ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๔๓. “ลูกหลานหว่านเครือ แม่ใหญ่จูม (บุตรสง่า) วงศ์ชะอุ่ม” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๔๓. ลูกหลานหว่านเครือ แม่ใหญ่จูม(บุตรสง่า) วงศ์ชะอุ่ม
แรกเริ่มที่พ่อคิดหาที่หาทางเอาไว้พอได้ทำอยู่ทำกินนั้น พ่อมีที่ดินหนองแคนอยู่ ๒ ไร่ ที่แม่ใหญ่ยกให้ พ่อบอกว่าดินหนองแคนเป็นของพ่อใหญ่โทน
ต่อมาพ่อขายที่หนองแคนให้พ่อใหญ่เขี่ยมสิบสามร้อย (คือ ๑,๓๐๐ บาท) ตอนแรกจะขายให้พ่อใหญ่เบย แม่ใหญ่คำมี กำไรงาม แต่พ่อใหญ่เขี่ยมรู้ว่าพ่อจะขายที่จึงมาขอซื้อ บอกว่า จะได้มีสวนพอได้ปลูกผักปลูกหญ้ากิน พ่อจึงขายให้พ่อใหญ่เขี่ยม เพราะไปเลื่อยไม้หาปลากินอยู่กับบุ่งด้วยกันกับพ่อ แล้วพ่อก็เอาเงินขายที่หนองแคนไปยุนเอานาดงบะเฮนจากลุงดิษฐ์ วงศ์หอมด้วยเงินสิบห้าร้อย ( ๑,๕๐๐ บาท) จากนั้น พ่อก็ขายที่ดินเหล่าก่อ ดงบะเฮน ในส่วนที่เป็นของแม่ มายุนเอานาลุ่ม หัวบุ่ง จากลุงเริญ
พ่อจึงเริ่มมีที่ทางเป็นของตัวเองจากดินหนองแคน ๒ ไร่ที่แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม ยกให้
แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม สกุลเดิม บุตรสง่า เป็นลูกพ่อใหญ่เมฆ แม่ใหญ่มิ่ง บุตรสง่า มีพี่น้อง ๙ คน คือ
๑) แม่ใหญ่ทุม (บุตรสง่า)
๒) แม่ใหญ่จูม (บุตรสง่า)
๓) แม่ใหญ่กอง (บุตรสง่า)
๔) พ่ออาวดี บุตรสง่า
๕) แม่ใหญ่มี (บุตรสง่า)
๖) แม่ย่าสี (บุตรสง่า) วันหนา
๗) พ่ออาวลี บุตรสง่า
๘) พ่ออาววัน บุตรสง่า
๙) พ่ออาวทัน บุตรสง่า
ด้วยความที่แม่ใหญ่มิ่งมีลูกหลายคน นาที่มีอยู่ไม่พอให้ลูกทำกิน บางปีก็ถูกน้ำท่วม แต่ละปีเอาแน่เอานอนไม่ได้ แม่ใหญ่มิ่งจึงไปซื้อนาที่เมืองเดช ๑๐๐ กว่าไร่ ในราคา ๗,๐๐๐ บาท แต่ลูก ๆ ก็ไม่มีใครอยากไปทำ เนื่องจากอยู่ไกลบ้าน
พ่อเล่าว่าหลังจากพ่อใหญ่เมฆตาย แม่ใหญ่มิ่งคิดจะขายนาเมืองเดชจึงบอกลูกสาวให้มาซื้อเอาไว้ (แม่ใหญ่จูม) พอรู้ว่า แม่จะขายนาเมืองเดช ลูกชาย (น้อง ๆ แม่ใหญ่จูม) ก็ร้องไห้มาหาแม่ว่า พ่อตายแล้วแม่จะขายนาทิ้ง แม่ใหญ่มิ่งจึงบอกลูกสาวว่า น้องร้องไห้มาหาไม่ให้ขาย แม่จะแบ่งให้น้อง
อยู่ต่อมา แม่ใหญ่มิ่งจึงแบ่งนาเมืองเดชให้ลูกผู้ชาย คือ อาวลี อาววัน และอาวทันได้คนละ ๓๐ กว่าไร่ ส่วนอาวดีมีครอบครัวอยู่บ้านนาโพธิ์ ซึ่งก็มีนาอยู่เมืองเดชเช่นกัน
แม่ใหญ่จูมและย่าสีจึงได้หัวนาแหลม นาเทิง และนาลุ่ม เรียกว่า “นาหัวบุ่ง” เมื่อถึงหน้านา พอดำนา-เกี่ยวข้าวหัวบุ่งเสร็จ ลูกหลานแม่ใหญ่มิ่งจากบ้านปากน้ำก็ไปลงแขกดำนา-เกี่ยวข้าวที่เมืองเดชกันอย่างครึกครื้น
เมื่อลูกแต่ละคนต่างก็ออกเรือนมีครอบมีครัว แม่ใหญ่จูมจึงแบ่งนาให้ลูกคนละแปลง ต่างคนต่างทำมาหากิน
พ่อกับลุงเริญได้นาลุ่ม น้าเวินกับน้าวัง (น้าโรจน์) ได้นาทามน้อย แต่พ่อใหญ่แม่ใหญ่ใช้เงินส่งเสียน้าโรจน์ให้เรียนหนังสือจนได้เป็นครู เป็นหลักเป็นฐานแล้ว จึงไม่ต้องเอานา นาเอาให้น้าเวินทำอยู่ทำกิน และน้าเวินก็เป็นคนเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ นาทามน้อยจึงยกให้น้าเวิน
พ่อบอกว่า ที่จริง นาทามน้อยส่วนที่เป็นนาก็ไม่ค่อยมาก ดีว่าได้ที่ดินเอาไว้ ที่ส่วนมากยังเป็นป่า บางส่วนเป็นไร่ปอ และไร่ฝ้ายของแม่ใหญ่
ส่วนป้าจันทร์ศรีกับเอื้อยไยได้หัวนาแหลม พ่อให้รายละเอียดเพิ่มว่าถึงแม้เอื้อยไยจะเป็นลูกป้าจันทร์ศรี จึงมีศักดิ์เป็นหลาน ไม่ใช่ลูกพ่อใหญ่แม่ใหญ่ แต่เอื้อยไยก็อยู่ในฐานะที่จะได้ที่ดินด้วย เนื่องจากตอนที่ลูก ๆ ออกเรือนไปกันหมด ไม่มีใครอยู่กับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ เอื้อยไยต้องมาอยู่กับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ คอยหาบน้ำหาบท่าให้อาบ-คอยนึ่งข้าวนึ่งน้ำ แต่งพาข้าวพาปลาให้กิน พ่อใหญ่แม่ใหญ่จึงให้ที่ดินเอื้อยไยรวมอยู่ในส่วนของป้าจันทร์ศรีด้วย
พ่อเล่าเกี่ยวกับหัวนาแหลม มรดกของแม่ใหญ่เอาไว้ว่า ตอนนั้น หัวนาแหลมเพิ่งถูกบุกเบิกให้เป็นนา ยังไม่เป็นนาดี ข้าวยังไม่ค่อยงาม ทั้งหัวนาก็อยู่ในที่ดอน เวลาฝนตกจึงไม่ค่อยอุ้มน้ำ น้ำไม่ค่อยขัง ทำตากล้าก็ยาก แม่ใหญ่มิ่งจึงกันนาเทิง ใกล้ต้นจาน ๒ ไร่ ซึ่งอยู่ในที่ลุ่ม ให้ลูกสาว บอกว่า “พอได้ตากล้า”
แต่นาต้นจานก็อยู่กลางทุ่ง ไม่มีทางเข้าออก จึงไปมายาก วันเวลาผ่านไป สุดท้ายนาต้นจานกลายเป็นนาตาบอด
นาต้นจานตกทอดมาเป็นของน้าเวิน ต่อมา พ่อได้ยุนเอานาต้นจานจากน้าเวินด้วยเงิน ๑๔๐,๐๐๐ บาท แล้วซื้อจากผู้ใหญ่บ้านวันต่อกันอีก ๒ งาน เพื่อให้มีที่นาไปถึงฮ่อง* (*ฮ่อง คือ ร่องน้ำ)เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท รวมกันเป็น ๒ ไร่ ๒ งาน
ส่วนนาลุ่มนั้น แม่ใหญ่บอกลุงเริญว่า น้องมีนาไม่มากไม่พอทำกิน แถมน้ำยังท่วมอยู่บ่อย แต่ลุงเริญไปได้ลูกได้เมียอยู่บ้านกระโสบ มีที่มีทางน้ำไม่ท่วม พอหาอยู่หากินกุ้มปากกุ้มท้องแล้ว จึงให้เอานาลุ่มส่วนของลุงเริญให้น้อง ให้น้องหาเงินมายุนเอา* (*ยุน หมายถึง เอาเงินให้แทนที่ดิน) แล้วแม่ใหญ่ก็ให้พ่อหาเงินไปยุนเอานาลุ่มจากลุงเริญ พ่อจึงเอาเงินไปให้ลุงเริญ ๒๐,๐๐๐ บาท เป็นค่านาลุ่ม (ราคาเงินในเวลานั้น) แต่ลุงเริญเอาเงินมาคืนแม่ใหญ่ บอกว่าเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท เอาไปทำอะไรไม่ได้ ขอเพิ่มอีกหน่อย พอได้ไปยุนเอาที่ดินจากพี่น้องทางบ้านกระโสบ
พ่อบอกว่า ตอนนั้นแม่ขายที่ดงบะเฮนได้พอดีจึงให้แม่ถือเงินไปให้ลุงเริญ ๕๐,๐๐๐ บาท แล้วแม่ก็บอกแม่ใหญ่ว่า “ให้เบิ่ดกันเด้อบาดนี่ -ให้หมดกันนะทีนี้”
“กะแล้วกันมาแต่พุ้น –ก็จบกันมาตั้งแต่คราวโน้น”
พ่อจึงได้นาลุ่มส่วนที่เป็นของลุงเริญเพิ่มมาอีก ๖ ไร่ รวมกับส่วนที่แม่ใหญ่ให้พ่อ ๖ ไร่ จึงเป็นที่ ๑๒ ไร่ แล้วลุงเริญก็เอาเงินสี่หมื่นบาทไปยุนเอาที่ดินจากพี่น้องป้าเกทางบ้านกระโสบ ๑๑ ไร่ และยังพอมีเงินเหลือติดบ้านบ้าง
พ่อหยุดครุ่นคิดครู่หนึ่ง ก่อนเล่าย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีถึงเหตุการณ์ที่พ่อยุนเอานาลุ่มจากพี่ชายว่า ตอนลุงเริญยังมีชีวิตอยู่ พ่อแกล้งพูดกับลุงเริญว่า ถ้าอยากได้นาลุ่มคืนก็ให้เอาที่บ้านกระโสบมาแลกกัน ลุงเริญก็ยิ้ม ๆ รู้ว่า น้องแกล้งพูดเย้าเล่นก็เฉย ๆ
“เว้านำโต พ่อแม่ว่าจังใด๋กะแล้วไป บ่ร่ำรี่ร่ำไร คันคนบ่ซื่อสัตย์กับพี่กับน้อง เขากะบ่โอนให้กัน ที่ดินน้องนุ่งอ้ายซาย พ่อแม่เพิ่นใส่ซื่อเจ้าของไว้ แต่โตพ่อแม่เว้าแล้วกะแล้วไป ตอนนั้น โตกะเว้าพาโลอ้ายอยู่ว่า ถ้าเจ้าอยากได้นาลุ่ม กะเอานาบ้าน กระโสบมาแลกกันตี้ล่ะ เพิ่นกะยิ้ม ๆ บ่ว่าหยัง”
“บางเถื่อ พ้อพี่เอื้อยเก(*พ้อ คือ พบเจอ หรือ เห็น) โตกะเว้าพาโลพี่เอื้อยว่า ถ้าเจ้าอยากได้นาลุ่มกะมาแบ่งเอา แต่นาบ้านกระโสบให้ข้อยสา เอามาแลกกันกับนาลุ่ม เพิ่นกะหัวเราะ บ่เอา ๆ”
บางทีเจอป้าเก พ่อก็แกล้งพูดว่าถ้าอยากได้นาลุ่มให้มาแบ่งเอา แต่เอานาบ้านกระโสบมาแลกกัน ป้าเกก็หัวเราะ บอกว่า ไม่เอา ๆ (*ป้าเก คือ ป้าเกษร วงศ์ชะอุ่ม บ้านกระโสบ เมียลุงเริญ พี่ชายของพ่อ)
พ่อบอกว่า พ่อยังมีที่เหล่าน้อยอีก ๓ งาน ที่พ่อใหญ่โทนยกให้พ่อ แล้วพ่อก็ปลูกยางไว้ ๑๐๐ ต้น และพ่อยังยุนเอาสวนหลังบ้านจากน้าหวัด น้องชายของแม่อีก ๙๐,๐๐๐ บาท ทุกวันนี้เป็นที่ตั้งร้านกาแฟแพรว
แต่ทั้งหมดก็ยังไม่ใช่ที่นา ทั้งยังเป็นที่แปลงเล็กแปลงน้อยกระจายอยู่คนละแห่ง ไม่ได้เป็นแปลงเดียวกัน จะทำอะไรก็ไม่ได้ พ่อจึงขายที่ดงบะเฮนริมชลประทานที่ยุนมาจากลุงดิษฐ์ วงศ์หอม และพี่ ๆ น้อง ๆ แล้วไปซื้อที่นาอยู่ตาลสุมได้ ๓๐ ไร่ จึงค่อยดีขึ้น พอได้ข้าวได้ปลาใส่เล้าไว้ก็อุ่นใจ แต่ละปีไม่ต้องนอนมือก่ายหน้าผาก ไม่ต้องห่วงฟ้าห่วงฝนว่าน้ำจะมากหรือน้อย
แต่พออายุมากขึ้น ฝืนร่างกายไปทำไม่ไหว ลูกเต้าก็ไม่มีใครใส่ใจไปดู สุดท้ายก็ต้องขาย ต้องกลับมาหานาน้ำท่วมหัวบุ่งอีกเหมือนเดิม
“ไปหาซื้อนาโคก ว่าสิมุ้มกะบ่มุ้ม สุดท้ายกะได้กลับมาหานาน้ำท่วมอีกคือเก่า”
พ่อบอกว่า ที่ทางที่มีอยู่ทุกวันนี้ พูดทีไรแม่ก็บอกว่า เป็นที่ของแม่ จะว่าไป มันก็ถูกเพราะใช้เงินจากการขายที่ของแม่มายุนเอาจากพี่น้องจึงได้มา
“ยายหนูเขียนหนังสือบ่ได้นำเขาจักโต แต่กะทันคน เลาเฮ็ดนำน้องนำนุ่งดีหลาย สู้ซนให้เขาแบ่งที่แบ่งทางเอาไว้ให้น้องน้อย ๆ แปลงใผแปลงมัน จังพากันได้ ปานนี่เขากะบ่ว่าเลาดี จังว่า มื้อหนึ่งเว้ากับอีน้อยว่า คันมึงว่ายายหนูเลาบ่ดี ให้มึงว่ามาเบิ่งจักข้อ ที่ดินที่ดอน เลากะสู้ซนให้น้องให้นุ่ง จังพากันได้ กูหาเงินแป๋ะตายมายุนเอานำพี่นำน้อง ว่าอยากได้พันหนึ่งกะหาให้ อยากได้พันสองพันสามกะหาให้ อยากได้แปดหมื่นเก้าหมื่นกะบืนล้มบืนตายหาให้ คันว่าซั้นสูกะพากันขายถิ้มเบิ่ด บ่เห็นบ้อ สูพากันขายนำหมู่นี่ บาดโตมาขายนาหนีน้ำท่วม ไปซื้อนาโคก กะว่าขายมูลเมียกิน”
“บ่แม่นขายมูลเมียกิน แต่พากันหนีทุกข์หนียาก หนีอดหนีอยาก ไปหาซื้อดินอยู่โคกอยู่ดอน ม้องน้ำบ่ท่วม พอได้เฮ็ดกินเฮ็ดอยาก”
“ปีหนึ่ง อีปุ้มมากะว่า พ่อลุงคันข้อยมาเอาที่ดินสิได้นำเขาอยู่บ่ โตกะว่าได้ คันมึงมาเอา เป็นหยังสิบ่ได้ มันที่พ่อมึง”
ชีวิตมันต้องดิ้นรน คนยังไม่ตายมันก็ต้องทำ ยังพอเดินได้ก็ไม่อยากนั่งรอกินจากลูก คนเรา ถึงแม้จะเป็นญาติพี่น้องกัน ทุกคนก็ต้องดิ้นรนหาใส่ปากใส่ท้องตัวเอง จะมัวคิดที่จะไปพึ่งคนอื่นไม่ได้ ต้องคิดพึ่งตัวเอง ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง เพราะญาติพี่น้องต่างคนต่างก็ลำบาก ต่างคนก็ต่างต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด ต้องหาอยู่หากินใส่ปากใส่ท้องเขาเหมือนกัน จะมัวคิดเอาแต่ทางสนุกสนาน ไม่คิดเผื่อวันหน้าเอาไว้บ้าง ไม่รู้จักคิดหน้าคิดหลัง ไม่ได้ มันจะลำบาก
“ชีวิตมันต้องดิ้นรน คนยังบ่ตายมันกะต้องเฮ็ดต้องทำ ยังพอย่างได้ กะบ่อยากนั่งรอกินนำลูกนำเต้า ย้อนดิ้นรนหนีทุกข์ หนีอด หนีอยาก จังได้ไปซื้อนาโคก”
พ่อกล่าวทิ้งท้าย
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๔๓. “ลูกหลานหว่านเครือ แม่ใหญ่จูม (บุตรสง่า) วงศ์ชะอุ่ม” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร