หนังสือ "LIfE WORKSHOPS : ปฏิบัติการชีวิตพิชิตฝัน โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
หนังสือ “LIfE WORKSHOPS : ปฏิบัติการชีวิตพิชิตฝัน โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

เหลียวหลังแลหน้า แล้วทักทายกันว่า “สวัสดีปีใหม่”

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน

            “สวัสดีปีใหม่” ทุกๆ ท่าน

            รู้สึกชื่นใจที่ยังมีโอกาสเขียนบทความให้ทุกท่านได้อ่านอยู่ต่อไปในปีนี้ แม้ไม่รู้ว่าจะได้เขียนไปอีกนานแค่ไหน เพราะอะไรๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราต่างก็เข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะฉะนั้น ทุกๆ ครั้งที่เขียนก็จะคำนึงว่า ท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์อะไร ก็พยายามหาอะไรดีๆ มาแบ่งปัน บางท่านก็ชมว่าชอบ บางท่านก็ขอบคุณว่า ดี เพียงเท่านี้ก็ทำให้มีกำลังใจในการทำหน้าที่ต่อไป

            เป็นประจำทุกปลายปีหรือต้นปี ผู้เขียนก็จะทำการ          “เหลียวหลัง แลหน้า”

            “เหลียวหลัง”ก็คือการทบทวนว่าตลอดปีที่ผ่านมานั้น ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ผลเป็นอย่างไร  อะไรที่ไม่ได้ทำตามที่ตั้งเป้าไว้ มีอะไรเป็นปัญหาอุปสรรค เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุงสร้างเป็นบทเรียนชีวิตเป็นของตัวเอง เพราะเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมานั้น มีทั้งสุขทุกข์ เศร้า สนุก พบเพื่อนใหม่ พรากจากเพื่อนเก่า เมื่อนำมาพิจารณาแล้ว ก็ค่อยๆ เห็นอะไรชัดเจนมากขึ้น บางอย่างเคยเป็นปัญหาพาใจให้ทุกข์ เมื่อเจอเหตุการณ์ทำนองนั้นอีกครั้งปรากฏว่า มันกลายเป็นบทเรียน เปลี่ยนเหตุการณ์ที่เจอให้กลายเป็นประสบการณ์ที่เพิ่มทักษะชีวิต ถ้าเป็นหน่วยงานธุรกิจก็คงจะคิดว่า ปีที่ผ่านมานั้นขาดทุนหรือกำไร 

          “แลหน้า” เป็นการมองไปในปีหน้าแล้วตั้งเป้าหมายว่า ปีหน้านั้นเราจะทำอะไรบ้าง  ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร  และเงื่อนไขที่จะต้องเตรียม ตลอดจนทักษะที่จะต้องเรียนรู้พัฒนาเพิ่มคืออะไร  เมื่อปีที่แล้วผู้เขียนตั้งใจให้ตนเองสร้างงานให้ได้อย่างน้อยๆ เล่ม ก็ทำได้แล้ว แต่พอมองไปปีหน้า สิ่งที่อยากจะพัฒนาตนเองก็คือทักษะการเขียนงานด้านวิชาการ ด้านการศึกษา ก็จะต้องตั้งเป้าหมายเชิงผลผลิต (output)  และจะต้องคิดวางแผนเชิงกระบวนการ (process)  แล้วเราก็จะมากำหนดสิ่งที่จะนำมาเสริมสร้างให้กระบวนการนั้นขับเคลื่อนไปได้ (input) ทำออกมาให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด

เวลาที่ผู้เขียนให้การปรึกษานิสิตปริญญาโท ก็จะกางปฏิทินทั้งปีเลย ว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่ กำหนดกรอบเวลานานแค่ไหน แต่ละขั้นตอนของการทำวิจัยที่ใช้อะไรบ้าง ตัวนิสิตเองต้องฝึกหรือเรียนอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะลำพังแค่เรียนระเบียบการทำวิจัยในชั้นเรียนอาจจะไม่เพียงพอต่อการทำงานจริงๆ  ซึ่งนิสิตก็จะต้องค้นคว้าเพิ่มเติมเอง เมื่อเขียนออกมาได้ทำให้นิสิตมองแผนการเรียนของตนเองได้ตลอดทั้งปี สามารถที่จะบริหารจัดการเวลาตนเองได้เป็นอย่างดี

            การบริหารเวลา มีความจำเป็นสำหรับเราทุกคน และบางอย่างต้องฝึกฝนจนเป็นนิสัย ไม่อย่างนั้นมันก็จะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แม้ว่าอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในปีหน้า แต่ว่าตัวเองไม่ปรับปรุงตัว ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไรเลย ผลลัพธ์ที่ได้มันก็เหมือนเดิม เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนวิธีการ แต่ว่าอะไรที่ดีอยู่แล้วส่งเสริมไปในทางดีเราเองก็จะต้อง “ไม่เบื่อที่จะทำเรื่องเดิม ๆ ถ้ามันดีอยู่แล้ว”

หนังสือ "LIfE WORKSHOPS : ปฏิบัติการชีวิตพิชิตฝัน โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
หนังสือ “LIfE WORKSHOPS : ปฏิบัติการชีวิตพิชิตฝัน โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

            ตัวเราเองเท่านั้นที่รู้ และจะเป็นคนกำหนดว่า “อะไรที่จะคงไว้ และอะไรที่จะต้องเปลี่ยนแปลง”

            ในหลักคิดเกี่ยวกับการจัดการเวลา อยากจะนำเสนอพุทธภาษิตที่สำคัญ คือ

            ขโณ โว มา อุปจฺจคา 

อย่าปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ 

สังเกตตรงที่คำว่า “ขโณ” หรือที่เรารู้จักว่า “ขณะ” พระพุทธเจ้าให้เราเห็นความสำคัญของเวลาไม่ใช่เฉพาะปีใหม่หรือวันสำคัญ แต่ให้เราใช้ทุกๆ ขณะของชีวิตและจิตใจ ให้เกิดประโยชน์ อย่าให้มันล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์  เราก็เลยมักจะได้ยินคำว่า “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” here and now  คือเราทำขณะนี้เดี่ยวนี้และที่นี่แหละให้เป็นประโยชน์ ลงมือทำเสียตั้งแต่ตอนนี้และทำต่อเนื่องไปทีละขณะ มีสติอยู่กับปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ

            อตีตํ นานฺวาคเมยฺนย นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ  อย่ารำพึงถึงความหลัง อย่ามัวหวังถึงอนาคต          ถ้าเรามัวแต่คิดถึงอดีต จะมีแต่ความหดหู่อยู่กับความหลัง ขาดพลังที่จะทำให้ก้าวต่อ แต่ถ้าเราคิดถึงอนาคต ก็จะมีแต่ความกังวล ความเครียด เพราะคาดหวัง ซึ่งทั้งสองอย่างไม่มีประโยชน์อะไรเลย 

เพราะอดีตเป็นประโยชน์มากที่สุดก็คือบทเรียนชีวิต ส่วนอนาคตก็มีไว้ให้เรากำหนดเป้าหมาย แต่ที่สำคัญคือปัจจุบันนี้เท่านั้นที่เราจะต้องมุ่งมั่นตั้งใจ ลงมือทำเพื่อสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง เปลี่ยนเศร้าจากวันนั้นให้เป็นบทเรียนสำหรับวันนี้ ให้เรามีกำลังใจในการก้าวไปสู่วันหน้า และพร้อมจะฟันฝ่าทุกอุปสรรคปัญหา ด้วยใจที่เบิกบานในปัจจุบัน  

หิยฺโยติ หิยฺยติ โปโส ปเรติ ปริหายติ  คนที่ผลัดวันว่าพรุ่งนี้ ย่อมเสื่อม ยิ่งผลัดว่ามะรืนนี้ ก็ยิ่งเสื่อม  ข้อนี้ผู้เขียนก็ยังเป็นอยู่เหมือนกัน ชอบผลัดไปเรื่อยกระทั่งบางอย่างมาเร่งเอาตอนท้ายทำให้เหนื่อย ก็พยายามปรับปรุงตนเองเหมือนกัน พยายามที่จะไม่ผลัด  พยายามมองให้ชัดพอเห็นภาพร่างๆ สร้างเป็นแนวทางปฏิบัติ ก็จะจัดการลงมือทำในทันที พยายามที่จะไม่ทำด้วยความวู่วาม แต่ต้องทำด้วยวิจารณญาณพอสมควร เพื่อไม่ให้เผลอพลั้ง แต่ถ้ามันพลาดเราก็จะต้องฉลาดเรียนรู้ในสิ่งที่เราทำ ซึ่งก็จะนำไปสู่กระบวนการ “เหลียวหลัง แลหน้า” ต่อไป

แม้จะมีแผนบริหารเวลาที่ทำไว้รอบคอบแล้ว ก็อยากจะให้เราวางใจให้ว่าง เว้นช่องให้ใจมีพื้นที่สำหรับยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะผันแปรไปตามเหตุปัจจัย เพราะแม้ว่าแผนเราจะดี แต่บางทีมันก็มีตัวแปรแทรกซ้อนเข้ามา จำเป็นที่จะต้องมีสติสัมปชัญญะ  ประคองใจไม่ให้หวั่นไหวไปตามปรากฏการณ์ ซึ่งเราอาจจะเปลี่ยนอะไรมันไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะปรับใจให้รู้เท่าทันสถานการณ์ได้ และเราจะสนุกกับการได้เจออะไรที่ไม่ได้คาดไว้ เบิกบานใจกับการพาตนเองผ่านช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต ตลอดทั้งปีนี้และปีต่อๆ ไป

เหลียวหลังแลหน้า แล้วทักทายกันว่า “สวัสดีปีใหม่” โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here