วันนี้วันพระ
วันพุธที่ ๒๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐
ศึกษาชีวิตในร่มธรรม จากประวัติศาสตร์ชุมชน แห่งลุ่มน้ำบุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี วิถีพุทธ
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนา
ของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เรื่องเล่าเมื่อวันวาน
ชีวประวัติพ่อตัวอย่างแห่งชาติ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙
แห่งลุ่มน้ำบุ่งสระพัง
พ่อผู้สร้างพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่ง
ในสังคมไทย เพื่อช่วยเหลือชาวโลก
ให้เห็นธรรม…
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๔ “หลวงตาจันทร์พาชาวบ้านไปดูเครื่องบินทหารอเมริกันตกที่หัวป่าแวง” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๓๔.
หลวงตาจันทร์พาชาวบ้านไปดูเครื่องบินทหารอเมริกันตกที่หัวป่าแวง
“ปีเครื่องบินทหารฝรั่งตกอยู่หัวป่าแวง พ่อบ่ได้ไปเบิ่งนำเขา มีแต่พวกนาอยู่ใกล้พากันไปเบิ่ง ผิว่า ตอนขุดพระอยู่ดงพระคเณศนั่นได้ไปยืนเบิ่งนำเพิ่นอยู่” คือ ประโยคเริ่มต้นการสนทนาของพ่อในบ่ายวันหนึ่ง
ภาพถ่ายขณะหลวงตาจันทร์พาผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และเด็ก ๆ ลูกหลานชาวบ้าน ไปดูซากเครื่องบินทหารฝรั่งตก อยู่บริเวณบ้านปากน้ำ ใกล้หนองขุ่น ฟากวัดไปทางหัวป่าแวง ต่อกับแนวเขต บ้านเค็ง ตำบลกระโสบ ได้กลายเป็นหนึ่งในภาพเก่าบันทึกประวัติศาสตร์ของชาวบ้านปากน้ำ ในเหตุการณ์สงครามเวียดนามที่หาดูได้ยาก
ภาพเก่าหาดูยากเหล่านี้ คือ จุดเชื่อมต่ออดีตให้เหตุการณ์ที่ทหารอเมริกันมาเยี่ยมแม่ตอนคลอดลูกสาวคนแรก ยังอยู่ในความทรงจำอันลางเลือนของพ่อ
“ตอนเครื่องบินทหารฝรั่งมาตกใกล้หมู่บ้านเรา พ่อจำอะไรไม่ได้มาก มันนานมาแล้ว อีกอย่างอายุก็ยังไม่มากจึงยังไม่ค่อยได้สนใจเหตุบ้านการเมืองเท่าไหร่ แต่ก็รู้ว่ามีเครื่องบินทหารมาตก อยู่ทางหัวป่าแวง คนตามพ่อท่านไปดูกันมาก คนที่ไปดูส่วนมากมีนาอยู่ทางบ้านโนน ทางขุมหิน ทางหนองขุ่น และหัวป่าแวง แต่พ่อไม่ได้ไปดูกับเขา”
พ่อพูดอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ เมื่อถูกถามถึงเหตุการณ์เครื่องบินทหารฝรั่งตกใกล้หมู่บ้าน ขณะบินรับส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนาม
จากข้อมูลทหารฝรั่งที่เรียกกันว่าทหาร จี.ไอ. (G.I.) ซึ่งเข้ามาปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า สงครามเวียดนาม เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ (คริสต์ศักราช ๑๙๕๕) จนกระทั่งกรุงไซ่ง่อนแตก เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๘ (คริสต์ศักราช ๑๙๗๕) กินระยะเวลายาวนานร่วม ๒๐ ปี สงครามจึงสงบลงด้วยการสูญเสียของทั้งสองฝ่าย
ส่วนการเข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศไทยของทหารสหรัฐอเมริกานั้น เริ่มประมาณปี พุทธศักราช ๒๕๐๖ จังหวัดต่าง ๆ ของไทยที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์จะถูกใช้เป็นฐานทัพของทหารอเมริกัน ซึ่งนอกจากจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ก็มีจังหวัดนครราชสีมา, อุดรธานี, นครพนม, อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์, อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และอู่ตะเภา จังหวัดระยอง
สำหรับทหารสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาประจำการอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยนั้น มีทั้งทหารบกและทหารอากาศ หนังสือพิมพ์ Star & Stripe ของทหารสหรัฐได้รายงานในปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ ว่า มีจำนวนมากถึง ๔๕,๐๐๐ นาย
เด็กหนุ่มชาวอเมริกันจำนวนมากถูกเกณฑ์มาเป็นทหารเพื่อเข้าไปรบในสงครามเวียดนาม โดยเริ่มเข้าประจำการในไทย ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ และเริ่มปฏิบัติการอย่างหนัก ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ ก่อนที่กรุงไซ่ง่อนจะแตก เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๘
หลังสงครามเวียดนามสงบลง ฐานบินของกองทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้กลายมาเป็นที่ตั้งกองบิน ๒๑ ของกองทัพอากาศไทย ในปัจจุบัน
ช่วงสงครามเวียดนาม ฐานทัพอากาศแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของฝูงบินขับไล่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของกองทัพสหรัฐอเมริกา มีชื่อเรียกว่า “กองบินขับไล่ยุทธวิธีที่ ๘” มีฝูงบินประจำการอยู่ในฐานทัพแห่งนี้ ประกอบด้วย ฝูงบินขับไล่แบบ F-4 C/D ฝูงบินกันชิพ AC-130 และเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบต่าง ๆ
พ่อกับเพื่อนเคยปั่นจักรยานจากหมู่บ้านมาเกาะตะแกรงรั้วสนามบินดูเครื่องบินแม้จะไม่รู้เครื่องบินเหล่านี้มีชื่อเรียกว่าอะไรก็ตาม
เครื่องบินของทหารสหรัฐอเมริกาต้องลำเลียงกองหนุนสับเปลี่ยนกำลังพลไปที่เวียดนามอยู่ตลอด แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเครื่องบินเกิดเหตุขัดข้องมาตกที่บ้านปากน้ำ บริเวณหัวป่าแวง เยื้องไปทางบ้านเค็ง จนถูกบันทึกเป็นภาพถ่ายประวัติศาสตร์สำคัญของหมู่บ้าน ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงผลที่ตามมาของสงครามว่า
“สงครามไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ นอกจากความสูญเสีย”
พ่อย้ำว่า นอกจากภาพถ่ายซึ่งติดอยู่ที่วัดแล้วก็ไม่มีสิ่งอื่นบ่งบอกว่า เครื่องบินตกตรงจุดไหน มีใครอยู่ในเหตุการณ์บ้าง พอเครื่องบินตกพ่อถ่านก็พาผู้ใหญ่บ้านไปดู โดยมากเป็นพวกผู้นำหมู่บ้าน เท่าที่พ่อพอจะรู้บ้าง ก็มีผู้ช่วยยังคนหนึ่งที่ไปกับพ่อถ่านด้วย
หัวป่าแวงที่เครื่องบินตกนั้นไปทางนาพ่อฝั้น วงศ์ชะอุ่ม พ่อเองก็ไม่รู้ว่า เครื่องบินตกตรงจุดไหน รู้เพียงว่าตกไปทางหัวป่าแวง ทุกวันนี้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ยังพอจำได้ ก็ยังมีอยู่บ้าง อย่างพ่อหาไหล-แม่พัน ซุมแม่ใหญ่แดง พ่อใหญ่กว้าง ซุมแซงเดียวกันกับเราก็ได้ไปดู ตอนนั้น พ่อหาอายุยังน้อย พ่อเองก็อายุน้อยเหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้น พ่อหาก็ยังอายุน้อยกว่าพ่อเพราะพ่อหาเป็นรุ่นน้องพ่ออีก
พ่อหาเป็นเด็กพอเห็นพ่อถ่านพาพวกผู้ใหญ่ไปดูก็คงวิ่งตามไปดูด้วย เพราะนาอยู่ทางหัวป่าแวง ทางเดียวกันกับนาพ่อฝั้น คนดูจากรูปเก่าก็ทายกันว่าเป็นรูปคนนั้นคนนี้ แต่ตอนนี้ไม่รู้รูปที่วัดยังมีอยู่ไหม
มันเป็นคำบอกเล่าเกี่ยวกับเครื่องบินทหารฝรั่งตกเท่าที่พ่อจำได้
ส่วนลุงเริญพี่ชายของพ่อเคยเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ตอนเครื่องบินตก ลุงเริญเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปดูซากเครื่องบินกับเขาด้วย ลุงเริญได้เก็บชิ้นส่วนเครื่องบินที่ทหารฝรั่งไม่เอาไป นำกลับมาบ้าน ลูกหลานไปมาหรือใครสงสัยว่าเป็นอะไร ลุงเริญก็จะเล่าให้ฟังว่าเป็นชิ้นส่วนเครื่องบินทหารฝรั่ง
นอกจากคำบอกเล่าของลุงเริญแล้ว ยังพอนึกอีกเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้ลาง ๆ ข้างฮ่มคร้อเถียงนาหัวบุ่ง จำได้ว่า เคยเห็นแม่ใหญ่เอาผ้าร่มที่ทหารฝรั่งใช้โดดร่มมาทำเป็นที่กั้นตีนุ่น กันไม่ให้นุ่นปลิว เวลามุ้งกางนอนขาดทะลุเป็นรู แม่ใหญ่ก็จะตัดเอาผ้าร่มมาเย็บปะชุนมุ้ง แต่แม่ใหญ่จะได้ผ้าร่มทหารฝรั่งมาอย่างไรนั้น ก็สุดที่จะรู้ได้
วันเวลาผ่านไป หลังลุงเริญเสียชีวิตแล้ว ชิ้นส่วนเครื่องบินก็ถูกทิ้งตากแดดตากฝนอยู่ข้างเกวียนฮ้างที่ลุงเริญจอดทิ้งไว้ สุดท้ายก็ผุพังสูญหายไปพร้อมกับเกวียนของลุงเริญ เหลือเพียงเรื่องเล่าที่ลูกหลานแทบจะปะติดปะต่อไม่ได้
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร