แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๓๘. “ ย่าหอมถวายที่ปลูกหม่อน ให้หลวงตาสร้างศาลากลางบ้าน ”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๓๘. ย่าหอมถวายที่ปลูกหม่อน ให้หลวงตาสร้างศาลากลางบ้าน
บ้านบากน้ำ คือ ชื่อดั้งเดิมของหมู่บ้านมาตั้งแต่ครั้งย้ายชุมชนหนีโรคห่าและหนีน้ำท่วมจากบ้านตาเณศขึ้นมาอยู่ในดงบากใหญ่ จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อป่าไม้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน ส่วนที่ดินที่ใช้สร้างศาลา กลางบ้าน เคยเป็นสวนหม่อนของย่าหอม ต้นบากใหญ่สามต้นสุดท้าย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ก็อยู่ใกล้กับบริเวณศาลากลางบ้านนี้ด้วยเช่นกัน
พ่อบอกว่า เดิมทีศาลากลางบ้านอยู่ตรงเฮือนแม่ใหญ่ยืน มีต้นตาลสูงใหญ่อยู่ตรงนั้น เมื่อหมู่บ้านขยายออกไป พ่อถ่านจึงขอสวนหม่อนย่าหอมสร้างศาลากลางบ้านขึ้นใหม่ใกล้ต้นบากใหญ่
ต่อมา ต้นบากใหญ่กลางชุมชนได้โค่นล้มลง ทำให้ต้นไม้สัญลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ต้นสุดท้ายของหมู่บ้านหมดไป ผู้เฒ่าผู้แก่จึงถือเอาปากบุ่งสระพังเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านแทน และได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านปากน้ำ(บุ่งสระพัง)” เพื่อให้ตรงกับสถานที่ตั้งดั้งเดิมของหมู่บ้าน ซึ่งเคยตั้งอยู่ที่บริเวณปากบุ่งสระพัง และได้ย้ายหมู่บ้านหนีโรคห่าและหนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่บริเวณดงบากใหญ่ ซึ่งก็คือที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน
บ้านปากน้ำจึงมีปากบุ่งสระพังเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ส่วนการสร้างศาลากลางบ้าน พ่อเล่าว่า เมื่อพ่อถ่านเริ่มตัดถนนหนทาง พัฒนาหมู่บ้าน ต้องการที่ดินสร้างศาลากลางบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีสถานที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ย่าหอมจึงถวายสวนหม่อนให้กับพ่อถ่าน
เมื่อสร้างศาลากลางบ้านเสร็จ พ่อถ่านได้ขุดส้าง*ไว้ข้างศาลาด้วย (*ส้าง คือ บ่อน้ำ) เพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำส้างกลางบ้านไว้ตักกินตักใช้ร่วมกัน
นอกจากชาวบ้านจะใช้ศาลากลางบ้านเป็นสถานที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญกลางบ้าน การประชุมปรึกษาหารือกันของชุมชน ใช้เป็นที่ฝึกหัดฟ้อนลำยามบุญประเพณี และใช้เป็นสถานที่ฝึกใหัวงหมอลำของลูกหลานชาวบ้าน เป็นต้น
ศาลากลางบ้านหลังนี้ ยังเคยถูกใช้เป็นที่ประชุมสภาตำบลกุดลาด ก่อนจะย้ายไปใช้สภาตำบลกุดลาด ในปัจจุบัน
ปู่ทวดลูกับย่าทวดหอม วงศ์ชะอุ่ม มีลูก ด้วยกัน ๓ คน คือ ๑. ปู่โทน วงศ์ชะอุ่ม(*คือ พ่อใหญ่โทน) ๒. แม่ย่าทุมมา (วงศ์ชะอุ่ม) และ ๓. พ่อปู่มี วงศ์ชะอุ่ม
ปู่ทวดลูตายเพราะวิ่งหนีฝนมาตำกันตายอยู่บริเวณต้นบากใหญ่ ใกล้สวนหม่อนของย่าหอม
พ่อเล่าว่าตอนนั้นยังไม่มีศาลากลางบ้าน ไฟฟ้าก็ยังไม่มี ชาวบ้านไต้กะบองเป็นหลัก ทางกลางบ้านก็ยังเป็นทางเกวียนจอกหลอก*(*จอกหลอก คือ เล็ก ๆ ) ยังเต็มไปด้วยต้นไม้และกอไผ่ พอตกเย็นมาก็จะมืดจนมองไม่เห็นทาง ต้นบากใหญ่จะเยื้องไปทางเฮือนบักฝั้น ส่วนเฮือนแม่อั้ว พ่อใหญ่ครูมี และเฮือนพ่อใหญ่พวงจะมีต้นงิ้วผาและต้นไฮใหญ่ อีแร้งชอบมาจับ
วันหนึ่ง เกิดฝนฟ้าคะนอง พายุก็แรง ฝนตกลงมาอย่างหนัก แบบมืดฟ้ามัวดิน ปู่ทวดลูวิ่งหนีฝนมาตำกันตายอยู่ใกล้ต้นบากใหญ่ บริเวณศาลากลางบ้านปัจจุบัน คงจะวิ่งหนีฝนออกมาจากสวนหม่อน
ฝนก็ตก ลมก็แรง ทางก็มืด ต่างคนต่างวิ่งสวนทางกันมา ไม่ได้ดูกันจึงตำกันเลือดตกในตาย
“แต่กี้มันเป็นทางเกวียนจอกหลอก มีแต่กอไผ่ครึ้ม ยอดเฟือยใส่กัน มีต้นงิ้วผา ต้นไฮใหญ่อยู่หว่างเฮือนสาวอั้ว-ครูใหญ่มี ต้นบากใหญ่ออกไปทางเฮือนบักฝั้น ยามหัวแลงมามันกะมืด กะครึ้ม ฝนลมมา ม้องฮั่นมันกะเป็นตาแลนตำกันตายบาดว่านั่นละ ของทางเกวียนน้อย ๆ จอกหลอก พ่อกะเกิดมาทัน ทางกลางบ้านยังเป็นทางจอกหลอกอยู่แต่กี้”
“พ่อถ่านเพิ่นกะมาพัฒนาให้มันแปนออกหว่างใด๋ฮั่น แล้วกะมาตัดทางใหม่ข้างเฮือนพ่อทัยออกไปท่งให้มันตรง แต่กี้เป็นดินอ้ายพวง เพิ่นขายให้พ่อทัยปลุกเฮือนเฮ็ดร้านขายของ ส่วนทางเก่าคนบ่เทียวแล้ว ย่าหอมเลยซื้อเอา ๓๐๐ บาท”
“แต่กี้กะเป็นสวนย่าหอมใด๋นั่น ที่ดินม้องศาลากลางบ้าน สวนย่าหอมตินั่น เลาเอาถวายวัด พ่อถ่านกะเลยมาสร้างมาแปลงออก เฮ็ดศาลากลางบ้านใส่ แล้วเพิ่นกะขุดส้างไว้ข้างศาลา ให้ไทบ้านใซ้ ขนดินข้ามท่งข้ามนามาเผาอิฐเฮ็ดส้าง พ่อถ่านลงส้างก่ออิฐเอง เขาว่าส้างหน่วยนี้พังทับพ่อถ่านเกือบตาย ไทบ้านส่อยกันดึงขึ้นมา”
พ่อเล่าว่า ที่ดินตรงที่ใช้สร้างศาลากลางบ้าน เคยเป็นสวนหม่อนของย่าทวดหอม เพราะย่าทวดหอมปลูกหม่อน เลี้ยงหม่อนตำผ้าไหม ปลูกฝ้ายตำแพรลาย อยู่มาย่าทวดหอมถวายที่ดินสวนหม่อนให้พ่อถ่าน แต่ตอนถวายนั้น พ่อก็รู้ไม่ชัดว่าทำไมย่าทวดหอมจึงถวาย พ่อถ่านคงหาดินหาดอนสร้างศาลากลางบ้าน คงจะมาพูดมาคุยสอบถามกันก่อน ย่าทวดหอมก็เลยถวายพ่อถ่าน คงคิดว่าบุญกุศลจะได้ถึงปู่ทวดลูด้วย
พ่อบอกว่าที่จริงสวนย่าทวดหอมยังมีอีกหลายแห่ง อีกแห่งหนึ่งอยู่บ้านโนน เป็นสวนมะม่วง ใกล้สวนพ่อจันทา-ตู๋ แต่ทั้งพ่อใหญ่โทน ทั้งพ่ออาวมี ไม่มีใครไปสร้างไปแปลงเอา เมื่อลูกไม่มีใครสนใจอยากไปอยู่ไปสร้าง ย่าทวดหอมก็เลยขายให้พ่อจันทา บ้านโนน เพราะเฮือนพ่อจันทาอยู่ตรงนั้น
“สวนย่าหอมอีกม้องหนึ่ง อยู่ใกล้สวนพ่อจันทา-ตู๋ บ้านโนน เป็นสวนบักม่วง แต่อีพ่อกับอาวมี บ่มีไผไปเฮ็ดไปสร้างเอา พอลูกบ่ไปเฮ็ดไปสร้าง ย่าหอมกะเลยขายให้พ่อจันทา แนวบ่มีไผไปเฮ็ดไปทำ เฮือนพ่อจันทาอยู่ม้องฮั่น เพิ่นเลยขอซื้อเอา”
พ่อทอดเสียงครู่หนึ่งเหมือนครุ่นคิดอะไรบางอย่าง ก่อนเล่าความหลังถึงมูลมังพ่อใหญ่โทน แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม
“แต่ว่าสวนอีพ่อม้องเพิ่นสร้างเฮือนอยู่ บ่แม่นมูลย่าหอม เป็นสวนของแม่ใหญ่มิ่ง มูลทางอีแม่ เพิ่นมีที่ดินอยู่ติดกับย่าหอม แต่บ่แม่นมูลย่าหอม อีพ่อบ่ได้สร้างเฮือนอยู่มูลแม่เจ้าของ แต่สร้างอยู่มูลทางแม่เถ้า มูลทางอีแม่”
“สวนม้องอีไยปลุกเฮือนอยู่ทุกมื้อนี้ เป็นที่แม่ใหญ่อบ อีพ่อเอาเกวียนแก่ฝุ่นแลกเอา ได้ยินอีพ่อเว้าจังซั้น จังว่ามันต่อออกไปฮั่น แต่กี้สวนบ้านอีไย มันมีต้นบักพร้าวเป็นแดน ระหว่างสวนแม่ใหญ่มิ่งกับสวนแม่ใหญ่อบ แม่ของพ่อใหญ่บุญเตี้ย แม่ใหญ่หอมเมี่ยง”
ส่วนเรื่องการขยายทางกลางบ้าน พ่อเล่าว่า เมื่อก่อนทางกลางบ้านเป็นทางเกวียนเล็ก ๆ จอกหลอก พอขับเกวียนผ่านไปได้ พ่อถ่านเป็นคนมาแปลงทางให้กว้างออก ขอคนนั้นที คนนี้ที ขยายออก ทางจึงกว้างขวาง ไปมาได้สะดวก อย่างทุกวันนี้ บางจุดขยายทางออกมาตรงกับเล้าข้าวชาวบ้าน พ่อถ่านก็ต้องขอยกเล้าข้าวขยับถอยหนีจากทาง ก็ต้องพูดก็ต้องจากัน บางคนก็ยากบางคนก็ง่าย แต่ก็ให้กันทุกคน
ต่อมา มหามังกรมาอยู่วัดป่าก็มาชวนไทบ้านปักหลักเพื่อให้ทางเป็นเขตเป็นแนว พอผู้นำปักหลักให้แล้ว ทุกคนก็ตัดไม้มาทำเสา หาไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีก ทำรั้วให้เป็นแถวเป็นแนว ต่างคนต่างทำรั้วหน้าบ้านของตัวเอง ให้เหมือนกันทุกหลัง บ้านแต่ละหลังมีป้ายบ้านเลขที่ และชื่อเจ้าของบ้าน มหามังกรเป็นคนเขียนป้ายให้ พวกเคยบวชเคยเรียนมาก็ช่วยเขียน
“พ่อกะไปแก่ไม้แดงจากดงบะเฮนมาเฮ็ดเสาฮั้วนำเพิ่น จ้างรถอ้ายรอด แม่ลิ เป็นคนแก่มาให้ ตำรวจไล่จับอยู่กลางทาง ตำรวจบอกว่า ไปลักตัดไม้มาจากไส พ่อบอกว่า สิลักไม้มาจากไส ไม้ตัดมาจากไฮ่จากนา ตำรวจถามว่า ไม้หยังนั่น พ่อบ่อยากบอกว่าเป็นไม้แดง กะเลยบอกว่าไม้ก่อ ตำรวจบอกว่า อยากได้จักสี่ห้าร้อย พ่อบอกว่า มาจากป่าจากดงสิเอาเงินเอาทองสี่ซ้าห้าร้อยมาจากไส บักหน่อยเลยจกให้ ๕๐ บาท กะแล้วไป พ่อบอกว่า สิจับอิหยังไม้ส่ำนี้ เอาไปเฮ็ดหลักฮั้วหลักฮาว ไปเบิ่งแน่เขาพัฒนาบ้าน พัฒนาเมืองกันสนั่นสะเนือง”
พ่อตัดไม้แดงจากนาดงบะเฮน มาทำเสารั้วบ้าน จ้างรถพ่อรอด-แม่ลิ ขนมาให้ ถูกตำรวจเรียกเก็บเงินอยู่กลางทาง ๕๐๐ บาท พ่อไม่มีให้จึงให้ไป ๕๐ บาท พ่อบอกว่า หลังจากมหามังกรพาชาวบ้านทำรั้ว ปักเขตปักแดนทำให้ถนนหนทางตามหมู่บ้านมีหน้าทางเท่ากัน จากนั้น ก็เหมารถเหมาราพาชาวบ้านไปเที่ยวตรงนั้นตรงนี้ ให้ชาวบ้านได้เห็นบ้านอื่นเมืองไกล เป็นการเปิดหูเปิดตาชาวบ้าน
“เฮ็ดหนทางแล้ว มหามังกร เพิ่นกะเหมารถเหมาราพาไทบ้านไปเที่ยวม้องฮั่นม้องนี่ ให้ไทบ้านได้เห็นบ้านอื่นเมืองไกล”
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๓๘. “ ย่าหอมถวายที่ปลูกหม่อน ให้หลวงตาสร้างศาลากลางบ้าน ”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร