ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๙. “ ดาบศรีคันชัยของพ่อใหญ่ทองลาย ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๓๙. ดาบศรีคันชัยของพ่อใหญ่ทองลาย
เล่ากันว่าพ่อใหญ่ทองลาย ผู้เป็นต้นกำเนิดตระกูลวงศ์ชะอุ่มในบ้านปากน้ำ ไม่ใช่คนบ้านปากน้ำโดยกำเนิด เป็นคนมาจากศรีคอนดอนหมากเกลือ นั่นคือสิ่งที่ลูกหลานเล่าขานสู่กันมา แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าศรีคอนดอนหมากเกลืออยู่ที่ไหน
แม้ว่าพ่อใหญ่ทองลายจะไม่ใช่คนบ้านปากน้ำโดยกำเนิด แต่พ่อใหญ่ทองลายก็ตายในฐานะคนบ้านปากน้ำ
ตระกูลวงศ์ชะอุ่มในบ้านปากน้ำมีเชื้อสายมาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร ไม่มีข้อมูลแน่ชัด มีเพียงดาบหนึ่งเล่ม และเรื่องเล่ากึ่งตำนานเกี่ยวกับเจ้าของดาบที่ถือมันติดตัวมาเท่านั้น ที่พอจะบ่งบอกถึงสถานะเจ้าของดาบเล่มนี้
ดาบศรีคันชัยเป็นดาบโบราณ ตีจากเหล็กเนื้อดี อยู่ในสภาพเก่าแก่ บ่งบอกว่าผ่านมือคนใช้งานมายาวนาน คือ ของสิ่งเดียวที่เหลือตกทอดกันมาของตระกูล นอกจากดาบเล่มนี้ ก็ไม่มีใครรู้อะไรอีกเลย เกี่ยวกับพ่อใหญ่ทองลาย ผู้เป็นเจ้าของดาบ
ดาบเล่มนี้มีความเป็นมาอย่างไร เหตุใดจึงถูกตั้งชื่อให้ก็ยากจะหาคำตอบได้
ข้อมูลที่รับรู้กันมา ดาบที่ชาวบ้านตีใช้กันทั่วไปจะไม่มีชื่อ ส่วนดาบที่ถูกตั้งชื่อให้ มักจะเป็นดาบที่ผ่านการรบในสงคราม หรือไม่ก็เป็นดาบที่ทางการมอบให้กับผู้นำชุมชน ให้กับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านใช้ในการดูแลลูกบ้าน
หากไม่ใช่สองกรณีดังกล่าวก็อาจจะเป็นไปได้ว่า พ่อใหญ่ทองลายตั้งชื่อดาบเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ศรีคอนดอนหมากเกลือ ที่พ่อใหญ่ทองลายจากมา
“ดาบอยู่กับบักฝั้น พ่อมันให้ไว้ ตอนหลังบักฝั้นให้บักพงษ์ ลูกชายมันเป็นคนเก็บไว้ ตอนนี้บักพงษ์ไปเอาเมียอยู่บ้านกระโสบ หวายเคียน*ด้ามดาบเบิ่งแล้วกะยังดีอยู่คือเก่า” (*เคียน คือ พัน)
พ่อเปรยถึงดาบศรีคันชัยซึ่งพอจะเป็นสิ่งสืบหาที่มาของสายตระกูลของพ่อ
“ส่วนน้ำเต้าที่พ่อใหญ่ทองลายใส่น้ำกินมานำทาง บักฝั้นมันว่า ห้อยอยู่เฮือนพ่อใหญ่กอง”
ดาบศรีคันชัยอยู่กับพ่อฝั้น แต่เหตุใดน้ำเต้าที่พ่อใหญ่ทองลายใส่น้ำกินระหว่างทาง กลับไปอยู่กับพ่อใหญ่กอง เรื่องนี้พ่อเองก็ไม่เข้าใจ
“สู่มื้อนี่ เว้าเรื่องวงศ์ชะอุ่ม คนอื่นกะจำบ่ได้ทอใด๋ดอก จำได้หลายแน่กะแม่นบักฝั้น มันสิจำได้ดีกว่าอ้ายพวงอีก”
“อ้ายพวงบ่ได้ใหญ่อยู่นำพ่อ เลาใหญ่อยู่นำแม่ กะสิบ่ค่อยฮู้เรื่องทางพ่อท่อใด๋ พอพ่อใหญ่กว้างเลิกกับแม่ใหญ่ติ๋นแล้ว เลากะไปเอากับแม่ใหญ่เจียง จังได้บักฝั้น บักฝั้นมันใหญ่อยู่นำพ่อ มันกะสิได้ยินพ่อมันเว้าให้ฟัง เวลามันเว้ากะเป็นตาฟังของมัน มันว่า ให้ครูบามาหากูติ กูสิเว้าให้เพิ่นฟัง”
อ้ายพวง ที่พ่อเอ่ยถึง คือ พ่อใหญ่พวง วงศ์ชะอุ่ม พ่อของผู้ใหญ่บ้านจ่อย วงศ์ชะอุ่ม พี่ชายต่างแม่ของพ่อฝั้น
พ่อใหญ่พวงกับพ่อฝั้นเป็นพี่น้องต่างแม่กัน ทั้งสองคนเป็นลูกพ่อใหญ่กว้าง วงศ์ชะอุ่ม แต่เป็นลูกคนละแม่ เพราะพ่อใหญ่กว้างได้กับแม่ใหญ่ติ๋นก่อน มีลูกคนหนึ่ง คือ พ่อใหญ่พวง วงศ์ชะอุ่ม จากนั้นก็เลิกกับแม่ใหญ่ติ๋นไปเอากับแม่ใหญ่เจียง ได้ลูกด้วยกันหลายคน มีพ่อฝั้น วงศ์ชะอุ่ม เป็นลูกชายคนเล็ก พ่อใหญ่พวงโตอยู่กับแม่ จึงไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับพ่อมากนัก
พ่อใหญ่กว้างเป็นผู้เก็บรักษาดาบศรีคันชัยต่อจากพ่อใหญ่ทองลาย เนื่องจากพี่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อใหญ่เคนหงอนกับพ่อใหญ่ลู ต่างก็อายุสั้นด้วยกันทั้งสองคน ต่อมาดาบได้ตกมาอยู่กับพ่อฝั้น ลูกชายของพ่อใหญ่กว้าง
จำได้ลาง ๆ เหมือนพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม จะเคยเล่าว่า พ่อใหญ่ทองลายเคยเป็นทหาร เมื่อก่อนพ่อใหญ่โทนยังพอได้เห็นหมวกทหารของพ่อใหญ่ทองลาย แต่ก็ไม่ได้บอกว่า หมวกมีลักษณะแบบไหน และต่อมาหมวกนั้นตกไปอยู่กับใคร
พ่อใหญ่ทองลายจะเป็นลูกเต้าเหล่าใคร มีพี่น้องกี่คน ไม่มีข้อมูลแน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่าต่อกันมาว่า พ่อใหญ่ทองลายสักลายเต็มทั้งตัว ตามแบบอย่างผู้ชายสมัยก่อน เดิมเป็นคนศรีคอนหมากเกลือ มีเรื่องทะเลาะกันในหมู่พี่น้อง พ่อใหญ่ทองลายเห็นว่าพ่อกับแม่เข้าข้างพี่ก็นึกน้อยใจ
อยู่มาวันหนึ่ง พ่อใหญ่ทองลายเอาควายไปเลี้ยง กลับเข้าบ้านอีกทีก็มืดค่ำ จนเลยเวลากินข้าวแลง เขากินข้าวแลงกันก่อน โดยไม่ได้คอย พ่อใหญ่ทองลายน้อยใจอยู่ก่อนแล้ว คิดว่าเขาชังไม่อยากให้กินข้าวแลงด้วย จึงฟืดฟัดพายดาบศรีคันชัยลงบันไดหนีออกจากบ้าน เดินลัดป่าช้างดงเสือมาจนถึงเมืองอุบล
พ่อใหญ่ทองลายเดินทางตอนกลางวันพอตกเย็นก็ใช้ดาบถางหนามไผ่ขึ้นไปนอนบนกอไผ่ เพื่อไม่ให้เสือปีนขึ้นมากัดกิน เพราะกอไผ่มีหนาม ถ้าเสือปีนขึ้นมาก็จะถูกหนามไผ่เกี่ยว
พ่อใหญ่ทองลายมาได้ลูกได้เมียอยู่บ้านปากน้ำ ชีวิตใหม่ของพ่อใหญ่ทองลายเริ่มต้นขึ้นที่หมู่บ้านแห่งนี้
ตั้งแต่นั้นมาพ่อใหญ่ทองลายก็ไม่ได้กลับศรีคอนดอนหมากเกลืออีกเลย
“พ่อใหญ่ทองลายเลาหนีมา ได้แต่ดาบดวงหนึ่ง*(*ดวงหนึ่ง คือ เล่มหนึ่ง)กับน้ำเต้าใส่น้ำกินนำทางทอนั่น ยามนอน เลาใซ้ดาบถางหนามไผ่ปีนขึ้นไปนอนอยู่เทิ่งกอไผ่ เลาย่านเสือกิน แนวตอนนั้นนำป่านำดง เสือมันหลาย”
ศรีคอนดอนหมากเกลือที่พ่อใหญ่ทองลายจากมา เป็นชื่อของอะไร เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดไหน อยู่ที่ใด ยังเป็นข้อมูลที่คลุมเครือ ฟังดูชื่อก็เหมือนสถานที่จากเรื่องเล่าในตำนาน มากกว่าจะเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง
บ้างก็ว่า ศรีคอนดอนหมากเกลืออยู่ในนครพนม บ้างก็ว่าอยู่ในพนมสารคาม (ต่อมา แยกออกมาเป็นอำเภอราชสาส์น) ฉะเชิงเทรา
แต่ไม่ว่าศรีคอนดอนหมากเกลือจะอยู่ที่ไหน จะเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดใด จะอยู่ในจังหวัดนครพนม หรืออยู่ในพนมสารคามตามที่มีการกล่าวอ้างถึงหรือไม่ก็ตาม นับจากวันที่พ่อใหญ่ทองลายพายดาบศรีคันชัยเดินจากมา พ่อใหญ่ทองลายก็ไม่ได้หวนคืนกลับศรีคอนดอนหมากเกลืออีกเลยจนวาระสุดท้ายของชีวิต
แม้พ่อใหญ่ทองลายจะไม่ใช่คนบ้านปากน้ำโดยกำเนิด แต่พ่อใหญ่ทองลายก็อาศัยหมู่บ้านแห่งนี้สร้างชีวิตและครอบครัวขึ้นมา ด้วยลำแข้งของตน แล้วพ่อใหญ่ทองลายก็ทอดร่างวางขันธ์ลงในฐานะคนบ้านปากน้ำ
นั่นคือเรื่องของพ่อใหญ่ทองลาย เจ้าของดาบศรีคันชัย จากศรีคอนดอนหมากเกลือ ผู้เป็นต้นตระกูลวงศ์ชะอุ่มในบ้านปากน้ำ เท่าที่ลูกหลานเล่าสู่กันมา