เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๗ “บ้านกุดลาดกับบ้านปากน้ำ เลี้ยงควายฟากบุ่งร่วมกัน ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๓๗. บ้านกุดลาดกับบ้านปากน้ำ เลี้ยงควายฟากบุ่งร่วมกัน
กรณ์ คือ เรื่องราวความทรงจำดีงาม เกี่ยวกับการเลี้ยงควายฟากบุ่งในวัยเด็กของพ่อ เมื่อกรณ์ไปอยู่นิคมอำนาจเจริญ ทางการมีที่ดินให้ทำมาหากิน มีควายให้ทำไร่ไถนา นานทีกรณ์จะกลับมาเยี่ยมบ้านบ้างเป็นบางครั้ง หลังกลับไปนิคมอำนาจเจริญครั้งสุดท้าย กรณ์ก็ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย จนกรณ์จากไป
ตอนที่กรณ์กลับมาเยี่ยมบ้าน พ่อเคยถามถึงการเป็นอยู่ในนิคมอำนาจเจริญ กรณ์เล่าให้พ่อฟังว่า เขามีที่ดินให้ทำมาหากิน มีวัวมีควายให้เลี้ยง ต้องเลี้ยงวัวเลี้ยงควายทำรั้วทำสวนเหมือนอยู่บ้านเรา
พบกันครั้งสุดท้ายนานแค่ไหนพ่อก็จำไม่ได้ รู้แต่ว่า หลังจากพบกันคราวนั้นแล้ว ก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย
“บักกรณ์บ่ได้กลับมาบ้าน มันกะตายอยู่อำนาจ” พ่อเปรยขึ้นมา
“เขามีดินมีดอนให้เฮ็ดกินเฮ็ดอยาก เวลามันมา พ่อเคยได้ถามมันอยู่ มันกะว่าเขามีที่ดินให้เฮ็ดกินเฮ็ดอยาก มันกะมีควายไถไฮ่ไถภูคือกัน”
“มันเว้าให้ฟังว่า มื้อหนึ่ง ไถ่นาไป ควายพาแล่น มันกะแล่นนำควาย ควายหยุด มันตกกะมะหยุด แล้วด้ามไถตำท้องน้อย เจ็บท้องน้อย หมืน*ให้ควายหลาย (*หมืน คือ โกรธ, โมโห) เลยปลดควายออกตี มันเว้าให้ฟัง ตีแล้วกะผูกไว้ มันตากแดดตั๊ว ออกมาเบิ่ง ควายโลดตาย บักกรณ์ มันว่า”
พอพูดถึงตรงนี้ พ่อก็หยุดหัวเราะร่า น้ำหูน้ำตาไหลอย่างสุขใจ
“ยามมันมาบ้าน มันกะมาหาอยู่ มีแต่อีแม่เพิ่นด๊าด่า บ่อยากให้ไปใกล้มัน แต่พ่อผัดบ่ย่าน แนวคนเคยเล่นนำกัน”
พ่อเล่าถึงบรรยากาศการเลี้ยงควายกับกรณ์ว่า บ้านกุดลาดกับบ้านปากน้ำเลี้ยงควายฟากบุ่งร่วมกัน มีอยู่วันหนึ่งกรณ์ฮ้องแซวสาวเลี้ยงควายบ้านกุดลาด ผู้บ่าวบ้านกุดลาดจะออกมาตี
กรณ์ก็คุยใหญ่อวดเขาว่า กูรู้จักหมดคนบ้านกุดลาด ตั้งแต่ไปเรียนหนังสืออยู่วัดทุ่งศรีเมืองด้วยกัน
“ตอนไปเลี้ยงควายอยู่ฟากบุ่ง ผู้สาวบ้านกุดลาดกะมาเลี้ยงควายฟากบุ่งคือกัน พากันได้ยินเสียงผู้สาวลำวอน ๆ อยู่ฟากหนองบัวทอง เลยกุดอ้อมา บักกรณ์กะเลยฮ้องใส่เขา* (*ฮ้องใส่ คือ แซว) พวกผู้ชายเลี้ยงควายบ้านกุดลาด เห็นฮ้องใส่ผู้สาว มันกะเลยสิออกมาตี สิตีโตกะเสย ๆ บ่เถียง บ่สู้ แต่เขากะบ่ได้ตีดอก ตอนนั้น เจ้าของกะยังเป็นเด็กน้อยแน่ แต่บักกรณ์มันโตใหญ่กว่า มันกะคุยพอมัน มันกะเว้าใหญ่ใส่เขาว่า หมู่กูบ่อึดบ่อยากดอก อยู่บ้านกุดลาด มันเว้าไปของมัน ส่ำหมู่นักเลงกูบ่อึดบ่อยากดอก อยู่ในบ้านกุดลาด”
“โตกะบ่เถียง มีแต่บักกรณ์มันเถียงเขา บักนั่นบักนี่ ไล่ซื่อเขาไป บ่อึด หมู่กูอยู่ท่งศรีเมือง คนบ้านกุดลาด เฮียนหนังสือนำกัน มันเว้าข่มเขาไป แต่หมู่บักกรณ์อยู่บ้านกุดลาดมันกะหลายอีหลีคือมันว่านั่นล่ะ ของมันไปเรียนหนังสืออยู่วัดท่งศรีเมืองนำกัน มันฮู้จักกันมาแต่พุ้น”
พ่อเล่าว่า บ้านกุดลาดกับบ้านปากน้ำเลี้ยงวัวเลี้ยงควายฟากบุ่งฮ่วมกัน* (*ฮ่วมกัน คือ ร่วมกัน) ต่างคนต่างก็เลี้ยงมาจนถึงหนองบัวทอง บางทีบ้านกุดลาดก็เลี้ยงควายมาจากหนองจอก กุดอ้อ เลยหนองสะวานขวางมาจนถึงหนองบัวทอง ส่วนบ้านปากน้ำก็เลี้ยงควายจากบุ่งสระพังขึ้นไปจนถึงหนองบัวทองเหมือนกัน จึงเลี้ยงควายเป็นหมู่กัน* (*เป็นหมู่กัน คือ เป็นเพื่อนกัน)
แม้บ้านกุดลาดจะมีที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควายหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นทุ่งกุดลาด ทุ่งตาดโตน ทุ่งหัวช้าง หนองหัวช้าง หนองกระดูกควาย ฮ่องบักฟอง บุ่งนางแพง ท่าเสือข้าม และยอดตาก่ำ แต่โดยมากชาวบ้านก็จะนำวัวนำควายมาเลี้ยงที่ฟากบุ่งจนถึงหนองจอก หนองบัวทอง เพราะมีพื้นที่กว้างขวางปล่อยให้วัวควายเดินแทะเล็มกินหญ้าได้
เมื่อก่อนบ้านกุดลาดก็ปลูกถั่วปลูกแตงอยู่ตามบุ่งตามทามเหมือนกัน พ่อสาวอิ่ม สาวหลาก็เป็นเสี่ยวกับอาวมี ไปมาหาสู่กันไม่ขาดลูกตาเพ็ง ลูกตาปาน ลูกตาสาง สาวผิว สาวกี สาวพั่น สาวเหงีย ลูกพ่อใหญ่สาง แม่ใหญ่อ้อม เป็นเพื่อนเลี้ยงควายกับป้าจันทร์ศรี แม่ย่าสี สาวดอน บางที เห็นพ่อเขาก็ถามว่า “เกิน! มื้อนี้เอื้อย*บ่มาบ่” (*หมายถึง ป้าจันทร์ศรี กรองมาลัย พี่สาวของพ่อ กับแม่ย่าบัวสี วันหนา)
มีอยู่วันหนึ่งควายสาวพั่น บ้านกุดลาดเข้าไปกินหญ้าใกล้ตูบพักพวกลูกน้องคนแก่กวด* (*แก่กวด คือ ลากอวน) สาวพั่นกลัวพวกคนแก่กวด ไม่กล้าเข้าไปไล่ควายออกมา จึงชวนพ่อไปเป็นเพื่อน
“อีนายพั่นบ้านกุดลาด ย้านลูกน้องพวกแก่กวด บ่กล้าไปไล่ควาย บอกพ่อว่า “เกิน! ขึ้นไปไล่ควายนำเอื้อยแน่ เพิ่นย้านลูกน้องพวกแก่กวด แต่คราวเลี้ยงควายฟากบุ่ง ฮู้จักกัน”
พ่อเล่าว่า พวกตาเพ็ง ตาปาน ตาสาง แม่ใหญ่อ้อมก็เลี้ยงควายอยู่ด้วยกัน ตาสางเป็นพ่อมหาพิสันต์ ทองไทย บ้านกุดลาด เมื่อก่อนเลี้ยงควายฟากบุ่งมาเจอกันหมด รู้จักมักคุ้นกันดี อีแม่ก็รู้จักกันหมดกับลูกพ่อใหญ่สาง ทองไทย แต่ลูกเขาได้เป็นเจ้าเป็นนายกันทุกคน คนหนึ่งชื่อ “ครูเสถียร”
ลุงบุญมาเคยไปซื้อควายจากพ่อใหญ่สาง แล้วพ่อใหญ่สางชี้มือให้ดูลูกชายอยู่กลางทุ่งว่า “นั่นครูเสถียร ป้านคันแทนา*อยู่พู้น” (*คันแทนา คือ คันนา)
พ่อเล่าว่า พ่อใหญ่สาง บ้านกุดลาด เลี้ยงควายเป็นฝูง มีแต่ควายตัวงาม ๆ คนอยากได้ควายงามก็ไปซื้อจากพ่อใหญ่สาง ลุงบุญมาอยากได้ควายงามจึงชวนไปซื้อ พ่อก็ไปด้วย พอซื้อมาอยู่กับเราก็ไม่งามเหมือนอยู่กับพ่อใหญ่สาง เพราะควายอยู่กับพ่อใหญ่สาง ถูกปล่อยเลี้ยงให้กินหญ้าตามท่งตามทาม มีหญ้ากินเยอะ จึงอ้วนพี มองดูตัวไหนก็งาม
“ตาเพ็งกะเลี้ยงควายอยู่นำกัน เลากะสิรุ่นราวเดียวกันกับอีพ่อ อายุส่ำกับอาวมี ตกมารุ่นลูกกะอายุไล่ ๆ กัน อีพ่อกะเคยไปซื้อควายกับพ่อใหญ่สาง ทองไทยบ้านกุดลาดคือกัน” พ่อพูดย้ำ
ตอนไปกรุงเทพคราวหนึ่ง ไม่รู้ไปงานอะไร พ่อเห็นมหาพิสันต์มาหาครูบาอยู่วัดสระเกศ ยายหนูยังถามลุงลิดว่า “พ่อลุง คนนี้มาคือพ่อใหญ่สาง บ้านกุดลาดแท้”
“ของลูกพ่อใหญ่สาง มันก็คือพ่อใหญ่สางนั่นตั๊ว” ลุงลิดบอกแม่
แม่เล่าว่า ตอนยังเด็ก แม่เคยไปอยู่บ้านกุดลาดกับครูใหญ่วันทา แม่จึงไปโตอยู่บ้านกุดลาด คนบ้านกุดลาดรุ่นเก่า ๆ ที่เล่นหัวมาด้วยกัน ก็รู้จักกันหมด ตอนนี้ ต่างก็แก่เฒ่าไปด้วยกัน หลายคนก็ตายไปแล้ว
“แต่กี้ ผู้ฮู้จักเขากะฮู้จักอยู่ดอก ว่าแม่เคยไปอยู่บ้านกุดลาด ยามไปเป็นการเป็นงานหยัง เห็นหน้าเห็นตา เขากะเอิ้นใส่เบิ่ดนั่นล่ะ “มาอยู่บ่หนู ข้อยว่าเจ้าบ่ได้มา” เขากะว่า “มาอยู่” โตกะว่า”
ตอนนั้น ครูใหญ่วันทามาสอนหนังสืออยู่บ้านปากน้ำ จึงให้แม่ไปอยู่ด้วย ครูที่มาสอนอยู่โรงเรียนบ้านเรา ก็มีครูใหญ่วันทา ครูหมอน ครูพิมพ์ และครูทัน
ตอนครูใหญ่วันทาย้ายกลับไปสอนอยู่โรงเรียนบ้านกุดลาด แม่ก็ตามไปอยู่บ้านกุดลาดด้วย จึงต้องไปเรียนหนังสืออยู่บ้านกุดลาด เท่ากับไปโตอยู่บ้านกุดลาด พวกลูก ๆ ของครูใหญ่วันทา แม่ก็เลี้ยงจนโตเป็นสาวเป็นนางกันทุกคน แต่คนสุดท้องที่เป็นล่อย* แม่ไม่ได้เลี้ยง เพราะกลับมาอยู่บ้านปากน้ำแล้ว (*ล่อย คือ โรคมือเท้าตาย จับถืออะไรไม่ได้ เดินเหินไปไหนมาไหนไม่ได้ เรียกว่า โรคแขนล่อยขาล่อย)
พี่น้องของครูใหญ่วันทา แม่ก็เรียกลุงกันทุกคน พ่อลุงตัน พ่อลุงหนู
พวกบ้านกุดลาดที่เล่นหัวมาด้วยกัน ก็มีสาวหวี สาวกี๋ สาวกี สาวเทิม ยายอูบ ยายสร้อย เมียจารย์สังข์ ทายกวัด สาวยง เมียผู้ใหญ่บ้านเติม เฮือนสาวหวีอยู่ติดกับเฮือนแม่ใหญ่ค้อม ถัดไปจึงเป็นเฮือนครูใหญ่วันทา ถัดจากเฮือนครูใหญ่วันทาจึงเป็นเฮือนครูหมอน ต่อมา ครูหมอนย้ายออกจากกลางบ้านไปอยู่ด้านนอก ข้างวัด
ตอนผู้ใหญ่บ้านเติมตายปีนั้น ครูบาไม่ได้มาเผาศพ แม่ยงก็เสียใจ ว่า เสียแรงรักเหมือนลูกเหมือนเต้า ผู้ใหญ่บ้านเติมตายก็ไม่มาเผา
“ผัดเหลือฮักเหลือแพงคือลูกคือเต้า แม่ยงเลาว่า”
“เพิ่นกะสิยากการยากงานของเพิ่นบ่จักแหล่ว จังมาบ่ได้ แม่กะเลยว่าจังซี้”
ตอนหลัง ครูใหญ่วันทาขายดินบ้านกุดลาด ย้ายไปอยู่ปากห้วยวังนอง บ้านอยู่ติดกับวัด ตอนครูใหญ่วันทาตาย แม่ก็ไปเผาทั้งผัวทั้งเมีย
“แม่ไปอยู่บ้านกุดลาดจักท่อใด๋ปีพุ้นตั๊ว ส่ำว่าไปใหญ่อยู่พุ้น จังได้กลับคืนมาอยู่บ้าน แต่กี้ คนเก่า ๆ บ้านกุดลาดกะฮู้จักกันไปเบิ่ดสู่คน เดี๋ยวนี้ มันอยากหลงกันไปแน่แล้วล่ะ ของเฒ่าไปนำกันแล้ว ผู้ตายไปนำกะมี แม่ใหญ่อูบ แม่ใหญ่ค้อม แม่ใหญ่อ้อมเฮือนเลากะอยู่ติดกกสำสา กลางบ้านฮั่น กะฮู้จักกันเบิ่ดนั่นแหล่ว”
“เฮือนแม่ใหญ่อูบอยู่หลังเฮือนครูใหญ่วัน เลามีลูกสามคน คือ สาวอี๊ด สาวจิต สาวออ”
“เฮือนครูใหญ่วันทาอยู่ฟากเฮือนสาวหวี สาวกีไปฮั่น สาวหวีเป็นเอื้อยสาวกี๋ น้องสาวกีนี่ล่ะ เฮือนอยู่ติดกับแม่ใหญ่ค้อม ต่อจากเฮือนแม่ใหญ่ค้อม จังเป็นเฮือนครูใหญ่วัน ต่อจากเฮือนครูใหญ่วัน จังเป็นเฮือนครูหมอน บาดนี้ ครูหมอนเลาย้ายออกมาอยู่นอกพี้ ทางวัดพี้”
“แต่กี้อ้ายน้องเพิ่น แม่กะเอิ้นพ่อลุงเบิ่ดสู่คนนั่นล่ะ พ่อลุงตัน พ่อลุงหนูนั่นตี้ แม่เอิ้นซุมครูใหญ่วันทาเพิ่น ทุกมื้อนี้ ลูกหลานเกิดใหม่ใหญ่ลุน เขากะบฮู้่จักกันดอก เฮือนเขากะล้อมฮั้วล้อมฮาวอยู่ไผอยู่มัน ต่างคนต่างอยู่เฮือนไผเฮือนมัน แบบในเมืองในนาไปแล้ว มันบ่คือแต่กี้”
แม่กล่าวทิ้งท้าย
“พ่อแม่นี่ ฮักหยังกะบ่คือฮักลูก ซี้นต้อนหนา ปลาต้อนใหญ่ กะอยากให้ลูกได้กินก่อน”
“ย้อนความฮักลูก พ่อแม่เคียดให้ลูกปานใด๋ กะบ่อยากให้ลูกเห็นน้ำตา ย้านลูกบาปนำพ่อนำแม่ คันน้ำตาสิตก กะให้มันตกลงทางในพุ้น” (คำเว้าอีแม่)
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๓๗ “บ้านกุดลาดกับบ้านปากน้ำ เลี้ยงควายฟากบุ่งร่วมกัน”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร