
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา

ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์

ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๔๘. “เรื่องของดงพระคเณศ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์

๔๘. เรื่องของดงพระคเณศ

ดงพระคเณศ ดงพิษเณศ หรือดงตาเณศตามภาษาปากของคนเฒ่าคนแก่อยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไปทางแม่น้ำมูลราวสองกิโลเมตร เป็นสถานที่ขุดพบพระพุทธรูปเงิน พระพิฆเณศวร์ และโคอุสุภราช หรือ โคนนทิ ซึ่งเชื่อว่า เป็นพาหนะประจำองค์พระศิวะตามความเชื่อของพราหมณ์ นอกจากป่าแห่งนี้จะเคยเป็นวัดร้างชุมชนบ้านตาเณศแล้ว บริเวณโดยรอบตามแนวฝั่งแม่น้ำมูลยังเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณอีกด้วย

เรื่องเล่าเกี่ยวกับดงพระคเณศมีมากมาย ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านมีความเคารพและยำเกรงต่อสถานที่แห่งนี้

พ่อเล่าว่า ตอนขุดพระพุทธรูปได้ที่วัดป่าปีนั้น พ่อก็ได้ไปดูด้วย ชาวบ้านไปกันมาก
ตอนนั้นพ่ออายุยังไม่มาก คงเพิ่งเป็นบ่าว จะออกเรือนหรือยังก็ไม่แน่ใจ จำได้ลาง ๆ ว่าพ่อยังอยู่ในบ้านกับพ่อใหญ่แม่ใหญ่จึงได้เห็นพระวางเรียงกันอยู่หัวนอน แม่ใหญ่ไปบูชาพระที่ขุดได้มาสององค์ จะองค์ละ ๘๐ บาท หรือ ๙๐ บาท พ่อก็จำไม่ได้

ตอนนั้นแม่ใหญ่เข้าวัดประจำ เพราะน้าโรจน์ไปบวชเป็นเณรน้อย ๆ ลูกชายบวชเณรแม่ใหญ่จึงต้องเข้าวัดเข้าวาไม่ขาด พ่อถ่านเอาพระที่ขุดได้มาให้คนบูชาหาเงินสร้างโบสถ์ พอเห็นเขาบูชาพระแม่ใหญ่ก็คงบูชามาด้วยสององค์ เอามาวางเรียงกันไว้บูชาที่หัวนอน

การบูชาพระที่พ่อพูดถึง หมายถึง การเช่าพระผงว่านจำปาสัก ที่ขุดได้จากดงพะคเณศมากราบไหว้บูชาที่หัวนอน

พ่อบอกว่า สมัยอยู่บ้านหลังเก่า ไปมาก็ยังเห็นอยู่ แต่พอพ่อใหญ่รื้อบ้านหลังเก่าสร้างหลังใหม่ ต้องย้ายข้าวของ พระอีกองค์ก็คงหายไปในระหว่างขนย้ายข้าวของ จึงยังเหลืออยู่แค่องค์เดียว ทุกวันนี้บักเผิ้งเอาไป

ในช่วงนั้นคนก็ไม่ได้นิยมเล่นพระมากนัก หากเป็นสมัยนี้ข่าวคงดังมาก คนคงแห่กันมาบูชา ขนาดช่วงจตุคามดัง ๆ คนยังมีกันแทบทุกบ้าน ตอนนี้ก็แทบไม่เห็นมีใครนิยมแล้ว อยู่หิ้งพระที่บ้านก็มีหลายองค์ แต่ไม่เห็นจะมีใครเอามาห้อยมาแขวน

ได้ยินว่า เมื่อไม่นานมานี้ ทางการออกมาสำรวจข้อมูลสถานที่ขุดพบพระพิฆเณศวร์ ก็มีคนมาถามซื้อพระที่ขุดได้ ถ้าใครมีเขาจะซื้อองค์ละแสน เรื่องขุดพระได้ที่วัดป่าจึงดังขึ้นมาอีก เห็นว่า เขาไปขอดูจากพ่อใหญ่สอน บ้านโนน แต่ก็ไม่ได้ยินว่าซื้อขายกัน คงเป็นแค่ข่าวลือพูดกันไปมา บางกระแสก็ว่าพ่อใหญ่สอนไม่ยอมขายให้

ตอนได้ยินว่ามีการขุดพระที่ดงพระคเณศ ชาวบ้านก็แตกตื่นกันไปดู แต่ก็เป็นตอนที่ท่านขุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว บางคนหยิบเอาไปโดยไม่ได้ขอ แต่พอเอาไปแล้วเกิดไม่สบายใจจึงเอากลับมาคืนพ่อถ่าน แล้วมาขอบูชาเอาจากท่านทีหลัง

“ชาวบ้านกะแตกกันไปเบิ่งหลายอยู่ พ่อกะไปยืนเบิ่งนำเขา ตอนนั้นกะสิเป็นบ่าวแน่แล้วละ อยู่มาเพิ่นกะให้บูชาเอา อีแม่กะบูชามาสององค์ สิแม่นองค์ละ ๘๐ บาท หรือ ๙๐ บาทนี่ละ บ่เถิงองค์ละร้อยดอก ได้ยินว่าจังซั้น แต่คราวแต่กี้เงินแปดสิบเก้าสิบบาทมันกะหลายอยู่ เงินมันแพง

ตอนหลังมาองค์หนึ่งนั่นบ่เห็น เพิ่นม้างเฮือนม้างซานเฮ็ดใหม่ จักสิเสียไปจังใด๋ ตั้งแต่เฮือนหลังเก่าอีแม่พู้นดอก อีกองค์หนึ่งอยู่นำบักเผิ้ง สู่มื้อนี้จักมันเอาไปเฮ็ดจังใด๋ แต่กี้เห็นสององค์เคียงกันอยู่หัวบ่อนนอนอีแม่ วันศีลวันพรเพิ่นกะบูชาของเพิ่น ตอนนั้นคนไปบูชาเอาหลายอยู่ แต่ว่าผู้บ่สนใจบ่รักษามันกะสิบ่ยัง ผู้เอาไปซื่อ ๆ กะสิมีอยู่ เอาไปแล้วกะสิแม่นบ่สำบายใจกะเลยเอามาคืนพ่อถ่าน จังไปบูชาเอาจากเพิ่น”

“พ่อกะสิยังเป็นบ่าวอยู่ บ่ทันได้ลูกได้เมียหรือจังใด๋ล่ะ มันกะดนมาแล้ว บักโรจน์มันกะสิบวชเป็นเณรน้อย ๆ อีแม่เลากะเทียวเข้าวัดเข้าวา ตอนนั้น ลูกชายเลาบวช เลากะบ่ปะวัดปะวา เลาเทียวเข้าวัดเข้าวาบ่ขาด วันศีลวันพรเลาบ่ถิ่มบ่ปะ ว่าแต่เสียงกองแลงดังตุ้ม ๆ มา บ่ว่าสิดกกล้าอยู่ เลากะขึ้นจากตากล้า ได้ดอกไม้ดอกตอกเลากะไปอยู่จังซั้น ลางมื้อกะให้หลานน้อย ๆ เก็บดอกพุดป่าให้ เอาไปบูซาพระ”

“ซ่วงหลังมานี้ ได้ยินว่า มีคนมาขอซื้อต่อจากพ่อใหญ่สอนบ้านโนน แสนหนึ่ง เพิ่นบ่ขาย ว่าซั้น แต่ว่าได้ยินเป็นข่าวลือดอก จักแม่นบ่แม่น ตอนเขาค้นหาเรื่องพระพิฆเณศวร์ หว่างมันดัง ๆ มาแน่นี้ล่ะ”
“ตอนขุดนั้น พ่อถ่านเพิ่นกะสิบอกให้พวกผู้เฒ่าหลักบ้านหลักเมืองไปเบิ่ง บาดนี้ต่างคนต่างได้ยินกะพากันแตกไปเบิ่งนั้นตี้ พ่อกะไปยืนเบิ่งนำเขา บางคนกะสิหยิบเอา ของมันหลาย เพิ่นเอาใส่พาตาดไว้ เอาไปแล้วบ่มั่นใจ สิใจบ่ดี คึดย้านกะเอามาคืนเพิ่น พวกตำรวจตำรีที่มาขู่เอานำเพิ่นกะเอามาคืนเบิ่ดทุกคน บาดนี้ ไผอยากได้จังไปบูชาเอานำพ่อถ่าน”

พ่อเล่าถึงเหตุการณ์ช่วงขุดพุทธรูปได้ที่วัดป่า แล้วก็เล่าถึงเรื่องอุสุภราช (โคนนทิ) ที่พ่อเห็นในวัดป่าตามความเข้าใจของพ่อ
“ผิว่าซ่วงหนึ่งนั้นมันเป็นงัว เห็นอยู่วัดป่า สิแม่นงัวกระทิง เดียวนี้จักเขาเอาไปทางใด๋” พ่อเอ่ยเรื่องงัวหินขึ้นมา

“เป็นฮูปงัวกระทิงหมอบ พ่อกะได้เห็นอยู่ บาดนี้จักแม่นเขาเอาไปจังใด๋มาจังใด๋กะบ่ฮู้จัก ตอนงัวหินนั้นพ่อกะใหญ่มาแล้วล่ะ จังได้ไปเลื่อยไม้ให้พ่อถ่าน ลูกกะสิใหญ่แล้ว ตอนนั้น คนกะบ่หัวซาดอก งัวโตบ่ใหญ่ป่านใด๋ สิแม่นส่ำขวดโค้กหรือขวดเป๊ปซี่นี่ละ อย่างใหญ่แน่กะสิแม่นส่ำกกขาคน ตอนหลังมากะเลยสิหายไป ของใผกะสิบ่หัวซมหัวซา คันมีคนหัวซาแน่ ทุกมื้อนี้มันกะสิยังอยู่ พอบ่มีคนหัวซา ใผสิเอาไปจังใด๋มาจังใด๋กะเอาไป กะเลยบ่ยัง”

“แต่กี้ใผสิไปหัวซา คนมันบ่สนใจเรื่องแนวนี้ มีแต่คึดนำหาอยู่หากิน คันคือสู่มื้อนี้ ตอนพระพิฆเณศวร์ดัง ๆ มานี้ คนมันกะสิสนใจอยากรักสมรักษาอยู่” พ่อเล่าเรื่องงัวหินหายไปจากวัดป่า

เมื่อก่อนบริเวณวัดป่าเรียกวัดพระคเณศ หรือวัดพิษเณศ นอกจากพบพระพิฆเณศวร์แล้ว ที่วัดป่ายังมีงัวหินด้วย ตอนชาวบ้านพบพระพิฆเณศวร์นั้น พ่อไม่ทัน ได้ยินแต่พูดกันมา จึงไม่รู้รายละเอียด ต้องสอบถามพวกผู้เฒ่าที่พอจะได้ยินได้ฟังมา โดยมากก็ตายกันหมดแล้ว แต่งัวหินยังทันได้เห็น พ่อไปเลื่อยไม้ที่วัดป่าให้พ่อถ่านยังได้เห็น พวกเลื่อยไม้ยังได้ยกมาดูกัน งัวตัวไม่ใหญ่มากนัก น่าจะเท่าขวดโค้กหรือขวดเป๊ปซี่ ถ้าอย่างใหญ่เต็มที่ก็คงไม่เกินขาคน มันนานมาแล้วก็จำไม่ค่อยได้

ทุกวันนี้ไม่เห็นงัวหินอยู่ที่วัดป่าแล้ว จะหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น ก็ไม่มีใครได้ใส่ใจ แต่ถ้าเป็นช่วงหลังมานี้คนตื่นตัวเรื่องวัดป่ากันมาก ช่วงหนึ่งเขามาสอบถามเรื่องขุดพระพิฆเณศวร์ เรื่องวัดป่าที่เงียบมานานก็กลับมาดังอีก คนนอกหมู่บ้านเริ่มไปมามากขึ้น อาจจะหายไปตั้งแต่ตอนนั้น

แต่อีกเสียงหนึ่งก็ว่า มีคนแอบเอาไปขายให้พวกเล่นของเก่ามานานแล้ว จะจริงเท็จอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ ได้ยินพูดกันมาอย่างนั้น

พ่อได้ทันเห็นเฉพาะตอนขุดพบพระพุทธรูป แต่ตอนขุดพบพระพิฆเณศวร์นั้นพ่อไม่ทัน จะขุดได้ตอนไหนหรือพบเห็นอย่างไรพ่อก็ไม่รู้ ตอนพบเห็นชาวบ้านก็คงจะกลัวเจ้ากลัวนายจึงให้เขามาเอาไป อย่างตอนพ่อถ่านขุดพระพุทธรูปได้ท่านก็กลัวเขาจะมาเอาไปเหมือนกัน ก็สั่งชาวบ้านไม่ให้พูดจาดังออกไป จนใกล้จะสิ้นบุญพ่อถ่านจึงเอาออกมาให้คนกราบคนไหว้

“มันกะอยากจำบ่ค่อยได้ มันผ่านมาจักดนทอใด๋ปีแล้ว งัวหินนั้น สิแม่นงัวกระทิงหมอบ พ่อกะได้เห็นอยู่ ไปเลื่อยไม้อยู่ดงพิษเณศให้พ่อถ่าน ยังได้พากันยกมาเบิ่งอยู่”
“แต่กี้ เอิ้นวัดพิษเณศ พ่อกะได้ยินแต่ว่าวัดพิษเณศ ดงตาเณศ จักไปหยังละพ่อกะจื่อบ่ได้ สิแม่นไปเลื่อยไม้ให้พ่อถ่าน ของแต่กี้พ่อกะบ่ค่อยไปทางนั้น ไปแน่แต่ซ่วงเลื่อยไม้ให้พ่อถ่าน จังได้เทียวไปวัดป่า ถ้าบ่เลื่อยไม้ให้พ่อถ่านกะบ่ได้ไป กะจักสิไปเฮ็ดหยัง แนววัดป่าคันบ่มีหยังกะบ่มีไผอยากไปใกล้”

“แต่กี้ พ่อถ่านเพิ่นเลื่อยไม้มาเฮ็ดวัดเฮ็ดวาอยู่เทิงบ้าน กะมาเอาไม้อยู่วัดป่า บักคำอีพ้อเป็นหัวหน้าหมู่เลื่อยไม้ ลางบ่อนเพิ่นกะหา ลางบ่อนเพิ่นกะจ้าง เถื่อหาเถื่อจ้างกะไปเฮ็ดไปทำให้เพิ่น คันหาหรือจ้าง พ่อถ่านเพิ่นสิบอกบักคำออกมา เลื่อยไม้เถื่อนี้พ่อถ่านจ้าง เถื่อนี้พ่อถ่านหา บักคำอีพ้อมันเคยบวชเฮียนอยู่นำเพิ่น พ่อบ่ได้บวช บ่ได้เฮียน คันสิให้เลื่อยไม้ พ่อถ่านเพิ่นกะเอิ้นบักคำอีพ้อไปสั่ง ให้เฮ็ดจังซั้นจังซี้ สิเอาไม้หน้าใด๋เพิ่นกะบอกมันออกมา กะเลื่อยให้เพิ่น ตอนไปเลื่อยไม้อยู่วัดป่า พ่อกะยังได้เห็นอยู่ งัวหินนั้น”
“หย่านหนึ่งนั้นกะเคยถาม ๆ เบิ่งอยู่ว่า งัวหินอยู่วัดป่าไปใส แต่กะบ่มีคนฮู้ กับเรื่องฆ้องใหญ่กะพอได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เพิ่นเว้ามาอยู่ ว่าอยู่หนองอีหยังนี่ละ โตกะลืม สิเป็นหนองสะทัง หรือหนองแสงทางนาอ้ายพรหม อ้ายโสม อ้ายพุดพุ้นกะบ่แน่ใจ กะว่าคนไปวนเอาอยู่”
แล้วพ่อก็หันไปถามชื่อหนองจากแม่

“ตอนขุดพระอยู่ดงพระคเณศนั้นเพิ่นขุดสองเทื่อ เทื่อหนึ่งสิแม่นเพิ่นผุดขึ้นมาเอง หรือว่าเพิ่นมาต้องมาซูนพ่อถ่านจังใด๋ล่ะ พ่อถ่านเพิ่นกะเลยพาไทบ้านไปขุด เทื่อนั้นพ่อได้ไปเบิ่งนำอยู่ เอาขึ้นมาแล้วเพิ่นกะล้างน้ำเอาใส่พาตาดผึ่งไว้เป็นตาด ๆ”
“เทื่อสองเห็นว่าหมอธรรมเพ็งมานั่ง กะสิเป็นตอนหลังมานี้ พ่อกะใหญ่มาแน่แล้วละ ตอนนั้น ข่าวพ่อถ่านขุดพระได้มันกะสิดังออกไป คนมันกะพากันมา เดี๋ยวกะได้ยินว่าคนนั่นมานั่ง เดี๋ยวกะได้ยินว่าคนนี่มานั่ง พ่อกะพอได้เห็นหน้าอยู่ หมอธรรมเพ็งนั้น แต่เทื่อสองนี้ จักได้บ่ได้พ่อกะบ่ฮู้จัก เห็นเงียบไป พวกผู้เฒ่าที่ฮู้เรื่องฮู้ราวกะตายไปนำแล้ว พ่อมันบ่ฮู้รายละเอียด ผิว่าพวกฮู้แน่กะสิเป็นผู้ได้บวชได้เฮียนนำพ่อถ่านพู้นเด้อ กะสิฮู้กว่าโต โตมันบ่ได้บวชได้เฮียนนำเพิ่น มันกะบ่ค่อยฮู้จักปานใด๋ กะได้แต่ไปยืนเบิ่งม้องเพิ่นขุดซื่อ ๆ ผู้เพิ่นใกล้ชิดเฮ็ดนำพ่อถ่าน ฮู้เรื่องหลายแน่ กะสิแม่นพ่อใหญ่เลิศ (ประสานพิมพ์) พ่อใหญ่เสริม(บุญเอื้อ) ผู้ใหญ่บ้านนำ (แสงสว่าง) ผู้ใหญ่บ้านภู (ชื่นบาน) พุ้นตี้ พ่อใหญ่สุข (รักษาวงศ์) กะว่าได้ไปขุดนำพ่อถ่านอยู่”

ดงพระคเณศ ดงพิษเณศ หรือดงตาเณศที่พ่อพูดถึงเคยเป็นวัดร้าง และยังเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณบ้านตาเณศมาแต่บรรพกาล นอกจากจะเป็นบริเวณสถานที่ขุดพบพระพุทธรูปเงิน พระพิฆเณศวร์ ปลียอดปราสาท และโคอุสุภราชแล้ว บริเวณดงพระคเณศยังเต็มไปด้วยพระพุทธรูปหินและใบเสมาหินน้อยใหญ่ตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

กาลเวลาผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงมาเยือน ความไม่เที่ยงเข้ามาแทนที่ ชุมชนหนึ่งเสื่อมสลาย อีกชุมชนหนึ่งเกิดขึ้น เป็นไปตามวัฏจักรแห่งกฎไตรลักษณ์ แม้วันนี้ดงพระคเณศจะไม่หลงเหลือร่องรอยวัตถุที่แสดงถึงความรุ่งโรจน์แห่งอดีตแล้ว แต่สิ่งที่มั่นคงยิ่งกว่าวัตถุ คือ ความเชื่อ ความศรัทธา ความเคารพยำเกรงที่ชาวบ้านปากน้ำมีต่อสถานที่แห่งนี้ และเล่าขานบอกต่อสืบกันมาถึงลูกหลานในปัจจุบัน

ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๔๘. “เรื่องของดงพระคเณศ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์

เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร