จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

“ญาณวชิระ”

นครหลวงของประเทศไทย

ระหว่างพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐

หนังสือที่ลูกผู้ชายทุกคนต้องอ่าน

ลูกผู้ชายต้องบวช

เรียนรู้ชีวิตลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เพื่อเรียนรู้ชีวิตพระภิกษุที่สมบูรณ์

ญาณวชิระ

คำอนุโมทนา

            “กิจฺโฉ มนุสฺสปฎิลาโภ  กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท

การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นของยาก การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าก็ยาก”

ชีวิตนั้นเริ่มต้นที่ “การเกิด” และ “การเกิด” ในแง่หนึ่งเรามองผ่าน “ลมหายใจ” (ปาณะ) โดยลมหายใจแรกของทารกน้อยเป็นลมหายใจเดียวกันกับผู้เป็นแม่ พอคลอดออกมาจึงได้เริ่มอาศัยลมหายใจของตนเอง หากจะถือว่า “ชีวิต” คือ “ลมหายใจเข้าและออก” ถ่ายเทลมหายใจเก่าออกไปก่อนจะรับลมหายใจใหม่เข้ามา แล้วก็วนเวียนต่อเนื่อง ตราบที่ยังหายใจอยู่ ชีวิตก็ยังเป็นไปได้

อีกแง่หนึ่ง ชีวิตเริ่มต้นจากการมีจิตหรือวิญญาณลงมาปฏิสนธิในท้องแม่ แล้วจิตนั้นก็พัฒนาขึ้น เรียนรู้ประสบการณ์ผ่านสัมผัสตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนคลอดออกมาเป็นเด็กน้อย  จิตยังคงคอยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา เปลี่ยนจิตให้เป็นคลังสะสมประสบการณ์ และจะแสดงออกทางการพูดและการกระทำ ก่อนจะสั่งสมต่อไปไม่จบสิ้น

การเกิดทางร่างกายในภพชาตินี้คือตอนคลอดจากแม่ จะเป็นชายหรือหญิงก็เป็นไปตามนั้น จะสมบูรณ์หรือพิการก็เลือกไม่ได้ แต่ในทางจิตหรือวิญญาณ เราเลือกเกิดเป็นอะไรก็ได้ จะให้จิตเป็นเทวดาก็มีหิริคือความละอายแก่ใจ โอตตัปปะคือการเกรงกลัวบาป หรือจะเป็นมนุษย์ก็มีศีล เป็นต้น เราจึงสามารถเกิดใหม่ได้ตลอดเวลา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้ เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้” และ การบวชก็คือการเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณ

“การบวช” ในสมัยพุทธกาลคือ “การเปลี่ยนจิตใจ” ดังที่ปัญจวัคคีย์ผู้กำลังแสวงหาความดับทุกข์ หรือยสะกุลบุตรผู้กำลังตกอยู่ในช่วงแห่งความทุกข์ เมื่อพบกับพระพุทธองค์ จึงค้นพบการเกิดใหม่ทางจิตใจ ออกบวชด้วยความหยั่งเห็นในธรรมอย่างลึกซึ้งทางใจ จึงไม่แปลกที่ใครจะมองการบวชว่าเป็นการช่วยเยี่ยวยาจิตใจให้กับผู้มีทุกข์ได้ปลดปลงชีวิตเก่าและเปลี่ยนเป็นคนใหม่ ไม่ใช่ภายนอกแต่เป็นภายใน…

หนังสือเรื่อง “ลูกผู้ชายต้องบวช” เล่มนี้กำลังบอกเล่าการเปลี่ยนแปลงจากจิตใจภายใน ผ่านความวิริยะอุตสาหะของท่านอาจารย์ “ญาณวชิระ” ซึ่งสั่งสมประสบการณ์ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสดุ์และการเป็นพระพี่เลี้ยงดูแลพระภิกษุนวกะ  ผสมผสานกับการศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา และหนังสือทางพระพุทธศาสนา แล้วจึงเรียบเรียงเนื้อหาผ่านภาษาอย่างประณีตเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้สอดคล้องกับยุคสมัยและวิถีชีวิตของผู้คน เพื่อเป็นเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่จะบวชได้เตรียมตัว และผู้ที่บวชแล้วรู้วิธีการปฎิบัติ หรือแม้แต่พระภิกษุจะได้ทบทวนเป้าหมายของการบวชให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้จึงถือเป็นความสำเร็จจากการสนับสนุนของบริษัทโตโยต้า บัสส์ จำกัด ในการจัดพิมพ์ และคุณมนสิกุล โอภาสเภสัชช์ ที่มาช่วยตรวจต้นฉบับอย่างละเอียด และวาดภาพประกอบ พร้อมกับทีมงานในการถ่ายรูปและจัดรูปเล่มที่มาช่วยจัดทำกันแบบแข่งกับเวลา เพื่อการจัดพิมพ์ให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด

ความทุ่มเทเหล่านี้ทำเรื่องยากสำเร็จลองได้ เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชาและสังฆบูชา ในการน้อมนำเอาคำสอนทางพระพุทธศาสนามาเป็นหลักยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิต และเป็นอาจริยบูชา ในความวิริยะอุตสาหะ และเมตตาธรรมในการก่อสร้างปัญญาให้กับทุกผู้คนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

หากจะมีคุณงามความดีอันใดอันเกิดจากหนังสือเล่มนี้ ขอผลานิสงส์นั้นจงเป็นพลวปัจจัยหนุนนำให้พระพุทธศาสนาอยู่ยั่งยืนยาวนานในจิตใจของผู้คนชาวโลก ครูอาจารย์ทุกท่านมีความสุข สวัสดี เป็นที่พึ่งที่ระลึกของเหล่าพุทธบุตรผู้แสวงหาการดำเนินชีวิตที่มีความสุข สงบต่อไปอย่างยั่งยืน ยาวนาน

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี, ป.ธ.๙,ดร.

ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร

มกราคม ๒๕๖๒

ลูกผู้ชายต้องบวช

บรรพ์ที่ ๗ : สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม

: เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

บรรพ์ที่

สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่

ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร คือ

วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม

 กายบริหาร  การดูแลสุขภาพร่างกาย

 บาตรและประวัติบาตร 

จีวรและประวัติการออกแบบจีวร   

 รองเท้าที่ทรงอนุญาต

น้ำปานะและประวัติการคั้นน้ำปานะ

มหาปเทส หลักอ้างอิงการสันนิษฐานพระวินัย

ในปัจจุบัน  

เนื้อที่ทรงห้ามฉันและประวัติเกี่ยวกับเนื้อ

เภสัช ๕  เดรัจฉานวิชา  อโคจร   

พระพุทธานุญาตพิเศษ

อภิสมาจาร คือ ข้อที่พระภิกษุจะต้องศึกษาเกี่ยวกับมารยาทที่ดีงาม อันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่พระภิกษุจะต้องปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ความเป็นสมณะ เพื่อให้มีอาจาระน่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น วินัยส่วนที่เป็นอภิสมาจารนี้จัดเป็ข้อห้าม และ ข้ออนุญาต ไม่ได้ระบุจำนวนข้อ และไม่ได้ปรับโทษไว้โดยตรง แต่ถ้าไม่เอื้อเฟื้อปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมนี้ ปรับอาบัติถุลลัจจัย และ อาบัติทุกกฎ

“เกี่ยวกับวินัยของพระภิกษุนั้น โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าพระภิกษุมีศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ความเป็นจริงศีลภิกษุมีมากกว่านั้น  เพราะอยู่ในส่วนของอภิสมาจาร  ซึ่งหมายถึงอาจาระที่จะต้องประพฤติให้ยิ่งขึ้นไปกว่า ๒๒๗ นั้นอีก”

วินัยส่วนที่เป็นอภิสมาจาร มีมากเกินจะนำมาสวดสาธยาย  จึงจัดไว้เป็นส่วนหนึ่งสำหรับให้พระภิกษุศึกษาเพิ่ม ในที่นี้จะนำมากล่าวเฉพาะข้อที่สำคัญ และควรรู้ไว้เป็นเบื้องต้น

กายบริหาร

กายบริหาร  คือ การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สะอาดเรียบร้อย เหมาะสมแก่ความเป็นสมณะ และไม่เป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัยไข้เจ็บ โดยมีพุทธประสงค์เพื่อให้ภิกษุรู้จักรักษาสุขภาพ ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น  ธรรมเนียมการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายมี ๑๔ ประการ ดังนี้

๑.  อย่าไว้ผมยาว จะไว้ได้เพียง ๒  เดือนหรือ  ๒  นิ้ว โดยมีข้อห้ามเกี่ยวกับการแต่งผม  ดังนี้

       ไม่ให้หวีผมด้วยหวีหรือด้วยแปรง

       ไม่ให้เสยผมด้วยนิ้วมือโดยอาการว่ากำลังหวีผม

       ไม่ให้แต่งผมด้วยน้ำมันเจือขี้ผึ้งหรือน้ำมันเจือน้ำ

       ไม่ให้ตัดผมด้วยกรรไกร เว้นไว้แต่อาพาธ 

       ไม่ให้ถอนผมหงอก

สำหรับธรรมเนียมการโกนผมของพระสงฆ์ในประเทศไทย กำหนดเดือนละครั้ง คือ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำของทุกเดือน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นแบบปฏิบัติร่วมกันทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อให้ง่ายต่อการสังเกต ก่อนวันที่พระจันทร์เต็มดวง เป็นวันที่ พระสงฆ์โกนผม นอกจากวันขึ้น ๑๔ ค่ำ จะเป็นวันโกนแล้ว  ยังเป็นวันที่พระสงฆ์มีกิจส่วนตัว เช่น  การระบมบาตร การย้อมจีวร  เป็นต้น

๒.  อย่าไว้หนวดไว้เครา  ให้โกนเสีย เช่นเดียวกับผม โดยมีข้อห้ามเกี่ยวกับการแต่งหนวด  ดังนี้

            · ไม่ให้แต่งหนวด

            · ไม่ให้ตัดหนวดด้วยกรรไกร  

๓.  อย่าไว้เล็บยาว  ให้ตัดออกด้วยมีดเล็กพอเสมอเนื้อ  และอย่าขัดเล็บให้เกลี้ยงเกลา

๔. อย่าไว้ขนจมูกยาวออกนอกรูจมูก ให้ถอนออกด้วยแหนบ ปัจจุบันนิยมตัดด้วยกรรไกร

๕. อย่าโกนขนในที่แคบ คือ ในร่มผ้าและที่รักแร้  เว้นไว้แต่อาพาธ

๖.  อย่าผัดหน้า  ไล้หน้า  ทาหน้า  ย้อมหน้า  เจิมหน้า  ย้อมตัว  เว้นไว้แต่อาพาธ

๗.  อย่าแต่งเครื่องประดับต่างๆ  เป็นต้นว่า ตุ้มหู  สายสร้อยสร้อยคอ  สร้อยเอว  เข็มขัด  บานพับสำหรับรัดแขน  กำไลมือและแหวน

๘.  อย่าส่องกระจกดูหน้า  หรือในวัตถุอื่น  เว้นไว้แต่อาพาธเป็นแผลที่หน้า   ส่องเพื่อทำกิจ  เช่น ทายารักษา  เป็นต้น

๙. อย่าเปลือยกายในที่ไม่สมควรและในเวลาไม่สมควร  ทรงอนุญาตให้เปลือยกายในเรือนไฟและในน้ำได้ โดยมีข้อห้ามภิกษุเกี่ยวกับการอาบน้ำ ดังนี้

ไม่ให้สีกายในที่ไม่บังควร เช่น ต้นไม้ เสา ฝาเรือน หรือ แผ่นกระดาน

ไม่ให้สีกายด้วยของไม่บังควร เช่น ทำไม้เป็นรูปมือ  หรือ เป็นฟันมังกร  และ เกลียวเชือกที่คม

ไม่ให้เอาหลังต่อหลังสีกัน

๑๐.  อย่านุ่งห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์   โดยมีข้อห้ามเกี่ยวกับการนุ่งห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์  ดังนี้

            ห้ามใช้เครื่องนุ่มห่มของคฤหัสถ์  เช่น กางเกง  เสื้อ  ผ้าโพก  หมวด  ผ้านุ่งผ้าห่มสีต่างๆ ชนิดต่างๆ เว้นไว้แต่ในคราวที่จีวรสูญหาย ให้ใส่ปกปิดกายจนกว่าจะหาจีวรได้

ห้ามอาการนุ่งห่มต่าง ๆ  ที่มิใช่ของภิกษุ

๑๑.  ถ่ายอุจจาระแล้ว  เมื่อมีน้ำอยู่  จะไม่ชำระไม่ได้  เว้นไว้แต่หาน้ำไม่ได้  หรือน้ำมี  แต่ไม่มีภาชนะจะตัก  ก็สามารถที่จะเช็ดเสียด้วยไม้หรือด้วยของอื่นก็ได้

๑๒.  อย่าให้ทำสัตถกรรม  คือ ผ่าตัดทวารหนักด้วยศัสตรา  หรือในที่ใกล้ที่แคบเพียง  ๒  นิ้ว  และอย่าให้ทำวัตถิกรรม คือ ผูกรัดที่ทวารหนัก  

๑๓.  เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุต้องใช้ไม้ชำระฟัน  ประโยชน์ของการเคี้ยวไม้ชำระฟันมี  ๕  ประการ คือ

  ฟันดูไม่สกปรก

ปากไม่เหม็น

เส้นประสาทรับรสหมดจดดี

เสมหะไม่หุ้มอาหาร

ฉันอาหารมีรส

ปัจจุบันอนุวัติตามโลกคือใช้แปรงสีฟันแทนไม้ชำระฟันได้ เพราะไม้ชำระฟันหาได้ยาก นอกจากนั้น เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า สบู่ และ เครื่องอาบน้ำอื่นๆ พระภิกษุก็ใช้ได้เพราะมุ่งเพื่อการชำระร่างกายให้สะอาดไม่ได้มุ่ง  เพื่อการประเทืองผิวพรรณ 

  • ต่อมาได้มีพุทธบัญญัติสำหรับผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุต้องมีกระบอกกรองน้ำ

บาตร

บาตรเป็นบริขารที่มีไว้ใช้ได้ใบเดียวเท่านั้น  หากมีใบที่ ๒ ต้องทำวิกัปป์เก็บไว้  บาตรที่ทรงอนุญาตไว้มี  ๒ ชนิด  คือ

 · บาตรดินเผา                                            

 ·  บาตรเหล็ก                                           

นอกจากนั้น ยังมีของที่ห้ามไม่ให้ใช้แทนบาตร  คือ  กระทะดิน   กะโหลกน้ำเต้า   กะโหลกหัวผี    แม้จะมีรูปร่างคล้ายบาตร  ก็ไม่อนุญาตให้ใช้แทนบาตร  เนื่องจากกระทะดินเป็นของที่ชาวบ้านใช้  และขอทานใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับขอทาน  หากใช้กระทะดินแทนบาตรเกรงพระภิกษุจะเหมือนขอทาน กะโหลกน้ำเต้า  ใช้แล้วอาจทำให้อาหารเป็นพิษ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ส่วนกะโหลกหัวผี  เป็นของไม่สะอาดน่าเกลียดน่ากลัวต่อผู้พบเห็น  อีกทั้งจะทำให้พระภิกษุดูเป็นคนดุร้ายเหี้ยมโหด  

บาตรมี  ๓ ขนาด  คือ

·  บาตรขนาดเล็ก  จุข้าวสุกคนกินได้  ๒  คนอิ่ม 

·  บาตรขนาดกลาง  จุข้าวสุกคนกินได้  ๕  คนอิ่ม   

· บาตรขนาดใหญ่  จุข้าวสุกคนกินได้  ๑๐  คนอิ่ม

               นอกจากนั้น  ยังมีบาตรที่ทรงห้ามใช้อีก  ๑๑  ชนิด คือ  บาตรทอง บาตรเงิน  บาตรแก้ว  บาตรแก้วไพฑูรย์   บาตรแก้วผลึก    เพราะเป็นของมีค่า  ไม่สมควรสำหรับพระภิกษุ  และ   ยังอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตเพราะถูกโจรผู้ร้ายปล้นชิงเอาได้    

สำหรับ บาตรแก้วหุง    เป็นของแตกง่าย  หากปะปนไปกับอาหารก็จะเกิดอันตรายต่อชีวิต

บาตรทองแดง  บาตรทองเหลือง   บาตรดีบุก   บาตรสังกะสี ถูกอาหารเปรี้ยว เค็มเกิดสนิมเป็นอันตรายต่อสุภาพ  ส่วน บาตรไม้ เป็นของผุกร่อนรั่วซึมง่าย จึงไม่ควรนำมาทำบาตร

             เพราะบาตรนั้นเป็นบริขารที่สำคัญสำหรับพระภิกษุ จึงต้องรู้จักวิธีรักษาบาตร  ห้ามไม่ให้พระภิกษุใช้บาตรต่างกระโถน เช่น ทิ้งก้างปลา  กระดูก  เนื้อ  หรืออื่นๆ  อันเป็นเดนลงในบาตร  ห้ามไม่ให้ล้างมือหรือบ้วนปากในบาตร  มือเปื้อนจะจับบาตรไม่ได้  พระภิกษุฉันอาหารแล้วต้องล้างบาตร ห้ามไม่ให้เก็บบาตรไว้ทั้งที่ยังเปียกอยู่  ให้ผึ่งแดดก่อน  ห้ามไม่ให้ผึ่งทั้งยังเปียก  ให้เช็ดน้ำจนหมดน้ำก่อนจึงผึ่ง  ห้ามไม่ให้ผึ่งไว้นาน  ให้ผึ่งครู่หนึ่ง  พอแห้งแล้วให้เก็บทันที  ธรรมเนียมการระวังรักษาบาตร  มีดังนี้

·  ห้ามวางบาตรบนเตียง

·  ห้ามวางบาตรบนตั่ง บนม้า  หรือโต๊ะ

·  ห้ามวางบาตรบนร่ม

·  ห้ามวางบาตรบนพนัก

·  ห้ามวางบาตรบนชานนอกพนัก

·   ห้ามวางบาตรบนตัก

·  ห้ามแขวนบาตร  เช่น แขวนที่ราวจีวร

·  ห้ามคว่ำบาตรที่พื้นคมแข็ง อันจะเป็นอันตรายต่อบาตร

·  มีบาตรอยู่ในมือ  ห้ามผลักบานประตู

กิจเกี่ยวกับบาตรการดูแลรักษาบาตรอีกอย่างหนึ่ง คือ การระบมบาตร เพื่อไม่ให้เกิดสนิม  พระสงฆ์ที่ยังถือปฏิบัติตามธรรมเนียมเดิมจะระบมบาตรเดือนละครั้ง  คือ ทุกวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เหมือนโกนผม แต่เนื่องจากในสมัยปัจจุบันมีกรรมวิธีในการผลิตบาตรดีมากขึ้น  ทำให้บาตรไม่ขึ้นสนิม  จึงไม่จำเป็นที่ต้องระบมบาตร  แต่บางแห่งเมื่อจะใช้บาตรใหม่ต้องระบมก่อนเพื่อให้บาตรเปลี่ยนจากสีเดิมจะได้ไม่ให้เกิดความยึดติดว่าเป็นของสวยงาม

เล่าเรื่อง  ประวัติบาตร

            ภายหลังการตรัสรู้ พระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุติสุขอยู่บริเวณต้นโพธิ์ ๗ สัปดาห์  ขณะประทับอยู่ที่โคนต้นราชายตนะนั้น พาณิชสองคนพี่น้องชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้นำสินค้าบรรทุกเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางจากอุกกลชนบทเพื่อไปค้าขายยังมัชฌิมประเทศ  ได้พบพระพุทธองค์ในระหว่างการเดินทางผ่านมา พาณิชสองพี่น้องนั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ สัตตุผงสัตตุก้อน (๑) ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

            ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า พระตถาคตทั้งหลายองค์ก่อนๆ ไม่รับของถวายด้วยพระหัตถ์ เราจะรับสัตตุผงและสัตตุก้อนนี้ด้วยอะไร เพราะบาตรได้หายไปในวันที่รับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา

            ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทราบปริวิตกแห่งจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้มาจากทิศทั้ง ๔ น้อมบาตรที่ทำจากแก้วมรกตเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธบาตรเหล่านั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จึงน้อมนำบาตรที่ทำจากดิน ๔ ใบ เข้าไปถวายแทนบาตรแก้วมรกตนั้น

            เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ พระบรมศาสดาจึงทรงรับบาตรทั้ง ๔ ใบ นำมาวางซ้อนกันแล้วอธิษฐานว่า ขอจงเป็นบาตรใบเดียว บาตรทั้ง ๔ จึงรวมเป็นบาตรใบเดียวกันโดยไม่มีรอยปรากฏที่ขอบบาตร  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้บาตรดินนั้นรับสัตตุผงสัตตุก้อน เสวยแล้วทรงกระทำอนุโมทนา

            ครั้งนั้น ตปุสสะและภัลลิกะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระธรรมว่าเป็นสรณะ (เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์เกิดขึ้น) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่บัดนี้เป็นต้นไป

          พาณิชสองพี่น้องจึงชื่อว่า เทววาจิกอุบาสก (๒) นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา

            พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพระเกศธาตุแก่เขาทั้งสอง พาณิชทั้งสองนั้นราวกับได้อภิเษกด้วยอมตธรรม รื่นเริงยินดี บรรจุพระเกศธาตุเหล่านั้นไว้ภายในผอบทอง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป นำพระเกศธาตุไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองอสิตัญชนะ อันเป็นบ้านเกิดของตน

ครั้นต่อมาในระหว่างพรรษาที่ ๖ หลังการตรัสรู้ พวกเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ได้พากันไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา  ได้ขึงตาข่ายไว้ในน้ำเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้าย  คลื่นได้พัดเอาปุ่มไม้จันทน์แดงขนาดประมาณเท่าบาตรลอยมาติดตาข่าย

ตามธรรมดาไม้จันทน์แดงนั้นเป็นไม้ที่มีราคาแพง เศรษฐีจึงให้ช่างกลึงปุ่มไม้จันทน์แดงให้เป็นบาตร  แขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ผูกต่อกันขึ้นไปหลายชั่วลำไผ่  แล้วประกาศว่า สมณะหรือพรามหณ์ผู้ใดเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงเหาะมาปลดเอาบาตรนี้ไปเถิด

ปูรณกัสสปะ นักบวชลัทธิหนึ่งในสมัยพุทธกาล (๓) ทราบข่าวนั้นจึงได้เข้าไปหาเศรษฐี กล่าวว่า อาตมานี้แหละเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ขอท่านจงให้บาตรแก่อาตมาเถิด ท่านเศรษฐีตอบว่า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ก็จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรเองเถิด

จากนั้นก็มีเจ้าลัทธิต่างๆ เช่น มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตร เข้าไปหาเศรษฐี พูดทำนองเดียวกันกับท่านปูรณกัสสปะ  ก็ได้รับคำตอบจากเศรษฐีเช่นเดียวกัน  แต่ไม่มีใครขึ้นไปเอาบาตรลงมาได้  เศรษฐีจึงปรารภว่า ในโลกนี้เห็นจะไม่มีพระอรหันต์แน่

เช้ารุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะ กับพระปิณโฑลภารทวาชะ เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ทราบข่าวนั้น พระปิณโฑลภารทวาชะจึงบอกท่านพระโมคคัลลานะให้ขึ้นไปปลดเอาบาตรนั้นลงมา

พระโมคคัลลานะกล่าวว่า ท่านนั่นแหละขึ้นไปปลดเอาบาตรนั้นลงมา พระปิณโฑลภารทวาชะจึงเหาะขึ้นกลางอากาศ ถือเอาบาตรนั้นเหาะเวียนไปรอบกรุงราชคฤห์ ๓ รอบ

เศรษฐีพร้อมกับบุตรภรรยา ยืนอยู่ในเรือนของตน เห็นดังนั้นจึงประคองอัญชลีนมัสการ นิมนต์ให้มายังเรือนของตนเพื่อรับภัตตาหาร พระปิณโฑลภารทวาชะรับบาตรนั้นแล้วกลับไปสู่พระอาราม

ชาวบ้านที่ไม่ทันได้เห็นเหตุการณ์นั้น และพวกที่เห็นแล้วแต่อยากเห็นอีก ต่างร้องขอให้พระปิณโฑลภารทวาชะแสดงปาฏิหาริย์ให้ดูอีกครั้ง พากันติดตามพระปิณโฑลภารทวาชะไป บ้างก็โห่ร้องส่งเสียงอื้ออึงอึกทึกเกรียวกราว

พระผู้มีพระภาคเจ้าสดับเสียงนั้นจึงตรัสถามพระอานนท์ว่า เสียงอึกทึกเกรียวกราวนั้นเกิดจากสาเหตุใด พระอานนท์กราบทูลความให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์ ทรงติเตียนการกระทำนั้นว่าไม่เหมาะไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ที่จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่พวกคฤหัสถ์เพียงเพราะเหตุแห่งบาตรไม้จันทน์ การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของเหล่าชนที่ยังไม่เลื่อมใส

ครั้นแล้วจึงบัญญัติสิกขาบทแก่พระภิกษุทั้งหลาย ห้ามมิให้พระภิกษุแสดงปาฏิหาริย์ อันเป็นคุณวิเศษของพระอริยะแก่คฤหัสถ์  รูปใดแสดงต้องอาบัติทุกกฎ ทรงรับสั่งให้ทำลายบาตรไม้จันทน์แดงนั้น แล้วนำมาบดให้ละเอียด เพื่อใช้เป็นยาหยอดตาสำหรับพระภิกษุทั้งหลาย

ต่อมาพระภิกษุใช้บาตรต่างๆ ที่ทำด้วยทองคำ เงิน ทองแดง และแก้วมณี เป็นต้น ชาวบ้านต่างตำหนิติเตียนว่าไม่สมควร พระพุทธองค์จึงทรงห้ามให้ใช้บาตรดังกล่าว และอนุญาตให้ใช้บาตรได้  ๒ ชนิด คือ บาตรเหล็ก ๑ บาตรดิน ๑ และยังได้อนุญาตให้มีเชิงรองบาตรด้วย

            ธรรมเนียมการทำบาตรในเมืองไทย นิยมทำเป็น ๔ ส่วนเพราะถือคติที่พระพุทธเจ้าประสานบาตรทั้ง ๔ ใบของท้าวจาตุมหาราชเข้าเป็นบาตรใบเดียวกัน การทำบาตรในสมัยต่อมาจึงนิยมให้มีตะเข็บเป็นรอยต่อ  บางแห่งก็นิยมทำเป็น ๘ ส่วน โดยยึดอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นคติ

          อย่างไรก็ตาม การทำบาตรที่ถูกต้องตามคตินิยม  ไม่ใช่บาตรที่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งใบ  แต่จะต้องเป็นเสี่ยงๆ แล้วนำมาตีประสานเข้าเป็นใบเดียวกัน ซึ่งจะต้องใช้ความชำนาญอันเป็นทั้งศาตร์และศิลป์อย่างมาก แหล่งทำบาตรที่ขึ้นชื่อของเมืองไทยในปัจจุบัน มีอยู่ที่ชุมชนบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร

จีวร

จีวร คือ ผ้าสำหรับนุ่งห่ม เป็นบริขารจำเป็นที่พระภิกษุต้องมี หากไม่มีก็ไม่สามารถบวชได้  ผ้าที่ใช้เย็บจีวรนั้นประกอบด้วย  ผ้าทำด้วยเปลือกไม้  เช่น ผ้าลินิน  ผ้าทำด้วยฝ้าย   ผ้าทำด้วยใยไหม ผ้าทำด้วยขนสัตว์ (เว้นผมและขนมนุษย์)   ผ้าทำด้วยเปลือกป่าน (ผ้าชนิดนี้เป็นผ้าเนื้อสาก) ผ้าทำด้วยของ ๕  อย่างนั้นแต่อย่างใดอย่างหนึ่งปนกัน  เช่น ผ้าด้ายแกมไหม

ขนาดจีวรที่ใช้มีดังนี้   ผ้าสังฆาฏิยาวไม่เกิน  ๖  ศอก  กว้างไม่เกิน ๔  ศอก  ผ้าจีวรยาวไม่เกิน  ๖  ศอก  กว้างไม่เกิน  ๔  ศอก    ส่วนสบงยาวไม่เกิน  ๖  ศอก  กว้างไม่เกิน  ๒  ศอก

สีของจีวรนั้น ไม่ได้ระบุลงไปแน่นอนว่าเป็นสีอะไร เป็นเพียงระบุว่า ผ้ากาสาวพัสตร์ คือ ผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด

น้ำฝาดที่ใช้ย้อมจีวรนั้นเป็นน้ำฝาดจากต้นไม้ พระภิกษุสมัยพุทธกาลย้อมจีวรจากสีธรรมชาติ คือ สีที่เกิดจากน้ำฝาดของต้นไม้ ๖  อย่าง  คือ  สีน้ำฝาดจากรากหรือเง่า    สีน้ำฝาดจากต้นไม้    สีน้ำฝาดจากเปลือกไม้   สีน้ำฝาดจากใบไม้   สีน้ำฝาดดอกไม้   สีน้ำฝาดจากผลไม้    น้ำฝาดที่พระภิกษุใช้ย้อมจีวรเกิดจากต้นไม้ต่างชนิดย่อมทำให้สีจีวรต่างกัน  ฉะนั้น  สีจีวรที่ภิกษุใช้จึงหลากสีแตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ที่ใช้ย้อม

สีจีวรที่พระภิกษุใช้อยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นสีที่ย้อมจากสีสังเคราะห์ จึงสามารถควบคุมให้จีวรออกเป็นสีเดียวกันได้ และ  ผ้าที่พระภิกษุนิยมใช้ในปัจจุบันมี ๓ สี คือ

· สีเหลืองหม่น  เป็นสีที่ภิกษุใช้มาแต่เดิม ปัจจุบันเรียก สีเหลืองทอง  

· สีเหลืองเจือแดงเข้ม  ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว   จะมีใช้ก็พระสงฆ์ทางเหนือของประเทศไทย  และพระสงฆ์ในพม่า

· สีกรัก

 • สีแก่นขนุน

• สีพระราชนิยม เป็นสีที่พระสงฆ์ใช้เป็นสีเดียวกันเวลาเข้าวังเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเจริญพระราชศรัทธาของพระมหากษัตริย์

บางวัดได้กำหนดให้พระภิกษุใช้จีวรสีเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยแห่งหมู่คณะ และนำมาซึ่งความน่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น

สำหรับผ้าที่พระภิกษุใช้อยู่ในประเทศไทย ในปัจจุบันมีดังนี้

·  สังฆาฏิ คือ ผ้าสำหรับห่มซ้อนป้องกันความหนาวในฤดูหนาว ปัจจุบันพระภิกษุใช้พับเป็นผ้าพาดหรือทาบลงบนไหล่ซ้าย  เมื่อถึงฤดูหนาวสามารถคลี่ออกมาห่มซ้อนทับจีวรได้

·  จีวร  คือ ผ้าสำหรับห่ม เรียกตามบาลีว่า ผ้าอุตตราสงค์

· สบง คือ ผ้าสำหรับนุ่งปกปิดกายส่วนล่าง เรียกตามภาษาบาลีว่า ผ้าอันตรสวาสก  

·  ประคดเอว ผ้าสำหรับรัดสบง  

·  อังสะ    ผ้าใส่เฉียงบ่าปกปิดกายส่วนบนใช้คู่กับสบง

· ประคดอก หรือผ้ารัดอก ผ้าสำหรับรัดอกเวลาห่มจีวร เพื่อต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อยและรัดกุม โดยทั่วไปเรียก ห่มดอง

(๗) ผ้ากราบ  ผ้าสำหรับใช้รองกราบ ปัจจุบันพระภิกษุ ใช้เป็นผ้ารับประเคนสิ่งของจากสุภาพสตรี

เล่าเรื่อง ประวัติการออกแบบจีวร

จีวร คือ ผ้าสำหรับนุ่งห่มของพระภิกษุ  ผ้าสมัยก่อนหาได้ยากพระภิกษุต้องเก็บเศษผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยที่ตกอยู่ตามพื้นดิน เปื้อนฝุ่นไม่สะอาด ไม่สวยไม่งาม  แม้กระทั่งผ้าห่อศพที่ทิ้งเรี่ยรายอยู่ตามป่าช้านำมาเย็บต่อกันเป็นผืน หรือเนา ปะ ชุน ซัก ย้อมแล้วใช้นุ่งห่ม   

จีวรที่ผ่านกรรมวิธีนี้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า  ผ้าบังสุกุลจีวร แปลว่า  ผ้าเปื้อนฝุ่น หรือ ผ้าบังสุกุล  ต่อเมื่อมีผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น  เห็นความลำบากของพระภิกษุจึงถวายผ้าสำหรับเย็บจีวรนุ่งห่ม

 ต่อมา เมื่อมีผู้เข้าใจวิธีการตัดเย็บจีวร  จึงได้ตัดเย็บจีวรสำเร็จรูปถวายพระสงฆ์  จึงเกิดคหบดีจีวร (๔) ตามมา

จีวรสมัยต้นพุทธกาลนั้นยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน  เพียงแต่ระบุว่าพระภิกษุอาศัยเก็บผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยที่เขาทิ้งตามย่านตลาด หรือผ้าที่เขาใช้ห่อศพตามป่าช้านำมาเย็บต่อกันเข้าเป็นผืนแล้วใช้นุ่งห่ม  ลักษณะจีวรจึงเป็นรอยตะเข็บปะติดกันเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ไม่มีรูปแบบ

ครั้นต่อมา   พระพุทธเจ้าให้พระอานนท์เป็นผู้ออกแบบจีวร  โดยอาศัยคันนาของชาวบ้านเป็นแบบในการออกแบบ  ประวัติการออกแบบจีวรมีดังนี้

คราวหนึ่ง  พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในทักขิณาคิรีชนบท  ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวแคว้นมคธ   ทรงรับสั่งเป็นเชิงปรารภกับพระอานนท์ว่า  อานนท์ เธอสามารถที่จะออกแบบจีวรให้มีลักษณะคล้ายคันนาอย่างนี้ได้ไหม    

 พระอานนท์เถระ ซึ่งตามเสด็จมาข้างหลังพระพุทธเจ้า ได้พินิจพิจารณาลักษณะผืนนา  เพราะความเป็นผู้ฉลาดในการออกแบบ จึงเกิดความคิดขึ้นมาในขณะนั้น  ได้ทูลว่า  “สามารถทำได้ พระพุทธเจ้าข้า”  เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงสู่กรุงราชคฤห์แล้ว  พระอานนท์เถระจึงได้เริ่มลงมือออกแบบจีวรตามที่คิดไว้ แล้วนำไปถวายพระศาสดา  

พระศาสดาทอดพระเนตรแล้ว ทรงพอพระทัย เมื่อจะทรงสรรเสริญพระอานนท์เถระ  จึงเรียกพระภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า   ภิกษุทั้งหลาย   อานนท์เป็นบัณฑิต  อานนท์มีปัญญามาก   เข้าใจจุดประสงค์ที่เราตถาคตกล่าวแต่เพียงสังเขปให้พิสดารได้  คือ สามารถทำกุสิบ้าง   คีเวยยกะบ้าง   ชังเฆยยกะบ้าง   พาหันตะบ้าง 

จีวรที่ถูกตัดออกเป็นส่วนๆ เช่นนั้น  ย่อมหมดราคา เป็นของสมควรแก่สมณะ  และพวกโจรก็ไม่มีความต้องการ   เราอนุญาตให้ภิกษุใช้สังฆาฏิตัด   อุตตราสงค์ตัด  อันตรวาสกตัด”

ต่อมาภายหลัง  สังฆาฏิ จีวร สบง  จึงมีรอยตัดเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่  ตามจีวรที่พระอานนท์ออกแบบ  เรียกว่า กระทง ซึ่งกระทงหนึ่งๆ มีชื่อ ดังนี้

๑.  อัฑฒมณฑลคีเวยยกะ

๒.  มณฑลวิวัฏฏะ

๓.  อัฑฒมณฑลชังเฆยยกะ

๔.  มณฑลอนุวิวัฏฏะ

๕.  อัฑฒมณฑลพาหันตะ

๖.  มณฑลอนุวิวัฏฏะ

๗.  อัฑฒกุสิ

๘.  กุสิ

๙.  อนุวาต

๑๐. รังดุม

๑๑. ลูกดุม 

การที่พระพุทธองค์อนุญาตให้พระภิกษุใช้จีวรที่ถูกตัดออกเป็นส่วนๆ เช่นนั้น  เพราะผ้าที่ถูกตัดเป็นท่อนเช่นนี้เป็นเหมือนเศษผ้า เป็นของไม่มีราคา ไม่เป็นที่ล่อตาของพวกโจร เป็นของหมดค่าพวกโจรก็ไม่มีความต้องการ   เนื่องจากเอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้  ขายก็ไม่ได้ราคา เมื่อโจรไม่ต้องการก็ไม่เกิดอันตราย  นอกจากนั้น  ยังทำให้ภิกษุไม่ติดในความสวยงามของผ้าที่ใช้นุ่งห่ม

ความเข้าใจเรื่อง การครองจีวร (ห่มผ้า)

ธรรมเนียมการครองจีวรที่พระสงฆ์ไทยใช้อยู่ในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธี  แตกต่างกันไปตามธรรมเนียมนิยมของท้องถิ่นนั้นๆ  ธรรมเนียมการครองจีวรของพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  หากเป็นพิธีกรรมที่ต้องการความเป็นระเบียบ นิยมห่มดอง ทาบสังฆาฏิ รัดอกให้เรียบร้อย   ห่มเฉียงพาดลูกบวบ นิยมบิดลูกบวบ[๕]มาทางด้านขวามือ  ห่มคลุมหนีบลูกบวบและบิดลูกบวบมาทางด้านขวามือ   ดังปรากฏในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนว่า

       “ฝ่ายพระสงฆ์ห่มดองครองผ้า   เสร็จแล้วลงมาศาลาใหญ่

       เถรเณรนั่งจัดถัดกันไป           สัปบุรุษกราบไหว้ด้วยยินดี

บทเสภาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า  ธรรมเนียมการครองจีวรมาแต่เดิมของพระสงฆ์ไทยนั้น  หากเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญก็จะต้อง “ห่มดองครองผ้า” ให้เรียบร้อย

พิจารณาตามนี้ การครองจีวรของพระสงฆ์ไทยแบบเดิมที่มีมาแต่กรุงศรีอยุธยาจึงมี  ๓ วิธี   คือ 

(๑) ห่มดอง     ห่มจีวรที่พับไว้เป็นกลีบ เปิดไหล่ขวาซ้อนสังฆาฏิ รัดอกให้เรียบร้อย ใช้ห่มในงานที่เป็นสังฆกรรม การบวชนาค  การรับกฐิน พิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธี ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ   เช่น  การไหว้พระสวดมนต์ และ การทำวัตรเช้า-เย็น เป็นต้น

นอกจากนั้น  การห่มดองในพิธีกรรม  ยังถือว่าเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าภาพที่ประกอบพิธีนั้นๆ ด้วย 

(๒) ห่มเฉียง    ห่มจีวรด้วยการบิดลูกบวบ (เกลียวผ้า) ไปทางด้านขวามือ พาดลูกบวบ (เกลียวผ้า) บ่นไหล่ซ้าย เปิดไหล่ขวา ใช้ห่มเวลาฉันเช้า เพล และเวลาอยู่ในวัด หรือ ต้อนรับญาติโยมในกรณีที่ไม่เป็นพิธีกรรมที่เป็นทางการ

(๓) ห่มคลุม บิดลูกบวบ (เกลียวผ้า) ไปทางด้านขวามือ ห่มคลุมปิดไหล่ทั้งสองข้าง หนีบลูกบวบ (เกลียวผ้า) ที่รักแร้ซ้าย    ใช้ห่มเวลาบิณฑบาต และเมื่อออกไปนอกวัด

ธรรมเนียมการห่มจีวรแบบพระพม่ารามัญ

นอกจากนั้น   ยังมีวิธีที่นำแบบมาจากพระพม่ารามัญ  เป็นที่นิยมกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา มี ๓ แบบ คือ

(๑) ห่มเฉียง    บิดลูกบวบ (เกลียวผ้า) ไปทางด้านซ้ายมือ พาดลูกบวบ (เกลียวผ้า) บนไหล่ซ้าย เปิดไหล่ขวา ซ้อนสังฆาฏิที่ไหล่ซ้าย รัดอกให้เรียบร้อย ใช้ห่มในงานที่เป็นสังฆกรรม การบวชนาค  การรับกฐิน ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ   เช่น  การทำวัตรเช้า-เย็น การไหว้พระสวดมนต์  เป็นต้น

(๒) ห่มเฉียง    บิดลูกบวบ (เกลียวผ้า) ไปทางด้านซ้ายมือ พาดลูกบวบ (เกลียวผ้า) เปิดไหล่ขวา ไม่ต้องซ้อนสังฆาฏิ ใช้ห่มเวลาฉันเช้า เพล และเวลาอยู่ในวัด หรือ ต้อนรับญาติโยมในกรณีที่ไม่เป็นพิธี

(๓) ห่มคลุม  บิดลูกบวบ (เกลียวผ้า) ไปทางด้านซ้ายมือ พาดลูกบวบ (เกลียวผ้า) ใช้ห่มเวลาบิณฑบาต และเมื่อออกไปข้างนอกวัด  ห่มชนิดนี้สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่า  ห่มแหวก  คือ เอามือแหวกเกลียวผ้าออกมา

ธรรมเนียมการห่มจีวรในพระราชอาณาจักรสยาม

เดิมที่เดียว พระสงฆ์สมัยกรุงศรีอยุธยาคงจะห่มผ้าแบบเดียวกันกับพระพม่ารามัญ ลาว และเขมร เพราะทั้งพม่า ไทย ลาว  เขมร ต่างก็ได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนามาจากประเทศศรีลังกา  

แต่เนื่องจากปัจจัยด้านสงครามสมัยอยุธยาระหว่างพม่ากับไทย  ทำให้พม่าชอบใช้กุศโลบาย โดยให้ทหารปลอมแปลงเป็นพระภิกษุเข้ามาแอบแฝงอยู่กับพระสงฆ์ไทย เพื่อสืบราชการข้างฝ่ายกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระสงฆ์ไทยสมัยอยุธยาต้องคิดแบบการครองจีวรที่ใช้เฉพาะพระสงฆ์ในพระนครกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่  เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างพระสงฆ์ในราชอาณาจักร กับพระสงฆ์นอกราชอาณาจักร

เวลาห่มเฉียงอยู่ในวัดเปิดไหล่ขวา แทนที่จะบิดลูกบวบ(เกลียวผ้า)ไปทางด้านซ้ายมือแบบเดิม ก็บิดเกลียวผ้าไปด้านขวามือ

 เวลาห่มคลุมออกนอกวัด  แทนที่จะพาดลูกบวบ(เกลียวผ้า)บ่นไหลซ้าย ก็หนีบลูกบวบที่รักแร้ซ้ายแทน

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา คือ พระสงฆ์ต้องโกนคิ้วเพื่อให้มีความแตกต่างระหว่างพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์พม่ารามัญ   และใช้เป็นธรรมเนียมเฉพาะพระสงฆ์ไทย ปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์   

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นในประเทศไทย  ได้นำวิธีครองจีวรแบบพระพม่ารามัญกลับมาใช้อีกครั้ง  คณะสงฆ์ธรรมยุตคงรักษาธรรมเนียมพระสงฆ์สมัยอยุธยาไว้เฉพาะการโกนคิ้ว ดังที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงปรารภเมื่อครั้งที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชเป็นภิกษุแล้วได้ตั้งธรรมยุตินิกายขึ้น  และได้ตัดสินใจเปลี่ยนวิธีห่มจีวรใหม่ตามแบบพระพม่ารามัญที่ เรียกว่า  “ห่มแหวก

            เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเข้าไปสวดมนต์ในพระราชวัง เห็นสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วไม่ตรัสว่าอะไรก็คิดว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นชอบกับวิธีการห่มแหวกแบบพระพม่ารามัญ   จึงห่มแบบนี้เรื่อยมาและแพร่หลายในคณะสงฆ์ธรรมยุติ

            ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๓ ประชวรหนัก ทรงคิดว่าจะเสร็จสวรรคตแน่แล้ว  แต่ก็ยังทรงวิตกเกี่ยวกับเรื่องการพระศาสนาอยู่ อยากให้พระสงฆ์ห่มผ้าแบบอยุธยาที่มีมาแต่เดิมกันทุกรูป จึงมีพระลายลักษณ์อักษรถึงกรมขุนเดชอดิศร หรือพระองค์เจ้ามั่ง ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๒ ด้วยกัน  ขอให้ช่วยแก้ปัญหา

            จดหมายกระแสพระราชโองการฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่   ๓   ทรงให้พระเจ้าลูกเธอ  พระองค์เจ้าอรรณพเขียนเมื่อ วันอังคาร เดือนสาม แรมสองค่ำ ปีจอ โทศก ขณะที่พระองค์ประชวรหนัก  และกรมขุนเดชอดิศร หรือพระองค์เจ้าชายมั่ง พระอนุชา ได้นำไปถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ซึ่งเป็นพระญาติผู้ใหญ่ผนวชอยู่ที่วัดโพธิ์  และเป็นที่เคารพศรัทธาของเจ้านายผู้ใหญ่มากมาย  ในสมัยนั้น ดังมีข้อความว่า

            พ่อมั่งขา พ่อจงเป็นเชฏฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วาระน้ำจิตต์และอธิบายของข้าผู้พี่ อันขันธะทุพพลภาพมากอยู่แล้ว ด้วยแผ่นดินศรีอยุธยา ทรงพระเจ้าแผ่นดินมาสองพระองค์แล้ว กับพี่ด้วยอีกคนหนึ่งเป็นสาม ตั้งแต่แผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อม

          “สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ท่านได้ปราบดาภิเษก ปีขาลนั้นมาได้ห้าปี ถึงปีมะแมพี่จึงเกิด ตั้งแต่จำความได้มา จนอายุได้ยี่สิบสองปี ได้บวชในแผ่นดินนั้น ต่ออายุได้ยี่สิบสามปี จึงสิ้นแผ่นดินไป มาเป็นแผ่นดินของล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีกสิบหกปี

          “จึงมาเป็นแผ่นดินของพี่ พระภิกษุผู้เป็นสงฆรัตน์ใน

กรุงศรีอยุธยา ก็เห็นนุ่งสบงทรงจีวรเป็นลูกบวบทั้งสิ้นด้วยกัน

            “แต่พระม่ารามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่นั้น และเห็นครองผ้าผิดกับภิกษุของเรา จึงเรียกกันว่าพระมอญ เดี๋ยวนี้พระไทยก็ห่มผ้าเป็นมอญ โดยอัตตโนมัติ

            “ปัญหาของพี่เห็นว่าถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสร็จอยู่ ก็เห็นจะให้ประชุมพระราชาคณะ ได้ว่ากล่าวกันให้เห็นว่าควรไม่ควรนายอยู่แล้ว นี่พี่กลัวจะเป็นบาปเป็นบุญ เป็นคุณเป็นโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไป จึงมิได้กล่าวแต่ใจนั้นรักแต่อย่างบุราณอย่างเดียวนั้นและ

            “สืบไปเบื้องหน้า พระภิกษุไทยซึ่งห่มผ้าเป็นมอญนั้นสูญไป พี่เห็นว่าจะควรกับศรีอยุธยา ก็ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอีกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ผู้ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่าเป็นเมืองมอญเมืองพม่าไปเสียมาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น

            “นี่แลเป็นความวิตกของพี่มากนักหนา ให้พ่อเห็นแก่พี่ ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เธอเป็นบรมญาติอันใหญ่ ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัสตร์ทั้งรู้พระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก  แล้วก็เป็นพระภิกษุศรีอยุธยา

            “พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่ง ให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอจะรับเอาไว้ครองได้ ก็ให้ถวายเถิด ถ้าเธอจะมิรับไว้ครองแล้ว ก็ให้เอาคืนมาเสีย

            ภายหลัง  เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ทราบข้อวิตกของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๓ จึงให้พระสงฆ์ในคณะธรรมยุตกลับมาครองจีวรแบบพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่กรุงศรีอยุธยา  ครั้นต่อมา  เมื่อพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎลาสิกขา ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๔  คณะสงฆ์ธรรมยุตได้กลับไปห่มจีวรแบบพระสงฆ์พม่ารามัญเช่นเดิม

            จนมาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ปกครองคณะสงฆ์  ได้มีคำสั่งให้พระสงฆ์ทั่วสังฆมณฑลห่มแหวกตามแบบพระพม่ารามัญ  จึงทำให้วัดทั่วไปต้องห่มแหวกตามอย่างคณะสงฆ์ธรรมยุต เป็นผลทำให้พระสงฆ์ทั้งธรรมยุตและมหานิกายห่มแหวกทั่วราชอาณาจักรไทย

แต่อย่างไรก็ตาม  ยังมีวัดใหญ่ๆ บางวัดที่มีระเบียบแบบแผนมั่นคง ประพฤติตามธรรมเนียมของบุรพาจารย์มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ยังคงห่มจีวรแบบพระสงฆ์เมื่อครั้งกรุงเก่าตราบจนปัจจุบัน

รองเท้าที่ทรงอนุญาต

รองเท้าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้สำหรับพระภิกษุผู้มีฝ่าเท้าบาง เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกัน บางแห่งก็ชื้นแฉะสกปรก บางแห่งก็แข็งขรุขระด้วยกรวดทรายแหลมคม  ทำให้เกิดความลำบากในการเดินทาง พระภิกษุมีเท้าบางเหยียบพื้นแข็งไม่ได้  เมื่อเหยียบพื้นแข็งแล้วเจ็บ  ในฤดูร้อนพื้นร้อน  เดินเหยียบแล้วเท้าพอง  ในฤดูฝนพื้นชื้นแฉะไม่สะอาด ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสวมรองเท้าเข้าบ้านเข้าวัดได้ พระภิกษุอาพาธเป็นโรคกษัย  ทรงอนุญาตให้สวมรองเท้าเพื่อกันเท้าเย็นได้   

นอกจากนั้น ในสมัยปัจจุบัน  การไม่สวมรองเท้า แล้วเดินเข้าไปในบ้านเรือนผู้คนถือว่าไม่เหมาะสม  เพราะกลัวบ้านสกปรกเนื่องจากสภาพบ้านเมืองไม่สะอาด สกปรก มีเชื้อโรคมาก ตามถนนหนทางเต็มไปด้วยเศษแก้ว เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 

การที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสวมรองเท้าได้  ก็ด้วยทรงคำนึงถึงสุขภาพอนามัยของพระภิกษุเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญ  ส่วนพระภิกษุใดจะไม่สวมก็ได้  ไม่มีข้อห้ามไม่ให้สวมรองเท้า รองเท้าที่ทรงอนุญาตไว้มี ๒  ชนิด  คือ

๑.  ปาทุกา  เขียงเท้า (รองเท้า)

๒. อุปาหนา  รองเท้าไม่มีส้น

น้ำปานะ 

น้ำปานะ  คือ  น้ำสำหรับดื่มที่คั้นออกจากผลไม้  ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้ฉันได้หลังเที่ยง  จุดประสงค์ที่ทรงอนุญาตให้ฉันน้ำปานะหลังเที่ยงได้ ก็เพื่อให้ช่วยลดเวทนาคือความหิวลงได้บ้าง  จะได้มีกำลังในการบำเพ็ญสมณธรรม ผลไม้ที่ทรงอนุญาตให้ทำน้ำปานะคราวแรกมี  ๘  ชนิด  เรียกว่า อัฐบาน คือ

๑.  น้ำมะม่วง

๒.  น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า

๓.  น้ำกล้วยมีเม็ด

๔.  น้ำกล้วยไม่มีเม็ด

๕.  น้ำมะซาง 

๖.  น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น

๗.  น้ำเง่าอุบล 

๘.  น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ 

ต่อมาทรงอนุญาตเพิ่มเติ่มเข้ามาอีก คือ น้ำอ้อยสด น้ำผลไม้ทุกชนิด  เว้นน้ำมหาผล และน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก  น้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง นอกจากนั้น ยังอนุญาตนำปานะที่ทำจากเหง้า เช่น น้ำเหง้าบัว เป็นต้น

การที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตน้ำปานะเพิ่มในภายหลังเนื่องจากแต่ละท้องถิ่นมีพันธุ์ไม้ที่แตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศที่แตกต่าง บางท้องถิ่นไม่มีผลไม้ที่ระบุให้ทำน้ำปานะ  แต่ก็มีผลไม้อีกชนิดอื่น  จึงทรงอนุญาตเพิ่มเติมภายหลัง

อีกอย่างหนึ่ง คำว่า มหาผล แปลว่า ผลไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นผลไม้ที่ทำน้ำปานะไม่ได้นั้น  ท่านไม่ได้ระบุขนาดไว้ว่าลูกใหญ่ขนาดไหน  เพียงแต่ระบุว่าผลไม้ใหญ่

บางท่านตีความว่า  ผลไม้ลูกใหญ่กว่ากำมือทำน้ำปานะไม่ได้  เช่น ส้มโอ  มะพร้าว  แตงโม สับปะรด เป็นต้น   แต่นั่นก็เป็นการสันนิษฐานเอาตามความเห็น  เพราะไม่มีการระบุไว้เช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นการยากที่จะลงความเห็นได้ว่า ผลไม้ขนาดไหนจึงชื่อว่าเป็นผลไม้ใหญ่  หากถือเอากำมือเป็นข้อกำหนดขนาดของผลไม้ใหญ่  มะม่วงและฝรั่งบางพันธุ์ก็ใหญ่กว่ากำมือ   บางท่านไม่ได้ถือตามนี้ แต่ถือเอาข้อความตามที่ระบุว่าผลไม้ทุกชนิดทำน้ำปานะได้เป็นข้อยุติ   ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาควรพิจารณาและปฏิบัติตามความเหมาะสม

เล่าเรื่อง ประวัติของน้ำปานะ

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ พระเจ้าพิมพิสารได้สดับดังนั้น จึงเข้าไปทูลถามว่า พระองค์ทรงห้ามมิให้พระภิกษุแสดงปาฏิหาริย์ แล้วเหตุใดจึงจักแสดงด้วยพระองค์เอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า พระองค์ห้ามพระภิกษุแต่มิได้ห้ามพระองค์เอง เหมือนพระเจ้าแผ่นดินห้ามประชาชนกินผลไม้ในอุทยาน แต่ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินจะเสวยผลไม้ในอุทยานนั้นไม่ได้

พระเจ้าพิมพิสารทูลถามถึงเวลาที่จะทรงทำยมกปาฏิหาริย์   พระบรมศาสดาตรัสว่า ในวันเพ็ญเดือน ๘ สี่เดือนต่อจากนี้ไป

พระเจ้าพิมพิสารทูลถามอีกว่า  พระองค์จักทรงแสดงที่ไหน  พระเจ้าข้า พระบรมศาสดาตรัสว่า  แสดงที่กรุงสาวัตถี

เหล่าเดียรถีย์นักบวชต่างลัทธิได้ฟังข่าวว่า ๔ เดือนต่อจากนี้ไป พระพุทธองค์จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่กรุงสาวัตถี จึงบอกแก่มหาชนว่า เราก็จักแสดงปาฏิหาริย์เช่นกัน จึงชักชวนอุปัฏฐากบริจาคทรัพย์ได้แสนหนึ่ง  แล้วให้สร้างมณฑปขึ้นที่ชานกรุงสาวัตถี  ประกาศว่าพวกเราจักแสดงปาฏิหาริย์เช่นกัน

ต่อมา พวกเดียรถีย์ทราบความว่า  พระบรมศาสดาจักแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่โคนต้นมะม่วง  จึงสั่งการให้พวกศิษย์ของตนโค่นต้นมะม่วงรอบกรุงสาวัตถีทิ้งให้หมด  แม้กระทั่งต้นที่เพิ่งงอกในวันนั้น เว้นแต่ในพระราชอุทยานอันเป็นเขตหวงห้ามของพระเจ้าแผ่นดิน

ในวันเพ็ญเดือน ๘ พระบรมศาสดาเสด็จไปยังกรุงสาวัตถี ผู้รักษาอุทยานของพระเจ้าแผ่นดิน ชื่อคัณฑะ เห็นมะม่วงสุกผลใหญ่ผลหนึ่งอยู่บนต้นมะม่วงในพระราชอุทยาน  จึงไล่มดดำมดแดงและบรรดานกที่มาชุมนุมเพราะกลิ่นของมะม่วงให้หนีไปแล้วเก็บผลมะม่วงนั้น  ขณะกำลังเดินทางเข้าเมือง เพื่อนำมะม่วงสุกไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล  นายคัณฑะได้พบพระบรมศาสดาในระหว่างทาง นายคัณฑะคิดว่าหากเราถวายมะม่วงผลนี้แก่พระราชา พระองค์ก็คงจะพระราชทานกหาปณะแก่เราเพียง ๘ หรือ ๑๖ กหาปณะ กหาปณะที่พระราชทานมานั้น อย่างมากก็พอแก่การเลี้ยงชีพในชาติหนึ่ง  แต่หากถวายมะม่วงผลนี้แก่พระบรมศาสดา ก็จะทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาล นายคัณฑะจึงน้อมถวายมะม่วงผลนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจถูกลงโทษถึงชีวิต หรือไม่ก็อาจถูกเนรเทศออกจากเมือง

พระบรมศาสดาทรงรับบาตรจากพระอานนท์ โน้มบาตรเข้าไปรับผลมะม่วง  และแสดงอาการจะประทับนั่ง ในขณะที่นายคัณฑะยังมองเห็น พระอานนท์จึงปูอาสนะถวาย เมื่อพระองค์ประทับนั่งแล้ว พระอานนท์จึงกรองน้ำ ขยำมะม่วงสุกผลนั้นทำเป็นน้ำปานะถวาย  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยน้ำปานะนั้นแล้ว ตรัสบอกให้นายคัณฑะขุดหลุมปลูกเมล็ดมะม่วงนั้น

พระบรมศาสดาทรงล้างพระหัตถ์ลงในหลุมเมล็ดมะม่วง ทันใดนั้น ต้นมะม่วงก็งอกขึ้นมาและเจริญเติบโต แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปทันที มะม่วงต้นนั้นออกดอกออกผลดกหนาไปด้วยผลที่ยังดิบและผลที่สุกงอมแล้ว เหล่าพระภิกษุผู้ตามเสด็จ ก็ยังได้ฉันน้ำปานะที่ทำจากผลมะม่วงสุกนั้นเช่นกัน

พระราชาทรงสดับข่าวการเกิดขึ้นของต้นมะม่วงอย่างอัศจรรย์นี้จึงสั่งตั้งกองอารักขา ตรัสห้ามมิให้ผู้ใดทำลาย และมะม่วงต้นนั้นจึงได้นามว่า คัณฑามพฤกษ์ ตามนามของนายคัณฑะผู้ปลูก

มหาปเทส ๔

หลักอ้างอิงการสันนิษฐานพระวินัยในปัจจุบัน

           มหาปเทส   แปลว่า  หลักอ้างอิงใหญ่   เป็นหลักการอย่างกว้างๆ  ที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้  เพื่อให้พระภิกษุใช้เป็นหลักอ้างอิงในการตรวจสอบการปฏิบัติต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตว่าถูกต้องตามพระวินัยหรือไม่   พระภิกษุสงฆ์จะได้ปฏิบัติไม่ขัดกับพระธรรมวินัย ในขณะเดียวกันก็จะปฏิบัติไม่ขัดกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตด้วย   เนื่องจากบางท้องถิ่นมีของสิ่งหนึ่ง  แต่ไม่มีของอีกสิ่งหนึ่ง  หรือยุคสมัยหนึ่งของสิ่งหนึ่งมี  แต่ไม่มีของอีกสิ่งหนึ่ง

พระพุทธองค์จึงตรัสหลักอ้างอิงสำหรับตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต และท้องถิ่นนั้นๆ ไว้  ๔  ประการ  คือ

            ๑.  สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร  แต่เข้ากันกับสิ่งไม่ควร  ขัดกันต่อสิ่งที่ควร   สิ่งนั้นไม่ควร

๒.  สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร  แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร ขัดกันต่อสิ่งที่ควร  สิ่งนั้นควร

           ๓.  สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร   แต่เข้ากันกับสิ่งไม่ควร  ขัดกันต่อสิ่งที่ควร   สิ่งนั้นไม่ควร

๔.  สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร  แต่เข้ากันกับสิ่งควร  ขัดกันต่อสิ่งที่ไม่ควร   สิ่งนั้นควร

การปรับใช้มหาปเทส

สิ่งที่ไม่ได้ทรงห้ามไว้ไม่ควร  เช่น  ฝิ่น  ไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร  เพราะในครั้งพุทธกาลยังไม่รู้จักใช้ฝิ่น   แต่รู้จักใช้สุรา   และในครั้งพุทธกาลสุราเป็นของที่ทรงห้ามไว้  ฝิ่นไม่ได้ทรงห้ามไว้  แต่ทั้งสุราและฝิ่น  เป็นของทำลายประสาทให้มึนเมา  ฝิ่นจึงเป็นของไม่ควร  

สิ่งที่ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร  เช่น สุราแม้เป็นของที่ทรง

ห้าม  แต่ถ้าสุราใช้ปรุงอาหารเพื่อแก้คาวหรือให้มีรสชาติดีขึ้น  มุ่งประโยชน์อย่างอื่นมิใช่มุ่งให้มึนเมา ทรงอนุญาตไว้ว่าควร  แต่ฝิ่นสำหรับประกอบยาแก้โรค  ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่ก็เข้ากันได้กับสุราที่ประกอบอาหาร  ฝิ่นที่ประกอบยารักษาโรคจึงเป็นสิ่งที่ควร เพราะไม่ใช่เป็นของสำหรับเสพให้มึนเมาในฐานะเป็นสิ่งเสพติด

            มะนาว  มะขาม ผลลูกจันทน์ และพืชชนิดอื่นที่มีรสเปรี้ยว ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร  แต่ให้รสเปรี้ยวอย่างมะขามป้อม และสมอที่ทรงอนุญาตไว้ให้ฉันหลังเที่ยง   มะนาว  มะขาม ผลลูกจันทร์ และพืชชนิดอื่นที่มีรสเปรี้ยวอย่างมะขามป้อมและสมอก็เป็นสิ่งที่ควร

ทรงอนุญาตน้ำผึ้ง  น้ำอ้อยไว้ว่าเป็นสิ่งที่ควรฉันหลังเที่ยง  แต่น้ำหวานที่ออกจากพืชชนิดอื่น เช่น รสหวานจากน้ำตาลที่ออกจากลูกตาล น้ำมะพร้าวที่เกิดโดยธรรมชาติ น้ำหวานที่เกิดจากการสังเคราะห์  ช็อคโกแลต ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้  เป็นของมีรสหวานสำเร็จประโยชน์เช่นเดียวกับน้ำผึ้ง น้ำอ้อย  จึงเข้ากันได้กับรสหวานแห่งน้ำผึ้งและน้ำอ้อย  รสหวานอย่างอื่นที่สงเคราะห์เข้ากับน้ำอ้อยได้และให้ประโยชน์อย่างน้ำผึ้งน้ำอ้อยก็ควรเช่นกัน  

น้ำอ้อยนั้นรับประเคนแล้วทรงห้ามไม่ให้เก็บไว้ฉันเกิน  ๗  วัน  พ้นกำหนดนั้นแล้วเป็นของไม่ควร   ต้องประเคนใหม่ เพื่อตรวจสอบว่าของนั้นไม่เสียแล้ว  รสหวานอย่างอื่น  ก็นับว่าเป็นของไม่ควรเหมือนกัน

เงิน คือ ปัจจัย และการปรับใช้มหาปเทส

สำหรับพระสงฆ์ในปัจจุบัน

สำหรับสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับชาวพุทธอีกเรื่องหนึ่ง คือ บางคนไม่กล้าถวายเงินแด่พระสงฆ์เพราะกลัวบาป เนื่องจากกลัวว่าจะทำให้พระภิกษุผิดวินัย

ในพระวินัยระบุว่า ห้ามพระภิกษุรับเงินและทอง  ห้ามให้ผู้อื่นรับเงินและทองเพื่อตน  และห้ามยินดีในเงินและทองที่เขารับไว้เพื่อตน  โดยนัยนี้  แม้ไม่ได้รับด้วยมือของตน  เพียงรู้ว่าเขาถวายไว้กับคนอื่นเกิดความยินดีก็ไม่พ้นอาบัติ  

ในปัจจุบันแม้จะมีผู้คิดแบบใบปวารณาบัตรขึ้นมาใช้แทนเงิน (รวมเหรียญ และธนบัตรด้วย)  ถึงอย่างไรก็ไม่พ้นอาบัติอยู่ดี  เพราะใบปวารณาบัตรก็ตีค่าเท่าจำนวนเงินที่ระบุไว้ในใบปวารณา  เช่น ใบปวารณาบัตร มีค่าเป็นจำนวน ๑,๐๐๐ บาท  ซึ่งก็มีค่าเท่ากับธนบัตรจำนวน ๑,๐๐๐ บาท  แท้จริง ใบปวารณาบัตรก็เป็นกระดาษแผ่นหนึ่ง แม้ธนบัตรก็เป็นกระดาษแผ่นหนึ่ง  แต่ทั้งสองมีค่าตามจำนวนเงินที่ระบุไว้   พระภิกษุรับเอง  ใช้ให้ผู้อื่นรับเพื่อตนและยินดีในจำนวนเงินที่เขารับให้ก็ไม่พ้นอาบัติ

การปรับใช้มหาปเทสเกี่ยวกับเงินจึงมีความจำเป็นสำหรับพระสงฆ์ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเงินเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของพระภิกษุ โดยเฉพาะสังคมที่ขยายเป็นเมือง  และเมืองขยายการติดต่อระหว่างประเทศ จากประเทศครอบคลุมทั่วโลก  พระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบันไม่ได้อยู่เพียงบ้าน  ตำบล อำเภอ หรือจังหวัดเท่านั้น  แต่ครอบคลุมจากประเทศสู่ทวีป  จากทวีปสู่โลก

บางท้องถิ่นและบางยุคสมัย เงินไม่มีความจำเป็นสำหรับพระสงฆ์ เนื่องจากสังคมไม่สลับซับซ้อน  พระภิกษุดำรงชีวิตอยู่กับสังคมชาวบ้าน  เงินก็ไม่มีความจำเป็นกับการดำรงชีวิต

แต่ปัจจุบันรูปแบบสังคมเปลี่ยนไป ทัศนคติในการใช้เงินของพระสงฆ์ได้เปลี่ยนไป สิ่งใดก็ตามที่เป็นการแลกเปลี่ยนด้วยราคา ไม่ได้ยกเว้นว่าเป็นพระภิกษุสามเณร เช่น สมัยก่อนพระภิกษุเดินทางโดยเรือ  ม้า และช้างซึ่งเป็นพาหนะของคนในยุคสมัยนั้น   สมัยปัจจุบันคนเลิกใช้พาหนะดังกล่าวในการเดินทาง โดยมีพาหนะอย่างใหม่เข้ามาแทนที่ คือ รถยนต์ เครื่องบิน (พระภิกษุเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในต่างประเทศ)  พระภิกษุเดินทางโดยรถยนต์ เครื่องบิน จำเป็นต้องใช้เงินเป็นค่าพาหนะ  พระภิกษุเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลต้องจ่ายค่ายารักษาโรค  ใช้ไฟฟ้าของรัฐต้องจ่ายค่าไฟฟ้า  ใช้ประปาต้องจ่ายค่าประปา  กุฎีวิหารเสนาสนะผุผังต้องซื้ออุปกรณ์บูรณะซ่อมแซม  ศึกษาเล่าเรียนต้องซื้อหนังสือตำรับตำราเรียน  ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงของการดำรงชีวิตของพระสงฆ์ในโลกปัจจุบัน  

หากนำมหาปเทสที่พระพุทธเจ้าวางไว้มาเป็นหลักอ้างอิงวินัยว่าด้วย “เงิน”  การรับเงินก็เป็นสิ่งที่ควรสำหรับพระภิกษุในโลกปัจจุบัน   แต่ไม่ใช่สิ่งควรในแง่การรับเพื่อการสะสมพอกพูนให้มากขึ้น แล้วเพลิดเพลินยินดีว่า ได้จำนวนเท่านั้นเท่านี้แล้ว   เงินเป็นสิ่งที่ควรแก่สมณวิสัยในแง่เป็นปัจจัยเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน  ใช้จ่ายตามเหตุและปัจจัยที่เกิดขึ้นในขณะนั้น  แต่ถ้าเป็นไปเพื่อการสั่งสมแล้ว  ย่อมไม่ควรโดยประการทั้งปวง

เพื่อป้องกันไม่ให้พระสงฆ์คิดมากเกี่ยวกับเงิน  จนเกิดความกังวล บูรพาจารย์จึงเรียกเงินว่า “ปัจจัย”  คือ รวมเงินเข้าในปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตเหมือนปัจจัย ๔ มี จีวร บิณฑบาต  เสนาสนะ และยารักษาโรคนั่นเอง  ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา พึงพิจารณาตามความเหมาะสม 

เนื้อที่ทรงห้ามพระภิกษุฉัน

ชีวิตพระภิกษุเป็นชีวิตที่ต้องอาศัยชาวบ้านเลี้ยงชีพ อาหารที่พระภิกษุฉันจึงขึ้นอยู่กับชาวบ้าน ชาวบ้านถวายสิ่งใดพระภิกษุก็ต้องฉันสิ่งนั้น   จะเลือกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้   เพราะถ้าเลือกก็จะทำให้ชาวบ้านเกิดความลำบาก

พระภิกษุที่เลือกว่าต้องฉันอาหารอย่างนั้นต้องฉันอาหารอย่างนี้  พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “ผู้เลี้ยงยาก” นอกจากทำตัวเองให้ลำบากแล้ว  ยังทำคนอื่นให้ลำบากด้วย  เช่น ชาวบ้านกินผักพระภิกษุก็จะฉันเนื้อ  หรือ ชาวบ้านกินเนื้อพระภิกษุก็จะฉันผัก อย่างนี้เรียกว่าทำตัวให้เลี้ยงยาก  ไม่ดำรงชีวิตตามมีตามได้(ยถาปัจจัย) แต่ดำรงชีวิตตามความยึดมั่นถือมั่นที่ตนอยากให้มีอยากให้เป็น

หลักการฉันอาหารของพระภิกษุ ท่านไม่ให้ใส่ใจอาหารที่ฉัน แต่ให้ใส่ใจวิธีฉัน  อาหารจะเป็นชนิดไหนไม่สำคัญเท่ากับฉันแล้วทำอย่างไรจะให้เกิดปัญญา ท่านจึงให้พิจารณาโดยละเอียดว่า  การฉันอาหารไม่ได้ฉันด้วยความเอร็ดอร่อยเมามัน  ไม่ได้ฉันเพื่อให้ร่างกายมีผิวพรรณดี รูปร่างดี  แต่ฉันเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้เพื่อเกื้อกูลต่อการบำเพ็ญคุณงามความดี และเพื่อเป็นการขจัดความหิวซึ่งเป็นเวทนาทางกายอันเป็นสาเหตุให้ชีวิตดำรงอยู่อย่างไม่ผาสุข

นอกจากนั้น ท่านยังให้พิจารณาโดยรวมว่า  อาหารที่ฉันนั้นเป็นเพียงธาตุที่ตั้งอยู่ตามธรรมชาติ มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  เป็นของปฏิกูล  มีความเปื่อยเน่าไปเป็นธรรมดา  และกำลังเปื่อยเน่าไปตามเหตุปัจจัย  เมื่อมาอยู่ในร่างกายซึ่งเปื่อยเน่าอยู่แล้ว  ก็ยิ่งเป็นของเปื่อยเน่าเข้าไปอีก จึงไม่ควรยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา  อาหารทุกอย่างที่ได้รับจากการบิณฑบาต ให้พิจารณาเป็นเพียงธาตุ ไม่ให้แบ่งแยกชนิดว่าเป็นนั่นเป็นนี่  ไม่แบ่งแยกว่าเป็นเนื้อ เป็นผัก แล้วไปมีอัตตาผูกติดเข้าไปจนเกิดอุปาทานยึดมั่นว่า เป็นนั่นเป็นนี่

เนื้อ ๑๐ ชนิด

อย่างไรก็ตาม ในพระวินัยระบุเนื้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระภิกษุฉันไว้ ๑๐ ชนิด พระภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ปรับอาบัติถุลลัจจัย และปรับอาบัติทุกกฏสำหรับเนื้อที่เหลือ 

เนื้อ ๑๐ ชนิด คือ 

๑.  เนื้อมนุษย์ 

๒.  เนื้อช้าง

๓.  เนื้อม้า

๔.  เนื้อสุนัข

๕.  เนื้องู

๖.  เนื้อสีหะ 

๗.  เนื้อเสือโคร่ง

๘.  เนื้อเสือเหลือง

๙.  เนื้อหมี

๑๐.  เนื้อเสือ

การที่ทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์ รวมทั้งเลือดมนุษย์ด้วย เพราะไม่ควรด้วยประการทั้งปวงอีกทั้งทำให้พระภิกษุดูเป็นคนมีจิตใจเหี้ยมโหด แต่ถ้าเลือดออกตามไรฟันพระภิกษุกลืนเข้าไปไม่เป็นอาบัติ เนื่องจากเป็นเลือดที่อยู่ในปากตนเอง

ห้ามฉันเนื้อช้าง  เนื้อม้า   เพราะเป็นสัตว์ใหญ่ และเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านถือว่ามีคุณประโยชน์มาก นอกจากนั้น ยังเป็นสัตว์ที่พระเจ้าแผ่นดินสงวนไว้เป็นพระราชพาหนะด้วย

ห้ามฉันเนื้อสุนัข  เนื้องู  เนื้อราชสีห์  เนื้อเสือโคร่ง  เนื้อเสือเหลือง  เนื้อหมี  และเนื้อเสือดาว เพราะเป็นสัตว์ดุร้าย   และเป็นสัตว์ที่มีสัมผัสดี หากพระภิกษุฉันเนื้อสัตว์เหล่านี้แล้ว กลิ่นตัวก็จะปรากฎ พระภิกษุเดินอยู่ตามป่าเขาอาจเกิดอันตรายจากสัตว์เหล่านี้ได้

เนื้อชนิดอื่นนอกจากเนื้อ ๑๐ ชนิดนั้นที่ชาวบ้านใช้ปรุงเป็นอาหารเพื่อครอบครัว แล้วแบ่งมาถวายพระภิกษุ  หรือเนื้อที่เขาขายตามร้านตลาด คนไปซื้อมาทำเป็นอาหารเพื่อครอบครัว หรือเพื่อกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งของชาวบ้านแล้วแบ่งถวายพระภิกษุ ทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันได้ เพราะถือว่าเป็นอาหารของชาวบ้าน ไม่ใช่เนื้อที่เขาฆ่าเจาะจงเอามาถวายพระภิกษุ  อาหารที่ปรุงจากเนื้อเหล่านี้เป็นของบริสุทธิ์โดยส่วน  ๓  คือ

พระภิกษุไม่เห็นว่าเขาฆ่าเพื่อตน

พระภิกษุไม่ได้ยินว่าเขาฆ่าเพื่อตน

พระภิกษุไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน

เนื้อบริสุทธิ์ทั้งส่วน ๓ นี้ พระภิกษุฉันได้ เพราะเมื่อไม่รับรู้ที่มาที่ไปทั้ง ๓ ส่วน ก็เป็นเพียงสักว่าธาตุหรือสารอาหารชนิดหนึ่ง (ธาตุมัตตะโก) ที่มีอยู่ตามธรรมดา ไม่ใช่สัตว์ (นิสสัตโต) ไม่ใช่ชีวิต(นิสชีโว) ว่างเปล่าจากความหมายว่าเป็นตัวเป็นตน หรือ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (สุญโญ) อาหารนั้นก็สักแต่ว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติ เป็นสสารและพลังงานเพื่อให้กายดำรงอยู่เท่านั้น จึงไม่มีโทษทางวินัย 

เพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุคิดมาก เป็นกังวลเกี่ยวกับอาหารจนเกิดปลิโพธ ไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม พระพุทธองค์จึงแนะนำให้พระภิกษุพิจารณาอาหารทุกชนิดที่อยู่เบื้องหน้าเป็นเพียงสักว่าธาตุที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติเป็นธรรมดา ดังปรากฏในบทสวดพิจารณาปัจจัย ๔ ว่า

ยะถาปัจจะยัง  ปะวัตตะมานัง  ธาตุมัตตะเมเวตัง  ยะทิทัง  ปิณฑะปาโต  ตะทุปะภุญชะโก  จะ  ปุคคะโล  ธาตุมัตตะโก  นิสสัตโต  นิชชีโว  สุญโญ  สัพโพ  ปะนายัง  ปิณฑะปาโต  อะชิคุจฉะนีโย  อิมัง  ปูติกายัง  ปัตะวา  อะติวิยะ  ชิคุจฉะนีโย  ชายะติ  ฯ

คำแปล

สิ่งเหล่านี้  คือ  บิณฑบาต  และบุคคลผู้บริโภคบิณฑบาตนั้น  เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น  มิได้เป็นสัตว์  ชีวิต  บุรุษ  บุคคลที่ยั่งยืน  ว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน  บิณฑบาตทั้งหมดนี้  มิได้เป็นของน่าเกลียดมาแต่เดิม  แต่ครั้นมาสัมผัสกับร่างกายอันเปื่อยเน่าอยู่เป็นนิจนี้แล้ว  ก็กลับกลายเป็นของน่าเกลียดมากยิ่งขึ้นไปด้วยกันอีก  สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น  กำลังเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่เนืองนิจ

ดังนั้น  พระภิกษุจะฉันเนื้อหรือฉันผัก ไม่ใช่เหตุผลที่สำคัญ ขอให้อยู่ในหลักการที่พระพุทธองค์แนะนำ อย่าให้การฉันหรือไม่ฉันเนื้อ ทำให้เกิดอัสมิมานะ คือ ความถือตัวดูหมิ่นดูแคลนกันและกัน  เป็นเหตุให้ยกตนข่มท่านว่า เราเก่งกว่าคนนนั้น   พวกเราเก่งกว่าพวกนั้น เป็นกิเลสอย่างใหม่เกิดซ้อนทับขึ้นมาอีก

ไม่ฉันเนื้อเพื่อยกตนข่มท่าน

กรณีพระเทวทัต

พระเทวทัตเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า ฝ่ายกรุงเทวทหะออกบวชพร้อมกับพระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พระกิมพิละ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายศากยวงศ์กรุงกบิลพัสดุ์ และพระอุบาลี ซึ่งเป็นพนักงานภูษามาลาในราชสำนัก เมื่อพระเทวทัตบวชแล้วเห็นลาภสักการะเกิดขึ้นในพระศาสนามาก จึงอยากเป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าขอปกครองภิกษุสงฆ์เอง

            แม้พระพุทธเจ้าตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง แต่พระเทวทัตก็ยังกราบทูลเช่นนั้น ในที่สุดพระพุทธองค์ตรัสว่า แม้แต่พระสารีบุตรและโมคคัลลานะพระองค์ก็ยังไม่มอบให้ปกครองสงฆ์ แล้วไฉนพระองค์จะมอบให้พระเทวทัตปกครองสงฆ์  แล้วทรงตำหนิพระเทวทัตว่าเหมือนคนคอยกลืนกินน้ำลายตนเอง

            พระเทวทัตคิดว่า พระบรมศาสดาทรงตำหนิตนท่ามกลางสงฆ์  แต่กลับทรงยกย่องพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จึงบังเกิดความโกรธ และผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้านับแต่นั้นมา

            ต่อมาพระเทวทัตได้ยุยงพระเจ้าอชาตศัตรูให้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารพระชนก แล้วอภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ส่วนพระเทวทัตได้พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ด้วยหวังจะปกครองสงฆ์ ได้ส่งพลธนูไปซุ่มยิงพระพุทธเจ้า เมื่อไม่สำเร็จตามที่มุ่งหวัง พระเทวทัตจึงขึ้นภูเขาคิชฌกูฏเอง กลิ้งก้อนศิลาใหญ่ลงมา ด้วยหมายใจว่าจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ขณะที่ก้อนศิลากลิ้งลงมา ได้กระทบยอดบรรพตสองยอด สะเก็ดศิลากระเด็นมากระทบพระบาทพระพุทธเจ้า  ทำให้ห้อพระโลหิต

            จากนั้น ได้ปล่อยช้างหลวงชื่อ นาฬาคิรี ซึ่งกำลังตกมัน ไปปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแผ่เมตตาจิตไปสู่ช้างนาฬาคิรี เมื่อช้างนาฬาคิรีได้สัมผัสเมตตาจิตของพุทธองค์แล้ว ก็ละพยศลดงวงลง เดินเข้าไปหาพระพุทธองค์หมอบลงตรงพระพักตร์ พระพุทธองค์ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบกระพอง 

ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์นั้นต่างพูดกันว่า การกระทำเช่นนี้ทั้งหมดเป็นฝีมือพระเทวทัต  แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ยังคบภิกษุเช่นนี้อยู่อีก

พระราชาอชาตศัตรู ทรงสดับเสียงเล่าลือของประชาชนจึงรับสั่งให้ถอนสำรับ ๕๐๐ ที่เคยอุปัฏฐากพระเทวทัตคืนมา แล้วมิได้เสด็จไปอุปัฏฐากพระเทวทัตอีกเลย ประชาชนต่างหมดศรัทธาเลื่อมใส ไม่มีใครต้อนรับพระเทวทัต พระเทวทัตเสื่อมจากลาภสักการะ  จึงวางแผนการใหม่      เป็นเหตุแห่งการทำลายสงฆ์ให้แตกจากกัน(สังฆเภท)

พระเทวทัตได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลขอข้อวัตรปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์เพื่อให้พระบรมศาสดาบัญญัติให้ภิกษุปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  ข้อวัตรปฏิบัตินั้นมี  ๕ ประการ คือ

            ๑. ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต

          ๒. ภิกษุทั้งหลายพึงอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต

          ๓. ภิกษุทั้งหลายพึงเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต

          ๔. ภิกษุทั้งหลายพึงใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต

          ๕. ภิกษุทั้งหลายพึงอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต

            พระพุทธองค์ตรัสห้ามพระเทวทัตพร้อมให้เหตุผลว่า ทรงอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน และไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน สำหรับการอยู่ป่าตลอดชีวิต การเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต การใช้ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ทรงอนุญาตให้ถือข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ตามความปรารถนาของตนเองเป็นที่ตั้ง ภิกษุรูปใดปรารถนาถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร หรือถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ก็ให้ปฏิบัติตามนั้น ใครไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องปฏิบัติ สำหรับประการสุดท้ายทรงอนุญาตให้พระภิกษุอาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ ได้เพียง ๘ เดือน นอกฤดูฝนเท่านั้น  เนื่องจากการอยู่ป่าในฤดูฝนจะทำให้ภิกษุสงฆ์เกิดความลำบาก

            ที่จริงพระเทวทัตก็รู้อยู่ว่าอย่างไรพระพุทธเจ้าก็คงไม่ทรงอนุญาต ซึ่งจะได้เป็นช่องในการยกตนข่มท่าน เมื่อพระเทวทัตได้ยินว่าพระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต จึงเกิดความดีใจที่สมกับความปรารถนาของตน ที่จักทำให้ประชาชนเห็นว่าตนเป็นผู้มีข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งกว่าพระพุทธเจ้า  จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกลับไปพร้อมพระภิกษุสาวกของตน

            รุ่งขึ้นอีกวัน  พระเทวทัตพร้อมด้วยพระภิกษุสาวกเข้าไปกรุงราชคฤห์ ประกาศให้ประชาชนทราบความที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตข้อวัตรที่เคร่งครัดที่ตนสมาทานและประพฤติปฏิบัติอยู่ คือ ไม่ฉันปลาและเนื้อแต่จะฉันอาหารประเภทผักตลอดชีวิต  อยู่ป่าใช้ชีวิตอย่างพระป่าตลอดชีวิต  เที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ต้องฉันในบาตรเท่านั้น อาหารที่ถวายด้วยภาชนะอย่างอื่นซึ่งไม่ได้ใส่ลงไปในบาตรไม่ฉัน จะจัดอาหารใส่ภาชนะอย่างอื่นไม่เอา ใช้ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต  ถ้าผ้าที่ชาวบ้านถวายไม่ใช้  และอยู่โคนต้นไม้ตลอดชีวิต

            คำประกาศนั้นทำให้ประชาชนที่ไม่ทราบตามความเป็นจริงของเหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตและไม่อนุญาตบางประการเพื่อให้การบำเพ็ญสมณธรรมอยู่บนทางสายกลางไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง กลับไปเข้าใจว่าพระเทวทัตเคร่งครัดกว่า ส่วนพระพุทธเจ้ามีความประพฤติมักมาก คิดเพื่อความสะดวกสบาย และทำให้พระภิกษุบวชใหม่ที่ไม่เข้าใจเหตุผลของพระพุทธเจ้าเช่นกัน อีกทั้ง ยังไม่รู้ทั่วถึงพระธรรมวินัยพากันหลงเชื่อยอมตนเข้าเป็นสาวกจำนวนมาก

            เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ ให้พระเทวทัตมาเฝ้า รับสั่งถาม พระเทวทัตรับว่าจริงตามนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อย่าพอใจการทำให้สงฆ์เกิดความแตกแยกเลย เพราะการทำให้สงฆ์แตกแยกมีโทษหนัก ผู้ใดทำให้สงฆ์แตกแยกย่อมประสบโทษและหมกไหม้ในนรกตลอดกัป

พระเทวทัตมิได้ใส่ใจในโอวาทของพระพุทธองค์ หลีกไปจากที่นั้น เช้าวันต่อมา พระเทวทัตพบพระอานนท์ขณะกำลังบิณฑบาต ได้บอกความประสงค์ของตนว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจะทำอุโบสถสังฆกรรมแยกจากพระผู้มีพระภาคเจ้า แยกจากภิกษุสงฆ์อื่น

            เมื่อพระอานนท์กลับจากบิณฑบาต ได้นำความนั้นกราบทูลพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า

                        ความดี คนดีทำง่าย คนชั่วทำยาก

                   ความชั่ว คนชั่วทำง่าย แต่คนดีทำยาก

            ครั้นถึงวันอุโบสถ พระเทวทัตประกาศให้พระภิกษุจับสลากเลือกเอา พร้อมกับกล่าวว่า ข้อวัตรปฏิบัติทั้ง ๕ ประการนี้ ผู้ใดเห็นชอบผู้นั้นจงจับสลาก

            พระภิกษุผู้บวชใหม่ ชาวเมืองเวสาลีประมาณ ๕๐๐ รูป ยังไม่รู้พระธรรมวินัย เข้าใจว่า นี้คือธรรม นี้คือวินัย จึงจับสลากเลือกข้อวัตรปฏิบัตินั้น ครั้นพระเทวทัตทำลายสงฆ์แล้ว ได้นำพระภิกษุผู้บวชใหม่ ๕๐๐ รูปหลีกไปทางคยาสีสะ

            พระบรมศาสดาตรัสกับพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะว่า หากพวกเธอยังมีความการุญในพระภิกษุผู้บวชใหม่เหล่านั้นอยู่ จงรีบไปนำพระภิกษุเหล่านั้น ซึ่งกำลังจะถึงความย่อยยับกลับมา พระอัครสาวกทั้งสองจึงเดินทางไปคยาสีสะ

            พระเทวทัตเห็นพระอัครสาวกทั้งสองตามมาเข้าใจว่า พระอัครสาวกตามมาเพราะชอบใจธรรมของตน จึงนิมนต์ให้นั่ง ขณะนั้น พระเทวทัตกำลังแสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลาย โดยได้แสดงลีลาอาการเลียนแบบตามอย่างพระพุทธเจ้า เชื้อเชิญพระสารีบุตรว่า สารีบุตร บัดนี้พระภิกษุสงฆ์ปราศจากความง่วงแล้ว ท่านจงแสดงธรรมกถาต่อจากเราเถิด เราเมื่อยหลัง จะนอนพักสักหน่อย เพราะความเหน็ดเหนื่อยจึงทำให้พระเทวทัตหมดสติสัมปชัญญะเผลอหลับไป

            พระสารีบุตรได้กล่าวสอนพระภิกษุผู้บวชใหม่เหล่านั้น ทั้งด้วยธรรมกถาและการว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอน ส่วนพระมหาโมคคัลลานะก็กล่าวสอนทั้งด้วยธรรมกถาและการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เมื่อพระมหาเถระทั้งสองกล่าวสอนอยู่ พระภิกษุผู้บวชใหม่เหล่านั้นได้ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี

            จากนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้นำพระภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้น กลับไปยังพระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์

            พระโกกาลิกะ (๖) ซึ่งเป็นสาวกผู้ใหญ่ของพระเทวทัต ปลุกพระเทวทัตให้ลุกขึ้นกล่าวว่า ท่านเทวทัตลุกขึ้นเถิด พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะพาพระภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว เราบอกท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าไว้วางใจพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ เพราะทั้งสองมีเจตนาไม่ดี  ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก  จึงเอาเข่ากระทุ้งยอดอกพระเทวทัต  จนเลือดอุ่นๆ พุ่งออกจากปากของพระเทวทัต

            เพราะความตรอมใจทำให้พระเทวทัตอาพาธนานถึง ๙ เดือน และนับวันอาการก็ยิ่งหนักลงเรื่อยๆ ในที่สุดจึงกลับได้สำนึก ใคร่จะเฝ้าพระพุทธองค์ จึงขอร้องพระภิกษุสาวกของตนที่ยังเหลืออยู่ให้ช่วยนำไป พระภิกษุพวกนั้นกล่าวว่า ท่านได้ประพฤติตนมีเวรกับพระพุทธเจ้าไว้มากนัก  จึงไม่อาจนำท่านไปเฝ้าได้

            พระเทวทัตกล่าวว่า อย่าทำให้เราพินาศเลย แม้เราจะผูกอาฆาตในพระพุทธเจ้า แต่พระองค์หามีความอาฆาตตอบแม้ประมาณเท่าปลายผมไม่  เราจักไปขมาโทษ

แท้จริงแล้ว แม้พระเทวทัตจะทำเช่นนั้น แต่พระพุทธองค์ก็ทรงมีน้ำพระทัยต่อพระเทวทัตเสมอกับบุคคลทั่วไป เช่น นายขมังธนู โจรองคุลิมาล ช้างนาฬาคิรี และพระราหุล เป็นต้น

            พระเทวทัตได้ร้องขอวิงวอนแล้ววิงวอนเล่า ให้พระภิกษุนำไปเฝ้าพระผู้มีพระพุทธองค์ สาวกเหล่านั้นจึงเอาเตียงหามพระเทวทัตไปตั้งแต่กรุงราชคฤห์จนถึงกรุงสาวัตถี พระภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวจึงเข้าไปกราบทูลให้พระบรมศาสดาทราบ พระองค์ตรัสว่า เทวทัตนั้นจักไม่มีโอกาสได้เห็นพระองค์อีกเลยในชาตินี้

            แม้เหล่าพระภิกษุจะได้เข้ากราบทูลให้ทรงทราบเป็นระยะๆ ว่าพระเทวทัตมาถึงอีกประมาณหนึ่งโยชน์แล้ว คาวุตหนึ่งแล้ว มาถึงที่ใกล้สระโบกขรณีแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังทรงรับสั่งเช่นเดิมว่า แม้พระเทวทัตจะเข้ามาจนถึงพระเชตวันแล้ว พระเทวทัตก็จะไม่มีโอกาสได้เห็นพระองค์ในชาตินี้

            เมื่อสาวกนำพระเทวทัตมาใกล้พระเชตวัน วางเตียงลงริมฝั่งสระโบกขรณี ต่างก็ลงไปอาบน้ำในสระ พระเทวทัตพยายามจะพยุงตัวลุกขึ้นจากเตียง พอวางเท้าลงบนพื้นดินเท้าทั้งสองก็จมลงในแผ่นดินโดยลำดับ ตั้งแต่ข้อเท้า เพียงเข่า เพียงเอว เพียงอก จนถึงคอ ในขณะที่คางจรดถึงพื้นดิน พระเทวทัตได้กล่าวเป็นครั้งสุดท้าย ว่า

                        ข้าพระองค์ขอถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น

                   ผู้เกิดด้วยบุญตั้งร้อย ว่าเป็นที่พึ่ง

            ด้วยอานิสงส์ที่พระเทวทัตสำนึกผิดเปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง ก่อนมรณภาพนี้  ภายหลังจากรับใช้กรรมแล้ว ในอนาคต พระเทวทัตจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า  นามว่า  อัฏฐิสสระ

เภสัช ๕

        เภสัช ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้พระภิกษุฉันได้หลังเที่ยง  เพื่อไม่ให้เกิดความลำบากจนเกินไป มี ๕ คือ

  • เนยใส
    • เนยข้น
    • น้ำมัน
    • น้ำผึ้ง
    • น้ำอ้อย

นอกจากนั้น  ยังมีผลไม้ที่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันเป็นเภสัชหลังเที่ยงได้  คือ สมอ และ มะขามป้อม  เนื่องจากสมอและมะขามป้อมฉันเป็นยาระบายช่วยระบบขับให้ถ่ายได้ดี  หากพระภิกษุระบบขับถ่ายดี สุขภาพก็จะดีตามไปด้วย  ทำให้เป็นผู้มีโรคน้อย   หากไม่มีสมอและมะขามป้อมจะใช้ผลไม้ หรือพืชอย่างอื่นที่ให้รสอย่างสมอและมะขามป้อมได้

ดิรัจฉานวิชา 

วิชาที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระภิกษุศึกษาเล่าเรียน เรียกว่า “ดิรัจฉานวิชา”  เพราะเป็นวิชาที่ทำให้คนหลงไหลสามารถใช้หลอกลวงผู้อื่นได้ ท่านแยกไว้  ๕  ประเภท  คือ

๑.  วิชาทำเสน่ห์  เพื่อให้ชายหญิงรักกัน

๒.  วิชาทำให้ผู้อื่นถึงความวิบัติ

๓.  วิชาใช้ภูตผีอวดฤทธิ์เดชต่างๆ

๔.  วิชาทำนายทายทัก  เช่น  รู้หวยว่าจะออกอะไร

๕. วิชาที่ทำให้หลงงมงาย  เช่น หุงปรอทให้มีอิทธิฤทธิ์  หุงเงินหรือทองแดงให้เป็นทอง

อโคจร

บุคคลก็ดี  สถานที่ก็ดีที่พระภิกษุไม่ควรไป  เรียกว่า  

อโคจร” เหตุที่พระภิกษุไม่ควรไป เพราะสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ซึ่งสังคมยอมรับว่าไม่ดีไม่งาม แม้ชาวบ้านไปก็เป็นการไม่ดีไม่งาม เช่น ชาวบ้านไปสถานบริการทางเพศ  ไปเข้าผับเข้าบาร์  ไปเข้าโรงฝิ่น โรงกัญชา ก็ไม่สมควร  ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีมีความประพฤติไม่เรียบร้อย ไม่จำต้องกล่าวถึงพระภิกษุจะต้องไปยังสถานที่นั้นๆ     เมื่อไปแล้วก็จะถูกตำหนิติเตียนได้  พระพุทธองค์จึงทรงห้ามไม่ให้ไป  แต่ไม่ได้ทรงห้ามไม่ให้คบหาตามความเหมาะสม 

ส่วนสถานที่ใดที่สุภาพบุรุษชนไปได้ตามปกติ  ไม่เป็นโทษ  เป็นสถานที่ใดที่ชาวบ้านไปได้ สถานที่นั้นไม่จัดว่าเป็นอโคจร  สถานที่ใดเป็นที่รังเกียจของสุภาพบุรุษชน  สถานที่นั้นเรียกว่า  

อโคจร  มี ๖  คือ

๑.  หญิงแพศยา  หญิงที่หากินทางกามทุกชนิด   ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย   เพราะจะทำให้เกิดข้อรังเกียจแก่สหธรรมิกด้วยกัน ตลอดจนบุคคลโดยทั่วไป

๒.  หญิงหม้าย หญิงที่สามีตาย หรือหย่าขาด เพราะจะทำให้เกิดข้อครหาได้

๓.  สาวเทื้อ  หมายเอาหญิงโสดที่ไม่ได้แต่งงาน  อยู่ลำพังตน  พระภิกษุไม่ควรไปมาหาสู่

๔.  พระภิกษุณี   ถึงแม้ภิกษุณีจะเป็นผู้ประพฤติธรรมด้วยกันก็ตาม ยังมีข้อกำหนดในการไปมาหาสู่

๕.  บัณเฑาะก์  บุรุษที่ถูกตอน หรือคนที่ผ่าตัดแปลงเพศ  ที่ทรงห้ามเพราะคนเหล่านี้จิตไม่ปกติ  หากพระภิกษุไปอาจจะเกิดอันตรายต่อภาวะความเป็นพระภิกษุได้ 

๖.  ร้านสุรา (บาร์เบียร์)  โรงกลั่นสุรา  หรือร้านฝิ่น  โรงฝิ่น ตลอดจนแหล่งมั่วสุมอื่นๆ

พระพุทธานุญาตพิเศษ

           แม้จะมีสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติห้ามไว้ไม่ให้พระภิกษุล่วงละเมิด  แต่ก็มีบางข้อที่ทรงยกเว้นไว้เป็นกรณีพิเศษสำหรับถิ่นที่จำเป็น  และในเวลาที่อาพาธ

·   ทรงอนุญาตเฉพาะเวลาเจ็บป่วย  

ทรงอนุญาตยามหาวิกัฏ  ๔ มูตร  คูถ เถ้าไฟ  ดิน  สำหรับพระภิกษุผู้ถูกงูกัด  แม้ไม่ได้รับประเคน  ก็ฉันได้  ไม่เป็นอาบัติ 

น้ำข้าวใส น้ำต้มข้าวใสที่ไม่มีกาก และน้ำเนื้อต้มที่ไม่มีกาก  ทรงอนุญาตสำหรับพระภิกษุอาพาธที่ต้องได้อาหารในวิกาล  เนื่องจากยาบางชนิดต้องฉันหลังอาหาร พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตน้ำข้าวใส  น้ำต้มข้าวที่ไม่มีกาก และน้ำเนื้อต้มไว้สำหรับพระภิกษุอาพาธ  ในปัจจุบันน้ำซุบต่างๆ น่าจะอนุโลมเข้ากับน้ำเนื้อต้มนี้

·     ทรงอนุญาตเฉพาะบุคคล 

ทรงอนุญาตอาหารที่เรอ อวกถึงลำคอแล้วกลืนกลับเข้าไป  สำหรับพระภิกษุผู้มักเรออวก  ไม่เป็นอาบัติเพราะฉันอาหารในเวลาวิกาล

·    ทรงอนุญาตเฉพาะถิ่น

      ให้อาบน้ำได้เป็นนิตย์ในถิ่นที่หาน้ำได้ง่าย

       ใส่รองเท้า ๔ ชั้นได้ในชนบทห่างไกล  ที่มีความกันดาร เต็มไปด้วยหนาม และกรวดทรายแหลมคม


  (๑) สัตตุผงสัตตุก้อน คือ ขนมที่พวกพ่อค้าทำไว้สำหรับการเดินทางไปค้าขาย  ต้องอบให้แห้งเพื่อจะได้เก็บไว้กินนานแรมเดือน ในระหว่างเดินทาง สัตตุผงสัตตุก้อน มี ๒ ชนิด คือ ชนิดผง  กับ  ชนิดก้อน

(๒) เทววาจิกอุบาสก  ตะปุสสะ และภัลลิกะ เป็นอุบาสกคู่แรกที่กล่าวคำขอถึงสรณะ ทั้ง ๒ คือ พระพุทธ พระธรรมว่าเป็นที่พึ่ง  เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก

(๓) ลัทธิใหญ่ๆ สมัยพุทธกาลมีถึง  ๖๒ ลัทธิ  ลัทธิที่สำคัญมี ๖ ลัทธิ  โดยมีครูทั้ง ๖ เป็นเจ้าลัทธิ  คือ ปูรณกัสสปะ  มักขลิโคสาล  อชิตเกสกัมพล  ปกุธกัจจายนะ  สัญชัยเวลัฏฐบุตร   และนิครนถ์นาฏบุตร

(๔) คหบดีจีวร จีวรที่เย็บสำเร็จรูปเรียบร้อยแล้วซึ่งชาวบ้านผู้มีจิตเลื่อมใสนำมาถวาย

(๕) ลูกบวบ  หมายถึง  เกลียวผ้าที่ม้วนเข้าหากันเวลาพระสงฆ์ห่มจีวร

(๖) พระโกกาลิกะ เป็นหนึ่งในจำนวนพระฉัพพัคคีย์ ทั้ง ๖ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการบัญญัติพระวินัยมากมาย

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๗ : สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here