้าวัน พ่อขี่ลัดเดิ่นโรงเรียนไปนา คนบ้านอยู่ทางเขื่อนมาเห็นจึงถามซื้อ ยังไม่ได้ถามพ่อใหญ่ก่อนพ่อก็บอกไปทันทีว่า ขาย ๆ
วันนั้นพ่อใหญ่อาการดีขึ้นพอลุกได้แล้วจึงขาย ไป ๑,๓๐๐ บาท ได้กำไร ๒๐๐ บาท

“โตยังน้อย ๆ แน่อยู่ดอก สิแม่นอยู่ ป. ๓ ป. ๔ บ่จักละ” พ่อบอกช่วงอายุของพ่อในเวลานั้น
“สมัยแต่กี้มันอยากเป็นอยู่ อีพ่อซื้อควายมาพันเอ็ด (๑,๑๐๐ บาท) ตอนนั้น เบิดบ้านบากบ่มีไผซื้อควายแพง มีแต่อีพ่อซื้อ พอซื้อมาได้มื้อหนึ่งอีพ่อมานอนไข้สั่นเข้า อีแม่นั้นไห้ ๆ ไห้เดิกดื่นเที่ยงคืนกะบ่เซา เคียดว่าอีพ่อซื้อควายแพง เพิ่นว่าเบิ่ดบ้านบ่มีไผซื้อแพงปานนี้”

“ว่าอีพ่อซื้อควายแพงอีแม่ไห้โงกๆ อยู่จังซั้น อาวมีกะมาออยพี่เอื้อยว่า เจ้าอย่าคึดจังซั้น พี่เอื้อย มันเสียโซคเสียซัย อาวมีเพิ่นเว้าไป”
“บาดนี้ซื้อควายมาแล้ว อีพ่อกะไข้หนาวสั่น เข้าลุกบ่ขึ้น พ่อลุกบ่ได้ เจ้าของกะเลยขี่ควายไปนา ตอนไปนาควายโตนี้หมู่มาใกล้กะบ่ได้ ยืนขวางทางหมู่อยู่จังซั้น ไปตีกะบ่ได้”
“อยู่มาได้สี่ห้ามื้อ เจ้าของขี่ลัดเดิ่นโรงเรียนไป คนบ้านอยู่ทางเขื่อนเขาเห็นกะเลยมาลัดถามว่า
“บักหำ ควายพ่อมึงบ่ขายบ่”
“ขาย ๆ โตว่า”
พอบอกว่าขาย เขากะเลยให้พ่อคำแขกนำมาถาม มื้อนั้นอีพ่อกะสร่างไข้พอมีแฮงลุกได้ เพิ่นลงไปบุ่ง เขากะนำไปถามซื้อ อีพ่อกะเลยขายให้ ๑,๓๐๐ ได้กำไร ๒๐๐ บาท แต่คราวโตยังน้อยแน่อยู่ดอก”
“จังว่า เบิ่ดคราวอีพ่ออีแม่แล้ว เจ้าของซื้องัวมาแล้วมาถืกยายหนูอีกบ่ ทั้งเว้าทั้งจ่ม บ่จักหน้าบูดหน้าบึ้ง ถามเพิ่นว่า “จ่มคืออยากให้ตายแท้” เพิ่นผัดว่า “อยากให้ตายนั่นละ” ทางลูกสาวกะเข้าข้างแม่ บักฟ้ากะคือกัน หญ้ายูเพิ่นกะบ่หาให้มันกินแหล่ว พ่อไปเกี่ยวหญ้าเกี่ยวยูเพิ่นกะเสยอยู่ แต่กี้เกี่ยวหญ้าให้งัวให้มอ บ่หาแต่ได้บอกยาก”
“อยู่ต่อมา แม่เพิ่นผัดว่า บักหล้าไปหาเกี่ยวหญ้าให้งัวกับพ่อมึงเด้อ แต่กี้เกี่ยวบ่เกี่ยวบ่จัก ”
“เว้านำปาก แต่ก่อนมันอยากเป็น ไปนำดงนำป่าบ่ให้เว้าเรื่องเสือเรื่องสาง ไปนำบุ่งนำมูลบ่ให้เว้าเรื่องแข้”

พ่อย้ำความเชื่อเรื่องคำพูดที่คนสมัยก่อนสอนกันมา แล้วก็วกกลับไปพูดถึงเรื่องที่พ่อเพิ่งกลับมาจากไล่มองหาปลาที่บุ่ง

“ปีนี้น้ำบุ่งลดลงหลายจนเห็นกองเยาะ เขาพากันไปไล่มองนำกองเยาะกองเยยเบิ่งบ่เป็น เจ้าของกะลองไปซั๊วเล่นนำเขาอยู่ ได้มาเฮ็ดปลาแดกจักถ้วยบู๋นี่ ไปซั๊วเล่นพอสมผู้เฒ่า”
“ฝนเทมาสองสามคืนน้ำบุ่งคือจังกลับมาขึ้นอีก คันน้ำยังขึ้นแนวนี้อีกสี่ห้าคืนสิปีนตลิ่ง”
“ไปไล่มองกะไปซั๊วเล่นพอสมผู้เฒ่าซื่อ ๆ ดอก ส่วนมองใหญ่กางยั้งถิ้มไว้ บัดมันมีเฮื่อมีแฮง มันบ่เจ็บบ่ปวด กะพอเฮ็ดพอทำอยู่ เฮ็ดอยู่เบิดมื้อมันกะบ่เมื่อยป่านใด๋ บัดมันเจ็บมันปวดมันฮั่งเป็น ยามมันเจ็บมันปวด มันบ่แน่นอน บัดลางเถื่อมันเจ็บ มันกะเจ็บขึ้นมา มันเป็นหยังบู๋นี้ มันเป็นนำโรคผู้เฒ่าหรือเป็นโรคแนวใด๋แล้ว คันสิว่าไปแล้ว พวกหมู่รุ่นอายุหว่างเดียวกันมันกะส่ำกันนั่นละ เกะเกะกังกะคือกัน เจ้าของยังว่าไคแน่ ยังพอได้ไปได้มาอยู่ บ่ได้นอนอยู่คือหมู่ คือพวกจารย์ผัน อาวภากะนอนอยู่เฮือนซื่อ ๆ บ่ได้ไปใสมาใสแล้ว”
“สู่มื้อนี้บ่หวังกลับหลังแล้วล่ะ นับมื้อมีแต่สิไปทางหน้า ถ้าคองแต่มื้อมันท่อนั่น ตายแล้วสิเอาไปจูดไปจี่ใสกะเอาไป คันบ่อยากเผาอยู่เมรุ ฟืนเฮ็ดกองฟอนกะหาไว้แล้ว บ่ให้ยากใผ สิเป็นจังใด๋กะเป็น ของมันป่านนี้แล้ว เฮ็ดจังใด๋ ตอนนี้ เจ็ดสิบหกเจ็ดสิบเจ็ด เข้ามาแล้ว บางคนไปบ่อยากได้แล้วกะมี เจ้าของมันบ่อยากนั่ง อยู่ซื่อ ๆ ทุกมื้อนี้บืนไปท่อนั่น เจ็บส่ำหนึ่งบ่อยู่ มีแต่อยากไป”
“คึดแน่แต่นำบ่มีเงินไว้งันเฮือนดี*เจ้าของทอนั่น ย้อนเอามาปัวเจ้าของเบิ่ด” (*งันเฮือนดี คือ งานศพ)
“แต่กี้โตคึดว่า มีเงินไว้งันเฮือนดีเจ้าของพอได้ซื่อเหล้าให้หมู่กินแน่ ผู้ใด๋อยากกินเหล้าซื้อให้กินจนบ่อยากโลด กะเอามาปัวเจ้าของเบิ่ด ทุกมื้อนี้เฮือนดีงานหนึ่งกะว่าเบิ่ดสองแสนสามแสน คึดอุกอั่งนำผู้อยู่ทางหลังอยู่”

“บอกเด็กน้อยว่า คันตายให้เอาไปเผาอยู่นาหัวบุ่งมันจังบ่ยากคนอื่น มนต์ครูบาจักองค์สององค์พอได้มาซักอนิจจา” พ่อพูดทีเล่นทีจริงแล้วก็หัวเราะเสียงดัง

“ตอนเจ้าของป่วยปีนั้น กะว่าแม่นตายแล้วล่ะ หายใจกะบ่ทัน จนว่าสิสวอยไปพุ้นล่ะ พยาบาลกำลังเข็ญเตียงไป แนมหาลูกว่าสิบอกว่า คันพ่อตาย เอาออกเมือแล้ว ให้เอาลัดลงไปนาบุ่งโลดเด้อ กะบ่ทันได้บอก”
“เฒ่าแล้วกะเว้าไปทั่วทีปทั่วแดน เผาคนตายอยู่นำไฮ่นำนา ใผสิอยากไปเหยียบไฮ่เหยียบนา เด็กน้อยอยู่นำหมู่นั่น เขากะย้าน คันเลาตายเอาไปนอนดอยไว้นาผู้เดียวโลดสู”
แม่นั่งอยู่ข้าง ๆ พูดขัดคอ
“มื้อหนึ่ง ย่างลงไปเบิ่งข้าวอยู่นาไฮ่ใหญ่ โลดดวนหัวสักลงใส่ไฮ่นา(ดวน คือ สะดุดล้มหัวถิ่ม) ลุกเป่งเหง่งป่างหง่างขึ้นมาได้ คนสิตายมันบ่ยากตั๊วนิ คึดว่า ย่างมาซื่อ ๆ กะหัวสักหัวคว่ำลงใส่ไฮ่นา คันสิตายอีหลี เก้าสิเป็นหยัง สิบสิเป็นหยัง ให้ลูกให้เต้าได้มาเห็นหน้าก่อนแน่กะไค”

เมื่อถามว่า ถ้าวันตายมาถึงเข้าจริง ๆ พ่อจะบอกกับพระที่มาสวดมาติกาให้บุญพ่อว่าอย่างไร อยากนิมนต์พระรูปไหนเทศน์หน้าหีบศพอยากขอบคุณแขกเหรื่อที่มางันเฮือนดีพ่อเต็มบ้านเต็มเฮือนว่าอย่างไร

“ตายเป็นผีหนีเป็นเพิ่นแล้ว มันบ่ฮู้จักสิเว้าดอก กายกว่า*ยังเป็น ๆ นั่งอยู่จังซี้ กะสิจักเว้าอยู่ (*กายกว่า คือ นอกจากว่า) คันครูบาเพิ่นสวดแล้ว ลูกเต้ากะสิถวายปัจจอกปัจจัย เฮ็ดศีลกินทานตามฮีตตามคลองคือไทบ้านเพิ่นพาเฮ็ดพาทำไปซั้นตี้ องค์เทศน์กะสิเป็นหัววัดเพิ่นไปซั้นแหล่ว คือพี่เอื้อยเกเพิ่นให้แม่มนต์เจ้าคุณวิมานไปเทศน์งานศพบักทิด อยู่บ้านกระโสบปีนั่น พี่เอื้อยเกเลากะดีใจหลายว่ามนต์เจ้าคุณมาเทศน์หน้าหีบลูกได้ เลาจกเงินอยู่ถงถวายกัณฑ์เทศน์ห้าพันบาท เว้านำพ่อ คันตายแล้วกะให้แก่ลงไปเผาอยู่นาหัวบุ่งโลด บ่อยากให้ลูกยากนำ ฟืนกะหาไว้แล้ว”

“ปีอีพ่ออีแม่เลาตายนั้น ยังบ่ทันมีเมรุ ได้เฮ็ดกองฟอนเผาอยู่ป่าซ้าคือกันทั้งสองคน ปีอีแม่ตายมหาธีร์มาจากวัดสระเกศ เอาผ้าไตรมาเฮ็ดบุญนำแม่ใหญ่ เพิ่นคุ้นกันกับบักเผิ้งแน่ มันไปบวชอยู่วัดสระเกศนำเพิ่น”

“กลางคืนเดิก ๆ มหาธีร์เพิ่นโทรออกมาบอกว่า แม่ใหญ่หลุดออกจากกองฟอนเด้อ เพิ่นว่าซั้น โตเข้าไปเบิ่ง เห็นไม้ข่มเหงล้มลงจากกองฟอน บ่กล้าท้อนแม่เข้าใส่กองไฟ ย้านบาป พวกผู้เฒ่าเพิ่นว่า พ่อแม่ตายบ่ให้ลูกเต้าเผาพ่อเผาแม่ บ่ให้ซุ บ่ให้ท้อนฟืนใส่พ่อใส่แม่ มันบาป เพิ่นว่าซั้น โตกะบ่จักสิเฮ็ดจังใด๋ ของย้านบาป จักสิไปเอิ้นใผ แนวมันเดิกแล้ว ได้แต่นั่งแนมเบิ่งแม่สึงหลึงอยู่ซื่อ ๆ ทั้งบักอั้นหลานยังน้อย ๆ ซ้อนท้ายรถเข้าไปนำ สะผัดว่า “โอ้ย ! หัวยายจูม โอ้ย ! หัวยายจูม” พอดีผู้ใหญ่บ้านจอยเข้ามาส่องเบิ่งกะเลยเป็นคนท้อนฟืนใส่อีแม่”

“ตอนอีแม่ยังอยู่ ย้านแต่ลูกทุกข์ลูกยาก อย่าเฮ็ดนำแม่หลายเด้อ ให้เก็บกำไว้ แพงไว้ เลาบอกลูก เลาย้านลูกเฮ็ดงานศพเบิ่ดเงินนำเลาหลาย”
“พอเมี่ยนกระดูกแล้ว กะเอาไม้แก่นหล่อนยาวส่ำแขนหนึ่ง มาสับเป็นซื่อผู้นั่นผู้นี่ เอาสีแต้มเฮ็ดหลักเสปักไว้ม้องฝังหม้อเถ้ากระดูก จังว่า มื้อหนึ่งไปซ่อยงานอยู่วัด กะเลยลองย่างเข้าไปส่องเบิ่งอยู่ผีป่าซ้า หลักล้มกะมี หลักยังกะมี แต่หลักเสอีพ่ออีแม่บ่เห็น กะสิผุพังไปเบิ่ดแล้วละ แนวมันดน”

แล้วเรื่องเก่าแต่หนหลังเกี่ยวกับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ก็พรั่งพรูออกจากปากพ่ออีกมากมาย

“ตอนยายหนูป่วยไปนอนปัวอยู่โรงพยาบาล เจ้าของนอนอยู่เฮือนคนเดียว กะเป็นเฮือนเย็นเฮือนเงียบบาดหนึ่ง จังว่าโตว่า เฮือนเคยอยู่เคยเซา คันเจ้าบ่อยู่ ใผสิมาย่างนำเฮือนนำซาน ใผสิมาเว้ามาจา ใผสิมาปัดมากวาด ใผสิมาเมี้ยนสิ่งเมี้ยนของ ลูกเต้ากะสิบ่มีแม่นำเขา เฮือนซานกะสิเศร้าหมองไป เคยได้ยินเสียงฮ้องไล่จาดเด็กเล็กเด็กน้อยอยู่นำเฮือนนำซาน กะสิมิดสี่หลี่ไปตี้บาดนี้”
พ่อเปรยเรื่องแม่ขึ้นมาลอย ๆ


หลังแม่เจ็บหนักจากปอดติดเชื้ออย่างรุนแรงช่วงต้นเมษาหน้าแล้งที่ผ่านมา และพ่อเองก็ล้มป่วยจากน้ำท่วมปอดเมื่อปีก่อน ย่างเข้าปีนี้ร่างกายพ่อกับแม่แก่หง่อมลงไปมากจนดูผิดหูผิดตา ความชราย่องตามมาข้างหลังอย่างเงียบ ๆ โดยที่พ่อกับแม่แทบไม่รู้ตัว ไม่ต่างจากเรือผุค้างโคกอยู่ท่าซาละวันกำลังถูกปลวกลามเลีย และเกวียนฮ้างถูกจอดทิ้งไว้รอวันผุพัง

เมื่อความชรามาเยือน ก็แทบไม่มีส่วนไหนของสังขารร่างกายที่พอจะใช้งานได้ แม้ฟันของแม่จะยังอยู่เกือบครบทุกซี่ แต่ผมก็ขาวเต็มหัว ส่วนพ่อเองแม้เส้นผมจะยังดำ แต่ฟันก็ร่วงไปเกือบหมดปาก หลังที่เคยเหยียดตรงก็โก่งงอค่อมลงมองเห็นได้ชัด เวลาเดินทั้งสองคนต่างก็กระย่องกระแย่ง โซซัดโซเซพอ ๆ กัน

แม้หัวจิตหัวใจยังดื้อดึงหลอกตัวเอง อยากทำ อยากสู้ พยายามฝืนลากสังขารไปเพียงใด ก็เพียงหัวใจที่ยังอยากทำ แต่ร่างกายที่แก่หง่อมก็อ่อนล้าเต็มทน ไม่ต่างจากเปลวเทียนแสงสุดท้ายที่ริบหรี่พร้อมจะดับวูบลงในทันทีที่สุดไส้

มันคือธรรมชาติของพระไตรลักษณ์ มันคือความผุพังของสังขาร มันคือความเงียบงันของวัยชรา


ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๕๕. “แด่ความชราอันเงียบงัน” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์

ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร