ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๓ “ทหารอเมริกัน จีไอ (G.I.) เยี่ยมแม่คลอดลูกสาวคนแรกที่นาหัวบุ่ง” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๓๓. ทหารอเมริกัน “จีไอ (G.I.)” เยี่ยมแม่คลอดลูกสาวคนแรกที่นาหัวบุ่ง
“ฝรั่งดังโม* กินบักโมเบิ่ดเปลือก” (*ดังโม คือ จมูกโด่ง) บทเพลงพื้นบ้านเมื่อราว ๕๐ ปีที่แล้ว ที่เด็กร้องล้อเลียนทหารฝรั่ง ขณะออกเดินพบปะชาวบ้านตามท้องไร่ ท้องนา เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นที่ตั้งฐานทัพ
พ่อเล่าเรื่องทหารฝรั่งมาเยี่ยมที่เถียงนาหัวบุ่ง ขณะแม่คลอดลูกสาวคนแรก จากความทรงจำอันลางเลือน
จากการสืบค้นข้อมูล ในช่วงสงครามเวียดนาม ทางการไทยได้อนุญาตให้สหรัฐอเมริกา เข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัด ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ เป็นต้นมา
จังหวัดอุบลราชธานีก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ทหารสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพ อยู่บริเวณกองบิน บน.๒๑ ปัจจุบัน และยังได้จัดตั้งสถานีโทรคมนาคมขึ้นอีกแห่ง ในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ เพื่อเป็นศูนย์สื่อสารทางการทหาร
ตกกลางคืนดึกสงัด คลื่นวิทยุทางฝั่งไทยที่ชาวบ้านใช้ฟังข่าวสาร ฟังเพลง ฟังละครก็มักจะมีคลื่นวิทยุภาษาเวียดนามแทรกเข้ามารบกวนอยู่เป็นประจำ ตามหมู่บ้านต่าง ๆ จะมีทหารเสนารักษ์ออกไปรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วย
ทหารฝรั่งที่เข้ามาปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีจำนวนหลายพันนาย เรียกว่า ทหาร จี.ไอ. (G.I.) จนกระทั่งราวปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ เหตุการณ์การสู้รบในเวียดนามเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทางการสหรัฐอเมริกาจึงได้ถอนทัพออกไปจากไทย เป็นเหตุให้มีลูกครึ่งฝรั่งตกค้างอยู่ในภาคอีสานเป็นจำนวนมาก ทหารบางคนนำลูกเมียกลับสหรัฐอเมริกาไปด้วย บางคนตามมารับกลับไปทีหลัง ส่วนทหารฝรั่งบางคนแก่ตัวแล้ว ก็กลับมาตามสืบหาลูกเมียก็มี
การเข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีของทหารอเมริกัน ต้องมีการสร้างสนามบิน เพื่อลำเลียงกำลังพลไปสนับสนุนแนวหน้าที่เวียดนาม
ส่วนการส่งกำลังพลมายังอุบลราชธานี จะใช้เส้นทางรถไฟเป็นหลัก รถไฟแต่ละขบวนที่ใช้สับเปลี่ยนกำลังพล จะถูกเหมาทุกโบกี้เต็มทั้งขบวน พอมาถึงอำเภอวารินชำราบ ก็ต้องจ้างเรือชาวบ้านขนส่งทหารจากฝั่งวารินข้ามไปยังฝั่งเมืองและรับทหารจากฝั่งเมืองข้ามมายังฝั่งวาริน
ในช่วงเวลานั้น เรือของชาวบ้านและเรือโดยสารที่วิ่งขึ้นล่อง จากเมืองอุบลไปพิบูลมังสาหารต้องหยุดหาปลาและหยุดเดินเรือ หันมารับจ้างลำเลียงสิ่งของ อาวุธยุทโธปกรณ์ และคอยรับส่งทหารฝรั่งข้ามไปมา ระหว่างฝั่งเมืองกับฝั่งวาริน ซึ่งรายได้จะดีกว่า
ตอนที่ทหารฝรั่งมาอยู่เมืองอุบลนั้น พ่อกับเพื่อนเคยปั่นจักรยานจากหมู่บ้าน ไปดูเครื่องบินทหารฝรั่งที่สนามบินเพราะไม่เคยเห็นเครื่องบิน พอมีเครื่องบินบินผ่านหมู่บ้านที ต้องวิ่งออกมากลางถนนชี้มือชี้ไม้ร้องเรียกกันให้มาดู ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ต่างก็วิ่งกรูออกมาดูเครื่องบินกันทั้งหมู่บ้าน
การมีเครื่องบินฝรั่งมาขึ้นลงอยู่ในเมืองอุบลราชธานี เป็นเรื่องที่ถูกนำมาลือกันในหมู่ชาวบ้าน พ่อกับเพื่อนจึงชวนกันปั่นจักรยานไปดู
พ่อเล่าเรื่องทหารฝรั่งอย่างกระท่อนกระแท่น จากความทรงจำอันลางเลือน ว่า
“แต่กี้คนออกลูกอยู่นำท่งนำนา บ่ได้ไปออกอยู่โรงพยาบาลคือสู่มื้อนี้ ยายหนูออกลูกสาวคนแรก ผัดออกยากแน่ เฮ็ดจังใด๋กะบ่ออก อีแม่เลานั่งไห้นำลูกไภ้ น้ำตาย้อยน้ำหยั่ง ว่าออกลูกยาก จนเขาไปนำเอาทหารเสนารักษ์มาเบิ่ง อยู่เถียงนา แต่ตอนทหารฝรั่งมาฮอด ยายหนูเลาออกลูกได้แล้วละ แนวแต่กี้ เป็นทางเกวียน ยามหน้าฝน รถกะไปยากมายาก”
ตอนยังหนุ่มยังน้อย พ่อเคยปั่นจักรยานไปเกาะรั้วดูเครื่องบินทหารฝรั่งตอนเขามาตั้งฐานทัพอยู่ในเมือง พอมาอยู่เมืองอุบล ทหารฝรั่งก็ออกมาพบปะช่วยเหลือชาวบ้าน สร้างโรงเรียน สร้างถนน ทำน้ำประปา ชาวบ้านมีกิจกรรมประเพณีอะไรให้ทำอะไรเขาก็ทำตาม”
“พอออกเรือนแล้ว พ่อก็มุ่งแค่เรื่องหาอยู่หากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่ค่อยได้ใส่ใจเหตุบ้านการเมืองเรื่องทหารฝรั่งมากนัก จึงไม่รู้ว่าเขาทำอะไรบ้าง รู้เพียงว่า เขาไปมาหาสู่พ่อถ่านที่วัดเป็นประจำ”
“ตอนนั้น ทหารฝรั่งเคยมาเยี่ยมถึงเถียงนาตอนแม่คลอดลูก แต่มันก็เป็นเรื่องเก่าที่ผ่านมานานแล้ว จึงจำรายละเอียดไม่ค่อยได้ ว่าเขามาอย่างไร”
แม่ช่วยพ่อเล่าเสริมว่า “ไม่รู้ว่าทหารฝรั่งขับรถมาตามทางเกวียน หรือมาทางเรือจากปากบุ่งมาขึ้นท่าซาละวัน”
พ่อครุ่นคิดก่อนแย้งว่า “ถ้ามาตามทางเกวียนก็ไม่น่าจะขับรถมาถึงนาหัวบุ่งได้ เพราะตอนนั้นเป็นหน้าฝน ทางสมัยนั้นก็เป็นทางเกวียน เป็นหล่มเป็นโคลน บางแห่งถูกน้ำเซาะก็เป็นโสกลึก ไม่น่าจะขับรถมาได้ อาจจะมาทางเรือ”
แม่คล้อยตามพ่อ แต่ก็ไม่แน่ใจเพราะตอนนั้นแม่เพิ่งคลอดลูกได้ไม่นาน กำลังอยู่ไฟ จำได้ลาง ๆ ว่า มีทหารฝรั่งมาเยี่ยม ไม่รู้ว่าใครไปบอกว่าแม่คลอดลูก เขาจึงมาเยี่ยมถึงเถียงนาหัวบุ่ง ตอนนั้นพอได้ยินว่า ใครไม่สบาย เจ็บเป็นเอ็นอุ่นอะไร หรือมีเรื่องอะไร เขาก็จะมีทหารเสนารักษ์ออกไปเยี่ยมทั้งนั้น
เสียงเพลงเด็กล้อเลียนทหารฝรั่ง แว่วมาในความทรงจำของพ่อ“ฝรั่งดังโมกินบักโมเบิ่ดเปลือก” พ่อยืนมองเครื่องบินที่สนามบินอุบล ครุ่นคิดอะไรบางอย่าง ก่อนเดินไปขึ้นเครื่องอย่างเก้ ๆ กัง ๆ เพื่อไปรับรางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติ (พุทธศักราช ๒๕๕๙)
นั่นคือการนั่งเครื่องบินครั้งแรกในชีวิตของพ่อหลังจากเคยปั่นจักรยานไปยืนเกาะตะแกรงรั้วดูเครื่องบินทหารฝรั่งเมื่อ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๓ “ทหารอเมริกัน จีไอ (G.I.) เยี่ยมแม่คลอดลูกสาวคนแรกที่นาหัวบุ่ง” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร