ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๒๙ “ยืมเงินพ่อแม่ค้าวัวค้าควาย”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๒๙. ยืมเงินพ่อแม่ค้าวัวค้าควาย
๒๙ “ยืมเงินพ่อแม่ค้าวัวค้าควาย”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
พ่อเริ่มค้าวัวค้าควายจากการยืมเงินพ่อแม่มาเป็นทุนเริ่มต้น หลังจากสร้างบ้านเสร็จพ่อก็ไม่มีเงินติดบ้านเลย วัวเกวียนที่พอจะใช้แก่เกวียนรับจ้างหาเงินก็ต้องขายสร้างบ้าน จึงไปยืมเงินจากพ่อใหญ่แม่ใหญ่มาเป็นทุนสร้างเนื้อสร้างตัว พ่อซื้อวัวมาขายควายไป ได้กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง บางทีถูกโกงจนเกือบสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ก็ยังดีได้แม่เป็นคนกล้า คอยตามทวงหนี้ทวงสินค่อยเก็บค่อยกำจึงฟื้นขึ้นมาได้เงินคืนพ่อแม่
คราวหนึ่ง พ่อขายวัวให้เขาเซ็นเงินเอาไว้ ๑๕,๐๐๐ บาท นัดจ่ายเงินกันในอีก ๑๕ วัน แต่พอถึงกำหนดวันจ่ายเงินก็ไม่เห็นเขาเอาเงินมาให้ อดใจรอผ่านไปหนึ่งเดือนก็ยังไม่เห็น พ่อจึงให้แม่ไปตาม
แม่ไปตามถึงบ้านท่าหมากมั่ง ชาวบ้านชี้มือเข้าไปในป่าดงหัวลิง บอกว่าอยู่นาทาม*ในดงหัวลิงโน้น(*ทาม คือ ป่าที่น้ำท่วมถึง) แม่จึงตามไปทวงเงินค่าวัวในป่าหัวลิง เต็มไปด้วยดงหนามจ่างและเฟือยกกฝ้ายน้ำ เขาบอกว่า ยังไม่มีเงิน ให้ไปหาเอาจากที่อื่น ตั้งแต่ค้าขายวัวควายมา หัวเท่ากำปั้น ไม่เคยมีใครมาตามทวงเงินค่าวัวค่าควายถึงที่นี่ จะเอาเงินหรือจะเอาลูกปืน แม่ได้ยินก็ถึงกับหูอื้อ ไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรต่อ จึงกลับมาบอกพ่อว่าไม่ได้เงิน
พ่อเล่าเรื่องเก่าจากความทรงจำเมื่อราว ๕๐ กว่าปีที่แล้วเหมือนเล่าจากความทรงจำของเมื่อวานว่า คนบ้านท่าหมากมั่งมาเซ็นเอางัวเกวียนไป นัดจ่ายเงินกัน ๑๕ วัน พอครบ ๑๕ วันก็ไม่เห็นเอาเงินมาให้ตามที่นัดกันเอาไว้ ผ่านไปเดือนหนึ่งก็ยังไม่เห็นจึงให้แม่ไปตาม
แม่ขอให้น้าบ่าวชูพาไปตามเอาเงินเพราะน้าบ่าวชูมีเพื่อนอยู่บ้านท่าหมากมั่ง ไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำ น้าบ่าวชูก็พาไป แต่พอไปถึงบ้านท่าหมากมั่ง น้าบ่าวชูไม่ได้ตามไปที่ทามด้วย เพียงแต่ชี้มือบอกทางไปเฮือนเขา ให้แม่ไปถามเอาเอง แล้วน้าบ่าวชูก็นั่งกินเหล้าคอยอยู่กับเพื่อน พอไปถึงคนข้างบ้านก็ชี้มือบอกแม่ว่าเจ้าของเฮือนไปทาม อยู่ดงหัวลิงที่เขาฆ่าวัวฆ่าควายโน้น แม่จึงตามไปทวงเงินถึงทาม
พอแม่เจอตัวจึงทวงถามเงินค่างัวเกวียน เขาบอกแม่ว่า “ไปหาเอาม้องใหม่ก่อนสาเอื้อย”
แม่บอกไปว่า “เฮ็ดจังใด๋ เอื้อยกะบ่มีเอื้อยไปเซ็นงัวเขาไว้ บ่มีเงินให้เขา”
เขาบอกแม่ว่า “บ่มีกะไปหาเอาม้องใหม่สาเอื้อย ข้อยบ่ทันมี เขาเอาไปซื้อควายอยู่”
เขาพูดถึงนายหน้าที่ค้าวัวค้าควายอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นคนพามาซื้องัวเกวียนจากพ่อ พอแม่เซ้าซี้มากเข้า เขาบอกแม่ทั้งเล่นทั้งจริงว่า จะเอาลูกปืนหรือเอาเงิน
แม่จึงกลับมาเล่าให้พ่อฟังว่าไม่ได้เงิน “บ่ได้เงินค่างัว มันโลดเว้าไปสำมะปี๋สำมะป้อย คือสิหลุบทึน* แล้วละ (*หลุบทึน หลึบทึน หรือ หลุบทุน คือ ขาดทุน)”
แม่เล่าว่า ตอนแม่ไปตามเอาเงินค่าวัวก็ไม่ได้ไปอยู่ในบ้านในเฮือน แต่ตามไปถึงทามในป่าหัวลิงที่เขาฆ่าวัวฆ่าควาย มีแต่เฟือยกกฝ้ายน้ำ มีแต่หนามจ่างเต็มไปหมด เขาบอกว่า ตั้งแต่ผมค้าวัวค้าควายมาไม่เคยมีใครมาตาม ทวงถามเอาเงินค่าวัวค่าควาย
แม่บอกว่า ถ้าเขาฆ่าหมกป่าก็คงตายอยู่ในป่าหัวลิงป่าฝ้ายน้ำไปแล้ว เพราะแม่เข้าไปคนเดียว น้าบ่าวชูก็ไม่ได้เข้าไปด้วย น้าบ่าวชูมาถึงบ้านท่าหมากมั่งก็นั่งกินเหล้ากับเพื่อนอยู่ในหมู่บ้าน
“ไปนำเอาเงินค่างัว เขาบ่ฆ่าหมกป่าหัวลิง กะดีพอแฮงแล้วละ ตอนวัดที่ดินกะเถื่อหนึ่ง พวกเจ้าหน้าที่วัดที่ดิน กะจาเอาปืนกรอกปากพ่อคือกัน เขาว่าพ่อเถียงเขา กูสิเอาปืนกรอกปากพ่อใหญ่นี่สาบ่ เขาว่า”
แม่เล่าถึงน้าบ่าวชูที่แม่ขอให้พาไปตามเอาเงินค่าวัวที่บ้านท่าหมากมั่งว่า น้าบ่าวชูเป็นซุมแซง*ทางพ่อใหญ่เล็ด วงศ์หอม เป็นพี่น้องกันกับแม่ซิมพ่อริด ส่วนจะเป็นญาติกันมาอย่างนั้นแม่เองก็เรียงญาติไม่ถูก พ่อแม่บอกให้เรียกตามศักดิ์มาอย่างไรนั้น แม่ก็เรียกตามพ่อแม่บอก (*ซุมแซง คือ เครือญาติ เป็นเชื้อสายทางพ่อใหญ่เล็ด วงศ์หอม ซึ่งเป็นพ่อของแม่)
ตอนขายวัวก็ไม่คิดว่าจะถูกต้มถูกตุ๋น คนที่เป็นนายหน้าก็ว่าให้ไปเอาเงินกับคนซื้อที่บ้านท่าหมากมั่ง ส่วนคนบ้านท่าหมากมั่งก็ว่าให้ไปเอาเงินกับนายหน้าที่พามาซื้อ สองคนค้าวัวค้าควายด้วยกัน ต่างคนก็ต่างโยนกันไปโยนกันมา แม่ก็ว่า “เจ้าค้าขายนำกันเป็นหยังคือว่าให้ข้อยไปเอาพุ้น” แม่จึงต้องตามไปทวงถามเอาเงินถึงบ้านท่าหมากมั่ง
พ่อเล่าว่า พอได้ยินแม่กลับมาบอกว่า ไม่ได้เงินค่าวัว ใจพ่อก็ลุกขึ้นเป็นไฟ คิดใช้หัวว่าต้องเอาทุนคืนให้ได้จึงไปเซ็นเอาควายเถิกใหญ่จากคนที่เป็นนายหน้ามาตัวหนึ่ง เพราะเขาค้าขายวัวควายอยู่ด้วยกัน และเป็นคนพาเขามาจูงเอางัวเกวียนไป
ตอนนั้นเรื่องที่แม่ไปตามทวงเงินค่างัวเกวียนถึงบ้านท่าหมากมั่งแล้วไม่ได้เงินก็คงยังไม่มีคนรู้
พอพ่อเซ็นเอาควายมาได้ก็ไปบอกพ่อบุญสร้อยให้พาลูกเอาไปส่งให้เถ้าแก่กาดที่ปากห้วยวังนอง ตอนนั้น ที่บ้านปากห้วยวังนองมีเถ้าแก่กาดคอยรับซื้อวัวซื้อควายอยู่
พ่อบอกพ่อบุญสร้อยแม่สั้นให้เอาควายไปส่งเถ้าแก่กาด ว่า “สร้อย มึงพาลูกกูเอาควายไปส่งให้แน่ มึงย่างนำมันให้ลูกกูไล่ไป” พ่อบุญสร้อยก็ไปให้เพราะเป็นพวกรับจ้างเลื่อยไม้ด้วยกัน ทั้งยังค้าขายวัวควายอยู่ก่อนพ่อด้วย พ่อให้เงินพ่อบุญสร้อยค่าไปส่งควาย ๑๐๐ บาท ไล่ควายออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดตอนตีสามตีสี่ กะว่าไปถึงปากห้วยวังนองก็พอดีสว่าง
พ่อเซ็นควายมาด้วยราคา ๗,๐๐๐ บาท ยอมขายขาดทุนให้เถ้าแก่กาด ๕,๐๐๐ บาท ขาดทุนก็ยอมขาย ดีกว่าไม่ได้อะไร
พอตกเย็นคงได้ข่าวกันแล้วว่าแม่ไปตามทวงเงินค่างัวเกวียนที่บ้านท่าหมากมั่ง แต่ไม่ได้เงินจึงจะมาตามเอาควายคืน ตอนนั้น พ่อไปตัดไม้ถางไฮ่ปลูกปออยู่ในป่าหัวนาลุ่ม ลูกอยู่เถียงคนเดียว ได้ยินเสียงคนเรียกลูกว่า “หำ! ควายพ่อโตอยู่ไส” ตอนนั้น ลูกก็ยังเล็ก ๆ ได้ยินลูกตอบว่า “พ่อเพิ่นขายไปแล้วเด้” พ่อฟันไม้ถางไฮ่อยู่ก็หยุด ยืนฟังเสียงตอบโต้กัน “ฮ่วย! ขายจังใด๋ ควายยังบ่ทันได้ขาดกันอยู่ ซื้อบ่ทันขาดกันคือมาขาย” เสียงคู่สนทนาดังแทรกขึ้น หมายความว่า ซื้อขายยังไม่ได้จ่ายเงินกัน แล้วจะเอาไปขายต่อได้อย่างไร
ได้ยินลูกตอบว่า “พ่อเพิ่นขายข้วมไปท่าช้าง” ก็นึกว่าลูกฉลาดตอบ ถ้าบอกว่าขายให้เถ้าแก่กาดไปปากห้วยวังนอง เขาก็จะไปตามเอาคืนก็คงจะยุ่ง ดีที่ลูกรู้จักหล่วย* (*หล่วย คือ เลี่ยงตอบ, เถไถ หรือ กลบเกลื่อน) ว่าขายข้ามแม่น้ำมูลไปทางบ้านท่าช้าง สมัยนั้นจะข้ามมูลไปท่าช้างทีก็ลำบาก ลูกอายุยังน้อยยังรู้จักพูดรู้จักจา แล้วเรื่องก็ไปถึงผู้ใหญ่บ้าน
ผู้ใหญ่บ้านมาพูดกับพ่อ ว่า “โตเฮ็ดแนวนี่มันผิดเขาเด้อเกิน” พ่อตอบว่า “มันสิผิดหยัง” ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า “ควายบ่ทันขาดกันโตเอาควายเขาไปขายมันผิด” พ่อตอบว่า “มันบ่ผิดดอก เอาควายไปขาย แต่เอางัวไปขายมันยังบ่ผิด” ผู้ใหญ่บ้านก็ว่า ค่ำให้ไปพูดกัน แต่พอตกเย็นก็เงียบไป พวกผู้ใหญ่คงคุยกันให้เลิกแล้วกันไป สุดท้ายก็เลิกแล้วต่อกันจนทุกวันนี้
ตอนพ่อใช้หัวแก้ไขปัญหาที่ขายวัวไม่ได้เงิน จึงไปเซ็นเอาควายมา ๗,๐๐๐ บาทจะขายให้เถ้าแก่กาด แต่เถ้าแก่กาดก็กดราคาซื้อต่อในราคาแค่ ๕,๐๐๐ บาท ขาดทุนไป ๒,๐๐๐ บาท ถึงขาดทุนก็เอาดีกว่าไม่ได้อะไร เถ้าแก่กาดบอกว่า “มึงขายให้กู มันจังสิขาดกัน ถ้ามึงบ่ขายให้กู เขามาตามเอาควาย มึงสิบ่ได้อิหยัง สิค้าสิขายงัวควาย มึงกะบ่ฮู้จักพลิกฮู้จักแพลงคือเขา”
พ่อเล่าว่า ตอนนั้น พ่อค้าขายก็ใจนักเลง เอาใจเข้าว่า เขามาจูงเอางัวเกวียนคู่หนึ่งไปก็ให้เขาเซ็นไว้ ยังไม่ต้องจ่ายเงิน สุดท้ายก็เกือบสูญเปล่า เกือบจะล่มจมสิ้นเนื้อประดาตัวอีกรอบ
แต่จะว่าสูญเปล่าก็ไม่ใช่เสียทีเดียว ต่อมาเขาก็ตามเอาเงินมาคืนให้ ๕,๐๐๐ บาท บวกกับค่าขายควายให้เถ้าแก่กาด ก็ได้มาอีก ๕,๐๐๐ บาท รวมกันแล้วก็เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท บวกลบกันแล้ว ก็ยังขาดทุนอีก ๖,๕๐๐ บาท สมัยนั้นเงินหายไป ๖,๕๐๐ บาท จำนนวนก็ไม่ใช่น้อย เงินหายาก งานการรับจ้างก็ไม่มีให้ทำอย่างทุกวันนี้ ถึงขาดทุนก็กัดฟันสู้ต่อ
ตอนหลังเจอกันก็คุยกัน เรื่องที่แล้วก็แล้วกันไป ไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองอะไรกัน ชาวบ้านเราก็อย่างนี้ก็อยู่กันไป บางทีก็นั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปไหนมาไหนด้วยกัน พ่อบอกว่า “ถ้ามึงบ่เป็นคนพาเขามาซื้อ กูคือสิขาย มึงเป็นคนพาเขามาซื้อ กูเซื่อมึง กูจังขายให้ ส่ำว่ามึงพาเขามาจูงเอางัวเกวียนกูไปซื่อ ๆ ส่ำว่ามึงได้งัวเกวียนกูซื่อ ๆ”
พ่อเล่าเรื่องเก่าในช่วงยากลำบากของชีวิต เมื่อร่วม ๕๐ ปีที่แล้ว เป็นภาพชีวิตที่ยังแจ่มชัดในความทรงจำของพ่อ เหมือนเล่าเรื่องจากความทรงจำของเมื่อวาน
“เพิ่นเว้ามาแต่พ่อแต่แม่พุ้น ลูกสิบคน ซาวคน หาผู้สิเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ จักคน กะบ่มี “ (คำเว้าอีแม่)
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๒๙ “ยืมเงินพ่อแม่ค้าวัวค้าควาย”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร